นั่งข้างกรงหมี: ทำความเข้าใจ Finlandization และประวัติศาสตร์ร่วมระหว่างรัสเซีย-กลุ่มประเทศนอร์ดิก กับปรีดี หงษ์สต้น

27 เมษายน 2565
โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป
Finlandization อาจจะเป็นศัพท์การเมืองที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นหูกันนัก แต่ในช่วงเวลา 50 กว่าวันของสถานการณ์ที่รัสเซียเข้ารุกรานประเทศยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 คำศัพท์ดังกล่าวกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเพื่ออธิบาย ไปจนถึงหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 

นิยามโดยคร่าวของ Finlandization หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “การทำให้เป็นฟินแลนด์” คือ การที่ประเทศหนึ่งยอมดำเนินนโยบายการต่างประเทศบางส่วนโดยไม่ขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันประเทศมหาอำนาจก็ยังอนุญาตให้ประเทศเล็กเหล่านั้นมีระบอบการปกครองและอธิปไตยเป็นของตนเอง คำดังกล่าวมีที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตและฟินแลนด์ในยุคสงครามเย็น 

แน่นอนว่าคำ Finlandization มีน้ำเสียงที่เป็นไปในทางตัดสินและดูถูก แต่คำดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างขึ้นจากคนฟินแลนด์เอง หากแต่เป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยแวดวงวิชาการในยุโรปตะวันตก อันชวนให้สงสัยว่าจริงๆ แล้ว คนฟินแลนด์คิดเห็นอย่างไรกับคำดังกล่าว? หรือคิดเห็นอย่างไรต่อภาพลักษณ์เช่นนั้นที่โลกตะวันตกมอบให้? อีกทั้งสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้สำนักข่าวมากมายรื้อฟื้นคำศัพท์เก่าจากยุคสงครามเย็นนี้มาพูดคุยกันมากขึ้นว่า เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย ยูเครนควรจะ “ทำตัวให้เป็นอย่างฟินแลนด์” เสียหรือเปล่า? เพราะนั่งใกล้กรงหมีจึงต้องระแวดระวังไม่ให้หมีอาละวาด? แต่เรื่องราวของรัสเซีย กับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงนั้น มีบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์ซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็นหรือไม่? Common School จึงไปพูดคุยกับนักวิชาการผู้ทำงานใกล้ชิดกับแวดวงประวัติศาสตร์ของประเทศกลุ่มนอร์ดิก อาจารย์ปรีดี หงษ์สต้น เพื่อขยายความและลงลึกไปในความเกี่ยวพันของประเทศเหล่านี้

คุณปรีดี หงษ์สต้น หรือที่ทางผู้สัมภาษณ์เรียกติดปากว่า อาจารย์ปรีดี จากบทบาทอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันอาจารย์ปรีดีเป็นนักวิจัยประจำ Centre for Concurrences in Colonial and Postcolonial Studies มหาวิทยาลัยลินเนียส (Linnaeus University) ประเทศสวีเดน ให้เกียรติมาร่วมสัมภาษณ์กับทาง Common School ผ่านการพูดคุยบน Video Conference ข้ามทวีป เราเริ่มพูดคุยกันเวลา 16.00 น. ของประเทศไทย ซึ่งตรงกับเวลา 11.00 น. ของสวีเดนพอดี 

หลังจากทักทายอย่างเป็นกันเองสั้นๆ เราเริ่มต้นด้วยการเล่าสถานการณ์ร้อนแรงของการถกเถียงเรื่องรัสเซีย-ยูเครน ในหมู่ผู้ติดตามข่าวสารชาวไทยให้อาจารย์ปรีดีฟัง และขอให้อาจารย์ปรีดีอธิบายต้นกำเนิดของคำศัพท์ Finlandization จากฟากฝั่งของผู้ที่ศึกษาและคลุกคลีอยู่กับประเทศนอร์ดิกมาอยู่บ้างให้ฟัง อาจารย์ปรีดีเริ่มต้นด้วยการออกตัวก่อนว่าตนเองเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในเหตุการณ์นี้ ไม่ได้เข้าไปอยู่ในวิวาทะฟากฝ่ายไหน แต่อยากจะเล่าเรื่องราวในฐานะนักประวัติศาสตร์ เพราะในขณะที่โลกปัจจุบันมุ่งจะให้ความสนใจกับปรากฏการณ์เฉพาะหน้า การย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ระยะยาว ที่อาจจะไม่ได้มาท้าทายการวิเคราะห์เฉพาะหน้า อีกทั้งยังไม่ได้เป็นกรอบวิธีการศึกษาแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย แต่ก็เป็นอีกแง่มุมที่อาจจะช่วยให้เห็นภาพกว้างขึ้น


ปรีดี หงษ์สต้น นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลินเนียส ประเทศสวีเดน

อาจารย์ปรีดียังบอกอีกว่าตนเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่อาศัยว่ามีกัลยาณมิตรชาวฟินแลนด์ช่วยเหลือแนะนำบทความที่เป็นประโยชน์ และน่าจะสะท้อนทัศนคติ ความคิดจากชาวฟินแลนด์ส่วนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ต่อคำศัพท์ Finlandization ได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นบทความเก่าที่เขียนขึ้นหลังสหภาพโซเวียตล่มไม่นาน ซึ่งคำตอบหลายๆ ส่วนในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาที่อยู่ในบทความนั้น (สำหรับผู้สนใจ บทความดังกล่าวคือ “Finlandization: Paradoxes of External and Internal Dynamics” (1991) โดย Erkki Berndtson)


