มีอะไรใน “แขวน 6 ตุลา” ? เสียงสะท้อนคนหลายรุ่น “ทำไมต้องมีอะไรที่พูดไม่ได้ เราอยากได้คำตอบ” รำลึกเหตุการณ์ “อาชญากรรมรัฐ” การล้อมปราบอำมหิต

6 ตุลาคม 2563

หยุดยืนอยู่ตรงหน้าประติมากรรม “ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519”  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ลานประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์” ตั้งอยู่ตรงบริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์ ) จ้องมองดูรูปของผู้คนที่อยู่บนแท่นหินซึ่งออกแบบเป็นข้อความว่า “๖ ตุลา ๒๕๑๙” แน่นอนว่าคนหนึ่งที่รู้แน่ชัดว่าเป็นใครบนงานอนุสรณ์ชิ้นนี้ก็คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อ 44 ปีที่แล้ว  

สำหรับคนอื่นๆ นั้นน่าจะเป็นนักศึกษา ที่ส่วนใหญ่เป็นภาพของการ “ถูกกระทำ” อย่างโหดร้ายทารุณ ร่างหนึ่งถูกแขวนคอ, ร่างหนึ่งถูกลิ่มเหล็กแทงหน้าอก, ร่างหนึ่งถูกเอารองเท้ายัดปาก, ร่างหนึ่งถูกขาซึ่งสวมรองเท้าหนังเยียบเข้าที่คอ ฯลฯ ผมจ้องมองดูทีละร่าง ทีละคน จนมาสะดุดอยู่ที่ใบหน้าของชายคนหนึ่งในประติมากรรมนี้ ดวงหน้านั้นปรากฏอยู่ตรงช่องของหัว “ตัวเลข ๒” หลับตา ซึ่งน่าจะหมายความว่าเสียชีวิตแล้ว 

และตรงช่องนี้ก็บังเอิญที่ฝนหนักจากเมื่อวันก่อนทำให้เกิดน้ำขังอยู่ในช่อง เป็นภาพที่ทำให้ให้จู่ๆ ก็วาบความคิดขึ้นมาว่า “แม้แต่จะตายไปแล้ว น้ำก็ยังมา ‘ท่วมปาก’ ซ้ำ ไม่ให้เขาได้พูดความจริง”

และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม เมื่อ 44 ปีก่อน เพียงเพราะพวกเขา – บรรดาผู้ชุมนุมมีแนวคิด อุดมการณ์ ที่อยากเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคม การล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตของกลุ่มคน องค์กร สถาบันต่างๆ ที่ปลุกปั่นชวนเชื่อ เป็น “ประวัติศาสตร์ที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ” จนทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะพูดถึง หรือร่วมกันหาคำตอบว่าใครเป็นกระทำ ? ใครเป็นคนผิด ? 

ความตั้งใจในการมาเยือน ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ครั้งนี้ คือเพื่อมาชมนิทรรศการ “แขวน 6 ตุลา” ซึ่งจัดขึ้นบริเวณโถงด้านหน้าของหอประชุมใหญ่, แต่ก่อนที่จะไปสู่จุดนั้น ลองเดินวนประติมากรรม “ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” อ่านข้อความที่ปรากฏ ซึ่งคัดส่วนหนึ่งมาจากบทความ “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 “ ของ อ.ป๋วย ที่เขียนขึ้นและเผยแพร่หลังจากเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารหมู่นักศึกษาไม่กี่วัน

“ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจไม่เป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมิวนิสต์ ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป” 

“แขวน 6 ตุลา”  เชิดชูวีรชน สรุปบทเรียนและเสาะหาความเป็นธรรม

จาก “ลานประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์” ขยับไปที่หอประชุมใหญ่ ที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการ “แขวน 6 ตุลา” สิ่งแรกที่ได้เห็นคือ “ประตูแดง” (ของจริง) ซึ่งเป็นประตูที่เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 ฆากรโหดเหี้ยมซึ่งภายหลังทราบว่าเป็นตำรวจ ใช้เป็นที่แขวนคอ วิชัย เกตุศรีพงศา และชุมพร ทุมไมย ช่างไฟฟ้า จ.นครปฐม ที่แค่ออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการกับมาประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร 

