ปฏิบัติการหักปีกวิหคราชา เมื่อศรีลังกาไม่ทนระบอบอำนาจนิยมอีกต่อไป

26 กรกฎาคม 2565
โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป
13 กรกฏาคม 2022 วันที่เขาสัญญาว่าจะประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ ‘โกตาบายา ราชปักษา’ (Gotabaya Rajapaksa) อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา พร้อมภรรยาและบอดี้การ์ด เลือกเดินหนีขึ้นเครื่องบินทางการทหาร Antonov-32 ไปลงจอดที่กรุงมาเล่ เมืองหลวงของมัลดีฟส์ (มีรายงานว่า ตอนอยู่สนามบินเขาต้องรออยู่ในโซน VIP และไม่ยอมต่อคิวร่วมกับคนทั่วไปเพราะกลัวเผชิญหน้ากับประชาชน) ก่อนที่วันต่อมา เขาจะบินต่อไปยังประเทศสิงคโปร์ และส่งจดหมายลาออกจากตำแหน่งผ่านทางอีเมล นับเป็นการผิดนัดคำมั่นที่ให้แก่ประชาชนไว้ไปหนึ่งวัน

ณ เวลานี้ คงคาดเดายากว่าโกตาบายาจะเดินทางไปประเทศใดต่อ เพราะก่อนหน้าที่จะไปมัลดีฟส์และสิงค์โปร์ ก็ปรากฏความพยายามเดินทางไปหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตเดินทางเข้าไปยังประเทศอินเดีย การทำคำร้องขอวีซ่าไปยังสถานทูตอเมริกา แต่ก็ถูกปฏิเสธทั้งสองกรณี ยังไม่พอ ก่อนหน้านี้เขายังต้องการบินไปเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อีกด้วย

อย่างไรก็ดี คงเป็นที่แน่นอนว่าเขาจะไม่สามารถบินกลับศรีลังกาได้ในช่วงเวลาอันเร็วนี้ โกตาบายาจึงเปรียบดั่งนกที่กำลังโบยบินอย่างไร้จุดหมาย หากกล่าวล้อไปกับนามสกุล ‘ราชปักษา’ เขาก็เป็นพญานก/วิหคราชา ที่กำลังถูกไล่ต้อนจากประชาชนชาวศรีลังกา

การไม่ยอมอ่อนข้อต่อเสียงตะโกนของประชาชนที่ว่า ‘Gota Go home’ (โกตาโกย่า กลับบ้านไป!) ตั้งแต่แรก จึงบานปลายเป็น ‘Gota Can’t Go home’ ในท้ายที่สุด 

“นี่คือเงินภาษีของพวกเรา พวกเรามาที่นี่ก็เพื่อสำรวจว่าเงินของพวกเราถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง” 

-ประชาชนศรีลังกาคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว DW News หลังผู้ชุมนุมแห่แหนกันเข้าไปในบ้านพักประธานาธิบดี



Hartal อาวุธต่อสู้แห่งเอเชียใต้

Hartal เป็นศัพท์หนึ่งในภาษาอินเดีย หมายถึง การประท้วงของมวลชนซึ่งมักข้องเกี่ยวกับการปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ที่ทำงาน ร้านค้า ไปจนถึงสถานที่ราชการ มันเป็น 1 ใน 198 วิธีการต่อสู้ไร้ความรุนแรงที่ถูกบรรจุในตำรา The Politics of Nonviolent Action ของ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) เจ้าพ่อแห่งวงการปฏิบัติการไร้ความรุนแรง โดยชาร์ปจัดให้ Hartal เป็นรูปแบบการต่อสู้ซึ่งผสมการนัดหยุดงานกับการปิดล้อมทางเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน และยกให้บุคคลสำคัญที่นำ Hartal มาปรับใช้อย่างแหลมคมคือ มหาตมะ คานธี