Finlandization เป็นคำจากคนข้างนอก

อาจารย์ปรีดีเริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริงว่า กลุ่มภูมิภาคนอร์ดิก (ประกอบไปด้วยประเทศเดนมาร์ค ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ เขตปกครองตนเองหมู่เกาะแฟโร และกรีนแลนด์ รวมทั้งเขตพื้นที่ที่ปกครองตัวเองโอลันด์) เหล่านี้เป็นประเทศขนาดเล็กหรือขนาดกลางในสมัยใหม่ ไม่ได้มีน้ำหนักในการกำหนดทิศทางระหว่างประเทศโดยตรง จึงต้องพิจารณาความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ และรัสเซียประกอบด้วยเสมอ เราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า Finlandization เป็นคำที่คนนอกฟินแลนด์คิดค้นขึ้นมา แล้วใช้ประเทศฟินแลนด์เป็นอุปมาแทน  คำดังกล่าวน่าจะเริ่มต้นใช้ครั้งแรกๆ โดยศาสตรจารย์ริชาร์ด โลเวนธาล (Richard Löwenthal) แห่ง Free University of Berlin ซึ่งเขาระบุว่าตนเองเป็นคนเริ่มใช้คำนี้เป็นคนแรกในปี 1966 อันเป็นผลตื่นตระหนกจากประชุมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่ Warsaw Pact ที่กรุงบูคาเรสต์ 

ในการประชุมมีการเสนอให้ล้มเลิกพันธมิตรทางการทหารในยุโรปทั้งหมด ซึ่งมีการเสนอท้วงเตือนว่า หากการล้มเลิกพันธมิตรดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะทำให้ยุโรปตะวันตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับฟินแลนด์ต่อหน้าสหภาพโซเวียต คือต้องมีท่าทีอ่อนข้อ หรือยอมดำเนินนโยบายบางส่วนภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต เช่น ยอมลงนามสนธิสัญญาบางอย่างที่ตนเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบ นักการเมืองเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเมื่อต้องอภิปรายเกี่ยวกับสหภาพโซเวียต ไปจนถึงการสนับสนุนสหภาพโซเวียตบนเวทีโลก ซึ่งมุมมองดังกล่าว เป็นมุมมองที่เกิดจากคนในยุโรปตะวันตก เมื่อคำนี้ถูกคิดขึ้นมาโดยใช้ฟินแลนด์เป็นอุปมา มันจึงมีปัญหาในตัวของมันเอง ในฟินแลนด์ การอภิปรายที่วิพากษ์แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่ยอมรับในวงการนโยบายต่างประเทศว่านี่ไม่ใช่ภาพของฟินแลนด์ หากแต่เป็นภาพที่คนอื่นมองฟินแลนด์เข้ามา ซึ่งไม่ค่อยเป็นธรรมกับฟินแลนด์เท่าไหร่ในฐานะรัฐที่มีอธิปไตยของตนเอง 

แต่คำดังกล่าวก็ยังได้รับความนิยมมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถูกหยิบยกไปใช้ในหลายๆ สถานการณ์ และด้วยความที่ฟินแลนด์เป็นประเทศนอร์ดิก เป็นกลุ่มประเทศขนาดเล็กถึงกลาง การอภิปรายในระดับเปรียบเทียบ ก็จะมุ่งเน้นมิติใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับประเทศใหญ่เสมอ 

“ตัวอย่างเช่น ประเทศอย่างสวีเดน ก็มักจะมีคำพูดว่า Swedish Model หรือโมเดลแบบสวีเดน ซึ่งก็คือโมเดลแบบรัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตยสังคมนิยม คำนี้ถูกสร้างมาก็เพื่อไปท้าทาย ตั้งคำถามในประเทศตะวันตกเองที่ไม่ได้ใช้ระบบประชาธิปไตยสังคมนิยมแบบรัฐสวัสดิการ จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนที่พูดถึงเรื่อง Swedish Model มากๆ ก็คืออเมริกา พูดเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกานั่นเอง เป็นต้น Finlandization ก็ไม่ต่างกัน นี่จึงเป็นข้อจำกัดที่เราต้องตั้งต้นก่อนเวลาจะคุยกันถึงคำนี้ เราจะได้ไม่ต้องไปพยายามหาคำจำกัดความที่นิ่งของคำดังกล่าว”

อาจารย์ปรีดีกล่าว


การเมืองเรื่องอำนาจ กับ Finlandization

อาจารย์ปรีดีกล่าวต่อว่า ดูเหมือนผู้ที่ใช้คำ Finlandization ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะจากนอกประเทศหรือในฟินแลนด์เอง มักมุ่งประเด็นไปยังการเมืองเรื่องอำนาจเป็นหลักเสมอ ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เน้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเล็กต่อประเทศใหญ่ โดยเฉพาะกรณีประเทศที่มีระบบสังคมและเศรษฐกิจแตกต่างกันมากและไม่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้โดยชอบธรรมเป็นการถาวร 

“เพราะฉะนั้นการตีความ Finlandization เช่นนี้ จะลงไปสู่ข้อสรุปว่า ไม่ว่าประเทศเล็กจะทำอะไร ก็เป็นผลจากอิทธิพลของประเทศใหญ่เสมอไป เพราะฉะนั้น ในฟินแลนด์จึงมีความพยายามจะวิพากษ์ว่ามันไม่ได้มีแค่เรื่องการเมืองเรื่องอำนาจอย่างเดียว และชี้ชวนให้มองเรื่องนี้ออกไปนอกจากการเมืองเรื่องอำนาจ”

