สานต่ออุดมการณ์ – ภารกิจ “พรรคอนาคตใหม่” รณรงค์ความคิด – ผลักดันวาระ งานระยะยาวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศ

21 เมษายน 2563

21 กุมภาพันธ์ 2563 กลายเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยคน 7 คนที่ใส่ชุดครุยแล้วขึ้นไปนั่งอยู่บนบัลลังก์ กระทำในนามของศาลรัฐธรรมนูญ

น่าสนใจว่า 4 ใน 7 คน นั้นหมดวาระไปแล้ว แต่ได้รับการต่ออายุโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอีก 2 คนก็ได้รับการคัดเลือกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งโดยหัวหน้า คสช. นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต่อมาได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองหนึ่งให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และได้รับเสียงโหวตในการประชุมรัฐสภามากที่สุด โดยการสนับสนุนหลักอย่างพร้อมเพียงเสียงไม่แตกของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่ คสช. ตั้งขึ้นมา

อ่านแล้วเหมือนจะงง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือความเชื่อมโยงที่ไม่ได้เกิดขึ้้้นโดยบังเอิญอย่างแน่นอน !

แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและผูกพันทุกองค์กร แต่ปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมที่เกิดขึ้นตามมา เป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีว่า คำวินิจฉัยนั้นมีพลังพอที่จะผูกพันในใจคนหรือไม่ มีเสียงจะท้อนไม่เห็นด้วยของประชาชนทั่วประเทศ เกิดการออกมาชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษาหลากหลายสถาบัน ซึ่งแม้จะไม่อาจพูดได้ว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นต้นเหตุ แต่ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้อง

ยิ่งผนวกกับการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล”  ที่แม้ในเวลาต่อมาจะไม่ได้ทำให้ใครต้องพ้นตำแหน่ง แต่กระนั้น บทบาทของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่เพิ่งถูกยุบไปใหม่ๆ หมาดๆ ในห้วงยามสำคัญนั้น พวกเจาผลึกกำลังทำออกมาได้อย่างดี ทั้งการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และการอภิปรายนอกสภาผู้แทนราษฎร

ยิ่งตอกย้ำความเสียดาย เมื่อชัดเจนว่าวันข้างหน้าจะไม่มีพรรคอนาคตใหม่ในระบบรัฐสภา

ฟื้นกลับมาได้ดังนกฟินิกซ์ ! ในนาม “คณะก้าวหน้า”
สานต่ออุดมการณ์ – ภารกิจ “พรรคอนาคตใหม่”

นอกจากยุบพรรคอนาคตใหม่ อีกหนึ่งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำเอาหลายคนตกใจ และใจหายไม่น้อย นั่นคือ การตัดสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาถึง 10 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิช, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ, พล.ท.พงศกร รอดชมภู, ชำนาญ จันทร์เรือง และคนอื่นๆ ยังยืนหยัดที่จะเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศนี้ต่อไป

ดังที่พวกเขาได้เคยประกาศไว้ “พรรคอนาคตใหม่คือผู้คนและการเดินทาง” นั่นคือ แม้ไม่มีพรรคแล้ว แต่ผู้คน อุดมการณ์และภารกิจยังคงอยู่ กรรมการบริหารพรรคอาจจะถูกห้ามลงสนามการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามพวกเขารณรงค์ผลักดันประเด็นที่ก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาประเทศ

จึงเป็นที่มาในการเกิดขึ้นของ “คณะก้าวหน้า” หรือชื่อภาษาอังกฤษ Progressive Movement”

“…เมื่อถูกยุบพรรคแล้ว การฟื้นตัวกลับมาคงเป็นไปไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ นี่เป็นอีกครั้งที่พวกเราชาวอนาคตใหม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เราจะพิสูจน์ให้ได้ว่า แม้เราจะถูกทำลาย แต่พวกเราจะฟื้นคืนชีพกลับมาได้ดังนกฟินิกซ์ ในชื่อของคณะก้าวหน้า…” เป็นคำประกาศอย่างหนักแน่นในวันเปิดตัวคณะ

21 มีนาคม 2563 หรือ 1 เดือนหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้มีการแถลงเปิดตัว  “คณะก้าวหน้า” เพื่อตอบสนองเป้าหมาย ได้แก่ 1. ทำให้ความต้องการของ “ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องการยุบพรรค” ไม่สำเร็จ และ 2. สร้างองค์กรรณรงค์ขับเคลื่อนความคิดที่ก้าวหน้าในสังคมไทย

ตลอดห้วงระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา “ผู้กำกับภาพยนต์เรื่องการยุบพรรค” มีวัตถุประสงค์ 3 ประการในการจัดทำกำกับเรื่องนี้ นั่นคือ 1. เพื่อดูดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคนั้นให้ไปอยู่อีกข้างหนึ่ง  2. เพื่อต้องการกำจัดบทบาทของแกนนำ และ 3. เพื่อทำลายอุดมการณ์ของพรรคนั้นลงไป

