“ในโลกของกอฟนั้นเขาไม่ได้อยู่บนโลกนี้อย่างเดียวดาย แต่ยังมี ‘ปีศาจ’ และ ‘นกตัวน้อย ๆ’ วนเวียนอยู่กับกอฟเสมอ จนกระทั่งเมื่อถึงช่วงเวลาที่กอฟจะเล่าเรื่องราวของเขาให้พวกเราฟังนี่แหละ คือเวลาที่นกน้อยถูกพรากไปจากหัวใจของกอฟ”
ภรณ์ทิพย์ มั่นคง เขียนในคำนำหนังสือ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน ค่ำคืนของวันที่ 14 ตุลาคม 2556 ในงานรำลึกครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีกลุ่มนักกิจกรรมและนักแสดงละครที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าต้องการจะท้าทายอำนาจมืดในสังคมไทย กลุ่มนั้นคือกลุ่มประกายไฟการละคร พวกเขาขึ้นไปแสดงละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า’ เพื่อแสดงออกในสิ่งที่พวกเขาคิดใคร่ครวญจนตกผลึกทางความคิดจากทฤษฎีการเมืองให้เข้าถึงคนง่ายมากที่สุด แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเขาแสดงจะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจในสังคมสักเท่าไหร่ หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 “กอฟ” และ “แบงค์” 2 นักแสดงนำถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถูกใช้เพื่อจัดการประชาชนที่ไม่รักดีมาตลอดหลายทศวรรษ
นี่เป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือที่ใครหลายคนมองว่าขมขื่นสำหรับสายดาร์ก แต่สำหรับกอฟนี่คือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยที่สนุกสนานครั้งใหม่ กอฟอยู่ในเรือนจำกลางหญิงนานถึง 2 ปีเศษ
หนังสือเล่มนี้ฉายภาพให้เห็นกระบวนการจำกัดอิสรภาพ ทำลายความหวัง และลดทอนความเป็นมนุษย์เพื่อทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ที่ยอมจำนนต่ออำนาจ
คุกขึ้นชื่อในเรื่องการกวดขันวินัยอย่างเข้มงวดและมีการลงโทษอย่างที่รู้กันดีอยู่แล้ว เราไม่สามารถทำในสิ่งที่ปรารถนาได้อีกต่อไป นอกจากทำกิจกรรมในสิ่งที่เขาอนุญาตเท่านั้น ผู้คุมคือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดคอยควบคุมความสงบเรียบร้อยเป็นผู้ที่ให้คุณให้โทษคอยกำกับดูแลว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้
เริ่มตั้งแต่ก้าวเข้าคุกก็จะถูกตรวจร่างกายต้องถอดชุดที่เคยใส่ในชีวิตประจำวันออกให้ผู้คุมตรวจ มีการตรวจภายในเพื่อหาสิ่งเสพติด และต้องสวมใส่ชุดนักโทษ เมื่อเข้าไปอยู่ในคุกแล้วนักโทษจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ต้องเชื่อฟังคำสั่ง ผู้คุมสั่งอะไรต้องทำตาม
ในคุกยังมีการฝึกวินัยอยู่เสมอเช่น นับยอด ถ้านับผิดต้องนับใหม่ทั้งหมด เมื่อตื่นนอนแล้วทุกคนจะต้องเข้าแถวตอนลึกเพื่อ “นับยอด” สมาชิกในห้องขังนับส่งต่อกันเหมือนที่ทหารทำในค่ายทหาร พอก้าวขาออกจากห้องก็ต้องนับอีกครั้ง กินข้าวเสร็จก็ต้องนับยอด เข้าเรือนนอนก็ต้องนับยอด เรียกได้ว่าเมื่อไหร่ที่มีการเคลื่อนไหวก็จะต้องมีการนับยอดทุกครั้งไป หรือการฝึกซอยเท้าพร้อมกับท่อง “เราจะเป็นคนดี จะเป็นคนดี จะเป็นคนดี เราจะทำความดี จะทำความดี จะทำความดี” และ “ชาติ ระเบียบ วินัย ชาติ ซ้าย ขวา ซ้าย ซ้าย ขวา ซ้าย ซ้าย