อาจารย์ปรีดียังเล่าถึงเนื้อหาของบทความต่อว่า คนใช้คำ Finlandization ในฟินแลนด์เองก็แยกออกไปเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มสายแข็ง มองว่ารัสเซียดุร้ายอยู่ตลอดเวลา กับอีกสายที่มองว่า มีเขตอิทธิพลอย่างอ่อน (Soft sphere of influence) หรือเป็นกลุ่มอิทธิพลซึ่งแผ่มาถึงฟินแลนด์ในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นภัยโจ่งแจ้งเสมอไป แต่แนวคิดของทั้งสองสายก็ถูกตั้งคำถาม 

กลุ่มสายแข็งถูกตั้งคำถามว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มีหลักฐานน้อยมากว่าโซเวียตรัสเซียมีท่าทีแข็งกร้าวต่อฟินแลนด์ หรือจะรุกรานหากฟินแลนด์แข็งขืน ส่วนในกลุ่มที่เชื่อว่ามีอิทธิพลบางๆ ของกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตซึ่งส่งผลต่อประเทศรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ก็ถูกวิพากษ์ว่าเขตอิทธิพลดังกล่าว ระบุเป็นรูปธรรมได้ยาก “ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าสองสายนี้ผิด” อาจารย์ปรีดีบอกถึงหัวใจของบทความ “แต่มันนำไปสู่ข้อสรุปว่า การใช้ประเทศใดประเทศหนึ่งตั้งเป็นกรอบทางทฤษฎี จะลงเอยด้วยระดับความเป็นนามธรรมสูงเสมอ เราไม่สามารถใช้ฟินแลนด์เป็นกรอบทางทฤษฎีได้ เพราะประเทศหนึ่งมีกลุ่มหลายกลุ่ม มีตัวเล่นหลายตัวเล่น หลายมุมมอง จึงค่อนข้างยากที่จะใช้คำนี้ในฐานะคำจำกัดความที่นิ่งและไม่ถูกตั้งคำถาม ท้าทาย และเปลี่ยนแปลง”

แต่อาจารย์ปรีดียังย้ำในประเด็นนี้อีกว่า เราไม่ได้ปฏิเสธอิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่มีต่อฟินแลนด์ แต่มันไม่ได้มีแค่ประเด็นการเมืองเรื่องอำนาจอย่างเดียว ยังมีความย้อนแย้งซับซ้อนอื่นอยู่มากด้วย อย่างเช่น แม้ว่าจะมีความกดดันที่แสดงต่อฟินแลนด์ในทศวรรษที่ 1950 ฟินแลนด์ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับสหภาพโซเวียต แต่ในทศวรรษที่ 1960 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ กลับเป็นประโยชน์ต่อฟินแลนด์ 

“ขอให้นึกถึงฟินแลนด์ในที่ไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันนะครับ ก่อนหน้านี้ฟินแลนด์เป็นประเทศเกษตรกรรม สังคมชาวนา จนกระทั่งช่วง 1960 นี่เองที่ฟินแลนด์ใช้เวลาสั้นๆ กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม และช่วงนั้นสหภาพโซเวียตเป็นผู้ส่งน้ำมันและวัตถุดิบหลักให้แก่ฟินแลนด์ นับเป็น 90% ของการนำเข้าทั้งหมด ก็เป็นช่วงเดียวกับที่คำว่า Finlandization ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา” 


เออร์โฮ เคคโคเนน (ใส่แว่นซ้ายมือ) ประธานาธิบดีฟินแลนด์ และนิกิตา ครุชชอฟ (ขวามือสุด) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ในงานฉลองวันเกิด 60 ปี ของเคคโคเนน ปี 1960

ข้อสรุปจากอาจารย์ปรีดีคือ การกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมของฟินแลนด์ มีบทบาทของสหภาพโซเวียตเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก เพราะฉะนั้น นิยามของ Finlandization จึงไม่ได้ตายตัวตามที่นักวิชาการตะวันตกให้ไว้ “พอพูดถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแล้ว เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าการครอบงำ? หรือคือการปรับตัว? ถ้าเรียกแบบนี้ว่า Finlandization ประเทศเล็กทางเศรษฐกิจไหนๆ ในโลกก็โดน Finlandize ได้หมด เพราะต้องมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเชื่อมกับประเทศใหญ่ๆ อยู่แล้ว” สหภาพโซเวียตทั้งนำเข้าสินค้าจากฟินแลนด์ และให้บริษัทรับเหมาของฟินแลนด์ รับโครงการก่อสร้างในสหภาพโซเวียต ซึ่งช่วยลดอัตราการว่างงานในฟินแลนด์ช่วงนั้นไปได้มาก ในทางกลับกัน สหภาพโซเวียตก็ได้รับเทคโนโลยีจากยุโรปตะวันตก ซึ่งถ้าไม่มีฟินแลนด์ เทคโนโลยีเหล่านี้ก็คงไปไม่ถึงรัสเซียได้ง่ายนัก 

