ปลุกท้องถิ่น เปลี่ยน “นครปฐม” ลุยฟังปัญหา – รับข้อเสนอแนะออกแบบนโยบาย ชูฟื้น “เจดีย์บูชา” คลองประวัติศาสตร์

29 กรกฎาคม 2563

เพราะมีอาณาเขตอยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร ทำให้พื้นที่ใน 3 ตำบล คือ คลองโยง, คลองมหาสวัสดิ์ และศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนา อันมี “ข้าวหอมนครไชยศรี” เลื่องชื่อ เริ่มแปรเปลี่ยน กลายสภาพไปเป็นบ้านเรือน หอพักที่อยู่อาศัย ตึกแถวย่านธุรกิจ หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมในบางจุดที่ไม่รู้ว่าโผล่มาได้อย่างไรในเขตซึ่งได้รับการประกาศรับรองให้เป็นพื้นที่สีเขียว

เลาะไปตามถนนแคบๆ ที่สองข้างทางตัดสลับระหว่างบ้านเรือนกับท้องนา ในที่สุด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไกลก้อง ไวทยการ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย ชัชวาล นันทะสาร ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครปฐม และทีมผู้สมัครสมาชิกสภา (สจ.) จังหวัดนครปฐม ก็เดินทางมาถึงจุดนัดหมาย ที่ประชาชนชนใน 3 ตำบลดังกล่าว ได้มารวมตัวกัน เพื่อต้องการสะท้อนปัญหารวมถึงให้คำแนะนำกับทีมงานคณะก้าวหน้า ได้นำไปใช้ในการออกแบบนโยบายเพื่อนำมาใช้พัฒนาจังหวัด

“พื้นที่สีเขียว – แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร”  ฟังปัญหาและข้อเสนอเพื่อออกแบบนโยบาย

บรรยากาศในการพูดคุย เป็นไปด้วยความสนุกสนาน แต่ละคนสะท้อนปัญหาของตนด้วยความกระตือรือร้น อาทิ เกษตรกรที่ทำนาข้าว พูดถึงราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ตันละประมาณ 8,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป เพราะไหนจะค่าเช่าที่ ค่าปุ๋ย ค่ายา และในระยะหลังก็ประสบปัญหาเรื่องการกำจัดตอซังข้าว ที่ไม่สามารถเผาได้เหมือนแต่ก่อน แต่จะให้รอการย่อยสลายไปเองก็ไม่ทัน เนื่องจากพื้นที่นี้ทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ค่าจัดการตอซังเหล้านี้จึงเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นตามมา 

ขณะที่เกษตรกรที่ทำนาบัว ประสบปัญหาเรื่องราคาเช่นกัน และตลาดรับซื้อผลผลิตดอกบัว เกษตรกรก็รู้จักอยู่เพียงแห่งเดียวคือปากคลองตลาดในกรุงเทพฯ จึงไม่อาจต่อรองได้มากนัก ขณะที่ในช่วงหลังยังมีความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ทำนาบัวต้องประสบด้วย นั่นคือเรื่องของน้ำเสียจากบ้านเรือนที่เข้ามาปะปนในนาบัว  

นอกจากนี้ ยังมีเสียงของคนในชุมชนส่วนใหญ่ที่มีข้อเสนออยากพัฒนาพื้นที่เขตนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร พัฒนาแหล่งน้ำลำคลองให้เรือสัญจรได้

ชัชวาล ในฐานะว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นครปฐม เริ่มต้นการพูดคุยในเวทีรับฟังความคิดเห็นด้วยความคาดหวังของต้นเอง เขาอยากเห็นจังหวัดนครปฐมสามารถรักษาพื้นที่สีเขียวไว้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันนี้ที่เหลือพื้นที่สีเขียวอยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และยังมีการรุกล้ำหดหายไปอีกเรื่อยๆ เนื่องจากการขยายตัวของเมือง 

“เราจึงต้องมาร่วมกันคิดในเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไร เช่นในพื้นที่ ต.คลองโยง เป็นแหล่งเกษตรกรรมชั้นดี มีการปลูกข้าวหอมนครไชยศรี การทำนาบัว การปลูกพืชผักส่วนครัวและทำเกษตรต่างๆ เยอะ เราจึงเดินทางมารับฟังข้อมูลจากคนในพื้นที่ อย่างการเสนอความเห็นให้ทำพื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจ” ชัชวาล กล่าว 

