New Normal : การทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นเรื่องปกติถาวร

1 กรกฎาคม 2563

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้แพร่กระจายไปทุกหนแห่ง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกชนชั้น สร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การเมือง โครงสร้างรัฐ และโครงสร้างทางสังคมซึ่งยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในเร็ววัน วิกฤตโควิด-19 ได้เผยให้เห็นถึงโครงสร้างรัฐราชการรวมศูนย์ที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาด  

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว ออกประกาศคำสั่งต่างๆ จำกัดเสรีภาพของประชาชนด้วยเหตุในการรักษาสุขภาพให้รอดพ้นจากโรคระบาด วิกฤตโควิด-19 ทำให้สภาวะยกเว้น (State of Exception) ปรากฏกายขึ้นมาอย่างเด่นชัด รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้สภาวะยกเว้นในการปกครองเรา ทำให้เรื่องผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติ และทำให้เรื่องปกติกลายเป็นเรื่องผิดปกติ จนเราคุ้นชินไปเสียแล้ว  

ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะพาไปสำรวจนิยามหรือลักษณะทั่วไปของสภาวะยกเว้น ปัญหาข้อพิจารณาทางกฎหมายของความคิดเรื่องสภาวะยกเว้น ปัญหาของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงวิกฤติการโควิด-19  และชวนตั้งคำถามกับ “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” ในสังคมไทย  

นิยามและลักษณะทั่วไปของสภาวะยกเว้น 

“สภาวะยกเว้น (State of Exception)” เป็นข้อความคิดหนึ่งในทางทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจรัฐ และข้อความคิดเรื่องสภาวะยกเว้น มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยโรมัน เป็นเรื่องของการใช้อำนาจพิเศษที่ในสมัยโรมันมีข้อความคิดเรื่อง ผู้เผด็จการ หรือ Dictator  ในช่วงวิกฤติการจำเป็นต้องเอาอำนาจไปรวมศูนย์ไปไว้กับผู้ปกครองเพียงคนเดียว เพื่อใช้อำนาจพิเศษนั้นในการจัดการแก้ไขปัญหา บางสถานการณ์ในสมัยโรมันอาจมีการให้สภาสูง (Senate) ออกประกาศพิเศษที่ชื่อว่า Senatus Consultum Ultimum เพื่อที่จะเข้ามาแก้ไขในสถานการณ์วิกฤต 

เมื่อมาสู่ศตวรรษที่ 15-16 นักปรัชญาเมธีปรัชญาการเมืองตั้งแต่ ฌอง โบแดง (Jean Bodin) นิกโกเลาะ มาเกียเวลลี (Nicolo Machiavelli ) และ แกเบรียล โนเดร่ (Gabriel Naudé) พยายามอธิบายการใช้อำนาจรัฐด้วยข้อความคิดเรื่องเหตุผลของรัฐ  (Reason of State) ถ้าเหตุผลของรัฐเรียกร้องเหตุผลบางประการเพื่อให้รัฐเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา รัฐย่อมมีอำนาจนั้น นี่คือเหตุผลทางประวัติศาสตร์  

แต่เมื่อมาถึงยุคร่วมสมัยในปัจจุบันก็จะปรากฎใน “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีบทบัญญัติบางมาตรายอมให้มีการโยกย้ายถ่ายโอนอำนาจไปให้กับผู้ปกครอง เช่น ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี หรือมีการให้รัฐสภาออกกฎหมายโอนอำนาจนิติบัญญัติไปให้ฝ่ายบริหาร หรือเป็นกฎหมายเฉพาะพิเศษออกมา เช่น กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Law) หรือ กฎอัยการศึก (Martial Law) ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะมีลักษณะร่วมกันของสภาวะยกเว้น คือ  

1.มีการยกเว้นกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในระบบปกติ ระบบปกติดำเนินต่อไป แต่เมื่อมีสภาวะยกเว้นเกิดขึ้นจะยกเว้นกฎเกณฑ์ในสภาวะการณ์ปกติ 

2. มีการรวมอำนาจให้กับฝ่ายบริหารหรือผู้ปกครองในการใช้อำนาจเหล่านั้นในการแก้ไขวิกฤติ  

3. อนุญาตให้มีการออกมาตรการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้มากกว่าปกติ  

สองด้านในเหรียญเดียวกัน : องค์ประกอบของสภาวะยกเว้น 

สภาวะยกเว้น มีองค์ประกอบด้วยกัน 3 ส่วน องค์ประกอบแรก คือต้องมี “เหตุแห่งวิกฤติ” เหตุอะไรเกิดขึ้นจึงจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เหตุอะไรเกิดขึ้นถึงจะเป็นสภาวะยกเว้นได้ หลังจากมี “เหตุ” เกิดขึ้นแล้วเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสภาวะยกเว้นแล้ว องค์ประกอบที่สอง. คือ ออกมาตรการที่ให้อำนาจพิเศษ และองค์ประกอบสุดท้าย คือ การใช้สภาวะยกเว้นนั้นทำไปเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์  

