สำรวจอารมณ์ประชาชน – ควันหลง “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” สภาฯ ยังเป็นความหวังได้หรือไม่ ?

9 กันยายน 2564

“อภิปรายอะไรไป เงินมันซื้อไง มันไม่มีอุดมการณ์อะไรหรอก ยกมือเป็นฝักถั่ว อุดมการณ์มันไม่มีหรอก แต่มันก็ยังดีนะ ฝ่ายค้านเขาก็มาช่วยขยี้เรื่องวัคซีน เลยต้องเบรกไป” ลัดดา วัย 52 ปี

“รู้สึกเศร้า รู้สึกท้อ หมดหวัง มันไม่ใช่แค่ตัวเราไง ลูกสาวเรา ปีนี้เขาอายุ 15 ปี เขาก็สิ้นหวัง จากเดิมที่เขาเรียนออนไลน์ก็เครียดอยู่แล้ว มาเจอสภาพบ้านเมืองแบบนี้เขาก็ท้อ ตอนแรกเราก็คิดว่าเขาไม่ได้ติดตาม (การเมือง) นะ แต่ปรากฏว่าเขาก็ติดตาม” คุณแม่ วัย 45 ปี

“กิจกรรมข้างนอกก็เป็นสิ่งที่ควรรณรงค์อยู่แล้ว ในสภามันไม่ใช่หน้าที่เรา เราไม่ได้เป็นผู้ใช้กลไกของสภา ถ้าเราเป็นนักการเมือง แปลว่าเรากำลังใช้กลไกของพรรคการเมืองอยู่ แต่เราเป็นประชาชน เราก็ใช้กลไกของข้างนอกเป็นหลักเลย กิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย กิจกรรมต่างๆ ที่ ilaw ออกมา มันก็ถือว่าเป็นกิจกรรมข้างนอก” เป๋า ilaw

ข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของความเห็นประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่อง แทบทุกวัน แทบทุกกลุ่มกิจกรรม สำหรับการชุมนุมแบบ “คู่ขนาน” กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา โดยกระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกอโศกมนตรี สามเหลี่ยมดินแดง ฯลฯ

และแม้ว่าผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะออกมาแล้วว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงบรรดารัฐมนตรีที่มีรายชื่อ “ขึ้นเขียง” เหล่านั้น จะได้รับความ “ไว้วางใจ” จากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.ในสภาให้ทำหน้าที่ต่อ แต่การชุมนุมไล่ #ประยุทธ์ออกไป และไม่เอา #ระบอบปรสิต ยังคงดำรงอยู่และสมรภูมิสำคัญอย่างสามเหลี่ยมดินแดง ก็ดูเหมือนจะเป็นจุดที่เจ้าหน้าใช้ทุกองคาพยพที่มีจัดการประชาชนอย่างดุเดือด

ย้อนกลับไปต้นปี 2563 เหล่านักเรียนนักศึกษาเริ่มรวมตัวกัน เกิดเป็นแฮชแท็กของสถาบันการศึกษาต่างๆ ออกมาร่วมกันต้านเผด็จการ และเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก แต่ไม่นานก็มีการระบาดของโควิด-19 หยุดยาวมาจนกระทั่งกลางปีกระทั่งสถานการณ์คลี่คลาย และกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในช่วงปลายปี หลังจากที่เกิดกรณีการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมคนสำคัญ เกิดเป็นข้อเรียกร้องที่ยกระดับและชัดเจนมากขึ้น

รวมถึงการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ อาทิ ดีลวัคซีนที่ไม่หลากหลาย ล่าช้า ไม่เพียงพอ และบางยี่ห้อก็ถูกตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพ ไปจนถึงการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจนทำให้กิจการ เศรษฐกิจต้องเสียหาย และที่หนักสุดก็คือผู้เสียชีวิตที่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน มีจำนวน 13,282 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 กันยนยน 2564) และมีผู้ติดเชื้อรวมเกินกว่า 1 ล้านคนแล้ว

นี่ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของการชุมนุม และรวมถึงปัจจัยสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจประยุทธ์และรัฐมนตรี แต่ทว่า หลังจากการอภิปราย 4 วัน 3 คืน ได้สิ้นสุดลง ท่ามกลางความอื่ออึงของข่าวลือและเสียงกระซิบ กรณีดีลลับต่างๆ ความขัดแย้งที่ดูอิรุงตุงนังเหลือเกิน ที่สุด ความชัดเจนก็ปรากฎขึ้นเมื่อ 4 กันยายน คือ ส.ส. จากฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. จากฝ่ายค้านบางส่วน ลงมติ “ไว้วางใจ” ให้กับประยุทธ์ และรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ได้ทำหน้าที่ต่อไป

