การเมืองท้องถิ่นแบบคณะก้าวหน้า “เชตวัน” ถาม – “ปิยบุตร” ตอบ ผลลัพธ์การลงแข่งขันไม่ใช่แค่จำนวนนายก!

1 ธันวาคม 2564

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าผลเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. คณะก้าวหน้าซึ่งสนับสนุนผู้สมัครลงชิงตำแหน่งฝ่ายบริหาร 196 ทีม สามารถคว้ามาได้ถึง 38 ทีม โดยพื้นที่ที่ได้มากสุดคือภาคอีสาน อันดับหนึ่งได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด 8 แห่ง รองลงมาคืออุดรธานีกับหนองบัวลำภู ซึ่งได้เท่ากันอยู่ที่จังหวัดละ 5 แห่ง

แต่กระนั้นก็ไม่วายที่จะมีฝ่ายซึ่งไม่ชอบ ตลอดจนสื่อมวลชนที่คอยให้ข่าวในทางลบ สร้างวาทกรรมโจมตีว่า “แพ้แบบแลนด์สไลด์” ปลุกปั่นให้ภาพไปในทางว่า “ล้มเหลว” เรียกเสียงสะใจจากบรรดาพลพรรค

ย้อนไปก่อนหน้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นเพียงวันเดียว เวที “Talk With ปิยบุตร @ปทุมธานี” เชตวัน เตือประโคน อดีตสื่อมวลชน ซึ่งปัจจุบันเป็นว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ และถาม ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในประเด็นเรื่องการเมืองท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจ

ขอนำบางช่วงบางตอนในประเด็นนี้มาฝากกัน เพื่อความกระจ่างและเห็นภาพตรงกัน ว่าท้ายที่สุดแล้ว “คณะก้าวหน้า” จะขับเคลื่อนการเมืองท้องถิ่นไปในทิศทางไหน

อ่านนับจากบรรทัดนี้ยาวไปให้จบแล้วจะพบคำตอบ…

เชตวัน : ในวันที่ 28 พฤศจิกายน นี้ จะมีการเลือกตั้ง อบต. คณะก้าวหน้ามีความมั่นใจมากแค่ไหนในการให้การสนับสนุนผู้สมัครนายก คาดว่าจะได้มาเท่าไหร่ ?

ปิยบุตร : การเมืองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่เราให้ความสนใจมาโดยตลอด ถ้าใครติดตามพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เรามีนโยบายสำคัญอันหนึ่งเป็นนโยบายชูธง ให้ชื่อว่า “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” เพราะเราเล็งเห็นว่า ปัญหาสำคัญของประเทศไทย นอกจากเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องประชาธิปไตย ยังมีเรื่องของโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินที่รวมศูนย์ส่วนกลางมาก และหลังการรัฐประหารมากก็ยิ่งขึ้นอีก ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจ ไม่มีบทบาท เราเลยตั้งใจว่าถ้าได้ ส.ส. ได้เป็นรัฐบาล จะไปผลักดันเรื่องนี้

ผมเองตั้งแต่ติดตามการเมืองไทยมา พบว่าหาน้อยมากพรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ เขาอาจจะเอาไปพูดตอนรณรงค์หาเสียงบ้าง แต่เมื่อได้ไปมีอำนาจแล้ว เขาจะไม่กระจายกลับมาที่ท้องถิ่น เพราะอะไร? คำตอบง่ายๆ ก็เพราะเขาได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมแล้ว เรื่องอะไรจะเอาอำนาจที่ตัวเองมีไปไว้กับ อบจ. หรือเทศบาล ดังนั้น เมื่อคุณเข้ามาเป็นรัฐบาลคุณก็สนุกกับอำนาจ ใช้อำนาจนั้น ไม่ยอมเอาไปให้กับท้องถิ่น