องค์ประกอบทั้งสามนี้เริ่มพิจารณาจาก “เหตุ” ถ้าหากไม่มีเหตุแล้วประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสภาวะยกเว้นประชาชนคงไม่ยอมเป็นแน่ เพราะประชาชนเขาใช้ชีวิตปกติอยู่ ใช้สิทธิเสรีภาพอยู่ดีๆ รัฐมาประกาศละเมิดสิทธิมากกว่าเดิมได้อย่างไร อยู่ดีๆ มาละเมิดกฎหมาย ละเว้นกฎหมายมากกว่าเดิมได้อย่างไร ดังนั้น รัฐจึงต้องมี “เหตุ” ที่จะมาอธิบาย เหตุเหล่านี้เรียกรวมๆว่า “วิกฤต (Crisis)” เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ  การก่อการร้าย  การชุมนุมขนาดใหญ่ การนัดหยุดงานในวงกว้าง  

เมื่อวิกฤตการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นก็เรียกร้องให้รัฐจำเป็นต้องมีอำนาจพิเศษ รัฐจึงออกมาตรการให้อำนาจพิเศษออกประกาศหรือคำสั่งละเมิดสิทธิเสรีภาพได้มากขึ้นตามมา เช่น  ห้ามออกจากบ้านตอนกลางคืน  มีอำนาจในการจับกุมคุมขังได้ในระยะเวลามากกว่าที่กฎหมายปกติกำหนด  มีอำนาจในการห้ามสื่อสิ่งพิมพ์  มีอำนาจในการห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น  ซึ่งมาตรการทั้งหมดนั้นทำไปเพื่อรักษารัฐและคลี่คลายวิกฤติ  

แต่หากมองลงไปให้ลึกมากขึ้น รัฐ (State) กับความคิดเรื่องสภาวะยกเว้น (State of Exception) นั้น เป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่กับความเป็นรัฐมาโดยตลอด  แม้ทุกวันนี้เราจะบอกว่าอุดมการณ์แบบเสรีนิยมประชาธิปไตยเบ่งบานไปทั่วโลก อุดมการณ์แบบนิติรัฐประชาธิปไตยเบ่งบานไปทั่วโลกในนามของ “Rule of Law” รัฐใดที่ไม่ได้เป็นก็ต้องพยายามเป็น รัฐใดไม่เป็นก็ต้องบอกว่าตนเองเป็นแล้ว เนื่องจากเป็นอุดมการณ์ที่ยึดครองโลกในปัจจุบัน คือ ระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy)  ในสภาวะปกติ เรามักจะบอกว่ารัฐแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นรัฐใช้อำนาจแบบจำกัด ใช้อำนาจตามกรอบของกฎหมาย เขาเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุไปกระแทกที่กล่องดวงใจของรัฐ รัฐเหล่านี้ก็ไม่ลังเลใจที่จะแสดงตัวเองจะเปิดเผย “อสูรกาย” ที่แท้จริงของตัวเองออกมาใช้ สภาวะยกเว้นทำให้มีอำนาจมากในการเข้าจัดการวิกฤตการณ์ต่าง ๆ  

แน่นอนว่ารัฐเผด็จการใช้อำนาจเหล่านี้อยู่สม่ำเสมอ แต่รัฐที่เป็นรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยเอาเข้าจริงก็มีสภาวะยกเว้นซ่อนอยู่ โดยไม่แสดงตัวอย่างเปิดเผย ถึงเวลาเมื่อไหร่ก็จะเปิดเผยออกมาให้เห็น ดังนั้น รัฐที่เราเห็นหน้าฉากว่าเป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน มีผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญประกันสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อใดก็ตามที่วิกฤตการณ์มาถึง รัฐก็พร้อมที่จะเปิดเผยโฉมหน้าความรุนแรงของรัฐที่ซ่อนอยู่ 

ในความเป็นจริงแล้ว ข้อความคิดเรื่องสภาวะยกเว้นนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเป็นรัฐ อยู่คู่ในฐานะที่ต้องการรักษารัฐ การที่ดำรงอยู่ของรัฐ การถือกำเนิดของรัฐก็เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการบางอย่าง เช่น รัฐ A ก่อตั้งขึ้นมา ปกครองด้วยระบอบ A วันหนึ่งเราอยากจะเปลี่ยนรัฐ A เป็นรัฐ B ระบอบ B การที่จะไปทำลายรัฐ A ระบอบ A ได้ ก็ต้องใช้อำนาจพิเศษไปทำลาย เพราะถ้าไปใช้อำนาจปกติไม่มีทางทำลายได้ เพราะมีกรอบในการรักษารัฐอยู่ แต่หากใช้อำนาจพิเศษไปทำลายก็จะหายไป ดังนั้น รัฐทุกประเภทที่ดำรงอยู่ในทุกวันนี้  ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการหรือรัฐประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นวันแรกก็ด้วยอำนาจพิเศษแบบนี้ ระบอบการปกครองแบบ A ระบอบการปกครองแบบ B เกิดขึ้นได้จากการไปล้มระบอบก่อนหน้าตัวเองด้วยอำนาจพิเศษ และเมื่อก่อตั้งมาแล้วก็มีภัยคุกคามตัวมันเอง จึงต้องมีกลไกอำนาจพิเศษมาปกป้องรัฐและระบอบของตัวเอง จึงชวนคิดไปให้ไกลกว่าเดิมว่า เบื้องหน้าที่เห็นว่ามีการประกันสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ศาล แต่เบื้องหลังของความเป็นรัฐนั่นคือความรุนแรง และอำนาจพิเศษทั้งสิ้น 

