หากทุนนิยมคือการแข่งขัน แล้วทำไมตอนนี้เราถึงเห็นทุนผูกขาดอยู่เต็มไปหมด?

20 กรกฎาคม 2565
โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป
การผูกขาด หรือ monopoly ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเด็นที่เศรษฐศาสตร์ทั้งกระแสหลักและมาร์กซิสต์ต่างเห็นว่าเป็นปัญหาภายในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เห็นว่าทุนผูกขาดเป็นขั้วตรงข้ามกับเศรษฐกิจในอุดมคติที่มีการแข่งขันอย่างเสรี ส่วนเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ก็มองทุนผูกขาดเป็นปฏิปักษ์ต่อแรงงาน ในฐานะของผลลัพธ์จากความพยายามในการสะสมทุนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยนายทุน

ถึงกระนั้น เศรษฐกิจทุนนิยมในปัจจุบันก็อุดมไปด้วยทุนผูกขาดมากมาย ไล่ตั้งแต่ทุนผูกขาดในระดับหมู่บ้านไปจนทุนผูกขาดในระดับนานาชาติ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจทุนนิยมโดยหลักการแล้วควรจะเป็นระบบที่มีการผูกขาดที่น้อยที่สุด แต่กลายเป็นว่าตลอดประวัติศาสตร์ของทุนนิยม ประชาชนโดยส่วนมากทำได้แค่เพียงหลุดพ้นจากการผูกขาดรูปแบบหนึ่ง ไปสู่การผูกขาดอีกรูปแบบหนึ่ง


ทุนผูกขาดคืออะไร?

ทุนผูกขาด หรือ monopoly capital หากอธิบายอย่างง่ายที่สุดคือบรรษัทขนาดใหญ่ที่กลายเป็นองค์กรนำทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการสิ้นสุดของทุนนิยมที่มีการแข่งขัน (competitive capitalism) และเปลี่ยนผ่านไปสู่ทุนนิยมผูกขาด (monopoly capitalism)

รากฐานของแนวคิดว่าด้วยทุนผูกขาดต้องย้อนไปถึงหนังสือ “ว่าด้วยทุน” หรือ Das Kapital ของ Karl Marx ในปี 1867 ที่ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการของทุน เริ่มจากการที่ทุนขนาดเล็กจำนวนมากทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิต โดยที่ทุนเหล่านี้ให้มูลค่าส่วนเพิ่ม (total value added) แก่สังคมตามสัดส่วนที่ทุนผลิตสินค้าและบริการเข้าไปในตลาด ในขณะเดียวกัน ทุนเหล่านี้ก็แทบไม่มีอำนาจในการควบคุมราคาหรือปริมาณผลผลิตเพราะตัวแปรเหล่านี้ต่างถูกกลไกตลาดควบคุมไว้หมดแล้ว 

อย่างไรก็ดี Marx เชื่อว่า “การแข่งขันภายใต้ตลาดนั้นเกิดขึ้นในรูปของการกดราคาสินค้าโภคภัณฑ์” ซึ่งหน่วยผลิตนั้นจะกดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ก็ด้วยประสิทธิภาพของแรงงาน และขนาดของการผลิต ในที่นี้ ทุนขนาดใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะเอาชนะทุนที่เล็กกว่า และทำให้การสะสมทุนของทุนนำมาซึ่งการขยายตัวในเชิงขนาด (capital concentration) และการดึงดูดทุนให้เข้ามารวมศูนย์เป็นหน่วยเดียว (capital centralization) จนกลายเป็นทุนขนาดมโหฬารที่สามารถเปลี่ยนกลไกทางสังคมให้เอื้อต่อการสะสมทุนของตนเองได้ 

นอกจากนี้ การเติบโตของทุนการเงินซึ่งเป็น “กลไกในการเร่งการสะสมทุน” กลายเป็นอาวุธอันทรงพลังในการทำลายล้างทุนขนาดเล็ก แนวโน้มข้างต้นถูกขยายความโดย Friedrich Engels ว่า 

“การที่ทุนพัฒนาไปเป็นบริษัทจำกัดชี้ให้เห็นว่ายุคสมัยของการแข่งขันอย่างเสรีนั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และจบลงในรูปแบบของการล้มละลายอันน่าอับอาย” 

