รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า : เป็นไปได้หรือไม่ถ้าคนไทยจะมีรายได้ให้เปล่าสำหรับทุกคน?

10 มิถุนายน 2564
บทความนี้ถอดเสียงจากการบรรยายในโครงการตลาดวิชาอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564  ในหัวข้อ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า : เป็นไปได้หรือไม่ถ้าคนไทยจะมีรายได้ให้เปล่าสำหรับทุกคน ? โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้ศึกษาและผลักดันแนวคิด Universal basic income หรือ UBI ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อสร้างความเท่าเทียมและยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้มีความมั่นคง รวมถึงตอบทุกปัญหาข้อสงสัยที่ว่า นโยบาย UBI เป็นไปได้

เดชรัต เริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายของ Universal basic income (UBI) หรือ นโยบายการให้เงินรายได้พื้นฐานแบบถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันมีการพูดถึงในหลายแวดวงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเอง มีการนำเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการในหลากหลายรูปแบบ โดย UBI ก็เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ถูกพูดถึงมากเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19

ในเบื้องต้น UBI สามารถจำแนกความแตกต่างจากแนวคิดรัฐสวัสดิการอื่นๆ ได้ 3 แบบ คือ

  1. การให้เป็นเงิน

โดยปกติสวัสดิการโดยรวมที่รัฐบาลมอบให้กับประชาชนมี 3 ลักษณะ คือ เงินสด คูปอง และสิทธิส่วนลดใดๆ หรือเป็นลักษณะของบริการ ในขณะที่ UBI มีลักษณะของการให้เป็นเงินสด ซึ่งมีความสำคัญคือ สามารถเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่ประชาชนแต่ละคนต้องการได้ หมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนมีความต้องการหรือความจำเป็นที่แตกต่างกัน การได้รับสวัสดิการเป็นเงินสดนั้น เปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลเป็นผู้เลือกเองว่าจะนำเงินไปใช้ในส่วนใดได้มากกว่าสวัสดิการแบบอื่นๆ

  1. การให้โดยไม่มีเงื่อนไข 

นโยบายแบบ UBI ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความยากจน หรือจำเป็นจะต้องแจ้งเจตจำนงว่า จะนำเงินไปใช้เพื่ออะไร ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้มักจะพบบ่อยในสวัสดิการแบบอื่นๆ เช่น นำไปใช้เฉพาะด้านการศึกษาเท่านั้น ในขณะที่มนุษย์มีความหลากหลายและความจำเป็นต่างกัน

  1. การให้แบบถ้วนหน้า 

แนวคิดพื้นฐานของ UBI เชื่อว่า มนุษย์ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนไม่ว่าจะในด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ดังนั้น ความไม่มั่นคงเหล่านี้ทำให้การจ่ายแบบถ้วนหน้ามีความสำคัญ เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะประสบมรสุมความไม่มั่นคงได้ตลอดเวลา แตกต่างกันไปตามวาระ

ในส่วนนี้หลายคนอาจมองว่า UBI เป็นลักษณะของการให้ที่อาจจะเกินความจำเป็นหรือไม่? แต่ในทางกลับกันนั้น การให้แบบถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ความจนก็เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การเปิดกว้างทางด้านเงื่อนไขเพื่อให้ปัจเจกบุคคลสามารถมีสิทธิ์ในการตัดสินใจใช้สวัสดิการในส่วนที่ตนเองคิดว่าจำเป็นในชีวิตที่สุด ณ เวลานั้น UBI จึงมีลักษณะมีความยืดหยุ่นมากกว่าสวัสดิการอื่นๆ 

ยกตัวอย่างเช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นนโยบายนับแต่ปี 2543 เป็นต้นมา หากมองดูในหลายมิติ หลักประกันสุขภาพถ้วนทำให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการการรักษาสุขภาพอย่างเท่าเทียม โดยไม่ต้องพิสูจน์ฐานะของตนเอง อย่างไรก็ดี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงมีเงื่อนไขคือ ประชาชนจะได้รับสวัสดิการเมื่อเข้ารับบริการเท่านั้น หมายความว่า ต้องมีการเจ็บป่วยจึงจะสามารถรับบริการนั้นได้ อีกทั้งบริการที่ได้รับยังเป็นสิ่งของ เช่น ยา ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนเป็นตัวเงินได้ ประชาชนยังคงต้องรับความเสี่ยงอื่นๆ นอกเหนือจากบริการในขอบเขตของสุขภาพ

มาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ สวัสดิการสนับสนุนเด็กเล็ก 0 – 6 ปี แม้ว่าจะได้รับเป็นเงินสด และไม่มีเงื่อนไขในการได้รับสวัสดิการ  หากบุคคลใดมีบุตรอายุ 0 – 6 ปี ก็จะสามารถรับสวัสดิการเป็นเงิน 600 บาทต่อเดือน นำไปใช้ในส่วนใดก็ได้ แต่ยังคงมีเงื่อนไขด้านความจำเป็นคือ ให้เฉพาะบุคคลที่มีรายน้อยกว่า 100,000 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี หมายความว่า บุคคลที่จะสามารถรับสวัสดิการในส่วนนี้ได้จำเป็นต้อง “พิสูจน์ความจน” ซึ่งกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กรณีนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีความคล้ายกับกรณีเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ในเงื่อนไขที่จะต้องมีการพิสูจน์ความจน คือต้องมีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รวมถึงต้องมีจำนวนที่ดินและเงินฝากในธนาคารตามที่เงื่อนไขกำหนดเท่านั้น อีกทั้งสวัสดิการดังกล่าวนี้จะได้รับในเชิงเงื่อนไขการแลกซื้อตามที่รัฐกำหนด ไม่สามารถนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ได้