ข้อพิจารณาในทางกฎหมายของข้อความคิดเรื่องสภาวะยกเว้น 

ข้อพิจารณาในทางกฎหมายหรือนิติศาสตร์ต่อข้อความคิดเรื่องสภาวะยกเว้น การใช้อำนาจพิเศษ ยกเว้นกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกาที่ใช้อยู่ในระบบปกติ และใช้แบบพิเศษแทนที่ หากมองให้ลึกขึ้นต่อให้ไม่ได้เรียนนิติศาสตร์ ไม่ได้เรียนกฎหมายมา แต่เมื่อหยิบจับกฎหมายขึ้นมาจะเห็นว่ามีมาตราที่ระบุเนื้อหาไว้อย่างชัดเจน หากไม่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็จะมีธรรมเนียมปฏิบัติ จารีต ประเพณี ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาซ้ำๆ จนคนเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ต่างก็มีองค์ประกอบที่ทำให้มันกลายเป็นกฎเกณฑ์ (norm) ขึ้นมา  

กฎเกณฑ์หรือ norm คือข้อกำหนดที่ต้องการกำหนดให้คนปฏิบัติตาม หรือไม่ปฏิบัติตาม หากเราเลือกที่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามก็จะมีผลลัพธ์ตามมา  

หากเราไปสำรวจกฎหมาย ก็จะพบว่ามีโครงสร้างของประโยคที่เรียกกันว่า ประโยคในทางกฎหมายจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ หนึ่ง. ส่วนที่เป็นเหตุ กับ สอง. ส่วนที่เป็นผล  ส่วนที่เป็นเหตุ หมายถึง หากมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นครบถ้วน ส่วนที่สองคือผลทางกฎหมายจะตามมา เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้บุคคลฆ่าผู้อื่นถึงแแก่ความตาย ถ้ามีใครไปฆ่าคนตายคือองค์ประกอบส่วนเหตุครบ ผลตามมาคือมีโทษ มีความผิด จำคุก เป็นต้น ไม่ว่าเขียนกฎหมายกี่พันกี่หมื่นฉบับ มันจะกลายเพียงแค่ตัวอักษรบนเศษกระดาษถ้าหากไม่มีอำนาจไปใช้กฎหมายนั้นให้เกิดผล 

ถ้าเกิดไม่มีกฎหมายเลย ใช้อำนาจแต่เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะเกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของเราได้ เกิดความไม่แน่นอนชัดเจนว่าเรื่องใดใช้อำนาจแบบไหน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการผสมผสานไว้ด้วยกันคือ มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีอำนาจบังคับใช้ให้เกิดผลด้วย นักปรัชญาเมธีนาม จอร์โจ้ อกัมแบน (Giorgio Agamben) ได้เอากฎหมายโรมันมาอธิบายกับเรื่องนี้ว่า potestas คือ ส่วนที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์ เราเขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมาแบบหนึ่ง แต่กฎเกณฑ์จะมีผลใช้ได้จริงต้องมี “อำนาจ” หรือ auctoritas เพื่อบังคับใช้กฎหมายให้มีผลเกิดขึ้นจริงด้วย 

ข้อพิจารณาในทางกฎหมายของข้อความคิดเรื่องสภาวะยกเวันประการต่อมา คำถามคือสภาวะยกเว้น ยกเว้นอะไร? ยกเว้นกฎเกณฑ์ หรือยกเว้นอำนาจที่เอาไปบังคับใช้กฎเกณฑ์ ? 

นี่เป็นปัญหาที่นิติศาสตร์ตอบไม่ได้ ไม่มีทางไปตอบได้ว่ายกเว้นอะไรกันแน่ ปัญหาคือถ้าไปยกเว้นกฎเกณฑ์หมายความว่า เราใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว ใช้ตามอำเภอใจได้หรือไม่ ? หรือถ้าหากว่าเราไม่ได้ยกเว้นกฎเกณฑ์ ตัวกฎเกณฑ์ก็ยังคงอยู่ แต่ไปยกเว้นอำนาจในการบังคับใช้กฎเกณฑ์ก็ทำให้กฎเกณฑ์ไม่มีผลเกิดขึ้นจริง นี่จึงเป็นคำถามเหมือนงูกินหาง  

เมื่อเราประกาศใช้สภาวะยกเว้นแล้ว ปัญหาข้อพิจารณาของสภาวะยกเว้นที่ตามมาคือ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจในการยกเว้นกฎหมายหรือไม่ ต้องมีกฎหมายที่ให้อำนาจสภาวะยกเว้นหรือไม่ หรือขึ้นชื่อว่าสภาวะยกเว้นไม่ต้องมีกฎหมาย อยากทำอะไรก็ทำไปเลย นี่ก็เป็นปัญหาที่นิติศาสตร์ถกเถียงกันมาโดยตลอด ฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจพิเศษ เพราะความผาสุขของประชาชนคือกฎหมาย เพราะความจำเป็นคือกฎหมายในตัวมันเอง ต่อให้ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มี พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่มีกฎอัยการศึก ไม่มีกฎหมายอะไรเขียนว่าจะให้อำนาจพิเศษแก่ใครอย่างไร  

