สุนทร บุญยอด : ขบวนการ “แรงงาน” ในพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.คุ้มครองฉบับ “อนาคตใหม่”

1 พฤษภาคม 2563

ถ้าจะให้นิยามคำว่า “แรงงาน” สารภาพตามตรง ยังไม่รู้เหมือนกันว่าตีกรอบหรือมีขอบเขตจำกัดไว้แค่ไหน ตนเองที่นั่งหลังขดหลังแข็งอยู่หลังคอมพิวเตอร์ในตอนนี้ สาวพนักงานบัญชีที่เพิ่งจะเดินสวนกันตอนกินข้าวมื้อกลางวัน หนุ่มสถาปนิกของบริษัทหนึ่งที่มักจะเบิ้นเครื่องรถยนต์เสียงดังคนนั้น ฯลฯ  อยู่ในนิยาม อยู่ในคำจัดกัดความด้วยหรือไม่ ?

มองย้อนกลับไปถึงอาชีพที่คุ้นเคย หมอ ครู ตำรวจ ทนายความ เกษตรกร เหล่านี้ นับเป็นกลุ่มคนที่ควรจะได้สิทธิหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ไหม ? หรือว่าแล้วแต่ใครจะให้คำจำกัดความต่างไป อย่างไรก็ได้ ซึ่งแบบนี้น่าจะใกล้เคียงสุดหรือเปล่า หากดูจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล — ตามใจ “เอไอ” เป็นได้ทุกอย่างแล้วแต่ข้อความ SMS ตอบกลับมา (ฮา) 

มีโอกาสได้สอบถามเรื่องนี้ขณะที่นั่งคุยกับ สุนทร บุญยอด อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ปีกแรงงาน หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการหลอมรวมพี่น้องแรงงาน ให้เป็นพลังในการร่วมผลักดันภารกิจและอุดมการณ์พรรค จนทำให้พรรคน้องใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน มี ส.ส.ที่เป็นตัวแทนแรงงานอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึง 4 คน  

สุนทร บอกว่า คำจำกัดความของแรงงานนั้น จริงๆ แล้วกว้างมาก แทบรวมคนทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ลูกจ้างในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคบริการ ภาคเกษตร หรือภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้แรงกายแลกเงิน ล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานทั้งสิ้น อาทิ รัฐวิสาหกิจ ในขบวนการต่อสู้นั้น ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นหัวหอก ผู้นำทางความคิดของขบวนการต่อสู้เมื่อก่อนนั้นมาจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจ ขณะที่แรงงานภาคเอกชนซึ่งมีเยอะกว่าคือขุมกำลัง แต่ต่อมาหลังมีการเพิ่ม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์รัฐวิสาหกิจ 2543 ทำให้รัฐวิสาหกิจที่สวัสดิการดีอยู่แล้วเหมือนจะถูกแยกออกไปจากพี่น้องแรงงาน นี่ก็เป็นการแบ่งแยก และบั่นทอนกำลังลังของขบวนการแรงงานอย่างหนึ่ง

ขณะพี่น้องเกษตรกร บทบัญญัติของกฎหมายระบุไว้ให้แปลกแตกต่างออกไปว่า เพราะการที่จะรวมตัวเป็นองค์กรหรือสหภาพได้ต้องมีนายจ้าง ด้วยมองว่าแรงงานแสวงหาผลประโยชน์กับนายจ้าง แต่เกษตรกรไม่มีนายจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีการจ้างงานในภาคการเกษตร แต่ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างอิสระ จ้างงานแบบเป็นฤดูกาล หรือแม้แต่เกษตรกรชาวสวนยางรับจ้างกรีดยาง ก็รับจ้างในลักษณะที่มองความสำเร็จของงาน ไม่ใช่งานที่เป็นแบบสายพานการผลิต แบบที่จะเป็นนิยามซึ่งเรากำลังจะคุยกันต่อไปนี้

ในวันที่สถานการณ์ของพี่น้องแรงงานทั่วประเทศมีความเสี่ยงตกงานสูง ในวันที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ถูกยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้วและสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ชีวิตของพี่น้อง “ชนชั้น” แรงงานยังทุกข์ยาก คุณภาพชีวิต สวัสดิการที่ได้รับไม่ต่างอะไรไปจากเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ฯลฯ  

บทสนทนากับสุนทรต่อไปนี้ อาจช่วยให้เห็นภาพขบวนการต่อสู้ และยังหล่อเลี้ยง “ความหวัง” ให้กับเราต่อไปได้ 

ถึงตรงนี้ พอจะเห็นนิยามคำว่า “แรงงาน” ชัดขึ้นแล้วว่าหมายถึงคนกลุ่มใด ซึ่งก็นำมาสู่ประโยคที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ นั่นคือ “แรงงานเป็นเรื่องของชนชั้น เป็นเรื่องของโครงสร้าง” อยากให้ช่วยขยายความ แล้วที่ผ่านมา การต่อสู้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

อย่างที่บอกว่าถ้าพูดถึงแรงงาน ทุกภาคส่วนเป็นแรงงานหมด ทุกอาชีพมีแรงงานในตัวของมันเอง หากแต่ว่าที่จะคุยกันคือที่อยู่ในสายพานการผลิต ในลักษณะที่มันมีการขูดรีด ดังนั้น เราจึงเห็นพี่น้องแรงงานต่อสู้เพื่อแบ่งปันทรัพยากร เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคม แน่นอน เราอาจเรียกว่า “กรรมกร” หรือ “ชนชั้นกรรมาชีพ” ซึ่งน่าจะให้ภาพที่ชัดกว่า และตีกรอบคำจำกัดความลงมาได้อย่างชัดเจนที่สุด ในความเห็นผมนะ มองว่าการต่อสู้ของพี่น้องแรงงานที่ผ่านมาค่อนข้างกระจัดกระจาย ที่รวมกันเป็นองค์กรก็มีเป็นส่วนน้อย ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งเราก็ได้มีการพูดคุยจนได้ข้อสรุปว่า