อาจารย์ปรีดีเสริมต่อว่า มีสองประเด็นที่ต้องย้ำว่าฟินแลนด์มีการเติบโตอย่างมีบริบทประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน คือ 1) แม้การค้าระหว่างสหภาพโซเวียต-ฟินแลนด์จะเติบโตเข้มข้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้นศตวรรษ 1980 หนึ่งในสี่ของการค้าทั้งหมดในฟินแลนด์มาจากรัสเซีย แต่อีกสามในสี่ส่วน ฟินแลนด์ก็ยังค้าขายกับประเทศอื่นในยุโรปด้วย ทั้งเยอรมนี สวีเดน และอังกฤษ และ 2) ถ้าใครที่เป็นคนยุคตุลา (ทศวรรษที่ 1970) ก็คงจะจำได้ว่าตอนนั้นเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันปี 1973 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก สหภาพโซเวียตกลายเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของฟินแลนด์ ก็เพราะวิกฤติการณ์ดังกล่าว “ดูปีก่อนหน้าแค่ปีเดียว ปี 1972 ฟินแลนด์ยังนำเข้าน้ำมันจากสวีเดน เยอรมนีตะวันตก และสหราชอาณาจักรมากกว่าโซเวียตอยู่เลย เหมือนน้ำมันมันแพงจากที่อื่น ก็มารับน้ำมันที่โซเวียตแทน” 

และก่อนปี 1973 ฟินแลนด์ก็ยังส่งออกสินค้าไปสหราชอาณาจักร และสวีเดน มากกว่าสหภาพโซเวียต วิกฤติการณ์น้ำมันปี 1973 จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และไม่ใช่แค่ในฟินแลนด์ แต่เอาเข้าจริงก็ในหลายที่ทั่วโลก 

อาจารย์ปรีดีเสริมต่อว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของฟินแลนด์ก็เติบโตอย่างน่าประทับใจ พูดให้พ้นไปจากการเมืองเรื่องอำนาจแล้ว Finlandization ก็ดูจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจกับฟินแลนด์เสียมากกว่า และถ้าไปดูในทางวัฒนธรรมแล้ว ที่คนยุโรปตะวันตกกังวลกันว่า soft sphere of influence จะทำให้ฟินแลนด์ถูกขนบวัฒนธรรมโซเวียตกลืนเข้าไป เอาเข้าจริงแล้ว ถ้านับฟินแลนด์เป็นยุโรปตะวันตก ฟินแลนด์เป็นประเทศที่รับวัฒนธรรมอเมริกันสูงที่สุดประเทศหนึ่ง ไม่ได้กลายเป็นสังคมโซเวียตแบบที่คาดเดากันไว้ 

“ถ้าใช้คำของ Régis Debray ก็คือ We all became American เรากลายเป็นอเมริกันกันหมดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกรณีของฟินแลนด์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น”

ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้เห็นว่าคำนิยามของ Finlandization นั้นส่าย ไม่ได้แข็งทื่อตายตัว เพราะทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ฟินแลนด์ไม่ได้เป็นแบบที่นิยาม Finlandization ระบุไว้เลย


รักษาสมดุลระหว่างตะวันตกและตะวันออก

แต่ก็ไม่ใช่ว่านิยาม Finlandization นั้นถึงกับใช้ไม่ได้เลยในทุกบริบท อาจารย์ปรีดีขยายความจากบทความต่อไปว่า หากจะมี Finlandization ในลักษณะใด อันเป็นสาเหตุให้ยุโรปตะวันตก ก็มี 2 ประเด็นหลัก และ 2 ประเด็นรองที่อยากจะพูดถึง 2 ประเด็นหลักแรก คือ

  1. สนธิสัญญาระหว่างฟินแลนด์กับสหภาพโซเวียต ที่มีชื่อว่า Treaty of Friendship, Cooperation and Mutual Assistance (FCMA)
  2. นักการเมืองฟินแลนด์บางส่วน ก็เซ็นเซอร์ตัวเองเมื่อต้องพูดถึงสหภาพโซเวียต

ส่วนอีก 2 ประเด็นรอง ก็คือ 

  1. การที่ฟินแลนด์ต้องรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างโลกซีกตะวันตก-ตะวันออก เพราะเหตุผลทางการเมือง
  2. การที่ฟินแลนด์ต้องสนับสนุนสหภาพโซเวียตในเวทีนานาชาติ 

อาจารย์ปรีดีเริ่มที่สองประเด็นหลัก คือ การลงนามในสนธิสัญญา FCMA มีคนเสนอว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจำกัดเอกราชของฟินแลนด์เป็นอย่างมาก แต่เอาเข้าจริง ตั้งแต่เซ็นสนธิสัญญากัน เกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองประเทศเพียงครั้งเดียว นั่นคือวิกฤติการณ์ที่ชื่อว่า Note Crisis ในปี 1961 ส่วนประเด็นเรื่องนักการเมืองเซ็นเซอร์ตัวเอง ดูจะเป็นเรื่องที่สื่อนอกประเทศให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในฟินแลนด์ คนในประเทศไม่ได้เห็นเป็นปัญหาอะไร ซึ่งอาจารย์ปรีดีชวนให้ทุกคนคิดต่อในประเด็นนี้ 

“นี่เป็นประเด็นที่อยากให้ลองคิด เพราะไทยก็เป็นประเทศเล็ก ในบทความเขาถามว่า ถ้าหากมองจากผลประโยชน์ของชาติฟินแลนด์เป็นหลัก หากนักการเมืองฟินแลนด์จะลุกขึ้นประสานเสียงกับโลกตะวันตก วิจารณ์สหภาพโซเวียต มันจะมีน้ำหนักพอให้สหภาพโซเวียตฟังหรือ? นี่คือสิ่งที่คนฟินแลนด์ถามโลกภายนอก สหภาพโซเวียตจะเห็นฟินแลนด์เป็นภัยคุกคามมากเท่ากับที่มองโลกตะวันตกเป็นภัยคุกคามหรือ? ฟินแลนด์สำคัญขนาดนั้นหรือ?”  