การใช้สภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นเมื่อความผาสุขของประชาชนเรียกร้อง เกิดขึ้นเมื่อ “ความจำเป็น” เรียกร้อง นักปรัชญาเมธีในกลุ่มนี้มักอธิบายว่า ความจำเป็นคือกฎหมายในตัวมันเอง  ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญให้อำนาจพิเศษ หรือพระราชบัญญัติให้อำนาจพิเศษอะไร ขึ้นชื่อว่าความจำเป็นก็สามารถใช้อำนาจพิเศษได้เลย อีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านเสียงแข็งว่า จะใช้อำนาจพิเศษตามอำเภอใจไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีกฎหมายเขียนการให้อำนาจไว้ หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจก็ไม่สามารถใช้อำนาจได้ 

เรามาสำรวจดูกันว่ากฎหมายเขียนให้อำนาจต้องเป็นระดับไหน ระดับรัฐธรรมนูญ หรือต้องเป็นระดับพระราชบัญญัติรองลงมา  

ฝ่ายแรกบอกว่า ความจำเป็นคือกฎหมายในตัวมันเอง แต่ฝ่ายหลังอธิบายว่าความจำเป็นสร้างกฎหมายขึ้นมา  ความจำเป็นเรียกร้องให้ไปสร้างกฎหมายแบบสถานการณ์ฉุกเฉิน ​ต้องตรา พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขึ้นมา เพราะถ้าไม่มีกฎหมายก็แก้ไขปัญหาไม่ได้​ ความจำเป็นเรียกร้องว่ารัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งเพื่อให้อำนาจพิเศษแก่ประธานาธิบดีในการรวบอำนาจเข้าหาตนเอง เพราะฉะนั้น มีสองวิธีคิดที่ถกเถียงกัน แต่ท้ายที่สุด ลองมาดูในทางปฏิบัติแล้วลองมองย้อนกลับไป เราก็จะเห็นว่าถกเถียงกันไปแก้ไขปัญหาไม่ได้เลย  

ลองย้อนดูในทางปฏิบัติกับตัวอย่างของประเทศไทย  เรามีกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลหรือไม่? คำตอบคือมีชัดเจน  มีทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติ  สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐธรรมนูญให้อำนาจพิเศษแก่นายกรัฐมนตรี นั่นคือ มาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐตรีในการออกประกาศคำสั่งใดก็ได้มีผลเป็นนิติบัญญัติ  บริหาร  ตุลาการ  สมัยนั้นกล่าวกันว่า มาตรา 17 นั้นสามารถเอาคนไปประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  ไม่ต้องเอาไปขึ้นศาล  คำสั่งของจอมพลสฤษดิ์โดยใช้มาตรา 17 เพียงมาตราเดียวสามารถประหารชีวิตได้เลย   

และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีคือ มาตรา 44 ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ที่ให้อำนาจพิเศษแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการออกประกาศคำสั่งใดๆ ก็ได้ มีผลเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการเป็นที่สุด และชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ นี่คือรัฐธรรมนูญมอบอำนาจพิเศษให้กับหัวหน้า คสช. ระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก็มี พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ให้อำนาจพิเศษกองทัพ  พระราชกำหนดซึ่งมีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ  พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ก็เป็นการโอนอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรี เรายังมี พระราชบัญญัติความมั่นคงราชอาณาจักร กฎหมายพิเศษเหล่านี้ก็มีเขียนในระดับพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน  

ข้อพิจารณาในทางกฎหมายของข้อความคิดเรื่องสภาวะยกเว้นประการถัดมา คือ ประเทศไทยเคยมีการประกาศสภาวะยกเว้น สภาวะความจำเป็นบางอย่างโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจหรือไม่ ?  

คำตอบคือมี นั่นคือการก่อรัฐประหาร  เวลายึดอำนาจไม่มีการทำตามกฎหมายข้อใด ไม่มีกฎหมายให้อำนาจกองทัพทำรัฐประหาร  นี่จึงเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ  ล้มล้างรัฐธรรมนูญ  ผิดกฎหมายอาญามาตรา 113 มีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร  โทษสูงสุดคือประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต   

การรัฐประหารผิดระบบ ผิดกฎหมายชัดเจน ไม่มีกฎหมายมาตราใดในราชอาณาจักรไทยที่อนุญาตให้ทหารทำรัฐประหารได้  คำถามคือแล้วการรัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไรตั้งื 10 กว่าครั้ง ทั้งๆ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ คำตอบก็คือ เพราะเขาบอกว่ามีความจำเป็นในการใช้สภาวะยกเว้น ใช้อำนาจพิเศษ เช่น มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  มีการทุจริตคอรัปชั่น  ต้องการปราบภัยคอมมิวนิสต์  มีความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือ “ความจำเป็นที่จะต้องรัฐประหาร” นั้นเอง  