ตราบใดถ้าไม่มองปัญหาของพี่น้องแรงงานทั้งหมดในเชิงโครงสร้าง คิดแค่เพียงรายประเด็น การยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานก็จะเป็นไปได้ยาก เราต้องมีส่วนร่วมในการเฉลี่ยทรัพยากรภายใต้การเมือง หรือในโครงสร้างสังคมการเมืองให้ได้

วันนี้ อำนาจในเชิงโครงสร้างของพี่น้องแรงงาน  มีอยู่ 2 ส่วน คือ 1. แรงงานในสายพานการผลิตที่เชื่อมโยงกับทรัพย์สินของทุนและสามารถให้คุณให้โทษกับทรัพย์สินนั้น กับ 2.แรงงานนอกระบบ หรือฟรีแลนซ์ซึ่งมีทักษะฝีมือ ใช้ความรู้ความสามารถตนเอง ทั้งสองส่วนนี้ยังเชื่อมกันไม่ติด เหมือนต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างต่อสู้ ไม่สามารภประสานเพื่อให้รวมอำนาจในการขับเคลื่อนร่วมกันได้ และเหมือนจะไม่มีองค์กรที่เป็นตัวเชื่อมให้แรงงานสองภาคส่วนนี้เดินเข้าหากัน จึงล้มเหวง แม้ในโรงงานเองการก่อตั้งสหภาพต่างๆ ที่ดูเหมือนจะสำเร็จ แต่ก็ถูกทำลายไปเรื่อยๆ คือถ้าสำเร็จจริง สหภาพแรงงานต้องเกิดขึ้นทุกโรงงาน ทุกสถานประกอบการในประเทศไทยแล้ว แต่ทุกวันนี้ พี่น้องที่เป็นสมาชิกสหภาพมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์  มีสถานประกอบการเพียง 2,000 แห่งเท่านั้นที่มีสหภาพ ขณะที่สถานประกอบการทั่วประเทศยังมีอีกเป็นแสน ยังห่างไกลเยอะ คือ เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน้อยมาก แล้วตัวเลขที่สูงๆ นี้ส่วนใหญ่ก็เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เอกชน 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ก็เกิดขึ้นมาจากการต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องแรงงาน น่าจะมองได้ว่าเป็นความสำเร็จ ?

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน 2541 เกิดขึ้นเพราะก่อนนี้เราเคยมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องการทดลองงาน ซึ่งกฎหมายเดิมที่ใช้ คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ประกาศกระทรวงมหาดไทย ออกมาในยุคของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งกำหนดให้การทดลองงานมีระยะเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน โดยหลังจากนี้ถ้ามีการเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย แต่สถานการณ์ก็คือ มีสัญญาว่าจ้าง แต่พอทำงานไปใกล้ครบ 180 วัน ก็เลิกจ้าง ยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด อย่างนี้เกิดขึ้นอยู่เยอะมาก แรงงานถูกเอาเปรียบ ถูกทดลองงานไปเรื่อยๆ จึงไปเรียกร้องกับรัฐบาล มีการประท้วงหน้าทำเนียบ คนงานจากโรงงานไม่ว่าจะจากปทุมธานี สุมทรปราการ อ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ สมุทรสาคร หมุนเวียนผัดเปลี่ยนกันมา กะเช้าไปทำงาน ออกกะ 5 โมงเย็นก็มาเปลี่ยนกะดึกก็ไปทำงานแทน  ทั้งหมดมารวมกันด้วยชนวนเรื่องระยะเวลาการทดลองงาน จนในที่สุดก็นำมาสู่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ซึ่งในการต่อสู้นี้ ถ้ามองเฉพาะส่วนก็ถือว่าสำเร็จ แต่ถามว่าแก้ปัญหาได้มั้ย ก็ไม่ เพราะเดี๋ยวนี้ ระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน หรือ 3 เดือน ก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ที่พอใกล้จะครบแล้วนายจ้างก็ให้คนออก ไม่ต้องจ่ายชดเชย ไม่มีความผิด 

นี่เป็นปัญหาของกฎหมายที่ไม่ได้มองถึงภาพรวม เรื่องสัญญาว่าจ้างก็เป็นในส่วนของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไป ขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ก็ดูแลในส่วนของแรงงานในส่วนของการได้รับชดเชยหลังเลิกจ้าง นอกจากนี้ก็ยังมีการจ้างงานอีกอย่างที่ไม่มีความเท่าเทียมเสมอภาค นั่นคือ การจ้างแบบรายวันกับจ้างเป็นแบบรายเดือน ทั้งที่ลักษณะงานเดียวกัน การจ้างเป็นรายวันนั้นวันนั้นหยุดประจำสัปดาห์ไม่ได้ หยุดแล้วไม่มีรายได้ ตรงนี้เราเสนอให้มีการแก้ไขในร่างกฎหมายที่ยื่นไปเมื่อครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ด้วย

ผมมองว่า วันนี้พี่น้องแรงงานยังถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนเดิม ถ้าเราสามารถรวบรวมพลังการผลิตนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวได้ เชื่อว่าจะมีอำนาจในการต่อรองที่มากขึ้น ซึ่งผมมองว่า การทำให้คนเหล่านี้ยกระดับวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ได้นั้น ต้องเข้ามาสู่องค์กรจัดตั้ง หรืองค์การการเมือง ซึ่งก็คือ พรรคการเมือง

พรรคการเมืองก็มีมาตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมาก็มีตัวแทนแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง เป็นกรรมการพรรคการเมืองบ้าง หรือที่จัดตั้งเป็นพรรคของแรงงานเองก็มี แต่ทำไมไม่เคยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างที่ว่า ? 