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมของนักศึกษา ขับไล่จอมพลถนอมและจี้รัฐบาลหาตัวฆาตกรโหด โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม มีการแสดงละครล้อเลียนการฆ่าแขวนคอช่างไฟฟ้า ที่บริเวณลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ และต่อมาถูกนำไปบิดเบือนและปลุกปั่นโดยหนังสือพิมพ์ขวาจัดรวมถึงวิทยุยานเกราะว่า เป็นการแสดงละครหมิ่นองค์รัชทายาท ถือเป็นอีกชนวนสำคัญที่ปลุกปั่นจนก่อให้เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุม จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ องค์กร สถาบันต่างๆ รวมถึงประชาชนที่แม้จะเป็น “ผู้กระทำ” แต่ที่สุดก็เป็น “เหยื่อ” ไม่ต่างกัน 

ผ่านประตูแดงเข้าไป ภาพตรงหน้าคือภาพของท้องสนามหลวงในปัจจุบันที่มีรั้วรอบขอบชิด ที่ดูแล้วก็เหมือนกับว่าไม่มีอะไร และไม่น่าจะมีความหมายอะไร ก็เป็นสิ่งที่ผู้ผ่านไปผ่านมาเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ทว่าเมื่อลองหยิบอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยขึ้นมาเปิดกล้อง แล้ว “กดเพื่อ censor” หันกล้องไปทางภาพของสนามหลวงดังกล่าว สิ่งที่ปรากฏขึ้นคือ ภาพของผู้ชุมนุมที่ถูก “แขวนคอ” ตามจุดต่างๆ จุดเดียวกับที่เคยเกิดเหตุในวันนั้น ซึ่งหลักฐานที่เป็นภาพของ นีล อุลเลวิช ช่างภาพของสำนักข่าวเอพี ยืนยันชัดเจนว่า ไม่ได้มีเพียงแค่ศพเดียวที่ถูก “แขวน”

เทคโนโลยีทำให้เราใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในอดีต เสมือนว่าเกิดขึ้นอยู่ต่อหน้าต่อตาเราในวันนี้ ยิ่งจากจุดที่ยืนอยู่ บางมุมของบริเวณโถงด้านหน้าของหอประชุมใหญ่ ก็เป็นจุดที่มองเห็นเหตุการณ์ทำร้ายผู้ชุมนุมครั้งนั้นได้อย่างชัดเจน

อ้อ ! กลับไปที่ประตูแดง ก็มีอุปกรณ์ทันสมัยให้เราย้อนกลับไปสำรวจเหตุการณ์ฆ่า “แขวนคอ” 2 ช่างไฟฟ้า จ.นครปฐม ด้วยเช่นกัน และในนิทรรศการครั้งนี้ ที่ห้องฉายภาพยนตร์ มีสารคดีสัมภาษณ์ญาติของทั้งสองคนด้วย 

เดินต่อไป ขึ้นบันไดสู่ชั้นลอย ภาพหนึ่งของนีล อุลเลวิช ได้รับการขยายใหญ่ และติดตั้งไว้ก่อนขึ้นไปสู่โถงทางเดินชมนิทรรศการที่ชั้น 2  ภาพนี้เป็นภาพจำของ “เหตุการณ์ 6 ตุลา 19”  ร่างของนักศึกษาคนหนึ่งถูกแขวนคออยู่กับต้นหางนกยูง ชายคนหนึ่งยกเก้าอี้ขึ้นฟาด โดยมีคนจำนวนมากมุงดู สนับสนุนการกระทำที่โหดเหี้ยมอำมหิต และแน่นอนว่าที่ผมจดจำได้ติดตา และเป็นสิ่งแรกที่วาบเข้ามาเมื่อคิดถึง “เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519” คือ “เด็กคนนั้น” ที่ยืนหัวเราะชอบใจ ขณะที่ฉากหลังคือท้องสนามหลวง หรือเดิมเรียกทุ่งพระเมรุ ไกลออกไปคือศาลฎีกา และอีกมุมหนึ่งคือพระบรมมหาราชวัง 

ที่สุด นี่ก็กลายมาเป็นเหตุการณ์ที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ดังที่หนังสือของ ธงชัย วินิจจะกูล ให้คำจำกัดความ เพราะ “ผลกระทบทางการเมือง จากความจริงอาจเป็นเรื่องที่คิดถึงจริงๆ สำหรับสังคมไทย ด้วยเหตุที่บุคคลหลายคนและสถาบันหลายสถาบันซึ่งทรงอิทธิพลงและได้รับการเทิดทูนอย่างสูงในสังคม…” 

