เมื่อปลดล็อกรวมศูนย์ = การระเบิดพลังทางเศรษฐกิจ

28 มีนาคม 2565


ก่อนที่คณะก้าวหน้าจะเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” และเปิดให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อในวันที่ 1 เมษายนนี้ จึงชวน เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ในฐานะศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต มาพูดคุยถึงมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การกระจายอำนาจ” ว่ามีความสำคัญอย่างไร และ การกระจายอำนาจที่ว่านี้ จะนำไปสู่การระเบิดพลังทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นชุมชนอย่างไรบ้าง?


ถาม: นโยบายกระจายอำนาจคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และมีมิติอะไรบ้าง?

ตอบถ้ามองแบบมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ เราจะบอกว่า การกระจายอำนาจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การกระจายหน่วยการตัดสินใจ” และ “การกระจายหน่วยความรับผิดชอบ” เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสาธารณะที่เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ถ้าบางเรื่องถ้าเราให้ส่วนกลางเป็นผู้ตัดสินใจ ความแม่นยำ ความถูกต้องเหมาะสมกับพื้นที่มันก็อาจจะไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจน ในขณะเดียวกัน ความรับผิดชอบที่มีต่อคนในพื้นที่นั้นโดยตรงก็ไม่มีความชัดเจนเช่นกัน ดังนั้นการกระจายอำนาจมันจึงเป็นการกระจายให้พื้นที่แต่ละพื้นที่ มีการตัดสินใจที่เหมาะสมกับพื้นที่ตนเองให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่นั้นโดยตรง ถ้าทำแล้วประสบความสำเร็จก็นำประโยชน์มาสู่พื้นที่นั้น แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ คนที่ตัดสินใจก็จะได้รับผลโดยตรงในทางการเมือง เช่น เขา (ประชาชน) ก็อาจไม่เลือกเข้ามาเป็นผู้แทนส่วนท้องถิ่นในครั้งหน้า

“ส่วนหนึ่งก็คือ เราให้อำนาจในการตัดสินใจไปอยู่ใกล้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น เลือกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และสะท้อนความรับผิดชอบโดยตรงกลับไปอยู่กับประชาชนมากยิ่งขึ้น”

ดังนั้น ถ้าเราทำให้พื้นที่สามารถตัดสินใจได้เอง ปรับให้มันยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม รับผิดชอบโดยตรงมากขึ้น มันก็เป็นประสิทธิภาพในการตัดสินใจของสาธารณะที่จะเพิ่มมากขึ้นตามมา


ถาม: ฉะนั้นแล้ว เมื่อการกระจายอำนาจเองก็ไม่ได้มีในแง่ของมิติทางการเมืองอย่างเดียว มันมีอำนาจในมิติอื่นอีกหรือเปล่า?

ตอบ: จริงๆ คำว่า “อำนาจ” มีหลายแง่ เราอาจพูดได้ว่า อำนาจมีทั้ง อำนาจแบบที่ “Power to do something” หรืออำนาจที่เราจะสามารถไปทำอะไร หรือ อำนาจแบบ “Power against someone” หรืออำนาจในการที่จะไปควบคุมใครบางคนเพื่อไม่ให้ไปกระทำผิดกฎหมาย อำนาจมันมีหลายรูปแบบ ซึ่งเวลาจะควบคุมมัน ก็จะเป็นอำนาจที่เรียกว่า “อำนาจทางการเมือง” ขณะเดียวกันก็จะมีอำนาจในทางยุติธรรมต่างๆ เข้ามาประกอบในการควบคุมนั้นด้วย แต่ถ้า “Power to do something” จะไม่ได้แค่เฉพาะในมิติการเมือง แต่ยังมีมิติในทางสังคมว่า พื้นที่นั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร แล้วเราก็จะพบว่า สังคมไทยที่ผ่านมาในภาพรวม โจทย์ในทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการหาเงินทองก็อาจเป็นความสำคัญในลำดับแรก แต่ว่าในบางพื้นที่ก็อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความเปราะบางของระบบนิเวศ และในบางพื้นที่ก็อาจจะเป็นโจทย์ในเรื่องของความยากจน เพราะฉะนั้นมิติสังคมเหล่านี้ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องทางการเมืองว่า “จะตัดสินใจอย่างไร เมื่อการเมืองเป็นเรื่องของการตัดสินใจ” ซึ่งมันต้องมีข้อมูล องค์ความรู้ ภูมิปัญญาเข้ามาประกอบการตัดสินใจร่วม

เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดเรื่อง การกระจายอำนาจ มันไม่ได้หมายความว่า แค่แก้กฎหมาย หรืออำนาจในการควบคุมก็เพียงพอแล้ว เพราะจริงๆ มันคือเรื่องของการจัดการงบประมาณ และความรู้ความสามารถที่เพียงพอจะไป do something สามารถที่จะมีคำแนะนำให้ประชาชนได้ รวมถึงสามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประเด็นความคิดในพื้นที่ หรือภายนอกพื้นที่ เพื่อให้ได้สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละพื้นที่ การกระจายอำนาจจึงเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการในหลายทางด้วยกัน

แต่จุดที่น่าจะเป็นคอขวดที่สุดคือ “อำนาจ” เพราะสิ่งที่เราพบก็คือ อำนาจบางอย่างมันไปกระจุกตัวอยู่ที่งบประมาณส่วนกลาง และเราพบว่า งบประมาณในบางท้องถิ่นนั้นน้อยมากและไม่เพียงพอที่จะไปดำเนินการในพื้นที่ ส่วนเจ้าหน้าที่ ในแง่ของผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐที่ต้องเข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำท้องถิ่น แต่จนถึงตอนนี้หลายเรื่องก็ยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนคือ การมีเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัด ที่ข้าราชการส่วนกลางจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเป็นข้าราชการประจำสำนักงานส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด โดยที่ยังไม่ได้ลงไปยังหน่วยระดับท้องถิ่นชุมชน ดังนั้นการพัฒนาการเกษตรจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องถูกกระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปสู่ท้องถิ่นเช่นกัน


ถาม: ในความคิดเห็นของอาจารย์เดชรัต ทำไมนโยบายกระจายอำนาจ จึงมองว่ามันเป็นนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด?

ตอบ: ถ้าพูดจากภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของไทยอาจเคลื่อนที่ด้วยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และอาจมีเศรษฐกิจในบางส่วนเป็นตัวนำ มีบางพื้นที่เป็นพื้นที่เติบโตสูง ก่อนจะค่อยๆ กระจายการเติบโตไปยังพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเริ่มจากกรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเบา แล้วกระจายไปยังชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) ซึ่งพื้นที่อย่าง “มาบตาพุด” ก็ถูกพัฒนาให้มาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมหนัก ก่อนก็จะค่อยๆ เวียนไปพัฒนาในพื้นที่อื่น

ซึ่งที่ผ่านมา เราพบว่า การกระจายการเช่นนี้ดูแล้วจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ และเกิดเป็นคำถามว่า อะไรคือประเทศไทย 4.0? หมายความว่า เมื่อประเทศไทย 3.0 มันมาถึงทางตันแล้ว ประเทศไทย 4.0 ที่จะนำพาไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจมันคืออะไร?

ขณะเดียวกัน ถ้าเราไปดูเศรษฐกิจของประเทศที่คล้ายกับเราในอดีต แต่เขาไม่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และเขาสามารถทะลุทะลวงไปเป็นประเทศรายได้สูง  เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เราก็อาจจะพูดได้ว่าเขาสร้างการเติบโตอย่าง “เต็มทุกพื้นที่” ประเทศเขาสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มทุกพื้นที่ มันก็เลยทำให้ประเทศเขากลายเป็นประเทศรายได้สูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็น้อยลง

“เราเลยคิดว่า นโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา มันเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ โดยเราต่างหวังว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่มันจะส่งผลขยายออกไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งวันนี้มันปรากฏชัดเจนแล้วว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น และซ้ำร้ายพื้นที่เดิมที่มันเคยเป็นศูนย์กลางในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมันก็ไม่เติบโตอย่างรวดเร็วอีกแล้ว”