แม้ในช่วงสถานการณ์โควิดระลอกที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยา 5,000 บาท/เดือน โดยได้รับสวัสดิการเป็นเงินสดและไม่มีเงื่อนไขในการกำหนดการใช้จ่าย แต่ก็ยังพบปัญว่า ผู้รับสิทธิ์จะต้องพิสูจน์ความเป็นผู้เดือดร้อน และนำมาสู่ปัญญาต่างๆ ตามมา เช่น ประสิทธิภาพในการตรวจสอบและพิสูจน์ความเป็นผู้เดือดร้อนของรัฐบาลใช้เกณฑ์ใด? ครอบคลุมหรือไม่? มีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด? ทำให้เกิดช่องโหว่ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในที่สุด

มาถึงกรณีสุดท้ายคือ เบี้ยผู้สูงอายุ นโยบายนี้มีลักษณะที่ใกล้กับ UBI มากที่สุด คือการได้รับเงินเป็นเงินสุด 600 – 1,000 บาทต่อเดือน โดยไม่มีเงื่อนไขในการใช้ ไม่มีเงื่อนไขในการรับเงิน แต่มีเงื่อนไขในการจำกัดอายุโดยจะให้เฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น หรือในลักษณะ “ถ้วนหน้า” เฉพาะกลุ่มคนที่เป็นผู้สูงอายุ

ในที่นี้ UBI จึงเป็นสวัสดิการที่ไม่มีเงื่อนไข ให้แบบถ้วนหน้า ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลาย ได้รับเป็นเงินสด ทำให้มีความยืดหยุ่นที่สุด มากกว่ารัฐสวัสดิการนโยบายอื่นๆ ที่รัฐใช้ โดยเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้กับประชาชนทุกคนในการบริหารความเสี่ยตามเจตจำนงของคนแต่ละคน ซึ่งเคารพทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเชื่อมั่นในประชาชนผู้ประสบปัญหาว่าจะเป็นผู้เลือกสิ่งที่จำเป็นที่สุดให้กับชีวิตของตน


รายได้พื้นฐาน

รายได้พื้นฐาน หรือ จำนวนเงินที่ UBI จะมอบให้ ควรกำหนดด้วยปริมาณรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพ โดยใช้เส้นความยากจนเป็นตัวกำหนด ในกรณีประเทศไทยจากสถิติปี 2562 คือ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน ตามแต่ช่วงเวลาของกลุ่มคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งภารกิจของรัฐบาลในการยกระดับกลุ่มคนเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือสูงกว่าเส้นความยากจน ด้วยการออกแบบสวัสดิการที่สามารถทำให้ประชาชนรับมือกับความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงที่ตนเองเผชิญอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต เช่น การเปลี่ยนอาชีพ การมีสวัสดิการทำให้สามารถลดความเสี่ยงอีกทั้งทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถกล้าที่จะเลือกสิ่งที่ดีให้กับตนเองมากขึ้น 


ข้อโต้แย้ง

ในทางนี้ UBI จึงได้รับการพูดถึงและสนับสนุนอย่างมากในโลกปัจจุบัน แต่ก็มีหลายข้อคิดเห็นที่มอง UBI ไปในทางลบ เช่น ไม่เชื่อว่า ประชาชนจะสามารถวางแผนการใช้เงินได้จริง หรือหากประชาชนที่ได้รับเงินสวัสดิการจะนำไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ในขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ยังคงมีความกังวลว่า ประชาชนที่ได้รับสวัสดิการซึ่งเพียงพอต่อการยังชีพแล้วจะไม่ขยันทำงาน ในขณะเดียวกัน คนอีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่า UBI อาจเป็นการช่วยเหลือคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ซึ่งไม่สมควรได้รับสวัสดิการเหล่านี้ หรือสุดท้ายคือ ความเป็นไปได้ยากในเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลสามารถทำนโยบายนี้ได้

ปัญหาการรั่วไหล VS การตกหล่น

ในหลายกรณีผู้โต้แย้งข้อเสนอนโยบาย UBI มักกังวลถึงปัญหารั่วไหลมากกว่าปัญหาการตกหล่น ยกตัวอย่างกรณี สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ซึ่งผลสำรวจพบว่า ครอบครัวที่ได้รับเงินอุดหนุนสามารถยกระดับพื้นฐานความเป็นอยู่ที่ดีให้กับบุตรได้มากกว่าครอบครัวที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน เช่น อาหารทีมีโภชนาการ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีพัฒนาการที่ดีกว่าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจ ยังมีกลุ่มครอบครัวที่ตกหล่นถึง 30% ซึ่งผู้ที่มองปัญหาด้านการรั่วไหลมักละเลยที่จะมองถึงประเด็นนี้ เช่นเดียวกันกับกรณีอื่นๆ เช่น นโยบายเงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งสุดท้ายก็มีการตกหล่น และเกณฑ์การประเมินถูกตั้งคำถามต่อความมีประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดการประท้วงและปัญหาเรื้อรังตามมาในที่สุด 

ในอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กรณีนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยในช่วงปี 2551 ยังไม่มีการให้เบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้า เป็นการให้เฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจน และต้องมีการพิสูจน์ความจนก่อนจึงจะได้รับสวัสดิการ ซึ่งตามผลสำรวจ ตัวเลขผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีความยากจนมีประมาณ 2.46 ล้านคน ในขณะที่มีผู้ได้รับเบี้ยยังชีพคนชราเพียง 1.8 ล้านคนเท่านั้น จนกระทั่งปี 2552 มีการปรับเพิ่มขอบข่ายการรับเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุเป็นถ้วนหน้า โดยผลที่เกิดขึ้นคือ มีผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 1.8 ล้านคนเป็น 5.4 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราผู้สูงอายุที่มีความยากจนค่อยๆ ลดลง จนผลสรุปในปี 2554 ผู้สูงอายุที่มีความยากจนลดลงจากปี 2551 ถึง 700,000 คน 