การลงนามในสนธิสัญญารัสเซีย-ฟินแลนด์ ที่กรุงมอสโก 6 เมษายน 1948

เมื่อมองผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก ท่าทีของนักการเมืองฟินแลนด์จึงเป็นเช่นนี้ ไม่ค่อยจะวิจารณ์ หรือเซ็นเซอร์ตัวเองเวลาพูดถึงนโยบายสหภาพโซเวียต หากมองจากโลกเสรีตะวันตก แน่นอนว่านี่ดูเป็นเรื่องที่ผิด หากสหภาพโซเวียตผิดก็ควรจะลุกขึ้นพูดว่าผิด แต่ในฟินแลนด์ นักการเมืองไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ แต่พยายามสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างสองฟาก อาจารย์ปรีดีได้ยกท่อนหนึ่งในบทความมาให้เราฟังว่า “นักวิชาการต่างประเทศ มักจะถามว่ารู้สึกอย่างไร ที่จะต้องมีชีวิตอยู่ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านกับสหภาพโซเวียต และนักวิชาการตะวันตกเหล่านี้ก็มักจะประหลาดใจอย่างยิ่ง เมื่อคำตอบที่ได้รับคือ มันก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษขนาดนั้น” (Foreign scholars often ask what it feels like to live as a neighbour to the Soviet Union, and they are quite surprised if one tells them that it does not mean anything special)” แต่อาจารย์ปรีดีก็ได้เน้นย้ำตอนท้ายว่า นี่เป็นความเห็นของคนฟินแลนด์จากช่วงต้นทศวรรษ 1990 ความเห็นของมวลชนคนรุ่นใหม่ฟินแลนด์อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนี้ แต่ก็เป็นมุมมองจากฟินแลนด์ที่น่าศึกษา ในเมื่อเรายกประเทศหนีไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีอยู่กับมันไป


การเมืองในสำคัญกว่าการเมืองภายนอก

เมื่อเราถามต่อว่า แล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟินแลนด์ตัดสินใจทางการเมืองเช่นนี้ อาจารย์ปรีดีจึงขยายประเด็นต่อว่า สำหรับฟินแลนด์แล้ว บางที พลวัตและปัจจัยภายนอก อาจไม่ได้สำคัญเท่ากับปัจจัยภายในประเทศเอง ช่วงเวลานั้น ฟินแลนด์ก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศรัฐสวัสดิการและอุตสาหกรรมในเวลาที่สั้นมาก และเอาเข้าจริง กว่าฟินแลนด์จะก่อร่างตัวเองเป็นรัฐสวัสดิการ ก็ล่วงไปถึงปี 1966 แล้ว ถือว่าช้าหากเทียบกับประเทศนอร์ดิกด้วยกัน

อาจารย์ปรีดีอธิบายต่อว่า จะเข้าใจปัจจัยภายในได้ ต้องไปดูที่โครงสร้างการเมือง ความน่าสนใจของการเมืองฟินแลนด์คือ พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้น ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม พรรคกลาง ซึ่งเป็นพรรคเกษตรกร และพรรคคอมมิวนิสต์ ร่วมกันตั้งรัฐบาลขึ้น พรรคการเมืองเดียวที่ถูกกันจากการตั้งรัฐบาล คือพรรคอนุรักษ์นิยม แนวร่วมรัฐบาลเช่นนี้ รวมตัวกันมาได้ตั้งแต่ปี 1966 จนถึงปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฟินแลนด์มีความผูกพันทางเศรษฐกิจอยู่กับสหภาพโซเวียต 

“และเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนอร์ดิกด้วยกัน พรรคคอมมิวนิสต์ฟินแลนด์ได้รับเลือกตั้งเป็นสัดส่วนสูงขนาดที่ประเทศสแกนดิเนเวียอย่างเดนมาร์ค และสวีเดน ได้แต่ฝันถึงเท่านั้น แต่อยากให้เข้าใจก่อนว่าเวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการ มันไม่ได้หมายถึงคอมมิวนิสต์ หรือสังคมนิยม ในกรณีฟินแลนด์ มีสัดส่วนของผู้ใช้แรงงานที่เลือกพรรคคอมมิวนิสต์สูงมาก” 

อาจารย์ปรีดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากดูค่าร้อยละระหว่างจำนวนชนชั้นแรงงานทั้งหมดและการเลือกพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาดังกล่าว คือ 1960-1970 จะยิ่งชัดเจน คือฟินแลนด์มีสัดส่วนอยู่ที่ 23% สวีเดน 5.3% เดนมาร์ก 4.2% นอร์เวย์ 1.5% ในภูมิภาคนอร์ดิกที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเนื้อเดียวกัน มีประชาธิปไตยสูงเหมือนกัน มีรัฐสวัสดิการเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดกลับมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และช่วงเวลานี้เอง ประเทศฟินแลนด์ มีประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเพียงคนเดียว คือ เออร์โฮ เคคโคเนน (Urho Kekkonen ประธานาธิบดีลำดับที่ 8 ของฟินแลนด์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1956-1982) หนึ่งในผู้นำฟินแลนด์ที่โดดเด่นที่สุด 


