7 สิงหา “วันเสียงปืนแตก” : สงครามที่ไม่ควรเกิดตั้งแต่แรก

7 สิงหาคม 2564

เหตุการณ์แตกเสียงปืนที่บ้านนาบัว จ.นครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ถูกนับเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ของการปะทะกันครั้งแรก ระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชนไทย (ทปท.) ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับกองทัพของรัฐบาลไทย

เปิดฉาก “สงครามประชาชน” ที่กินเวลายืดเยื้อยาวนานกว่า 20 ปี สูญเสียกันทั้งสองฝ่าย ไม่นับรวมความสูญเสียของพลเรือน ทั้งที่เป็นผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความขัดแย้งเลยแต่ถูกเหมารวมเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย

แต่ในความเป็นจริง การเริ่มต้นของสงครามประชาชนเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมานานแล้ว นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2490 ที่มีผลให้ พคท.กลายเป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมาย และมีการกวาดล้าง จับกุมเข่นฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมาก

นับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งนั้นมา ฝ่ายนำของ พคท. ก็เริ่มต้นพูดคุยเกี่ยวกับการแนวทางชนบทล้อมเมือง สร้างกองกำลัง ทำสงครามกองโจร ตามแบบฉบับของความคิดเหมาเจ๋อตง ที่ทำสำเร็จในการยึดประเทศจีนมาแล้ว

จนเมื่อการปราบปรามเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดช่วงราวๆ ปี 2494 ฝ่ายนำของ พคท. ก็ได้ตกลงปลงใจร่วมกัน ที่จะใช้แนวทางชนบทล้อมเมืองและสงครามประชาชนตามแบบฉบับดังกล่าว เริ่มต้นบุกเบิกการสร้างฐานที่มั่นในชนบท สะสมกำลังอาวุธอย่างเงียบๆ หลีกเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่ระหว่างที่การสะสมกำลังยังไม่สุกงอมพร้อมรบเต็มที่

อันที่จริง การดำเนินการของ พคท.นี้ ไม่ได้อยู่นอกสายตาหรือความรับรู้ของรัฐไทย ที่ยังคงเดินหน้านโยบายปราบปรามอย่างเข้มข้น และการปะทะประปรายก็เกิดขึ้นบ้างแล้วก่อนหน้าวันที่ 7 สิงหาคม2508

แต่ในเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ถูกนับเป็นหมุดหมายไปแล้วทั้งโดยฝ่ายรัฐไทยและฝ่าย พคท. การเปิดฉากสงครามประชาชนก็อาจจะนับได้ว่าเริ่มต้นอย่างเป็นทางการนับจากนั้น

อย่างไรก็ดี บทความนี้ไม่ต้องการที่จะพูดถึงรายละเอียดย้อนหลังไปในเหตุการณ์การสู้รบหลังจากนั้นมากนัก แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าสงครามประชาชนนี้ ไม่ใช่สงครามที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์ (สยาม/ไทย) 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกก่อตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม ในฐานะพรรคสาขาของพรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้ ที่ถูกจัดตั้งตั้งในระยะปี 2471-2473 เคลื่อนไหวในหมู่ชาวเวียดนามและชาวจีนโพ้นทะเล ก่อนที่จะกลายมาเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์ไทย” (คำว่า “แห่งประเทศ” ถูกเติมเข้ามาภายหลังในปี 2495) ในการประชุมวันที่ 1 ธันวาคม 2485 และเริ่มมีสมาชิกพรรคชาวไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

พรรคคอมมิวนิสต์ไทยในเวลานั้นยังคงเป็นพรรคใต้ดินผิดกฎหมาย ไม่ได้มีสถานะอย่างเป็นทางการและถูกกำราบปราบปรามด้วยนโยบายรัฐไทยอย่างเข้มข้น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ 2476

จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงในปี 2488 ประเทศไทยที่ถูกกอบกู้ไว้ไม่ให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ด้วยขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทยบางส่วนเข้าร่วมด้วย ก็ได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ที่เปิดกว้างเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบรัฐสภา และมีการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ 2476

นั่นจึงเป็นจุดที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทย ได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองระบบรัฐสภาเป็นครั้งแรก ผ่านส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย คือ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เข้าสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ไทยหลังการเลือกตั้ง 2489

การมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองถูกกฎหมายตามระบบ รวมถึงการมีบทบาทในรัฐสภาเป็นเรื่องที่ปกติมาก แต่อาจจะไม่เป็นที่คุ้นชินสำหรับสังคมไทย ที่ปลูกฝังแนวความคิดเกลียดชังคอมมิวนิสต์มาทุกยุคทุกสมัย ถึงขั้นบัญญัติขึ้นมาเป็นกฎหมาย