ทั้งหมดจึงวกกลับมาสู่แนวทางใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ “การเติบโตเต็มพื้นที่” หมายถึง ทุกพื้นที่ทั่วประเทศจะต้องสามารถทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เพราะที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 6-7 ปี บางพื้นที่ก็ไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเลย ตัวอย่างเช่น พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจตกต่ำลงเสียด้วยซ้ำ ซึ่งแปลว่า ถ้าเราใช้โจทย์จากส่วนกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจ มันก็คงทำไม่ได้กับพื้นที่นี้ แต่ในทางกลับกัน คำที่มักจะมาคู่กันกับ “ท้องถิ่น” คือ “บริการสาธารณะ” มันเหมือนกับว่า ท้องถิ่นทำงานได้แค่มิติบริการสาธารณะเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ท้องถิ่นควรจะทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ แต่จริงๆ แล้ว เรากลับมีเครื่องจักรใหญ่ๆ อยู่เพียง 2-3 เครื่องทั่วประเทศเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ควรจะเป็นคือ เราควรจะมีเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่อยู่เต็มทุกพื้นที่

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ประเทศ ที่มันอาจจะได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับมุมมองที่ว่า ถ้าจะพัฒนาเศรษฐกิจมันต้องมีการสร้างถนนใหญ่ๆ เข้ามา มีทางด่วน มีโรงงาน แต่เราไม่ได้คาดหวังว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องเป็นลักษณะเช่นนั้นเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ แต่เราหวังเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเห็นว่า ทรัพยากรอะไรในท้องถิ่นที่พอจะเติบโตทางเศรษฐกิจได้ หรือ อาจเรียกว่า Growth at the Bottom ถ้าพูดกันแบบเบสิกที่สุด สิ่งที่จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ จะต้องเริ่มต้นมาจากความต้องการ หมายความว่า ถ้าเรามีความต้องการในสิ่งนี้ แล้วมันสามารถมีกลไกในการผลิต/จัดหาความต้องการเหล่านี้มาตอบสนองความต้องการของชุมชนได้

สิ่งนี้เลยเป็นที่มาเบื้องต้นว่า ถ้าเราเอาโจทย์นี้มาคลี่กันในระดับท้องถิ่นจะดีกว่าหรือไม่? หรือถ้าพูดในทางเศรษฐศาสตร์ว่า สร้างตลาดในระดับท้องถิ่นได้ไหม? แทนที่จะรอนักลงทุนจากต่างประเทศมาผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่การลงทุนจากภายนอกอาจจ้างงานคนของเรานิดเดียว ซึ่งบางทีก็อาจจะไม่ใช่คนของเราเอง แต่เป็นคนจากพื้นที่อื่นย้ายมาทำงานในพื้นที่ของเราด้วยซ้ำ ซึ่งเรามองว่า ถ้าเป็นแบบนั้น เราคงต้องพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบที่ต่างออกไป และต้องมีเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเต็มทุกพื้นที่ โดยคนในพื้นที่ให้มากที่สุด


ถาม: แล้วอาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับวาทกรรมที่ว่า การกระจายอำนาจ เท่ากับ การกระจายการทุจริตคอรัปชั่น และความคิดแบบนี้มันเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจอย่างไรบ้าง?

ตอบ: อันนี้ก็คงต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า การจัดการสาธารณะไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น ก็อาจจะเกิดปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ กระแสจากผู้ที่คุมอำนาจส่วนกลางที่พยายามใช้โอกาสในการไปกำกับดูแลท้องถิ่น และพยายามเผยให้ผู้คนเห็นว่า มีการทุจริตคอรัปชั่นในระดับท้องถิ่น เพื่อเอาเรื่องเหล่านี้มาปั่นกระแสให้ผู้คนต่างรู้สึกว่า ไม่สามารถไว้วางใจท้องถิ่นได้