เออร์โฮ เคคโคเนน (Urho Kekkonen, 1900-1986)  ประธานาธิบดีลำดับที่ 8 ของฟินแลนด์ 

เคคโคเนนเข้ามาสู่การเมืองในฐานะสมาชิกพรรคเกษตรกรเมื่อปี 1939 เป็นช่วงเวลาที่ฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจมาหลายปีแล้ว ปีดังกล่าวเป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะฟินแลนด์จะมีสงครามกับรัสเซีย ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า สงครามฤดูหนาว (Winter War กินเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ปลายปี 1939 จนถึงต้นปี 1940 เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง) เวลานั้นนั้นเคคโคเนนเป็นนักชาตินิยมตัวยง และยังต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย แต่เมื่อสงครามจบลงด้วยการที่ฟินแลนด์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และยอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพมอสโก (Moscow Peace Treaty) เขาไม่ได้เข้าร่วมยกมือลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว แต่ผลงานชิ้นที่สร้างชื่อของเขาคือ การจัดการปัญหารับผู้อพยพ 300,000 คนจากภูมิภาคคาเรเลีย (Keralia) ซึ่งกล่าวง่ายๆ คือเป็นดินแดนที่ฟินแลนด์เสียให้กับสหภาพโซเวียตหลังสงครามจบลง 

“การเสียดินแดนเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรักนักชาตินิยมอย่างเคคโคเนนเสมอ แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง จากที่เคคโคเนนเคยเป็นแอนตี้คอมมิวนิสต์ เขาเริ่มตกผลึก และแสดงทัศนะให้เห็นว่า เพื่ออนาคตของฟินแลนด์ ฟินแลนด์ต้องมีนโยบายต่างประเทศที่ดีกับสหภาพโซเวียต จนถึงปี 1960 เขาก็ประกาศชัดเจนที่จะอยู่ฝ่ายโปรสหภาพโซเวียต”  


แผนที่แสดงภูมิภาคคาเรเลีย ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งกลายเป็นดินแดนของรัสเซีย

เคคโคเนนขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 1956 ช่วงแรกรัฐบาลของเขาประสบปัญหามาก จนกระทั่งหลังปี 1962 (หลัง Note Crisis) ประเทศฟินแลนด์ถึงจะเริ่มสร้างเสถียรภาพทางการปกครองได้ และช่วงปี 1962-1978 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของเขา หลังจากวิกฤติการณ์น้ำมันปี 1973 พรรคการเมืองฟินแลนด์ทุกพรรคต่างเล่นไพ่โซเวียตหมด ใครที่สามารถเสนอนโยบายความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพโซเวียตได้ ก็จะเป็นผู้ที่ก้าวขึ้นมาครองอำนาจนำได้ ประเด็นสำคัญคือ ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจไม่ใช่อิทธิพลจากสหภาพโซเวียตโดยตรง เท่ากับแนวทางการเมืองในฟินแลนด์เอง 

“นี่คือ Internal Finlandization ที่กำหนดวัฒนธรรมการเมืองจากในฟินแลนด์เอง ซึ่งเป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่และเล็กโดยการดำเนินการจากในประเทศเอง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองที่น้อยลง คนออกมาเลือกตั้งน้อยลง ทำให้ฟินแลนด์พัฒนารูปแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมรูปแบบใหม่ๆ ได้ช้า” 

อาจารย์ปรีดีกล่าว จากนั้นจึงเสริมต่อว่า ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่ไม่เปิดรับชาวต่างชาติ เวลานั้นมีชาวต่างชาติในฟินแลนด์ช่วงนี้เพียง 20,000 คนเท่านั้น) ซึ่งก็ทำให้เป็นสังคมมีความเป็นเนื้อเดียวกันทางชาติพันธุ์ (Homogenous) อย่างยิ่งหากเทียบกับประเทศพัฒนาอื่นๆ 

อาจารย์ปรีดีตั้งข้อสรุปเรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามา คือ ประเทศหนึ่งหรือหน่วยการเมืองหนึ่ง ก็มีบริบทประวัติศาสตร์ของตัวเอง การถกเถียงเรื่อง Finlandization กับฟินแลนด์คงจะไม่ออกดอกออกผลนัก เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับฟินแลนด์โดยตรง ไม่ได้มีการพิจารณาความแตกต่างระหว่างฟินแลนด์กับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ อย่างเป็นระบบ หากประเทศอย่างเยอรมนีตะวันตกหรือนอร์เวย์เกิดอยากจะโน้มไปทางสหภาพโซเวียตขึ้นมา ก็คงจะไม่ได้เป็นประเด็นอย่างกรณีฟินแลนด์ เพราะสองประเทศนี้อยู่ใน Common Western Defence System หรือก็คือนาโต้ ประเทศแบบฟินแลนด์ หรือสวีเดน อยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาทำอะไรแบบที่ยุโรปตะวันตกคาดหวังได้ 

พอมาถึงทศวรรษที่ 1990 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย และไม่ได้เป็นภัยต่อยุโรปตะวันตกอีกต่อไป (จนกระทั่งรัสเซียภายใต้การนำของปูตินกลับมามีท่าทีดุร้ายรุนแรงภายในสายตาของยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา) มโนทัศน์เรื่อง Finlandization อาจจะเข้าสู่ความหมายใหม่ คือประเทศเล็กๆ ที่ค่อนข้างมั่งคั่งพยายามยึดกับเส้นทางแบบเดิมที่เคยทำให้เศรษฐกิจเติบโต ในโลกใหม่ที่การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเก่านั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งก็อาจจะสร้างความหมายใหม่ให้กับ Finlandization ก็เป็นได้