ชาร์ปบรรยายว่า คานธีต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษโดยใช้ Hartal เป็นตัวตั้งต้น ก่อนจะพัฒนากลายเป็นสัตยาเคราะห์ (Satyagraha) แนวทางซึ่งใช้ความรัก (ซึ่งแยกไม่ออกจากความจริง) เป็นพลังในการต่อสู้/ดื้อแพ่งต่อความอยุติธรรม ทั้งยังเล่าถึงที่มาของ Hartal ว่า เป็นรูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ แต่เดิมใช้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อคัดง้างกับ ‘ราชา’ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การกระชากสติให้ชนชั้นปกครองรับรู้ถึงความไม่พอใจของผู้คนต่อการบริหารบ้านเมือง

Hartal ในฐานะรูปแบบการประท้วงต่อสู้ทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดในศรีลังกา ประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนมหาศาลนัดหยุดงานเพื่อปิดล้อมเข้ายึดสถานที่ราชการและบ้านพักของชนชั้นปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นปกครองที่ห้อยท้ายด้วยนามสกุล ‘ราชปักษา’ ซึ่งมีฉากหน้าสุดคือโกตาบายา


กระนั้น แม้สื่อจำนวนมากจะฉายภาพให้การลุกฮือครั้งนี้มีชนชั้นกลางเป็นกำลังหลัก แต่ในทรรศนะของ เทวากา กุนาวาร์เดนา (Devaka Gunawardena) และอหิลัน กาดีร์กามาร์ (Ahilan Kadirgamar) สองนักวิชาการชาวศรีลังกา สิ่งที่คุกคามและหลอกหลอนชนชั้นนำฝ่ายขวามากที่สุดคือการมีชนชั้นแรงงานเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเคลื่อนไหว

การรวมตัวกันของคนหลายกลุ่ม หลายชนชั้น หลายวัตถุประสงค์ คือความหมายของ Hartal ดังที่นักการเมืองคนสำคัญในประวัติศาสตร์ศรีลังกา โคลวิน เดอ ซิลวา (Colvin R. de Silva) เคยพรรณาไว้ในจุลสาร ‘Hartal!’ ว่า เป็นการต่อสู้ที่มากกว่าการสไตรค์ เพราะมันไม่เพียงรวมชนชั้นแรงงานมาไว้เท่านั้น หากยังนำคนจนเมืองและคนในชนบทเข้ามาด้วย เมื่อการเคลื่อนไหวก่อร่างจากคนหลายกลุ่ม ข้อเรียกร้องจึงมีความหลากหลายตามกันไป เช่น บางคนที่เข้าร่วมในฐานะเกษตรกรก็จะมีข้อเรียกร้องอย่างหนึ่ง ขณะที่บางคนเข้าร่วมในฐานะผู้บริโภคก็จะมีข้อเรียกร้องอีกอย่างหนึ่ง แต่ถึงที่สุดแล้ว ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายร่วมกัน คือการชี้นิ้วไปยังชนชั้นปกครอง


ระบอบราชปักษาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

การล้มระบอบราชปักษาคือเป้าหมายของผู้ชุมนุม ในสายตาของพวกเขา วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นมีต้นตอจากการบริหารที่ล้มเหลวของตระกูลราชปักษาเป็นหลัก ตระกูลที่ไต่เต้าและสร้างรากฐานทางอำนาจในศรีลังกามาเกือบ 20 ปี

ตระกูลราชปักษาขึ้นมาสยายปีกคุมอำนาจรัฐครั้งแรกในสมัย ‘มหินทรา ราชปักษา’ (Mahinda Rajapaksa) พี่ชายของโกตาบายา ผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2004 ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสองสมัยซ้อนตั้งแต่ปี 2005-2015 โดยมีฐานเสียงหลักคือชาวสิงหล ผู้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ร้อยละ 74 จากประชากรทั้งหมด) อนึ่ง ตลอดระยะเวลาการปกครองของมหินทรา เขาได้แต่งตั้งญาติพี่น้องเข้าไปคุมตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย อย่างตัวโกตาบายาเองก็ถูกแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงกลาโหมด้วย