ลองสังเกตุการประกาศกฎอัยการศึกหลังรัฐประหารทุกครั้ง คณะรัฐประหารไม่เคยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกเลยเเม้แต่น้อย แต่ก็ยังอ้าง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก นี่คือความยอกย้อนที่สุดของการใช้สภาวะยกเว้นสถานการณ์พิเศษในประเทศไทย เรามีทุกแบบตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญให้อำนาจ พระราชบัญญัติให้อำนาจ พระราชกำหนดให้อำนาจ จนมาถึงไม่มีอะไรให้อำนาจเลยแต่ก็อ้างเหตุความจำเป็นในการใช้อำนาจพิเศษ จนมาถึงอ้างกฎหมายว่ามีกฎหมายให้อำนาจ แต่ก็ไม่ได้ทำตามกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่จะนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า กฎหมายไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้เวลาเกิดสภาวะยกเว้น สถาณการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ เพราะในท้ายที่สุดก็ไปตัดสินกันที่อำนาจในทางความเป็นจริง 

ปัญหาการประกาศสภาวะฉุกเฉินและการใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  

ปัญหาของพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีปัญหาใหญ่อยู่ 2 ประการ 

ประการที่ 1 อำนาจการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้อำนาจการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้แก่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี คือ นายกเป็นคนประกาศ แต่ว่าต้องเอาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อประกาศไปแล้วก็มีระยะเวลาในการประกาศ สามารถต่ออายุได้อีกครั้งละไม่เกิน 3 เดือน สิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดในประเทศไทยคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548 หลังจากนั้นก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตสามจังหวัดชายเเดนภาคใต้ และตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 15 ปียังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ที่สามจังหวัดชายเเดนภาคใต้อยู่ 

หลังจากนั้นเราก็มีการนำ พ.ร.ก. ฉบับนี้มาใช้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติสึนามิ การชุมนุมทางการเมือง ล่าสุดก็นำมาใช้กรณีวิกฤตโควิด-19 ปัญหาในเรื่องของอำนาจการประกาศอยู่ตรงนี้ ฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมเป็นผู้มีอำนาจดุลยพินิจเต็มที่ในการประเมินว่ามีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่? นี่คืออำนาจโดยเเท้ของฝ่ายบริหารที่จะประเมิน แต่การประกาศเหล่านี้ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันระหว่างสถาบันทางการเมือง 

องค์กรสำคัญที่สามารถถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารได้ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ถ้าหากไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินตามอำเภอใจ และสามารถต่อระยะเวลาในการประกาศออกไปได้ไม่มีสิ้นสุด ดังนั้น จึงต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล  

ระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่หลายประเทศคิดค้นขึ้นมา คือ เอารัฐสภาเข้าไปถ่วงดุล ยกตัวอย่างเช่น เรายอมรับให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน หรือสองเดือนต้องนำกลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติ หลากหลายประเทศทำแบบนี้ เเต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่ได้เขียนประเด็นนี้ไว้ เท่ากับว่าให้อำนาจนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปไม่มีที่สิ้นสุดไม่ต้องมาถามรัฐสภาอีกต่อไป  

ประการที่ 2  คือ การใช้องค์กรตุลาการเข้ามาตรวจสอบ เวลานายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นคนประเมินว่า มีความจำเป็นในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ หากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว นายกฯขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปโดยไม่มีระยะเวลากำหนด ใขณะที่คนทั่วไปเห็นแล้วว่าไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินอีกแล้ว  

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีโอกาสตรวจสอบโต้เเย้ง เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะเอาไปโต้เเย้งกันที่องค์กรตุลาการ หลากหลายประเทศกำหนดกันว่า ถ้าเวลาผ่านไปพอสมควร ประชาชน หรือองค์กรอิสระบางองค์กร อย่างเช่น กรรมการสิทธิมนุษยชาติ หรือผู้ตรวจการเเผ่นดิน หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันไปส่งไปที่ศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาว่า ณ วันนี้ ความจำเป็นของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไปต้องเปิดโอกาศให้มีการตรวจสอบทบทวนว่าผ่านไป 3 เดือนยังฉุกเฉินอยู่หรือไม่ ในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้สถานการณ์มา15 ปี เช่นนี้ยังฉุกเฉินอยู่หรือไม่ 

กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความน่าสนใจอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเนื่องกันมา 15 ปี นี่ไม่ใช่สภาวะยกเว้น แต่เป็นการทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นเรื่องปกติถาวร เพราะฉะนั้น ระบบตรวจสอบถ่วงดุลจึงมีความสำคัญอย่างมาก เรายอมรับอำนาจในการประกาศว่าเป็นของฝ่ายบริหาร แต่เมื่อประกาศไปแล้วต้องมีโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้เข้ามาตรวจสอบ เช่น สิ้นสุดการประกาศจะต่ออายุต้องให้สภาอนุมัติ ไม่ใช่ฝ่ายบริหารประกาศกันเอง ไม่ใช่ต่ออายุกันเอง หรือต้องให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาตรวจสอบ มีคนไปโต้เเย้งได้ว่า ณ เวลานี้ไม่ฉุกเฉินอีกต่อไป ให้ศาลมายกเลิกประกาศสถานการณ์ณ์ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้น นี่คือกลไกการที่ พ.ร.ก ฉบับนี้ควรจะต้องไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป  

