ความมั่นคงกับวิกฤต “โควิด-19” ถอดบทเรียนครั้งทำงาน กมธ. ที่งงว่าทำไมต้องรอประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน”

23 เมษายน 2563

ในระดับนานาชาติ นิยามด้านความมั่นคงจะหมายถึงความมั่นคงของรัฐหรือของประชาชน ไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐบาลใดๆ ซึ่งแน่นอนว่าการมุ่งร้าย การบ่อนทำลายรัฐบาลนั้นเป็นความไม่มั่นคงแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง

มิติความมั่นคงยุคสมัยนี้ต่างออกไปจากเดิมมากกว่าที่คิดแค่ว่าเป็นเรื่องใช้กำลังทางทหาร หลายเรื่องอาจคล้ายการใช้กำลัง เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น แต่ก็มีหลายๆ เรื่องที่แตกต่างออกไป คือเป็น พลังอำนาจแบบอ่อน (soft power )” บางครั้งอาจมีอำนาจกว่าการใช้กำลังทางทหารเสียอีก เช่น การเป็นเจ้าหนี้เงินกู้มากๆ จนประเทศลูกหนี้ต้องปรับนโยบายตามเจ้าหนี้ ไม่ได้มีอิสระหรืออำนาจอธิปไตยจริง ทั้งๆ ที่ชักธงชาติตัวเองทุกวัน เป็นต้น

ในทางกลับกัน บางประเทศที่ด้อยพัฒนา ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องความมั่นคง การใช้กฎหมายปิดปากโดยอ้างความมั่นคง การจับกุม ดำเนินคดี หรือในบางแห่งมีการทรมาน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ด้วยข้ออ้างความมั่นคง แต่สุดท้ายก็จะนำไปสู่การไร้เสถียรภาพ และความไม่มั่นคงอยู่ดี 

ด้วยเหตุนี้ พอพูดถึงความมั่นคง ประชาชนในหลายประเทศจึงร้องยี้ ไม่เอาด้วย เพราะรู้สึกว่าจะถูกคุกคามหรือถูกรังแกในเรื่องต่างๆ ได้ง่าย โดยปราศจากเสรีภาพ 

ดังนั้นในบทความนี้จะพูดถึงความมั่นคงที่แท้จริงซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติไม่ใช่ความมั่นคงของรัฐเผด็จการใดๆทั้งนี้ก็เพื่อเราจะได้เข้าใจตรงกัน 

ขอเริ่มต้นด้วยคำถามและข้อชวนคิดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในตอนนี้ว่า เมื่อความมั่นคงเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของประชาชน แล้วโรคระบาดอย่างโควิด- 19 เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือไม่ และหากเกี่ยว ฝ่ายความมั่นคงของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เขามีการรับมืออย่างไร 

ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงของอเมริกา มีกล่าวถึงโรคระบาดว่าเป็นงานด้านความมั่นคง โดยมีหัวข้อ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการระบาดของไข้หวัดใหญ่ (National Strategy for Pandemic Influenza)” ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการหลัก ๆ อยู่ 3 ประการได้แก่

1. หยุดยั้งทำให้ช้าลงหรืออย่างน้อยจำกัดการแพร่ระบาด

2. จำกัดการแพร่กระจายภายในประเทศรวมถึงการบรรเทาโรคการเจ็บป่วยและการตายลง

3. รักษาโครงสร้างพื้นฐานให้คงอยู่และบรรเทาผลกระทบต่อการทำงานของด้านเศรษฐกิจและสังคม

แนวทางหลักทั้ง 3 ประการ มีรายละเอียดการปฏิบัติที่อเมริกาใช้จนกระทั่งปัจจุบัน ดังที่เราได้เห็นว่ามีการออกมาตรการต่างๆ มาอย่างครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่แรกเริ่ม อย่างครบถ้วน โดยไม่ต้องปรับปรุงอะไรมาก เพียงแต่ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามสิ่งที่ควรเป็นและปรับตัวต่อสถานการณ์ของโรคระบาดเท่านั้น

อาจมีผู้เถียงว่า เมื่อมีมาตรการต่างๆ ดีขนาดนี้ แล้วทำไมถึงมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาก ซึ่งจากการสังเกตของผู้เขียนเอง เข้าใจว่า อเมริกาทำตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และจุดนี้ทำให้การเริ่มเปลี่ยนเกณฑ์การตรวจผู้ติดเชื้อช้าเกินไป อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นวัตถุประสงค์ของบทความนี้ ขอให้ติดตามข่าวสารกันต่อไป

สิ่งที่จะเล่าให้ฟังก็คือประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง เมื่อครั้งยังไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย โดยมีคน 7 คนใส่ชุดครุยแล้วขึ้นไปนั่งอยู่บนบัลลังก์ กระทำการในนามของศาลรัฐธรรมนูญลงมติเสียงข้างมากให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี  ช่วงที่ผู้เขียนยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเป็นประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดยขณะนั้น เราเห็นว่าเรื่องโรคระบาดในจีนเป็นสิ่งที่ไม่ควรประมาท จึงได้เชิญผู้แทนของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาชี้แจง 

ตอนนั้น การระบาดในจีนยังไม่มาก เป็นระยะที่ 1 จะเข้าระยะที่ 2 การแพร่กระจายในต่างประเทศยังไม่ชัดเจน การเดินทางระหว่างประเทศยังทำได้อยู่ ประเทศไทยเองยังรับนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากเข้ามา ด้วยความเชื่อว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา

ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ นั้น เมื่อกระทรวงสาธารณสุขอธิบายการแพร่ระบาดจบแล้ว จึงสอบถามด้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า ประเทศอาจเข้าสู่วิกฤติเมื่อใดก็ได้ ลำพังการใช้กฎหมายสาธารณสุขหน่วยงานเดียวไม่เพียงพอ จำต้องอาศัยการมองภาพด้านความมั่นคงที่กระทบทุกมิติด้วย (ดังที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครมองมิติด้านความมั่นคงนี้เลย) 

อย่างไรก็ตามผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติก็ได้ยอมรับว่าไม่สามารถทำอะไรได้หากยังไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งผู้เขียนเองก็ได้แจ้งว่านี่คือจุดอ่อนของงานด้านความมั่นคงที่ต้องรอให้มีเหตุรุนแรงก่อนจึงจะขยับตัวได้  การบริหารวิกฤตินั้นจะต้องดำเนินการตั้งแต่ยามปกติได้จึงจะช่วยเหลือประชาชนได้ทันเวลา 

สำหรับความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน หากไม่ได้มียุทธศาสตร์ที่เป็นระบบรองรับไว้ก่อนเหมือนของอเมริกา ซึ่งลงไปในรายละเอียดถึงขั้นจำลองสถานการณ์ ย่อมไม่มีทางที่จะรับมือได้ทันเวลา 

และการใช้กำลังทหาร ตำรวจไปในเรื่องที่ตนเองไม่คุ้นเคย ก็เหมือนการรักษาเนื้องอกเล็กๆ ด้วยการฉายแสง คนไข้จะตายเพราะภูมิต้านทานตก มากกว่าตายเพราะเนื้องอกเสียอีก ดังที่เราได้พบการตรวจจับบุคลากรทางการแพทย์อย่างผิดๆ ระบบเศรษฐกิจที่ไม่หมุนเพียงพอในเวลาที่จำเป็น เรื่องเหล่านี้ หากมีการวิเคราะห์กันอย่างรอบด้านตั้งแต่ยามปกติ และมีการบริหารวิกฤติตั้งแต่ยามปกติ การแก้ปัญหาก็จะรอบคอบ รัดกุมขึ้น

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ก็คือฝากให้ สมช. ใช้วิกฤตินี้ ปรับปรุงแนวทางการทำงานเสียใหม่ ตามที่ สมช.เห็นสมควร เพราะทั้งคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สมช. และ สธ. ต่างก็เห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ มีในบันทึกการประชุมของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ความมั่นคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ต่างจากในสมัยก่อนที่อาจเป็นเรื่องของ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร แต่ในปัจจุบันนี้ ขอบข่ายความมั่นคงมีมากมาย จนถึงขนาดต้องคิดกันเลยว่า ประเทศไทยควรมีข้าวสำรองให้คนไทยบริโภค ในราคาที่สมเหตุผลทุกคน เป็นเวลากี่เดือน หากเกิดภัยพิบัติหรือสงครามขึ้น 

เรื่องสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน ก็เป็นเรื่องความมั่นคง ต้องประเมินว่า จะปล่อยให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยการทำลายป่าไปถึงขีดจำกัดแค่ไหน ที่จะยังคงมีความชื้นในอากาศเพียงพอให้มีฝนตกต้องตามฤดูกาล การเผาป่าด้วยความจงใจควรเป็นเรื่องสำคัญระดับความมั่นคงหรือไม่ เป็นต้น 

กลับมาถึงการปฏิรูปกองทัพให้ทันกับยุคสมัย เช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 5  ซึ่งทำให้สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้น เอาชนะจีนฮ่อได้ด้วยทหารฝึกแบบตะวันตก ก็เป็นเหตุผลด้านความมั่นคง คือการอยู่รอดของชาติบ้านเมือง และประชาชนทั้งสิ้น 

การปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยเป็นทหารอาชีพจึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากมาดูด้านการทหารโดยตรงที่เป็นกิ่งหนึ่งของความมั่นคง อาวุธที่ซื้อมาในวงเงินที่มีอย่างจำกัด ควรต้องคิดว่า ทำอย่างไรจะได้สิ่งที่ทำให้ไม่เกิดสงครามแน่ๆ หรือหากมีสงครามเราจะชนะได้แน่ๆ ยุทธศาสตร์ทางทหารจะเอาอย่างไร จะตั้งรับหรือตั้งรับเชิงรุก ทุกอย่างส่งผลต่อการกำหนดประเภทอาวุธทั้งสิ้น 

และควรต้องคิดด้วยว่า หากใช้พลังอำนาจอื่นช่วย เช่น ด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จะทำให้กองทัพน่าเกรงขามกว่าหรือไม่ สมควรใช้ทรัพยากรไปในทางไหนมากกว่ากัน รวมถึงการผลิตอาวุธของตนเองได้เมื่อจำเป็น เวลาปกติให้เป็นการค้าขายก่อนได้ไหม เหมือนอเมริกาช่วงก่อนสงครามโลก หรือญี่ปุ่นในปัจจุบันที่ใคร ๆ ก็ไม่กล้าท้ารบด้วย ทั้ง ๆ ที่มีกำลังทหารไม่มาก 

มิติด้านความมั่นคงมีความหลากหลาย มีความท้าทายในการคิดหาเหตุผล แต่ที่สำคัญคือล้วนมีผลต่อการอยู่รอดปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น 

จึงต้องมองอย่างรอบด้านไม่ใช่ให้เกิดความมั่นคงในเรื่องหนึ่งขณะที่เรื่องอื่นๆหรือด้านอื่นๆกระทบพังครืนล้มไม่เป็นท่าแล้วเราจะตายกันหมดเหมือนเดิม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า