เพราะเล็งเห็นเรื่องนี้ เราตั้งใจว่าถ้าได้เข้าไปเป็นรัฐบาล เราจะทวงคืนอำนาจเหล่านี้กลับมาไว้ที่ท้องถิ่น แต่ปรากฏยังไม่ทันได้เป็น ก็มีอุบัติเหตุพรรคถูกยุบเสียก่อน และหลังจากนั้น เพื่อนๆ ของเราที่เป็น ส.ส.ก็ไปตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรคก้าวไกล และประกาศเจตนารมย์เดินตามแนวทางพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ส่วนพวกผม คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คุณช่อ พรรณิการ์ วานิช และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่โดนตัดสิทธิ์ 10 ปี เราก็มารวมตัวกัน ตั้งเป็นการเคลื่อนไหวในทางสังคมในชื่อ “คณะก้าวหน้า” ตั้งใจว่า อะไรที่พรรคอนาคตใหม่เคยคิด เราจะเอามารณรงค์ต่อ แม้เราจะไม่โอกาสเข้าไปมีอำนาจรัฐ เราจะเอามารณรงค์ความคิดกับผู้คน

เราได้ปรึกษาหารือกัน และก็ได้พบว่ากฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ไม่ได้บอกว่าผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง ตรงกันข้ามถ้าใครที่สังกัดพรรคการเมืองจะเคลื่อนไหวยากด้วยซ้ำ เพราะว่ากฎหมายนี้เขียนว่า ส.ส.ห้ามช่วยผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นหาเสียง ดังนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงคิดว่า ในเมื่อเราสนใจเรื่องท้องถิ่นมาโดยตลอด เราลองมาเป็นคลังความรู้ มาให้การสนับสนุนผู้สมัครที่อยากลงชิงชัยท้องถิ่นดีกว่า เลยทำทุกระดับตั้งแต่ระดับ อบจ. เทศบาล มาจนระดับ อบต.ครั้งนี้

ตรงนี้จะเห็นว่าเหมือนเราวิ่งคนละเลน เดินคนละขา เพื่อนเก่าเราที่เป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล เขาต้องต่อสู้ให้ได้เป็นเสียงข้างมาก ให้ได้เป็นรัฐบาล แล้ววันหนึ่งจะเอานโยบายเรื่องยุติรัฐราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจให้ท้องถิ่น มาผลักดัน ส่วนพวกเราคณะก้าวหน้า ทำการเมืองท้องถิ่นแบบใหม่ ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เข้าไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแล้วทำให้ดูว่า การทำบริหารท้องถิ่นภายใต้ข้อจำกัดแบบนี้ สามารถทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ แล้ววันหนึ่งทั้งสองเลนจะมาบรรจบพบเจอกันที่ปลายทาง

เดินคนละขากันไปแบบนี้ ขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้ เพราะสมมติคุณได้เป็นรัฐบาล มีอำนาจ ตั้งใจที่จะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจริง ปัญหาคือความรับรู้ของผู้คนจำนวนมาก จะมีการต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกข้าราชการส่วนกลาง เพราะเวลาเราพูดเรื่องกระจายอำนาจ เขามักบอกว่า กระจายอำนาจเท่ากับกระจายอิทธิพล เท่ากับกระจายการคอรัปชั่น เท่ากับไปเพิ่มมาเฟียท้องถิ่น นี่คือสิ่งทีการเมืองท้องถิ่นถูกกล่าวหามาตลอด ซึ่งต่อให้ทำให้ตั้งใจทำจริงก็จะมีแรงต้านจากระบบราชการ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานการเมืองท้องถิ่นให้เป็นแบบใหม่ ให้พี่น้องประชาชนเห็นว่า การเมืองท้องถิ่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกกล่าวหามาอย่างในอดีต แต่ต่อไปนี้เราจะแข่งกันที่นโบบาย แข่งกันที่ใครจะทำงานให้พี่น้องประชาชน ไม่ใช่แข่งกันที่เงินทองอิทธิพลกลไกรัฐแบบที่เคยเป็น