ที่ผ่านมาเขาขับเคลื่อนและเดินไปเฉพาะวงการของแรงงานอย่างเดียว แรงสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ จึงยังไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน การประสานอำนาจเชิงโครงสร้างของแรงงานใหญ่ๆ ทั้ง 2 ภาคส่วนที่ว่ามา เขาไม่สามารถทำความเข้าใจให้เห็นภาพร่วมกัน ยังไม่เห็นภาพว่าต้องต่อรองผลประโยชน์ ต้องเข้าไปร่วมแบ่งปันทรัพยากร  ซึ่งที่ผ่านมายังมองในลักษณะของการร้องขอ เป็นลักษณะระบบอุปถัมภ์ มองปัญหาเฉพาะหน้าเฉยๆ 

เช่น เลือกตั้งได้แล้วคุณต้องมาช่วยเราสิ ค่าแรงขอขึ้นขนาดนั้นขนาดนี้ โดยไม่ได้มองในภาพใหญว่าถ้าเป็นแบบนี้มันจะไม่ได้อยู่ตลอดไป ถ้าคุณไม่ไปเปลี่ยนที่ตัวโครงสร้าง นี่คือสิ่งที่ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จ

เรื่องตั้งพรรคการเมือง หรือไปเป็นหนึ่งในองค์กรจัดตั้งของพรรคการเมืองนั้น ในกลุ่มพี่น้องแรงงานก็มีการพูดคุยกันอยู่ตลอด แต่เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปร่วมกับพรรคหรือคณะหนึ่งคณะใดที่แกนนำไม่มีความเข้าใจแรงงานได้ เป็นพรรคนายทุนที่มองข้ามแรงงานตลอด อย่างพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคพี่น้องแรงงานก็เคยไปคุยด้วย ตัวแทนจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ เคยไปนั่งคุยกัน ซึ่งเขาก็ยังไม่เข้าใจ ยังมีระบบคิดในลักษณะที่ว่าคุณต้องฟังผมอย่างเดียว เราเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้น เราก็ไม่สามารถมาร่วมกันได้ แต่เรื่องการเลือกตั้งนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ไปอย่างไรมาอย่างไร คุณถึงเข้ามามีบทบาทในขบวนการพี่น้องแรงงาน และต่อมาได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ในสัดส่วนปีกแรงงานของพรรค จนที่สุดก็ต้องถูกคน 7 คนใส่ชุดครุยขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ กระทำการในนามของศาลรัฐธรรมนูญลงมติเสียงข้างมากให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ?

ผมจบวิทยาลัยเทคนิคยะลา ทำงานครั้งแรกปี 2521 กับบริษัทผลิตประกอบตัวถังรถยนต์ ทำมาได้ระยะหนึ่งถึงปี 2524 บริษัทปิดกิจการ ผมก็ย้ายไปทำอีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งในช่วงที่บริษัทแรกมีการปิดตัวนั้น มีการลอยแพคนงาน ไม่จ่ายเงินชดเชยคนงานทั้งหมดราว 700-800 คน ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และสถานการณ์คือ 

ไม่มีใครที่จะเป็นตัวแทนพนักงาน เป็นปากเสียงให้ เพราะต่างคนก็ต่างไม่มีความรู้เรื่องนี้ ผมเองในช่วงเริ่มต้นก็ไม่ได้มีความรู้ แต่ด้วยอาศัยความที่ว่าตัวเองเป็นคนรักความเป็นธรรม เมื่อไม่มีใครอาสา เราก็อาสาเอง นำคนงานทั้ง 700 -800 คน ไปฟ้องศาล โดยที่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานมาก่อนเลย

แต่ด้วยความที่ว่าศาลแรงงานเป็นศาลไต่สวน และการเขียนคำฟ้องก็มีพนักงานรับฟ้องบรรยายให้ได้ เราก็ปรึกษาเจ้าหน้าที่ ศาลแรงงานกลางก็เป็นผู้แทนให้ นั่นคือจุดเริ่มต้น 

ทีนี้พอมาทำงานที่ใหม่ บริษัทมีสหภาพแรงงาน พอทดลองงานครบ 180 วัน (ในยุคนั้น) วันที่ 181 ผมก็ไปสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทันที ทีนี้พอร่วมประชุมใหญ่ ก็ได้เป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งราวปี 2528 บริษัทมีการควบรวมกิจการ ผมไม่ได้ตามไป ก็ออกมาทำงานอยู่ในสหพันธ์ต่างๆ 

ส่วนกับพรรคอนาคตใหม่ วันหนึ่ง ติ่ง (ศรายุทธิ์ ใจหลัก อดีตผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่) ซึ่งเคยรู้จักกันตั้งแต่สมัยเขาเป็นนักศึกษาได้มาหา และคุยกันว่าเขาและเพื่อนๆ จะตั้งพรรคการเมือง อยากชวนมาร่วมด้วย เราก็ถามว่าพรรคจะเป็นอย่างไร ใครเป็นแกนนำ ใครเป็นทีมงาน เขาก็บอกหัวหน้าพรรคคือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเราก็รู้จักกันมาก่อน ผ่านการต่อสู้ด้วยกันมาทั้งในภาคประชาชน และการต่อสู้ทางการเมือง ก็เลยเอาด้วย 

ให้ภาพหน่อยได้ไหม ที่บอกว่าร่วมต่อสู้ด้วยกันกับพี่น้องแรงงาน เป็นแบบไหน ?