ชีวิตในคุกถูกออกแบบให้มีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอนตายตัว ตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้าจนเข้านอน การกิน การอาบน้ำ การเข้าห้องน้ำ หรือกระทั่งการนอนหลับ ที่ในชีวิตนอกคุกเราจะทำมันตอนไหนก็ได้ แต่ในคุกสิ่งเหล่านี้ทำได้เฉพาะตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น เวลากลายเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้นักโทษต้องแย่งกันใช้
การกำหนดเวลาของกิจวัตรประจำวันเช่นนี้เป็นเทคนิคการในการปกครองเพื่อควบคุมพฤติกรรมของนักโทษให้เป็นระเบียบเรียบร้อยง่ายต่อการปกครอง ปกติเราใช้เวลาอาบน้ำประมาณ 15-30 นาทีหรือบางคนมากกว่านั้น เมื่ออยู่ในคุกหญิงระยะเวลาในการอาบน้ำจะเหลือแค่ 30 วินาทีเท่านั้นยังไม่ทันได้ถูสบู่ก็หมดเวลาเสียแล้ว เราก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมต้อง 30 วินาที
แม้กระทั่งการกินอาหารก็ต้องขึ้นเรือนนอนตั้งแต่ 4 โมงเย็นหลังจากนั้นไม่อะไรตกถึงท้องอีกเลย นอกจากน้ำเปล่าเท่านั้นจนกว่าจะถึงเวลา 6 โมงเช้าของอีกวัน ไม่ต้องพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ สุขอนามัย หรืออาหารการกินจะเป็นอย่างไร แถมต้องนอนในห้องสี่เหลี่ยมที่อัดคนเข้าไป 50-70 คนจนนอนเบียดกันเป็นปลากระป๋อง
การป่วยไข้ในคุกลำบากมาก แม้ว่าจะมีห้องพยาบาลที่คอยดูแลแต่ก็ไม่เพียงพอ นักโทษต้องดูแลตัวเองเพื่อให้ตัวเองหายป่วย หรือแม้แต่การเขียนจดหมาย การจดบันทึกเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมากในคุก การจะสื่อสารอะไรกับคนภายนอกเป็นเรื่องที่ละเอียดละอ่อนเป็นที่รู้กันดีว่าเราถูกดักฟังเมื่อพูดคุยกับญาติที่มาเยี่ยม หรือการเขียนจดหมายออกไปข้างนอกต้องได้รับการตรวจสอบและต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน
เจมส์ ซี สก็อต (James C. Scott) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนในหนังสือ “ผู้อ่อนแอ: รูปแบบการต่อต้านในชีวิตประจำวันของชาวนา” (Weapons of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance, 1985) ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าในสังคมที่ผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แท้จริงแล้วผู้ปกครองไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือครอบงำทางความคิดและทางกายเราได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่ผู้ปกครองปรารถนา แต่ผู้ถูกกดขี่เหล่านี้กลับใช้ปริมณฑลสาธารณะและส่วนตัวเพื่อต่อต้านขัดขืนเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมจำนนต่ออำนาจกดขี่
สก็อตทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการต่อต้านขัดขืนในชีวิตประจำวันของชาวนาผ่านรูปแบบการต่อต้านขัดขืนแบบต่างๆ เช่น การลักเล็กขโมยน้อย การลอบวางเพลิง การใส่ร้ายป้ายสี แกล้งไม่รู้ การซุบซิบนินทา ปล่อยข่าวลือ การนิ่งเฉย การอู้งาน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แสร้งจำนน เป็นต้น
คุกอาจทำให้เราต้องละทิ้งความเป็นมนุษย์ที่ตกอยู่ภายใต้ระบบระเบียบอำนาจนิยม และทำให้เราต้องปล่อยให้นกน้อยโบยบินออกไปแล้วถูกแทนที่ด้วยความกลัวและความสิ้นหวัง เมื่อเราอ่านมันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละจากมุมมองของสก็อตเราจะพบว่าแม้ในสภาวะที่อิสรภาพและความเป็นมนุษย์ของเราถูกพรากไป กลับมีร่องรอยของการไม่ยอมจำนนต่ออำนาจกดขี่และผู้เขียนพยายามหาเหลี่ยมมุมเพื่อต่อต้านขัดขืนในชีวิตประจำวันหรือเอาตัวรอดจากคุกตลอดทั้งเล่ม