ดังนั้น เพื่อไม่ให้การยุบพรรคสำเร็จ จึงมีการก่อตั้ง “คณะก้าวหน้า” ขึ้นมา และแกนนำที่ถูกตัดสิทธิจะเดินทางไปรณรงค์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป ความคิดแบบ “พรรคอนาคตใหม่” จะถูกถ่ายโอนและไหลเวียนเข้าไปอยู่ในทุกอณูของคณะก้าวหน้า และนี่จะเป็นองค์กรที่ใช้รณรงค์ขับเคลื่อนทางความคิด มุ่งมั่นปักธงความคิดก้าวหน้าให้กับสังคมไทย เดินหน้าสร้างพลเมืองก้าวหน้าให้กับประเทศไทย

โดยมีภารกิจหลักสามข้อ ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่ายทั่วประเทศไทย 2.รณรงค์ทางความคิดทั่วประเทศไทย และ 3.รณรงค์หาเสียงให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับทั่วประเทศไทย

นี่คือสิ่งที่จะทุกคนพร้อมทุ่มเทแรงกายและมันสมองเดินหน้า… เราไปต่อ…

สารพัดการขับเคลื่อน – 12 นโยบายก้าวหน้ายังผลักดัน
ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ – ตำแหน่งใหญ่ก็ลุยต่อไปได้

รูปแบบคณะทำงาน ถึงวันนี้เริ่มชัดเจนแล้วว่าจะมี “คณะกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า” ชุดหนึ่ง พร้อมองค์กรทำงานขับเคลื่อนแยกไปตามภารกิจต่าง ๆ อาทิ ได้แก่

1. เครือข่ายพื้นที่

ทั้งในกลุ่มภูมิภาคต่างๆ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงาน ซึ่งจะเดินหน้าทำต่อไปเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคม และจะมีการเปิดงานเครือข่ายในด้านใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายนักธุรกิจ เครือข่ายข้าราชการ รวมถึงเครือข่ายนักเรียนนักศึกษา ที่จะเดินทางไปพบเจอเพื่อทำงานทางความคิดต่อไป

2. โรงเรียนของผู้ไม่ยอมจำนน 

เพื่อการเอาชนะทางความคิด มีหลักสูตรสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา บุคคลทั่วไป ฝึกอบรมให้กับผู้นำแบบใหม่ผู้นำก้าวหน้า เพื่อการรณรงค์อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดให้มีค่ายสำหรับเยาวชน

3. งานทางวัฒนธรรม

ในครั้งที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ มีการจัดงานศิลปะ วัฒนธรรมและดนตรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะก้าวหน้าจะรับมาดำเนินการต่อ โดยจะมีการจัดงานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น สัปดาห์หนังสือการเมืองและการเสวนา รางวัลวรรณกรรมที่มีเนื้อหาสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความคิดก้าวหน้า การฉายภาพยนตร์และเสวนา และนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานของศิลปิน

4. ฟอรั่มทางนโยบาย

เพื่อเปิดให้มีการเสวนาทางสาธารณะและวิชาการ ออกแบบนโยบายก้าวหน้า ทำให้เชื่อมต่อกับเครือข่ายไปยังภาคประชาสังคมและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ

5. ช่องทางการสื่อสารออนไลน์

จะเดินหน้าระบบการสื่อสารต่อไปและเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น สารคดี ตลาดวิชา รายการประจำสัปดาห์

ทั้งหมดเหล่านี้ ก็เพื่อที่จะรณรงค์ 12 ประเด็นสำคัญที่เคยเป็นนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ อาทิ รัฐสวัสดิการ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิวัติการศึกษา ยุติระบบราชการรวมศูนย์  ทลายทุนผูกขาด เกษตรก้าวหน้า สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจก้าวหน้าและเป็นธรรม รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในฐานะที่เป็นฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน

เป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญ เป็นโอกาสที่จะรณรงค์และปักธงความคิดแบบใหม่ จุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง และแน่นอนว่า การเคลื่อนไหวต่างๆ นั้นย่อมสะดวกกว่า ไม่มีข้อจำกัดมากเท่ากับเมื่อครั้งยังเป็นพรรคการเมือง 

เพราะแม้แกนนำจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ก็มีผลแค่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ห้ามไปครอบงำ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิในความเป็นพลเมืองไทย เสรีภาพการแสดงออก การเสนอความคิดเห็น และการรณรงค์ทางการเมือง ยังสามารถทำได้

ซึ่งย้อนกลับไปสู่ความคิดเริ่มต้นของการตั้งพรรคอนาคตใหม่

เป้าหมายไม่ใช่เพื่อการเป็น ส.ส. ไม่ใช่เพื่อการเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้ต้องการมีตำแหน่ง ไม่ได้ต้องการมียศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โต แต่เพื่อความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยดีขึ้น การรณรงค์ทางความคิดกับสังคม เป็นเรื่องของการทำงานในระยะยาว

วันนี้พรรคการเมืองที่ชื่อ “อนาคตใหม่” ถูกยุบไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ “คณะก้าวหน้า”

และจะทำงานอย่างหนักกันต่อไป จนกว่าสังคมที่คนเท่ากันและประเทศไทยที่เท่าทันโลก อันเป็นวิสัยทัศน์ที่อยากเห็นนั้นเกิดขึ้นจริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า