เช่นเดียวกัน ต่อให้คณะก้าวหน้าสนับสนุนให้ได้มีผู้บริหารท้องถิ่นเต็มไปหมด แต่ยังไม่พอ ตราบใดที่ อำนาจยังกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง เพราะทุกวันนี้ ต่อให้ใครได้เป็นนายก อบจ. นายกเทศมนตรี อยากทำถนนสักเส้นหนึ่ง ปรากฏว่าไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจดันอยู่ที่กรมทางหลวง อยากทำคูคลองสักสาย อำนาจไม่มีเพราะอำนาจไปอยู่ที่กรมชลประทาน อยากทำไฟฟ้า อยากทำการประปา ปรากฏไม่มีงบประมาณเหลือเลย ดังนั้น ต่อให้เราชนะมากแค่ไหนก็ตาม แต่หากอำนาจ งบประมาณ และบุคคลากร ยังกระจุกอยู่แค่ส่วนกลาง มันก็ทำไม่ได้อยู่ดี จึงต้องวิ่งกันทัง 2 ขา และสุดท้ายจะมาบรรจบกัน

ดังนั้น ความคาดหวังเลือกตั้ง เราไม่ได้คิดว่าจะมีจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ เราทราบว่าโครงสร้างการเมืองท้องถิ่นยังเป็นแบบเดิมอยู่เยอะ ผมไม่เคยกล่าวตำหนิติเตียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ที่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์คือการเมืองแบบเดิมที่ใช้วิธีแบบเดิม และเรากำลังจะเข้าไปเสนอพี่น้องประชาว่ามีแบบใหม่นะ แบบเดิมที่เขาแข่งกันโดยดูกันว่าคุณนามสกุลอะไร คุณมาจากบ้านหลังไหน คุณเป็นคนของใคร คุณมีเงินทองเท่าไหร่ คุณมีกลไกรัฐสนับสนุนเท่าไหร่ ถึงจะได้ลงการเมืองท้องถิ่น โดยเราจะบอกว่า ต่อไปนี้มีพวกเราเข้ามานะ เราจะไม่แข่งกันด้วยวิธีนี้ แต่เราอยากแข่งกันที่นโยบาย เราอยากเอาคนรุ่นใหม่ไปพัฒนาบ้านเกิดของเขา

แต่อย่างไรก็ตาม เห็นโครงสร้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยอมรับว่าสู้ยากมาก ตอนเลือกตั้งระดับ อบจ.ผ่านไป บรรดาเกจิ สื่อมวลชน แม้แต่นักวิชาการที่ไม่ชอบเราก็สะใจว่าเราแพ้หมด แพ้แลนด์สไลด์ แต่จริงๆ เบื้องหลังคือเรายิ้ม คือแน่นอนว่าลงสนามแข่งก็หวังจะได้ แต่จริงๆ เมื่อเราดูคะแนนดิบ หลายๆ จังหวัดคะแนนรวมทั้งจังหวัดเราเยอะกว่าตอนลง ส.ส. 24 มีนาคม 2562 เสียอีก ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการใช้สิทธิ์ล่วงหน้า ไม่มีใช้สิทธิ์นอกอาณาเขต ซึ่งคณะแนนส่วนนี้เป็นกลุ่มของเรา ดังนั้น สำหรับเรา นี่คือการลองสนามครั้งแรก ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร และที่สำคัญคือเรากำลังดึงเอาการเมืองท้องถิ่นแบบเดิมมาร่วมเป็นการเมืองท้องถิ่นแบบใหม่

วันก่อนผมไปให้การกับ กกต. คดีที่มีนักร้องไปยื่นร้องว่าเราทำตัวเลียนแบบพรรค ผมบอกกับคนใน กกต.ไปว่า จริงๆ แล้ว กกต.ต้องขอบคุณพวกผมนะเรื่องการเมืองท้องถิ่น ไม่อย่างนั้นพี่น้องประชาชน คนหนุ่มคนสาว อาจไม่สนใจการเมืองท้องถิ่น อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ เพราะ กกต.ไม่เห็นประชาสัมพันธ์เลย การเมืองท้องถิ่นที่คนรู้ว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ นี่ไม่ได้ชมตัวเองเกินไปนะ แต่ผมคิดว่าคณะก้าวหน้ามีส่วนสำคัญที่ช่วยตีปี๊บ ประชาสัมพันธ์รณรงค์ทุกวันให้คนเห็นความสำคัญ

