ประวัติศาสตร์นอกขนบ รายวิชาย่อย สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม การบรรยายที่ 1: สยามไม่เคยเสียเอกราช หรือ กึ่งอาณานิคม?

9 กรกฎาคม 2564

บทความนี้ถอดเสียงจากการบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ ‘ประวัติศาสตร์นอกขนบ’ วันพุธที่ 9 มิถุนายน 2564 รายวิชาย่อย สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม

การบรรยายที่ 1: สยามไม่เคยเสียเอกราช หรือ กึ่งอาณานิคม? โดย ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ดำเนินรายการโดย อาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ธงชัยเริ่มต้นการบรรยายด้วยการอธิบายเหตุว่า เหตุใดจึงเลือกหัวข้อนี้ เพราะหัวข้อนี้เป็นหนึ่งในพื้นฐานของความรู้แบบประวัติศาสตร์ตามขนบ หรือ ‘ลัทธิราชาชาตินิยม’ โดยคำว่า ลัทธิ หมายถึง อุดมการณ์ความเชื่อ กรอบมโนทัศน์ และแนวคิด(Concept) ตลอดมาประวัติศาสตร์การเสียดินแดนเป็นแนวคิดหลักของประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมด ถึงแม้จะไม่สามารถตอบคำถามประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมดได้ แต่สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการมองประวัติศาสตร์ไทยได้ในหลากหลายประเด็น จึงได้ถูกเลือกมาบรรยายในครั้งนี้

รับชมการบรรยายได้ที่นี่

“ ประวัติศาสตร์เรื่องนี้เป็นฐานอุดมการณ์ของรัฐไทยในร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เป็นฐานของความเชื่อที่ถูกพัฒนาจนมาเป็นกรอบมโนทัศน์เพื่อตีความอธิบายข้อเท็จจริงเรื่องราวในอดีต เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่มีเจ้ากรุงเทพฯ เป็นวีรบุรุษของชาติไทยรักษาเอกราชของชาติเอาไว้ได้ “

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว

แม้ว่าเรื่องราวในอดีตเหล่านี้จะอยู่ไกลกว่าความเป็นไปของโลกหรือชีวิตประจำวันของเราที่พัวพันไปด้วยปัญหาทางการเมืองและโรคระบาด จนดูเหมือนว่า เป็น ‘หอคอยงาช้าง’ ที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์เช่นนี้ในยามวิกฤต ธงชัยกลับเห็นว่า เมื่อมองลึกลงไป สิ่งเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรากฐานทางความคิดอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดความเชื่อ การดำเนินกิจกรรม และชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบัน ซึ่งนับสิ่งที่ดีที่เวลานี้หลายคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อมายาคติเดิมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย เวลาเช่นนี้จึงเหมาะสมแก่การทลายมายาคติแห่งประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมซึ่งครอบงำสังคมอยู่ ที่นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยคุ้นเคยกันดี 

คำกล่าวที่ว่า  ‘สยามไม่เคยตกเป็นอาณานิคม’ ประกอบด้วยอคง์ประกอบหลัก 3 เรื่อง 

1. สยามถูกคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคม 

2. กษัตริย์ราชวงศ์จักรีพาสยามรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมได้ แม้ว่าจะต้องเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม 

3. กษัตริย์และชนชั้นปกครองของสยามผลักดันการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยอย่างทันการณ์ทันท่วงที นอกจากรักษาเอกราชไว้ได้แล้วยังช่วยให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง 

เค้าโครง(Plot) เรื่องดังกล่าวนี้ สามารถพบอยู่ในงานเขียน ภาคนิพนธ์ และสื่อละครภาพยนตร์ต่างๆ มากมาย จนในที่สุดดูเหมือนจะกลายเป็น ‘สัจพจน์’ (Axiom) หรือความถูกต้องแน่นอนโดยที่เราไม่ต้องสงสัย หรือจำเป็นต้องถูกท้าทายตรวจสอบในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา การดำรงอยู่อย่างยาวนานโดยไร้การโต้แย้งของชุดข้อมูลนี้ได้กลายเป็นกรอบมโนทัศน์ที่ใชัคัดกรองและตีความข้อมูลไปในทิศทางหนึ่งทางเดียว 

ควรกล่าวด้วยว่า แนวคิดเช่นนี้ไม่เพียงแต่ครอบคลุมประวัติศาสตร์สยามในสมัยศตวรรษที่ 19 ที่ว่าตน ‘เกือบเสียเอกราช’ ซึ่งชนชั้นนำไทยอย่างรัชกาลที่ 5 สามารถปฏิรูปจนรักษาเอกราชไว้ได้แต่ขยายไปจนถึงประวัติศาสตร์โบราณและต่อมาจนถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่

“เมื่อพระราชพงศาวดารอธิบายว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธถหัตถี หรือชนช้าง ก็เชื่อว่าเกิดการชนช้าง ไม่ได้ฉุกคิดว่าการชนช้างอาจเป็นธรรมเนียม(Convention) ทางวรรณคดีที่ส่งทอดมาจากศรีลังกา เป็นต้น เพราะเชื่อไปแล้วโดยไม่มีการตั้งข้อสงสัย จนมีการนำมาใช้เป็นวันกองทัพไทย”

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว

ประวัติศาสตร์ในรูปแบบเช่นนี้มีคุณประโยชน์ในการถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อวางรากฐานประชาธิปไตยก็ได้ ใช้ปลุกระดมความรักชาติก็ได้ กำจัดศัตรูของชาติก็ได้ จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สร้างความรักชาติอย่างน่าภาคภูมิใจ รวมถึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่โหดร้าย น่ากลัว ดำมืดและคับแคบ ทั้งหมดนี้คือกรอบมโนทัศน์ประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้เป็น ‘ลัทธิ’ ราชาชาตินิยม เป็นมากกว่าความรู้คือกลายเป็นความเชื่อที่เป็นอุดมการณ์ของชาติ

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่า ‘สยามไม่เคยเป็นอาณานิคม’ นี้ กลับมีความน่าฉงนสนเท่ห์ในระดับพื้นฐาน คือ หากตั้งข้อสงสัยว่า เหตุการณ์ ณ เวลานั้น ไม่ใช่กรณีพิพาทระหว่างชาติไทยต่อสู้กับมหาอำนาจ แต่เป็นระหว่างชนชั้นปกครองสยามต่อสู้กับมหาอำนาจ ผลประโยชน์ของชาติก็อาจกลายเป็นผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ชาติคืออะไร ? เมื่อเกิดข้อสงสัย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะกลายเป็นเพียง สมมติฐาน (Presupposition) ทันที 

ธงชัยชี้ชวนให้เราขบคิดต่อไปว่า หรือว่าสยามจะไม่ใช่ลูกแกะ ? แต่เป็นหมาป่าตัวเล็กที่เผชิญกับหมาป่าตัวใหญ่ ที่สู้กันแล้วหมาป่าตัวเล็กแพ้จึงร้องไห้งอแง และเรื่องเล่าเรื่องนี้อาจเป็นเพียงทัศนะของเจ้ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เจ้าประเทศราชอื่นๆ และไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของราษฎร เช่นนั้น ประวัติศาสตร์ที่มี ‘แต่’ หรือมีเรื่องเล่าอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากประวัติศาสตร์ตามแนวอุดมการณ์ข้างต้นที่เกี่ยวกับการที่ ‘สยามไม่เคยเป็นอาณานิคม’ มีสิ่งใดบ้าง ? 

สยามในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่ 20 เคยตกอยู่ในสภาวะกึ่งอาณานิคมที่ชนชั้นนำสยามได้ประโยชน์ 

แต่เดิม ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมได้เอาหลักหมายการเข้าเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงของราชสำนักสยามว่า “สยามเริ่มเสียเอกราช” และเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบอาณานิคมแล้ว โดยให้เหตุผลว่าถูกบีบบังคับ ยัดเยียด และคุกคามจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยมอังกฤษ ในขณะที่ชนชั้นนำสยามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้่้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พยายามอย่างอุสาหะที่จะรักษาเอกราชของชาติเอาไว้

อย่างไรก็ตาม  ข้อคิดที่ไม่ได้ถูกนำเสนอในประวัติศาสตร์ชุดนี้คือ การเห็นประโยชน์ของชนชั้นนำสยามจากสนธิสัญญานี้จึงเข้าร่วมอย่างเต็มใจก่อนการตระหนักว่า การเข้าร่วมสนธิสัญญาจะเป็นโทษในภายหลัง ซึ่งกินเวลานานทศวรรรษและเริ่มถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในลักษณะประวัติศาสตร์ตามทัศนะของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

“ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมจึงไม่ได้ผิดทั้งเพ แต่เขาไม่ได้พูดทั้งหมด หรือผิดหลายส่วน ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือว่า เราจึงจะเรียนรู้หลายๆ มุม หลายๆ ข้อสเนอ แทนที่จะถูกบังคับกะเกณฑ์ หรือใส่หัวอยู่เพียงเวอร์ชั่นเดียว”

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว 

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ เราจะได้เห็นนักวิชาการอย่างน้อย 3 ท่าน อย่างศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และ อาจารย์คริส เบเคอร์ นักประวัติศาสตร์ ได้เสนอว่า รัฐศูนย์กลางอำนาจของสยามแต่เดิมให้ความสำคัญกับการค้ามากกว่าการเกษตร เช่น รัฐอยุธยา และอาจส่งต่ออิทธิพลแนวคิดนี้มายังกรุงเทพฯ การสนับสนุนข้อเสนอนี้ เห็นได้จากการที่ราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 กลุ่มขุนนางที่มีอำนาจหลายฝักฝ่ายต่างได้รับผ่านการผูกขาดสินค้าจากดินแดนภายในและขายให้กับชาวต่างชาติก่อนหารเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง

จนกระทั่งประโยชน์ที่จากการผูกขาดทางการค้าสร้างปัญหาให้กับราชสำนัก กลายเป็นปัญหาการเมืองภายใน การเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงจึงเป็นความยินดีที่ราชสำนักจะลงนามเพื่อทำการเปิดตลาด ล้มเลิกการผูกขาดสินค้าของเหล่าขุนนางที่มีอำนาจ เพื่อให้ต่างชาติเข้าถึงสินค้าภายใน โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเซ็นสนธิสัญญาในครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มของสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์พร้อมพวกพ้องตระกูลบุนนาค และกลุ่มของรัชกาลที่ 4 เพราะตนไม่ได้ผูกขาดกับสินค้าหลัก การเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงจะยิ่งทำให้ชนิดสินค้าและการค้าขยายตัวมากขึ้น แม้จะต้องเก็บภาษีเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าคุ้มค่า กล่าวได้ว่า ราชสำนักสยามจึงยินดีต้อนรับข้อเรียกร้องของอังกฤษด้วยความยินดีนั่นเอง 

ธงชัยกล่าวเสริมว่า ราชสำนักสยามในยุคศักดินาล้วนมีฝักฝ่ายมากมายไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งเหล่าฝ่ายกรมกอง ฝ่ายกลาโหม ฝ่ายมหาดไทย และกระทรวงนครบาลต่างๆ ซึ่งต่างมีผลประโยชน์ทั้งในรูปของอำนาจและพื้นที่ กลุ่มเหล่านี้ทั้งทำการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ควบคู่ไปกับการสามัคคีกันและร่วมกันปกครองสยามในเวลาเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ถือว่าผลประโยชน์ของเจ้ากรุงเทพฯ(ซึ่งก็ยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใน) เป็นผลประโยชน์ของชาติ แม้ว่า ณ เวลานั้น เหล่าชนชั้นนำกรุงเทพฯ จะมีสถานะเป็น “ตัวแทนของสยาม” ก็ตาม 

หลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง ผู้ปกครองสยามจึงกระตือรือร้นในการเปิดพื้นที่การเกษตรภาคกลางในการทำนาข้าวสำหรับการส่งออก ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสยามทั้งหมด สร้างรายได้ให้กับชนชั้นนำเจ้าที่ดินมหาศาล นำไปสู่ระบบโฉนดที่ดินของเอกชน หรือระบบกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา เช่น บริเวณคลองรังสิต และอยุธยา ในช่วงปี 1900

นับแต่นั้น ที่ดินที่เคยถูกกล่าวเป็นของพระเจ้าแผ่นดินสยามก็สิ้นสุดลงโดยพฤตินัย ผ่านการเปิดประเทศ ในขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ ได้ให้ร่วมมือกับอังกฤษในการหาประโยชน์จากอุตสาหกรรมป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ในล้านนา เพื่อสนองความต้องการไม้ในตลาดโลก เจ้าสยามจึงมิได้ต่อต้าน หรือชะลอการเปิดประเทศ เพราะได้ผลประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจแบบอาณานิคม ในการค้าขายสินค้าชั้นปฐมภูมิ เช่น ข้าว ไม้ แร่ จนกระทั่งทศวรรษที่ 1960 ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้จึงไม่อาจเรียกว่าสยามถูก “คุกคาม” จากมหาอำนาจตะวันตกได้

ควรกล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับสยาม ไม่ได้มีสถานะเป็นกรณีแรกกรณีเดียว ที่มหาอำนาจมิได้มีความคิดที่ต้องการจะครอบครองดินแดน เพราะชนชั้นปกครองต่างให้ความร่วมมือพอสมวคร และในระดับทีชาติมหาอำนาจได้ประโยชน์เพียงพอแล้ว ในด้านมหาอำนาจ การยึดครองไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป หลายครั้งที่เกิดการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น 

ตัวอย่างกรณี รัฐมาเลเซียได้เปิดประตูรับอังกฤษนับแต่ปี 1780 โดยอังกฤษมิได้ยึดครองรัฐมาเลเซียจนกระทั่ง 1870 หรือเกือบ 1 ศตวรรษหลังจากนั้น เพราะรัฐมาเลเซียได้เปิดประตูให้อังกฤษเข้าสู่ตลาดการค้าในบริเวณช่องแคบมะละกาเรียบร้อยแล้วตามความต้องการ ในขณะเดียว มักเกิดการต่อสู้แย่งชิงกันเองในกลุ่มรัฐย่อยๆ มากมายในมาเลเซียบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการสูญเสียมากกว่าหากจะเข้ายึดครอง จนกระทั่งเกือบหนึ่งร้อยปีให้หลัง แนวคิดการค้าถูกชั่งน้ำหนักแล้วว่าสิ้นเปลืองกว่าการยึดครองในมุมมองของอังกฤษจึงกระทำการ เรื่องดังกล่าวนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า เหตุใดเหล่ารัฐมหาอำนาจจึงไม่จำเป็นต้องยึดครองสยาม เพราะเหล่าเจ้าสยามได้ยินยอมและมอบผลประโยชน์ให้กับรัฐมหาอำนาจเพียงพอแล้วนั่นเอง