ภายในตารางด้านล่าง เราอาจพบว่ามีส่วนต่างคือจำนวนของผู้ที่ได้รับบเบี้ยยังชีพเป็นคนชราที่ไม่ได้ยากจน 6.5 ล้านคน และยังคงมีคนชราที่มีความยากจนอยู่ 1.75 ล้านคน ซึ่งในกรณีนี้อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการรั่วไหล แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนคนชรายากจนที่รับเบี้ยแล้วสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองขึ้นมาถึง 700,000 คนคือความไม่ตกหล่น UBI จึงมองในด้านผลร้ายของการตกหล่มมากกว่าการรั่วไหล

ในขณะเดียวกัน นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีการพิสูจน์ความจนของประชาชนก่อนได้รับ กลับพบปัญหาทั้งความรั่วไหลและการตกหล่นตามรางด้านล่าง โดยการแบ่งประชาชนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% กลับพบว่า กลุ่มคนที่จนที่สุดกลับมีตัวเลขเพียง 33.1% ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในขณะเดียวกันกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางจนถึงเกินเกณฑ์การได้รับกลับมีผู้ที่ยังคงได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถึง 2.8 % กล่าวได้ว่า เงื่อนไขในการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ทั้งตกหล่นและรั่วไหลไปในเวลาเดียวกัน

ข้อสนับสนุน

หลังจากกล่าวถึงข้อโต้แย้งและการไขความกังวลของสวัสดิการ UBI ไปเรียบร้อยแล้ว ลองมาดูผลการประเมินประสิทธิภาพของสวัสดิการ UBI ผ่านประเทศที่มีการใช้นโยบายนี้กันบ้าง ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการทำการทดลอง UBI แล้ว และได้ผลตอบรับที่ดี เช่น สาธารณรัฐเคนยา (Republic of Kenya) โดยรัฐได้ออกนโยบาย Give Directly (GD) กับกลุ่มทดลองเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่มีคำแนะนำหรือข้อกำหนดใดๆ โดยผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มครอบครัวผู้ที่รับเงินตามนโยบาน GD มีการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นถึง 20% ทำให้ภาวะวความหิวโหยลดลง 30% ภาวะจำนวนวันที่เด็กในครอบครัวไม่ได้รับอาหารลดลงถึง 42% เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการแก้ไขปัญหาในเรื่องภาวะอดอยากได้

มากไปกว่านั้น ผลการศึกษาด้านปริมาณการบริโภคยาสูบหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มตัวอย่างก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันการที่ได้รับเงินเป็นประจำและมากพอทำให้มีการสะสมทรัพย์สินของคนที่ได้รับเงินเพิ่มขึ้นถึง 58% โดยทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือการซ่อมแซมต่อเติมบ้าน 51% รองลงมาเป็นการทำปศุสัตว์ 23% ลงท้ายด้วยรายได้จากการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 48% และรายได้การประกอบธุรกิจที่เพิ่มขึ้น 38% ทั้งหมดทั้งมวลนี้สามารถอนุมานได้ว่า ประชาชนชาวเคนยาผู้ได้รับสวัสดิการดังกล่าวนี้สามารถจัดการวางแผนด้านการเงินและนำไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองได้

นอกไปจากนี้ยังมีการทำการวัดผลระดับความพึงพอใจจนถึงการวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียดมีอัตราลดลงในประชากรที่ได้รับเงินจาก GD ทั้งหมดจึงเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เมื่อเผชิญความเครียดอาจทำให้การใช้เหตุผลในการตัดสินใจวางแผนสิ่งต่างๆ แย่ลง แต่เมื่อมีรายได้พื้นฐานแล้วก็สามารถที่จะคาดเดาได้ว่า ตนเองมีรายได้อย่างน้อยที่สุดเท่าไหร่ นำไปสู่ความเครียดที่ลดลง การตัดสินใจที่ดีขึ้น และลดความรุนแรงในครอบครัวอันเนื่องมาจากปัญหาจากความเครียด อีกทั้งยังส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย

ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมในกรณีรูปแบบของการให้เงิน โดยพบว่า การโอนเงินแบบรายเดือนจะมีผลต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารมากกว่าการโอนเงินแบบก้อนใหญ่ ในทางตรงกันข้าม การโอนก้อนใหญ่จะเป็นผลดีกว่าในด้านการเพิ่มทรัพย์สิน สำหรับจำนวนเงินที่เหมาะสมนั้นเป็นคำตอบที่ยาก จึงมีการวัดผลออกมาว่าหากให้เงินในจำนวน 300 เหรียญสหรัฐต่อปี ประโยชน์ที่ได้รับจะอยู่ที่ระดับปานกลางในขณะที่หากมีการเพิ่มเม็ดเงินเป็นจำนวน 1,100 เหรียญสหรัฐต่อปี ผลประโยชน์ก็จะเติบโตสูงขึ้นไปด้วย การหาตัวเลขที่เหมาะสมกับอัตราผลประโยชน์ของเป้าหมายจึงเป็นภารกิจต่อไปของรัฐบาลที่จะต้องศึกษาต่อไป 

มาดูอีกประเทศหนึ่งที่มีการทดลองใช้นโยบาย UBI คือ ประเทศฟินแลนด์ โดยมีการกำหนดให้อัตราการสนับสนุนเงินจากนโยบาย UBI นั้นต่ำกว่าจำนวนเงินที่กลุ่มคนว่างงานได้รับเล็กน้อย ผลลัพธ์จากการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มทดลองที่ได้รับเงินสามารถหางานได้มากขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับเงินเล็กน้อย อีกทั้งผู้ได้รับเงินมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในขณะที่ทางด้านจิตใจ มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่ได้รับเงินนั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีความเครียด ภาวะซึมเศร้า และความรู้สึกเหงาน้อยลง อีกทั้งยังมีทักษะทางปัญญาดีขึ้นกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้รับเงิน กลุ่มคนที่ได้รับเงินยังมีความรอบคอบและความสามารถในการจัดการบริหารการเงินของตัวเองได้ ถึงแม้จะมีรายได้น้อยกว่ากลุ่มอื่น เช่นเดียวกับการวัดผลด้านความเชื่อใจ ซึ่งมีระดับสูงขึ้นทั้งต่อตนเองและชุมชนรอบข้างอีกด้วย กล่าวคือ มีผลประโยชน์ที่ดีขึ้นทั้งในทางระดับปัจเจกและระดับหน่วยสถาบันทางสังคม