แต่ถ้าเราทำการสำรวจจริงๆ เราอาจพบว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะไว้วางใจท้องถิ่นมากกว่ารัฐบาลส่วนกลางก็ได้ แต่ว่ายังไม่มีใครเข้าไปทำผลสำรวจนี้ มันเลยเป็นเรื่องของการสร้างพลังทางความคิดหรือวาทกรรม ว่าใครจะมีพลังอำนาจในการแพร่กระจายแนวคิดออกไปสู่สังคมได้มากกว่ากัน และจะถูกใครเป็นผู้ขยายความต่อ มันจึงดูเหมือนว่า ตอนนี้ราชการส่วนกลางกำลังกุมกระแสในการกระจายความคิดว่า การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมันไม่ต่างอะไรกับการกระจายการคอรัปชั่น ซึ่งการทำแบบนี้ส่วนหนึ่งทำให้ส่วนกลางไม่หันมามองที่ตัวเองว่า ส่วนกลางเองก็มีการคอรัปชั่นไม่น้อย และมีส่วนที่ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นแล้ว ผมจึงอยากย้อนกลับไปตอบคำถามต้นเรื่องว่า “ทำไมเราถึงต้องกระจายอำนาจ?” ก็เป็นเพราะว่า เราเชื่อในพลังของความรับผิดชอบ คำถามต่อมาคือ “แล้วเรามั่นใจได้หรือไม่ว่าส่วนกลางมีความรับผิดชอบเพียงพอ?” สมมติว่า เราพบการไม่แสดงความรับผิดชอบที่เพียงพอของส่วนกลาง เราจะหาทางแก้อย่างไร เราก็พบว่า หลายเรื่องมันแก้ยากมาก แต่ถ้าอำนาจกลับไปอยู่ที่ส่วนกลาง ในทางตรงกันข้าม ถ้าอำนาจในการตัดสินใจมันมาอยู่ที่ส่วนท้องถิ่น เราก็สามารถพูดกันได้ง่ายมาก

ถ้าเรานึกไม่ออก ก็อยากชวนให้นึกถึงเรื่อง “การเกณฑ์ทหาร” ที่ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการ ในเรื่องจำนวนคนเกณฑ์ทหารหนึ่งแสนคนต่อปี สมมติว่าเราเอาหมื่นท้องถิ่นไปหารจำนวนคนเกณฑ์ทหาร ก็เท่ากับว่าแต่ละท้องถิ่นจะต้องส่งคนเข้าเกณฑ์ทหาร 10 กว่าคน แต่เราไม่พูดถึงว่าเป็นการเกณฑ์ทหาร แต่กลับพูดว่าเป็นเรื่องการไปทำงานสาธารณะ คำถามคือ “แล้วคุณคิดว่าการทำงานของคน 10 คนนี้ ตลอด 2 ปี โดยท้องถิ่นมันจะมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์คนในท้องถิ่นมากขึ้นหรือไม่?”  “คุณจะสามารถรู้ได้ใช่หรือไม่ว่า 10 คนนี้ จะเข้าไปทำงานอะไรบ้างในท้องถิ่น?”  “คุณจะสามารถบอกได้ใช่หรือไม่ว่าจะต้องไปทำตรงไหนแล้วจะเกิดประโยชน์สูงที่สุดต่อท้องถิ่น?”

เพราะฉะนั้น มันจึงมีการตัดสินใจบางอย่างที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าเรากระจายความรับผิดชอบไปอยู่ใกล้กับคนที่ได้รับผลประโยชน์มากเท่าไร การบริหารจัดการจะเป็นสิ่งที่ทำได้มากยิ่งขึ้น แต่ว่าปัญหาคือ คนไทยส่วนหนึ่งไม่ค่อยสบายใจกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ หมายความว่า “ถ้าจะให้ท้องถิ่นเวิร์ค คือเราต้องไปจับตาใช่ไหม ท้องถิ่นมันถึงจะเวิร์ค?” แต่คนไทยส่วนหนึ่งกลับไม่ค่อยสบายใจกับเรื่องนี้ กล่าวคือ ไม่อยากไปจับตาและมีส่วนร่วมในการทำงานในท้องถิ่น ถ้าอย่างนั้น คนกลุ่มนี้เลยคิดว่าก็ให้ส่วนกลางทำแล้วกัน จะได้ยกให้ปัญหานี้มันไกลตัวเองออกไป แต่ผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น โดยเฉพาะคนไทยในยุคที่มีโซเชียลมีเดีย ยุคที่มันมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่า “ถ้าความรับผิดชอบมันอยู่ในมือเรา ถ้ามันอยู่ในขอบเขตที่เราจะดูแลเองได้แล้ว เราน่าจะทำได้ดีกว่า”


ถาม: ถ้าเราปลดล็อกการรวมศูนย์อำนาจได้แล้ว มันจะไปข่วยส่งเสริมหรือระเบิดพลังทางเศรษฐกิจอย่างไรได้บ้าง?