หลังสิ้นเสียงปรบมือก้องก้องต้อนรับ ธนาธร บอกกับประชาชนที่มาร่วมสะท้อนปัญหาและให้ข้อเสนอแนะว่า ปัญหาที่ทุกคนสะท้อนให้ฟังวันนี้ ทางคณะก้าวหน้าจะเก็บรวบรวมร่วมกับพื้นที่อื่นๆ ที่เราจะเดินทางไปทั่วทั้งจังหวัดนครปฐม เพื่อนำไปผลิตเป็นนโยบาย  เพราะเราเชื่อว่าการนั่งคิด นั่งทำงาน ออกแบบนโยบายแต่ในห้องแอร์ไม่มีทางตอบโจทย์ปัญหาของคนพื้นที่ไดั

“ดังนั้น ต้องเดินทางมารับฟัง เรื่องที่ดีก็ต้องสนับสนุนยกระดับให้ดียิ่งขึ้น ส่วนที่เป็นปัญหาต้องออกแบบหาวิธีการแก้ไข และการเมืองท้องถิ่นนี่แหละที่เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับปัญหาเหล่านี้ จะเป็นคนกำหนด เป็นคนออกแบบว่าภาษีที่เราจ่ายไป จะถูกใช้ไปในกับถนนหนทางในบ้านเราอย่างไร ใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำลำคลองในบ้านเราอย่างไร โรงเรียนที่ลูกหลานเราเรียนจะมีคุณภาพมาตรฐานแบบไหน ไฟฟ้า ประปา จะเป็นอย่างไร เปลี่ยนประเทศไทย เริ่มได้ที่บ้านเรา” นายธนาธร กล่าว 

พร้อมกันนี้ ประธานคณะก้าวหน้าก็ได้ยืนยันการันตีในตัวของ ว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ.คณะก้าวหน้า คือ ชัชวาล นันทะสาร ซึ่งเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ โดยชัชวาลเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งของจังหวัดนครปฐม ที่เป็นกำลังสำคัญทำให้พรรคอนาคตใหม่ชนะเลือกตั้งในจังหวัดนี้ถึง 2 เขต

“เป็นคนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย และมั่นใจได้ว่าถ้าเลือกไปแล้วไม่มีทางเป็นงูเห่าอย่างแน่นอน” ธนาธร กล่าวติดตลกทิ้งท้าย 

ฟื้นประวัติศาสตร์ “คลองเจดีย์บูชา”  สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยคมนาคม-ท่องเที่ยว

“คุณธนาธร สู้ๆ นะครับ…”  “คุณธนาธรขอถ่ายรูปด้วยค่ะ…”  คือเสียงของประชาชนที่ดังขึ้นตลอดเวลา ระหว่างที่ธนาธรและทีมงานคณะก้าวหน้าเดินตลาดน้ำวัดดอนหวาย อ.สามพราน จ.นครปฐม ของฝากจากพ่อค้าแม่ขายติดมือไปตลอดสองรายทาง อิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้าด้วยว่าตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารและขนมหวานเลื่องชื่อ 

เสร็จจากตลาด ลงเรือเพื่อสำรวจสภาพแม่น้ำและสองฟากฝั่ง ทวนแม่น้ำท่าจีนขึ้นเหนือโดยมีจุดหมายอยู่ที่ท่าเรือวัดกลางบางแก้ว พบปะประชาชนที่ตลาดท่านาเรียบร้อยแล้ว เดินทางไปต่ออีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นไฮไลต์ ซึ่งทีมผู้สมัคร อบจ. นครปฐม อยากผลักดันมาออกแบบมาเป็นนโยบายและนำไปทำให้เกิดขึ้นจริง นั่นคือ บริเวณชุมชนปากคลองเจดีย์บูชา ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นตลาดต้นสนที่เคยคึกคักอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบัน เนื่องจากคลองเจดีย์บูชาถูกปล่อยทิ้งร้าง น้ำในคลองส่งกลิ่นเน่าเหม็น ตลาดต้นสนจึงลดความสำคัญจนกระทั่งไม่มีพ่อค้าแม่ขาย และผู้คนที่เคยอยู่อาศัยก็เริ่มย้ายออกไปจนเหลือไม่กี่ครอบครัว 

ทีมผู้สมัครนายก อบจ. มีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นคลองดังกล่าว ให้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำและฟื้นการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง เพราะจากบริเวณปากคลองบรรจบแม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดต้นสนนั้น สามารถเดินเรือไปจนถึงหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ได้ 