“คณะก้าวหน้า” ชวนสำรวจอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการของพี่น้องประชาชน ในวันที่พวกเขามองว่าสภาผู้แทนราษฎร ไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงไล่ประยุทธ์และรัฐบาลชุดนี้ให้พวกเขาได้ ผ่านภาพชุดและเรื่องราวของผู้ชุมนุมบางส่วน ที่หวังว่าจะดังไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้


“ให้มันจบที่รุ่นนี้นะ”
ลัดดา วัย 52 ปี

“จริงๆ ไม่ได้หวังอยู่แล้วว่าประยุทธ์จะออก เพราะว่าถ้าระบบมันอนุญาตให้เงินมันซื้อ ส.ส ได้. ซื้อโหวตได้ เราก็หวังไม่ได้หรอก ประยุทธ์เนี่ยนะ เอาปืนจี้หัวคนเข้ามาอยู่ในอำนาจ ยังทำได้เลย แค่นี้เนี้ยนะ มันง่ายมาก” ผู้ร่วมชุมนุมท่านหนึ่งบอกกับเรา หลังจากถูกถามว่าคิดอย่างไรกรณีสภาโหวตไว้วางใจประยุทธ์ และพวกต่อ

เธอแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ดูทะมัดทะแมง สะพายกระเป๋าที่ภายในปัจจุบันเก้าอี้พับ แว่นตาดำน้ำ อุปกรณ์ป้องกันตัวและอำนาจความสะดวกสำหรับการเคลื่อนไหวชุมนุม ลัดดายังให้คำแนะนำกับเราว่า แว่นตากันแก๊สน้ำตาที่ใช้กันทั่วไปนั้น กันแก๊สไม่ได้มากเท่ากับแว่นตาดำน้ำ

อาจจะด้วยความที่เธอเดินทางไปทุกม็อบ พิสูจน์ความแสบ ความขมปร่าของแก๊สจนชำนาญ ทำให้เรื่องแว่นตากันแก๊สน้ำตาเป็นประสบการณ์ตรงที่เธอนำมาถ่ายทอด

“มาม็อบตลอดค่ะ อยู่สุขุมวิทนี่เอง ใกล้ๆ มาได้ตลอด… ก็สู้กันไปอย่างนี้แหละ ถามว่าจะเปลี่ยนแปลงเร็วไหม คิดว่ามันไม่เร็วอยู่แล้ว ถ้ามันอยู่ เราก็ออกมาไล่แบบนี้ อย่าให้มันอยู่สบาย ก็มีแต่เสียงประชาชนเท่านั้น เราต้องลงถนนถึงจะเอาอยู่”

ถามถึงผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งผ่านไป

ลัดดา ตอบสวนทันที “อภิปรายอะไรไป เงินมันซื้อไง มันไม่มีอุดมการณ์อะไรหรอก ยกมือเป็นฝักถั่ว อุดมการณ์มันไม่มีหรอก แต่มันก็ยังดีนะ ฝ่ายค้านเขาก็มาช่วยขยี้เรื่องวัคซีน เลยต้องเบรกไป”

ถามถึงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ได้รับผลกระทบอะไรบ้างหรือไม่ ก็ได้ทำให้ทราบว่า ลัดดาทำธุรกิจปล่อยห้องเช่าให้กับชาวต่างชาติ เมื่อมีวิกฤตและต้องปิดประเทศ ก็กระทบกับรายได้ของเธอทั้งหมด

“เราทำธุรกิจปล่อยเช่าคอนโด ไม่ต้องพูดแค่โควิดหรอก มันซบเซาตั้งแต่ที่ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกแล้ว แล้วพอคนต่างชาติไม่ได้เข้ามายิ่งหนักใหญ่ ในเมื่อมันไม่มีคนเข้า พี่จะเอาลูกค้าที่ไหน แล้วยิ่งมามีช่วงล็อคดาวน์ โควิดอีก ถ้ามีวัคซีนดี แล้วได้เปิดประเทศเร็ว วันก่อนดูต่างชาติแข่งเทนนิส เขาไม่ต้องใส่อะไรกันเลย คนก็เฮๆ กัน”

“พี่เองก็ผ่านรัฐประหารมาหลายรอบ จริงๆ ถ้ามันไม่มีคนที่หนุนหลัง มันทำไม่ได้หรอก มันต้องจบที่รุ่นนี้นะ รุ่นหนูนะ” น่าจะเป็นเสียงสะท้อนของลัดดา ที่ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ทุกคน