ในการลงสนาม อบจ. เราทราบดีว่ายาก หิน โหด และคู่ต่อสู้ไม่มีใครประมาทเราเหมือนตอนเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ทีนี้พอจบสนามนี้ไปที่บางคนอาจถือว่าล้มเหลว แล้วเลิกเลยมั้ย ไม่ใช่ ก็มาลุยเทศบาลต่อ ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กลงแล้ว ปรากฏว่าคราวนี้ได้มา 16 เทศบาลตำบล นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เราได้แสดงฝีไม้ลายมือให้ดูว่า มันสมองของธนาธรและทีมงานเป็นอย่างไรในการบริหารท้องถิ่น เขาไปให้คำปรึกษา แนะนำ แนะแนวนโยบายต่างๆ จนประสบผลสำเร็จ ตัวอย่างก็ที่รู้กันดีก็คือ น้ำประปาดื่มได้ ที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด หรือ อีกกรณีที่เพิ่งเปิดตัวไปคือเทศบาลตำบลทากาดเหนือ จ.ลำพูน ทำทำท่องเที่ยวเชิญอนุรักษ์ เราทำตรงนี้ขึ้นมา เป็นกระแสระดับประเทศ ทำให้คนเห็นว่ารออย่างนี้มานานแล้ว บ้างก็ว่าอย่างนี้งวดหน้าต้องเลือกก้าวหน้า บางคนว่าเสียดายที่เขตบ้านตัวเองไม่มีก้าวหน้าลงสมัคร เกิดเป็นกระแสขึ้นทันทีว่าที่ผ่านมา เลือกตั้งท้องถิ่นมากี่ครั้งทำไมเปลี่ยนไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ของเราใช้เวลาไม่กี่เดือนเปลี่ยนเลย ทำได้ทันที

ตรงนี้ถามว่าประสบความสำเร็จคืออะไร ไม่ใช่ธนาธรที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ทีมงานของเราที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่นายกเทศมนตรีที่ประสบควาสำเร็จ แต่สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือว่า เรากำลังบอกกับพี่น้องทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยว่า การเมืองท้องถิ่นมันเปลี่ยนได้ ถ้าทำจริงๆ เปลี่ยนได้ อย่าสิ้นหวังกับการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่าไปเชื่อมายาคติเดิมๆ ที่ว่าการเมืองท้องถิ่นเท่ากับคอรัปชั่น เท่ากับมาเฟีย มันไม่จริง มันเปลี่ยนได้จริงๆ และตรงนี้จะภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่นจะเปลี่ยนไป ในอนาคตคู่แข่งขันของเราจะมาสู้กับเราด้วยวิธีการแบบนี้ เพราะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ซึ่งถามว่าปรับเปลี่ยนแล้วใครได้ประโยชน์ ก็พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ทั้งหมด

ดังนั้น เวลาถามว่า คาดหวังความสำเร็จเท่าไหร่ ส่วนตัวผมไม่ได้คิดว่าจะมีนายกกี่คน แต่สำหรับผมคือโอกาสที่เราจะเข้าไปเปลี่ยนความคิดคนเรื่องการเมืองท้องถิ่น โอกาสที่เราจะได้ทำให้ดูว่าแม้มีอำนาจเพียงเศษเสี้ยวเดียว แต่เราจะทำให้ดูว่าทำได้จริง แล้วความหวังเรื่องประชาธิปไตยในท้องถิ่นจะกลับมาใหม่ นี่คือสิ่งที่มีค่ามากว่าการได้จำนวนตัวนายกหรือจำนวนตัวสภาท้องถิ่น

เชตวัน : ที่ถามเรื่องจำนวนตัวเลข ที่อยากให้แสดงความมั่นใจว่าคณะก้าวหน้าชนะเท่านั้นเท่านี้ เนื่องจากว่าเห็นว่ามีผู้สื่อข่าวมาร่วมงานหลายท่าน ก็อยากให้ได้ข่าวไปพาดหัวว่าก้าวหน้ามั่นใจอย่างไร ได้กี่ที่นั่ง ที่ไหนบ้าง?