ทั้งนี้ Marx และ Engels ต่างมองว่าการล่มสลายของการแข่งขันอย่างเสรีเป็นเพียงแค่ทางผ่านไปสู่การปฏิวัติให้เป็นสังคมนิยม ไม่เหมือนกับในปัจจุบันที่แยกยุคสมัยของทุนผูกขาดเป็นช่วงเวลาหนึ่งในวิวัฒนาการของระบอบทุนนิยมอย่างชัดเจน 

แต่ถึงกระนั้น การศึกษาทุนผูกขาดอย่างเป็นกิจลักษณะกลับเริ่มต้นจากนักเศรษฐศาสตร์สายปฏิบัตินิยม อย่าง Thorstein Veblen นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายนอร์เวย์ ที่หยิบยืมนิยามของ Marx มาชี้ให้เห็นว่าคุณลักษณะของทุนผูกขาดคือการเติบโตขึ้นของทุนการเงิน หรือ corporate finance แนวโน้มที่อัตรากำไรถูกนำไปใช้เพื่อขยายช่องว่างระหว่างทุนกับแรงงานให้สูงขึ้น กระบวนการเพิ่มกำลังการผลิตล้นเกินอย่างเป็นระบบ และการที่ทุนเข้าไปแทรกแซงทั้งในกระบวนการขายและการผลิต

ทุนผูกขาดกลับมาเป็นที่สนใจของมาร์กซิสต์อีกครั้งด้วยข้อเสนอของ Rudolf Hilferding นักเศรษฐศาสตร์สายออสโตร-มาร์กซ์ (Austro-Marxian School) ที่หยิบข้อเสนอของ Marx มาอธิบายต่อ โดยชี้ให้เห็นว่าการกำเนิดขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของธนาคารในการขยายตัวและการรวมศูนย์ทุน ล้วนเป็นผลกระทบจากทุนผูกขาด ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้ง general cartel ที่จะกลายเป็นผู้ควบคุมปริมาณผลผลิตในทุกๆ อุตสาหกรรม 

ข้อเสนอดังกล่าวถูกขยายความต่อโดย Vladimir Lenin ที่เชื่อว่าทุนผูกขาดจะนำไปสู่การส่งออก ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ ข้อสรุปของ Lenin ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ”จักรวรรดินิยม” กับ “ขั้นผูกขาดของทุนนิยม” (monopoly stage of capitalism) คือสิ่งเดียวกัน

เมื่อมีการพัฒนาทฤษฎีว่าด้วยการแข่งขันไม่สมบูรณ์ โดย Joan Robinson และ Edward Chamberlain และทฤษฎีว่าด้วยวิกฤติ โดย John Maynard Keynes ในทศวรรษที่ 1930 นำมาสู่การตีความทุนผูกขาดในรูปแบบใหม่ นำโดย Kalecki ที่อธิบายว่าการผูกขาดนั้นฝังรากลึกลงในธรรมชาติของระบอบทุนนิยม การแข่งขันอย่างเสรีเป็นเพียงขั้นต้นของระบอบ ซึ่งในเวลาต่อมา “ระดับของการผูกขาด” (degree of monopoly) จะถีบตัวสูงขึ้นในแต่ละช่วงเวลาและจบลงด้วยวิกฤติในเวลาต่อมา

ตามมาด้วยข้อเสนอของ Josepf Steindl ที่อธิบายว่าการผูกขาดจะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรในอุตสาหกรรมหลัก ต่อเนื่องด้วยการที่ทุนผูกขาดจะปกป้องอัตรากำไรด้วยการลดอัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity capitalization) แทนที่จะเป็นการลดราคา เมื่ออุปสงค์หดตัวลง อัตราการผลิตที่ล้นเกินจะนำมาสู่การหดตัวของการลงทุน และท้ายที่สุดจะจบลงด้วยสภาวะชะลอตัวหรือ stagflation ที่การเติบโตต่ำ แต่การว่างงานสูง รวมถึงมีกำลังการผลิตล้นเกินจำนวนมาก


ทุนผูกขาดในปัจจุบัน: ข้อเสนอของ Baran และ Sweezy

กรอบการวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า “ทุนผูกขาด” ในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นจากข้อเสนอของ Paul A. Baran และ Paul Sweezy ในหนังสือ Monopoly Capital: An Essay on the American Economic and Social Order (1966) โดยเสนอว่าศูนย์กลางของการศึกษาทุนนิยมในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมุ่งไปที่การศึกษาการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเปลี่ยนแปลงระบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันเสรี ไปสู่สภาพที่มีการแข่งขันระหว่างผู้ขายน้อยราย (oligopolistic) ถูกปกป้องโดย “นบขวางกั้น” (barriers of entry) และขนาดอันมโหฬารของทุน จนทุนสามารถกำหนดราคา ผลผลิต การลงทุน รวมไปถึงนวัตกรรมในตลาด นำมาสู่ข้อเสนอว่าด้วย “แนวโน้มของส่วนเกินที่เพิ่มขึ้น” หรือ tendency of surplus to rise 