มหินทรา ราชปักษา

โกตาบายา ราชปักษา


การปราบปรามขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (The Liberation Tigers of Tamil Eelam:LTTE) เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของตระกูลราชปักษา พวกเขาสามารถประกาศสันติภาพและยุติสงครามกลางเมืองที่กินเวลากว่าสามทศวรรษลงได้ ในการประเมินปี 2019 จำนวน 70,000-120,000 ชีวิต คือตัวเลขประมาณการณ์ของผู้เสียชีวิตและสูญหายจากสงครามที่นำทัพโดยสองพี่น้องราชปักษา เป็นผลให้พวกเขาถูกมองเป็น ‘วีรบุรุษของชาวสิงหล’ และทำให้ศรีลังกากลายเป็นประเทศเกิดใหม่ที่พร้อมเปิดรับเงินทุนมหาศาลจากต่างชาติ ช่วงเวลานี้เองที่ศรีลังกาเริ่มกู้ยืมเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อพัฒนาบ้านเมืองสำหรับรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 

แต่สายพานอำนาจของราชปักษาก็ต้องสะดุดลง เมื่อมหินทราพ่ายให้แก่ ไมตรีปาละ สิริเสนา (Maithripala Sirisena) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2015 อย่างไม่คาดฝัน ราวกับว่าเมื่อสงครามหยุดลง ตระกูลราชปักษาก็หมดความหมาย ทั้งนี้ มีแถลงการณ์ย้อนหลังว่า 

ทันทีที่บรรดาราชปักษาทราบผลการเลือกตั้ง พวกเขามีความพยายามล้มการเลือกตั้งด้วยเข้าหาผู้บัญชาการทหารบกเพื่อขอให้ทำการรัฐประหาร ทั้งยังเข้าหาอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่โชคร้ายที่คำขอทั้งสองของเขาถูกปฏิเสธเสียหมด

อย่างไรก็ดี ในเวลาไล่เลี่ยกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2019 กลับเกิดเหตุระเบิดที่โบสถ์และโรงแรมขึ้นทั่วศรีลังกา (Easter bombings) อันเป็นการเปิดโอกาสให้ตระกูลราชปักษาถูกเลือกกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคงไม่มีใครในตระกูลจะเหมาะสมไปกว่าอดีตรัฐมนตรีกลาโหมอย่าง โกตาบายา ราชปักษา 


รัฐกลายเป็นธุรกิจครอบครัว

โกตาบายาหาเสียงด้วยการเสนอตัวเป็นผู้เข้ามากอบกู้ประเทศชาติจนชนะคู่แข่งด้วยสัดส่วน 52.25% คิดเป็นจำนวนทั้งหมด 6,924,255 เสียง ทิ้งห่างคู่แข่งไปกว่า 1,360,016 เสียง นับเป็นการกลับมาผงาดอีกครั้งของตระกูลราชปักษา

“มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบังอะไร คนส่วนใหญ่ที่เลือกผมมาคือชาวสิงหล … พวกเขาระดมเลือกเพราะมีความกลัวแสนชอบธรรมที่ว่า เชื้อชาติสิงหล ที่เป็นทั้งศาสนาของพวกเรา ทรัพยากรแห่งชาติเรา และมรดกของพวกเรา อาจได้รับอันตรายจนล่มสลายจากกำลังท้องถิ่นและกำลังจากต่างประเทศ ตลอดถึงอุดมการณ์ทั้งหลายที่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน ความคิดสุดโต่ง และการก่อการร้าย … ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ เราได้รุดหน้าค้ำยันความมั่นคงของประเทศในฐานะที่มันเป็นคำขอจากประชาชน”

คำสุนทรพจน์หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานของโกตาบายานี้ สะท้อนชัดเจนว่าเขาเข้ามาเป็นประธานาธิบดีเพื่อรักษาความมั่นคง หรือกล่าวให้ชัดกว่านั้น เพื่อปฏิบัติการทางการทหาร มิใช่เพื่อบริหารบ้านเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน

และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ หลังเข้ารับตำแหน่งโกตาบายาทำแบบเดียวกับที่มหินทราเคยทำสมัยเป็นประธานาธิบดี นั่นคือการดึงเครือญาติในตระกูลเข้ารับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลทันที 


มหินทราเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (หลังเอาชนะการเลือกตั้งได้ด้วยนโยบายประชานิยม) ชามาล ราชปักษา พี่ชายอีกคนหนึ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีการชลประทาน ส่วนบาซิล ราชปักษา น้องชายคนเล็ก ได้เก้าอี้รัฐมนตรีคลังและการกำกับดูแลงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจไปครอง 