สยามร่วมมือและพึ่งพิงมหาอำนาจหนึ่งเพื่อต่อสู้กับอีกมหาอำนาจหนึ่งและเพื่อแย่งชิงดินแดนด้วย

ประวัติศาสตร์ตามขนบมักอธิบายช่วงเวลาเหล่านี้ว่า สยามถูกคุกคามจากมหาอำนาจทุกฝ่ายจนต้องใช้การทูตที่วิเศษและมีปรีชาสามารถจึงรอดพ้นได้ ความคิดนี้ไม่ได้ผิดทั้งหมด แต่เป็นความคิดที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์ รศ. 112 (1893) เมื่อสยามเกิดข้อพิพาทด้านดินแดนสิบสองจุไท เขตแดนญวนและฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ฝรั่งเศสจึงนำกองเรือรบล่องเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจนเกิดการปะทะกับสยาม ก่อน รศ. 112 นั้น ชนชั้นนำไทยทั้งร่วมมือและพึ่งพึงในทางการเมืองกับมหาอำนาจอย่างอังกฤษ และกล้าถึงขนาดแข่งขันกับอีกมหาอำนาจฝรั่งเศสเพื่อชิงดินแดนกันด้วย 

ธงชัยอธิบายว่า การมองมหาอำนาจตะวันตกเป็น ‘ลัทธิล่าอาณานิคม’ แล้วจะตามมาด้วยการต้องคิดยึดครองดินแดนอื่นเสมอ เป็นสิ่งที่ผิด เพราะความจริงทางการเมืองไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ความรับรู้ในเรื่องความต้องการดินแดนของตะวันตก เป็น “ความรู้อย่างง่ายๆ ” ซึ่งละเลยความเป็นจริงจำนวนมากที่ว่า หลายครั้งสยามต้องการร่วมมืออย่างกระตือรือร้นหรือตอบสนองยินยอมเพราะได้ประโยชน์ร่วม รวมทั้งพึ่งพิงแสวงหาการสนับสนุนจากมหาอำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่นการแข่งขันกับฝรั่งเศสแย่งชิงดินแดน 2 ฝั่งแม้น้ำโขง เป็นต้น ราชสำนักกรุงเทพฯ มีท่าทีแตกต่างกันเหล่านี้ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ สถานการณ์ และบริบท รวมถึงฝักฝ่ายใดในราชสำนักสามารถผลักดันนโยบายของกลุ่มตนนั้นได้สำเร็จ

“ เราต้องไม่คิดว่า เขาเห็นผลประโยชน์ที่เป็นของชาติเป็นแบบเดียวหรือเหมือนกัน แม้กระทั่งการรับมือกับมหาอำนาจ เขายังคิดต่างกัน กลุ่มผู้ปกครองสยามสมัยนั้น แบ่งเป็นกลุ่มฝักฝ่าย อันนี้เป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์รู้ดี กลุ่มหรือฝักฝ่ายมีทั้งที่แบ่งกันตามวงศ์ตระกูลนับแต่ตามสายราชินี สายเจ้าฟ้าต่างๆ หรือกลุ่มตระกูลขุนนาง ตระกุลบุนนาคมีบทบาทและอำนาจสูงมากในรัชกาลที่ 3 4 และต้นรัชกาลที่ 5 กลุ่มที่เรียกว่า Queen’s party คือสายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (ต้นราชสกุล เทวกุล ณ อยุธยา) มีบทบาทสูงในการอิงอังกฤษช่วงกลางรัชกาลที่ 5 และการกำหนดการสืบราชสมบัติต่อมาถึงในรัชกาลที่ 6 และ 7 การแบ่งเป็นกลุ่มก้อนมีทั้งช่วงเวลาที่แอบอิง ขัดแย้งกันตามปกติของการเมือง สำหรับท่าทีต่อตะวันตก มีตั้งแต่เห่อฝรั่ง กึ่งรับกึ่งระแวงฝรั่ง จนถึงไม่ชอบฝรั่ง ฝักฝ่ายเหล่านี้แบ่งกันผลประโยชน์ (Political interest) อันหมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง พวกพ้อง วงศ์ตระกูล หรืออุดมการณ์ความเชื่อ ได้ทั้งหมด ”

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว

ในทศวรรษแรก ความขัดแย้งแบ่งกันเป็นฝักฝ่ายในราชสำนักเข้มข้นจนถึงเกิดการประจันหน้ากันทางทหาร ในกรณีของวิกฤตการณ์วังหน้าปี 1875 ต้องอาศัยข้าหลวงอังกฤษที่สิงคโปร์เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย กรณีความขัดแย้งระหว่างขุนนางตระกุลบุนนาคและพระปรีชากลการ(สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเป็นลูกเขยของกงศุลอังกฤษใหญ่อังกฤษ โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ (Thomas George Knox) จนถึงขั้นต้องการใช้อิทธิพลของตนในการเรียกเรือรบเข้ามาข่มขู่รัฐบาลสยามให้ปกป้องลูกเขย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการพึ่งพิงอำนาจจากมหาอำนาจในการจัดการการเมืองภายในของรัฐสยาม

นับจากสมัยรัชกาลที่  4 เป็นต้นมา ชนชั้นนำสยามเอียงไปทางมหาอำนาจอังกฤษเสียมาก ถึงขั้นกล้าชิงดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงกับฝรั่งเศส ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็เพราะสยามเชื่อว่าอังกฤษจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือสนับสนุนสยาม หากสยามเกิดความขัดแย้งถึงขั้นประจันหน้ากับฝรั่งเศส สยามมีนโยบายแข็งกร้าวต่อการชิงดินแดนกับฝรั่งเศส จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ รศ. 112 สยามเผชิญกับการคุกคามจริงๆ เป็นครั้งแรก สยามจึงติดต่ออังกฤษเพื่อขอความช่วยเหลือทันที แต่อังกฤษกลับไม่ได้ช่วยเหลือสยามอีกทั้งยังแนะนำสยามว่า ให้ยอมตอบสนองต่อความต้องการของฝรั่งเศส จึงกลายเป็นจุดพลิกผันทำให้ชนชั้นสยาม “อกหัก” อย่างรุนแรงจากการตัดความช่วยเหลือในครั้งนี้ และมีส่วนในการส่งผลถึงการเขียนประวัติศาสตร์ตามขนบในยุคหลัง

กล่าวโดยสรุป ประวัติศาสตร์ต่อต้านการคุกคามมหาอำนาจตะวันตกทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นการ “ทำให้ง่าย” ด้วยการแบ่งบริบทการเมืองเป็นขาวกับดำระหว่างไทยกับนักล่าอาณานิคม นี่เป็นท่าทีของสยามหลังจากวิกฤตการณ์ รศ.112 ซึ่งเป็นการถูกคุกคามจริงครั้งแรก การไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจที่หวังพึ่งพิงจากประสบการณ์หลัง รศ.112 นี้เอง กลายเป็นการสร้างกรอบมโนทัศน์ใหม่ที่เราใช้เข้าใจอดีตย้อนหลังครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับมหาอำนาจยุโรป นับแต่ต้นรัชกาล และแผ่ขยายแนวคิดออกไปถึงรัชกาลก่อน รวมถึงสมัยโบราณ ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่เผยแพร่กันต่อมา สร้างภาพกษัตริย์สยามทุกยุคสมัยราวกับเป็นผู้นำต่อต้านลัทธิอาณานิคม ทั้งที่ในความเป็นจริง มีทั้งสมรู้ร่วมคิด ร่วมมือ พึ่งพิง ตามผลประโยชน์ ตามแต่สถานการณ์และบริบท รวมถึงถูกคุกคามจริง 