และ “การสังหารหมู่ครั้งนั้นบดขยี้ความภาคภูมิใจของพวกเขา สั่นคลอนความเชื่อ ความมั่นใจ หรือความไว้เนื้อเชื่อใจว่าการสังหารหมู่แบบนั้นจะไม่มีวันเกิดขึ้นในประเทศของพวกเขา จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะอธิบายหรือให้เหตุผลว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งที่คนไทยประสบและประวัติศาสตร์ไทยที่พวกเขารับรู้ สาหัสสากรรจ์เกินกว่าจะยอมรับได้ นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการหลบเลี่ยงและความเงียบงัน” 

และคำถามคือ วันนี้ประเทศไทยพร้อม ทำลายความกระอักกระอ่วน อิหลักอิเหลื่อ ฯลฯ ทำความจริงให้ปรากฏ และสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่เกี่ยวกับ “เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519” เพื่อให้เป็นบทเรียนกับสังคมแล้วหรือยัง ?

“ความเงียบ” ที่ไม่เงียบอีกต่อไป คุยกับคนหลากหลายวัยถึง “เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519”

เดินขึ้นสู่โถงด้านหน้าหอประชุมใหญ่ชั้น 2 ในส่วนนี้จะเป็นนิทรรศการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์ “จาก 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19” ด้วยเป็น 2 เหตุการณ์ที่ไม่อาจตัดขาดแยกออกจากกันได้ ไม่อาจเป็นสิ่งที่รับเอาเฉพาะชัยชนะของวันที่ 14 มาเฉลิมฉลอง ขณะที่วันที 6 ถูกกลบ ลบ หรือทำให้ลืมโดยการไม่พูดถึง 

นิทรรศการนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงนั้น “ชัยชนะ” ที่นำมาซึ่งความเบ่งบานของของประชาธิปไตย ขบวนการนักศึกษาที่เติบโต ความคิดอุดมการณ์หวังเห็นความเท่าเทียมกันในสังคมเบ่งบาน แพร่หลาย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบต่อ “ชนชั้นนำ” หรือ “อำนาจเดิม” การตัดตอน ทำลายขบวนการ ด้วย “ฆ่า” จึงเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลอบสังหาร อมเรศ ไชยสอาด กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา, การลอบสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ฯลฯ นักศึกษาที่ไปออกค่ายตามต่างจังหวัดอยู่กันไม่เป็นสุข 

ชนวนเหล่านี้ ผนวกกับการจัดตั้ง ปลูกฝัง สร้างความเกลียดชัง “คอมมิวนิวสต์” ทำให้บรรดานิสิตนักศึกษาและฝ่ายก้าวหน้า กลายเป็นพวก ไม่รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และเมื่อเกิดในยุคที่การสื่อสารอันบางเบา เทคโนโลยียังไม่เข้าถึงผู้คน จึงเป็นการง่ายที่ทำให้เกิดอาการ “ลงแดง” และพร้อมจะ “ฆ่า” ดังที่เกิดการพร้อมใจทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ องค์กร สถาบันต่างๆ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป ได้กระทำในเช้าวันที่ 6 ตุลานั่นเอง

ผมยืนดูภาพความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำกับมนุษย์ด้วยความ “หดหู่” ถ้านี่คือการกระทำในนามของความรัก “ชาติ” ปกป้อง “ศาสนา” และ “พระมหากษัตริย์” ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่ง คำถามคือ เหตุใดเราจึงไม่สามารถพูดคุยตกลงกันได้ด้วยเหตุด้วยผล หาทางออกให้กับปัญหาที่แต่ละฝ่ายเผชิญอยู่ ไม่ควรต้องจบลงด้วยการเข่นฆ่ากัน ไม่ใช่หรือ ? ยิ่งยืนดู “ลำโพง” ที่พรุนไปด้วยรอยกระสุน, เสื้อนักเรียนของ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์” วีรชนที่อยู่ปกป้องชิวิตของเพื่อนจนตนเองต้องจบชีวิตในเหตุการณ์นั้น, รวมถึงบันทึกของพ่อที่มีถึงลูกผู้จากไป ยิ่งเศร้าสลด 