ตั้งแต่ที่สมัยที่คนกลุ่มนี้เป็นนักศึกษา สำหรับธนาธร ส่วนตัวผมเองแล้วไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าเขาเป็นลูกเจ้าสัว เพราะไม่ค่อยได้พูดกัน เขามาถึงก็ทำงานอย่างเดียว แบกน้ำก็คือแบกน้ำ ส่วนใหญ่นักศึกษาที่พูดคุยเจรจาด้วยก็จะเป็นติ่งมากกว่า ก็มีหลายเรื่องที่สู้ร่วมกันเช่น กรณีของโรงงานทอผ้าไทยเกรียง (ประท้วงหยุดงานกรณีเลิกจ้างคนงานไม่เป็นธรรม) บริษัทมาสเตอร์ทอยด์ (ย้ายสถานประกอบการ จ.ฉะเชิงเทรา ไปอยู่ จ.ปราจีนบุรี)  บริษัท เบสแอนด์บาส (เลิกจ้างลอยแพพนักงาน) เป็นต้น ส่วนใหญ่นี้ก็ไปอยู่กันที่ทำเนียบรัฐบาล ยุคนั้นก็มีแรงงานอยู่ฝั่งหนึ่ง ขณะที่สมัชชาคนจนก็อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ล้อมทำเนียบกันเลย หรือบางครั้งก็มีม็อบเกษตรกรมาในส่วนปัญหาของเขา

หลังจากธนาธรเป็นผู้บริหารแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะขาดกันไปจากพี่น้องแรงงานเลย ยังติดต่ออยู่เรื่อยๆ  มีประท้วงที่กระทรวงแรงงาน ถ้ามีเวลาว่าง ช่วงค่ำๆ หน่อย เขาก็จะมาร่วม จอดรถไว้ไกลๆ แล้วเดินมา  หรือที่พี่น้องแรงงานประทับใจมาก กรณี บริษัท ไทยศิลป์ ฯ ถ.กิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ปิดกิจการ คนงาน 8,000 คน ถูกลอยแพ เลิกจ้างไม่ได้รับค่าชดเชย มีการประท้วงปิดล้อมโรงงาน ธนาธรก็มาร่วมกับพี่น้อง กินข้าวด้วยกัน กินส้มตำด้วยกัน การชุมนุมครั้งนี้เราประสบความสำเร็จ สามารถยึดทรัพย์สินของนายจ้างและเจรจาขายต่อได้โดยไม่ต้องผ่านกรมบังคับคดี ได้มา 68 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเยอะมากนะ เพราะสำหรับทรัพย์สินของบริษัทส่วนใหญ่ที่กำลังจะปิดกิจการ เขามักเอาไปจำนองหรือขายไปก่อนจนจะหมดแล้ว ตอนนั้น พี่น้องเรานอนเฝ้าทรัพย์สินไม่ให้เขาขนก่อนมีการเจรจาขาย ธนาธรเขาก็ไปร่วมด้วย 

ธรรมดาว่าขบวนการแรงงานมักมีอคติกับ “นายทุน” กับ “พรรคอนาคตใหม่” เองพี่น้องก็น่าจะมีข้อติดใจ และกลุ่มแรงงานต่างๆ ว่าอย่างไรกันบ้าง ?

ขบวนการแรงงานที่ผ่านมา ที่ไปร่วมกับพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็เป็นตัวแกนนำ ไม่ได้ไปทั้งขบวน ซึ่งเรารู้เขาเป็นอย่างไร แนวคิด นโยบายไม่ได้มีอะไรเลย ซึ่งมวลชนระดับล่างเขาก็รู้  สำหรับอนาคตใหม่ ตอนที่ติ่งมาหาผมและบอกว่าจะตั้งพรรค อยากได้ขบวนการแรงงานมาร่วมกัน ตอนแรกผมก็นึกว่าจะมีเวลาคิดและจัดตั้งสัก 2-3 เดือน แต่ไม่ใช่ แค่ 2-3 วัน ก็จะเอาแล้ว ตอนแรกตั้งเราจึงได้แต่ในส่วนระดับผู้นำแรงงาน แต่หลังจากนั้น ในส่วนของปีกแรงงานเราทำงานกันหนักมาก ประชุมกัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ว่าจะทำอย่างไร จะขยายไปสู่คนส่วนใหญ่ สู่คนกลุ่มอื่นๆต่อไปอย่างไร และก็มีการลงพื้นที่ไปพบปะพี่น้องแรงงานตามที่ต่างๆ ซึ่งในการขับเคลื่อนทุกครั้ง เราก็เอาการทำพรรคแบบอนาคตใหม่ เอาอุดมการณ์ เอาแนวนโยบายไปขยายให้มากที่สุด ออกไปให้กว้างและลึกที่สุด ซึ่งคนกลุ่มแรกๆ ที่เดินเข้ามานั่นก็คือ สุเทพ อู่อ้น ตอนนั้นเป็นประธานสมาพันธ์แรงงานอีซูซุ  และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เขาไม่ถามด้วยซ้ำว่าจะได้ลง ส.ส.หรือไม่ เราก็เออ อยากได้คนอย่างนี้มาร่วมกัน

คำถามที่เจอ เวลาไปเจอกับแรงงานกลุ่มต่างๆ ที่พี่น้องติดใจมากสุดก็คือ ธนาธรเป็นนายทุน และการเป็นนายทุนนั้นเขาจะเห็นใจแรงงานเหรอ  คือไม่ปฏิเสธว่าแรงงานเราส่วนใหญ่ก็ยังติดเรื่องของการอุปถัมภ์ ไม่ได้มองว่าจะไปแก้ปัญหาโครงสร้าง ซึ่งดีที่ผมรู้จักธนาธรตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษา ก็เอามุมร่วมต่อสู้กับพี่น้องนี้ไปเล่าให้ฟัง

รวมถึงคนงานอีกหลายพันคนที่ธนาธรเคยร่วมต่อสู้ด้วย ซึ่งกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ เขาก็พูดต่อๆ กัน ยืนยันว่าคนนี้เคยมาช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญสุดเลยก็คือ เราเน้นไปที่เรื่องของการทำพรรคแบบอนาคตใหม่ อุดมการณ์แบบอนาคตใหม่ และแนวนโยบายของเรา โดยเฉพาะเรื่องรัฐสวัสดิการ

พรรคการเมืองโดยทั่วๆ ไป ไม่มีกรรมการบริหารในสัดส่วนปีกแรงงาน พรรคอนาคตใหม่คิดกันไว้ตั้งแต่แรกมั้ยว่าจะมี แล้ว ส.ส. สัดส่วนแรงงานที่หวังไว้  ?