ในด้านอุปทานแรงงาน ถึงแม้กลุ่มผู้ได้ที่รับเงิน UBI จะมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นเมื่อมีรายได้มาเติมเต็ม เช่น สามารถเลือกที่จะไปเรียนต่อ ดูแลบุคคลในครอบครัว หรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ แทน ก่อนเรื่องการเงินเป็นหลัก แต่ก็มีแรงงานจากส่วนอื่นๆ เข้ามาเติมเต็มอุปทานแรงงานที่ขาดหายไป ทำให้กรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่ออุปทานแรงงาน อีกทั้งยังทำให้ผู้ที่เป็นแรงงานมีทางเลือกในการตัดสินเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

มีผลการศึกษาจากธนาคารโลกในหลายประเทศ เช่น  ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย เม็กซิโก นิการากัว และฟิลิปปินส์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า นโยบาย UBI นี้ ไม่ได้มีผลต่ออุปทานแรงงานหรือชั่วโมงการทำงานใดๆ แต่ผู้มีรายได้พื้นฐานที่แน่นอนกลับมีความขยันทำงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาของ Overseas Development Institute พบว่า นโยบายเงินให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไขช่วยให้อัตราการเข้าเรียนเพิ่มสูงขึ้น การเป็นเจ้าของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น และการลงทุนเพื่อการผลิตก็เพิ่มขึ้นด้วย กล่าวได้ว่า มีผลในด้านดีทั้งอุปทานแรงงานและอุปทานการผลิต 

ในประเทศไทยมีผลการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ ในกรณีการลงทุนกับบคคลรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถส่งผลดีต่ออัตตราการเติบโตโดยรวม เช่น กรณีโครงการบ้านมั่นคง เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยโดยผลการศึกษาจากตางรางด้านล่างพบว่า หากเปรียบเทียบระหว่างประชากรผู้ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการบ้านมั่คงและประชากรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ประชากรที่ได้รับความช่วยเหลือและมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยมีอัตราเฉลี่ยการทำงานและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่โครงการอื่นๆ ที่พบการตกหล่นและรั่วไหลของรัฐมิได้มีการทำวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อติดตาม ประเมินผล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนในภายภาคหน้าต่อไป

แล้วรัฐบาลมีเงินพอหรือไม่ สำหรับ UBI ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีการถกเถียงและทำวิจัยมาอย่างยาวนาน เช่น การทำวิจัยจากธนาคารโลกในการประเมินผลจากกลุ่มประเทศยากจนทั่วโลกจะต้องใช้เงินทุนเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ในการสนับสนุนนโยบาย UBI เพื่อให้ประชาชนได้หลุดพ้นจากขีดความยากจน


สำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างประเทศไทย มีประชากร 66.5 ล้านคน โดยจัดสรรรายได้พื้นฐานตามเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,763 บาทต่อเดือน จะต้องให้งบประมาณทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท เป็น 13.05% ของ GDP ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายของภาครัฐอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาทซึ่งอาจมีผลกระทบสูง 

ข้อเสนอสำหรับการทำ UBI ในประเทศไทย ควรมีการทำเป็นลำดับขั้น เช่นอาจพุ่งเป้าที่คนจนและ “คนเกือบจน” ซึ่งมีความมั่นคงที่ไม่แน่นอนในชีวิตราว 9.73 ล้านคนในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 14.6 ของประชากรทั้งประเทศ) งบประมาณที่ใช้จะอยู่ที่ประมาณ 322,000 ล้านบาทหรือ 1.91% ของ GDP เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โจทย์ต่อมาเมื่อมีการจำกัดขอบเขตของเป้าหมาย คือการตกหล่นและรั่วไหล เนื่องจากเป้าหมายคือประชากรซึ่งมีสถานภาพทางเศรษฐกิจไม่แน่นอนตลอดเวลา เช่น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีผู้ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจจนหลุดข้ามมาสู่เขตคนยากจนสูงขึ้น 

ข้อเสนอด้านนโยบาย

ตามหลักคิดของ UBI เป็นแบบถ้วนหน้า โดยไม่มีเงื่อนไข และเป็นเงินสด ประเทศไทยอาจเริ่มต้นด้วยการให้แบบถ้วนหน้าตามกลุ่มประเภท เช่น อายุหรือช่วงวัย เพื่อนำร่องไปสู่การให้แบบถ้วนหน้าเมื่อการคลังมีรายได้มากขึ้น 

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ ตอนนี้ประเทศไทยมีการมอบเงินให้เปล่ากับผู้สูงอายุ แต่น้อยกว่าเส้นความยากจน และเด็กอายุ 0-6 ปี ซึ่งต้องได้รับการพิสูจน์ความจน หากใน 2 กรณีนี้ หากทั้ง 2 ช่วงวัยได้รับเงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้า และมีการขยายไปสู่เด็กโต 7-15 ปี รวมไปถึงเยาวชน 16-18 ปี กล่าวคือ เยาวชนผู้ที่มีอายุ 0 – 18 ปี และผู้สูงอายุจะสามารถได้รับเงินรายได้พื้นฐานก่อน ในกรณีนี้จะทำให้เงินรายได้พื้นฐานแบบถ้วนหน้าครอบคลุมประชากร 25.27 ล้านคน เป็นเงินงบประมาณ 837,852 ล้านบาท เทียบเท่า 4.96% ของ GDP 

ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีรายได้จากอัตราภาษี 15-19% ของ GDP ซึ่งมีอัตราการเก็บภาษีน้อย หากมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีสำหรับผู้มีรายได้สูงเพิ่มมากขึ้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีการขยายฐานรายได้ของรัฐจาก 15% เป็น 20% ทำให้รัฐมีรายได้มากพอที่จะมาสนับสนุนนโยบาย UBI เพิ่มขึ้น

ข้อสังเกตในกรณีของครอบเรือนประชากรที่ยากนั้น มักจะมีอัตราการพึ่งพิงสูง กล่าวคือ มีจำนวนของเด็กและผู้สูงอายุต่อผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานที่มาก จากสถิติด้านล่าง ครัวเรือนที่มีคนจนมาก จะมีอัตราของเด็กและผู้สูงอายุมากกว่าผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน

ข้อมูลในส่วนนี้สามารถตอบโจทย์นโยบาย ‘บันไดก้าวแรก’ของ UBI การให้เงินกับผู้สูงอายุและเด็กที่ไม่ได้อยู่ในวัยแรงงานเพื่อลดอัตราการพึ่งพิงในครัวเรือนที่ยากจนลงได้

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มที่ประสบปัญหาความยากจนมากที่สุดกลับไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก แต่กลับเป็นกลุ่มช่วงเด็กที่มีอายุ 7-14 ปีหรือเป็นช่วงเด็กโตแล้ว ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเด็กเล็ก โดยเฉพาะในส่วนของการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่ความเหลื่อมในอนาคต ทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และความมั่นคงของชีวิตในอนาคต กลายเป็น “ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น” 

ข้อเสนอการจัดเก็บภาษีแบบ Negative Income Tax (NIT) ผ่านการเชิญชวนทุกคนให้เข้าสู่ระบบภาษี เป็นสิ่งที่ทำการตรวจสอบความยากจนและความพร้อมในการรับเงินสนับสนุนจากนโยบาย UBI ได้ดีที่สุด เช่น หากใครที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับเงินจากรัฐบาลในการสนับสนุนความช่วยเหลือ ในทางตรงกันข้าม ผู้เสียภาษีที่มีรายได้ในระดับเกินเกณฑ์ความช่วยเหลือก็สามารถเสียภาษีไปตามปกติ หรือการประกันรายได้ ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นเช่น 12 เดือน ในขณะที่รัฐบาลมีการจัดตั้งเงินกองทุนสำหรับแรงงานในการพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสร้างงานต่อไป ข้อเสนอเหล่านี้สามารถเป็นก้าวแรกของ UBI สำหรับวัยแรงงาน

ความไม่มั่นคงของมนุษย์ ไม่ได้มีเพียงโรคระบาด แต่ภายหลังโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ การพลิกโฉมทางเทคโนโลยีและทางธุรกิจ ยังไม่นับรวมถึงความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ความไม่แน่นอนที่ไม่อาจคาดการณ์นี้จึงตอบสนองต่อความต้องการนโยบาย UBI เป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะสร้าง “หลังพิง” ให้กับประชาชนในการเผชิญความเสี่ยง เช่น กรณีวัยแรงงาน หากกลุ่มวัยเด็กและวัยสูงอายุสามารถเลี้ยงชีพของตนเองได้ ภาระของวัยแรงงานก็จะน้อยลงและมีความสามารถในการสร้างตัวเองให้มีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต UBI ยังช่วยเสริมสร้างความไว้ใจกันในการตัดสินใจของปัจเจกชนและอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังผลให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับชุมชน และสามารถพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งในระดับประเทศ

ถาม-ตอบ

หากเปลี่ยนจาก Universal Basic Income เป็น Universal Voucher แทน จะช่วยลดปัญหาการรั่วไหล และป้องกันการนำเงินไปซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยได้หรือเปล่า?

แน่นอน การให้เป็นคูปองหรือสิทธิการแลกซื้อ จะช่วยลดรายจ่ายไปได้มาก เพราะคนที่ไม่จำเป็นจะต้องได้รับสิทธินั้นก็จะไม่ใช้ เป็นหลักการพื้นฐานทั่วไปสำหรับรัฐบาลที่ต้องการจะลดรายจ่ายในส่วนนี้ก็จะหันไปใช้คูปองหรือ Universal Voucher แทน ในขณะเดียวกันการให้คูปองจะจำกัดทางเลือกในการตัดสินใจอย่างมาก โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น

  1. ค่าใช้จ่ายที่แต่ละคนจ่าย แตกต่างไปจากที่เราทราบ เช่น กรณีการศึกษา ประเทศไทยให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านการเรียนฟรี ทำให้กลุ่มประชากรรายได้น้อยในประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาน้อยกว่าประเทศรอบข้างพอสมควร ทำให้เป็นข้อดี แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่มประชากรรายได้น้อยที่สุดที่จำเป็นที่สุดในการศึกษาคือ ค่าเดินทาง ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยากในการกำหนดคูปองในการใช้จ่ายการเดินทาง เพราะตัวเลือกการเดินทางมีหลายช่องทางมาก เช่น รถประจำทาง รถโรงเรียน เรือ และอื่นๆ ทำให้การกำหนดนโยบายช่วยเหลือในส่วนนี้กำหนดได้ยาก
  1. กรณีการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หากนาย A ต้องการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ส่วนนาย B ต้องการปรับปรุงร้านของชำของตนเอง อุปสรรคที่พบคือความต้องการที่หลากหลาย แม้แต่กรณีการเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการอาจมีความต้องการที่แตกต่างลงไปในรายละเอียด เช่น ต้องการสร้างโรงเลี้ยง อาหารสัตว์ ยา พันธุ์สัตว์ หรืออุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ การกำหนดคูปอง เพื่อตอบสนองผลในการผลิตจึงทำให้เกิดข้อจำกัดในการผลิตและเป้าหมายการช่วยเหลืออย่างมาก 

ดังนั้นการออกแบบนโยบาย Universal Voucher จึงมีข้อจำกัดในหลายด้าน ในด้านการช่วยเหลือด้านการบริโภคอาจช่วยได้เพียง 50% แต่ในด้านการผลิตอาจช่วยได้น้อยถึงน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ  Universal Basic Income

ความยืดหยุ่นคือหัวใจสำคัญขอUniversal Basic Income ?

