88 ปี 2475: สถานที่ ผู้คน และความทรงจำ

21 มิถุนายน 2563

1.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่มีฉากหลังเป็นเงาทะมึนของเมฆฝน
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่มีฉากหลังเป็นเงาทะมึนของเมฆฝน

24 มิถุนายน 2482 7 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเป็นการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศขึ้น ณ บริเวณกลางวงเวียนของถนนราชดำเนินที่ตัดกับถนนดินสอ วันเดียวกันในปีถัดมา มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในคณะผู้ก่อการ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลายเป็นฉากหลังในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทางการเมืองในหลายครั้ง และกลายเป็นความทรงจำของผู้คนในหลายหน ปีนี้ ครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ประเทศไทยยังคงล้มลุกคลุกคลาน อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการและการครอบงำของอำนาจนิยมอยู่ทุกอณูของสังคม ความทรงจำของผู้คนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกขีดฆ่าออกจากหน้าหนังสือเรียน ถูกลบเลือนผ่านเรื่องเล่า ถูกทำให้จางหายไปราวกับว่าประวัติศาสตร์หน้านี้ช่างเป็นเรื่องชั่วร้ายที่ไม่ควรจดจำ 

สถานะที่ไม่แน่นอนของประชาธิปไตยไทย ง่อนแง่นพอๆ กับสถานภาพของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรามาลองสำรวจความทรงจำและสถานที่แห่งนี้อีกครั้งในวาระที่ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานมาครบ 88 ปี 

เมื่อเดินทางมาถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พ่อค้าแม่ขายละแวกนั้น ต่างเบือนหน้าหนี และเหนื่อยหน่ายที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ พวกเขาบอกปัดพร้อมกับน้ำเสียงที่รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหากต้องพูดประเด็นทางการเมืองให้คนไม่รู้จักและแปลกหน้ายิ่งอย่างพวกเราฟัง  “สัมภาษณ์ไปเยอะแล้ว ไม่สัมภาษณ์แล้ว” “คนนั้นคนนี้มาสัมภาษณ์ พอแล้ว” “ไม่ๆ” พ่อค้าคนหนึ่งกำลังขนลังน้ำดื่มขึ้นใส่รถเข็นของเขารีบปฏิเสธที่จะเล่าถึงสิ่งที่เขาจดจำได้เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ 

จนในที่สุดเราก็พบกับ คุณลุง วัยใกล้ 60 ที่ยอมพูดคุยกับเราด้วยท่าทีที่เป็นมิตร เขาเล่าความทรงจำที่เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในความทรงจำของเขาให้เราฟัง

 “ตายไปเยอะนะกว่าจะได้มาเนี่ย ประชาธิปไตยที่นักศึกษามาต่อสู้” 

แต่พอถอยร่นอดีตลงไปอีกด้วยคำถามว่า “รู้ไหมว่าที่นี่เกิดขึ้นมาได้ยังไง” ก็ดูเหมือนว่าความทรงจำส่วนนี้ของทั้งคุณลุง ก็คล้ายๆ กับพวกเรา และใครหลายๆ คน ถูกรัฐถอดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และลบเลือนเรื่องเหล่านั้นให้หายออกไปอย่างเป็นทางการ คุณลุงจำได้เพียงการต่อสู้ทางการเมืองยุคนักศึกษาที่มีอนุสาวรีย์เป็นฉากหลังเท่านั้น

“แต่ตอนนั้นผมก็ไม่ค่อยรู้อะไรมาก (ยุคการต่อสู้ของนักศึกษา) เพราะผมอยู่ต่างจังหวัด” 

คุณลุงก็เหมือนกับประชาชนทั่วไปที่เข้ามาแสวงหางานและโอกาสในเมืองใหญ่ น่าเศร้าเหลือเกินในวันที่ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานมาเกือบร้อยปีเต็ม ประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อยถูกวางอยู่นอกสมการทางการเมืองเสมอ วันนี้คุณลุงก็เหมือนกับอีกหลายคน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 และรอคอยวันที่จะกลับมามีชีวิตปกติอีกครั้ง 