“ฟินแลนด์ที่อยู่ในคำว่า Finlandization ไม่เท่ากับประเทศฟินแลนด์ มีกลุ่มตัวเล่นมากมาย เวลาเปลี่ยน บริบทก็เปลี่ยน มันใช้ได้ในการวิเคราะห์เฉพาะหน้าเท่านั้น แม้แต่ตอนนี้ นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ยังลุกขึ้นมาวิจารณ์ท่าทีของรัสเซีย ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคสมัยของฟินแลนด์ตอนนี้ทีเดียว” 

อาจารย์ปรีดีสรุป เราจึงถามต่อว่า ถ้าหากเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจากซันนา มาริน มาเป็นเคคโคเนน ในปี 2022 นี้ (หลังยุคเคคโคเนนมีการปรับบทบาทให้ตำแหน่งประธานาธิบดีมีอำนาจน้อยลง) จะมีท่าทีกับกรณีรัสเซีย-ยูเครนอย่างไร อาจารย์ปรีดีตอบว่า บริบทเปลี่ยนไปเยอะมาก ถ้าเป็นปี 2022 คนแบบเคคโคเนนก็อาจจะไม่ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าตอนนี้มันไม่มีสหภาพโซเวียตแล้ว และไม่ต้องคิดถึงว่าเวลานี้ฝ่ายขวาในฟินแลนด์และสวีเดนก็มุ่งพาประเทศเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้อย่างแข็งขัน


ฟินแลนด์ใต้มงกุฏกษัตริย์สวีเดน สู่พระเจ้าซาร์ และโซเวียต

ด้วยความเป็นนักประวัติศาสตร์ เมื่อเราถามคำถามต่อไป เรื่องราวก็ยิ่งย้อนกลับไปหาอดีตมากขึ้น อาจารย์ปรีดีหยิบอีกบทความหนึ่งที่ชื่อว่า The Myth of Finlandisation โดย เฟร็ด ซิงเกิลตัน (Fred Singleton) นักวิชาการชาวอังกฤษ ในบทความให้คำจำกัดความ Finlandization ไว้ว่า คือประเทศที่ใช้นโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลางในฐานะเพื่อนบ้านของมหาอำนาจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของระบบทางสังคม และประเทศมหาอำนาจเพื่อนบ้านก็ใช้นโยบายทางการเมืองที่ค่อนข้างเย่อหยิ่งและรุกเร้า จึงหมายความว่า อำนาจการตัดสินใจในนโยบายต่างประเทศของประเทศนั้นๆ มีข้อจำกัด แต่ในขณะเดียวกัน อำนาจจัดการภายในประเทศนั้นกลับค่อนข้างสมบูรณ์ 

“ซึ่งลองคิดดู ถ้าเอาคำจัดความนี้มาจับกับยูเครนก็จะค่อนข้างปวดหัวเหมือนกัน เพราะว่าอำนาจสั่งการภายในของเซเลนสกีไม่ได้สมบูรณ์ขนาดนั้น การบอกว่ายูเครนควรจะ Finlandize หรือเปล่าจึงเป็นเรื่องยาก เพราะในกรณีฟินแลนด์ในยุค Finlandization เอง อำนาจปกครองประเทศค่อนข้างสมบูรณ์และมีเสถียรภาพ ไม่เช่นนั้นเคคโคเนนคงไม่อยู่ในอำนาจได้ 20 ปี”

ซึ่งการจะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์กับรัสเซีย อาจารย์ปรีดีชวนให้มองย้อนกลับไปไกลหน่อยสัก 100 ปีก่อน

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ช่วงปี 1809 เป็นช่วงเวลาที่ฟินแลนด์เริ่มเข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียภายใต้พระเจ้าซาร์ ซึ่งเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ การขึ้นมาของรัสเซีย มาพร้อมๆ กับการเสื่อมลงของมหาอำนาจสวีเดน ความเกลียดชัง ความเป็นศัตรูระหว่างรัสเซียกับสวีเดนจึงไม่ได้มาเริ่มต้นตอนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่มีอยู่ก่อนตั้งแต่อดีตแล้ว

“ฟินแลนด์อยู่ใต้มงกุฏกษัตริย์สวีเดนมายาวนานกว่า 700 ปี ซึ่งผลกระทบดังกล่าวยังเห็นได้แม้แต่ในปัจจุบัน หากเราขึ้นสายการบินฟินน์แอร์ สายการบินจะใช้ภาษาสามภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฟินนิช และภาษาสวีดิช ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนฟินแลนด์พูดสวีดิช หรือแม้แต่ตัวการ์ตูนมูมินส์ (Moomins) ผู้เขียนก็เป็นกลุ่มคนฟินแลนด์พูดสวีดิช และคนกลุ่มดังกล่าวก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจและมีการศึกษาสูง มีกระทั่งพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนกลุ่มดังกล่าว”

ในปี 1809 ฟินแลนด์ย้ายจากการถูกปกครองใต้สวีเดน ไปเป็นแกรนด์ดัชชี้ (Grand Duchy) ของรัสเซียภายใต้จักรวรรดิ์ของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ในลักษณะที่ว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์การันตีสิทธิ และอภิสิทธิ์ของเจ้าที่ดินในฟินแลนด์ ให้คำมั่นว่าจะเคารพการปกครองตนเองของฟินแลนด์ สภาพการณ์ของฟินแลนด์ในช่วง 100 ปีดังกล่าว จึงค่อนข้างนิ่ง ชนชั้นนำอยู่ห่างจากศูนย์กลางการปกครอง 