ถูกต้องและเป็นประเด็นสำคัญที่สุด เคยมีการขบคิดในแนวนี้ว่า การ “ให้ปลา” หรือการ “ให้เบ็ด” สิ่งใดเป็นแนวที่ดีที่สุด แต่การให้เงินอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้ทางเลือกแก่ผู้ใช้ว่าต้องการจะซื้อเบ็ดหรือซื้อปลา บางช่วงเวลา ปลาอาจสำคัญกว่าเบ็ด เพราะจำเป็นต้องอิ่มก่อนที่ปลาจะติดเบ็ด หรือบางครั้งเหยื่ออาจสำคัญกว่าเบ็ดและปลา หรือบางกลุ่มอาจมีทั้งหมดแล้วแต่ต้องการนำปลาไปแปรรูปเพื่อขายให้ที่อื่นๆ ดังนั้น ความยืดหยุ่นในการตัดสินใจจึงมีความสำคัญมาก ในทางตรงข้าม กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดตรงกันข้ามกับแนวคิดนี้มาก โดยเกิดมาจากความคิดความเชื่อที่ว่า คนจนมาจากการตัดสินใจที่ไม่ดี จึงกลายเป็นเหตุแห่งการทดลองใช้นโยบายนี้ในเคนยาและฟินแลนด์เพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่า หากเราอยู่ในสภาวะความเครียด โอกาสในการตัดสินพลาดจะมีสูงขึ้น เช่นนั้น UBI จึงถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขในส่วนนี้ เพื่อการตัดสินใจและการวางแผนชีวิตตนเองที่ดีขึ้น 

ในกรณีที่ประเทศไทยขาดแคลนทั้ง UBI และบริการสาธารณะถ้วนหน้า (Universal Basic Service, UBS) ควรเริ่มสร้างสิ่งใดก่อน หรือทั้ง 2 อย่างสามารถทำไปพร้อมกันได้

ทั้ง 2 อย่างควรทำไปพร้อมกัน ในส่วนของ UBS นั้น จะสามารถแทนที่ UBI ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนพ้นจากเส้นขีดความยากจน เพราะความยากจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการให้แจกอาหาร คนที่มีรายได้น้อยต้องการศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามมาตรฐานขั้นต่ำ ต้องการสิทธิในการวางแผนการใช้ชีวิต การวางแผนทางการเงินของตนเองในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่สวัสดิการเชิงสงเคราะห์ไม่ได้ตอบโจทย์ หากมีสวัสดิการสงเคราะห์แต่ชีวิตยังเหมือนเดิม คนกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าไปได้ แต่ถ้าหากคนกลุ่มนี้ได้รับทั้งเงินให้เปล่าและ UBS ที่ดีด้วย ก็ย่อมทำให้เงินที่ได้รับถูกใช้ไปในการวางแผนอนาคตที่ดีขึ้น UBS จึงสามารถแทนที่ UBI ได้เมื่อประชากรพ้นขีดความจนทั้งหมด หรือสามารถคาดการณ์ได้ว่าทุกอย่างในชีวิตมีความแน่นอนซึ่งเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งกำลังเผชิญปัญหาทั้งความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่แน่นอนในอนาคต UBI จึงยังคงตอบโจทย์มากที่สุดสำหรับสังคมไทย

ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงและเต็มไปด้วยนายทุนผูกขาด ผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากนโยบาย UBI จะกลายเป็นนายทุนผูกขาดหรือเปล่า?

ปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนทั่วไปและนายทุนใหญ่ ไม่ใช่ปัญหาของ UBI แต่เป็นปัญหาของการที่ประชาชนไม่มีทางเลือกที่จะหมุนเงินไปสู่ช่องทางอื่น ในขณะเดียวกัน UBI สามารถช่วยเพิ่มทางเลือกของเราได้มากขึ้น ในการหมุนเงินไปทางอื่น หมายถึง เพื่อนบ้านเราอาจจะตั้งร้านได้ เลี้ยงสัตว์ได้ และมีบริการเสริมเพิ่มมากขึ้น เพราะการมี UBI เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากการที่เราต้องนำเงินไปเสียให้กับบริการของนายทุนรายใหญ่ ดังนั้นการมี UBI จึงไม่ใช่การที่เรานำเม็ดเงินไปเสริมนายทุนรายใหญ่ แต่ทำให้เกิดวงจรการหมุนเงินใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งนี้ UBI มิได้กีดกันการนำเงินไปใช้กับนายทุนรายใหญ่ แต่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า UBI จะสามารถทำให้เกิดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก หรือธุรกิจใหม่ๆ เอง แต่หากเป็นนโยบายที่มีข้อจำกัด ในเวลาจำกัด แบบนโยบายอื่นๆ การใช้เม็ดเงินก็ต้องเสียไปกับนายทุนรายใหญ่ เพราะถูกบีบบังคับให้ใช้ในข้อจัดกัดและเวลาอันสั้นก่อนที่จะเสียสิทธิ์การใช้

ในกรณีของการผลิต UBI สามารถลดความจำเป็นในการประกอบอาชีพที่เกิดจากการบีบบังคับด้านสภาพคล่องทางการเงิน UBI สามารถทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้นในการประกอบอาชีพที่ตนสนใจ การเพิ่มทางเลือก จะสามารถทำให้ผู้คนสามารถก้าวออกจากการเป็นผู้สนับสนุนนายทุนรายใหญ่ได้

UBI ส่งเสริมความเป็นปัจเจกในการตัดสินใจของมนุษย์ ?