หลังจดจัดตั้ง ผมเข้ามาเป็นกรรมการบริหารชั่วคราว จากนั้นก็เริ่มมีการยกร่างข้อบังคับพรรค แล้วก็เกิดความคิดทำโครงสร้างปีกแรงงานขึ้นมา ให้มีการเลือกตั้งมาจากพี่น้องแรงงานโดยตรง ตอนนั้น เราคิดเพียงอย่างเดียวว่า เพื่อให้นโยบายที่พี่น้องเราอยากผลักดันไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรค แน่นอนที่สุดก็ยังเป็นเรื่องรายประเด็นๆ ไมว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ เรื่องอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ถูกนำมาคิดและออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจนเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการ เราเอาสิ่งนี้ไปทำความเข้าใจกับคนงานว่า ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง นี่คือนโยบายพรรค นโยบายที่แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ยั่งยืน ส่วนเรื่องเชิงประเด็นค่อยว่ากันเป็นเรื่องๆ ไปในนโยบายนี้

เรื่อง ส.ส. ผมเคยคุยเล่นๆ ว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากได้คนที่ทำงานอยู่ในโรงงานจริงๆ คือคุณเป็นคนงานด้วย ขณะเดียวกันก็ถ้าได้รับเลือกตั้งก็ไปทำงานในสภา เช่น วันจันทร์ อังคาร ทำงานในโรงงาน วันพุธ พฤหัสฯ ไปสภา ถ้าทำได้ นี่จะเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย 

ในช่วงนั้นเริ่มมีกระแสออกมาว่า คนงานถูกหลอก 1.จากนายทุน ซึ่งก็คือตัวธนาธร และ 2.จากผู้นำแรงงานที่หวังจะเอาพี่น้องแรงงานเป็นฐานให้ตัวเองมีตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก็คือตัวผม นี่คือสิ่งที่เกิด ดังนั้น เมื่อจะมีการเคาะบัญชีรายชื่อ 10 ลำดับแรก ทางพรรคซึ่งพูดเสมอว่าจะมีพี่น้องแรงงานตัวจริงอยู่ในลำดับนี้ด้วย ในที่ประชุมกรรมการบริหารผมยืนยันชัดว่าไม่ลง ส.ส.นะ เราก็มองหาคนใหม่ และคิดว่าแรงงานที่เข้าใจการถูกเอารัดเอาเปรียบที่สุดคือจากขบวนการสิ่งทอ เลยเสนอชื่อ เซีย จำปาทอง กับ วรรณวิภา ไม้สน  ก่อนที่จะมาพูดคุยร่วมกันกับทั้ง  2 คน โดยในที่สุดก็เป็นวรรณวิภา อยู่ใน 10 ลำดับแรกของบัญชีรายชื่อ แต่ที่ทำให้พี่น้องแรงงานตกใจมากก็คือ อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 3 ต่อจาก ธนาธร และอาจารย์ปิยบุตร ทำให้ข้อกังขาที่ว่านายทุนไม่จริงใจกับแรงงาน เอาพี่น้องแรงงานมาเป็นเครื่องมือ หายไปหมดเลย 

การทำงานขยายแนวร่วมง่ายขึ้้น เรื่องอุดมการณ์ แนวทางการทำพรรค และนโยบายพรรค เรามีการจัดเวทีให้กับคนงานตลอด และพี่น้องแรงงานเรานั้นเมื่อรับรู้แล้วก็ไม่ใช่ว่าอยู่เฉย โทร.กลับบ้านไปบอกคนที่บ้านด้วย และยิ่งมีกระแสฟ้ารักพ่อ คนเริ่มรู้จักมากขึ้น ในการเลือกตั้งล่วงหน้าของพี่น้องแรงงาน เป็นประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ที่คนงานยืนต่อแถวเพื่อใช้สิทธิตั้งแต่ก่อนเปิดหีบจนถึงเวลาปิดหีบบัตรเลือกตั้ง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน 

ตอนแรกเลยที่ยังไม่มีเรื่องยุบพรรคไทยรักษาชาติ และกระแสฟ้ารักพ่อยังไม่เกิดขึ้น ส่วนตัวผมเองคิดว่าพรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. ทัี้งหมด 10 คนก็ถือว่าเก่งแล้ว และเราก็จะได้แรงงานเป็น ส.ส. 1 คน

เพราะสำหรับขบวนการแรงงานแล้ว เราไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้ ได้หรือไม่ได้ ส.ส.ไม่สำคัญ แต่เราได้แสดงจุดยืนของพรรค ว่าพรรคให้ความสำคัญกับแรงงานจริงๆ ผ่านตัวบุคคลนั่นคือบัญชีรายชื่อลำดับที่ 3  ผ่านนโยบายนั่นคือเรื่องรัฐสวัสดิการ และผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ในที่สาธารณะของหัวหน้าพรรค ซึ่งเคยพูดอย่างไรวันนี้ก็ยังคงพูดเหมือนเดิม ดังนั้น ไม่ได้ ส.ส.ไม่เป็นไร แต่ความคิดความต้องการของพี่น้องแรงงานถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว

ซึ่งแม้ทุกวันนี้ คนก็ยังรอฟังธนาธรพูดกันอยู่ เวลาที่เพจพรรคอนาคตใหม่ปีกแรงงาน หรือที่วันนี้เป็นเพจคณะก้าวหน้าแรงงาน เชิญมาร่วมไลฟ์คนก็ดูสดกันเป็นหมื่น และที่สำคัญคือไม่มีใครหวาดระแวงว่าเป็นนายทุนที่ไม่ได้คิดถึงชนชั้นแรงงานอีกแล้ว มีแต่พูดอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้กลับมาเร็วๆ ไม่ต้องรอถึง 10 ปี 

ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่มีแรงงานตัวจริงเสียงจริงได้เข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ? 