อีกคำถามสุดท้ายที่เราถามถึงก็คือ “แล้วคุณลุง พอจะรู้จักคณะราษฎร หรือปรีดี พนมยงค์บ้างไหม” เราได้คำตอบมาทันที 

“รู้จักครับ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่โดนใส่ร้ายจนต้องหนีออกนอกประเทศ แต่มันไม่ใช่นะ คนดีมันอยู่ยาก ส่วนคณะราษฎร ไม่รู้จัก รู้จักแต่ทรราช” เขาเสริมก่อนจะหัวเราะเอิ๊กอ๊าก 

2.วัดพระศรีมหาธาตุ

ภาพถ่ายจากหน้าต่างรถไฟฟ้าจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ มุ่งหน้าสถานีกรมทหารราบ 11
ภาพถ่ายจากหน้าต่างรถไฟฟ้าจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ มุ่งหน้าสถานีกรมทหารราบ 11

อีกหนึ่งสถานที่ที่เกี่ยวพันกับคณะราษฎร ก็คือ วัดพระศรีมหาธาตุ (ชื่อเดิม วัดประชาธิปไตย) ที่เดิมทีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ริเริ่มคือ จอมพล ป. พิบลูสงคราม โดยเลือกพื้นที่ใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรือที่ชาวบ้านละแวกนั้นเรียกขานกันว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบางเขน ต่อมาวัดพระศรีมหาธาตุกลายเป็นสถานเก็บรักษาอัฐิของคณะผู้ก่อการ ในทุกๆ วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี ลูกหลานของพวกเขาก็จะมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เสมอ 

ปัจจุบันวัดพระศรีมหาธาตุในเงาตาของหลายคนอยู่กึ่งกลางระหว่างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวสองสถานี คือสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และสถานีกรมทหารราบ 11 เมื่อเราเดินทางถึงที่วัด แม่ชีกลุ่มใหญ่ของวัดนั่งดูแลส่วนสำหรับผู้เข้ามาสักการะทำบุญ ท่านแจ้งกับเราว่า “ถ้าต้องการดูประวัติ เดินไปดูข้างๆ ได้เลยนะ แต่ถ้าจะให้นั่งคุย ตอนนี้ยุ่งกันทุกคนเลย” 

เราปลีกตัวออกมาเพื่อไม่ให้เกะกะกับการทำงานของใคร เมื่อเดินไปรอบๆ เหลือบเห็นนักศึกษากลุ่มหนึ่งกำลังกวาดลานวัด เราจึงขออนุญาตพูดคุยกับพวกเขา

“พวกผมเรียนอยู่ม.สยามครับ เหลือไม่กี่ปีจะจบแล้วครับ” คนหนึ่งของกลุ่มแนะตัวให้เราฟัง
“วันนี้ มาทำความสะอาดวัดเก็บชั่วโมงกู้กยศ.” นักศึกษาอีกคนเสริม ก่อนที่เราจะค่อย ๆ ชวนพวกเขาคุย 

“รู้จักที่มาที่ไปของที่นี่ไหม?” 

“ไม่รู้เลยครับ แต่ถ้าบอกว่าเกี่ยวกับคณะราษฎรก็พอคุ้นๆ อยู่บ้าง” 

เราถามต่อว่าคุ้นในลักษณะไหน 

“เคยได้ยิน เป็นคณะที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นมา (อีกคนแทรกขึ้นมาก: เป็นคณะปฏิวัติ)” 

เราลองถามคำถามเด็กหนุ่มกลุ่มนี้อย่างไม่คาดหวังคำตอบ 

“ถ้างั้นเคยรู้ไหมว่าที่นี่มีอีกชื่อว่า วัดประชาธิปไตยนะ”  

“พอรู้ครับ ยายผมเคยบอก” 

