รัฐ-ประหาร: ทำไมพม่าต้องสังหารฝ่ายต่อต้านด้วยการแขวนคอ

5 สิงหาคม 2565
โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป

ภายหลังคณะรัฐประหารประกาศว่าได้ประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คน ได้แก่ เพียง เซยา ตอ (Phyo Zeya Thaw) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ NLD และแร็ปเปอร์ชื่อดัง ผู้นำวง ACID วงดนตรีฮิปฮอปวงแรกในพม่า โก จิมมี่ (Ko Jimmy) แกนนำกลุ่มนักศึกษารุ่น 88 กับ หละ เมี้ยว อ่อง (Hla Myo Aung) และ อ่อง ธูระ ซอ (Aung Thura Zaw) ที่ถูกกล่าวหาว่าสังหารสายข่าวคนนึงของกองทัพพม่า ก็ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างรุนแรง

ในอันที่จริง คณะรัฐประหารประกาศไว้เมื่อหลายเดือนที่แล้ว แต่หลายฝ่ายก็ตั้งข้อสังเกตว่าข่าวที่ออกมาอาจเป็นเพียงความพยายามสร้างความหวาดกลัว เพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการต่อต้านรัฐประหาร ในนามรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG และกองกำลังในนาม “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน” (PDF) เติบโต เพราะที่ผ่านมา กองกำลังฝั่งประชาชนได้ร่วมมือกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม โดยเฉพาะในรัฐคะยาห์ รัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะฉิ่น เพื่อต่อต้านกองกำลังฝั่งคณะรัฐประหาร จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปัจจุบัน

สถานการณ์ความรุนแรงในพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เรียกว่าการสู้รบระหว่างกองกำลังฝั่งรัฐบาลและกองทัพพม่า หรือ “ตั๊ดมะด่อ” (Tatmadaw) ฝั่งหนึ่ง กับกลุ่มติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organisations หรือ EAOs) ฝั่งหนึ่ง รวมทั้งกองกำลังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์พม่า หรือกองกำลังของจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) เป็นแก่นเรื่องหลักที่ทำให้เราเข้าใจพลวัตของความขัดแย้งทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในพม่า กล่าวแบบสั้นๆ ความขัดแย้งในพม่ามีหลายมิติ ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากกองกำลังทุกกลุ่มล้วนมีวาระและข้อเรียกร้องของตนเอง อีกทั้งกองกำลังเหล่านี้ยังมีความแตกต่างกันมาก ทั้งด้านศาสนาหรือชาติพันธุ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ว่ารัฐพม่าจะพยายามจัดการเจรจาหยุดยิง หรือการเจรจาสันติภาพหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และจะมีกองกำลังใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ

ที่กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล/กองทัพพม่า กับกองกำลังหลากหลายกลุ่ม เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าในสายตาของรัฐในพม่า เรื่องสำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ พัฒนาเศรษฐกิจพม่าให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ หรือการจัดการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อกรุยทางไปสู่การสร้างความปรองดองและความสมัครสมานสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อย่างยั่งยืน ผู้นำในกองทัพยังมองว่าหนทางเดียวที่ดินแดนแห่งความหลากหลายอย่างพม่าจะอยู่รอดต่อไปได้ก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของคนพม่า (Burmese หรือ Bamar) ที่เป็นคนพุทธและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเท่านั้น ใครก็ตามที่ท้าทายหรือทำลายเอกภาพแห่งชาติของพม่า เท่ากับเป็นศัตรูของทั้งรัฐและกองทัพพม่าด้วย

ในยุคที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มีผู้นำกบฏผีบุญ (millenarian revolt) หลายคนที่ท้าทายอำนาจในฐานะผู้ปกครองของอังกฤษ กรณีที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด คือ “กบฏสะยาซาน” (Hsaya San Rebellion) ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1930-1932 สะยาซานเป็นหมอยาที่ได้รับความเคารพอย่างมากจากประชาชนในพม่าตอนกลาง จนสามารถปลุกระดมให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของอังกฤษได้ เมื่อกองทัพอังกฤษจับกุมสะยาซานและแกนนำกบฏได้ ก็ตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ ณ เรือนจำธาราวดี (Tharrawaddy) ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังมีผู้เข้าร่วมกบฏสะยาซานเสียชีวิตไปกว่า 3,000 คน อีก 78 คนถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ และอีก 270 คนต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต

เมื่อพม่าได้รับเอกราชแล้ว รูปแบบการประหารชีวิตนักโทษการเมืองทั้งหมดยังเป็นการแขวนคอ คดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนพม่าได้รับเอกราช คือคดีลอบสังหารนายพล ออง ซาน (General Aung San) และคนในรัฐบาลอีก 4 คน ภายหลังการสืบสวนและไต่สวนของศาลถึง 37 ครั้ง อู ซอ (U Saw) และคนอื่น ๆ อีก 5 คน ได้รับโทษประหารชีวิต แม้อู ซอจะเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของพม่า (1940-1942) แต่เมื่อถูกตัดสินประหารชีวิต เขาก็ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับนักโทษในคดีการเมืองอื่นๆ


การประหารชีวิตอู ซอ ณ เรือนจำอินเส่ง ชานเมืองย่างกุ้ง, 8 พฤษภาคม 1948 (ภาพจาก AP)


โทษประหารชีวิตกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่รัฐบาลทหารนำมาใช้เพื่อลงโทษฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นครั้งแรกหลังรัฐประหารของนายพล เน วิน (General Ne Win) ในปี 1962 ภายหลังเน วินตั้งสภาปฏิวัติขึ้น และกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อู นุและคนในรัฐบาลพลเรือนอีกส่วนหนึ่งถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านพักภายในค่ายทหาร เจ้า ฉ่วย แต้ก (Sao Shwe Thaik) ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า และเจ้าฟ้าฉานแห่งเมืองยองห้วย (Yawnghwe) ถูกควบคุมตัวและสิ้นชีพิตักษัยในเรือนจำ 8 เดือนหลังรัฐประหาร

หลังรัฐประหารในปี 1962 รัฐบาลคณะปฏิวัติมิได้ใช้การประหารชีวิตเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายต่อต้านในทันที เมื่อเน วินขึ้นสู่อำนาจ เหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในต้นเดือนกรกฎาคม 1962 เมื่อนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยย่างกุ้งรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงนโยบายของมหาวิทยาลัย ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อคณะรัฐประหารเข้าไปแทรกแซงนโยบายและข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย การประท้วงในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งมีนักศึกษาเข้าร่วมมากถึง 5,000 คน รัฐบาลเน วินเลือกปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน และมีนักศึกษาถูกจับกุมอีกหลายพันคน

รัฐบาลและกองทัพภายใต้เน วินรับมือกับการประท้วงด้วยการใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก เพราะถือว่านี่เป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ (disturbance) ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ต่างกับการประท้วงอีกหลายครั้งตลอดยุค BSPP ที่เริ่มมีแกนนำ ในปี 1974 เกิดการประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อนักศึกษาจากหลายสถาบันร่วมกันประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดพิธีศพให้อู ถั่น (U Thant) อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติชาวพม่า ให้สมเกียรติ แต่เนื่องจากในอดีต อู ถั่นเคยเป็นคนสนิทของอู นุ และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเน วินมาก่อน เน วินจึงปฏิเสธไม่จัดพิธีศพให้อู ถั่น จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นการประท้วงและการแย่งโลงศพของอู ถั่น ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “วิกฤตการณ์อู ถั่น” (U Thant Incident)

เมื่อการปราบปรามนักศึกษามีความรุนแรงขึ้น นักศึกษาจำนวนหนึ่งตัดสินใจมุ่งหน้าสู่พื้นที่ชายแดน และจับปืนขึ้นต่อสู้กับรัฐบาล ต่อมารัฐบาลเน วินจับกุมแกนนำขบวนการนักศึกษาได้บางส่วน และตัดสินประหารชีวิตนักศึกษา 2 คน หนึ่งในนั้นคือ ซาลาย ติน หม่อง อู (Salai Tin Maung Oo) ที่ถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอในวันที่ 26 มิถุนายน 1976 นักกิจกรรมชาวฉิ่นผู้นี้เป็นหนึ่งในผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเน วินที่หลบหนีเข้าไปเคลื่อนไหวในเขตชายแดนไทย-พม่า เมื่อซาลาย ติน หม่อง อูเดินทางกลับไปย่างกุ้งเพื่อร่วมงานรำลึก 100 ปีแห่งชาตกาลตะขิ่น โก ด่อ มาย (Thakin Ko Daw Hmaing) นักเขียนและนักชาตินิยมคนสำคัญของพม่า กองทัพได้รวบตัวซาลาย ติน หม่อง อู และตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาครอบครองอาวุธปืน และเป็นแกนนำยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในสังคม คำสุดท้ายที่นักโทษประหารตะโกนออกมาคือ

