150,921 รายชื่อ !!! ได้เวลาประชาชนแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

30 มิถุนายน 2564

ในที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ภาคประชาชนในนามกลุ่ม Re-Solution รณรงค์เข้าชื่อ ภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ก็ถึงรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย

150,921 รายชื่อ คือตัวเลขสุดท้ายที่นำส่งวันนี้

กล่องกระดาษซึ่งบรรจุเอกสารถูกทยอยนำลงจากรถ ช่วยกันหอบช่วยกันขนคนละไม้คนละมือในที่สุดก็มาถึงจุดนัดหมายเพื่อเตรียมยื่นต่อประธานรัฐสภา ซึ่งในโอกาสนี้ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนรับเรื่องแทน และจากนี้ไปเป็นขั้นตอนการตรวจสอบ ถ้าครบถ้วนถูกต้องก็เตรียมบรรจุเป็นญัตติสำหรับให้สมาชิกรัฐสภา อันประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ร่วมกันพิจารณาต่อไป

ชะตากรรมการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน
การเดินทางของ “ร่างแก้ไข” โดย Re-Solution

ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ โดย การเข้าชื่อกันของประชาชน เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนในบรรยากาศที่สถานการณ์ต่างๆ เป็นใจอย่างยิ่ง นั่นคือ ผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยเป็นศูนย์ และมีการชุมนุมอย่างคึกคักของประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้

แต่สุดท้าย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ของ ไอลอว์ ก็ถูกตีตกตั้งแต่ในชั้นรับหลักการ มีเสียงเห็นชอบ 212 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 139 เสียง และงดออกเสียง 369 เสียง ทั้งนี้มีเสียง ส.ว.รับหลักการด้วย 3 เสียง แต่กระนั้นเสียงเห็นชอบก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา

เหตุผลหลักๆ ที่บรรดาสมาชิกรัฐสภาไม่รับหลักการนั้น ก็เพราะมองว่าเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ และมีไม่ได้สงวนเรื่องการแก้ไขหมวด 1 กับ หมวด 2

จากการถูกเมินในครั้งนั้น ประชาชนก็ไม่ยอมแพ้ “คณะก้าวหน้า” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็มีความคิดในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ชักชวน “พรรคก้าวไกล” อีกหนึ่งองค์ที่มีจุดเริ่มต้นเดียวกัน ไอลอร์, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ในที่สุดก็เกิดกลุ่ม Re-Solution

พร้อมเสนอแก้ไขรายมาตรา ใน 4 ประเด็น ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั่นก็คือ 1.ล้มวุฒิสภา 2.โละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3.เลิกยุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปประเทศ และ 4.ล้างมรดก คสช.

เริ่มเปิดแคมเปญ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 เผชิญทั้งโชคร้ายคือการระบาดครั้งใหม่ของโควิด และโชคดีคือกฎหมายการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชื่อได้ง่ายกว่าเดิมมีผลบังคับใช้ ทำให้ในที่สุด เมื่อเรื่องแก้รัฐธรรมนูญโดยพรรคการเมืองต่างๆ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ร่างฉบับประชาชนจึงต้องรีบระดมรายชื่อให้ได้มากที่สุดเพื่อยื่นเข้าไปพิจารณาด้วย

ซึ่งก็คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 150,921 รายชื่อ ที่นำไปยื่นที่รัฐสภาวันนี้

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอขอบคุณประชาชนที่แสดงให้เห็นความเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ปรากฏการณ์นี้มีความสำคัญ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นเจ้าของประเทศ เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริง หวังว่าการเสนอร่างแก้ไขโดยประชาชนในครั้งนี้ จะเป็นตัวกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของสมาชิกรัฐสภาว่า อย่างน้อยจะต้องนำร่างเข้าไปพิจารณา ไม่ใช่ตีตกอย่างง่ายดายเหมือนครั้งที่แล้ว