“เจอสภาพบ้านเมืองแบบนี้…ก็ท้อ”
คุณแม่ท่านหนึ่ง อายุ 45 ปี

หนึ่งในสถานที่ชุมนุมที่คณะก้าวหน้าเดินทางไปสำรวจก็คือ แยกอโศกมนตรี ใจกลางกรุงที่เป็นย่านออฟฟิศ

เราได้เจอคุณแม่ท่านหนึ่ง เธอได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะสถานที่ทำงานของเธออย่างซอยคาวบอย ซึ่งถูกปิดตั้งแต่ต้น และไม่เพียงแต่ซอยคาวบอยเท่านั้น สถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีหลายๆ แห่งในกรุงเทพก็ถูกปิดไป โดยขาดมาตรการการเยียวยาที่ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่รายได้ก้อนใหญ่ของประเทศไทยล้วนมากจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

“คนส่วนใหญ่ก็กลับต่างจังหวัด ส่วนมากนะ แต่บางคนเจ้าของร้านมีที่พอให้อาศัยได้ เขาก็ให้อยู่ดูแลร้าน แต่ส่วนมากเขาก็กลับต่างจังหวัดทั้งนั้น ยอมรับว่าหนักค่ะ”

“เรามาชุมนุมทุกครั้งเลยค่ะ มาตั้งแต่ที่เขานัดครั้งแรกเลย… พี่รู้สึกเศร้า รู้สึกท้อ หมดหวัง มันไม่ใช่แค่ตัวพี่ไง มันมีลูกสาวพี่ปีนี้เขาอายุ 15 ปี เขาก็สิ้นหวัง จากเดิมที่เขาเรียนออนไลน์ก็เครียดอยู่แล้ว มาเจอสภาพบ้านเมืองแบบนี้เขาก็ท้อ ตอนแรกเราก็คิดว่าเขาไม่ได้ติดตามนะ แต่ปรากฎว่าเขาก็ติดตาม”

“ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ มีคาร์ม็อบก็จะพาลูกไปด้วย วันธรรมดาเขาก็อยู่บ้านเรียนออนไลน์”

“ถ้ามีต่อไป เราก็จะไปเรื่อยๆ” เธอตอบเมื่อถูกถามว่าจะเข้าร่วมชุมนุมต่อไปไหม

“พี่รู้สึกโกรธแค้นนะ ทำไมต้องมายัดเยียดความจนให้เรา พี่จ่ายเงินค่าวัคซีนทางเลือกไปแล้ว แต่ก็ไม่รู้จะได้ตอนไหน” เธอสรุปสั้นๆ แต่ได้ใจความถึงสถานการณ์ที่รัฐบาลประยุทธ์ทำกับประชาชนชาวไทย


“เด็กทุกวันนี้มันบังคับกันไม่ได้…”
ครอบครัวพ่อ-แม่-ลูก จาก บางเขน

“ไม่ชอบ เพราะว่าบริหารได้แย่จนทำให้เราได้รับผลกระทบกันหมด ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยา มีแต่พูด แต่ทำไม่ได้ คนตายเราก็เห็น เพื่อนบ้านเรา พ่อแม่ครอบครัวเขา เขาเก็บกระเป๋า เขาป่วยกันทั้งบ้าน แล้วสุดท้ายหัวหน้าครอบครัวเขาก็จากไป… แล้วเรื่องการศึกษา ทำให้เด็กเรียนออนไลน์ มันได้รับผลกระทบกันทุกคน อยู่ในภาวะตึงเครียดกันหมด”

“แล้วก็ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เขาประกาศ คุณควบคุมอะไรกันแน่ คลัสเตอร์แต่ละครั้ง มันไม่มีเหตุผลเลย ที่จะต้องมากำจัดที่ร้านอาหาร เราต้องกินใช้ไหม แล้วไปปิดตรงนั้น พอเราดูทีวี เห็นเด็กที่เขาไปสู้กันที่สามเหลี่ยมดินแดง เราก็เป็นพ่อเป็นแม่คน เขาก็รุ่นเดียวกับลูกเรา เราก็เข้าใจนะ พูดแล้ะมันขึ้น ขนาดเรายังโมโห พูดก็ไม่ได้ พูดแล้วก็จะโดน ธุรกิจเราก็พัง เราก็เก็บกดนะ นี่เป็นการแสดงออก เลยทำให้เราต้องมาที่นี่”

คุณแม่ที่นั่งอยู่กับครอบครัวของเธอเล่าให้ฟัง ในทุกเย็นเธอและครอบครัวมักมาร่วมกิจกรรมชุมนุม โดยนั่งรถไฟฟ้ากันมาอย่างพร้อมเพรียงจากบางเขน ไปตามจุดที่นัดชุมนุม