“ข้าพเจ้าจะไม่มีวันคุกเข่าต่อหน้ารองเท้าบูททหารของท่านอย่างเด็ดขาด”

อีกปีหนึ่งต่อมา การบริหารที่ผิดพลาดของเน วินสร้างความไม่พอใจให้นายทหารหัวก้าวหน้าส่วนหนึ่งในกองทัพ จนนำไปสู่ความพยายามรัฐประหารรัฐบาลเน วิน โดย โอน จ่อ มยิ้น (Ohn Kyaw Myint) ผู้ช่วยส่วนตัวของนายพล จ่อ ทิน (General Kyaw Htin) ผู้บัญชาการกองทัพในขณะนั้น แต่เมื่อฝ่ายข่าวของเน วินรู้แผนการรัฐประหารและลอบสังหารเน วิน จึงเข้าจับกุมผู้ร่วมก่อการ 16 คน มีเพียงโอน จ่อ มยิ้นเพียงคนเดียวที่ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1977 ภายหลังความพยายามลอบสังหารเน วินและคนในรัฐบาล BSPP ก็ไม่มีการประหารชีวิตนักโทษการเมืองอีก เพราะรัฐบาลและกองทัพหันไปใช้มาตรการป้องกันและสอดแนมผู้เห็นต่างทางการเมือง มากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1985 เมื่อ พันตรี ซิน โม (Zin Mo) สายลับจากเกาหลีเหนือ ถูกศาลพม่าสั่งประหารชีวิต ก่อนหน้านั้น ซิน โม ก่อเหตุสะเทือนขวัญเมื่อเขาร่วมมือกับสายลับเกาหลีเหนืออีก 2 คนวางระเบิดอนุสรณ์สถานที่ระลึกถึงนายพล ออง ซาน และผู้เสียชีวิตจากการลอบสังหารในปี 1947 เป้าหมายของเกาหลีเหนือคือการลอบสังหาร ชุน ดู-ฮวาน (Chun Doo-wan) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ การลอบสังหารประธานาธิบดีชุนในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุถึง 21 คน (9 คนเป็นคนเกาหลีใต้)

ถัดจากนั้นไม่กี่ปีเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่สำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่า เหตุการณ์ 8888 หรือการประท้วงรัฐบาลเน วินครั้งใหญ่ขยายออกไปจนมีผู้ร่วมประท้วงหลายแสนคน การปราบปรามอย่างหนักหน่วงของรัฐบาลเน วินทำให้มีนักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ที่ถูกจับกุมจำนวนมาก องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น Amnesty International รายงานว่าการจับกุมและซ้อมทรมานนักกิจกรรมทางการเมืองจากเหตุการณ์ 8888 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวไม่น้อยกว่า 10 คน แม้ประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเหล่านี้จะไม่ได้รับโทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ แต่การซ้อมทรมานด้วยวิธีการที่ป่าเถื่อนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ลงโทษฝ่ายตรงข้าม และเพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเป็น “รัฐ” ที่สามารถตัดสินชะตาชีวิตของฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจของตนได้

ในปัจจุบัน คณะรัฐประหารภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (General Min Aung Hlaing) ตัดสินประหารชีวิตนักโทษอีกจำนวนหนึ่ง คณะรัฐประหารเริ่มการประหารชีวิตจากบุคคลที่ถือว่าเป็นนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวระดับ “ไฮโปรไฟล์” ที่สุด และเป็นคนที่สนิทสนมกับด่อ ออง ซาน ซู จีเป็นพิเศษ เพื่อส่งสัญญาณให้กองกำลังประชาชนที่มีปฏิบัติการต่อต้านคณะรัฐประหารอยู่ในขณะนี้รู้ว่านับแต่นี้กองทัพจะไม่มีความกรุณาให้ฝ่ายต่อต้านอีก ชวนให้นึกถึงคำพูดของนายพล เน วิน ที่ออกอากาศในวันที่มีการปราบปรามประชาชนในเดือนสิงหาคม 1988 ว่า “เมื่อกองทัพยิง เขายิงเพื่อสังหาร” และนับแต่นี้สถานการณ์ในพม่าก็จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ พร้อมรายชื่อนักโทษประหารที่ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า