จาก “ลานโพธิ์” ถึง “ทำเนียบรัฐบาล” 1.49 ชั่วโมง – กว่า 10,000 ก้าว “ลองเดิน” บนเส้นทางทวงคืน “ประชาธิปไตย”

17 กันยายน 2563

การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 กันยายนนี้ กำลังเป็นที่จับตาของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะในแง่ของเนื้อหาที่กลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมนำเสนอปราศรัย ไม่ว่าจะในแง่ของจำนวนผู้คนที่จะเข้าร่วมการชุมนุม โดยคาดการณ์กันว่าน่าจะมีไมต่ำกว่าครึ่งแสน และนอกจากนี้ยังมี “ไฮไลต์” อยู่ที่การปักหลักค้างคืนในมหาวิทยาลัย ก่อนที่รุ่งเช้าจะทำการเคลื่อนขบวนมุ่งหน้า “ทำเนียบรัฐบาล”

ท่ามอุปสรรคต่างๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมประสบ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้สถานที่มหาวิทยาลัยเป็นจุดรวมคน ไม่ว่าจะเป็นคดีความสารพัดที่แกนนำโดนกันเรียงตัวคนละหลายๆ ข้อหา ยิ่งทำให้การชุมนุมครั้งนี้ได้รับความสนใจ และอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของสังคมไทย

ดังนั้น ก่อนที่ “ม็อบ” จะมีการเคลื่อนขบวน เราขอ “ลองเดิน”  และจับเวลา พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวของ “สถานที่” ในมุมของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 

เย็นนี้พบกันที่ลานโพธิ์” 

จุดเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 

0 นาที 0 วินาที 

ต้นไม้นั้นยังคงหยัดยืนมาจนกระทั่งวันนี้ น่าจะกว่าร้อยปีแล้วที่ตากแดดกรำฝน ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาตั้งแต่ก่อนที่บริเวณแห่งนี้จะเป็น “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” หรือ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในวันนี้

เรายกกล้องขึ้นเก็บภาพ พร้อมกับสายตาของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่จ้องมองมา ตรงหน้าที่เรายืนอยู่ คือ ต้นโพธิ์ที่มีอายุมากกว่ามหาวิทยาลัย  ที่ในยุคแรกสร้างนั้น จุดนี้เป็นลานโล่ง ต้นโพธิ์น่าจะเป็นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียวจากสายตาของคนพายเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมา เมื่อมีการสร้างอาคารคณะศิลปศาสตร์ ต้นโพธิ์ก็รอดพ้นจากการถูกโค่นทิ้งมาได้อย่างหวุดหวิด และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นเคียงคู่คณะศิลปศาสตร์ เคียงคู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในที่สุด

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อสิทธิ เสรีภาพต่างๆ ของประชาชนมักเริ่มต้นที่นี่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ที่ต่อมามีผู้ถูกจับกุม 13 คน จนเกิดประท้วงงดสอบ รวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับทั้งหมด, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การแสดงละครเพื่อสะท้อนกรณีพนักงานการไฟฟ้า จ.นครปฐม ถูกฆ่าแขวนคออย่างโหดเหี้ยม จากการออกไปแจกใบปลิวต่อต้าน จอมพลถนอม กิตติขจร ที่บวชเป็นพระแล้วเดินทางกลับเข้าประเทศ และการแสดงละครที่บริเวณลานโพธิ์นี่เองที่นำไปสู่ข้อกล่าวหาอันคลาสสิกอย่างหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 

รวมถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ลานโพธิ์ก็เป็นจุดเริ่มต้นระดมพลังต้านรัฐบาลทหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช.  ดังประติมากรรมของเหตุการณ์นี้ที่มีข้อความระบุว่า “เย็นนี้พบกันที่ลานโพธิ์” 

ยืนมองลานโพธิ์ในวันนี้ ต้นโพธิ์ยังคงยืนหยัดด้วยสภาพที่อาจไม่สมบูรณ์นัก โคนต้นถูกล้อม พื้นที่โดยรอบถูกแปรสภาพเป็นที่จอดรถ นานมาแล้วที่ลานบริเวณนี้ไม่ได้ต้อนรับการชุมนุมใดๆ เลย 

สนามฟุตบอล และ “หอใหญ่”