ตอบ: อันนี้ถ้าตอบมันจะยาวมากเลยนะ แต่ถ้าจะตอบแบบเป็นหลักการ ก็อาจจะตอบได้ใน 4 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง มันจะสามารถเปลี่ยน pain point ที่แต่ละท้องถิ่นเจออยู่ ให้เปลี่ยนมาเป็นศักยภาพในการจัดหางานได้ อย่างเช่น ถ้าท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการงบประมาณแล้ว มีอำนาจในการตัดสินใจมากยิ่งขึ้นแล้ว pain point อย่างเช่น เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ให้มีการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวได้ ภายใต้กรอบงบที่รัฐบาลกลางให้การสนับสนุนระบบบริหารดูแล ให้มันเกิดการดูแลและการจ้างงานที่เป็นรูปธรรมและมีคุณภาพ อย่างเช่นที่ผมไปเจอที่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ที่นั่นสามารถทำให้เกิดการจ้างงานคนประมาณ 16 คน เป็นทีมผู้ดูแลที่เรียกว่า “care giving team” รับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการรวมกันกว่า 80 คนได้ อันนี้แปลว่า คน 16 คน มีงานทำแล้วจากระบบแบบนี้ ถ้าทั้งประเทศก็คูณเข้าไปก็คือเป็นแสนคนแล้วที่จะเข้ามาดูแลผู้สูงอายุจากระบบนี้ อันนี้คือตัวอย่างที่จะสามารถอธิบายได้ว่า นี่คือการระเบิดพลังเศรษฐกิจ หมายถึง เราเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วหาทางออก โดยใช้งบประมาณและอำนาจบริหารจัดการที่เพิ่มมากขึ้น จนเกิดเป็น solution ที่สามารถจะเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ คน 16 คนที่บางคนที มีงานทำ มีรายได้ นี่คือตัวอย่างแรก

สอง เราอาจจะมองโอกาสที่เราจะปลดล็อกปัญหาบางอย่าง เช่น หนี้สินเกษตร ซึ่งวิธีที่จะปลดล็อกปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกรได้คือ การทำให้เขามีรายได้มั่นคงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมันอาจจะเกี่ยวกับรัฐบาลกลางว่า เขาจะมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าหรือไม่? แต่บางส่วนมันก็เกี่ยวกับส่วนท้องถิ่นที่จะทำให้เกิดการจ้างงานได้ เช่นในพื้นที่ที่มาทำงานเกี่ยวกับระบบบริการสาธารณะ หรือในอีกทางคือ การแบ่งพื้นที่ของพี่น้องที่อาจจะมีที่ดินและเป็นหนี้ด้วย มาบริหารจัดการให้เกิดผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น สิ่งนี้ท้องถิ่นก็จะช่วยให้เขาแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินได้

เรื่องแหล่งน้ำก็เหมือนกัน ถ้าอบต.มีงบประมาณมากขึ้น ก็สามารถจะไปดูได้ว่าจะจัดการเรื่องแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งพื้นที่ส่วนรวมและพื้นที่ส่วนของเกษตรกรแต่ละรายได้ โดยอาจเริ่มจากพื้นที่ของเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินและยากจนมาก แล้วเรานำเรื่องการแก้ปัญหาแหล่งน้ำเข้าไป ถ้ามันสามารถแก้ปัญหาได้ มันก็เป็นการปลดล็อกปัญหาเดิมๆ ได้ รวมถึงปัญหาที่ดิน ถ้าสามารถมีการกระจายการถือครองที่ดินได้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่ดินได้ เอาง่ายๆ แค่การปลูกผักสวนครัว แต่ละเดือนคนที่จนที่สุดของประเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อผัก/ผลไม้กินประมาณ 15% ของรายได้ ถ้าหากเราสามารถจัดแบ่งพื้นที่ อย่างที่ผมไปเจอที่เทศบาลเมืองสระแก้ว ที่นั่นมีการแบ่งพื้นที่คนละ 50 ตารางวา เราก็พบว่า หลังมีการจัดแบ่งพื้นที่ไปแล้ว รายได้สุทธิของคนในพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาท/ราย นี่คือตัวอย่างที่สอง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราให้ที่ดินเลย แต่เราให้ประชาชนเช่าฟรี โดยเทศบาลเป็นคนเอาที่ดินมาจัดสรรให้ และเรายังมีเรื่องของคนที่เสียภาษีที่ดิน ถ้าเขาไม่อยากเสียภาษีที่ดิน เทศบาลก็ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ให้เขาส่งที่ดินมา เดี๋ยวเทศบาลไปหาคนเช่าให้ แล้วก็อาจจะได้ค่าเช่าเป็นผัก/ผลไม้กลับไปนิดหน่อย ผมว่าสังคมแบบนี้ก็ดูมีความสุข เศรษฐกิจก็ไปได้