ยังไม่จบเพียงในระดับพี่น้องเท่านั้น มันยังขยายไปถึงบรรดาลูกๆ ของพี่น้องโกตาบายาด้วย นามาล ราชปักษา ลูกชายคนโตของมหินทรา ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ส่วนโยศิธา ราชปักษา ลูกชายอีกคนได้เข้ามาช่วยพ่อบริหารงาน ในตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทั่ง ชาซีนทรา ราชปักษา ลูกชายของชามาล ก็ได้เป็นถึงรัฐมนตรีเกษตร

อาจกล่าวได้ว่า การกลับมาของโกตาบายาครั้งนี้ เป็นการสานต่อระบอบราชปักษา ระบอบซึ่งเปลี่ยนสาธารณรัฐให้กลายเป็นธุรกิจครอบครัว หรือที่ นิชาน ดี เมล (Nishan de Mel) กรรมการบริหารสถาบันวิจัย Verité เรียกว่า ‘รัฐที่ขับเคลื่อนด้วยครอบครัว’ (family-run state)


เส้นทางอำนาจนิยม

ภายใต้รัฐบาลโกตาบายา ศรีลังกากลายเป็นรัฐอำนาจนิยมเต็มตัว เพราะนอกจากจะแต่งตั้งเครือญาติเข้ารับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล เขายังบังคับใช้บทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 (20th Amendment) เพื่อรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ตน จากนั้นใช้พลังอำนาจนิยมเข้าแทรกการเลือกตั้งสภา (สมาชิก 2 ใน 3 ของสภาเป็นของพวกราชปักษา) เป็นการเปิดช่องให้การคอร์รัปชันทำได้สะดวกขึ้น 

“คอร์รัปชันและอำนาจนิยมเป็นการจับคู่ทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุด มันเป็นปัญหาอันตรายร้ายแรง เพราะพวกราชปักษาต่างฉ้อฉลไปถึงกระดูกดำ ประชาธิปไตยอาจเอาตัวรอดจากการกดขี่หรือการหวงห้ามในทุกรูปแบบได้ แต่ไม่ใช่กับการคอร์รัปชัน หลายประเทศเองก็ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน แต่เมื่อประชาชนถูกดึงลงมาบนท้องถนน มันก็เป็นสัญญาณว่า พวกเขาถูก (ระบบ) กัดกินไปมากแล้ว”

ศาสตราจารย์ Manivannan ผู้ทำงานกับผู้อพยพชาวทมิฬ ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าว Deccan Herald

การคอร์รัปชันก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม แม้กระทั่งชาวสิงหล ลุกขึ้นมาขับไล่ระบอบราชปักษา คือการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว รัฐบาลของราชปักษาถูกวินิฉัยว่าตัดสินใจผิดพลาดในทุกเรื่อง เราอาจยกตัวอย่างที่ชัดเจนได้อย่างน้อย 3 กรณี

1. การห้ามใช้และนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นคำสั่งแรกๆ หลังโกตาบายาขึ้นมามีอำนาจ เหตุผลมีเพียงว่าต้องการให้ผลผลิตทางการเกษตรของศรีลังกาเป็นออร์แกนิก 100% แต่หารู้ไม่ว่าการออกคำสั่งเช่นนี้จะทำให้ประชาชนในภาพรวมได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในระดับเกษตรกร ต้นทุนในการเพาะปลูกสูงขึ้นมาก เมื่อต้นทุนสูงขึ้นการผลิตก็ทำได้น้อยลง เมื่อผลผลิตลดลงการส่งออกก็เสียหาย และกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความยั่งยืนทางอาหารได้ด้วยตนเอง (เกิดปัญหาเรื่องอธิปไตยทางอาหาร หรือ food sovereignty) ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากต่างประเทศ และด้วยความที่ศรีลังกาไม่มีรายได้เพียงพอ การนำเข้าเหล่านี้จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันต่างประเทศต่างๆ 