ครั้งหนึ่งเคยเป็นเวทีความรู้ที่คึกคักยิ่ง

4 นาที 20 วินาที 

ขยับจากลานโพธิ์ มาถึงบริเวณ “สนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์” มองผ่านสนามหญ้าเขียวขจีออกไป จะเห็นอาคารสีขาวหลังคาเขียวขนาดมหึมาตั้งเด่นตระหง่าน นั่นคือ “หอประชุมใหญ่” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หอใหญ่” เป็นอาคารที่จัดสร้างขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี การก่อตั้งมหาวิทยาลัย ในปี 2497 (ม.ธรรมศาสตร์ สถาปนา 2477 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 2 ปี)  ในยุคสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเป็นอาคารขนาดใหญ่ ความจุกว่า 2,500 ที่นั่ง เป็นต้นแบบของการก่อสร้างอาคารสถานที่ราชการสำคัญๆ ในเวลาต่อมา แต่ที่น่าสนใจก็คือ นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการระดมทุนสร้างหอใหญ่นี้ด้วย ผ่านการซื้อบัตรเข้าชมละครเวทีซึ่งจัดขึ้นที่สนามฟุตบอล 

นอกจากนี้ในยุคทองของกิจกรรมนักศึกษา หอใหญ่ได้กลายเป็นเวทีทางความรู้ที่มีกิจกรรมมากมาย ต่างจากสภาพในปัจุบัน ที่หากเป็นเรื่องทางการเมือง เรื่องความรู้โดยเฉพาะจากฝ่ายก้าวหน้าที่ท้าทายอำนาจรัฐ การขออนุญาตใช้สถานที่เป็นไปด้วยความยากเย็นยิ่ง 

และแน่นอน สนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์ สำหรับหลายๆ คนที่เคยผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองทั้ง 3 เหตุการณ์สำคัญที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมนึกถึงภาพคนเรือนหมื่นเรือนแสน รวมตัวกันเนืองแน่นเต็มสนาม หลังจากที่จุดเริ่มต้นอย่างลานโพธิ์เริ่มคับแคบ ไม่สามารถรองรับมวลชนได้ และนอกจากนี้ สำหรับคนรุ่นหลังอย่างเรา เมื่อได้กลับไปศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพยุทธการระดมยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัย ภาพการลากศพนักศึกษาที่เสียชีวิตไปบนสนามหญ้า ยังติดตาและเปิดตาเราให้เปิดกว้างมาจนถึงวันนี้ 

ลานประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ 

ที่ทางที่พอมีให้กับเหตุการณ์ “6 ตุลา 19”

10 นาที 10 วินาที 

เราเดินไปบน “ถนนเดือนตุลา” ซึ่งเป็นถนนสายสั้นๆ รูปตัวยูวิ่งล้อมสนามฟุตบอล มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “ลานประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์” ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวามือของประตูทางเข้า หากขับรถ บางทีอาจไม่ทันสังเกตเห็น หรือแม้แต่เดินเข้ามา บางทีก็อาจจะเลยไปโดยไม่สนใจ คิดแต่เพียงว่าก็แค่งานประติมากรรมชุดหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มีรสนิยม

ทั้ง 8 ชิ้น จัดวางตามมุมต่างๆ มีป้ายกำกับบอกช่วงเวลาและเหตุการณ์ แต่ถ้าถามถึงชิ้นที่เราสะดุดใจที่สุด เห็นจะเป็นชิ้นที่ 7 “ธรรมศาสตร์กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” สร้างเสร็จสมบูรณ์และทำพิธีเปิดเมื่อ 6 ตุลาคม 2543 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีที่ทางให้กับเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาเมื่อเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากที่ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ถูกลบเลือนไปนาน ไม่เป็นที่พูดถึง ไม่เป็นที่รับรู้ ไม่มีในแบบเรียนตำรับตำราเล่มไหน แต่ถึงกระนั่น ในวันนี้อาชญากรรมโดยรัฐที่ใช้มหาวิทยาลัยเป็นทุ่งสังหาร ด้วยข้อกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ยังไม่ถูกสะสาง และคนผิดก็ยังลอยนวล 

ทุ่งพระเมรุ – ท้องสนามหลวง

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ – พื้นที่สาธารณะ ?

23 นาที 15 วินาที 

หยุดยืนอยู่กลางท้องสนามหลวงท่ามกลางแดดสายที่แผดเปรี้ยง สภาพพื้นที่กว่า 70 ไร่ วันนี้ถูกแบ่งเป็นด้านที่ติดกับพระบรมมหาราชวังซึ่งมีการปลูกหญ้างดงาม กับด้านที่อยู่ติดกับโรงละครแห่งชาติ ซึ่งเทพื้นด้วยซีเมนต์ แบ่งสองฝั่งชัดเจนด้วยถนนให้คนเดินผ่านได้ 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท้องสนามหลวงได้รับความสนใจจากกรณีผู้ชุมนุมประกาศว่าจะทวงคืนให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อีกครั้ง หลังจากปี 2554 เมื่อมีการปิดปรับปรุงใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กิจกรรมต่างๆ ในท้องสนามหลวง คนเร่ร่อน หรือแม้แต่นกพิราบก็ถูกปราบเกลี้ยง จนในความรู้สึกของเราตอนนี้คือ “สนามหลวงไม่มีชีวิต” เป็นเพียงพื้นที่โล่งๆ แห้งแล้ง ไร้มีสีสัน ไม่น่าสนใจ