แนวคิดเรื่อง UBI เสริมหนุนความเป็นปัจเจกแน่นอน แม้แต่ในกรณีเยาวชน การที่ผู้ปกครองที่มีฐานะ มีเงินเก็บส่วนหนึ่ง และเยาวชนมีเก็บอีกส่วนหนึ่งจาก UBI ก็สามารถทำให้เยาวชนนำเงินส่วนดังกล่าวไปวางแผนชีวิตของตนเองได้ และเป็นความภาคภูมิใจของผู้คนในสังคมที่เกิดความเชื่อใจและส่งเสริมความเป็นภราดรภาพ เพราะนโยบาย UBI จะเกิดขึ้นได้จากภาษีและน้ำพักน้ำแรงของคนทุกคนในประเทศ

งบประมาณที่ใช้ไปกับ UBI จะนำไปสู่การทุจริตอย่างมหาศาลในระบบราชการหรือไม่ ?

คำตอบเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะการที่ออกแบบนโยบาย UBI ได้ รัฐจะต้องจัดหมวดงบประมาณขึ้นใหม่ โดยไม่ขึ้นกับกระทรวงเดิม และเงินก้อนนี้จะต้องถึงมือประชาชนโดยตรง ไม่ต้องผ่านส่วนราชการ เพื่อให้เกิดค่าใช้จ่ายระหว่างทางน้อยที่สุด หรือแม้แต่การประชุมสภาในด้านงบประมาณ การตัดสินใจส่วนนี้ต้องอยู่ในหมวดนี้โดยตรงซึ่งไม่สามารถแยกไปในส่วนอื่นๆ เช่น งบประมาณกลาโหม หรืองบประมาณของกระทรวงใดๆ ได้ ก็จะเกิดความโปร่งใส 

การทำ UBI ควรคาดหวังว่ารัฐจะต้องได้กำไรกลับมาจากการออกนโยบายเหมือนเป็นการลงทุนหรือเปล่า ?

เป็นสิ่งที่ตอบยาก แต่โดยครรลองแล้วควรจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากนโยบาย UBI สมควรจะสามารถเพิ่มพลังผลิตภาพของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น โดยเป็นการลงทุนกับประชาชน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นการลงทุนกับการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ แต่กรณีดังกล่าวนี้จำเป็นต้องใช้เวลานาน และต้องเติมเต็ม 3 ส่วน คือ ชดเชยสิ่งที่ผู้รับเงินควรจะได้จนกลับมาเติมเต็มและไม่ขาด การลงทุนของบุคคลจำเป็นต้องใช้เวลาก่อนที่จะแปรสภาพไปเป็น GDP ในอนาคต เมื่อกระแสโลกที่ไม่แน่นอนมีความเปลี่ยนแปลง เกิดธุรกิจแบบใหม่ กลุ่มคนจำต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนไปสู่แบบแผนใหม่ ย่อมต้องใช้เวลาอีกเช่นกัน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรคาดหวัง และควรศึกษาให้สัมฤทธิ์ เช่น UBI ก่อให้เกิดความเติบโตในเชิงเศรษฐกิจในกลุ่มใดบ้าง อย่างไร เพื่อออกแบบนโยบายอื่นๆ รองรับ

ในโลกนี้ยังไม่เคยมีใครมีโครงการ UBI ระยะยาวที่กินเวลาหนึ่งชั่วคนจริงๆ เราควรรอดูตัวอย่างของโครงการระยะยาว หรือเริ่มทำตอนนี้เลย ?

จริงๆ แล้วเห็นด้วยว่า ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับผลลัพธ์ระยะยาวของนโยบาย UBI แต่ไม่มีความจำเป็นต้องรอ เพราะ UBI มี 2 สถานะ คือ แนวคิด และความเชื่อ-ปรัชญา อีกด้านคือมาตรการด้านนโยบาย หากเราเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิที่บุคคลควรจะได้  และสามารถเริ่มทำได้จากจุดเล็กๆ เพื่อหาสมดุลตรงกลางและสามารถทำเป็นระบบแล้วค่อยๆ ขยายสู่วงกว้างในระดับชาติ 

เหตุการณ์ที่ทำให้อาจารย์ลุกขึ้นมาผลักดันเรื่อง UBI ในไทย ?

“เมื่อเราพูดถึงเรื่อง UBI นั้น ค่อนข้างเป็นความคิดที่ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นใน 3-4 นี้เอง แต่ผมเจอกับตัวเองเมื่อ 15 – 16 ปีที่แล้ว เมื่อเดินทางไปเรียนที่เดนมาร์ก โดยได้รับเช็คจากทางราชการ ซึ่งจ่ายเป็นชื่อภรรยา ผมได้นำไปถามกับอาจารย์ที่ปรึกษา โดยอาจารย์อธิบายว่า นี่เป็นเช็คที่จ่ายให้ลูกสาวของผม ซึ่งลูกสาวไม่ได้ขึ้นทะเบียนใดๆ เพียงเดินทางเข้าประเทศ และผมได้เช็คอัตโนมัติ”

“ความน่าสนใจประการที่ 2 คือ ปริมาณเงิน ซึ่งผมอยู่ในสถานะนักเรียนที่ศึกษาต่อ ได้รับเงินเป็นจำนวน 8,000 โครนเดนมาร์ก ซึ่งเป็นรายได้ขั้นต่ำ (ประมาณ) แต่ลูกผมได้รับ 2,000 โครนเดนมาร์ก ซึ่งไม่น้อยเลย ประการที่ 3 ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือผมเดินทางไปติดต่อเทศบาลว่าภรรยาผมเพียงเดินทางอาศัยด้วยเท่านั้น จึงขอให้สั่งจ่ายเป็นชื่อของผมแทน ในขณะที่ทางเทศบาลปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า มีการศึกษาวิจัยว่า การให้เงินกับภรรยาดีกว่าให้เงินกับสามี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบุตรมากกว่า ซึ่งถือเป็นความคิดเบื้องหลังที่คล้ายกับ UBI ซึ่งตัวผมไม่ทราบด้วยซ้ำว่าจะได้ และไม่มีการถามว่า ผมได้รายได้เท่าไหร่ ใกล้กันนี้ผมก็พาลูกไปเข้าลูกเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน โดยที่เขาแนะนำว่าโรงเรียนมีคุณภาพสม่ำเสมอกันหมด” 