ทฤษฎีรัฐกันชน (Buffer State)

ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในภูมิภาคยังทำให้ทั้งสองมหาอำนาจไม่ต้องการคืบหน้ามากกว่าไปนี้ไปจนประจันหน้ากันเอง อังกฤษข้อความตกลงกับฝรั่งเศสในปี 1896 และการทำสนธิสัญญาฉันทไมตรี The Entente Cordiale อีกครั้งในปี 1904 ว่าจะปล่อยให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่เป็นอาณานิคมของใครทั้งสิ้น ข้อตกลงนี้ทำกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยสยามไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ในกรณีนี้การรุกคืบอังกฤษจึงหยุดไว้เพียงพม่า ส่วนฝรั่งเศสหยุดเพียงตามแนวลำน้ำโขงและกัมพูชา ถึงแม้มีการกระทบกระทั่งบ้างกับสยามเช่น กรณีเมืองจันทบุรีและตราด รวมถึงที่อื่นๆ เล็กน้อยก็ตาม

นี่คือความเข้าใจที่เรียกกันว่า สยามคือ “รัฐกันชน” (Buffer State) หากกล่าวอย่างเคร่งครัด สนธิสัญญานี้มิได้ระบุสถานะของสยามว่าจะเป็นรัฐกันชน หรือระบุรวมถึงพื้นที่อื่นนอกจาก “ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” เอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติ 2 มหาอำนาจก็มิได้ลุกคืบเข้ามาในพื้นที่อื่นๆ ทฤษฎีรัฐกันชนจึงเป็นความหมายอย่างกว้างที่ถูกอธิบายภายหลังแล้วเท่านั้น ดังนี้แล้ว เหตุผลการเป็นรัฐกันชนจึงควรถูกผนวกรวมกับแนวคิดที่ชนชั้นนำสยามยอมโอนอ่อน เปิดเมืองท่า จำกัดอัตราภาษี ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องเข้ายึดครองจึงลดลง และไม่มีค่าใช้จ่ายต้องเสีย 

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต

การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมีหลายประเด็นข้อถกเถียงว่า กรณีเช่นนี้นับเป็นการ “เสียเอกราช” หรือไม่ เช่นในกรณีจีนซึ่งถูกกองทัพ 8 ชาติเข้าบังคับการทำสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมรวมถึงการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ก็นับว่าตนเองเสียเอกราชให้กับต่างชาติ แต่สยามมีความเป็นไปในทำนองเดียวกันกลับนับว่าตนเองไม่เสีย สิ่งนี้จะไปอธิบายต่อในการบรรยายครั้งต่อไป

ธงชัยสรุปว่า ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าทัศนะของเจ้ากรุงเทพฯ ผิดทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ความรู้ประวัติศาสตร์นั้น สร้างด้วยจุดยืนมุมมองและวิธีวิทยาที่เราสามารถตั้งข้อสงสัยได้ทุกแง่ทุกมุม เช่น ชาติไทยอาจยังไม่เป็นชุมชนการเมืองที่เป็นผลประโยชน์ของชาติ(Nation)ซึ่งแยกจากผลประโยชน์ของราชสำนัก ถ้าเช่นนั้น ประวัติศาสตร์ตามขนบที่พยายามทำให้เราเข้าใจว่า นี่เป็นเรื่องของชาติไทยสู้กับชาติอื่น จึงเอาข้อมูลประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ใส่ในบริบทที่ผิด เกิดการตีความข้อมูลเหล่านั้นอย่างผิดฝาผิดตัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น อาจไม่ใช่ระหว่างชาติไทยกับมหาอำนาจตะวันตก แต่เป็นชนชั้นปกครอง ในขณะที่ราชสำนักยังแบ่งเป็นฝักฝ่าย มีท่าทีที่หลากหลายต่อมหาอำนาจ ทั้งพึ่งพิง ร่วมมือ แข่งขัน และถูกคุกคามในเวลาเดียวกัน สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งจึงเป็นการตระหนักว่า ประวัติศาสตร์ตามขนบนั้น เป็นทัศนะเจ้ากรุงเทพฯ หลังวิกฤตการณ์ รศ. 112 และการเสียเอกราชอาจไม่ใช่เรื่องราวหรือผลประโยชน์ของราษฎรเสมอไป

“ ความรู้กระแสหลักที่ครอบงำสังคมได้ด้วยอำนาจ มักจะไม่เข้มแข็งทางวิชาการ มักจะอ่อนแอมากๆ ในแง่วิธีวิทยา นักประวัติศาสตร์เน้นตลอดเวลาว่า ความรู้ใหม่ๆ มาด้วยหลักฐานใหม่ ถ้าไม่มีความรู้ ไม่มีหลักฐานใหม่ ก็ไม่มีความรู้ใหม่ ผมแย้งว่าความรู้ใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์มาด้วยหลักฐานใหม่ แต่บ่อยครั้ง ความรู้ใหม่ต่อความรู้ประวัติศาสตร์ตามขนบ มาจากการตั้งคำถามต่อวิธีวิทยาของมันเพียงเท่านั้น ”

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวทิ้งท้ายการบรรยาย

ถาม – ตอบ

จากหน้าที่ 13 หนังสือโฉมหน้าราชาชาตินิยม อาจารย์อธิบายว่า “ ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมหลัง 2475 น่าจะท้าทายประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอย่างถึงราก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาทำได้ดีที่สุดเพียงพยายามเสนอให้ชาติเป็นจุกมหายของประวัติศาสตร์ซึ่งกษัตริย์ในอดีตก็พยายามเชิดชูรับใช้ แต่ไม่ได้สร้างแม่บทฉบับใหม่ที่ผลักไสความทรงของเจ้ากรุงเทพออกไป”

 ผมจึงอยากขอถามอาจารย์ว่า เหตุใดอาจารย์จึงมองว่า คณะราษฎรไม่ได้ท้าทายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ทั้งที่เห็นได้จากประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 แต่อุดมการณ์รัฐประชาชาติที่คณะราษฎรสถาปนาก็ได้ถูกยุติลงหลังการรัฐประหาร 2500 จึงขอคำอธิบายจากอาจารย์เพิ่มเติม 

จะเอาอย่างนั้นก็ได้ คือ พูดง่ายๆ ว่าคุณบอกว่า เขาท้าทายแต่เวลาสั้นไป คือเวลาทำยังไม่พอ สำหรับผมนี่เป็นเรื่องของความคิดเห็น คุณจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่สำหรับผม การเขียนประวัติศาสตร์หลักๆ คือแบบหลวงวิจิตรวาทการ คุณจะเห็นว่าหลวงวิจิตรมีข้อประนีประนอม แน่นอน เขาไม่ได้บ้าเจ้าขนาดอีกหลายคน แต่พยายามจะผลักดันให้ชาติและสามัญชนขึ้นมาแทน แต่ขณะเดียวกันเขาไม่ได้ประจันหน้า ไม่สู้ และไม่ได้โต้แย้งกับราชาชาตินิยมโดยตรง 

ยกตัวอย่าง คณะราษฎรต่อสู้กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์มา คณะราษฎรเคยวิพากษ์ รัชกาลที่ 5 ไหม ?คณะราษฎรวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 5 หนักแค่ไหน ? คุณไปอ่านคุณจะเจอว่า คณะราษฎรวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ใกล้กับเขา ทั้ง 7 และ 6 และหลายคนในคณะราษฎรชื่นชมรัชกาลที่ 5 ไม่ต่างกัน เท่ากับว่าเสาหลักของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ถูกท้าทาย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่แสนจะปกติ 

คนเราบางทีไม่ได้คิด คือพูดง่ายๆ ว่า นักวิชาการที่คิดเลยไปขนาดนั้น ได้แต่คิดแล้วก็สร้างข้อเสนอทางประวัติศาสตร์ ส่วนคนในประวัติศาสตร์ที่เขาโลดแล่นกระโดดเต้น ต้องทำนู่นทำนี่เยอะแยะบางทีเขาอาจจะไม่ได้คิดเรื่องนี้ขนาดนั้น กลับมาที่เรื่องของเรา ผมเห็นว่า ในหลายประเด็นเขาต่อสู้สมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง อันนั้นผมไม่แย้ง แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในความหมายของคณะราษฎรไม่ได้มีความหมายเป็นหนึ่งเดียวกัน ประเด็นคือ เขาสู้กับสิ่งที่ถูกวางรากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อย่างถึงรากมากแค่ไหน?