เมื่อวงจรนี้ดำเนินไปนานเข้า เงินตราต่างประเทศในคลังของศรีลังกาก็หมดไป เมื่อเงินตราต่างประเทศหมดก็ไม่มีเงินไปซื้อสินค้าจำเป็น ตั้งแต่ข้าว ไปจนถึงน้ำมันและแก๊สหุงต้ม

นอกจากนั้น การตัดสินใจเช่นนี้ยังเป็นเรื่องบ้าบิ่นมาก เพราะประเทศพัฒนาอย่าง เยอรมนี ยังมีสัดส่วนผลผลิตทางเกษตรที่เป็นออร์แกนิกแค่ 10-15% อีกทั้งมันยังแสดงถึงการไม่คำนึงเรื่องความนิยมของตนเอง เพราะฐานเสียงจำนวนมากของพวกเขาอยู่ที่ชาวเกษตรกรในชนบท

2. แม้รายได้ของรัฐบาลจะลดลงมหาศาล แต่งบประมาณกว่า 12.3% กลับกระจุกอยู่ที่งบการทหาร นั่นทำให้ศรีลังกามีกองทัพที่ใหญ่กว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักรกว่าถึง 2 เท่าตัว  

3. โกตาบายามองข้ามปัญหาและการจัดการวิกฤตโควิด-19 มาตั้งแต่แรก คำขวัญ ‘มองลอดไปยังความรุ่งโรจน์และสง่างาม’ (Vistas of Prosperity and Splendour) ที่ถูกใช้หาเสียงมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ยังคงถูกใช้ต่อไปแม้มันจะเริ่มระบาดแล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่ง โกตาบายาทำราวกับโลกนี้ไม่มีโควิด-19 ทั้งๆ รัฐจำเป็นต้องเตรียมรับมือโรคระบาดและจัดหาบริการทางการแพทย์เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชนอีกด้วย ยังไม่นับว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของศรีลังกาจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น 

คำกล่าวที่สะท้อนสภาวะดังกล่าวได้ชัดเจนที่สุดอันหนึ่ง เป็นของ ภควัน สิงห์ (R Bhagwan Singh) สื่ออาวุโสและผู้เชี่ยวชาญศรีลังกา

“จากเดิมที่เป็นวีรบุรุษสงคราม – ทั้งมหินทราในปี 2010 และโกตาบายาในปี 2019 – ต่างทำให้ราชปักษากลายเป็นตัวร้ายทางเศรษฐกิจ นี่แสดงให้เห็นว่า การเป็นผู้บัญชาการทหาร (โกตาบายา) ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นนักบริหารที่ดี”


Awantha Artigala


เสรีนิยมใหม่ก็จับมือกับอำนาจนิยมได้

ไม่ใช่แค่การคอร์รัปชันเท่านั้นที่จับคู่กับอำนาจนิยม นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เองก็ถูกนำมาร่วมสังฆกรรมในศรีลังกาด้วย 

เสรีนิยมใหม่ในศรีลังกาปรากฏตัวครั้งแรกช่วงปลายทศวรรษ 1970 ในสมัยของประธานาธิบดี J. R. Jayewardene ผ่านนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเสรี หรือที่อาจเรียกว่า ‘open economy reform’ โดยมีวาระอยู่ที่การรวมเสรีนิยมใหม่เข้ากับอำนาจนิยม เพื่อกดปราบชนกลุ่มน้อย สหภาพแรงงาน และฝ่ายซ้าย โดยมีสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก คอยหนุนหลัง ส่งผลให้ศรีลังกาเป็นประเทศแรกในเอเชียใต้ที่ประสบกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Structural Adjustment) และเข้าสู่วงโคจรของเสรีนิยมใหม่ 

โครงการเสรีนิยมใหม่นี้ชะงักลงชั่วคราวช่วงเกิดสงครามกลางเมือง ก่อนจะกลับมาเดินต่อระลอกสองหลังพวกราชปักษาขึ้นมากดปราบฝั่งตรงข้ามเรียบร้อยแล้ว 