ทุ่งพระเมรุ” คือชื่อที่ผู้คนเรียกในยุคที่พื้นที่แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถวายพระเพลิงเจ้านายชั้นสูง แต่เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นมงคล รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้เรียกใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ท้องสนามหลวงจากการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมจารีต ได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของสามัญชนคนทั่วไป โดยมีหมุดหมายแรกคือ ปี 2477 กับการจัดงานศพอย่างยิ่งใหญ่ของทหารชั้นผู้น้อย 17 นาย ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปรากบฏบวรเดชปีด 2476

จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่การเป็นพ้นที่สาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เริ่มให้มีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง การเปิดให้สนามหลวงเป็นพื้นที่ “ไฮด์ปาร์ก” จากประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายรอยัลลิสต์ เปิดเวทีปราศรัยกันคับคั่ง

นับตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา กิจกรรมต่างๆ ก็ถูกจัดบนท้องสนามหลวงมากขึ้น และจนกระทั่งมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2520 และปี 2522 รัฐบาลเตรียมยกเครื่องพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์สำหรับงานฉลองกรุงครบ 200 ปี และจากนั้นก็จัดระเบียบกันเรื่อยมาจนในที่สุด ในปี 2553 (หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม “คนเสื้อแดง” ) ก็มีการปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ เปลี่ยนโฉมใหม่ในปี 2554 มีรั้วรอบขอบชิด มีเวลาเปิดปิดชัดเจน มีข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เป็นสนามหลวงที่ไร้การเมือง ที่บางคนบอกว่าเป็น “ชัยชนะ (อีกแล้ว) ของอุดมการณ์กษัตริย์นิยม”

ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ถ้านับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ท้องสนามหลวงจะเป็นพื้นที่ที่ใช้จัดแต่งานที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีหรือชนชั้นสูง

“ถนนราชดำเนิน”

ศูนย์กลางความ “ทันสมัย” และการเดินขบวน 

32 นาที 36 วินาที 

ในที่สุดก็มาหยุดอยู่บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ หรือ โรงแรมรอแยล ซึ่งวันนี้มีป้ายติดว่าเป็น “เขตห้ามเข้า” เนื่องจากเป็น “สถานที่กักตัวผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ” อาคารที่เคยคึกคัก ทันสมัย และเป็นโรงแรมหรูที่สุดในประเทศในยุค จอมพล ป. วันนี้เงียบเหงา แม้แต่คนเดินผ่านไปผ่านมา นานๆ ครั้งจะมีให้เห็น 

โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่หัวมุมด้านหนึ่งของถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นถนนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงปี 2442 -2446 หลังการเสด็จกลับจากการประพาสยุโรป ได้ไปเห็นความทันสมัย ถนนที่กว้างใหญ่ในต่างประเทศ จึงเป็นต้นแบบให้มาสร้างถนนสายนี้ แบ่งเป็น 3 ช่วง เริ่มต้นจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงมา มาถึงบริเวณสะพานผ่านฟ้า คือ ถนนราชดำเนินนอก จากสะพานผ่านฟ้าถึงบริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา คือ ถนนราชดำเนินกลาง และ จากบริเวณสะพานผ่านพิภพลีลาถึงพระบรมมหาราชวัง คือ ถนนราชดำเนินใน 


โรงแรมรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นพร้อมๆ กับอาคารสถาปัตยกรรมแบบเดียวกันที่นักวิชาการสมัยหลังเรียกว่า “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ซึ่งตั้งเรียงรายตลอด 2 ฝั่งถนนราชดำเนินกลาง เป็นศูนย์กลางของความทันสมัย หัวมุมถนนด้านหนึ่งคือโรงแรมที่ทันสมัยที่สุด ขณะที่อีกหัวมุมถนนด้านหนึ่งคือโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุด นั่นก็คือ “ศาลาเฉลิมไทย” ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

