เมื่ออำนาจสูงสุดสะท้อนผ่านการเฉลิมฉลอง ว่าด้วยงานฉลองรัฐธรรมนูญที่สาบสูญไปจากสังคมไทย

25 สิงหาคม 2563

คนไทยจำนวนมากรู้ว่าวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เป็นวันหยุดราชการ แต่ก็จบแค่นั้น ต้องเป็นคนอายุตั้งแต่ประมาณ 65 หรือ 70 ปีขึ้นไปถึงจะเคยมีประสบการณ์ร่วมหรือพอจะจดจำได้ถึงช่วงที่ไทยมีงานฉลองรัฐธรรมนูญสนุกสนานเป็นการใหญ่ จนคำกล่าวเชิงเปรียบเปรยว่างานใหญ่จริงนั้นต้องจัดกัน 3 วัน 3 คืนก็ยังดูจะน้อยเกินไป เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่คนไทยเคยฉลองกฎหมายสูงสุดของประเทศกันมาแล้วยาวนานต่อเนื่องถึง 15 วัน 15 คืนหลังการปราบกบฏครั้งใหญ่ที่ยังคงเป็นประเด็น (ซ้ำมีผู้หยิบมาสร้างประเด็นใหม่อยู่เรื่อยๆ) จนถึงทุกวันนี้

แต่ก่อนจะไปถึงช่วงเวลาเฉลิมฉลองหลังการกบฏที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียงแค่ปีกว่าครั้งนั้น  ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่แสดงถึงความตั้งใจของรัฐ เพื่อประกาศความสำคัญของกฎหมายสูงสุด 

งานหลวง – งานราษฎร์ งานเดียวกัน

งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งใน ‘งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่’ ตามที่ถูกวางไว้ให้เป็นกิจกรรมสำคัญ  ความก้าวหน้าที่ปรากฏอยู่บนป้ายในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2475 ทันทีทันใดในปีแห่งการเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ป้ายนั้นเขียนว่า “ได้เสมอภาค เพราะ รัฐธรรมนูญ” 

งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 10 ธันวาคม 2475
ภาพของมูลนิธิ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง

คำว่า “เสมอภาค” ที่ทุกวันนี้เราพูดกันอย่างสามัญ (ไม่ว่ามันจะมีให้สัมผัสเป็นรูปธรรมอยู่สักกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม) เป็นของใหม่อย่างยิ่งในยุคสมัยเมื่อเกือบ 90 ปีก่อน ยุคที่คนทั่วไปยังเคยชินอยู่กับระบบชั้นยศ เจ้าขุนมูลนาย อาจจะบอกอีกอย่างก็ได้ว่าในงานฉลองยุคเริ่มต้นของประชาธิปไตยนี้ ความเสมอภาคเป็นตัวที่ถูกหยิบขึ้นมาขับเน้นที่สุดในกระบวนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันประกอบด้วย ความเป็นเอกราชสมบูรณ์, การให้ความปลอดภัยในประเทศ, การบำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ, การให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน, การให้ราษฎรมีเสรีภาพและความเป็นอิสระ และให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร รัฐบาลกำลังต้องการสื่อสารความเข้าใจต่อระบอบการปกครองที่เป็นสิ่งใหม่นี้ให้ไปถึงประชาชนทั่วทุกพื้นที่เท่าที่จะเป็นไปได้ ในยุคที่แม้แต่สื่อดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างหนังสือพิมพ์ก็ยังไม่อาจกระจายไปทั่วประเทศ อย่าว่าแต่ยังไม่มีสื่อรวดเร็วแบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก การลงมือสื่อสารอธิบายให้ถึงผู้ถึงคนจริงๆ ผ่านการจัดงานที่จะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากก็เป็นอีกทางเลือก ได้ผลกระจายเป็นวงกว้าง ไม่มีใครปฏิเสธงานรื่นเริงที่เข้าร่วมเข้าชมได้ฟรีๆ เป็นการประชาสัมพันธ์แบบผู้รับสารได้เอาตัวเองมาซึมซับบรรยากาศ ได้รับรู้ทั้งในทางข้อมูลและความรู้สึก มีปฏิสัมพันธ์กับความคิดและอุดมการณ์ที่นำเสนอในงานได้อย่างเต็มที่