ส่วนเกินทางเศรษฐกิจ หรือ economic surplus อธิบายได้ง่ายที่สุดคือผลต่างระหว่างต้นทุนในการผลิตกับราคาของผลผลิตที่ผลิตออกมาได้ ซึ่งทุนผูกขาดมุ่งที่จะผลิตส่วนเกินมากเกินกว่าที่จะดูดซับได้ โดยกระบวนการที่ทุนผูกขาดใช้ในการผลิตส่วนเกินคือการแช่แข็งค่าจ้างที่แท้จริง (real wages) โดยไม่เพิ่มขึ้นตามผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น นำมาสู่การที่ส่วนเกินจากการผลิตไหลไปสู่การครอบครองของทุนผูกขาดมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ทุนผูกขาดพยายามผลิตออกมานี้นำมาซึ่งการถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อทุนผูกขาดพยายามผลิตส่วนเกินทางเศรษฐกิจออกมามากจนเกินไป ทำให้ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ถูกดูดซับกลับไปกลายเป็นส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ (economic loss) ที่ฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมของทุนผูกขาดนำมาสู่สภาวะที่ระบบทุนนิยมต้องเผชิญกับปัญหาเรื้อรังในการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจ กำลังการผลิตล้นเกิน การว่างงาน และการจ้างงานต่ำกว่าความเป็นจริง 

เว้นแต่จะมีการคิดค้น เทคโนโลยีชนิดพลิกวงการที่เปลี่ยนแปลงบริบทในการผลิตและการบริโภคอย่างเครื่องจักรไอน้ำ รถยนต์ หรืออินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะถูกควบคุมโดยทุนผูกขาด และจะถูกนำมาใช้เมื่อทุนผูกขาดเหล่านี้ต้องการที่จะใช้เท่านั้น

เมื่อทุนผูกขาดเข้าบงการระบอบทุนนิยม สิ่งที่ป้องกันระบบเศรษฐกิจจากการถดถอยสู่หายนะคือความพยายามในการทำให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวเสมอผ่านการสร้างขยะทางเศรษฐกิจ (economic waste) และการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างการทหาร นำมาสู่การไร้เหตุผลทางเศรษฐกิจ (economic irrationality) ตั้งแต่การกระตุ้นให้มีการบริโภคสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ไปจนถึงการขยายอาณาจักรเพื่อรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ “แบบหลอกๆ” เอาไว้เพื่อชะลอไม่ให้เกิดการพังทลายแบบมโหฬาร ที่ท้ายที่สุดก็หลีกเลี่ยงจากความถดถอยที่จะเกิดขึ้นไม่ได้


วิวัฒนาการของทุนผูกขาด: กรณีศึกษา AT&T

แม้ว่าการผูกขาดอยู่กับโลกตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบทุนนิยม แต่ทุนนิยมกลับกลายเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงให้ทุนแสวงหาการผูกขาดมากขึ้น ตัวอย่างที่เราอยากเสนอให้เห็นวิวัฒนาการของทุนผูกขาดก็คือบริษัทโทรคมนาคมของสหรัฐอย่าง American Telegraph and Telephone หรือ AT&T ที่ตลอดเวลาร้อยกว่าปีนั้นพยายามที่จะแสวงหาการผูกขาดและกลับมารักษาสถานะผูกขาดของตนเอาไว้