พรรคอมมิวนิสต์ในสากลโลก 

การมีพรรคคอมมิวนิสต์ในระบบพรรคการเมือง เป็นเรื่องที่ปกติมากในระบอบประชาธิปไตยตามแบบสากลโลก

ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกนับเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่สุดใน spectrum ทางการเมือง ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นแนวคิดอันตราย กลับปรากฏที่ทางอยู่ในการเมืองกระแสหลักของหลายๆประเทศ กระทั่งโลดแล่นอยู่ในการเมืองระบอบรัฐสภาของหลายประเทศ

เช่นที่ฝรั่งเศส พรรคคอมมิวนิสต์โลดแล่นในการเมืองระบอบมาเกือบศตวรรษหนึ่งได้แล้ว

ผ่านการเลือกตั้งทุกครั้ง เคยร่วมรัฐบาล 3 ครั้ง ทุกวันนี้ก็ยังมีบทบาทในรัฐสภา มีสมาชิกสภาล่าง 12 คน มีวุฒิสมาชิก 14 คน

หรือจะเอาที่ใกล้เคียงกับสังคมไทยในแง่ระบอบการปกครอง (อย่างเป็นทางการ) อย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีองค์พระจักรพรรดิ ก็มีพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ที่ทุกวันนี้มีสมาชิกสภาล่าง 12 คน มีสมาชิกสภาระดับจังหวัด 139 คน และสมาชิกสภาระดับเทศบาลถึง 2,473 คน

ทุกวันนี้ ก็ยังไม่เห็นฝรั่งเศสจะเปลี่ยนประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ หรือญี่ปุ่นเกิดการล้มล้างพระจักรพรรดิแต่อย่างไร

มีตัวอย่างอีกหลายประเทศมากมายบนโลกนี้ ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมายในระบบ ลงเลือกตั้ง และมีบทบาทในการเมืองระบอบรัฐสภา

ประเด็นสำคัญก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์เหล่านั้น แม้จะมีคำขวัญว่าด้วยการ “ปฏิวัติ” ล้มล้างทุนนิยมล้มล้างศักดินา ต่อต้านจักรวรรดินิยม แต่ในทางปฏิบัติพวกเขาเลือกที่จะใช้ยุทธวิธีแบบ “ปฏิรูป” และเล่นเกมตามระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยในรัฐสภา

คอมมิวนิสต์ หรือแนวคิดที่มีรากฐานจากลักธิมาร์กซ์ ถูกแตกแขนงออกไปมากมายหลายสาย หลายแนวคิด หลายทฤษฎี หลายแนวทาง หลายยุทธวิธี

บ้างก็เลือกแนวทางที่สุดโต่งสุดขั้ว บ้างก็กลายเป็นลัทธิคลั่งไคล้ทั้งบุคคลและทฤษฎีแปลกๆ ที่มาร์กซ์ไม่เคยพูดถึงหรือแม้แต่จะกล้าคิด บ้างก็ให้ความชอบธรรมแก่การสังหารหมู่ หรือแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับคอมมิวนิสต์เสียด้วยซ้ำ จนกลายเป็นมลทินติดตัวคำว่า “คอมมิวนิสต์” มาตั้งแต่นั้น

แต่บางกลุ่มบางสาย ก็เลือกแนวทางที่สอดรับกับยุคสมัย เลือกแนวทางที่ประนีประนอม มาในทางปฏิรูป เล่นเกมตามระบบ ก็กลายมาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยังมีบทบาทอยู่ในระบบการเมือง แม้จะผ่านการล้มลุกคลุกคลาน วิกฤติศรัทธามามากมาย แต่ก็ยังอยู่ได้

ความสุดโต่งของแนวคิดปฏิวัติ เมื่อถูกผสมผสานเข้ากับวิธีการแบบปฏิรูป ในที่สุดก็กลมกันออกมาเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายตามระบอบประชาธิปไตย

นี่คือสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเคยเป็น ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารปี 2490

เมื่อรัฐกดปราบอย่างรุนแรง 

ภายใต้บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเคยมีแนวทาง “สงครามปลดแอกประชาชาติ” แม้จะไม่มีการปฏิบัติในทางที่เป็นจริง แต่ก็มีแนวคิดแบบปฏิวัติและยุทธวิธีแบบปฏิวัติ

จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศไทยเริ่มมีบรรยากาศเสรีภาพเปิดกว้างมากขึ้น และมีการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ลงไป ความ “สุดโต่ง” ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ก็ค่อยๆผ่อนคลายลง เปิดทางให้แก่แนวคิดแบบปฏิรูป ที่ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้นำทางความคิดคนสำคัญของแนวทางดังกล่าว ได้ก้าวขึ้นมามีบบทบาทแทนที่ เกมของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยถูกเปลี่ยนมาสู่เกมในระบอบรัฐสภา และอาจจะเป็นเช่นนั้นไปอีกนาน

หากไม่มีการรัฐประหาร 2490 และการปราบปรามกวาดล้างที่ตามมาหลังจากนั้นเสียก่อน

พูดง่ายๆ การปราบปรามกวาดล้างคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงหลังจากนั้นมา ทำให้บทบาทสายประนีประนอมของนายประเสริฐถูกกีดกันออกจากฝ่ายนำของพรรค แนวคิดทำสงครามประชาชนถูกนำเข้ามาแทนที่ สภาพบริบทในขณะนั้นที่มีการปราบปรามอย่างรุนแรง ก็ให้ความชอบธรรมแก่การตอบโต้ด้วยกำลังอาวุธ แนวความคิดสงครามประชาชนและชนบทล้อมเมือง จึงเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์

ความเป็นเผด็จการของรัฐไทย ทำให้แนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยถูกผลักดันให้ไปอยู่ทางชายขอบมากยิ่งขึ้น ถูก radicalise ถูกบีบให้เลือกแนวทางการจับอาวุธ แทนที่จะต่อสู้กันในระบบปกติ

ถ้าไม่มีการรัฐประหาร 2490 ถ้าไม่มีการปราบปรามอย่างรุนแรงหลังจากนั้น ถ้าไม่มีการสถาปนาระบอบเผด็จการทหารอย่างเข้มข้น ลากยาวจนมาเป็นการรัฐประหาร 2500 ที่ฝังตัวลงรากฐานระบอบเผด็จการทหารในไทยยาวนานหลังจากนั้นอีกเกือบ 2 ทศวรรษ

ถ้าพรรคคอมมิวนิสต์ไทยไม่ถูกปราบ ถูกผลักจนต้องลงใต้ดิน แต่ถูกสภาพการณ์ที่เป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง “กลม” ให้ต้องอยู่ในระบบการเมืองปกติ และลดแนวทางยุทธวิธีที่รุนแรงลงจนเหลือเพียงแนวทางปฏิบัติแบบสาย “ปฏิรูป”

เราก็จะไม่มีสงครามประชาชน ที่ไม่ว่าเราจะนับเอาวันเสียงปืนแตกอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 หรือการปะทะประปรายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เป็นหมุดหมายสำคัญของเหตุการณ์นี้ก็ตาม

เราก็จะไม่มีหลายการสูญเสีย เข่นฆ่า ทำลายล้างชีวิดของคนมากมาย ที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นอีกถึงสองทศวรรษ

นโยบาย 66/2523 ที่รัฐไทยและฝ่ายชนชั้นนำไทยเชิดชูกันนักกันหนา แม้ว่าจะช่วยให้เราผ่านความขัดแย้งในครั้งนั้นมาได้ แต่ในทางความเป็นจริง มันก็คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว เป็นการ“เช็ดขี้” ที่รัฐไทยเป็นคนทำทิ้งเอาไว้เอง จากการสถาปนาระบอบเผด็จการทหารขึ้นมาใหม่ในทศวรรษ 2490 และต่อเนื่องฝังรากลึกหลัง 2500 กระทั่งเกิดการปราบปรามเข่นฆ่าอย่างรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

มันเป็นแค่การแก้เกี้ยว ที่ตัวเองเดินแนวทางเผด็จการทหาร-ขวาจัด-สุดโต่งแบบนั้นมานานถึง 3 ทศวรรษ

นี่คือบทเรียนที่สังคมไทยควรจะได้เรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ว่าสภาพบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ยอมรับความหลากหลายทางความคิด ใช้สภาพการณ์ที่เป็นประชาธิปไตย ทำการ “กลม” ความคิดที่หลากหลาย กระทั่งความคิดที่ดูแล้ว “สุดโต่ง” เหล่านั้น ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา ให้เข้ามาปะทะสังสรรค์ด้วยกันบนสังเวียนรัฐสภาและการเมืองระบบเลือกตั้ง จนกระทั่งแนวคิดที่ “สุดโต่ง” ถูกทำให้กลมกลืนกันไปบนความหลากหลายต่างหาก

ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงในระดับของสงครามเกิดขึ้นได้อีกครั้ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า