คงจะเป็นเพราะเด็กหนุ่มคนนี้พักอาศัยอยู่ใกล้กับวัดที่สุดเลยพอจะทำให้รู้เรื่องราวคร่าวๆ ของวัดอยู่บ้าง แต่เขาคงเป็นคนไทยจำนวนน้อยนิดที่รู้ว่าครั้งหนึ่งประเทศนี้เคยให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยถึงขนาดนำไปตั้งเป็นชื่อพระอารามหลวง

บรรยากาศวัดพระศรีมหาธาตุเมื่อมองจากสถานีรถไฟฟ้า
บรรยากาศวัดพระศรีมหาธาตุเมื่อมองจากสถานีรถไฟฟ้า 

3. อนุสาวรีย์ปราบกบฎ

ไม่ไกลจากบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุอันเป็นความตั้งใจเดิมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือการสร้างวัดในฐานะสัญลักษณ์ของศาสนาไว้ใกล้เคียงกับสัญลักษณ์ของชาติ นั่นคืออนุสาวรีย์ปราบกบฎ เราไม่อาจเห็นภาพ หรือความฝันของจอมพล ป. เมื่อเกือบ 100 ปี ก่อนได้อีก ความทรงจำและประวัติศาสตร์ถูกลบหายไปผ่านการสร้างรถไฟฟ้าตัดผ่านวงเวียนอันเคยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ที่ว่า 

เราเดินออกจากวัดมุ่งหน้าทิศเหนือ ภาพที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นต่อหน้าคือโครงสร้างวิศวกรรมล้ำสมัยของยุคปัจจุบัน และแน่นอนมันล้ำสมัยยิ่งกว่าอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อประกาศชัยชนะของคณะราษฎรต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือที่รู้จักกันในนาม ‘กบฎบวรเดช’ 1 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการปะทะกันที่ทุ่งบางเขนแห่งนี้ เกือบ 100 ปีถัดมา เรื่องทั้งหมดถูกขยำทิ้งลงถังขยะ เริ่มจากการย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฎไปไว้ข้างทาง ก่อนที่ตัวอนุสาวรีย์จะถูก “อุ้มหาย” ไปอย่างไร้ร่องรอย 

เรายืนอยู่เหนือบริเวณวงเวียนบางเขน ที่ตั้งของอดีตอนุสาวรีย์ปราบกบฎ ขวามือคือวัดพระศรีมหาธาตุ

“มาอีกแล้วเหรอ” 

วินคนหนึ่งพูดขึ้น คงจะมีคนที่สนใจประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมคณะราษฎรหลายคนทีเดียวที่มาตามรอยอนุสาวรีย์ฯ  วินมอเตอร์ไซค์สถานีวัดพระศรีฯ ทั้งกลุ่มไล่เรียงความทรงจำของเขาให้เราฟัง 

“เดี๋ยวๆ รออีกคนมาก่อน คนนั้นเขาอยู่มาเป็น 30 ปีเลย” 

สักพักวินมอเตอร์ไซค์ ที่เพื่อนๆ กล่าวถึงก็ขี่พาหนะคันเก่งมาจอดเทียบ เขาเล่าว่า 

“ก่อสร้างอันแรกเลยคือ ถนน (หมายถึงทางลอดบางเขน) ตอนนั้นอนุสาวรีย์ก็ยังอยู่นะ แล้วพอสร้างรถไฟฟ้านี่แหละหายไปเลย ตั้งแต่ปีเท่าไหร่นะ เท่าไหร่นะ (เขาทำท่านึก) นั่นแหละ หายไป” 

“เท่าที่เรารู้ เราก็เรียกว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบางเขน ทำไว้ตรงโน้นที่หนึ่ง (ราชดำเนิน) ตรงนี้อีกที่ ก็เลยพากันเรียกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบางเขน”