ประวัติศาสตร์ของ AT&T เริ่มต้นจากบริษัทของผู้คิดค้นโทรศัพท์อย่าง Alexander Graham Bell ที่ตั้งขึ้นในปี 1877 เพื่อขายสิทธิบัตรโทรศัพท์และให้บริการโทรศัพท์ในภาคตะวันออกของสหรัฐฯ ซึ่ง Bell ใช้ประโยชน์จากการผูกขาดสิทธิบัตรในโทรศัพท์จนกระทั่งสิทธิบัตรหมดอายุในปี 1894 ที่เปิดช่องให้บริษัทโทรศัพท์จำนวนมากฉวยโอกาสในตลาดที่ Bell เข้าไปไม่ถึง ซึ่ง Bell พยายามเอาตัวรอดด้วยการตั้ง AT&T มาเป็น Holding Company เพื่อลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์ทางไกล (Long Lines) รวมถึงการซื้อบริษัทโทรเลข Western Union บริษัทผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์ Western Electric และบริษัทโทรศัพท์ขนาดเล็กเพื่อรักษาสถานะการผูกขาดในตลาดเอาไว้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐก็เห็นถึงแนวโน้มของการผูกขาดจนนำมาสู่ข้อตกลง Kingsbury ในปี 1913 ที่บังคับให้ AT&T ขายหุ้นของ Western Union อนุญาตให้บริษัทขนาดเล็กเข้าเชื่อมต่อกับระบบทางไกล และอนุญาตให้มีการซื้อบริษัทขนาดเล็กก็ต่อเมื่อ AT&T ขายสิทธิ์ในการให้บริการแก่ผู้ให้บริการอื่นๆ ด้วยจำนวนที่เท่ากัน ในที่นี้ รัฐบาลสหรัฐเลือกที่จะสลายการผูกขาดขนาดใหญ่ที่ AT&T จะครอบครองบริการโทรคมนาคมหลักทั้งหมด แต่เลือกให้มีผู้ผูกขาดเฉพาะตลาด (โทรเลขโดย Western Union โทรศัพท์ทางไกลโดย AT&T และโทรศัพท์ท้องถิ่นโดยผู้ให้บริการรายย่อยเพียงรายเดียว) โดยเชื่อว่าโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

จุดพลิกผันที่แท้จริงของ AT&T คือการที่รัฐบาลสหรัฐแปรรูปโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดเป็นของรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่ง AT&T ขออนุญาตรัฐในการขึ้นค่าบริการโครงข่ายโทรศัพท์ทางไกล ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของบริษัทท้องถิ่นจำเป็นต้องจ่ายให้กับ AT&T โดยทันที ในขณะเดียวกัน รัฐก็เข้ามาควบคุมราคาในการให้บริการโทรศัพท์ ซึ่ง AT&T ได้เปรียบกว่าบริษัทขนาดเล็กอื่นๆ ด้วย 1) ต้นทุนในการดำเนินการถูกกว่า และ 2) สามารถเอากำไรจากบริการทางไกลมาชดเชยให้กับบริการท้องถิ่นที่ขาดทุนได้ จนบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากต้องยุติกิจการ และ AT&T สามารถคงสถานะผูกขาดอย่างต่อเนื่องตลอดศตวรรษที่ 20 ด้วยการที่ร้อยละ 80 ของบริการโทรศัพท์ในสหรัฐฯ และแคนาดาเป็นของ AT&T ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามสลายการผูกขาดของ AT&T จนกระทั่งในปี 1982 ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ AT&T สลายตัวออกเป็น 8 บริษัท แบ่งเป็น AT&T ที่ให้บริการโทรศัพท์ทางไกล และบริษัทโทรศัพท์ท้องถิ่น (RBOC) อีก 7 บริษัท แลกกับการอนุญาตให้ AT&T ขยายตัวเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์  แต่ถึงแม้ว่า AT&T จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ แล้วก็ตาม AT&T ก็พยายามกลับมาเป็นผู้เล่นขนาดใหญ่อีกครั้ง ด้วยแรงสนับสนุนของการเปิดเสรีเครือข่ายโทรคมนาคม ผ่านการซื้อเครือข่ายโทรศัพท์ทางไกล เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เคเบิลทีวี รวมถึงขยายไปสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตเพื่อขยับขยายให้ตัวเองเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมครบวงจร  จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ AT&T สามารถกลับมารวมกับ 4 ใน 7 ของบริษัทโทรศัพท์ท้องถิ่นเดิมและขยายตัวจนสามารถกลับมาเป็นหนึ่งในสามผู้เล่นผูกขาดในระบบโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ในที่สุด