มนุษย์ต้องอาศัยเวลา อาศัยการสั่งสมความรู้ เหมือนกับสิ่งที่เราคิดว่าทุกวันนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับปัจจุบันสักเท่าไหร่ สำหรับผมเห็นว่า เพื่อที่ว่าสักวันหนึ่ง คนรุ่นต่อไปต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ผมอยากฝากให้เปลี่ยนแปลงให้ถึงราก คือเลยไปถึงสิ่งที่เราอาจจะคิดว่ามันไม่เกี่ยว เพราะรากมันลึกกว่าสิ่งที่เราเห็นตำตาอยู่ รากมันลึกกว่าประสบการณ์ที่เราได้เจออยู่ในชีวิตประจำวัน รากมันลึกกว่าประสบการณ์ทางการเมืองในระยะไกล ในแง่ประวัติศาสตร์ หลวงวิจิตรวาทการจึงรับเอาประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมมาอยู่ในกรอบใหม่ มากกว่าที่จะต่อสู้ นี่จึงเป็นการชี้ให้เห็นปัญหา  

จากกรณีของสยาม ผมสงสัยว่าแล้วประเทศอื่นๆ หรือรัฐอื่นๆ เขาไม่ได้ร่วมมือกับต่างชาติ หรือไม่ได้อยู่ในจุดที่มหาอำนาจสามารถสมดุลกันได้ ตรงนี้สยามมีความพิเศษอะไรหรือไม่ หากเทียบกับรัฐอื่นๆ ที่ถูกยึด และจากมุมมองประวัติศาสตร์ตามขนบ ในเรื่องของการรักษาเอกราช มีการศึกษากันในแง่มุมนี้บ้างหรือไม่ ว่าสยามทำอะไรบ้างในแง่ของการทูต และสิ่งที่ทำมันส่งผลต่อภาพรวมมากน้อยเพียงไร 

รัฐอื่นๆ อยู่ในภาวะเดียวกันหมด ต่อรอง ร่วมมือ รวมถึงขัดแย้ง ทุกรัฐก็เต็มไปด้วยกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้ามินดงแห่งพม่าพยายามปฏิรูปการเมืองภายใน และพยายามร่วมมือกับต่างชาติ แต่ก็ไม่รอด ในกรณีนี้ไม่ใช่คำตอบเชิงสังคมศาสตร์ว่า ถ้าร่วมมือแล้วรอด ถ้าไม่รอดคือไม่ร่วมมือ ประวัติศาสตร์เหล่านี้มีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวแปรเช่น ช่วงเวลา และผลประโยชน์ของมหาอำนาจเอง มหาอำนาจก็มิได้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ละมหาอำนาจก็ล้วนมีฝักฝ่ายภายใน กรณีพม่า อังกฤษไม่ได้จะปะทะกับฝรั่งเศส หรือในขณะที่ฝรั่งเศสก็เป็นไปได้ที่มีฝักฝ่ายที่คิดจะยึดสยาม แต่กว่าจะจัดการเวียดนามได้สำเร็จ แผนการก็อาจเปลี่ยนไปแล้ว ลาวและกัมพูชายังกลายเป็นดินแดนที่ถูกทิ้งจากฝรั่งเศสพอสมควร เพราะฝรั่งเศสทุ่มกับเวียดนามไปมากแล้ว

สำหรับสยามอาจเกิดจากการปะเหมาะเคราะห์ดี เวลาดี และเจ้าสยามเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในจีนและพม่ามาก่อน ซึ่งกรณีแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ เช่น อิหร่าน และเปอเซียร์ โดยเฉพาะเปอร์เซียซึ่งยังมีสภาพเป็นรัฐกันชนและมีเศรษฐกิจแบบกึ่งอาณานิคมเช่นเดียวกันกับสยาม 

สำหรับเรื่องความสามารถทางการทูตนั้น สยามมีความพยายาม แต่ด้วยสภาวะการณ์ทำให้ผลลัพธ์หลายประการไม่ได้เกิดจาก “ปรีชาสามารถ” (ซึ่งหมายถึงการประเมินหรือตีความ) หรือความสำเร็จทางการทูต แต่มาจากเงื่อนไขมหาอำนาจเป็นหลัก หรือมีคำถามยิบย่อยลงไปเช่น เป็นผลงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีการต่างประเทศ หรือเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (กุสตาฟว์ อ็องรี อ็องฌ์ อีปอลิต รอแล็ง-ฌักแม็ง, Gustave Rolin-Jaequemyns) ที่ปรึกษานักการทูตและนักการเมืองชาวเบลเยี่ยมกันแน่? 

ในประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่ได้ยินบ่อยๆ การเสียดินแดนตอน รศ. 112 ที่มักจะมาพร้อมกับเรื่อง เงินถุงแดง โดยที่เราไม่รู้ว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ เพราะมีเพียงในบันทึกของรัชกาลที่ 5 และการที่พยายามจะยัดเยียดเรื่องเงินถุงแดงเพื่อให้มันเป็นเหมือนกับบุญคุณของสถาบันกษัตริย์ ตรงนี้อยากทรบาว่ามันมีมาตั้งแต่สมัยนั้น หรือพึ่งจะถูกยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในยุคหลัง อีกทั้งมันเป็นความจริงหรือเป็นเพียงเรื่องเล่าที่จะมาเสริมลัทธิราชาชาตินิยมกันแน่ ?

ผมชอบคำถามนี้ที่คุณสงสัย และคำตอบคือ ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ แต่ได้ยินมานาน ถามว่าเราเสียเงินทองไหม แน่นอนเราเสีย ในช่วงเกิดกรณีพิพาท รศ.112 มีคนถูกจับจริงไหม ก็เป็นเรื่องจริง แต่ผมอาจไม่ได้สนใจตรงนั้น นักประวัติศสตร์แต่ละคนก็มีสไตล์ที่แตกต่างกัน ซึ่งผมไม่เคยลงไปค้นคว้าว่าจริงแค่ไหน จึงไม่กล้าตอบคำถาม

ผมนึกถึงอยู่กรณีหนึ่ง คือ พระยอดเมืองขวาง ซึ่งโยงไปถึงคณะราษฎร เป็นวีรบุรุษของประวัติศาสตร์ตามขนบและพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นวีรบุรุษรักชาติ พระยอดเมืองขวางเป็นข้าราชการที่ส่งไปยึดเมืองคำเกิดคำม่วน หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจนสุดท้ายเกิดการปะทะกับฝรั่งเศส ความน่าสนใจคือ ชายผู้นี้ได้เป็นวีรบุรุษทั้งฝ่ายเจ้าและฝ่ายคอมมิวนิสต์ แปลว่า พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้ตั้งคำถามกับพระยอดเมืองขวาง ซึ่งผมไม่ได้ดูถูกพรรคคอมมิวนิสต์ในแง่อื่น มีเฉพาะแง่นี้ ในความเป็นจริงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เสนอเรื่องแนวคิดกึ่งอาณานิคมอย่างหนังสือ “ไทยกึ่งเมืองขึ้น” ของ อรัญ พรหมชมพู หรือจิตร ภูมิศักดิ์    

เรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเงินถุงแดงในแง่ไหน เหตุผลคือ เรื่องเล็กๆ เหล่านี้บางครั้งเราไม่เฉลียวใจ พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เฉลียวใจต่อพระยอดเมืองขวาง เช่นเดียวกันกับผู้ถามเฉลียวใจกับเรื่องถุงแดง ในกรณีพระยอดเมืองขวาง หากคุณไปถามเจ้าเมืองคำเกิดคำม่วนก็คงบอกว่า พระยอดเมืองขวางเป็นศัตรูของเขา แต่หากไปถามชาวกรุงเทพฯ เขาก็บอกว่า เป็นวีรบุรุษของเขา คอมมิวนิสต์นี่ก็อยากแสดงความรักชาติด้วย ก็เลยถือพระยอดเมืองขวางเป็นวีรบุรุษด้วย ทั้งที่ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเลยว่า พระยอดเมืองขวางคือประวัติศาสตร์ตามขนบ 

มนุษย์เราก็ปกติ บางเรื่องก็รู้ บางเรื่องก็ไม่รู้ สมตติเราทึกทักว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงไว้ก่อน เช่นกรณีเงินถุงแดง เอามาใส่ประกอบเป็นเรื่อง เพื่ออะไร หนุนใคร ให้ความหมายอย่างไร ส่วนนี้คุณต้องคิดเอาเอง

เรื่องภาพลักษณ์การรักษาผลประโยชน์ของชาติด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และผลของเรื่องเล่าเหล่านี้ ทำไมจึงมุ่งแต่สนใจปัจจัยภายใน จนสยามเหมือนอยู่ในสูญญากาศ และสุดท้ายคือ เราจะลดอำนาจของประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้อย่างไร ?

คำถามแรก อาจสามารถอธิบายได้อย่างคร่าวๆ ว่า จุดกำเนิดของเรื่องนี้มาจากงานที่ถูกตีความด้วยกรอบมโนทัศน์ คือจากประสบการณ์ของเจ้ากรุงเทพฯ หลัง รศ. 112 แต่ในทีนี้ไม่ได้หมายความว่า ชนชั้นนำสยามไม่มีความสามารถ มนุษย์ก็คือมนุษย์ บางเรื่องก็เก่ง หลายเรื่องก็ไม่เก่ง แต่ความเป็นมนุษย์ทำให้ความสำเร็จกลายเป็นความภาคภูมิใจและขยายมันให้ใหญ่ หรือการที่เรากล่าวไปในทางตรงกันข้ามก็อาจเป็นอคติก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ความสำเร็จทางการทูตของสยามนั้นวุ่นวายจนสุดท้ายมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้สนใจ แม้แต่การเสด็จประพาส 2 ครั้ง รัสเซียเท่านั้นที่ต้อนรับเราเป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลบางอย่าง รัสเซียพยายามติดต่อให้ฝรั่งเศสต้อนรับเราด้วย รวมถึงอังกฤษซึ่งสยามพึ่งพิงตลอดเวลา ไม่เคยสนใจรัชกาลที่ 5 อังกฤษเทเราเมื่อ รศ. 112 เมื่อเสด็จประพาสขอเข้าพบสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียก็ไม่ได้พบ ซึ่งอังกฤษก็ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ ไว้ เพราะฉะนั้น พระปรีชาสามารถเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าหากเราถอยออกมาสักหน่อย ก็จะเห็นว่า เพราะกรอบมโนทัศน์ที่เราสรุปตีความเอาไว้แล้ว 

จำเป็นหรือไม่ ที่เราท่านทั้งหลายต้องสมาทานทัศนะของเจ้ากรุงเทพฯ เป็นทัศนะของเรา ประวัติศาสร์ทั้งหลายที่พูดถึงพระปรีชาสามารถเกิดจากกรอบมโนทัศน์ไปขยายความ ความจริง(Fact)จำนวนหนึ่ง ให้มันเหมาะเจาะ(Fit)พอดี แล้วก็ใช้เรื่อยมาในกรอบแบบนั้น ไม่เคยมีตัวประเมินตัวอื่น ทั้งนี้ตัวประเมินตัวอื่นสามารถหาได้ เช่น อังกฤษและฝรั่งเศสสนใจเราแค่ไหน การดำเนินการด้านการทูตมีผลต่ออังกฤษและฝรั่งเศสแค่ไหน ซึ่งสุดท้ายต้องอาศัยการตีความของคนที่ศึกษาอยู่ดี แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับถูกขยายความตีความด้วยกรอบที่ว่า ชนชั้นนำได้พยายามอย่างเต็ม แต่พยายามอย่างเต็มที่นั้นประสบผลสำเร็จหรือไม่? 

ในส่วนคำถามที่สอง เพราะประวัติศาสตร์ของไทยเน้นให้สยามสู้รบกับมหาอำนาจ กล่าวคือ พยายามให้ไทยอยู่ในบริบทของภายนอกในบางด้าน เช่น ไม่ยอมพูดถึงฝักฝ่ายภายใน หลายเรื่องเป็นการช่วงชิงโอกาสจากมหาอำนาจเพื่อมาสร้างรัฐสมัยใหม่ที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นี่เป็นเรื่องภายใน แต่ประวัติศาสตร์ตามขนบกลับไม่เน้นประเด็นนี้ เพราะมัวแต่ไปจดจ่อกับปัจจัยภายนอกอย่างการถูกคุกคาม สิ่งเหล่านี้ต้องมองกลับกัน เป็นการทำให้สยามไม่ตัดขาดจากภายนอกต่างหาก 

ในด้านสำคัญคือด้านที่อธิบายบริบทว่า นี่คือการถูกมหาอำนาจล่าอาณานิคม การปฏิรูปไม่ว่าด้านไหนก็เป็นเพราะถูกคุกคามทั้งหมดจนเลยเถิด การตัดขาดภายนอกหรือภายในนั้น เป็นเฉพาะบางแง่ เช่น ละเลยการอธิบายฝักฝ่ายภายใน จนหลายเรื่องในประวัติศาสตร์ไม่เป็นที่รับรู้ 

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้อ่านบทความของศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเราถือว่าเป็นหนังสือที่อ่านกันทั่วไป โดยบทความหนึ่งเขียนว่า เพราะการคุกคามจากตะวันตก สยามจะเสียเอกราชจึงต้องเร่งทำแผนที่ ตรงสูตรเป๊ะ เรื่องเล่าตามขนบมีสูตรที่ตายตัว ดังนั้นเวลาอ่านวิทยานิพนธ์จำนวนไม่น้อยจึงอธิบายตามสูตรดังกล่าวนี้ เพราะทั้งสมมติฐาน(Premises) และเค้าโครง(Plot) เป็นอย่างเดียวกัน แต่ปัจจัยภายนอกอย่างบริบทเศรษฐกิจโลกที่นักวิชาการบางท่านเสนอกลับถูกมองข้าม เพราะประวัติศาสตร์ตามขนบไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ อย่างมากก็แค่บอกว่า เศรษฐกิจโลกเบียดบัง แทนที่จะบอกว่าสยามได้เข้าร่วมกับเศรษฐกิจโลก 