ครั้งแรกของการฉลองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ปีแรกที่มีรัฐธรรมนูญ สถานที่จัดงานคือท้องสนามหลวง มีงานต่อเนื่อง 3 วัน โดยวันแรกเป็นส่วนงานทางการของพระราชพิธี และสองวันหลังเป็นส่วนของงานนิทรรศการ งานแสดงมหรสพต่างๆ งานออกร้านรื่นเริงสำหรับประชาชนทั่วไป

และประชาชนนี่แหละ แต่ไหนแต่ไร จากที่เคยเป็นแค่ผู้คอยเฝ้าดู เฝ้าชื่นชมขบวนแห่แหนของทางการในงานพิธีการต่างๆ แต่พอมาถึงงานฉลอง ‘ของใหม่’ ที่มี ‘ความเสมอภาค’ ประชาชนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของงานในหลากหลายกิจกรรม ตั้งแต่งานแสดงตามถนัด ละคร ลิเก เพลงพื้นบ้านทุกสกุล เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงโคราช ฯลฯ ดนตรีหลากหลายรูปแบบตามที่คิดว่าจะจัดแสดงขึ้นได้ การฉายหนัง บทกวี มายากล งานจิตรกรรม ประติมากรรม งานออกแบบตกแต่งรถหรือจักรยานของตัวเองเพื่อนำมาร่วมขบวนพาเหรด ไปจนถึงงานทางความคิดและการเมือง การกล่าวสุนทรพจน์ ปาฐกถา ฯลฯ

ไม่มีอะไรไม่ดีพอหรือต่ำต้อยเกินกว่าจะเข้าร่วมได้ในยุคสมัยของ ‘ประชาชน’ เช่นนี้

เพียงมีข้อแม้ว่าการแสดงออกเหล่านั้นต้องเอื้อต่อรัฐธรรมนูญในแง่ของการสร้างแรงจูงใจให้เกิดความเข้าใจ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการแข่งขันเชิงกีฬา อย่างเช่น ต่อยมวยชิงถ้วยรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือความบันเทิงแบบไหนก็เรียกผู้ชมมาได้ล้นทะลักเสมอ

การเที่ยวงานช่วงกลางวันมักจะเป็นเวลาของครอบครัว เพื่อนฝูง ในขณะที่งานช่วงค่ำคืนจะเป็นเวลาของคนหนุ่มคนสาว เที่ยวดูพลุ ดอกไม้ไฟ ที่มีการจุดเฉลิมฉลองอย่างเต็มที่สวยงามต่อเนื่องทุกคืน ยิ่งเมื่อคิดถึงโลกราตรีเมื่อกว่า 80 ปีก่อนที่ยังไม่มีความสนใจอื่นใดมากนัก ยังไม่มีแม้แต่โทรทัศน์ นี่ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาพิเศษของปีที่ผู้คนต่างจะต้องรอคอย 

จะพูดก็ได้ว่าไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่คนสามัญธรรมดาจะรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงานระดับชาติได้ถึงขนาดนี้ เพราะใช่จะรอคอยมางานกันเพื่อความสนุกสนาน แต่ยังมีห้างร้านของเอกชน รวมทั้งประชาชนคนธรรมดามากมายที่เต็มใจมาช่วยงาน ‘หลังบ้าน’ อย่างภูมิอกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วม อย่างเช่น ขนข้าวปลาอาหารมาช่วย ใครมีโรงน้ำแข็งก็ขนเอาน้ำแข็งมาช่วย เป็นเจ้าของสวนมะพร้าวก็หอบเอามะพร้าวอ่อนมาช่วย ช่วยกระทั่งให้ยืมสายไฟใช้ในงานก็ยังมี คนละไม้ละมือด้วยสำนึกของการเป็นเจ้าของงานร่วมกัน

*ด้วยเหตุจะใช้ตัวงานเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ระบอบใหม่อย่างที่บอก งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้จัดเฉพาะแค่ในเมืองหลวง แต่ยังสนับสนุนให้จัดกันทั่วประเทศ เน้นให้ตรงวัน 10 ธันวาคมพร้อมๆ กันอย่างเอิกเกริก 

สิ่งที่เห็นสะท้อนโลกใหม่ ไทยเท่าเทียม

นอกจากจะเน้นความเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนแล้ว รูปลักษณ์งานฉลองรัฐธรรมนูญยังโดดเด่นด้วยสิ่งปลูกสร้างและตกแต่งแบบสมัยใหม่ที่สะท้อนความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของร่วมกันของประชาชนทุกคน  อย่างเช่น 

การตัดทอนฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรม หรือพูดง่ายๆ คือไม่มีการออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่แสดงฐานันดรชนชั้น ไม่มีหลังคาทรงจั่วแหลมแบบเก่า มีแต่ความสมัยใหม่ (Modern Architecture) หลังคาตัดเรียบ ทิ้งความวิจิตรพิสดารไปเป็นสัจนิยมแนวสังคม (Social Realism) คือโน้มเอียงไปทางศิลปะฝ่ายซ้าย ทั้งร้านค้า อาคารนิทรรศการ ไปจนการออกแบบตกแต่ง 

เมื่อพูดถึงการตกแต่ง มีการเน้นสัญลักษณ์สนับสนุนแนวคิดหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อย่างเช่นการประดับด้วย เสา 6 ต้น ธงชาติ 6 ผืน ที่เด่นมากคือสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญซึ่งมีให้เห็นกระจัดกระจายไปทั่ว ไม่ว่าจะประดับสถานที่ หรืออยู่ที่ตัวสินค้า ของที่ระลึก และเน้นวางในตำแหน่งสูง ไม่ใช่เพื่อแสดงความสูงส่งแตะต้องไม่ได้ แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ 

ต่อมา สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญยังไปปรากฏอยู่บนวัตถุธรรมดาๆ อย่างขวดน้ำหวาน โอ่งน้ำ เพื่อให้ความคุ้นเคยต่อระบอบใหม่แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวัน 

ฉลองรัฐธรรมนูญ 2476 ความยิ่งใหญ่หลังมีชัยเหนือกบฏบวรเดช

เพียงหนึ่งปีถัดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยาม การจัดงานครั้งที่ 2 กลายเป็นงานฉลองที่ยิ่งใหญ่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ตั้งต้นตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน ไปจนถึง 12 ธันวาคม 2476 นับรวมได้ 15 วันเต็ม โดยในกรุงเทพใช้พื้นที่กว้างขวางตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามหลวง ท่าราชวรดิฐ ไปจรดแยกสะพานมอญ ผู้คนเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก เฉพาะที่อุทยานสราญรมย์มีบันทึกไว้ว่าประชาชนเข้ามาเที่ยวงานมากถึงราว 20,000 คน / วัน เมื่อคิดว่านี่คือกิจกรรมในโลกเก่าเมื่อ 87 ปีก่อน จำนวนคนขนาดนี้ถือว่าพิเศษมากทีเดียว 

การจัดงานใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเสร็จสิ้นการปราบ กบฏบวรเดช ได้เพียง 1 เดือน 5 วัน

กบฏบวรเดชมีเป้าหมายล้มล้างรัฐบาลคณะราษฎรภายใต้การนำของ พระยาพหลพลพยุหเสนา เริ่มปฏิบัติการด้วยกำลังจากวันที่ 11 ตุลาคม 2476 โดยการนำของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีสมัครพรรคพวกเป็นทั้งทหารในและนอกประจำการจากหลายจังหวัด อย่างเช่นทหารโคราช  เพชรบุรี ราชบุรี สระบุรี ปราจีณบุรี  นครสวรรค์ อุบลราชธานี เรียกตัวเองว่า คณะกู้บ้านเมือง อ้างว่ารัฐบาลโดยคณะราษฎรจะนำเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้ ระหว่างปฏิบัติการเกิดการยึดพื้นที่และสู้รบจนถึงวันปราบกบฏเสร็จสิ้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2476

 “งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476” แสดงขบวนทหารม้า รถหุ้มเกราะ รถขนส่งทหาร ขบวนรถม้า รถจักรยานที่ตกแต่งเป็นเครื่องบินใบพัด รถลาก ขบวนชาวนา ฯลฯ ขบวนแห่จากหน่วยงานเอกชน ฯลฯ รวมทั้งบันทึกภาพประชาชนบนถนนหน้าพระลาน ภาพยนตร์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เผยแพร่โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) Youtube: Film Archive Thailand Channel  