ปีกแรงงานเราได้ ส.ส.มา 4 คน คือ จรัส คุ้มไข่น้ำ เขต 6 จ.ชลบุรี, วรรณวิภา ไม้สน จากอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สุเทพ อู่อ้น จากสมาพันธ์แรงงานอีซูซุ และทวีศักดิ์ ทักษิณ จากสหภาพแรงงานโตโยต้า ซึ่งในวงการแรงงานค่อนข้างแปลกใจมาก ที่มี ส.ส.เพื่อน ๆ แรงงานมากขนาดนี้ ผมคิดว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ที่คนงานออกจากโรงงานมาเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร พูดอย่างนี้หลายคนอาจเถียงว่า ก็เคยมีมาก่อนแล้ว ส.ส.ที่เป็นแรงงาน ซึ่งก็จริง แต่นั่นไม่ใช่คนที่อยู่ในสายพานการผลิต อีกทั้ง 2 คนที่เคยเป็น ส.ส.ซึ่งมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กับองค์การค้าคุรุสภา ก็ล้วนเป็นเรื่องของส่วนตัว มาในนามส่วนตัว ไม่ใช่ทั้งระบบที่เป็นกระแสหรือเสียงของคนงานจริง ๆ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ผมได้พูดชัดกับทางพรรคว่า โควต้าในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ 1 กรรมาธิการ ที่เราต้องเลือก คือ กรรมาธิการแรงงาน ซึ่งในที่ประชุมก็เห็นด้วย ไม่มีใครคัดค้าน และที่สุดเราก็ได้มาจริงๆ และเราก็ได้ประธานกรรมาธิการชุดนี้ที่เป็นผู้ใช้แรงงานจริงๆ คือ ส.ส.สุเทพ และในกรรมาธิการชุดนี้ ยังมี ส.ส.จรัส และ ส.ส.ทวีศักดิ์ เป็น 3 ใน 15 คน ของคณะที่เป็นคนใช้แรงงาน ซึ่งผลงานที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว

การอภิปรายทั่วไป ส.ส.แรงงานของเราอาจไม่ได้แสดงบทบาทเต็มที่ เนื่องด้วยประเด็นที่มีการอภิปราย แต่ในกรณีเรื่องปรึกษาหารือก็ทำได้ดี แต่ที่โดดเด่นคืองานกรรมาธิการ เราคิดว่ากรรมาธิการแรงงานชุดนี้ มีผลงานไม่ด้อยกว่ากรรมาธิการอื่นๆ ถึงแม้เราจะเป็น ส.ส.สมัยแรก และอีกประการที่สำคัญคือ ปัญหาพี่น้องแรงงานที่เข้ามา ถ้าเทียบกรรมาธิการแรงงานชุดอื่นๆ ที่เคยมี เราว่าเรามีเรื่องจากพี่น้องเข้ามาเยอะมาก มีการทำข้อมูลเก็บไว้ ว่าเดือนหนึ่งรับเรื่องไว้กี่เรื่อง และคลี่คลายปัญหาจบไปกี่เรื่อง ส.ส.ของเราถึงลูกถึงคนเหมือนเดิม ยังเป็นแรงงานเหมือนเดิมไม่ใช่เจ้าขุนมูลนาย 

ทราบมาว่าขณะนี้ทาง ส.ส.ปีกแรงงาน ซึ่งตอนนั้นดำเนินการในนาม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้เสนอร่าง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เข้าสู่สภาแล้ว ?

ปีกแรงงานเราเราคิดขนาดว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล สิ่งที่จะต้องทำภายใน 100 วันแรกมีอะไรบ้าง เราคุยไว้หมด ซึ่งประเด็นแรกของพี่น้องแรงงานที่ต้องการผลักดันถ้าเราเป็นรัฐบาล คือ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชน ซึ่งตอนนี้รอนายกรัฐมนตรีลงนามก่อนเข้าสภาเช่นเดียวกัน เรื่องที่สองคือรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งทั้งสองเรื่องทำได้เลยทันที แต่เมื่อไม่ได้ ต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็มาอีกทางหนึ่งนั่นคือ การผลักดันกฎหมาย ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน  ตามที่เราได้หาเสียงไว้กับพี่น้องแรงงาน ซึ่งก็ได้ทำสำเร็จ คือ ผลักดันเข้าไปแล้ว แต่ตอนนี้ติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ต้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรื่องการเงิน

สำหรับเรื่อง ร่าง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่เรามองมี 3 ส่วน คือ 1.เพิ่มหลักประกันให้กับพี่น้องแรงงาน 2. เพิ่มสิทธิประโยชน์ และ 3.เพิ่มความมั่นคง

1. เพิ่มหลักประกัน เราเสนอเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแบบอัตโนมัติ ซึ่งในอนาคต การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้หมายความว่าต้องไปเรียกร้องหรือรอให้รัฐบาลปรับให้ แต่เราเสนอให้ใช้ปรับตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการปรับตามโดยอัตโนมัติ, ต่อมาคือเรื่องเสนอเพิ่มค่าแรงงานตามอายุงาน

เพราะตอนนี้ บางคนทำงานมา 20 ปี อยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่เริ่มต้นจนจะเกษียณอายุ เรามองว่าอย่างนี้ไม่เป็นธรรม เพราะสำหรับคนที่อายุงานมาก ยกตัวอย่างทำงานมา 5-10 ปี กินค่าแรงขั้นต่ำ เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาซึ่งเขาเป็นคนฝึกทักษะให้ก็กินค่าแรงขั้นต่ำในระดับเดียวกัน อย่างนี้ไม่เป็นธรรม