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญ เวลาสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว ทำให้ฝ่ายบริหาร ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมาก อำนาจก็มารวมศูนย์เอาไว้เต็มไปหมด ปรากฏว่าพอ พ.ร.ก.นี้ออก ก็ไปยกเว้นกฎหมายสำคัญๆ อยู่หลายฉบับ เช่น ยกเว้นกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ยกเว้นกฎหมายศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง  

กระบวนการขั้นตอนออกคำสั่งออกประกาศต่าง ๆ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองจะกำหนดเอาไว้เช่น ต้องเรียกคนมาชี้แจง ต้องออกคำสั่งด้วยความระมัดระวังการละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น มีกระบวนการขั้นตอนที่ชัดเจน แต่เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงยกเว้นกฎหมายนี้ทั้งฉบับ ทำให้กระบวนการออกคำสั่งทั้งหมดไม่ถูกตรวจสอบในนามของความฉุกเฉินจำเป็น แต่การตรวจสอบหลังจากการใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เสียหายได้โต้เเย้งตรวจสอบทบทวนว่า มาตราการที่ออกมาประกาศคำสั่งที่คุณออกมาในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น มันไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

คำตอบคือ มีการยกเว้นกฎหมายศาลปกครอง หมายความว่าวันนี้พลเอกประยุทธ์ ออกประกาศคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกมาแล้วไม่มีใครโต้เเย้งไปที่ศาลปกครองได้เพราะ โต้เเย้งไปศาลปกครองก็จะยกฟ้องทันที เพราะกฎหมายฉบับนี้เว้นไม่ให้ศาลปกครองเข้ามายุ่ง หากไปศาลปกครองไม่ได้ก็ไปศาลอื่น ไปศาลยุติธรรม ปัญหาคือเวลาไปศาลยุติธรรมนั้น ศาลยุติธรรมมมีแนวคำพิพากษาในอดีตที่ผ่านมาค่อนข้างจำกัด การตรวจสอบการใช้อำนาจดุลยพินิจในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ คดีในอดีตที่ผ่านมา มีคนไปฟ้องขอเพิกถอนประกาศ เพิกถอนกฎ เพิกถอนคำสั่ง ในสถานการณ์ฉุกเฉินเต็มไปหมด ส่วนใหญ่แล้วศาลจะยกฟ้องทั้งหมดโดยให้เหตุผลว่า  ผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย ให้เหตุผลว่า นี่คืออำนาจดุลยพินิจโดยเเท้ของฝ่ายบริหาร ศาลจึงไม่รับตรวจสอบ ทำอย่างมากที่สุดคือ ดูว่าเสียหายหรือไม่อย่างไร แล้วก็จะพิจารณาคดีเรื่องเรียกค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน แต่ให้ไปยกเลิกประกาศคำสั่งของฝ่ายบริหารนั้น ศาลยุติธรรมไม่ทำ นี่คือ แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา  

รูปธรรมคือ ใน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เขียนเอาไว้ว่า อำนาจรวมไปที่นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจออกกฎหรือประกาศใด ๆ ก็ได้ เพราะเขียนเงื่อนไขเอาไว้ต้องมีเหตุดังต่อไปนี้จึงจะออกคำสั่งได้ ออกคำสั่งอันนี้ได้จะต้องพอสมควรแก่เหตุ ทำเท่าที่จำเป็น เขียนกำกับเอาไว้เต็มไปหมด ปัญหาคือถ้าไม่มีใครตรวจสอบ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามาตราการที่นายกรัฐมนตรีออกมานั้น พอสมควรแก่เหตุ มีความจำเป็น ทำตามกฎหมาย  

เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ที่เราเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เต็มไปหมด ที่เรารู้สึกว่าคำสั่งนี้ละเมิดเรามากเกินไป คำสั่งนี้ไม่จำเป็น การอ้างความจำเป็นเรื่องวิกฤตการณ์โควิด-19 ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทุกคนตั้งคำถามเต็มไปหมด เช่น ร้านอาหารห้ามขายเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ เพราะเกรงว่าคนไปนั่งมั่วสุมกินกันในร้าน แต่ก็มีวิธีการป้องกันวิธีอื่น และยิ่งไปกว่านั้นยังประกาศเคอร์ฟิวคนกินข้าวไปด้วยดื่มไปด้วย 5 ทุ่มต้องถึงบ้าน เพราะมีมาตราการณ์เคอร์ฟิว แต่คุณก็ห้ามดื่มในร้านอาหาร หากผู้ประกอบการอยากไปฟ้องโต้เเย้ง ขอยกเลิกข้อนี้ คำตอบคือไปศาลปกครองไม่ได้ ไปศาลยุติธรรมถ้าเป็นแนวเดิมบอกเรื่องนี้เป็นอำนาจโดยเเท้ของฝ่ายบริหาร พวกคุณไม่ใช่ผู้เสียหายไม่รับฟ้อง  

คำสั่งที่ออกมาเเม้คนทั้งประเทศจะตั้งข้อสงสัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล นี่คือสภาพปัญหาของกฎหมายฉบับนี้ เวลามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่จะรู้สึกมั่นอกมั่นใจในการใช้อำนาจมากขึ้นเพราะ ใช้อำนาจไปรู้อยู่แล้วว่าจะหลุดพ้นจากการตรวจสอบในทางกฎหมาย รู้อยู่แล้วว่าจะหลุดพ้นจากการตรวจสอบทางตุลาการ นี่คือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นของกฎหมายฉบับนี้  