4.  ถนนประดิพัทธ์

ถนนประดิพัทธ์

ณ ตำบลนัดพบ หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันคือประดิพัทธ์ จุดที่ทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ ในเขตพญาไท เมื่อปี 2475 บริเวณนี้เป็นรหัสเรียกขานของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายทหารว่าคือ “ตำบลนัดพบ” เพราะเป็นจุดนัดหมายในเวลา 05.00 น. ในเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก่อนการอ่านประกาศคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย

ปัจจุบัน บริเวณนี้เต็มไปด้วยรถยนต์แน่นขนัดไม่ว่าจะมาในช่วงเวลาใด เพราะเป็นทำเลทอง มุ่งหน้าไปอีกไม่ไกลคือรัฐสภาแห่งใหม่หรือสัปปายะสภาสถาน และยังใกล้กับย่านสะพานควาย ซอยอารีย์ ที่เต็มไปด้วยคอนโดมีเนียม  สถานที่ราชการ และคาเฟ่ บาร์เหล้า ร้านอาหารจำนวนมาก 

หากเดินลัดเลาะจาก “ตำบลนัดพบ” ไปเพียงนิดเดียวก็จะพบกับ ชุมชนอาเซียน 1 หรือชื่อเดิมคือชุมชนประดิพัทธ์ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้ทางรถไฟ แต่มีถนนขนาด 2 เลนรถวิ่งคั่นกลางอยู่ 

ถนนประดิพัทธ์

ป้าสมใจเป็นชาวชุมชนแห่งนี้โดยกำเนิด แกเล่าด้วยท่าทีใจดีและเป็นมิตรว่ามีอาชีพร้อยมาลัยขาย เมื่อก่อนขายอาหารตามสั่ง แต่ช่วงปีหลังก็เลิกมาร้อยพวงมาลัยขาย ซึ่งก็จะนั่งร้อยพวงมาลัยและมองดูรถไฟวิ่งผ่านทุกวันอยู่ตรงนี้ 

“อยู่ในชุมชนนี้มานาน แต่ไม่เคยรู้ว่าแถวนี้ในอดีตเคยมีการนัดพบกันของคณะราษฎร รู้แต่ว่าสมัยก่อนที่แถวนี้เป็นของจอมพลสฤษดิ์ เป็นที่ดินที่จอมพลซื้อให้ภรรยา ตอนหลังมาขายที่เอามาทำบ้านทาวน์เฮาส์ตรงแถบนู้นที่ติดถนน และก็มีสวนจอมพลที่ติดกับทางรถไฟ แล้วก็ตรงแถวสะพานควายแถวนี้เมื่อก่อนเป็นที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เป็นป่าเป็นทุ่ง เป็นน้ำ นึกไม่ออกเลยว่าคณะราษฎรเป็นใคร รู้จักแต่ชื่อจอมพลสฤษดิ์”

ถนนประดิพัทธ์

ป้าแววดาว หญิงวัย 50 ปี เล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มว่า ชอบมานั่งที่โต๊ะม้าหินตรงนี้ แกไม่ใช่คนชุมชนนี้โดยกำเนิดแต่มาได้สามีเป็นคนชุมชนนี้เลยได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ ป้าแววดาวไม่เคยทราบเรื่องตำบลนัดพบเพราะว่าเป็นเรื่องเก่าแก่นมนานมากแล้ว

“จำได้ว่าเมื่อก่อนแถวนี้คือชุมชนที่อยู่อาศัย เป็นดงกล้วย มีสะพานไม้ มีคลองน้ำสะอาด มีผักตบชวาดอกสีม่วงสวยงาม ยังเคยไปลอยกระทง และไล่จับหิ่งห้อย อันนี้คือความจำที่มีต่อพื้นที่แถบนี้ แต่ไม่รู้จักคณะราษฎรเพราะมันนานมากแล้วน่าจะหลายร้อยปี”