สมดังชื่อคลอง  “เจดีย์บูชา”,  คือ คลองที่จะพาเดินทางไปบูชาเจดีย์ 

ชัชวาล เล่าให้ฟังว่า คลองเจดีย์บูชาเป็นคลองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นคลองที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้ขุดขึ้นสำหรับการเดินทางต่อจากบริเวณแม่น้ำท่าจีน เพื่อไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของจังหวัด แต่เดิมบริเวณปากคลองแห่งนี้มีความคึกคักอย่างมาก แต่ปัจจุบันนี้ถูกทิ้งร้าง บ้านเรือนริมคลองอยู่ในสภาพทรุดโทรม ซึ่งจากการที่ได้มาสำรวจ ได้พูดคุยกับคนในชุมชน ทุกคนก็มีความคิดพร้อมแนวคิดที่น่าสนใจในการฟื้นตลาดแห่งนี้ รื้อฟื้นคลองประวัติศาสตร์สายนี้อีกครั้ง ตั้งใจจะให้ตรงนี้กลับมาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอีกแห่งหนึ่ง 

“เบื้องต้น เราอาจต้องคิดเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลอง และพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนสำคัญเหมือนแต่ก่อนได้ เพราะเป็นจุดทำเลดีมาก ขณะที่ในระยะยาวก็คิดถึงเรื่องการสัญจรทางน้ำ เพราะจากจุดนี้ สามารถล่องเรือไปจนถึงองค์พระปฐมเจดีย์ได้ด้วยระยะทาง 15 กิโลเมตร ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการเดินทางของพี่น้องประชาชน ลดการจราจรด้วยรถยนต์ทางถนน และยังได้ในเรื่องของการท่องเที่ยวอีกด้วย” ชัชวาล กล่าว

หยุดยืนมองไปทางปากคลองซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน แล้วก็หันไปมองอีกฝากของลำคลองซึ่งห่างไปอีกระยะหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์ปฐมเจีดีย์ น้ำในคลองส่งกลิ่นเหม็น สภาพน้ำนิ่งสงบเหมือนไม่ได้ไหลไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีนซึ่งมองออกชัดว่าน้ำในแม่น้ำนั้นไหลอยู่ตลอดเวลา เหมือนครุ่นคิดอะไรบางอย่าง สักพักธนาธรก็ขอให้ทีมงานพาเดินเข้าไปสำรวจในชุมชน ผ่านอาคารไม้ที่เคยมีสภาพว่าเป็นตลาดและน่าจะเคยรุ่งเรือง พูดคุยผู้คนที่ยังอยู่อาศัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย และไม่รู้ว่าจะย้ายออกไปไหนได้แล้ว 

ธนาธร บอกว่า จากที่ได้มาเห็นสภาพพื้นที่จริง ได้พูดคุยกับคนในชุมชน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้ฟื้นฟูคลองเจดีย์บูชาและตลาดแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะปัจจุบันเนื่องจากเมื่อน้ำเน่าเสีย บ้านเรือนก็ไม่มีคนอยู่อาศัย สภาพจึงผุพัง และจากที่ได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง คิดว่าสามารถที่จะออกแบบนโยบายพัฒนาตรงนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้ เป็นร้านอาหาร เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ อีกท้้งในเรื่องการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ถ้าสามารถทำได้ก็จะช่วยให้คลองเจดีย์บูชากลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“ถ้าเราดึงความร่วมมือจากคนในชุมชน ท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพียงพอ และได้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาทำงานร่วมกันกับชุมชน ตรงนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพราะบริเวณปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีนที่มีความงดงามมาก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม เส้นทางที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สามารถล่องเรือไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ได้อีกครั้งเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดได้ด้วย” ธนาธร กล่าว

การเดินทางมาเยือน จ.นครปฐม ของประธานคณะก้าวหน้าและทีมงาน จบลงที่การแถลงข่าวเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ.นครปฐม พร้อมด้วยทีมผู้สมัคร สจ. ทั้งหมด ธนาธรและชัชวาล ร่วมกันตอบคำถามผู้สื่อข่าวและประชาชนที่มารอต้อนรับแน่นขนัดสะพานยักษ์ หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ ในตัวเมือง จ.นครปฐม 

งานนี้ทีมคณะก้าวหน้าจังหวัดนครปฐมให้ชื่อการแถลงข่าวว่า “ปลุกท้องถิ่น เปลี่ยนนครปฐม”  ซึ่งแน่นอน คำถามถึงความมั่นใจ มีดีอะไรมาช่วงชิง “การเมืองท้องถิ่น” จากคนที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

และคำตอบที่ตรงกันแทบทุกครั้งของธนาธร คือ “เราจะไม่ใช้เงินในการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เราจะไม่มีการเล่นการเมืองด้วยการใช้อิทธิพล สิ่งที่เราจะนำไปเสนอให้กับพี่น้องประชาชนคือ นโยบายแบบคณะก้าวหน้า อยากให้มาแข่งขันกันด้วยนโยบายซึ่งคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดก็คือประชาชน” 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า