ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์

10 สิงหาคม 2564

วันนี้ 10 สิงหาคม เมื่อปีที่แล้ว พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากนั้น การชุมนุมของเยาวชนอนาคตของชาติ ตลอดปี ก็ยกระดับ ก้าวรุดหน้ามากขึ้น จนทำให้เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นข้อเรียกร้องที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา และอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

หนึ่งปีผ่านไป แม้ประเด็นปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์จะถูกจุดติด “ช้างในห้อง” ตัวนี้ถูกทำให้เห็นโดยถ้วนทั่ว ไม่มีใครปฏิเสธหรือแกล้งมองไม่เห็นได้อีกแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่า ข้อเรียกร้องนี้อาจถูกพูดถึงในรายละเอียดน้อยลง และดูท่าจะห่างไกลจากความเป็นไปได้มากขึ้น

ในช่วงวิกฤต Covid-19 ส่งผลให้การชุมนุมทำได้ยากลำบาก ในขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากก็ถูกตั้งข้อหา ดำเนินคดี จับกุม คุมขัง จากกลยุทธ์ “นิติสงคราม” ที่ฝ่ายรัฐใช้อย่างเข้มข้น พร้อมกับที่ข้อเรียกร้อง “ขับไล่ประยุทธ์” ขึ้นมาเป็นกระแสนำ ในฐานะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นข้อเรียกร้องที่ดูท่าจะมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ค่อยๆ เลือนหายไป

เพื่อมิให้ความเพียรพยายามของเยาวชนอนาคตของชาติและกลุ่ม “ราษฎร” เสียเปล่า ผมจึงได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการรณรงค์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผ่านการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเดิมในสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดพระราชสถานะประมุขของรัฐ ศูนย์รวมจิตใจ และความเป็นกลางทางการเมือง

2. กำหนดพระราชอำนาจ ขอบเขตของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันพระมหากษัตริย์ในการไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในการกระทำใดบ้าง โดยเขียนในภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความว่าอำนาจเป็นของพระมหากษัตริย์หรือของคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องถกเถียงกันว่าพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในทางการเมืองหรือการบริหารราชการแผ่นดินโดยแท้หรือไม่ แต่เขียนชัดเจนเลยว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในเรื่องต่างๆโดยต้องทำตามความเห็นชอบของรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี โดยนำแบบอย่างมาจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น

3. เปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ให้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

4. ยกเลิกองคมนตรี

5. เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ โดยย้อนกลับไปใช้แบบเดียวกันกับกระบวนการก่อนรัฐธรรมนูญ 2534 กล่าวคือ การเสนอพระนามองค์รัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ

6. กำหนดให้พระมหากษัตริย์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่

7. กำหนดกรณีที่พระมหากษัตริย์ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียใหม่ ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบเหมือนรัฐธรรมนูญ 2475 และ 2489

8. กำหนดระบบเงินรายปีแก่พระมหากษัตริย์ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ และให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบการใช้จ่ายเงินรายปีและรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ

9. ยกเลิกการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตําแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า ให้คงไว้เพียงการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยและอำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น อันได้แก่ รัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ตุลาการศาลปกครอง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

10. ยกเลิกพระราชอำนาจในการยับยั้งการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา

อนึ่ง การยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อจำกัด ดังนี้

ประการแรก ข้อจำกัดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 255 ได้แก่ ต้องไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

ประการที่สอง ข้อจำกัดจากกรอบของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ต้องยกร่างล้อไปกับโครงสร้าง การไล่เรียงหมวด บทบัญญัติในมาตราอื่น และถ้อยคำที่ปรากฏในมาตราอื่น (เช่น คำว่า “พระมหากษัตริย์” คำว่า “หน้าที่และอำนาจ” ตลอดจนคำราชาศัพท์ต่างๆ)

นอกจากนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าประเทศไทยจะใช้ระบบสภาเดียว ยกเลิกวุฒิสภา คงเหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ตามข้อเสนอของกลุ่ม Re-solution ที่รณรงค์เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “รื้อระบอบประยุทธ์”

ในส่วนของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเด็นอื่นๆ เช่น การจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การปฏิรูปส่วนราชการในพระองค์ หรือความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 เป็นต้น นั้น หลายกรณีจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งผมจะยกร่างและนำเสนอต่อสาธารณชนในโอกาสต่อไป เบื้องต้น ผมขอเสนอแนวทางไว้โดยสังเขป ดังนี้

  • ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมกับยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ทั้งระบบตั้งแต่ประมุขของรัฐต่างประเทศ เอกอัครราชทูต ศาล เจ้าพนักงาน บุคคลทั่วไป ให้เป็นเรื่องละเมิดที่ผู้เสียหายไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง
  • แก้ไขกฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ซึ่งเป็นของราชบัลลังก์ เป็นของสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่ของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง) มีสถานะเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
  • แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับส่วนราชการในพระองค์ ได้แก่ ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560  ยกเลิกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 แล้วย้อนกลับไปใช้รูปแบบเดิมที่มีสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขานุการในพระองค์ มีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี 

ผมยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ครั้งนี้ และจะยกร่างกฎหมายอื่นๆที่จำเป็นต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป ก็ด้วยความหวังว่า มันจะช่วยสานต่อภารกิจของเยาวชนและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในรอบปีที่ผ่านมา ช่วยสนับสนุนขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นวัตถุ “พร้อมใช้” ในการรณรงค์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการรณรงค์และอภิปรายเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และผมพร้อมอธิบายขยายความในทุกประเด็น ทุกมาตรา ของร่างที่ผมนำเสนอ และจะจัดรายการ เขียน พูด ในเรื่องเหล่านี้ต่อไป

ในส่วนของฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผมอยากเสนอให้พิจารณาอย่างรอบด้าน ตาม ข้อเสนอ 5 ข้อ ที่ผมได้เผยแพร่ในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการชุมนุมเรียกร้องบนท้องถนนเท่านั้น แต่มันต้องอาศัยแรงกดดันจากรอบด้านในวงกว้างและในทุกมิติ ต้องมีทั้งการชุมนุม การเสวนาวิชาการ การจัดดีเบตถกเถียงกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย การเขียน การนำเสนอข้อมูล การอภิปรายในสภา รวมทั้งการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา เราจำเป็นต้องมีรูปแบบการรณรงค์และทำงานทางความคิดที่หลากหลาย เพื่อให้ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นฉันทามติของสังคม

ในส่วนของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผมอยากให้ยอมรับข้อเท็จจริงว่า ณ วันนี้ มีคนจำนวนมากที่มองสถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนอย่างที่พวกท่านคิดเชื่อมาทั้งชีวิต จำนวนคนที่มากนี้ มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และในจำนวนที่มากนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเยาวชนอนาคตของชาติด้วย พวกเขาอาจพูดจาแสดงออกที่ทำให้พวกท่านช็อค มึนงง โกรธ เพราะไม่เคยพบเคยเห็นการแสดงออกแบบนี้มาก่อน จนเกิดอาการรับไม่ได้ นานวันเข้า ก็กลายเป็นโกรธ อาฆาต ชิงชัง แต่ไม่ว่าพวกท่านจะโกรธ จะเกลียด จะแค้น จะไล่ฟ้องคดี จะไล่ล่าพวกเขาด้วย “นิติสงคราม” จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่มาปราบปรามอย่างรุนแรง จะเอาพวกเขาไปขังให้หมดทุกคน ก็ไม่มีทางที่พวกเขาจะเปลี่ยนความคิดที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ได้ ตรงกันข้าม ยิ่งทำกันแบบนี้ ก็จะยิ่งผลักให้พวกเขาราดิคัลมากขึ้น จนข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะพัฒนาจนกลายเป็นข้อเรียกร้องแบบอื่นไป

ยอมรับข้อเท็จจริงเหล่านี้เถอะครับ ทำความรู้จักมักคุ้นกับมัน มองมันในฐานะปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ผลย่อมเกิดจากเหตุ ปฏิกิริยาย่อมเกิดจากสภาพที่เป็นอยู่ “ช้างในห้อง” ตัวนี้อยู่กับเรามานานแล้ว เราอาจตาบอดมองไม่เห็น เราอาจแกล้งมองไม่เห็น แต่ตอนนี้ “ช้างในห้อง” ถูกเปิดออกมาหมดแล้ว ลองทำความเข้าใจกับสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องดู แล้วมาหาทางออกร่วมกัน

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ ความจำเป็นของยุคสมัย

เราหลีกหนีไม่ได้อีกแล้ว

ร่วมกันปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์

เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นราชอาณาจักร มิใช่สาธารณรัฐ

เพื่อรักษาประชาธิปไตย ให้คนทุกคนได้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลดฉบับเต็ม : ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า