ถนนประดิพัทธ์

ป้าเล็ก หญิงวัย 60 ปี สวมแว่นตาทรงกลม มีอาชีพค้าขายของชำในชุมชน เธออยู่ชุมชนแถวนี้มานาน เมื่อได้ยินคำถามจากเราว่า “รู้จักคณะราษฎรมั้ย แล้วรู้มั้ยว่าตรงนี้คือตำบลนัดพบของผู้นำคณะราษฎร” 

ป้าเล็กตอบด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาแต่ชัดถ้อยชัดคำและตาเบิกโตว่า 

“รู้จักว่าคณะราษฎรเกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่ไม่รู้เลยว่าแถวนี้เป็นจุดนัดพบกันของคณะราษฎร”

ถนนประดิพัทธ์

ลุงโต้ง ชายวัย 60กว่า ซึ่งเดินๆอยู่แถวร้านขายของชำป้าเล็ก เมื่อได้ยินคำถามที่ถามที่ว่า รู้จักคณะราษฎรหรือไม่จากเรา ลุงแกก็รีบบอกด้วยแววตาเป็นประกายว่า 

“มีหนังสือนะ ยืมไปอ่านไหม เดี๋ยวไปหยิบมาให้” พร้อมเล่าด้วยน้ำเสียงดีใจเหมือนผู้อาวุโสในบ้านได้ย้อนทวนวันวานเก่าๆให้ลูกหลานฟัง 

“ผมเกิดแถวนี้แต่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เพราะก่อนหน้านี้เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ปักษ์ใต้ ผมรู้จักคณะราษฎรเพราะมีหนังสืออยู่หนึ่งเล่ม ได้มาเมื่อไปร้านขายของเก่าแล้วเห็นเลยไปหยิบมา แล้วก็รู้จักชื่อเสรีไทยนะ แต่ไม่รู้เลยว่าคณะราษฎรมีการนัดพบกันแถวนี้ นัดตรงบ้านตรงนู้นใช่มั้ย บ้านหลังเก่า ท้ายซอยที่ติดถนน เดินไปดูเลย หมาไม่ดุ แต่เมื่อก่อนบ้านนี้ผีดุ”

5. วัดแคนอก 

วัดแคนอก

วัดแคนอก นนทบุรี ซึ่งตั้งอยู่ที่ย่านสนามบินน้ำ เมื่อเราเดินทางเข้ามาจากสะพานพระนั่งเกล้า จะพบวัดแคนอกอยู่ก่อนถึงกระทรวงพาณิชย์ เลยไปอีกไม่ไกลคือกองสลาก หรือสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บริเวณนี้แต่เดิมเคยเป็น “วังสนามบินน้ำ” หรือ “พระตำหนักนนทบุรี”ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร แต่ภายหลัง “วัง” ได้ถูกทุบทิ้งและถูกสร้างเป็นหน่วยงานราชการแทน

ในปี 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร ได้นำคณะมาประชุมที่วัดแคนอกแห่งนี้และได้กราบสักการะพระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า โดยอธิษฐานจิตว่าแม้กระทำการปฏิวัติสำเร็จ จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่ตรงนี้ให้เจริญรุ่งเรือง และหากแม้จะละโลกนี้ไปแล้วก็ขอให้เอาอัฐิ มาบรรจุ ณ สถานที่แห่งนี้

เราเดินเข้าไปสำรวจวัดแห่งนี้ และได้พบกับพระมหาสุรศักดิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแคนอก ที่มีท่าทีไม่แน่ใจเมื่อเราถามถึงเรื่องคณะราษฎร พระอาจารย์ก็ได้เล่าให้ฟัง โดยกล่าวว่า “จะเล่าเท่าที่พอทราบละกันนะคุณโยม”  พวกเราจึงรีบตอบรับอย่างดีใจและตั้งใจฟังในสิ่งที่พระสงฆ์ผู้จำพรรษา ณ วัดแห่งนี้มาเป็นพรรษาที่ 30 เล่าให้ฟัง 