ถนนราชดำเนิน ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มการเมืองต่างๆ นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516, เหตุการณ์พฤษภาคม 2535, การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ นปช. หรือ “ม็อบเสื้อแดง”  ปี 2553, การชุมนุมของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. หรือ “ม็อบนกหวีด” ปี 2556-2557  และในวันนี้ก็ยังคงเป็นถนนสายแห่งการชุมนุมและเดินขบวนเช่นเดิม

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (สี่แยกคอกวัว)

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และโรงหนังที่หายไป

43 นาที 42 วินาที 

สี่แยกคอกวัว ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” สำหรับนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคหลังๆ ดูเหมือนว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นจุดที่ทุกคนคุ้นเคย เนื่องจากสามารถใช้จัดกิจกรรม จัดเสวนาปราศรัย หรือแม้แต่จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ก็ยังพอทำได้ ในยุคสมัยที่สถานที่สาธารณะรวมถึงสถานที่เอกชนถูกห้ามเรื่อง “การเมือง” 

ทั้งนี้ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงวีรชนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว บนจุดที่เคยเป็นอาคารที่ทำการของ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ หรือ กตป. ที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามนักศึกษา โดยอาคารดังกล่าวถูกเผาในเหตุการณ์นี้เอง 

เดินต่อมา ผ่านพ่อค้าแม่ค้าล็อตเตอรีที่มีอยู่บางตา ไม่หนาแน่นคับคั่งเหมือนแต่ก่อน ทั้งๆ ที่ในการเดินทางของเราครั้งนี้มีขึ้นก่อนหวยออกไม่กี่วันเท่านั้น สอบถามได้ความว่า บริเวณถนนราชดำเนินกลางจะไม่ให้มีการตั้งแผงค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลอีกแล้ว ทั้งหมดจะถูกย้ายไปอยู่บริเวณถนนตะนาว เราเห็นถึงความเงียบเหงา วาบความคิดในหัวผุดขึ้นมาแซวว่า “แม้แต่ความหวังทุกวันที่ 1 และ 16 บนถนนราชดำเนินที่ประชาชนเคยมี ความเป็นเผด็จการก็ยังมาทำลาย” 

49 นาที 6 วินาที 

“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”  สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ละส่วนของสถาปัตยกรรมทั้งหมดล้วนมีความหมาย ผูกพันอยู่กับวันดังกล่าวและเรื่องราวของคณะราษฎร ที่ทำการ “อภิวัฒน์สยาม” 

เป็นต้นว่า ปีกทั้ง 4 ด้าน สูง 24 เมตร หมายถึงวันที่ 24, พานทองเหลืองที่มีรัฐธรรมนูญสูง 3 เมตร หมายถึงเดือน 3 (นับแบบเดิม) คือเดือนมิถุนายน, โดยรอบมีปืนใหญ่ฝังปากกระบอกปืนทิ่มลงดิน จำนวน 75 กระบอก หมายถึงปี 2475, สถูปรูปทรง 6 เหลี่ยม มีประตู 6 บาน หมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่จะใช้เป็นนโยบายในการบริหารประเทศ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ออกแบบโดย ศ.ศิลป์ พีระศรี  วางศิลาฤกษ์เริ่มสร้าง 24 มิถุนายน 2482 เสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการ 24 มิถุนายน 2483 ขณะที่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ (แล้วแต่จะเรียก) เกิดขึ้นในต่างจังหวัดก่อนหน้านี้แล้วหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน นั่นหมายถึงความตื่นตัวของประชาชนใน “ระบอบใหม่” ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ส่วนกลาง หรือเป็นเรื่องของผู้ก่อการไม่กี่คนเท่านั้น

1 ชั่วโมง 10 นาที 

มาถึงหัวมุมถนนราชดำเนิน จุดอันเคยเป็นที่ตั้งของ “ศาลาเฉลิมไทย” วันนี้ โรงหนังที่ทันสมัยที่สุดของสยามประเทศ สถาปัตยกรรมที่สำคัญอีกชิ้นของคณะราษฎรถูกรื้อทิ้งไปแล้วในปี 2532 ด้วยเหตุผลว่า เพื่อเปิดทางให้เห็นความงดงามของโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม ที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้น – นี่ก็เป็นอีกครั้งที่เป็นชัยชนะของอุดมการณ์กษัตริย์นิยม กล่าวอย่างนี้ได้หรือไม่?