อย่างนี้ต้องมีการเพิ่มค่าจ้างตามอายุงาน นอกเหนือจากเพิ่มอัตโนมัติ  และอีกเรื่อง คือการปรับพนักงานรายวันให้เป็นรายเดือนทั้งหมดทุกสถานประกอบการที่มีลักษณะการทำงานเช่นเดียวกัน

2. เพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น สิทธิลาคลอด ปัจจุบันอยู่ที่ 98 วัน ปรับเปลี่ยนเป็น 180 วัน ทั้งพ่อทั้งแม่ร่วมกัน ต่อมาคือการลดชั่วโมงการทำงาน ซึ่งเดิมสัปดาห์หนึ่งทำงาน 48 ชั่วโมง จะลดให้มีชั่วโมงทำงาน 40 ชั่วโมง เพิ่มวันหยุดประจำสัปดาห์เป็น 2 วัน และวันลาพักผ่อนเป็น 10วันต่อปี จากเดิม 6 วัน 

3. เพิ่มความมั่นคง แรงงานต้องมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ ไม่รู้ว่านายจ้างจะเลิกจ้างเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่โรงงานจะปิดแล้วถูกลอยแพ หรือไม่รู้เมื่อไหร่ที่วันดีคืนดีพ่อแม่เจ็บไข้ต้องกลับไปเยี่ยมไปดูแลทำให้ขาดรายได้ สิ่งเหล่านี้ เราจะมีมาตรการทำให้คนงานมีความมั่นคง โดยการขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ ขณะเดียวกันก็ผลักดันเรื่อง “สภาแรงงานสวัสดิการแรงงาน” ขึ้นมาด้วย ให้กลายเป็นสหภาพกลางของทุกคนเหมือนที่ฝั่งนายทุนมีสภาอุตสาหกรรมและหอการค้า เราก็ต้องมีองค์กรของเรา

นี่คือเรื่องหลักๆ ที่เราตั้งใจจะทำในร่างกฎหมายฉบับนี้ในนาม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ แต่เสียดาย เราเตรียมเริ่มรณรงค์ทั่วประเทศ ให้พี่น้องแรงงาน ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ถึงเนื้อหาสาระ ทำโบรชัวร์ออกมาแจกไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่สุดท้ายพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ และก็มีเรื่องโควิด-19 ระบาด แต่อย่างไรก็ตาม ต้องผลักดันต่อ ต้องรณรงค์กดดันให้เป็นกระแส ไม่อย่างนั้นนายกรัฐมนตรีคงไม่ให้ผ่าน แต่กรณีถ้าไม่ผ่านจริงๆ เราได้ทราบมาว่า กระทรวงแรงงานมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าไปด้วย เรามีของเราอยู่อาจเสนอประกบ คือ อย่างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรจะได้พูดเรื่องนี้แน่นอน

นโยบายที่โดดเด่นสำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในส่วนของปีกแรงงานเห็นจะเป็นเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งในสถานการณ์ “โควิด –19″ อย่างตอนนี้ มีการพูดถึงกันมาก 

นโยบายรัฐสวัสดิการ สำหรับในกลุ่มพี่น้องแรงงานเราคิดกันมาเป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ อ.จั๊ก (ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่ปรึกษาปีกแรงงานพรรคอนาคตใหม่) ยังเป็นนักศึกษา ตอนนั้น สหพันธ์ฯ สิ่งทอเคยจัดสัมมนาเชิญนักวิชาการผู้รู้มาพูดคุย ต่อมาก็มีทีมวิจัยมาเก็บข้อมูลอยู่เรื่อยๆ และจนกระทั่ง อ.จั๊ก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญทำนโยบายนี้ มาร่วมถกทำความเข้าใจกัน เราคิดว่านโยบายรัฐสวัสดิการที่เสนอไปมีความชัดเจนตั้งแต่ 2 เดือนแรกของการตั้งพรรคแล้ว เราถกกันเข้มข้นมาก แต่ที่ทำให้ช้า คือ เรื่องที่มาของงบประมาณที่จะใช้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้ต้องแจ้งที่มาด้วย หรือการต้องปรับให้พอกับที่มางบประมาณที่คิดได้ เช่น เดิมเคยเสนอเงินบำนาญชราภาพถ้วนหน้าที่ 3,000 บาท แต่เมื่อทำครบกระบวนการ เบื้องต้นเราเสนอไปที่ 1,800 บาท เรามองว่านโยบายรัฐสวัสดิการเราสมบูรณ์แบบเรื่องหลักการ ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ได้เป็นประเด็น  แต่สุดท้ายวันนี้ สิ่งที่เราเห็นคือเรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัญหา ประเทศไทยเรามีงบประมาณเพียงพอสำหรับการสร้างรัฐสวัสดิการแน่นอน

สถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ ถ้าเรามองไปในอนาคต สภาพกระบวนการผลิตเปลี่ยนไปแน่นอน โรงงานอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยน การใช้ชีวิตของแรงงานก็เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการหรือภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนหมด ตรงนี้ สิ่งที่จะต้องตามมาคือการว่างงานสูงขึ้น และการประกันการว่างวานก็ได้แค่ 6 เดือน เมื่อเป็นอย่างนี้ ผลกระทบกับการดำรงชีวิตของคนจะรุนแรง อาจนำไปสู่อะไรที่เราไม่อยากคิด ไม่คาดฝัน ไม่เกิดความสงบสุขของสังคม ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้ 