สาม คือ เราต้องมาดูว่า พลังทางเศรษฐกิจของเราที่จะเติบโตไปข้างหน้าได้มันมีอะไรบ้าง? แล้วเราควรจะส่งเสริมประเด็นไหนอย่างไร? ตรงนี้ผมคิดว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าไปสนับสนุนประชาชนหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ได้แต่สิ่งที่ว่ามานี้ ในอนาคตอาจไม่ได้เป็นตัวส่งเสริมทั้งภาคส่วนอีกต่อไป สมมติว่าเราพูดว่าภาคส่วนของอาหารมีผลลัพธ์ที่ดี มันไม่ได้หมายความว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับผลเชิงบวกด้วย เนื่องจากมันอยู่ที่ฝีมือและปัจจัยหลายอย่าง เพราะฉะนั้นต่อไปเวลาเราไปส่งเสริมผู้ประกอบการ มันจำเป็นจะต้องลงรายละเอียดในแง่ของข้อมูล แต่ผมมองว่าท้องถิ่นน่าจะทำได้ ในแง่ของการส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ให้สามารถเติบโตได้

สุดท้าย พลังทางเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบัน มันขึ้นอยู่กับเรื่องของ “เสน่ห์ของเมือง” คือเมืองที่มีเสน่ห์จะมีความสามารถดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยว มากิน มาเดิน มาทำกิจกรรมได้ แต่มันไม่ได้เป็นคอนเซ็ปท์แบบการท่องเที่ยวแบบเดิมที่จะต้องมีหาดสวยๆ เสมอไป ในบางพื้นที่มันก็ไม่ได้มีอะไรมากนัก แต่เป็นความน่ารัก และมีกิจกรรมอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้คนอยากไป ซึ่งก็รวมคนในพื้นที่ด้วย ฉะนั้นการสร้างเสน่ห์ของเมืองมันจึงเป็นสิ่งที่ท้องถิ่นทำได้ดีกว่าส่วนกลางอยู่แล้ว

สรุปก็คือ ถ้าเราเอา 4 ประเด็น มาผนึกสนธิกำลังกันคือ 1) เปลี่ยนปัญหาให้มาเป็นความต้องการตลาดและเป็นการจ้างงาน 2) ปลดล็อกปัญหาบางอย่างที่ประชาชนในพื้นที่ประสบอยู่ โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจน 3) เติมพลังทางเศรษฐกิจผ่านผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ และ 4) สร้างเสน่ห์ของเมืองขึ้นมา ถ้าทำได้ทุกอย่างมันจะไปเสริมกันหมด คนที่ได้ปลดล็อกปัญหาเรื่องน้ำ/ที่ดิน พอเมืองมีเสน่ห์มากขึ้น ก็ขายของได้มากขึ้น อาจจะกลายเป็นผู้ประกอบการ ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการคนนี้จะสามารถขยายกิจการไปได้มากขึ้น ทุกอย่างก็จะเชื่อมโยงกัน

วันที่ 1 เมษายน 2565 นี้ จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญ ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการเข้าชื่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ที่จะนำเอาอำนาจกลับมาสู่มือของประชาชน ให้ประชาชนได้มีสิทธิในการลิขิตชีวิตของตัวเองทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า