10 ปี ยังแจ่มชัด ! สำรวจความทรงจำ “คนธรรมดา” เหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553

15 พฤษภาคม 2563

10 ปีที่แล้ว คุณจำอะไรได้บ้าง ?

บางคนอาจจะเด็กเหลือเกินที่จะจำเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนได้ 

บางคนอาจเพิ่งเริ่มเป็นวัยรุ่น แต่ก็พอที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวในอดีตได้ลางๆ 

บางคนอาจเติบใหญ่จนรู้เดียงสามากพอที่จะจดจำห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยความโกลาหลในเดือนพฤษภาคมเมื่อปี 2553 ได้เป็นอย่างดี 

หรือบางคนในวันนั้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิดที่ได้ดิบได้ดีในวันนี้

ทศวรรษที่แล้วในความทรงจำของคุณเป็นอย่างไร ?


1.

“จำเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 ได้ไหม ?”

“ …” (ผู้ถูกถามเงียบไปสักพัก)

“ยังไงนะครับ”

“หมายถึงเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี 2553 ที่บริเวณราชประสงค์ค่ะ 10 ปีที่แล้ว คุณทำอะไรอยู่”

“ตอนนั้น… ผมเป็นทหารอยู่ต่างจังหวัดครับ… จำอะไรไม่ได้เลย ได้ยินข่าวบ้าง”

“ทหารเกณฑ์ ?”

“ใช่ครับ เป็นทหารเกณฑ์อยู่ค่ายที่ระยอง”

เราเดินทางมาถึงใจกลางของอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน  ‘ราชประสงค์’ ในวันที่ร้อนระอุผู้คนบางตา แม้เมื่อ 10 ปีก่อน มันเคยกลายเป็นสถานที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง แต่หนึ่งทศวรรษผ่านมา ราชประสงค์ร้างผู้คนเพราะภัยคุกคามที่ทั่วโลกคาดไม่ถึงของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19

เราลองสอบถามเรื่องราวต่อผู้คนถึงความทรงจำของพวกเขา เรื่องราวในอดีตสำหรับบางคนเป็นเพียงแค่ข่าวตามหน้าทีวีโทรทัศน์ สำหรับบางคน เหตุการณ์ 2553 คือเรื่องเล่าที่เบาหวิวที่ผ่านมาและผ่านไป แต่เรื่องราวของเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อ 10 ปีก่อนสำหรับบางคน เป็นความทรงจำที่น่าเคืองโกรธอย่างหนักแน่น เศร้าสลด และทะมึนตระหง่านท่ามกลางความกังขาที่ไม่มีวันจะได้รับคำตอบจากรัฐ 

ลูกๆ ของพ่อแม่หลายคนถูกสังหารอย่างเลือดเย็นที่บริเวณใจกลางเมืองหลวงของเรา พวกเขาไม่เพียงแต่เป็นลูกของคนเป็นพ่อเป็นแม่ แต่พวกเขายังคงเป็นลูกๆ ของรัฐแห่งนี้ เป็นลูกของโลกที่พวกเราอยู่ และในนามของความสงบ กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งค่อยๆ ชำระล้างคราบเลือด เศษเนื้อ และชื่อนามของพลเมืองของรัฐแห่งนี้ลงท่อน้ำทิ้ง ทันทีเท่าที่จะเร็วได้ที่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์และมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา

กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งค่อยๆ ล้างชำระเรื่องราวของผู้เสียชีวิต ล้างอาชญากรรมที่เกิดจากรัฐไปกับฟองของผงซักฟอกรอบแล้วรอบเล่า   

ปริศนาที่ไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการไขกระจ่างอย่างเป็นทางการ ใครคือคนร้าย ? และเมื่อไหร่กันที่คนร้ายจะถูกลงโทษ ? ซึ่งรอหว่างรอคอยความจริงปรากฎ การตามหาความทรงจำที่ผ่านมาคงช่วยให้เราไม่ลืมความเลวร้ายของ “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ภายใต้ร่มธงของรัฐแห่งนี้ได้ 