ขณะที่ผู้เป็นพ่อเสริมว่า “เราดูอภิปรายไม่ไว้วางใจ โกรธนะ เลือกตั้งครั้งหน้าไม่ได้เกิดหรอก ไม่มีเลือกแน่นอน เพราะว่าประชาชนเขาไม่ได้โง่แล้ว ปู่ย่าตายายที่บ้านก็มีโทรศัพท์ คือเขายังคิดอยู่ว่าคนบ้านนอกไม่มีทีวีดู ไม่รู้… ไม่เลย ลูกหลานเขาก็ฉลาด”

ถามถึงลูกสาวที่นั่งอยู่ข้างๆ ว่าสนับสนุนให้มาม็อบเหรอ?

“อยากมาเอง” ผู้เป็นพ่อตอบ “แล้วแต่ลูกเลย ก็มาด้วยกัน เพราะเราไม่รู้จะแสดงออกตรงไหน ลูกเราก็เรียนออนไลน์ เครียดด้วยกันหมด”

“อยากมาค่ะ เพื่อนๆ ในโรงเรียนเขาก็สนใจ แต่พ่อแม่เขาห้าม” เสียงสะท้อนจากเด็กสาววัย 14 ปี ซึ่งเธอก็ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการเรียนออนไลน์

ผู้เป็นพ่อปิดท้ายอย่างชวนผู้ใหญ่คิดว่า “เด็กทุกวันนี้มันบังคับกันไม่ได้หรอก ทุกวันนี้เขามีความรู้ เขาคิดเองได้หมด เราจะขี้ซ้าย ขวา ไม่ได้ เขารู้ทุกอย่าง รู้มากกว่าเราอีก”


“ข้างนอกสภาฯ ก็เป็นสิ่งควรรณรงค์”
เป๋า ilaw

นอกจากจะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวแล้ว เราได้มีโอกาสคุยกับผู้จัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ยังไงมันก็ต้องเปลี่ยนในสภาครับ การยื่นที่ผ่านมา มันไม่เวิร์คก็เพราะว่ามันถูกออกแบบให้มันไม่เวิร์ค มันถูกออกแบบให้มี ส.ว. 250 คน” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ “เป๋า ilaw” นักเคลื่อนไหวด้านกฎหมายและเป็นตัวแทนคนสำคัญของ ilaw อธิบายภาพบทบาทของสภาและข้อจำกัดของมัน

“เสียงตอนเลือกตั้งมันก็มีความสูสี คนที่เลือกพรรคที่ไม่เอาประยุทธ์นั้นมันก็มีเกินครึ่งหนึ่ง คนอีกครึ่งหนึ่งก็เลือกพรรคที่เอาประยุทธ์ แล้วก็เอาอื่นๆ ทีนี้พวกอื่นๆ ไปรวมกับพรรคที่เอาประยุทธ์ ผลก็เลยออกมา มันมีความสูสี ที่บอกว่าสูสีเพราะว่า ส.ส. ฝ่ายค้าน มันต้องมีเยอะกว่า 253 แต่พอเปลี่ยนสูตร จำนวนก็เปลี่ยน รวมงูเห่า โดนยุบพรรคอะไรต่างๆ เสียงมันก็เลยต่างกัน มันก็เลยเปลี่ยนแปลงในสภาไม่ได้ ก็ไม่แปลกอะไร มันคาดหมายได้อยู่แล้ว”

“กิจกรรมข้างนอกสภาก็เป็นสิ่งที่ควรรณรงค์อยู่แล้ว ในสภามันไม่ใช่หน้าที่เรา เราไม่ได้เป็นผู้ใช้กลไกของสภา ถ้าเราเป็นนักการเมือง แปลว่าเรากำลังใช้กลไกของพรรคการเมืองอยู่ แต่เราเป็นประชาชน เราก็ใช้กลไกของข้างนอกเป็นหลักเลย กิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย กิจกรรมต่างๆ ที่ ilaw ออกมา มันก็ถือว่าเป็นกิจกรรมข้างนอก”

“อย่างการอภิปราย ผลที่ออกมา มันก็ไม่ได้แตกต่างจากที่คาดหมาย ผลการลงคะแนนมติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อกุมภาพันธ์ คะแนนมันก็ไม่ได้ต่างจากนี้เท่าไหร่ ผลก็ประมาณนี้ ฝ่ายค้านบางคนก็มีการเอาคะแนนไปให้เขา”