ระหว่างเดินชมนิทรรศการ มีโอกาสได้พบกับชาย 2 คนที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งกำลังพูดคุยกันถึงเรื่องวันเก่าอัน “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง”  ถือโอกาสนี้เข้าไปร่วมพูดคุยด้วย และสอบถามความเห็น โดยหนึ่งนั้นคือ อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และอีกหนึ่งนั้นคือ อดีตนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งคู่พูดตรงกันว่า รอดชีวิตมาได้พร้อมกับความหดหู่ และสิ้นหวัง แต่กระนั้นวันนี้เขากลับมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง

“นักศึกษารุ่นนี้ฉลาดมากกว่าคนรุ่นผม คนรุ่นผมได้แต่กล้าหาญ เราพร้อมต่อสู้ แต่เทคโนโลยีสมัยนั้นไม่มี เหตุการณ์วันนั้น ผมถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ถูกนำตัวออกมาโดยรถตู้พร้อมกับหลายศพที่อยู่บนรถ รักษาตัวสักพักก็ถูกส่งดำเนินคดี พอออกมา ผมก็ตัดสินใจเข้าป่าซึ่งเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ แต่สุดท้าย พอป่าแตก ก็กลับมาพร้อมกับความ หมดหวัง ผมหมดหวังมาตลอดจากการต่อสู้ตั้งแต่อายุ 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่พวกเราถูกกระทำ ไม่เคยมีใครกล้าออกมาเปิดโปง ออกมาบอกความจริง… ผมหมดหวังมาตลอด จนกระทั่งได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาชู 3 นิ้ว ผมออกมาฟังพวกเขา ทำให้ความหวังกลับมาอีกครั้ง ผมมาที่นี่ ตั้งใจมาดูนิทรรศการ เพื่อมาสร้างบรรยากาศให้คนทั่วไปเห็น ปลุกความหวังให้ลุกโชติช่วงอีกครั้ง”  อดีตนิสิต รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ด้าน อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า ไม่เป็นห่วงกับสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนในวันนี้ ไม่กลัวเลยว่าจะซ้ำรอย 6 ตุลา 19 เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น หยุดเอาเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างทำลายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักศึกษา และสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง

ขณะที่นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒน์ (ประสานมิตร) ซึ่งกำลังยืนพิจารณารอยกระสุนบนลำโพง บอกว่า หลังจากดูนิทรรศการแล้วรู้สึกหดหู่ ไม่คิดว่าจะโหดร้ายกันถึงเพียงนี้ ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ ซึ่งก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก ในวันนี้ นักเรียน นักศึกษาที่ชุมนุม เราไม่มีอาวุธอะไร มามือเปล่า ถ้าเกิดว่าคนที่มีอาวุธไม่ทำอะไร ก็ไม่เกิดความรุนแรงขึ้น คำถามคือ เหตุการณ์ความรุนแรง เกิดจากคนมีอำนาจ มีอาวุธ หรือคนที่มาชุมนุมมือเปล่า? 

ด้านนอกฝนลงเม็ดหนัก, คิดถึงกิจกรรมขบวนแห่ไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปตามเส้นทางที่ผ่านโรงเรียนต่างๆ ของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ และจะปิดท้ายที่บริเวณด้านหน้ากระทรวง สภาพคงจะทุลักทุเลน่าดู แต่ก็เชื่อว่าพวกเขาคงไม่ถอดใจล่าถอย

นักเรียนหญิง 2 คน ยืนมองสายฝนอยู่ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ ทั้งคู่มี “โบว์ขาว” ผูกติดอยู่ที่กระเป๋า ซึ่งจากคำบอกเล่าที่ได้รับคือ “ตั้งใจมาดูนิทรรศการ เสร็จแล้วจะไปร่วมชุมนุมหน้ากระทรวง” 

ถามว่าดูแล้วรู้สึกอย่างไร ? คำตอบที่ได้รับกลับมาทันทีคือ “มันหดหู่ ทำไมถึงต้องขนาดนี้ ทำไมถึงทำแบบนี้ได้” 