บนพื้นที่ที่ รปภ.หนุ่ม ผู้ไม่ประสงค์ออกนามวัย 33 ปี ยืนพูดคุยอยู่กับเรานี้ เคยถูกโหมด้วยเปลวเพลิง เสียงระเบิด และกระสุนปืน ระหว่างความโกลาหลที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน รปภ.หนุ่ม คนที่เราพูดคุยด้วยยังคงมีชีวิตที่ถูกตัดขาดจากข่าวสารบ้านเมืองภายในค่ายทหาร เขาเป็นคนอีสานที่จับพลัดจับพลูได้ใบแดง จนต้องเข้าไปอยู่ในค่ายทหารที่จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก 

“ผมจำอะไรไม่ได้เลยครับ ด้วยข้อจำกัดของการอยู่ในค่ายทหารด้วย แล้วยุคนั้นมือถือก็ไม่เหมือนยุคนี้ที่ข่าวสารถึงกัน” รปภ.หนุ่มกล่าว 

2.

เราเดินทางออกจากแยกราชประสงค์ สู่อีกหนึ่งพื้นที่ย่าน ‘บ่อนไก่-พระราม 4’ ซึ่งเป็นอีก ‘ทุ่งสังหาร’ ในฐานะคำอธิบายที่สามารถอธิบายสถานการณ์การกระชับพื้นที่ของรัฐต่อผู้ชุมชนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ณ บริเวณนั้นได้เป็นอย่างดีก็ได้ 

เราเดินทางกลับมายังทีนี่อีกครั้ง ควันที่พุ่งโขมงจากยางรถยนต์ที่วางเรียงรายเป็นปราการป้องกันของเหล่าผู้ชุมนุมได้ถูกเผา และจางหายไปกับกาลเวลา ในเวลาที่เสียงดังกัมปนาทที่แผดคำรามออกมาของอาวุธปืน M 79 ได้เงียบและสงบลง เงียบสงบพอๆ กับการไตร่สวนและค้นหาผู้ที่ต้องรับผิดในเหตุการณ์นั้น 

เรากลับไปที่นั่น … ‘ชุมชนบ่อนไก่’ 

“นี่ๆ ดูตรงนี้สิ” 

แม่ค้าขายลอตเตอร์รี่หน้าธนาคารปากทางเข้าชุมชนบ่อนไก่ชี้ให้เราดูรอยกระสุนบนผนังธนาคาร ปูนสีขาวตราสัญลักษณ์ของสถานที่ถูกความแรงของกระสุนที่อัดด้วยความเร็วด้วยกลไกของปืน กระแทกลงไปผนังอาคารจนมันเศษปูนแหว่งกระจาย และเหลือกลายเป็นหลักฐานมัดตัวอาชญากรว่าเคยมีความรุนแรงเกิดขึ้นที่นั่น

เมื่อยืนจ้องมองผลงานความรุนแรงอันโหดร้ายอยู่ครู่ใหญ่ เราเข้าไปในชุมชนเพื่อพูดคุยกับผู้คนทั้งบ้านมั่นคง ทั้งแฟลตในชุมชนบ่อนไก่ พวกเขาไม่เคยลืมเหตุการณ์ในวันนั้นได้สักนาทีเดียว  

“ไฟดับก่อน ตรงนี้น้ำก็ไม่ไหลเลย” คุณลุงวัย 55 ปี เจ้าของร้านอาหารภายในชุมชน พาเราย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ในวันนั้น  

 “เสื้อแดงได้เข้ามาในชุมชนไหม” 

“ไม่เข้า ไม่เข้า เขาอยู่หน้าปากซอย ไม่ได้เข้ามาวุ่นวาย จะอยู่เป็นการ์ดกันข้างหน้า ตรงถนน ตรงทางรถไฟ” 

“คนในชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง”

“บางคนลูกชายเขาโดนยิง เป็นหน่วยบรรเทาก็โดนยิง ได้เงิน 7 ล้าน บางคนก็ไม่ได้เงิน”

“ทำไมบางคนได้บางคนไม่ได้ล่ะ” 

“เขาตายในชุดอาสา ก็เหมือนว่าอยู่ในหน้าที่ ไม่รู้ว่า กระสุนยางหรือไม่ยาง แต่ถ้าเป็นกระสุนยางมันก็ต้องไม่เข้าสิ แต่คนที่ตายนี่สมองไหลออกมานะ” คุณลุงวัย 55 ปี พูดขณะที่มือของเขาก็เตรียมวัตถุดิบสำหรับทำอาหารขายไปพร้อมๆ กับเล่าเรื่องในอดีต 