“ทราบว่าวัดแคนอกเป็นวัดที่คณะราษฎรมาอธิษฐานจิตและเป็นที่ประชุม เพราะมีหลักฐานเหลือทิ้งไว้ ประการแรกคือ มีโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 1 ประการต่อมา มีหอระฆัง ซึ่งตระกูลพหลโยธินได้สร้างไว้ในปี 2478 ในภายหลังกระดูกของคณะราษฎรทั้ง 99 คน ไปบรรจุอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุซึ่งเป็นวัดของคณะราษฎร แต่กระดูกของพระยาพหลพลพยุหเสนาหรือเจ้าคุณพจน์ ถูกนำมาบรรจุอยู่ที่วัดแคนอก เพราะหัวหน้าคณะราษฎรมีความมั่นใจว่าวัดแคนอกเป็นสถานที่ที่ได้ชีวิตกลับคืนมาใหม่ ในความหมายของเจ้าคุณพจน์คือ การปฏิวัติก็คือตาย ถ้างั้นเลยอธิษฐานจิตในพระอุโบสถ หากทำสำเร็จแล้วจะกลับมาพัฒนาวัดให้เจริญสืบไป และได้สั่งลูกสั่งหลานไว้ว่า ถ้าพ่อตายแล้วให้นำกระดูกมาเก็บที่นี่ เพราะพ่อเคยได้ชีวิตคืนจากที่นี่ นอกจากนี้มูลเหตุที่ต้องสร้างระฆังเพราะว่า ระฆังคือสัญลักษณ์ของอำนาจ ระฆังจะดังที่สุดในวัด ทหารกลัวเสียงนกหวีด พระกลัวเสียงระฆัง ทั้งนี้การสร้างโรงเรียนก็เพื่อเป็นที่ระลึกและพัฒนาการศึกษา เพราะคณะราษฎรเน้นการศึกษา”

เรายังไม่คลายสงสัย จึงได้ถามต่อว่า แล้วทำไมพระยาพหลฯถึงเลือกวัดแห่งนี้ อีกทั้งวัดยังตั้งอยู่ที่นนทบุรีไม่ใช่กรุงเทพฯอีก พระสงฆ์ผู้มีท่าทีสงบ นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวด้วยน้ำเสียงไหลลื่นว่า

“สันนิษฐานว่ามากันทางเรือ เมื่อขึ้นจากท่าเรือก็มีต้นโพธิ์ใหญ่และเดินเข้าไปในพระอุโบสถ ขึ้นจากท่าน้ำก็ถึงเลย เชื่อว่าคณะราษฎรดูทำเล โดยสมัยก่อนเมื่อมองจากวัดแคนอกสามารถมองเห็นเกาะเกร็ดได้ ซึ่งเป็นเกาะที่ล้อมคอก และความกว้างของแม่น้ำหน้าวัดแคนอกเป็นแม่น้ำที่กว้างที่สุดและตรง เป็นทำเลและชัยภูมิที่ดี”

วัดแคนอก

เราถามต่อด้วยความอยากรู้ว่า แล้วทางวัดหรือหน่วยงานต่างๆมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้วัดเป็นที่รู้จักเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะวัดถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของประเทศ พระอาจารย์ตอบกลับด้วยสีหน้าเรียบเฉยและปลงตกว่า

“เมื่อก่อนก็เคยมีการท่องเที่ยวเชิงวิถีพุทธ ว่าวัดนี้มีความสำคัญอย่างไร มีการปั้นมัคคุเทศน์ตัวน้อยที่เป็นนักเรียน มาท่องมาเล่าให้ฟังเสียงแจ้วๆ มีการเท้าความเหตุการณ์”

“แต่ก่อนเรื่องราวของคณะราษฎร เคยถูกใช้ในการชูเพื่อการท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันของเทศบาลน่าจะลบออกแล้ว ให้พูดเรื่องอื่นดีกว่า ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย แต่มีการคุยกันเองว่าตอนนี้เรื่องนี้กำลังดัง อย่าพูดเรื่องนี้เลยให้พูดเรื่องอื่น ทุกคนก็เงียบๆ อย่าพูดเลย ให้มันจบๆไป ไม่มีใครสั่ง หาตัวไม่เจอว่ามีการบอกให้อย่าพูด แต่ก็มีการพูดคุยกันในละแวกนี้ว่าอย่าพูด เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย”