ปิยบุตร : ถ้าจะให้ข่าว ผมก็ขอเสริมนิดหนึ่ง คือผมไม่รู้หรอกว่าจะได้กี่ที่นั่ง เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนเยอะ โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งไม่มีเลือกตั้งนอกเขต ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งนี่เป็นฐานคะแนนของเรา ประกอบกับขนาดพื้นที่ของระดับ อบต.นั้นเล็กมาก ไม่กี่พันคะแนนก็ชนะแล้ว ดังนั้น กระสุนที่เขาเรียกกันว่า กระสุนสีเทา กระสุนสีม่วง กระสุนสีแดงปลิวว่อนเต็มไปหมดนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริงๆ จึงไม่สามารถประเมินถูกว่าจะได้เท่าไหร่ แต่ผมว่าเราน่าจะมีลุ้นเกือบทุกจุด แต่ความสำคัญก็อย่างที่บอก ต่อให้ได้ 1 ที่ หรือ 20 ที่ นี่คือโอกาสของการนำเอาการทำงานท้องถิ่นแบบใหม่ การทำงานการเมืองท้องถิ่นแบบคณะก้าวหน้าไปผลักดัน และทำให้คนเห็นทั้งประเทศ

เชตวัน : ผมเสริม อ.ปิยบุตรตรงนี้เล็กน้อย สิ่งที่คณะก้าวหน้าจะเอาไปสู้ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1. ความสดใหม่ของคนหน้าใหม่ที่จะเข้าไปเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่น กับ 2.เรื่องของนโยบาย ซึ่งการเลือกตั้งระดับ อบต.ครั้งนี้ เรามี 9 นโยบายหลัก 42 นโยบายย่อย ที่คณะก้าวหน้าเราร่วมกันออกแบบกับผู้สมัครนายก พื้นที่่แต่ละแห่งเหมาะกับนโยบายไหนก็มาช็อปนโยบายเอาไปใช้ได้เลย และนี่คือสิ่งที่ อ.ปิยบุตรบอกว่าจะทำให้ภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่นเปลี่ยน ต่อไปเราจะแข่งขันกันด้วยนโยบาย ซึ่งเราใช้เกมของเราในการแข่งขัน และดึงให้คนอื่นเข้ามาสู่เกมของเรา คำถามต่อไปอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่น ทราบมาว่า ในอนาคตคณะก้าวหน้าอยากจะทำ “อคาเดมีนักการเมืองท้องถิ่น” ช่วยเล่าให้ฟังเล็กน้อย ?

ปิยบุตร : คุณธนาธรเป็นเจ้าของไอเดียนี้ ยังไม่เปิดเผยทางการ แค่มากระซิบกับผมและผมก็นำไปพูดไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) แต่เราเห็นตรงกันตรงนี้คือ ข้อแรก กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นสำหรับผมแล้ว กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งสูงเกินไป สมาชิกสภาท้องถิ่นต้อง 25 ปีขึ้นไป และถ้าจะลงผู้บริหาร เป็นนายกท้องถิ่นต้อง 35 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นอายุที่สูงมาก ในขณะที่ประเทศซึ่งผมไปร่ำเรียนมา หลากหลายประเทศที่เคยมีโอกาสไปพบไปเจอ ท้องถิ่นหลายๆ แห่งเขากำหนดอายุน้อยมาก บางคนอายุ 18 ปี 19 ปี ไม่ถึง 25 ปีก็เป็นนายกเทศมนตรีบ้านเกิดตัวเองแล้ว อย่างเลือกตั้งครั้งนี้เช่นเดียวกัน ทีมงานคณะก้าวหน้าของเรา หลายพื้นที่อยากลง แต่อายุไม่ถึง ก็เลยยังต้องรออีก 1-2 รอบ