เราเดินย้อนออกจากร้านอาหารบริเวณแฟลต มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านมั่นคง ตามคำแนะนำของคุณลุงร้านอาหาร เมื่อเข้าเขตชุมชน เราพบกับ คุณลุงสงวน (นามสมมติ) ผู้เป็นทั้งเจ้าของร้านค้า และเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง 10 ปีผ่านไป เขายังคงมีร้านค้าอยู่ในชุมชน แต่สิ่งที่ไม่มีตามคำพูดจากปากของเขาก็คือ ขบวนการคนเสื้อแดง 

“ไม่มีแล้วเสื้อแดง จะไปมีได้ยังไงล่ะ แกนนำก็ไม่มี ไม่มีเหลือแล้ว” 

เราช่วยลุงสงวนทวนความทรงจำในวันนั้น แกลากเก้าอี้สแตนเลสที่สนิมเกาะเกรอะกรัง มานั่งแหมะพร้อมกับแววตาตื่นเต้น ราวกับความทรงจำที่กำลังจะเล่าในอีกไม่กี่อึดใจนั้น เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านมาไม่กี่วันนี้เอง

“ตอนนั้นไปเวิลด์เทรด (ลุงสงวนเรียกย่านราชประสงค์ตามชื่อเดิมของห้างสรรพสินค้า) ทุกคืนเลย” เขาทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารให้ผู้คนละแวกนั้น บางครั้งก็ใช้ลูกน้องที่ร้านเอาไปส่งให้คนเสื้อแดงที่ปักหลักอยู่ทางรถไฟบ้าง แต่ถ้าการปราศรัยที่เวทีใหญ่ ลุงสงวนเกาะติดขอบเวทีในทุกคืนหลังเก็บร้าน  

“ผ่านมา 10 ปีแล้ว ยังจำได้ดีอยู่เลย”

“จำได้ดีเลยล่ะ จำได้ไม่มีวันลืม” เขาใส่อารมณ์พร้อมภาษากายและมือไม้ที่ชี้ขึ้นชี้ลง  “ตอนเขายิงกันก็เสียงดังโป้งป้างๆ ได้ยินหมด”  “พูดก็พูด คนแถวนี้ก็คนเสื้อแดงทั้งนั้น ตรงโน้น (เขาชี้ไปที่ทิศใต้ของชุมชน ซึ่งเป็นบริเวณใต้ทางด่วนเฉลิมนคร) ก็พวกเสื้อแดงมาจากปากน้ำ มาจากสมุทรปราการ เราก็บริการเขาทุกอย่าง ของกินของใช้ มันยังไงล่ะ … หัวใจดวงเดียวกัน เลือดสีเดียวกัน เลือดสีแดง” ลุงสงวนครั้งหนึ่งผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้บอกกับเรา

3.

“ถ้าอยากคุยกับพ่อเขา ก็มาสิ วันที่ 15 (พฤษภาคม) เขามากันทุกปีแหละ อยู่กันดึกดื่น แต่ปีนี้คงอยู่ไม่ได้ ติดเคอร์ฟิวโควิด” คุณลุงเจ้าของบ้าน จุดที่ “น้องเฌอ” – สมาพันธ์ ศรีเทพ เสียชีวิต บอกกับเรา 

ในฐานะเจ้าของบ้านที่มีผู้เสียชีวิตอยู่หน้าบ้านตนเอง คงเป็นเหตุการณ์ที่จำได้ไม่รู้ลืม และในทุกๆ ปี ระหว่างซอยราชปรารภ 18-20 บริเวณหน้าบ้านชายวัยย่าง 70 ปี ผู้อาศัยอยู่กับพี่ชายและพี่สะใภ้ในวันเกิดเหตุ จะมีการจุดเทียนรำลึกที่ “หมุดน้องเฌอ”

“เขามากันทุกปี เว้นแต่เขาตายเขาคงเลิกมา ก็เขามีลูกชายคนเดียว” แกว่า 

และปีนี้ก็คงต่างออกไป เพราะการทำกิจกรรมคงถูกจำกัดเวลาให้สั้นลง แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ความทรงจำเหล่านี้ ก็คงไม่สามารถถูกใครลบออกไปได้ง่ายๆ 