นี่จึงไม่ใช่หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากในคุก แต่คือ หนังสือ “คู่มือเพื่อต่อสู้กับอำนาจกดขี่”
“เมื่อเราต้องเดินเข้ากรงขังจริงๆ เราก็ต้องทิ้งความเป็นมนุษย์ไว้หน้าคุก นกน้อยโบยบินไปแล้ว เราไม่ใจร้ายพอจะเอามันเข้ามาด้วย เราปล่อยให้มันโบยบินไปจากเรา เมื่อคิดได้ดังนั้น เราเลยไม่ร้องไห้อีกต่อไป”
มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ, หน้า 12
เรารู้กันดีว่ารสชาติของอาหารในคุกนั้นสุดจะบรรยายไร้รสชาติที่กลมกล่อมหาความอร่อยไม่ได้ แล้วทำไมเราต้องทนกินอาหารไร้รสชาติแบบนี้ตลาดไปด้วย ในเมื่อคุกมีสิ่งที่เรียกว่า “ตลาดมืด” ขายสินค้าที่นอกเหนือจากร้านค้าสวัสดิการ
กอฟเล่าว่า เพื่อนนักโทษคนนึงทำขนมโกปีโก้ขายในตลาดมืดให้กับเพื่อนนักโทษ โกปีโก้ที่ว่านี้มีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ เหนียวนุ่มคลุกด้วยผงสีขาวเมื่อกัดเข้าปากแล้วจะยืดๆ กรอบๆ ด้วยถั่ว หอม หวานและอร่อยมาก บรรเทาความหิวโหยระหว่างวัน และได้รื่นรมย์รสชาติอันหอมหวานที่หาไม่ได้จากอาหารในคุก
ตลาดมืดสำหรับนักโทษจึงเป็นดินแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแสวงหาความรื่นรมย์ในชีวิตจากสภาวะในคุกอันโหดร้ายชวนหดหู่และต่อต้านขัดขืนกับระเบียบในคุกอันยุ่งเหยิงที่ทำให้พวกเขาไม่อาจเข้าถึงอาหารชั้นเลิศได้ พวกเขาเอาสิ่งที่เหลืออยู่เท่าที่จะหาได้จากในคุกมาสรรสร้างนวัตกรรมทางอาหารใหม่ๆ นี่จึงสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในสภาวะอันจำกัดภายใต้ระเบียบอำนาจที่กดขี่เราเอาไว้ในคุก
เมื่อเราเข้าออกคุกทุกครั้งนักโทษจะต้องผ่านการตรวจภายใน การต้องถูกตรวจภายในครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ใช่เรื่องนี้พึงปรารถนาเท่าไหร่ หากวันไหนมีประจำเดือนและต้องถูกตรวจภายในด้วยเป็นอะไรที่ลำบาก
การแก้แค้นเล็กๆ น้อยๆ ของกอฟจึงได้เริ่มขึ้น กอฟท้าทายผู้คุมและผู้ช่วยด้วยการไม่ถอดผ้าอนามัย ปรากฏว่าผู้ช่วยทำได้เพียงตบก้น แล้วก็ปล่อยกอฟให้เดินเข้าไปอย่างภาคภูมิใจ
นี่เป็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ของการต่อต้านขัดขืนในชีวิตประจำวันของกอฟ นี่เป็นความสร้างสรรค์ในการหาหนทางในการขัดขืนระบบเรียบอำนาจภายในคุกที่กระทำกับเนื้อตัวร่างกายของเราราวกับเป็นวัตถุ
การเขียนจดหมาย การจดบันทึกในคุกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ทุกครั้งที่มีการส่งจดหมายออกไปนอกคุกผู้คุมจะต้องตรวจทานเนื้อหาเสียก่อนเพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหาในจดหมายจะไม่เป็นภัย แต่เด็กปีศาจของเราไม่ทำให้ผิดหวังอีกเช่นเคย