ภาพที่ 1: โครงสร้างของ AT&T หลังจากแยกกิจการในปี 1984 จนถึงปัจจุบัน


ผูกขาดแบบ 1.0 กับผูกขาดแบบ 4.0

ตัวอย่างของ AT&T จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการในการผูกขาดของทุนเริ่มต้นจากการที่ทุนแสวงหา “สิทธิเฉพาะ” (exclusivity) ที่ส่งเสริมให้ทุนผูกขาดนำหน้ากว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีหรือการปกป้องทางกฎหมาย จนทุนผูกขาดสามารถสะสมส่วนเกินทางเศรษฐกิจและขยายตัวเพื่อชิงความได้เปรียบเชิงขนาด (scale efficiency) เพื่อเบียดขับคู่แข่งออกไป หรืออาจใช้ส่วนเกินฯ เพื่อดำเนินการเชิงรุก (predatory action) อย่างเช่นการทุ่มตลาด (dumping) การฮั้ว (cartel) หรือการผนวกกิจการ (merger-and-acquisition) เพื่อรักษาสถานะผูกขาดเอาไว้

โครงสร้างของการผูกขาดที่ว่านี้ล้วนเป็นแบบแผนให้กับการผูกขาดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตั้งแต่ยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมอย่างเหล็กและน้ำมัน จนถึงในปัจจุบันที่เป็นยุค 4.0 แต่ก็ยังพบเห็นการผูกขาดในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างการเงิน (Paypal) ค้าปลีก (amazon) ซอฟต์แวร์ (Adobe) หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมเจาะจงเฉพาะสาขาอย่างการสอบวัดระดับ (ETS) หรือวารสารวิชาการ (Elsevier) 

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างระหว่างทุนผูกขาดในยุคเก่าและทุนผูกขาดในยุคปัจจุบันมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือบทบาทของรัฐกับการผูกขาด ในการผูกขาดแบบเก่า รัฐสามารถรับบทเป็นผู้เอื้อประโยชน์ให้มีการผูกขาด อย่างการให้สัมปทาน สิทธิบัตร หรือสิทธิปกป้องอื่นๆ

ในขณะเดียวกันรัฐสามารถรับบทเป็นผู้สลายการผูกขาด ผ่านการเปิดให้มีการแข่งขันเสรี การห้ามซื้อกิจการ การบังคับขายกิจการบางส่วน หรือการส่งเสริมการแข่งขันในรูปแบบอื่นๆ ได้เช่นกัน 

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทุนผูกขาดจึงพยายามเข้าหารัฐเพื่อใช้อำนาจรัฐในการเอื้อให้มีการผูกขาดหรือป้องกันไม่ให้รัฐคุกคามการผูกขาด

อย่างไรก็ดี การผูกขาดในยุคปัจจุบันกลับเกิดขึ้นในอาณาบริเวณที่รัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ด้วยเหตุที่การผูกขาดในปัจจุบันเป็นการผูกขาดด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องมีการคุ้มครองเพื่อมีการสร้างแรงจูงใจให้มีการสร้างนวัตกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับทุนที่ครอบครองอยู่ จนสามารถพัฒนาให้กลายให้เป็น “มาตรฐานกลาง” (de facto standard) ที่ไม่มีอย่างอื่นทดแทน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเทคโนโลยีในระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟท์ ที่ถูกปกป้องโดยกฎหมายสิทธิบัตร ทำให้ไมโครซอฟท์สามารถหาประโยชน์จากนวัตกรรมของตน ในขณะเดียวกันก็ใช้การปกป้องในการขจัดคู่แข่งหรือผู้เลียนแบบให้พ้นไปจากตลาด โดยที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกทดแทนเท่าใดนัก ในขณะเดียวกัน รัฐก็ไม่สามารถยกเลิกสิทธิบัตรได้ด้วยข้อจำกัดหลายประการ

อีกส่วนหนึ่งคือการที่การผูกขาดเปลี่ยนแปลงจากการผูกขาดภายในอาณาเขตประเทศใดประเทศหนึ่ง กลายเป็นการผูกขาดข้ามชาติ แต่เดิมการผูกขาดนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลักคือการแสวงหากำไรภายในประเทศ (โดยที่ปัจจุบันยังคงเกิดขึ้นในประเทศโลกที่สามหลายๆ แห่ง) 

แต่ในปัจจุบันที่ระบบทุนนิยมได้พัฒนาเป็นระบบโลกาภิวัฒน์ที่แต่ละประเทศต่างเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางการค้าและเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ แต่ละประเทศมีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีที่ต่างกัน ทำให้ในระบบเศรษฐกิจโลกจึงมีทั้งชาติที่ผลิตเทคโนโลยีได้ และชาติที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี 