การผสมพันธุ์นี้เป็นการยืนยันข้อเสนอของหลายคนที่บอกว่า เสรีนิยมใหม่มีหน้าตาหลากหลายมาก อย่าง เวนดี้ บราวน์ (Wendy Brown) นักทฤษฎีการเมืองชาวอเมริกัน ก็เคยเสนอไว้ว่า เสรีนิยมใหม่ไปด้วยกันได้กับแทบทุกอุดมการณ์ ไล่ตั้งแต่สวัสดิการนิยม (Welfarism) ในสวีเดน ไปจนถึงขงจื๊อ (Confucianism) ในจีน


Awantha Artigala


และแม้ฉากหน้าของศรีลังกาดูเหมือนจะมีความอำนาจนิยมมากกว่าเสรีนิยมใหม่ แต่กุนาวาร์เดนาก็เห็นว่า อำนาจนิยมของระบอบราชปักษาผูกติดอย่างเหนียวแน่นกับตรรกะแบบเสรีนิยมใหม่ อย่างโกตาบายาเองก็หาเสียงและดำเนินนโยบายด้วยการลดภาษีอย่างหนักจนทำให้รายได้ของรัฐหายไปถึง 25% ส่งผลให้รายได้ต่อ GDP ของศรีลังต่ำสุดในประวัติศาสตร์ คืออยู่ที่ 9% ต่อ GDP โกตาบายาอ้างว่า การทำเช่นนี้จะช่วยสร้างแรงจูงใจ (incentive) ให้เอกชนทำธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้ หากมองในช่วงยาว ศรีลังกาก็มีแนวโน้มลดภาษีมาก่อนหน้านานแล้ว กล่าวคือ สัดส่วนรายได้ต่อ GDP ลดลงจาก 20% ต่อ GDP ในปี  1995 เป็น 13% ต่อ GDP ในปี 2014

เดวิด ฮาร์วี่ (David Harvey) เคยกล่าวว่า ‘ธนานุวัตร’ (financialization) เป็นหัวใจของเสรีนิยมใหม่ หรือนักเศรษฐศาสตร์อย่าง เบน ไฟน์ (Ben Fine) ก็เสนอว่า แท้จริงแล้วเสรีนิยมใหม่ไม่เกี่ยวอะไรกับการลดการแทรกแซง (ทางเศรษฐกิจ) ของรัฐ หรือเปลี่ยนให้รัฐกลายเป็นรัฐที่อ่อนแอ (weak state) ตรงกันข้ามมันต้องการรัฐที่เข้มแข็ง (strong state) ซึ่งหากินผ่านธนานุวัตรต่างหาก

ตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกว่าศรีลังกาเป็นเสรีนิยมใหม่ คือพันธบัตรรัฐบาล (Sovereign Bond) ในปี 2007 ของมหินทรา ซึ่งเป็นสินค้าทางการเงินหนึ่งที่เขาใช้เพื่อหาทุนมาพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อแก่การไหลเข้ามาของเงินลงทุนและเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลงานของเขาหลายอย่างถูกประชาชนประเมินว่าเสียเปล่า เช่น Lotus Tower ที่เขาหมายมั่นเป็นแลนด์มาร์คของศรีลังกาก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยเมื่อเทียบกับจำนวนเงิน 400 ล้านรูปีที่เขานำมาสร้างมัน 

กล่าวได้ว่า ขณะที่เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) ในศรีลังกา พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวผ่านการอาศัยเงินทุนต่างชาติ มันกลับไปทำลายการเกษตรขนาดเล็ก (small-scale agriculture) และความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางอาหาร (self-sufficiency in food) อย่างร้ายแรงเสีย


คำตอบ (ที่แท้จริง) ของศรีลังกา

การทำลายบ้านและยุทโธปกรณ์ของนักการเมืองชนชั้นนำทั้งหลาย คือสัญลักษณ์ของการไร้ความชอบธรรมของชนชั้นปกครอง เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนจะไม่ทนกับระบอบอำนาจนิยมอีกต่อไป พูดอย่างง่าย มันคือ ‘Hartal’

แต่คำถามสำคัญของศรีลังกาคือ ‘จะทำอะไรดี?’ (What is to Be Done?)