“เราไม่ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กลายเป็นการแก้ไขเพียงระบบเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องเสนอร่างที่แก้ไขประเด็นสำคัญเข้ามาด้วย เพื่อพาประเทศไทยกลับมาสู่ระบบปกติ ที่ให้ทุกพรรคการเมืองได้แข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เราคาดหวังอย่างยิ่งว่าร่างนี้จะบรรจุญัตติโดยเร็วที่สุด ฝากประชาชนช่วยกันจับตาว่าครั้งนี้ ส.ว. จะตัดสินใจอย่างไร สำหรับประชาชนไม่มีวันท้อถอย จะเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย” ปิยบุตร กล่าว

เลขาธิการ คณะก้าวหน้า บอกด้วยว่า ทราบดีถึงอุปสรรคที่สำคัญคือจะเอาเสียงวุฒิสภา จำนวน 1 ใน 3 ในการแก้ไข แต่หาก ส.ว. ใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย ขัดขวางเสียงของประชาชนบ่อยครั้งขึ้นเท่าไหร่ นั่นแสดงให้เห็นว่าเวลาสุดท้ายของ ส.ว. ใกล้มาถึงเรื่อยๆ ถ้าประชาชนเข้าชื่อกันมา แต่ถึงเวลาวุฒิสภาขัดขวาง ไม่ยอมให้แก้ไขในประเด็นสำคัญ พวกเขาต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเหตุผลอะไรที่ต้องขัดขวางเจตจำนงค์ของประชาชน เราไม่สามารถปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในกำมือของวุฒิสภา และขอยืนยันว่าหาก ส.ว. คว่ำร่างอีก เราจะรณรงค์กดดันต่อแน่นอน

จี้เร่งตรวจเอกสาร-บรรจุร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์”
รุมอัดความฟอนเฟะของรัฐธรรมนูญ 2560

จากความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปลายปีที่แล้ว ขยับมาถึงครั้งล่าสุดซึ่งได้มีการพิจารณาและลงมติในขั้นรับหลักการเมื่องสัปดาห์ (23 -24 มิถุนายน) ผลปรากฏว่า ร่างที่มีการเสนอแก้ไขในประเด็นสำคัญอย่างการสกัดกั้นการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. กลับถูกตีตก มีเพียงร่างเดียวที่ผ่าน คือ ประเด็นเกี่ยวการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง

ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้แก้ตรงจุดที่เป็น “ใจกลางของปัญหา” หากแต่เป็นเพียงแค่เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่พยายามเสนอให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้เเท่านั้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวตอนหนึ่งว่า คงไม่มีห้วงเวลาไหนที่ชัดเจนไปกว่านี้ ที่แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จะบริหารจัดการวิกฤติโควิดอย่างขาดประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ตราบใดที่เรายังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ถึงแม้ประชาชนจะไม่พอใจการบริหารประเทศเท่าไหร่ แต่อำนาจในการเปลี่ยนรัฐบาลถูกพรากไปจากมือประชาชน

“ขอให้รัฐสภาเร่งตรวจสอบเอกสารและบรรจุร่างฉบับนี้เข้าไปในวาระโดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งรัฐสภาปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความล่าช้าเท่าไหร่ ก็เท่ากับการปล่อยให้ประชาชนต้องรับผลกระทบทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจที่ทวีคูณความเสียหายในทุกๆ วัน จากการบริหารของรัฐบาลที่ขาดทั้งความสามารถ ขาดความรับผิดชอบทางการเมือง และขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่ประชาชนไว้ใจได้” พริษฐ์ กล่าว