ความแตกต่างที่ว่าก่อให้เกิดช่องว่างให้ทุนผูกขาดข้ามชาติเข้าไปผูกขาดในประเทศที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี โดยแต่ละประเทศมีทางเลือกเพียงสองหนทางหากต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการผูกขาด คือสร้างเทคโนโลยีของตัวเองที่อาจ “โต้กลับ” การผูกขาดภายในประเทศได้ อย่างที่จีนกับรัสเซียหลีกเลี่ยง Google ด้วยการสร้างระบบของตัวเองขึ้นมา หรือเลือกไปทางกรณีสุดโต่งอย่างเกาหลีเหนือที่ตัดตัวเองออกจากห่วงโซ่นานาชาติโดยสมบูรณ์


อันตรายของทุนผูกขาดในระบอบทุนนิยม

ปัญหาของการมีทุนผูกขาดในระบอบทุนนิยม ไม่เฉพาะเพียงการขัดขวางไม่ให้เกิดนวัตกรรม และการสร้าง “ภาวะจำยอม” ในการบริโภคโดยไม่มีทางเลือกนอกจากถูกควบคุมโดยทุนผูกขาดแล้ว ประเด็นสำคัญคือการรักษาสถานภาพการผูกขาดของทุนผูกขาดเอาไว้ทำให้ทุนผูกขาดจำเป็นต้องสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในการขยายตัวและควบรวมอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งหนทางในการสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดคือการขูดรีดจากสิ่งที่ประชาชนหรือสังคมควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาสินค้าและบริการ การกดค่าแรงจนถึงขีดสุด รวมไปถึงการลดต้นทุนส่วนอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการสะสมส่วนเกินทางเศรษฐกิจของทุนผูกขาดไม่ว่าจะเป็นการเลี่ยงภาษี การปรับลดสวัสดิการที่ควรจะได้ หรือแม้กระทั่งการเลือกที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อแลกกับผลกำไรที่เพิ่มขึ้น 

เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะดี ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นถูกนำไปปรนเปรอให้ทุนผูกขาดเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ส่วนเกินทางเศรษฐกิจย่อมหดเล็กลง แต่ทุนผูกขาดยังคงจำเป็นต้องรักษาความสามารถในการผลิตส่วนเกินทางเศรษฐกิจเอาไว้ ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากปลดแรงงานออก หรือไม่ก็ลดคุณภาพของสินค้าและบริการลง โดยที่ประชาชนทั่วไปถูกมัดมือชกไม่ให้หลุดพ้นจากการครอบงำและขูดรีดของทุนผูกขาดแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถลดทอนลงได้ หากรัฐมีเจตนารมณ์ในการปกป้องประชาชนเป็นหลัก รวมไปถึงมีเครื่องมืออันทรงพลังในการปกป้องหรือลดทอนจากความเสียหายของทุนผูกขาด แต่หากปราการด่านสุดท้ายอย่างรัฐเลือกที่จะร่วมมือกับทุนผูกขาดเสียเอง จนรัฐทำตัวเป็นคณาธิปไตย (oligarchy) หรือโจราธิปไตย (kleptocracy) ไม่มีความเป็นไปได้อื่นๆ นอกเหนือจากประชาชนย่อมกลายเป็นผู้เสียประโยชน์จากการผูกขาดโดยตรงในทุกมิติ 



อ้างอิง

Durand, Cédric, Cecilia Rikap, and Cédric Durand and Cecilia Rikap. 2021. ‘Intellectual Monopoly Capitalism—Challenge of Our Times’. Social Europe (blog). 5 October 2021. https://socialeurope.eu/intellectual-monopoly-capitalism-challenge-of-our-times.

Foster, John Bellamy. 2016. ‘What Is Monopoly Capital?’ Monthly Review, August 2016. https://monthlyreview.org/2018/01/01/what-is-monopoly-capital/.

———. 2017. ‘Monopoly Capital at the Half-Century Mark’. Monthly Review, January 2017. https://monthlyreview.org/2016/07/01/monopoly-capital-at-the-half-century-mark/.

John, Richard R. 2015. Network Nation: Inventing American Telecommunications. Cambridge, Massachusetts: Belknap Press of Harvard University Press.

Patnaik, Prabhat. 2016. ‘Monopoly Capital: Then and Now’. Monthly Review, August 2016. https://monthlyreview.org/2016/07/01/monopoly-capital-then-and-now/.

Thierer, Adam D. 1994. ‘Unnatural Monopoly: Critical Moments in the Development of the Bell System Monopoly’. Cato Journal 14 (2): 267–83.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า