(*หมายเหตุ ประวัติศาสตร์สืบเนื่อง: รัฐบาลจัดพิธีศพผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คนจากการปราบกบฏบวรเดช ณ เมรุชั่วคราวท้องสนามหลวง นับเป็นครั้งแรกที่สถานที่แห่งนี้มีการจัดพิธีศพสามัญชน และหลังจากนั้นราว 3 ปี ในวันที่ 15 ตุลาคม 2479 มีพิธีเปิด อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือเรียกกันในเวลาต่อมาว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (อีกชื่อหนึ่งที่คนทั่วไปคุ้นเคยคือ อนุสาวรีย์หลักสี่ ตามหลักแหล่งที่ตั้ง) ได้มีการบรรจุอัฐิทหารตำรวจทั้ง 17 นายไว้ด้วย ผู้ประกอบพิธีเปิดคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และเมื่อเวลาผ่านไป แม้จะเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วโดยกรมศิลปากร แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนที่ตั้ง โยกย้ายอยู่หลายครั้งโดยอ้างความจำเป็นของการปรับภูมิทัศน์และการจราจรตามยุคสมัย จนกระทั่งครั้งสุดท้าย กลางดึกของคืนวันที่ 27 ต่อ 28 ธันวาคม 2561 ได้เกิดการโยกย้ายอนุสาวรีย์นี้โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจตรึงกำลังควบคุมพื้นที่ให้เกิดการทำข่าวดังกล่าวให้น้อยที่สุด และจากนั้นคือความสาบสูญถาวร ทุกหน่วยงานที่ควรมีหน้าที่รับผิดชอบต่างปฏิเสธตั้งแต่การรู้เห็น ไปจนถึงปฏิเสธแม้แต่การให้ความสำคัญของตัวอนุสาวรีย์ ตราบจนปัจจุบันก็ไม่ปรากฏการแสดงความรับรู้จากฝ่ายใดทั้งสิ้นว่าอนุสาวรีย์ถูกย้ายไปไว้ที่ไหน ล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2563 ประชาไทรายงานข่าวผ่านเว็บไซต์ว่า เวลาประมาณ 22.00 น.ของวันที่นำเสนอข่าวนั่นเอง ได้เกิดการทุบ รื้อทำลายฐานอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่เหลืออยู่จนหมดสิ้น)  

2477 เริ่มแผ่นดินที่สองของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ความต่อเนื่อง 9 ปีของการจัดงาน และมรดกที่ทิ้งเอาไว้

งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งที่ 3 ของประเทศสยาม กลายเป็นการฉลองในรัชกาลใหม่ อันเนื่องมาจากการสละราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ขณะประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ

ความพิเศษของงานฉลองรัฐธรรมนูญเฉพาะในปีนั้นคือมีการจัดเพิ่มเป็น 2 งาน งานแรกเกิดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน จัดในรูปแบบงานสโมสรสันนิบาตที่สวนมิสกวัน และยังประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ  “เนื่องในวันคล้ายวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก” 

เพราะย้อนกลับไปในปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรร่างไว้ในชื่อ ร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองประเทศสยาม พ.ศ. 2475 ได้ประกาศใช้ในวันดังกล่าว โดยรัชกาลที่ 7 ได้ทรงใส่วงเล็บไว้ท้ายร่างนั้นว่า ฉบับชั่วคราว  

ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองของคณะราษฎรนี้ แม้จะถูกกำกับด้วยวงเล็บให้กลายเป็น ฉบับชั่วคราว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็ได้เคยกล่าวว่า นับเป็น แมกนา คาร์ตา (Magna Carta) หรือกฎบัตรใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งกำหนดไม่ให้ชนชั้นนำใช้อำนาจตามอำเภอใจ แม้แต่พระราชประสงค์ของกษัตริย์ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย 

ส่วนงานที่ 2 จัดตามกำหนดเดิมในเดือนธันวาคม เป็นวันคล้ายวัน “ฉลองการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร” ในปี 2477 นี้มีการแห่พานรัฐธรรมนูญไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา และนำเอามาประดิษฐานบนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (ข้อมูลจากบทความ รำลึก “วันหยุดราชการ” กับ “การบ้านการเมือง” วันหยุดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเคยมี 3 วัน โดย วิภา จิรภาไพศาล จากเว็บไซต์ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2563)  