“ผมนอนไม่หลับเลย เสียงปืนมันดัง วันนั้นอยู่กันสามคน พี่ชาย พี่สะใภ้ แล้วก็เรา จำไม่มีวันลืมเลยแหละ (ชี้ไปที่เสาไฟเยื้องกับหน้าบ้าน) เสาไฟฟ้าตรงนี้ก็หัก ตรงโน้นก็เผารถเมล์ บางคน ทีแรกยังไม่ตายนะ แต่เขาปิดตรงนี้ ออกไปโรงพยาบาล ไม่ได้ มีคนนึง (ชี้ไปที่ถนนฝั่งตรงข้าม) ยังไม่ตายนะ รถรับจ้างเขาก็พยายามจะช่วย แต่มันช้าไง ก็ไปตายที่โรงพยาบาล”

บริเวณซอยรางน้ำ ราชปรารถ และสามเหลี่ยมดินแดง เป็นอีกพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีการกระชับวงล้อม และเกิดการปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุม กระสุนปืนลูกแล้วลูกเล่าที่สาดออกไป โดยปราศจากการปฏิบัติตามหลักสากลที่เน้นจากเบาไปหาหนัก ข้อความตอนหนึ่งที่นักข่าวอิสระชาวเยอรมัน นิค นอสติทซ์ ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า 

“ผมพาตัวเองเข้ามาในพื้นที่อันตรายที่สุด มันคงจะยอมรับได้หากสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการยิงปะทะ แต่เท่าที่เห็นเป็นการยิงมาจากฝั่งทหารเพียงอย่างเดียว พวกเขาไม่ได้ทำตามลำดับขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ไม่มีการยิงแก๊ซน้ำตาหรือกระสุนยาง แต่ทหารใช้กระสุนจริงและไม่หยุดยิง” 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 20 มิถุนายน 2553 (*)

(*) อ้างจาก บทความเรื่อง ราชปรารภ-สามเหลี่ยมดินแดง สมรภูมิรอบนอก – พื้นที่ใช้กระสุนจริง จากนิตยสารสารคดี ปีที่ 26 ฉบับที่ 305 เดือนกรกฎาคม 2553 

ซึ่งก็สอดคล้องกับคำบอกเล่าของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างบริเวณหน้าปากซอย ราชปรารภ 20  และผู้คนในละแวกนั้น

“เหมือนสงครามกลางกรุง เรานอนอยู่ M79 ลงแต่ละลูกเราก็สะดุ้งเหมือนกันแหละ ทหารก็ยิงรัวๆ ” คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเล่าเหตุการณ์ที่เขาบอกว่า อยู่ทุกฉากทุกตอนในเหตุการณ์ให้เราฟัง 

“แล้วรู้ได้ยังไงว่าทหารเป็นคนยิง” เราถาม

“ก็มาจากทหาร มาทางเดียว” เขาตอบ 

เรานั่งพูดคุยกับเขาอยู่สักพักที่ใต้สะพานลอย ณ สถานที่ที่เขาบอกว่า กระสุน เฉียดหน้าผากเขาไปหน่อยเดียว ขณะที่เขาออกมานั่งรอรับส่งผู้คนเข้าออกชุมชนระหว่างเกิดเหตุการณ์ช่วงนั้น จังหวะที่กระสุนเฉียดหน้าผากเขาไปปะทะเขากับบันไดใต้สะพานลอย (เขาเดินไปชี้รอยกระสุนดังกล่าว) 

“ผมนั่งอยู่แค่นี้ เฉียดหน้าผากผมไปเลย… พูดก็พูดนะ ถ้าตอนนั้นมีโทรศัพท์เหมือนเดียวนี้ ก็ถ่ายเก็บไว้หมดแล้ว”  

นี่เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วน และเป็นเพียงเศษเสี้ยวความทรงจำของผู้คน ร่อยรอยหลักฐานของความรุนแรงที่ถูกทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการกระชับพื้นที่ ขอคืนพื้นที่ หรือจะใช้คำใดก็แล้วแต่ หากแต่มันคือปฏิบัติการทางการทหารอย่างหนึ่งต่อกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่ผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษแล้วแต่ยังหาคนผิดไม่ได้ ยังไม่สามารถนำตัวผู้ที่สั่งการให้ใช้กระสุนจริงมาสลายการชุมนุมจนเกิดการสังหารโหดกลางกรุง กลางเมืองหลวงของเรา มารับผิดอย่างเป็นทางการได้ 

10 ปี ผ่านไป ความยุติธรรมขับเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้า

หากแต่เป็น 10 ปี ที่ความทรงจำของ “คนธรรมดา” ในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 นั้นยังคงชัดเจน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า