ขณะที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวว่า เป็นครั้งที่สองที่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับสืบทอดอำนาจของ คสช. ถูกเสนอให้แก้ไขโดยประชาชนช่วยกันเข้าชื่อ ครั้งที่แล้ว ส.ส. และ ส.ว. หลายคนอภิปรายทำนองว่าไม่เห็นด้วยกับการเขียนฉบับใหม่ โดยไม่ล็อกห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง แล้วก็โหวตไม่รับ แต่ครั้งนี้เรามาเสนอแก้ไขประเด็นในสำคัญเพื่อรื้อถอนอำนาจของระบอบ คสช. เราจึงไม่เห็นเลยว่ามีเหตุผลอะไรที่ครั้งนี้สภาจะไม่รับไว้พิจารณาอีก

การเดินทางมายื่นรายชื่อแก่ประธานรัฐสภาในครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ ปิยบุตร, พริษฐ์ และยิ่งชีพ เท่านั้น แต่ยังมี สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ถูกบังคับสูญหาย และ “เฌอเอม” ชญาธนุส ศรทัตต์ ได้เดินมาด้วยในฐานะตัวแทนผู้เชิญชวนประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้

สิตานัน เปิดเผยว่า เหตุผลที่เห็นด้วยกับการรื้อระบอบประยุทธ์ เพราะตลอด 1 ปี ที่ตนร้องเรียนเรื่องของน้องชาย ทุกหน่วยงานต่างอ้างว่าขอบเขตหน้าที่การทำงานของเขาทำตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้ตัวเองจะไม่รู้รายละเอียดเรื่องกฎหมายมากนัก แต่มองว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ขณะที่ ชญาธนุส กล่าวว่า การร่วมลงชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการเปิดประตูไปสู่การเลือกตั้งที่ถูกต้อง เพราะตราบใดที่ยังมี ส.ว. แต่งตั้ง 250 คนนี้ เราไม่มีทางได้รัฐบาลอย่างที่เราต้องการ การอยู่ใต้มรดกเผด็จการ ทำให้เราไม่มีอนาคต กว่า 150,000 รายชื่อเป็นจำนวนที่เยอะมาก แสดงให้เห็นว่ามีคนต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงๆ จึงขอฝากถึงรัฐสภา ขอให้รับฟังเสียงประชาชน และขอเรียกร้องไปถึง ส.ว. ว่าไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสียเกียรติที่จะปล่อยมือจากอำนาจ

“หลายคนกังวลว่าถ้าเราลงชื่อแล้วจะโดนปัดตกอีกไหม ทำให้หลายคนถอดใจที่จะออกมาเคลื่อนไหว แต่จริงๆมันเป็นการแสดงพลังให้รัฐบาลเห็นว่าเราไม่เคยเงียบ และไม่ได้ก้มหัวให้อำนาจเผด็จการ ถ้าวันนี้เลือกที่จะเงียบและไม่ออกมา คนที่พูดก็จะน้อยลงเรื่อยๆ วันหนึ่งรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจก็จะคิดไปเองว่าประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง และไม่สนใจสถานการณ์ในประเทศอีกแล้ว ดังนั้น ถ้าคุณสนใจชีวิตความเป็นอยู่ ต่อให้ร่างนี้ไม่ผ่าน แต่ครั้งหน้าถ้ามีการรณรงค์ เราต้องมาร่วมกันต่อไปเรื่อยๆ” ชญาธนุส กล่าว

เป็นอีกครั้งของความพยายาม “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยประชาชน ซึ่งใช่แต่เพียงในช่องทางออนไลน์เท่านั้นที่ทางทีมงาานได้รับเอกสาร หลายจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคต่างร่วมกันรณรงค์ ตั้งโต๊ะเข้าชื่อตามจุดสำคัญในพื้นที่อย่างแข็งขัน

ในท่ามกลางสถานการณ์ “ระบอบประยุทธ์” ขาลงอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ ต้องมาติดตามกันว่า สมาชิกรัฐสภาจะมีท่าทีอย่างไร จะยอมเป็นนั่งร้านให้ระบอบที่กำลังผุพังต่อไป หรือ รื้อมันลงมาแล้วสร้างใหม่ที่เป็นเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า