มรดกที่ทิ้งเอาไว้จนปัจจุบันจากงานฉลองในปีดังกล่าวคือ การประกวดนางสาวไทย หรือที่เรียกว่า นางสาวสยาม ตามชื่อประเทศในขณะนั้น (ปัจจุบันคือเวที Miss Thailand Universe) จัดขึ้นที่สวนสราญรมย์ การประกวดนางงามนี้ยังกลายเป็นแบบอย่างให้กับงานฉลองรัฐธรรมนูญในบางจังหวัดอีกด้วย อย่างเช่นงานฉลองที่หนองคายในปี 2480 ก็มีการประกวดความงามเช่นกัน 

หลักฐานการให้ความสำคัญกับวันรัฐธรรมนูญของรัฐบาลฝ่ายคณะราษฎรปรากฏเป็นรูปธรรมอีกครั้งในปี 2478 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เพิ่มวันหยุดราชการเนื่องในวันรัฐธรรมนูญเป็น 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 9 จนถึง 11 ธันวาคม มากไปกว่านั้นยังออกหนังสือเป็นทางการไปยังจังหวัดต่างๆ ย้ำถึงความสำคัญของการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ และเน้นว่าควรต้องฉลองให้ตรงวันด้วย 

เพราะ “งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานที่ระลึกอันสำคัญของชาติ” 

อีกหนึ่งมรดกที่มีต้นทางมาจากงานฉลองรัฐธรรมนูญและคนจำนวนมากไม่เคยรู้หรือหลงลืมไปแล้ว นั่นคือ กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร อันเนื่องมาจากการที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แวะชมซุ้มของกรมศิลปากรในงานฉลองของปี 2482 แล้วเกิดชื่นชอบฝีมือประติมากรรมชิ้นหนึ่งของนายช่างที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ศิลปินเชื้อชาติอิตาเลียนที่มารับราชการอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ผู้สอนหลักของโรงเรียนประณีตศิลปกรรมที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2476 จน จอมพล ป. ถึงกับไปเยี่ยมชมโรงเรียนและพบกับอาจารย์ศิลป์ในวันรุ่งขึ้นทันที จากนั้นกระบวนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศก็เกิดขึ้นจนสำเร็จด้วยดีในปี 2486

นับจากการจัดงานครั้งแรกในปี 2475 งานฉลองรัฐธรรมนูญกลายเป็นงานประจำปีต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี และในขณะที่งานของปีที่ 10 ในปี 2484 กำลังจะเริ่มต้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ทุกอย่างก็ถูกล้มเลิกกลางคันอันเนื่องมาจากการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  

หลังสงครามสงบ และหลังน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพในปี 2485 งานฉลองรัฐธรรมนูญกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในปีถัดมา 2486 เพื่อเสริมขวัญกำลังใจให้ประชาชนทั้งประเทศ เป็นยุคแห่งความเบ่งบานเต็มที่ของประชาธิปไตย งานปีนั้นจึงเปี่ยมล้นไปด้วยชีวิตชีวา

การเฉลิมฉลองกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักลงอีกครั้ง จากการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในปี 2489

ทศวรรษ 2490 เมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นผู้นำฉลองรัฐธรรมนูญ

นับเป็นแผ่นดินที่สามของรัฐธรรมนูญไทย เป็นช่วงเวลาแห่งการสิ้นสุดบทบาทของคณะราษฎรอย่างแท้จริง และการรัฐประหารของคณะทหารแห่งชาติเมื่อพฤศจิกายน 2490 ก็นำมาซึ่งการกลับคืนสู่การกุมอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเต็มรูปแบบ 

งานฉลองรัฐธรรมนูญในทศวรรษนี้จึงชัดเจนไปด้วยการประกาศถึงชัยชนะของขั้วตรงข้ามกับคณะราษฎร เริ่มจากงานออกแบบอาคารที่กลับไปมีกลิ่นอายจารีตด้วยลักษณะที่เรียกว่า “ไทยประยุกต์” แม้ไม่ได้ใช้โครงสร้างตามหลักสถาปัตยกรรมไทยเป๊ะๆ แต่หน้าจั่วแหลมผสมผสานโครงสร้างสมัยใหม่ก็ยังแสดงฐานันดรแบบดั้งเดิม ส่วนพานรัฐธรรมนูญถึงจะยังคงปรากฏให้เห็นบ้าง แต่ไม่ใช่สัญลักษณ์นำที่จะเชิดชูให้เด่นอีกต่อไป 