“ภาพฝันเดียวกันในการเปลี่ยนแปลงสังคม…”
ไดโน่ ทะลุฟ้า

“ลักษณะกิจกรรมตอนนี้ที่เราทำ พยายามจะเอาผ้าให้ประชาชนช่วยกันเขียนถึงรัฐธรรมนูญที่ต้องการ พยายามทำให้ในทุกๆ ม็อบ เพื่อบ่งบอกว่า สภาไม่ใช่พื้นที่ที่เสียงของประชาชนไปถึงได้ เราเลยต้องออกมาสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นของเรา ทำให้มันมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะมือในสภามันใช้ไม่ได้แล้ว มันต้องเป็นมือของประชาชนที่ออกมาต่อต้าน ออกมาพูด นี่แหละเสียงประชาชนที่รัฐต้องฟัง” เสียงจาก นวพล ต้นงาม หรือ ไดโน่ ทะลุฟ้า ผู้จัดกิจกรรมทะลุฟ้า

ไดโน่ ยืนดูความเรียบร้อยของกิจกรรมที่กลุ่มจัด เมื่อสบโอกาส เราจึงเข้าไปขอพูดคุยกับเขา

“เพราะสถานการณ์ตอนนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่เราจัดกิจกรรมเป็นต้นมา พวกเราก็โดนคดีกันเยอะ ผมเองก็เป็นคนหนึ่ง โดนข้อกัดในการจัดกิจกรรม แต่อย่างไรก็จะพยายามจัดให้ได้” คำตอบของไดโน่ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมองข้ามบทบาทของสภากันแล้ว และพยายามอย่างที่สุดในการทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง มากกว่าจะอยู่นิ่งๆ เป็นพลเมืองเชิงรับ

“กิจกรรมของเราก็พยายามออกแบบรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เอารัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนเข้าสภาอย่างไร” เขาพยายามอธิบายถึงกิจกรรมเขียนป้ายผ้าที่รณรงค์ทำนอกสภา

นอกจากนี้ เรายังถามถึงการดำเนินกิจกรรมต่อไป ในวันที่ “ไผ่ ดาวดิน” นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งในผู้ทำกิจกรรมทะลุฟ้าคนสำคัญ ได้ถูกควบคุมตัว หลังพยายามเรียกร้องให้ปลดตัวผู้ต้องหาที่ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา

“เราเคยคุยกับพี่ไผ่เมื่อนานมากแล้วว่า เราไม่ได้ยึดถือในตัวบุคคล เรายึดถือต่ออุดมการณ์ แล้วก็ภาพฝันภาพเดียวกันในการเปลี่ยนแปลงสังคม เราเลยไม่กังวลในการที่จะต่อสู้ต่อไป” ไดโน่ ตอบอย่างหนักแน่น


“เราก็ต้องหาที่ขาย…”
CIA ขายปลาหมึกไข่

“ผมได้รับผลกระทบจากโควิด ก็เลยมา”

อีกหนึ่งกลุ่มคนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการชุมนุม ก็คือพ่อค้าแม่ขาย หรือที่ได้รับฉายาว่า “CIA”

“รถขายปลาหมึกนี้ของเพื่อน เขาขายที่สำเพ็งแล้วสำเพ็งปิดก็เลยมา ส่วนตัวผมตกงาน เมื่อก่อนเป็นเซลล์พอเพื่อนชวนมาขาย ผมก็มาช่วยกัน ปกติก็ขายข้าวที่บ้าน ผมก็ได้รับผลกระทบตั้งแต่รอบแรกแล้วครับ ร้านปิดก็ตกงานเลย เราก็มีมาประท้วง แล้วก็มาช่วยเพื่อนขายปลาหมึก”

ขณะที่เจ้าของร้านบอกว่า “ลำบากมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ เพราะมันปิด มันล็อคดาวน์ มันหลายๆ อย่าง ปกติผมขายสำเพ็งตอนกลางคืน คนที่สำเพ็งก็ลำบากกันหมด เราก็จะต้องมาหาที่ขาย เพราะมันล็อคดาวน์ มันปิดตลาด ปิดทุกอย่าง มันไม่เหลืออะไรให้เราทำเลย”

“ผมก็ติดตามว่ามีม็อบที่ไหนจากตามเพจ ในเฟซบุ๊ก รู้ก็มาครับ…”

เป็นอีกหนึ่งความเห็นของของรถเคลื่อนที่ขายอาหาร ที่เหล่าผู้ชุมนุมต่างเรียกกันว่า CIA เพราะเคลื่อนที่ไวและรู้ตำแหน่งอย่างแม่นยำ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า