คำตอบทั่วๆ ไป และเป็นทางเลือกที่ทั้งพรรครัฐบาล (ที่เป็นตัวตายตัวแทนของราชปักษา) และพรรคฝ่ายค้านพยายามจะทำ คือการขอความช่วยเหลือ (bailout) จากสถาบันการเงินระดับโลกอย่าง IMF หรือไม่ก็เดินเข้าหาประเทศจีน  อย่างไรก็ดี การเดินตามตัวเลือกนี้ก็คล้ายจะไม่ใช่การแก้ไขวิกฤต หากเป็นการประวิงเวลารอให้วิกฤตหนี้ปะทุขึ้นใหม่อีกครั้ง และหากมองให้ลึกมากขึ้น ตัวเลือกนี้ยังสะท้อนการครองอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่อย่างชัดเจน ดังที่หลายคนแสดงทรรศนะไว้ 

การขึ้นมาเป็นใหญ่ของเสรีนิยมใหม่ได้เปลี่ยนโฉมให้ทั้งพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคฝ่ายขวา มีความคิดและอุดมการณ์เหมือนๆ กันหมด เมื่ออุดมการณ์เหมือนกัน นโยบายและแนวทางบริหารจึงไม่ต่างกัน ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างพรรคฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจึงไม่มีอีกต่อไป

การเลือกในสถานการณ์เช่นนี้จึงเป็น ‘การเลือกที่ไม่ได้เลือก’ เป็น ‘การเมืองที่ปราศจากการเมือง’ ยังไม่นับว่าตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทในการพิจารณาปล่อยกู้อย่าง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (ที่ลดคะแนนศรีลังกา) ก็เป็นดั่งประกาศกที่คอยบีบให้ทุกประเทศดำเนินนโยบายตามเสรีนิยมใหม่

อีกข้อเสนอหนึ่งที่โผล่ขึ้นมา คือข้อเสนอที่ว่า แม้เบื้องต้นรัฐบาลจำเป็นต้องหาระบบที่กระจายความมั่งคั่งเพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่ก็ต้องมองให้ออกว่า วิกฤตของศรีลังกาไม่ได้มีบ่อเกิดมาจากแค่ตระกูลการเมืองเดียว หรือสถาบันการเงินอย่าง IMF หากยังรวมถึงการเป็นประเทศที่เน้นความมั่นคงจนทำให้ทหารเป็นใหญ่ ตลอดจนการมีอุดมการณ์เหยียดเชื้อชาติ (racism) ที่หยั่งรากลึกในระดับจิตสำนึก ในแง่นี้ วิกฤตศรีลังกาจึงไม่อาจแก้ได้โดยปราศจากการลดอำนาจทหาร (demilitarize) เพราะการขยายอำนาจการทหาร มักพ่วงมาพร้อมการเพิ่มงบประมาณมหาศาล ซ้ำร้าย มันยังพร้อมเสมอที่จะสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (culture of impurnity)

ทั้งยังมีผู้เสนอว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับการตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วง Great Depression (1929-1939) ที่ตัวสถานการณ์เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิธีคิดอย่างถึงราก ดังที่เคยเกิด ‘New Deal’ แนวเศรษฐกิจซึ่งเดินรอยตามกรอบคิดแบบ Keynesian (ศัตรูตัวสำคัญของเสรีนิยมใหม่) ขึ้นมา หรือในความเห็นของกุนาวาร์เดนาและนักวิชาการหลายคน ‘สังคมนิยม/คอมมิวนิสต์’ ก็เป็นตัวเลือกที่พึงพิจารณา เพราะหากประเมินตามกรอบคิดของเลนิน ศรีลังกาตอนนี้ก็เป็นการปรากฏตัวของ ‘สถานการณ์ปฏิวัติ’ (Revolutionary situation) อันเป็นช่วงเวลาที่คนซึ่งอยู่เบื้องล่างไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ และคนซึ่งอยู่เบื้องบนไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไป

ศรีลังกาในเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาอันสุกงอมที่ประชาชนจำเป็นต้องเลือกว่า จะเอาชีวิตแบบเดิมหรือต้องการชีวิตแบบใหม่ ต้องเลือกว่าจะยอมขังตนเองอยู่ในอนาคตแบบเดิม หรือจะเปิดประตูความเป็นไปได้เพื่อก้าวไปสู่อนาคตแบบใหม่




อ้างอิง

Gene Sharp. 2020. The Politics of Nonviolent Action. Albert Einstein Institution. P. 277-279.