ข้อสุดท้าย ตอบได้อย่างง่ายๆ ก็คือ เผยแพร่ต่อไป แล้วพูดให้ยุติธรรมว่า สิ่งที่นำเสนอในวันนี้ ก็สามารถมองได้ว่า มันดูเกินจริง(Exaggerate) เพราะประวัติศาสตร์ตามขนบยิ่งดูเกินจริง เราจึงควรตั้งข้อสงสัยกับทุกฝ่าย ต่อให้ถึงที่สุด จนตายคุณก็ยังไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร ซึ่งในความเป็นจริง คนเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เรารู้เพื่อให้อยู่กับปัจจุบันได้ เป็นมนุษย์ที่มีวิจารณญาณ สิ่งที่ควรทำคือ การศึกษาประวัติศาสตร์ทางเลือกให้มากขึ้น 

“เกิดในชีวิตนี้ ผมอาจจะได้เจอการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ก่อนการเห็นประวัติศาสตร์กระแสหลักถูกโค่น”

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว

เพราะสิ่งนี้มันเป็นสถาบันในความหมายที่มันฝังรากมาทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องของความคิดจึงเปลี่ยนแปลงได้ยาก ข้อเรียกร้องของผมต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ จึงไม่ใช่การที่บอกว่าต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบใดแบบหนึ่ง แต่ให้เรียนรู้ในหลายๆ ด้าน 

อยากถามความคิดของเห็นของอาจารย์ เรื่องกรณีชาวปกากะญอบางกรอย จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศในช่วงปี 2492-2499 ในส่วนของใจแผ่นดิน มีชาวปกากะญอ ตั้งเป็นชุมชนประมาณ 7-8 แปลง หลังจากนั้นจึงมีการประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติแก่งระจานปี 2535 ในเรื่องนี้ เหตุใดภาครัฐไทยยังพยายาม ขับไล่ชาวบ้านในพื้นถิ่นออกจากพื้นที่ โดยไม่โอบเอาพวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติ และเหตุใดหลักฐานทางภาพถ่าย หรือเรื่องของ ‘ภูมิกายา’ ต้องได้รับการยอมรับจากภาครัฐหรือไม่ จึงจะมีความหมาย คนที่อยู่ในพื้นที่จึงจะได้รับสิทธิ์ในการใช้แผ่นดิน 

นี่เป็นปัญหาโลกแตก พ.ร.บ. ป่าไม้ทั้งหลายประกาศตามหลังสิทธิตามธรรมชาติที่เขาอยู่ หรือแม้แต่โฉนดเริ่มแรกซึ่งมีการทำในช่วงทศวรรษแรกของปี 1920 โฉนดที่ดินไม่ได้ถูกทำให้มีขึ้นในทุกที่ อีกทั้งที่ดินที่ยึดครองอยู่ก่อน กลายเป็น “ระบบโฉนด” ปะทะกับ “ระบบก่อนโฉนด” แล้วแทนที่จะให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านหรือผู้ครอบครองมาเป็นร้อยๆ ปี เขาไม่ให้ เขาถือระบบโฉนดซึ่งเป็นอำนาจของรัฐ แต่นแน่นอนนี่คือเรื่องทางความคิด แต่มันกระแดะที่ทำให้เรื่องเดือดร้อนของผู้คน กลายเป็นแค่เรื่องทางความคิด ซึ่งผมไม่อยากทำ ถ้าพูดอย่างกลางเป๊ะๆ ก็คือปัญหานี้ 

ชาวบ้านที่อยู่พื้นที่ตรงนั้น เขาอยู่ด้วยสิทธิ์ครอบครอง เขาไม่ได้อยู่ด้วยสิทธิ์แบบโฉนด เหล่านั้นเป็นเรื่องมาทีหลัง แต่เมื่อเกิดการปะทะกันแล้ว รัฐไทยถือว่าแบบหลัง อยู่เหนือสิทธิ์แบบแรก นี่คือตัวอย่างที่หบักการตัดสินของกฎหมายไทยมักเอื้อให้รัฐถูกก่อนเป็นอันดับแรก ในขณะที่บางครั้งรัฐก็ผิดไม่ได้เพราะเสียหน้าและเสียผลประโยชน์ 

ส่วนการที่จะถือสิ่งใดเป็นภูมิกายา จะต้องได้รับการยอมรับจากภาครัฐด้วยใช่หรือไม่ คำตอบคือ ถูกต้อง ซึ่งหลายคนใช้คำถามแบบนี้ในการวิจารณ์ผม ว่าจริงหรือที่ภูมิกายาสามารถอธิบายเรื่องราวของดินแดนได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งผมยอมรับว่าจริง แต่ก็มีบางกรณีที่ไม่สามารถตอบได้ เช่น กรณีเขาพระวิหาร เพราะอยู่บนพื้นฐานของการที่ 2 ระบบมาชนกัน คือระบบก่อนหน้าและระบบภูมิกายา

กระบวนของสยามที่มองตนเองเป็นเหยื่อ (Self victimization) เริ่มมาได้อย่างไร ? ในแต่ละช่วงเวลา สยามมองเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอย่างไร  ?

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในขณะที่เริ่มสมัยสนธิสัญญาเบาว์ริง 1855 (2398) ในขณะนั้น คุณต้องเข้าใจว่า ระบบรัฐไทยยังเป็นรัฐปลายยุคศักดินา สิ่งที่มีผลต่อระบบศาลก็คือ ศาลในสยามมีเต็มไปหมด ซึ่งขึ้นต่อเจ้านายแต่ละพระองค์ รวมถึงกรมกองต่างๆ ไม่ได้รวมศูนฯย์ หรือเป็นเอกภาพ ศาลเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจซึ่งแตกกระจายแบบยุคศักดินาเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก โดยมีอำนาจลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีอำนาจทางการศาล (Jusridiction) ของตนเอง 

สิ่งเหล่านี้ทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องประกาศพระบรมราชาธิบายเรื่องการแก้ไขการปกครองแผ่นดิน เป็นการอธิบายว่า ระบบปกครองเดิมนั้นมีปัญหาทับซ้อนกันทางอำนาจและไม่เป็นเอกภาพจึงต้องปฏิรูป ซึ่งสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศได้ยกตัวอย่างปัญหาของศาลที่ว่า กฎหมายฉบับเดียวกันตีความต่างกัน ลงโทษไม่เท่ากันก็มี ใช้กฎหมายคนละฉบับก็มี บางที่เป็นฉบับใหม่บางที่เป็นฉบับเก่า หรือบางส่วนยังใช้กฎหมายซึ่งยกเลิกไปแล้ว 

ความกระจัดกระจายทางอำนาจเช่นนี้ ยังรวมไปถึงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของสยามในยุคศักดินามาจนถึงปลายศักดินาสมัยรัชกาลที่ 4 โดยแต่เดิมอนุญาต สยามอนุญาตให้ชาวต่างชาติดูแลกันเอง โดยไม่มีกฎเกณฑ์วางเอาไว้ตายตัว ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่มชาวต่างชาตินั้นๆ แต่เท่าที่สังเกตชัดคือขนาดของกลุ่มชาวต่างชาติ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อรัฐบาล โดยอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เช่น ฝ่ายกลาโหม กรมท่า นครบาล เป็นการปกครองอย่างหลวมๆ 