“สมัยก่อนช่วงการเมืองแรงๆ เสื้อแดงนนทบุรีมาขึ้นเรือที่นี่ ยังได้มาอธิษฐานและนั่งเรือกันไปสนามหลวง ”

6. ไปรษณียาคาร

ไปรษณียาคารหลังใหม่
ไปรษณียาคารหลังใหม่ 

ไปรษณียาคาร หรือ ชุมทางโทรศัพท์วัดเลียบ ชุมทางสื่อสารที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดของยุคนั้น เป็นสถานที่หนึ่งในเป้าหมายทางยุทธวิธีของเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน นายควง อภัยวงศ์ คณะราษฎรกลุ่มพลเรือน นำพวกไปบุกยึดชุมทางโทรศัพท์เพื่อตัดการสื่อสาร โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะก่อการสามารถยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ 

ชุมทางโทรศัพท์วัดเลียบหลังเดิมที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ถูกรื้อทิ้งเพื่อสร้างสะพานพระปกเกล้าในปี 2525 ก่อนจะมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกับอาคารหลังเดิม ในฐานะพิพิธภัณฑ์ภายใต้การดูแลของไปรษณีย์ไทย แต่เมื่อประวัติศาสตร์ถูกลบเลือน อาคารหลังใหม่นี้คงเป็นได้แค่สถานที่ที่ผู้สัญจรไปมาสงสัยและตั้งคำถามว่ามันคืออาคารอะไรเท่านั้น

เช่นกันกับความทรงจำที่มีต่ออาคารหลังนี้ของผู้คนรอบๆ มันเป็นเพียงตึกใหม่ที่ถูกสร้างไว้ที่ตีนสะพาน ทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ที่ปราศจากผู้เยี่ยมชมไปแวะเวียนมานานหลายสิบปี 

7. ธรรมศาสตร์ 

อีกหนึ่งมรดกคณะราษฎรที่หลายๆ คนไม่เคยรู้ คือ การวางรากฐานทางการศึกษาจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร การสร้างมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตัวย่อ มธก. (ชื่อแรกเมื่อก่อตั้ง ก่อนจะถูกรัฐบาลทหารตัดคำว่าการเมืองหลังชื่อทิ้ง) ตั้งใจเปิดเป็นตลาดวิชา เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่มีการสอบเข้า เพื่อผลิตบุคลากรขึ้นมาพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนระบบต่างๆ ที่ในอดีตขับเคลื่อนโดยระบบเจ้าขุนมูลนาย เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง การให้การศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนมารับใช้ประเทศจึงเป็นภารกิจที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้ วันที่ 27 มิถุนายน 2477 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ถือกำเนิดขึ้น 

เหตุที่ทำเลที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ริมแม่น้ำ ก็เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการเดินทางสำหรับผู้ที่มาเรียน เพราะในอดีตชาวกรุงเทพฯ อาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นการสัญจรหลัก

ท่าพระจันทร์เงียบเหงากว่าที่เคย ท่ามกลางบรรยากาศปิดเทอมและวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส

ธรรมศาสตร์และการเมืองวันนี้เหลือเพียงแค่คำว่า ธรรมศาสตร์ ยังคงเป็นมรดกสำคัญของคณะราษฎรที่ยังไม่ถูกลบหายไป อีกทั้งยังกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่หยั่งรากลึกลงไปในสังคมไทย ธรรมศาสตร์ปีนี้เงียบเหงากว่าที่เคยเพราะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เราเดินสำรวจความทรงจำในรั้วเหลืองแดง นานสองนานก็ยังไม่พบนักศึกษาให้พูดคุยและแลกเปลี่ยนในประเด็นที่สำคัญนี้ จนกระทั่ง