เมื่อกอฟเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไทกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเดือดร้อนวุ่นวายไปทั้งเรือนจำจนต้องเอาบันทึกดังกล่าวลงจากเว็บไซต์และถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปสอบสวนเพิ่มเติม หลังจากนั้นไม่นานกอฟถูก “โจม” (จู่โจมภายใน) เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าว่ามีสิ่งของต้องห้ามที่ผิดกฎเรือนจำหรือผิดกฎหมายซุกซ้อนอยู่ กอฟถูกโจมเพราะการเขียนของกอฟกลายเป็นภัยความมั่นคงของเรือนจำและอาจเป็นภัยความมั่นคงของชาติ ทำให้เครื่องเขียน สมุดจดบันทึกของกอฟหายไปจากล็อคเกอร์อย่างลึกลับ
แต่การยืดเครื่องเขียนและสมุดบันทึกไม่ได้ทำให้กอฟหยุดเขียนและยังคงดำเนินต่อไป ยึดได้ก็ซื้อใหม่ก็เขียนใหม่ได้ ปฏิบัติการแอบซ่อนเครื่องเขียน หนังสือของกอฟก็เริ่มต้นขึ้น กอฟเอาของทั้งหมดกระจายไปฝากตามล็อคเกอร์ของเพื่อนนักโทษ เอาบันทึกไปซุกซ้อนตามหนังสือในห้องสมุดเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่โจมได้อีก แม้ว่าจะถูกโจมอยู่หลายครั้งเพราะมีคนเอาข่าวไปบอกเจ้าหน้าที่ แต่กอฟก็หาวิธีหลบหนีเจ้าหน้าที่ได้อยู่เสมอ จนได้นำบันทึกต่างๆ ออกมาด้วยความยากลำบากให้ผู้อ่านอย่างเราได้อ่านกัน
เราพอจะเห็นแล้วว่าความมุ่งหมายของคุกคือการควบคุมนักโทษอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและปกครองเราด้วยความกลัวใช้อำนาจบังคับทำให้เราต้องสยบยอมต่อผู้มีอำนาจ กระบวนการที่เกิดขึ้นในคุกนั้นได้ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้เรากลายเป็นที่เพียงวัตถุเพื่อการปกครองมากกว่าที่จะมองว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าได้ แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งศักยภาพของมนุษย์ในการแสวงหาอิสรภาพในสภาวะที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยม ผู้ปกครองไม่สามารถผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างที่ตนปรารถนาได้
มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละไม่ใช่แค่บันทึกที่เล่าเรื่องจากในคุกหญิงเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นว่าแม้ว่าเราจะถูกจำกัดเสรีภาพและถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้เราสิ้นหวังและยอมจำนนต่ออำนาจที่กระทำกับเรา แต่ยังชวนให้มองหาหนทางและความเป็นไปได้ในการต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่เราได้อย่างเจ็บแสบผ่านการต่อต้านขัดขืนในชีวิตประจำวัน เอาตัวรอดจากอำนาจกดขี่เหล่านั้นไปในหลายๆ รูปแบบที่พวกเขาสามารถทำได้ พวกเขาใช้การสิ่งที่พวกเขามีอยู่คือความคิดและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหาวิธีต่อต้าน ต่อรอง และเอาตัวรอดจากอำนาจของผู้คุมที่คอยสอดส่องพวกเขาตลอดเวลา
คุณลองมองไปรอบๆ ตัวดูสิ ชีวิตของเราอาจจะไม่ได้แต่ต่างไปจากชีวิตในคุกเท่าใดนักอาจจะมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตมากกว่าพวกเขาเท่านั้นเอง สังคมที่เราอยู่ตอนนี้คงไม่ได้แตกต่างไปจากชีวิตในคุกหรอก ประเทศไทยอาจเป็นคุกที่ใหญ่กว่าก็ได้
“ต่อให้แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงเดียวที่เรามองเห็นในตอนกลางคืน เราก็ต้องมองมัน ต่อให้แสงหิ่งห้อยไม่ใช่แสงที่เราคาดหวัง ไม่ใช่ดวงตะวันฉายฉาน ไม่ใช่แม้แต่แสงจันทร์หรือแสงดาว แต่มันก็เป็นแสงเดียวที่เราจะมองได้ เราจึงต้องมองมันเพื่อให้ดวงตาไม่บอดสนิท”
มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