งานฉลองปี 2490 แทนที่ชื่อ “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ด้วยการกำหนดใหม่ตามสถานการณ์ผลัดแผ่นดินในขณะนั้นว่า “โครงการงานสมโภชน์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและฉลองรัฐธรรมนูญ 2490” 

แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนยิ่งกว่าชื่อเรียก ยิ่งกว่าการสะท้อนด้วยรูปลักษณ์ที่ดูมีฐานานุศักดิ์ ก็คือ “งานราษฎร์” ทั้งหมดถูกถอดออกจากการเฉลิมฉลองด้วยข้ออ้างของความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนที่เคยเสรีมีส่วนร่วมถูกตัดสิทธิ์ทิ้ง เปลี่ยนเป็นการให้อนุญาตตามคำขอร่วมเป็นรายๆ ไป 

การค้าขายหาบเร่ของประชาชนที่เคยได้อาศัยผู้เข้าร่วมงานฉลองจำนวนมากเป็นโอกาสพิเศษที่จะทำมาหากิน ก็ถูกสั่งห้ามเด็ดขาดไปพร้อมๆ กัน

งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2497 ยุคสมัยที่คณะราษฎรหมดบทบาทไปจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง การกลับมามีอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ทำให้งานฉลองรัฐธรรมนูญเปลี่ยนโฉมหน้า จัดสร้างโดย กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เผยแพร่โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) Youtube: Film Archive Thailand Channel

ยังมีภาพยนตร์บันทึกการฉลองรัฐธรรมนูญอีกเรื่องจากการเผยแพร่ของ หอภาพยนตร์ฯ เป็นงานที่จัดในปี 2497 หนังสีความยาว 15.30 นาทีเรื่องนี้จัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหารเรือ (ระบุชื่อผู้ถ่ายภาพยนตร์ ร.ต.คีรี ธนะพัฒน์ ร.น.) สถานที่จัดงานคือสวนลุมพินี เปิดด้วยภาพด้านหน้า พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่หก จากนั้นเป็นภาพบรรยากาศงาน จุดเด่นที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ในปีนั้นสร้างอยู่ริมสระใหญ่ ใช้ชื่อว่า ประภาคารอาภากร (นำมาจากชื่อประภาคารจริงที่เกาะไผ่ อ่าวไทย) มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงสูง รูปทรงเลียนมาจากขีปนาวุธของทหารเรือ (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะปีนั้นทหารเรือเป็นแม่งาน) ที่ปักหัวลงไปบนพื้น ปลายสุดต่อสูงด้วยฉัตร 9 ชั้น ขณะที่ในสระมีเรือกันยาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญ ในเนื้อหนังมีเพลทคำอธิบายไว้ด้วยว่า เรือกันยานั้นหมายถึงรัฐนาวาที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ส่วนประภาคารหมายถึงประทีป (หรือแสงสว่าง) อันเป็นที่หมายของรัฐนาวา ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นฉัตรชัย (สัญลักษณ์ฉัตร 9 ชั้น) – – นี่คือการสร้างนิยามใหม่ให้กับงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งสารตามที่รัฐต้องการสู่ประชาชน  

จากนั้น งานที่เคยยิ่งใหญ่ เป็นงานประจำปีที่ราษฎรทั้งหลายตั้งตารอคอยก็ถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ และหลังจากนั้นอีกเพียง 3 ปีก็ไม่มีงานรื่นเริงนี้อีกต่อไปเมื่อมาถึงยุคสมัยของรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2501 หรือเมื่อกว่า 60 ปีล่วงผ่าน และไม่เคยมีการจัดฉลองรัฐธรรมนูญอีกเลยจนถึงทุกวันนี้  

ถึงที่สุดแล้ว เมื่อเราพูดถึงมรดกของงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมไทย เราก็ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญเองก็เป็นมรดกของคณะราษฎรอีกที เมื่อมีความพยายามอย่างยิ่งยวดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาที่จะลบล้างความทรงจำต่อคณะราษฎรให้หมดไปจากวิถีชีวิตคนไทย งานเฉลิมฉลองกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงต้องถูกเกลื่อนให้เลือนหายไปด้วย โดยไร้การประนีประนอม

สิ้นสุดการฉลอง! 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า