ถ้าเรามีระบบรัฐสวัสดิการ จะสามารถเป็นตัวช่วยประคับประคองพื้นฐาน ที่จะทำให้คนสามารถต่อลมหายใจได้ ก้าวเดินต่อไปได้ คิดต่อไปได้ พ่อแม่ไม่ต้องทุกข์กังวลว่าจะหาเงินซื้อนมจากไหนให้ลูก ไม่ต้องกังวลว่าจะหาเงินที่ไหนเสียค่าเทอม หรือหาเงินที่ไหนเลี้ยงดูคนชราซึ่ง 600 บาทต่อเดือนไม่เพียงพอแน่ๆ  ดังนั้น หน้าที่ของรัฐต้องจัดการเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องพื้นฐานชีวิต เป็นสิ่งที่จะประคับประคองชีวิตให้ประชาชน ถ้วนหน้า ครบวงจรตั้งแต่เกิดจนตาย

รวมถึงเรื่องที่เริ่มพูดกันมากในขณะนี้ คือ “เงินเดือนพื้นฐานชีวิต” หรือ “ยูบีไอ (UBI : Universal Basic Income)” ถ้าวันนี้เรามีเรื่องนี้ เจอปัญหาเรื่องโควิด -19 ก็คงไม่ไม่กระทบมาก จะช่วยประคับประคองได้ อย่างไรก็ตามเรื่องยูบีไอในอนาคตจะต้องเกิดขึ้น

ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด – 19 พี่น้องเแรงงานประสบปัญหาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในส่วนการเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างโดยที่นายจ้างฉกฉวยโอกาส ในขณะเดียวกันรัฐเองก็เปิดช่องเพื่อให้นายจ้างเดินตามช่องนั้นมาทำลาย วันนี้ ตัวเลขการเลิกจ้างพนักงาน 1.5 ล้านคนเข้าไปแล้ว และมีแนวโน้มจะเยอะกว่านี้อีกมาก รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล มันบริหารจัดการได้ เป็นไปได้ไหมกับผู้ประกอบการ รัฐบอกว่าเราช่วยคุณ แต่คุณอย่าเลิกจ้างพนักงาน ต้องมีเงื่อนไขอย่างนี้ ไม่ใช่ไปอุ้มทุนใหญ่อย่างเดียวโดยไม่มีเงื่อนไขอะไร

อยากให้ช่วยประเมินว่า ตลอด 1 ปีกว่าของพรรคอนาคตใหม่ ในส่วนการทำงานของปีกแรงงาน สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 

คนส่วนใหญ่เห็นว่า ผลงานของพรรคอนาคตใหม่ได้เปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเดิมๆ พี่น้องแรงงานที่ผมได้ไปสัมผัสมา ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งการทำงานยังเข้มข้นไม่ต่างกัน ก่อนหน้านี้ ตอนหาเสียง ทุกซอกทุกมุม ผู้สมัครไปหายกมือไหว้ขอคะแนนตั้งแต่หัวซอยยันท้ายซอย หลังจากนั้น เลือกตั้งเสร็จก็หายกันไปเลย แต่สำหรับเรา ได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ก็ยังไปในพื้นที่เหมือนเดิม แม้ในเขตที่ไม่ได้ ส.ส.  สิ่งที่พี่น้องแรงงานสะท้อนมาเป็นเสียงเดียวกัน เขาบอกว่า ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนที่ทำงานเหมือนหาเสียงตลอดเวลา มันทำให้เขารู้สึกว่ามีความหวัง แม้จะแก้ปัญหาให้กับเขาไม่ได้ในบางประเด็นปัญหา แต่เราไปรับฟัง ไปนั่งพูดคุยด้วยเขาก็ดีใจ นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เรารู้สึกภูมิใจ 

นอกจากนี้ สำหรับพี่น้องแรงงาน 1.สิ่งที่เราทำ ได้พิสูจน์กับพวกเขาแล้วว่า แรงงานไม่ได้เป็นแค่ฐานคะแนนสำหรับพรรคการเมืองแบบเดิม นโยบายรัฐสวัสดิการที่เราเสนอ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานที่เราเคยพูด เคยบอก ถูกนำมาผลักดันอย่างต่อเนื่อง

2.การใช้งบประมาณ ที่ผ่านมาเวลาไปในพื้นที่จะมีแต่คนมาขอเงิน แต่สำหรับพรรคอนาคตใหม่ เมื่อเราขับเคลื่อนมาจนถึงตอนนี้ พี่น้องแรงงานที่เราไปจัดกิจกรรมด้วยไม่มีใครคิดเรื่องนี้ เราได้ทำให้คนมองว่าการจ่ายเงินเป็นเรื่องแปลกประหลาด พิสูจน์แล้วว่าเงินไม่ใช่ตัวชี้วัดการได้มาซึ่ง ส.ส. หรือความเปลี่ยนแปลง  

3. นโยบายที่เราเสนอ พรรคอื่นๆ เขาอาจเสนอในเชิงประเด็น แต่เราเสนอในเชิงโครงสร้างและร้อยรัดเชื่อมโยงกันหมด ซึ่งหลายส่วนมองว่าเป็นเรื่องที่เพ้อฝันและทำยาก แต่จากการที่เราทำความเข้าใจ ไปอธิบายเรื่อยๆ พี่น้องแรงงานยอมรับว่า นโยบายเราแปลกประหลาดกว่าพรรคอื่นๆ เพราะเรามองการแก้ปัญหาทั้งระบบ นี่ก็ทำให้คนเปลี่ยน  

และ 4. ระบบไพรมารีโหวต ที่แม้ว่าจะล้มเหลว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าฐานสมาชิกยังน้อยอยู่ หรือความซื่อสัตย์ของคนที่เข้ามา แต่สำหรับพี่น้องแรงงาน อย่างน้อย ระบบไพรมารีโหวตนี้เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มอาชีพมีสิทธิเสนอตัวเป็นตัวแทนลงสมัคร ส.ส.ได้ ทำให้พี่น้องแรงงานเราเปลี่ยนความคิดเรื่องการมีส่วนร่วมจัดสรรทรัพยากร ยังคงมีการพูดถึงกระบวนการได้มาซี่ง ส.ส.ด้วยระบบนี้ จนถึงทุกวันนี้ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า