“อ๋ออออ ก็ไม่ค่อยรู้อะไรหรอกครับ” 

ลุงยามผู้ทำหน้าที่เฝ้าสถานที่ประวัติศาสตร์อย่าง ‘ตึกโดม’ หรือ สถานบัญชาการสำคัญเมื่อคราวสงครามโลกบอกกับเรา ก่อนจะค่อยๆ เล่าเรื่องราวที่ลุงยามออกตัวว่าไม่ค่อยรู้ให้เราฟัง 

“ตึกนี้เมื่อก่อนเคยเป็นที่ประชุมของเสรีไทยด้วยนะ เห็นเขาว่านะ ว่าเขาประชุมกันตรงนี้ ไอ่เราก็ไม่รู้นะ” คุณลุงหัวเราะ 

“นี่ๆ มาตรงนี้ (แกพาเราออกมาชี้ให้เห็นโครงสร้างตึก) เมื่อก่อนมันไม่ได้สั้นแค่นี้นะ มันยาวไปจนสุดท่าพระจันทร์เลย ฝั่งตรงนี้เหมือนกันยาวไปสุดโน่น แล้วเค้าก็มันตัดออก คล้ายๆ แบบตึกนั่นน่ะ นั่นน่ะ ชื่ออะไรนะ (ตึกยาว – เราช่วยเสริมคุณลุง) ใช่ๆ” 

เดินวนอยู่ในธรรมศาสตร์สักพัก เราก็เห็นนักศึกษาริญญาโทกลุ่มหนึ่ง เราหยุดคุยกันหน้าลานโพธิ์ พวกเขาออกตัวว่า แม้จะเรียนคณะรัฐศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ถนัดเรื่องวิชาประวัติศาสตร์ไทยเท่าใดนัก อาจจะให้ข้อมูลได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

“2475 เหรอคะ ไม่ทราบเลยค่ะ คณะราษฎร เราก็พอได้ยิน เรารู้จัก…แบบที่ได้ยินน่ะค่ะ แต่ไม่ได้รู้ละเอียด” 

พอเราถามว่า รู้ไหมว่า ธรรมศาสตร์เป็นมรดกอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

“ไม่ใช่ธรรมศาสตร์ เกิดก่อนเหรอคะ” หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่คุยกับเราพูดขึ้น 

“ก็ตอนนั้น ตอนสงครามยังใช้ธรรมศาสตร์เป็นสถานที่เลย”

ตึกโดมแม้จะถูกหั่นความยาวของปีกอาคารทั้งซ้ายและขวา แต่ยังคงยืนหยัดท้าทายยุคสมัย 

8. หมุดคณะราษฎร์

ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง หมุดสีทองได้ถูกปักลงบริเวณพื้นถนน ใกล้กับพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการตอกหมุดหมายความทรงจำ ย้ำถึงการประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประกาศการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนผ่านสู่การระบอบประชาธิปไตย 

ผ่านไป 85 ปี วันที่ 14 เมษายน 2560 หมุดสีทองของคณะราษฎร์ถูกสับเปลี่ยนเป็น ‘หมุดหน้าใส’ มีข้อความสลักว่า 

‘ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน’ 

เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ความพยายามไล่ลบ ไล่รื้อ ทำลาย มรดกของคณะราษฎร์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ต่อมา “หมุดหน้าใส” จะถูกรื้อถอนไปท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์และการทวงถามหาหมุดคณะราษฎร แต่อย่างน้อย ความพยายามที่จะลบประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดประชาธิปไตยไทย ก็ประสบความสำเร็จอย่างดี ปัจจุบันพื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นลานซีเมนต์เรียบ ไร้ร่องรอยที่ประทับตราไว้ว่า ครั้งหนึ่ง สามัญชนคนหนึ่งได้ยืนอยู่ตรงนั้น ประกาศปลดปล่อยประเทศสู่ระบอบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเสมอหน้ากัน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า