ข้ามมัฆวานรังสรรค์ 

จุดเริ่มต้นปิดฉากแกนนำ “คณะราษฎร” 

1 ชั่วโมง 18 นาที 

เราเดินผ่านป้อมมหากาฬ ป้อมปราการสำคัญยุคสร้างกรุงที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ที่ตลอด 2 ฝั่งถนนเส้นนี้คือสถานที่ราชการที่สร้างขึ้นในยุคหลัง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงศึกษาธิการ, กองทัพบก เป็นต้น การเดินในช่วงนี้ มีจุดที่ทำให้ย้อนคิดถึงเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพอยู่จุดหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ นั่นคือบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา มีการรวมตัวกันของบรรดานักเรียนมัธยม ตั้งเวทีและเปิดดีเบตกับรัฐมนตรีได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

1 ชั่วโมง 31 นาที 

เรามาถึง สะพานมัฆวานรังสรรค์  และทำให้คิดได้ว่า ตลอดทางที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นความเจริญรุ่งเรืองในยุคคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ท้องสนามหลวงที่คนทั่วไปได้ใช้, อาคารสถาปัตยกรรมคณะราษฎรริมถนนราชดำเนินกลาง, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ หากแต่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ กลับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดอำนาจของจอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรี เนื่องมาจากการชุมนุมประท้วงเลือกตั้งที่ พรรคเสรีมนังคศิลา ของ “จอมพลตราไก่” ถูกกล่าวหาว่าทุจริต เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2500  

สืบเนื่องจากเหตุการณ์นั้น ทำให้มีการชุมนุมของประชาชนจำนวนมาก ในวันที่ 15 กันยายน 2500 เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล (การลองเดินของเราเกิดขึ้นวันที่ 15 กันยายน 2560 พอดิบพอดี) แต่ทว่าก็ถูกเจ้าหน้าที่ขวางไว้บริเวณสะพานแห่งนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่จอมพล ป. ให้ความไว้วางใจ ได้เข้าเจรจาและดูแลเหตุการณ์ ก่อนที่ในที่สุด จอมพลสฤษดิ์จะตัดสินใจ “รัฐประหาร” ยึดอำนาจในวันที่ 16 กันยายน 2500 ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้ง จอมพลสฤษดิ์ได้กลายเป็นฮีโร่  ปิดฉากแกนนำคณะราษฎรที่มีอำนาจอย่างเป็นทางการ 

63 ปีผ่านไป จอมพลสฤษดิ์ ที่เป็นฮีโร่ในวันนั้นเป็นอย่างไร? วันนี้ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้ว ได้ยืนยันกับเราชัดแล้วว่ารัฐประหารไม่ใจใช่ทางออก แต่เหมือนสังคมไทยยังไม่ยอมรับบทเรียนนี้ 

มองไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม

แล้วเลี้ยวขวาไปหน้า “ทำเนียบรัฐบาล” 

ข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว เดินเลาะแนวกำแพงรั้วด้านหลังของทำเนียบรัฐบาลมาบนถนนราชดำเนินนอกอีกสักพักก็จะถึงสี่แยกสวนมิสกวัน ตรงจุดนี้ หากจะไปด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลต้องเลี้ยวขวา แต่ก่อนนั้น เราหยุดยืนมองไปด้านหน้า เห็นพระที่นั่งอนันตสมาคมและพระบรมรูปทรงม้าอยู่ไม่ไกล 

ความสำคัญของทั้ง 2 จุดนี้คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารหินอ่อนงดงามที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกใช้เป็น “รัฐสภาแห่งแรก” ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย  โดยมีการเปิดประชุมสภาครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2475

ขณะที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ทางด้านซ้ายของพระบรมรูป เคยมี “หมุดคณะราษฎร” ฝังอยู่ ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาเป็น “หมุดไพร่ฟ้าหน้าใส” ในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ที่แน่ๆ ความทรงจำ และความรับรู้ของผู้รักประชาธิปไตยทุกคนรำลึกตรงกันว่า บริเวณที่หมุดฝังอยู่นั้น เป็นจุดที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา  แกนนำคณะราษฎรยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่หนึ่ง ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั่นเอง

1 ชั่วโมง 49 นาที 

ในที่สุดก็มาถึงจุดที่เป็นประตูหน้าของทำเนียบรัฐบาล ตรงสวนหย่อมที่บรรดารัฐมนตรีแต่งชุดขาวและมาถ่ายรูปร่วมกันทุกครั้งที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี  หยุดเวลาของการเดินจาก “ลานโพธิ์” ถึง “ทำเนียบรัฐบาล”  ณ จุดนี้ ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เป็นการเดินกว่า 10,000 ก้าว 

นี่เป็นการ “ลองเดิน” เพื่อสำรวจประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นำมาบอกเล่าให้ฟังก่อนที่จะมีการชุมนุมของ นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 กันยายนนี้ 

ก่อนที่เช้าวันที่ 20 กันยายน จะมีการเคลื่อนขบวน “เดินจริง” มายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาลต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า