“เขาสอนว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ หลักพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราใช้ในการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่ทำ สิ่งที่เกิดขึ้น มันผิดหลักหมดเลย เรื่องนี้เป็นบาปแน่ๆ แต่ก็มีพระออกมาบอกว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ซึ่งมันก็คือการฆ่าคนเหมือนกัน ไม่ใช่เหรอ เราก็งงว่าทำไมไม่เป็นบาป วันนี้ ตั้งใจมาดูนิทรรศการ เพื่อต้องการหาคำตอบอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับสิ่งที่เหตุการณ์นี้บอกว่า พูดไม่ได้ มีอะไรบางอย่างพูดไม่ได้ นี่แหละคือสิ่งที่เราอยากรู้ ทำไมต้องมีอะไรที่พูดไม่ได้ เราก็อยากได้คำตอบ” 

ทั้ง 2 คน ยอมรับว่า ก่อนนี้ไม่เคยตื่นตัวหรือสนใจประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์บ้านเมืองมาก่อน จนกระทั่งยุคนี้ที่ผู้คนตื่นตัวเยอะขึ้น มีการตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเจอ และก็หาคำตอบด้วยตัวเอง

“อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา ในแบบเรียนมีนิดเดียว มันน้อยมาก จนตอนเรียนเราไม่ได้รู้สึกอะไรเลย แต่พอได้อ่านจากข้างนอกเพิ่มเติม หรืออย่างได้มาดูนิทรรศการนี้ มันเยอะกว่าที่เราเรียนมาก ในแบบเรียนเขาเล่าว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งในประเทศไทย ไม่ได้บอกว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เหตุการณ์เป็นอย่างไร จุดจบเป็นอย่างอะไร เหมือนเป็นสิ่งที่เขาปิดกั้นไม่ให้เรารู้ ประวัติศาสตร์ทำให้เราเกิดคำถามว่า สิ่งที่เราน่าจะได้ตั้งแต่ตอนนั้น ทำไมยังต้องมาเรียกร้องกันจนถึงตอนนี้ ทำไมบ้านเมืองไม่ไปไหน” 

ฝนยังคงลงเม็ดหนัก, บางคนที่มีโอกาสได้คุยด้วยกลับไปเดินชมนิทรรศการอีกครั้ง เช่นเดียวกัน ผมมกลับไปที่ชั้น 2 ของโถงด้านหน้าหอประชุมใหญ่ ยืนดูภาพเหตุการณ์ในวันนั้นอีกครั้ง แขวนคอ, ประชาทัณฑ์, ทารุณกรรมกับศพผู้เสียชีวิต, เผาศพ ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งที่ยากเกินจะทำใจเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นในประเทศไทยอันสงบสุข 

หลังฝนซา ผมเดินกลับไปที่ประติมากรรม “ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519”  อีกครั้ง และเริ่มอ่านรายชื่อของผู้เสียชีวิตที่จารึกอยู่บนปฏิมากรรมดังกล่าวทีละคน 

กมล แก้วไกรไทย,  จารุพงษ์ ทองสินธุ์, ชัยพร อมรโรจนาวงศ์, ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง, เนาวรัตน์ ศิริรังษี, บุญนาค สมัครสมาน, ปรีชา แซ่เฮีย (เอีย), พงษ์พันธ์ เพรามธรส, ไพบูลย์ เลาหจีรพันธ์, ภรณี จุลละครินทร์, ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย, มนัส เศียรสิงห์, มนู วิทยาภรณ์, ยุทธนา บูรศิริรักษ์, วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์, วสันต์ บุญรักษ์, วัชรี เพชรสุ่น, วิชิตชัย อมรกุล, วิสุทธิ์ พงษ์พานิช, วีระพล โอภาสวิไล

ศิริพงษ์ มัณตะเสถียร, สงวนพันธุ์ ซุ่นเซ้ง, สมชาย ปิยะสกุลศักดิ์, สัมพันธ์ เจริญสุข, สุพจน์ พันธุ์กาฬสินธุ์, สุพล พาน (บุญทะพาน), สุวิทย์ ทองประหลาด, สุรสิทธิ์ สุภาภา, อนุวัตร อ่างแก้ว, อภิสิทธิ์ ไทยนิยม, อรุณี ขำบุญเกิด, อัจฉริยะ ศรีสวาท, อับดุลรอเฮง สาตา, ชายไทยไม่ทราบชื่อ, ชายไทยไม่ทราบชื่อ, ชายไทยไม่ทราบชื่อ, ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อ, ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อ, ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อ, ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า