Wendy Brown. 2015. Undoing the Demos: Neoliberalism’s Stealth Revolution. New York: Zone Books. P. 20-21.

เดวิด ฮาร์วี่. 2555. ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่. บก. ภัควดี วีรภาสพงษ์. กรุงเทพฯ:สวนเงินมีมา.

Al Jazeera. 2022. Sri Lanka in crisis: What, why and how?. https://www.aljazeera.com/news/2022/7/13/sri-lanka-in-crisis-what-when-and-why-explainer 

Ahilan Kadirgamar. 2022. Rethinking Sri Lanka’s economic crisis [Interview]. Himal Southasian. https://www.himalmag.com/rethinking-sri-lankas-economic-crisis-interview-ahilan-kadirgamar-2022/?fs=e&s=cl

Ahilan Kadirgamar, Devaka Gunawardena. 2022. Sri Lankan Peoples’ Protests of 2022: The Present from the Past. The India Forum. https://www.theindiaforum.in/article/sri-lanka-people-protests?fs=e&s=cl

Ahilan Kadirgamar, Devaka Gunawardena. 2022. Sri Lanka’s crisis: The disaster of economic dependency. Deccan Herald. https://www.deccanherald.com/opinion/sri-lankas-crisis-the-disaster-of-economic-dependency-1098125.html 

Ben Andak. 2022. To Solve Its Economic Crisis, Sri Lanka Must Demilitarize. Jacobin. https://jacobin.com/2022/05/sri-lanka-crisis-military-rajapaksas-tamils-repression 

Devaka Gunawardena. 2022. Sri Lanka: Crisis of Neoliberalism and the Progressive Alternative. Social Scientists’ Association. http://ssalanka.org/crisis-neoliberalism-progressive-alternative-devaka-gunawardena/

ETB Sivapriyan, DHNS, Chenna. 2022. Fall of the Rajapaksas: From war heroes to villains of Lanka’s economy. https://www.deccanherald.com/international/world-news-politics/endless-petrol-queues-become-point-of-pride-in-ukraine-1105897.html 

Friedrich-Naumann-Stiftung. 2021. กระบวนการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในประเทศศรีลังกา. https://www.freiheit.org/th/thailand/krabwnkaraeprepliiynkhwamkhadaeynginpraethssriilangka 

Iqbal Athas, Rhea Mogul and Rukshana Rizwie, CNN. 2022. Sri Lankan president resigns by email after fleeing to Singapore. CNN. https://edition.cnn.com/2022/07/14/asia/sri-lanka-gotabaya-rajapksa-thursday-intl-hnk/index.html

Tamil Guardian. 2020. Gotabaya speaks on ‘Sinhala race’ and strengthening security in televised address. https://www.tamilguardian.com/content/gotabaya-speaks-sinhala-race-and-strengthening-security-televised-address 

The Guardian. 2015. Sri Lanka to investigate alleged coup attempt by former president. https://www.theguardian.com/world/2015/jan/11/sri-lanka-new-government-investigate-alleged-coup-maithripala-sirisena-mahinda-rajapaksa 

The Guardian. 2022. Sri Lankan president Gotabaya Rajapaksa flees the country. https://www.theguardian.com/world/2022/jul/12/sri-lanka-president-gotabaya-rajapaksa-fails-attempt-flee-airport 

International Crisis Group. 2012. Sri Lanka’s dead and missing: the need for an accounting. https://www.crisisgroup.org/asia/south-asia/sri-lanka/sri-lankas-dead-and-missing-need-accounting 

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก. 2022. สิ้นลาย ‘ราชปักษา’: ทำความรู้จักตระกูลการเมืองดังของศรีลังกา. The101.world. https://www.the101.world/rajapaksa-in-srilankan-politics/ 

DW News. 2022. Sri Lanka: Protesters enjoy facilities at president’s residence [Video]. Facebook. https://www.facebook.com/watch/?v=614283473191212 

Al Jazeera English. 16 May 2022. What’s happening in Sri Lanka? | Start Here [Video]. YouTube. https://youtu.be/mLleZNNOa9s

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า