Covid-19(84) : New Normal = Normalization of a normal  

วิกฤติการณ์โควิด-19 หลากหลายประเทศก็มีวิธีการบริหารจัดการต่างกันไป บางประเทศไม่ใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน บางประเทศใช้กฎหมายปกติก็จัดการได้ บางประเทศใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าจัดการ บางประเทศตอนแรกไม่ใช้ภายหลังกลับมาใช้ บางประเทศใช้แล้วพอจัดการสถานการณ์ได้ก็ยกเลิก แล้วแต่ที่จะออกแบบกันมาตามแนวนโยบายของหลากหลายประเทศแล้วแต่สถานการณ์ที่แต่ละประเทศประเมินกัน แต่ลองมาพินิจพิจารณาจุดใหญ่ร่วมกันทั้งหมดของวิกฤติการโควิดครั้งนี้  

อะไรที่ทำให้ประชาชนทั้งโลกยินยอมพร้อมใจใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองไม่เคยใช้มาก่อน เช่น ยอมอยู่ในบ้านหลายเดือน ยอมไม่ไปโรงเรียน ไม่ได้ไปสอนหนังสือ ไม่ได้ไปที่ทำงาน ยอมทำงานที่บ้าน ยอมปิดกิจการ ยอมปิดร้านหนังสือ ยอมปิดสถานบันเทิง ยอมปิดร้านอาหาร เป็นต้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลใช้กฎหมาย ออกประกาศสั่งห้าม หากไม่ทำตามมีโทษ กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องของสุขภาพด้วย เพราะโควิด-19 แพร่กระจายไม่เลือกภูมิอากาศ ไม่เลือกภูมิประเทศ ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่เลือกสีผิว ไม่เลือกอายุ ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย ทุกคนรู้สึกว่าเป็นภัยมันใกล้ตัว เข้าใกล้ขึ้นทุกที 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สร้างความกลัวรวมหมู่ได้ง่ายที่สุด เรายินยอมพร้อมใจที่จะไม่ใช้ชีวิตปกติ ก็เพราะถ้าเราไม่กลัว เราก็ไม่ทำตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมาซึ่งฝืนธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปตัวเลขคนติดเชื้อลดลง เศรษฐกิจเริ่มแย่ คนก็รู้สึกว่า ถึงวลาแล้วน่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ระบบปกติ นั่นเเสดงให้เห็นว่าในท้ายที่สุดการทำงานของสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้ทำงานด้วยกลไกทางกฎหมายอย่างเดียว แต่ทำงานด้วยความเชื่อและความกลัว  

ถ้าเมื่อไรก็ตามคนไม่เชื่อว่ามันมีเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวเกิดขึ้นจริง คนไม่เชื่อว่ามีเหตุการณ์ที่อันตรายต่อเขาจริง เขาก็จะไม่ยอมเสียสิทธิและเสรีภาพให้แก่รัฐ ดังนั้น สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประชาธิปไตย กฎหมายไม่เพียงพอ ต้องมีเรื่องเล่า ต้องทำให้คนกลัวพร้อมกันให้ได้ต้องทำให้คนเชื่อพร้อมกันให้ได้ว่า ถ้าคุณไม่มอบสิทธิเสรีภาพไม่ยอมถูกจำกัดสิทธิบางอย่างลง คุณจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย แก่สวัสดิภาพของเราต้องยอมเสียสละร่วมกัน เมื่อใดก็ตามที่เกิดอันนี้ขึ้นฉันทานุมัติให้กับรัฐใช้อำนาจพิเศษก็จะเกิดขึ้นทันที  

กรณีของประเทศไทยวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์อยู่หลายเรื่อง เรื่องแรกที่สุด เปิดโอกาสให้รัฐบาลพลเอก ประยุทธใช้โอกาสทองครั้งนี้ในการจัดการที่เรียกว่า “รัฐประหารโควิด -19” นั้นก็คือสภาพการณ์ของรัฐบาลซึ่งมีผสมกันมาจากหลากหลายพรรคการเมือง รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ มาจากหลากหลายพรรค ทำให้การบริหารราชการเเผ่นดินมันเต็มไปด้วยความยากลำบาก มีอุปสรรคมากมาย แต่เมื่อเกิดโควิด-19 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดึงอำนาจมารวมอยู่ที่นายกฯแล้วก็ถ่ายโอนอำนาจไปให้ข้าราชการประจำ  

คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีความคล้ายกับคณะรัฐมนตรีสมัยพลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. นี่จึงเป็นการรัฐประหารโควิด-19 ที่ทำให้คณะรัฐมนตรีสหพรรค รัฐบาลสหพรรค กลายไปเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พลเอกประยุทธ์ดังเช่นหลังรัฐประหาร ปี 2557  

นอกจากนี้ยังทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการทั้งหลาย รู้สึกมีความอุ่นอกอุ่นใจ สบายใจมากขึ้นกับการใช้อำนาจ ทั้งๆ ที่จริงแล้วกฎหมายปกติก็พอจะมีอยู่ แต่ทุกคนจะสบายใจขึ้น ถ้าใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะใช้แล้วไม่ถูกตรวจสอบ ไม่มีความผิดตามมา นี่คือผลพลอยได้จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 

เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเริ่มมาดีขึ้น อยากจะชวนกันตั้งคำถามว่า พวกเราคิดว่าสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้คลี่คลายด้วยการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือว่าคลี่คลายกันด้วยกำลังของข้าราชการประจำอย่าง หมอ พยาบาล อาสาสมัครจากกระทรวงสาธารณสุข (อสม.) หรือความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศในการร่วมมือกัน หรือว่ามาจากอำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินกันแน่ ถ้าไม่มีอำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินลองคิดกันดูว่า เราจะสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติการครั้งนี้ได้หรือไม่ หรือว่าจำเป็นต้องมีอำนาจพิเศษถึงจะจัดการได้  อยากให้ลองไปคิดไปพิจารณากันดู  

ชีวิตประจำวันของผู้คน เราจะพบเห็นว่ามนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีความสัมพันธ์ในทางสังคมต่อไปจะเริ่มแยกตัวออกจากกันมากขึ้น การเรียนหนังสือถูกบังคับให้ไปเรียนออนไลน์ การรับประทานอาหารไปกันแบบครอบครัว นั่งรถด้วยกัน แต่เมื่อถึงร้านต้องแยกกันนั่งเสร็จแล้วก็ไปนั่งรถคันเดียวกันกลับบ้าน การใช้ขนส่งมวลชนเว้นระยะ แต่เมื่อขึ้นไปก็อยู่ใกล้กันอยู่ดี เมื่อลงจากรถเข้าไปที่ทำงานก็ขึ้นลิฟใกล้กันอยู่ดี เพราะฉะนั้น มีความพยายามทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปจากเดิมในนามของสุขภาพอนามัยและการป้องกันโรคระบาด  

ปัญหาคือ สิ่งที่ผิดปกติทั้งในระดับเจ้าหน้าที่หรือการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนนี้จะดำรงอยู่กับเราไปเรื่อยๆ จนเราคุ้นชิน ไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัย และเราก็อยู่กับมันจนชินจนเขาเรียกว่า “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” ที่เป็นอยู่ตอนนี้หลังวิกฤตโควิด-19 คือ ชีวิตประจำวันของมนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงไป ความปกติแบบใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ต้องพึงระวังให้ดีว่า New Normal ที่กำลังตามมา จะกลายเป็น “Normalization of a normal” คือ กระบวนการทำให้สิ่งผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติ กระบวนการทำให้สิ่งผิดเป็นสิ่งถูก กระบวนการที่ทำให้สิ่งไม่ถูกกฎหมายกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย  

ความแนบเนียนของเผด็จการอำนาจนิยมไม่ใช่การใช้อำนาจรุนแรงเข้าปราบปรามเข็นฆ่าละเมิดสิทธิเสรีภาพของมนุษย์โดยตรง ความแนบเนียนของเผด็จการอำนาจนิยม คือการใช้อำนาจริดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคล จนบุคคลนั้นเริ่มจะคุ้นชินกับมันไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ไม่รู้สึกว่าตัวเองเสียหาย รู้สึกสบายใจ รู้สึกใช้ชีวิตได้อย่างปกติด้วยซ้ำ ค่อยๆ ทำให้เรื่องผิดปกติเป็นเรื่องปกติอยู่เสมอ และทำให้เรื่องผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติส่งทหาร ตำรวจมานั่งเฝ้าจนเป็นเรื่องปกติ ฟ้องกันไปมาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากจนเป็นเรื่องปกติในขณะเดียวกันเรื่องปกติ การใช้เสรีภาพในการแสดงออก การใช้เสรีภาพในการชุมนุมทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องผิดหมดแล้ว อยากจะชุมนุมทีต้องนั่งคิดว่าทำได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้  

ทั้งหมดนี้เพื่อจะทำให้เห็นว่า สภาวะยกเว้นซึ่งเป็นความคิดที่อยู่เคียงคู่กับความเป็นรัฐมาอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ว่ารัฐอุดมการณ์แบบไหน มนุษย์จำเป็นจะต้องรู้เท่าทัน มนุษย์ไม่มีทางยอมให้รัฐมาละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐสามารถทำให้มนุษย์หรือสมาชิกในรัฐนั้นเชื่อพร้อมกันว่า จำเป็นต้องยกเสรีภาพบางอย่างให้กับรัฐ ต้องยอมยกอำนาจให้รัฐ ต้องรวมศูนย์อำนาจให้ผู้ปกครอง เพื่อจัดการแก้ไขปัญหา ไม่อย่างนั้นเราอยู่ไม่รอด ไม่อย่างนั้นเราตาย ถ้าสถานการณ์นั้นมาถึงเมื่อไหร่เครื่องจักรที่ชื่อว่า สภาวะยกเว้น หรือ State of Exception ก็จะเดินเครื่องทันที  

หากไม่อยากให้สภาวะยกเว้น ไม่อยากอำนาจในสถานการณ์พิเศษดำรงอยู่อย่างเนื่องต่อจนกลายเป็นสภาวะถาวรกลายเป็นสภาวะปกติ เราต้องรู้เท่าทัน และตั้งคำถามทุกครั้งเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า