ต่อมาโรงเรียนก็ตรวจสอบรายได้ของผม ซึ่งเป็นรายได้ที่น้อย โรงเรียนจึงแจ้งว่าไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โดยที่หากเสียค่าเล่าเรียน ผู้เสียจะต้องไปชำระที่เทศบาล ในส่วนนี้ทำให้โรงเรียนไม่ทราบเลยว่าใครคือลูกหลานของคนที่มีเงิน หรือไม่มีเงิน สิ่งนี้ทำให้ผมตกใจมาก เพราะนี่คือการที่ทำให้โรงเรียนไม่รับทราบข้อมูลบางอย่าง เพื่อความเท่าเทียม และกลายเป็นตัวอย่างที่ค่อยๆ ประกอบกันกลายเป็น UBI 

หลังจากลูกเข้าเรียนได้ 2 สัปดาห์ โรงเรียนได้เชิญผู้ปกครองไปที่โรงเรียนและแจ้งเจตจำนงให้ผู้ปกครองทราบว่า ลูกสาวไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษและเดนมาร์กได้ จำเป็นต้องใช้ล่าม ผมจึงสอบถามต่อไปว่า จำเป็นต้องจ่ายเงินเท่าไหร่สำหรับล่าม ทางโรงเรียนตกใจมาก และแจ้งว่า สิ่งเหล่านี้คือความรับผิดชอบของโรงเรียนที่ต้องสื่อสารกับนักเรียนให้ได้ ผมจึงถามไปว่า ถ้าอย่างนั้นเหตุใดโรงเรียนจึงไม่ลงมือทำเลย เหตุใดต้องสอบถามผู้ปกครองอีก โดยทางโรงเรียนได้ให้ข้อมูลว่า เพราะล่ามคือคนสำคัญที่สุดสำหรับลูกคุณ คือเป็นประตูเดียวในช่องทางการสื่อสารกับคนทั้งหมด จำต้องนำคนที่เป็นล่ามมาขออนุญาตผู้ปกครอง และนำแฟ้มประวัติมาให้เลือกว่าผู้ปกครองจะเลือกใคร

จึงเป็นปณิธานของผมในการกลับมาเมืองไทยและต้องเริ่มเสนออะไรสักอย่างที่ทำให้มันดีขึ้น ถึงแม้ไม่เท่ากับเดนมาร์ก แต่มันสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคนได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ 

สำหรับ UBI มันเกิดมาจากคำถกเถียงกันในเรื่องตกลงจะให้ปลาหรือจะให้เบ็ด แต่เมื่อเจอกรณีของเคนยา แล้วพบว่า บางครั้งมันอยู่ที่ความยืนหยุ่นในการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่คำตอบสมบูรณ์ว่าจะให้ปลาหรือเบ็ด บางครั้งการให้เงินไปเลย เราอาจจะได้คำตอบว่า เขาจะนำเงินไปใช้เพื่อปลา เพื่อเบ็ด หรือเพื่อไหปลาร้าก็ได้ ผมจึงมีความเชื่อมากขึ้นว่า ทุกคนมีขีดความสามารถในการตัดสินใจ เพียงแต่สภาวะบางอย่างมันไม่เอื้อให้เกิดการตัดสินใจอย่างดีพอ จึงเป็นที่มาของความสนใจใน UBI

UBI เริ่มต้นได้วันนี้ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้เลยหรือไม่ ? และอีก 5 ปีข้างหน้า อาจารย์เห็นอนาคตของ UBI ในไทยเป็นอย่างไร ?

“ผมคิดว่า ลำดับแรก หากเราเชื่อมั่นว่า UBI เป็นเส้นทางที่ดีกว่า ก็สามารถทำได้ทันที เพราะเงินที่สนับสนุน UBI ก็มาจากภาษีประชาชนทุกคน โดยหากตั้งภายใต้กรอบความคิดนี้ย่อมเป็นประโยชน์แน่ เริ่มจากการตั้งเป้าจากพื้นฐานความคิดบางอย่าง เช่น ถ้วนหน้า บนรายได้พื้นฐาน 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน ทำการประเมินผลได้ และวางแผนขยายออกไปในวงกว้าง หากว่าขั้นตอนแรกประสบผลดีกับประชาชน สิ่งเหล่านี้ เราต้องตอบให้ได้ดีขึ้นว่า ประชาชนนำไปใช้ทำอะไร ต่อไปเราจะต้องออกแบบบริการที่เข้ามาเสริม แต่บริการเสริมแบบใดที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรูปแบบต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุ ทำอย่างไรที่ไม่มีปัญหาเมื่อเขาเป็นผู้ที่ติดบ้านหรือติดเตียง ระบบบริการแบบใด ระบบการเงินแบบใด ที่สามารถทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ค่อยๆ ทยอยเก็บหรือทยอยจ่ายด้วยพื้นฐานเงินเหล่านี้ได้

ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะก้าวไปสู่ UBI ได้เลย ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หรือในกรณีที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการให้ผู้สูงอายุ แต่เป็นกลุ่มแรงงานต่างหากที่ควรได้ โจทย์ก็จะเปลี่ยนกลุ่มไปแต่เป็นเค้าโครงแบบเดิม เพื่อลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มนุษย์ในระดับหลักล้านคนต้องเผชิญในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ วัยแรงงานที่น้อยลงทุกปี และการเกิดใหม่ของเด็กที่น้อยลง สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยต้องเตรียมรับมือเพื่อให้ทุกๆ คนมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า