ที่ผมพูดตรงนี้ วิธีคิดที่เรามอง คือเรามองว่า คุณจะคุยเรื่องการกระจายอำนาจอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด แต่ในท้ายที่สุด คุณกำลังบอกว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ สุดท้ายสภาพก็คล้ายๆ กันหมดคือ ต้องวิ่งสู่เมือง ทุกคนต้องเรียนต้องทำงานในเมือง บางคนก็ตั้งรกรากอยู่ไม่ได้กลับบ้าน ทีนี้ผมเชื่อว่าหลายคนมีความคิดว่าวันหนึ่งเขาอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด แต่ไม่รู้กลับไปแล้วทำอะไร อย่างไร เราอาจจะบอกก็ไปเป็นเอ็นจีโอสิ ไปทำเป็นพวกอาสาพัฒนาสิ แต่มันไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีงบประมาณแผ่นดินที่จะไปเปลี่ยนได้ ถ้าอย่างนั้นก็ไปลงเลือกตั้งท้องถิ่นสิ เป็นผู้บริหารท้องถิ่นสิ คำถามคือ คุณจะไปลงอย่างไรเพราะอายุยังไม่ถึง และจะไปสู้อย่างไรกับอิทธิพลที่ฝังอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ

ดังนั้น คณะก้าวหน้า เราอาสาเป็นโครงการนำร่อง เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เพื่อเอาองค์กรของเราเป็นแพลทฟอร์ม เป็นยานพาหนะ ให้เยาวชนคนหนุ่มสาวขึ้นมายานพาหนะนี้ด้วยกัน แล้วใช้มันกลับไปทำงานท้องถิ่นที่บ้านตัวเอง ใช้มันกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ขอเพียงคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ อยากเปลี่ยนแปลง อยากทำงานการเมืองแบบใหม่ มาทำด้วยกัน เรามีชุดนโยบาย มีคลังข้อมูล มีคลังความรู้ต่างๆ ซึ่งคิดว่าถ้าผ่านทุกสนามการเมือง ได้บริหารสัก 2-3 รอบ คาดว่าจะมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ตรงนี้ก็อาจเกิดเป็นอคาเดมีขึ้นมา เป็นสถาบันคณะก้าวหน้า ที่ใครอยากกลับบ้านไปเป็นนักการเมืองท้องถิ่นสไตล์คณะก้าวหน้า ก็เข้ามาร่วมตรงนี้

อย่างที่บอก เราไม่ได้คิดตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะเอากี่ที่นั่ง วิธีคิดการเมืองของผม ไม่เคยตั้งต้นว่าคุณจะเอา ส.ส.กี่คน คุณจะเอานายกท้องถิ่นกี่คน เพราะถ้าคุณคิดอย่างนี้ตั้งแต่แรก หมายความว่า คุณจะยอมใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้จำนวนเยอะที่สุด คุณจะยอมสร้างพรรคมาแล้วไปดู ส.ส.เข้ามาเต็มไปหมด คุณจะยอมใช้อิทธิพลต่างๆ เต็มไปหมด เพราะคุณต้องการจำนวน เอาไปยกมือ เพื่อให้ตัวเองเป็นรัฐบาล แต่เราคิดกลับกัน จำนวนเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าเรามีจำนวน ส.ส.มาก มันจะเข้าไปเปลี่ยนการเมืองในเซ้นท์แค่ไปแบ่งกระทรวงมา แบ่งอำนาจที่เขามีมาบริหารบ้างเท่านั้น แต่วิธีคิดเราคือจะไปเปลี่ยนวิธีคิดคน เราจะไปเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองใหม่ทั้งหมด

ดังนั้น ความสำคัญตรงนี้ เรารอได้ ไม่เคยคิดเร่งรีบว่าจะต้องมีนายกเท่าไหร่ ตั้งแต่ตอนตั้งพรรคอนาคตใหม่เราก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องมีกี่นั่ง ไม่เคยคิดว่าจะต้องแลนด์สไลด์ทันทีทันใด แต่ทุกๆ การขยับของพวกเรา ผมว่ามันเปลี่ยนความคิดคน และมันเปลี่ยนการเมืองไทยด้วย รอบนี้ก็เช่นกัน ดังนั้น 4 ปีนี้จบไป 4 ปีหน้า ผมคิดว่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงานกับเรา ที่อายุถึงแล้ว เขาจะกลับบ้านมากขึ้น ไปลงการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น กลับไปรอบนี้เขาอาจจะเจอการเมืองแบบเดิม ยังเจออิทธิพลกลไกรัฐอยู่ แต่อีกยกหนึ่ง สักรอบที่สามผมว่าได้ลุ้นแล้ว การเมืองท้องถิ่นจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า