เมื่อครั้งสยามลงนามในสนธิสัญญาเบาวริงค์ ชาวตะวันตกยังคงมีจำนวนไม่มาก ราชสำนักสยามจึงยินยอมเพราะสามารถผสานแนวคิดนี้เข้ากับแนวคิดแบบเดิมได้ โดยสยามไม่สูญเสียเอกราช กล่าวได้ว่า ในระยะนี้ ระบอบเก่าและระบอบใหม่เจอกันแล้วยังไม่เป็นปัญหา อีกทั้งยังถูกมองว่าสอดคล้องกันเป็นอย่างดี เพราะต่างฝ่ายต่างเข้าใจผิด ฝ่ายอังกฤษซึ่งมองแบบรัฐสมัยใหม่ก็เห็นสยามไม่ขัดข้อง ในขณะที่สยามไม่ขัดเพราะยังมองในแบบรัฐโบราณ 

สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างจากวิธีการศึกษาเรื่องเขตแดน หรือ ‘ภูมิกายา’ โดยเริ่มต้นจากการเข้าใจผิดแต่กลับสอดคล้องกัน จนในที่สุดฝ่ายมดฝ่ายหนึ่งรับรู้ว่า แท้จริงแล้วเป็นคนละเรื่อง สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลายเป็นปัญญาขัดแย้งเมื่อมหาอำนาจตะวันตกอนุญาตให้คนท้องถิ่น ทั้งชาวไทย จีน เวียดนาม และกลุ่มคนที่อยู่ในบังคับสยามมาแต่เดิมจดทะเบียนเป็นคนในบังคับของตนได้ จนกระทั่งครึ่งหลังทศวรรษที่ 1880 – 1885 เมื่อปริมาณคนเหล่านี้มากขึ้น ท้ายที่สุดสยามจึงตระหนักว่า ตนเองเสียเอกราช คือเสียการบังคับควบคุม เมื่อมาถึงตรงนี้ เราอาจมองว่า สยามเสียเอกราชก็ได้ หรือไม่เสียก็ได้ ตามแต่จะคิด ซึ่งฟังดูอาจเหมือนเป็นการหาเรื่อง แต่ในรูปธรรมคือความหมายอย่างนี้

นอกไปจากนี้ ราชสำนักสยามตระหนักมากขึ้นจากการที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มนักหนังสือพิมพ์เข้าสมัครเป็นคนในบังคับต่างชาติ อาจนิยามอย่างคร่าวๆ ได้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือคนที่แสวงหาเสรีภาพจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย จนมีหลายครั้งเราจะได้ยินการที่มีคนบอกว่า เจ้าไทยอย่างรัชกาลที่ 6 นี่เป็นคนมีคุณธรรมมาก มีการโต้แย้ง เขียนตอบโต้กับนักหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์ท่าน ความเป็นจริงคือ เพราะพระองค์ปิดหรือลงโทษบรรณาธิการเหล่านั้นไม่ได้จากการที่คนเหล่านั้นอยู่ในบังคับของต่างชาติ ไม่ใช่บังคับสยาม 

“ผมไม่มีความรู้ว่าท่านอยากจะปิดหรือไม่ รู้เพียงแต่ว่า ท่านปิดไม่ได้ คนเหล่านี้มีผลอย่างมากมหาศาล เพราะปากมาก ปากเสีย เพราะรู้ว่าต่างชาติคุ้มครอง ทำตัวเป็นปวินตั้งแต่ 2460 นี่เป็นผลอย่างหนึ่งของสิทธิสภาพนอกอาณาเขต”

ธงชัย วินิจจะกูล กล่าว 

ดังนั้น การมองมหาอำนาจตะวันตกเป็นภัยคุกคาม จึงมาจากการตีความย้อนหลังของชนชั้นนำไทยหลังเหตุการณ์ รศ. 112 ย้อนลงไป ส่วนในเรื่องการเสียเอกราช จะมองว่าเสียเอกราช หรือไม่เสียก็ได้ หรือตะมองว่าไม่เสียแล้วค่อยมาเสียภายหลังก็ได้เช่นกัน ตามบริบทที่แตกต่างกัน

เป็นไปได้ไหมที่เหตุผลของการเข้ามาคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกเกิดจากภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเป้าหมายใหญ่ของอังกฤษและฝรั่งเศส คือหาหนทางไปสู่จีน โดยที่สยามไม่มีหนทางเชื่อมกับจีนได้เลย จึงไม่ได้ถูกยึดครองเป็นอาณานิคม 

ภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวข้องด้วยแน่นอน แต่การไปจีนก็มีส่วน แต่อาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด ในครั้งแรกฝรั่งเศสต้องการเข้าสู่จีนจากทางใต้ คือลำน้ำโขง จึงสนใจอินโดจีนในช่วง 1860 แต่หลังจากการสำรวจพบว่า เส้นทางดังกล่าวเต็มไปด้วยเกาะแก่งมากมาย ไม่สามารถทวนน้ำขึ้นไปได้ ด้วยเหตุนี้ เป้าประสงค์ในการยึดลาว กัมพูชาและเวียดนาม จึงเป็นเรื่องของประชากรแทนการไปจีนในช่วงหลัง ซึ่งไม่ใช่จุดที่สยามรอด เช่นกันกับพม่า อังกฤษมิได้ต้องการพม่าเพราะจะไปจีน ในทางตรงกันข้าม อังกฤษมีเมืองท่ามากมายในจีนอยู่แล้ว แต่เพียงเพื่อเป็นส่วนขยายของอินเดีย เปิดตลาดป่าไม้ทางตอนเหนือรวมถึงการรวมล้านนาเข้าไว้ด้วย พม่ามีเมืองท่าทางตอนกลางและตอนใต้ ส่วนที่ติดกับจีนของพม่านั้นถูกอังกฤษทิ้งด้วยซ้ำไป  ในส่วนของสยามนั้นเป็นจุดที่ภูมิรัฐศาสตร์เหมาะสมคือ เป็นกันชนพอดี 

ประโยคที่ว่า เสียดายที่ไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร ?

ขอตอบว่า หากคุณไปพูดแบบนี้กับคนเมียนมาร์ ฟิลลิปินส์ อินโดนีเซีย เขาอาจจะไม่ตลกกับคุณ ซึ่งก็สมน้ำหน้าคุณด้วย ทำไมจู่ๆ จึงอยากจะพลิกกลับมาว่า การเป็นอาณานิคมน่าจะเป็นเรื่องดีหนักหนา ประวัติศาสตร์มิได้มีแค่ขาวและดำ คนในประเทศเหล่านั้นเขาทุกข์ทนขนาดไหน และผมไม่เชื่อว่าประชาชนเรียนรู้ไม่ได้ หากสยามเป็นอาณานิคมจริง คุณอาจจะไม่อยากให้เป็นเลยก็ได้ สิ่งนี้ควรเอาไว้คุยกันเล่นๆ เพราะคุณลองนึกถึงคนลาวที่เป็นอาณานิคมสยามเป็นร้อยๆ ปี คนไทยมีคนที่เก่งภาษาอังกฤษตั้งเยอะ ไม่เห็นจำเป็นต้องเสียเอกราช มีวิธีการตั้งเยอะแยะที่จะทำให้เก่งภาษาอังกฤษ ความล้มเหลวในการจัดการศึกษา มีเรื่องอื่นอีกมากมายที่สามารถกล่าวได้ 

หากจะพูดอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่เราไม่ได้เกิดสิ่งใดๆ ทำให้เราพลาดโอกาส อย่างนี้จึงพูดได้ เช่น การที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมทำให้เราไม่เกิดภาวะบางอย่าง เงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านเสีย เช่น บางอย่างอาจเสียโอกาสที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หรือบางอย่างก็อาจโชคดีแล้วที่ไม่ตกเป็นอาณานิคม เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า