“ถึงอย่างนั้นก็ตาม ระบบกฎหมายเก่าตั้งแต่ยุคใต้จักรวรรดิสวีเดนก็ยังบังคับใช้ กลุ่มชนชนชั้นนำพูดภาษาสวีเดนก็ยังครองอำนาจนำในทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ความแตกต่างมีเพียงแค่รัสเซียขอให้แสดงตัวว่าอยู่กับรัสเซีย ไม่ใช่อยู่กับสวีเดน” 

แต่ในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ กลุ่มแนวคิดชาตินิยมก็ก่อตัวขึ้นมาในฟินแลนด์ ชนชั้นกลางใหม่ที่เริ่มสะสมทุนได้ และมีการศึกษา ก็ทั้งค้นพบและทั้งจินตนาการว่า ตนเองมีรากวัฒนธรรมอันเก่าแก่ จึงควรจะมีประวัติศาสตร์ชาติของตัวเอง ยกระดับภาษาฟินนิชให้เท่าเทียมสวีดิช และเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรม พอกลุ่มชาตินิยมดังกล่าวเกิดขึ้นมา ก็ดันไปชนกับกลุ่มชาตินิยมแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในรัสเซีย กลุ่มที่คิดว่าฟินแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย “ในช่วงเวลานั้น รัสเซียทำสงครามบ่อย ก็ไปเกณฑ์ทหารจากฟินแลนด์มาเข้าร่วมสงครามด้วย มีการต่อต้านและลอบสังหารข้าหลวงจากรัสเซียคนหนึ่งที่มาทำหน้าที่เกณฑ์ทหาร แสดงให้เห็นว่าว่าปลายศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มมีแนวโน้มต่อต้านรัสเซียในฟินแลนด์แล้ว”

อาจารย์ปรีดีเล่าต่อว่า ในช่วงเวลานี้เอง กลุ่มชาตินิยมในฟินแลนด์ก็พยายามปฏิรูประบบการปกครองของตนเอง จาก Estate General แบบเก่า เปลี่ยนเป็นระบบที่ชื่อว่า Eduskunta เป็นระบบคล้ายกับสภาเดี่ยวผ่านการเลือกตั้ง มีภาษาแลรัฐธรรมนูญของตนเองขึ้นมา และเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้ามากในเวลานั้น เช่นการมีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ปัญหาที่ตามมาคือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ริเริ่มดำเนินนโยบาย Russification (ทำให้กลายเป็นรัสเซีย)  ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงขนานใหญ่ในฟินแลนด์ว่าจะรับมือกันอย่างไรกับรัสเซีย 

ในปี 1916 เพียงหนึ่งปีก่อนการปฏิวัติบอลเชวิก พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม ชนะและได้เสียงส่วนใหญ่ในสภา นับเป็นพรรคมาร์กซิสต์พรรคแรกของโลกที่ชนะการเลือกตั้งเสียงส่วนใหญ่ด้วย หลังปฏิวัติบอลเชวิก ปีกปฏิวัติของพรรคคนสำคัญคือคอนนิ ซิลลิอาคุส (Konni Zilliacus) เสนอว่าฟินแลนด์ไม่ควรแยกตัวออกไปจากรัสเซีย ฟินแลนด์ควรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐคอมมิวนิสต์ขนาดใหญ่ไปเลย แม้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่มุ่งเน้นนโยบายที่เรียกว่า Sovietised Finland ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนอร์ดิก “ส่วนปีกที่ไม่ได้เป็นสังคมนิยม ก็แตกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มฟินน์เก่า ที่เน้นความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพโซเวียต อยู่กับรัสเซียก่อนหน้านี้ก็ดีแล้ว กับกลุ่มฟินน์ใหม่ หรือฟินน์หนุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ มุ่งเน้นชาตินิยมฟินน์ และต้องการแยกตัวออกมาจากจักรวรรดิรัสเซีย กลายเป็นว่ามีกลุ่มก้อนทางการเมืองทั้งหมดสามกลุ่ม ปีกซ้ายโซเวียตฟินแลนด์ ฟินน์เก่า และฟินน์ใหม่”


สงครามกลางเมือง และ 30 ปีของประวัติศาสตร์อันขมขื่น

บุคคลสำคัญในกลุ่มฟินน์เก่าคือ เจ.เค. ปาสซิกิวิ (J.K. Passikivi) ต้องการกลับไปอยู่กับกลุ่มจักรวรรดิรัสเซีย ผลของความขัดแย้งของสามกลุ่มทำให้เกิดสงครามกลางเมืองและกลายเป็นความขมขื่นของประวัติศาสตร์ชาติยาวนานกว่าสามทศวรรษ “การปฏิวัติบอลเชวิกสร้างผลกระทบมหาศาล และรวมไปถึงประเทศฟินแลนด์ด้วย ปี 1917 จึงเป็นปีสำคัญ ที่แน่นอนคือการถูกยอมรับความเป็นเอกราชของฟินแลนด์ โดยมีเลนินมาร่วมสนับสนุน แต่ว่าหลังการประกาศเอกราช ชาวฟินแลนด์ตกลงกันไม่ได้ว่าจะปกครองในระบอบแบบไหน สุดท้ายกลายเป็นสงครามกลางเมืองหลังประกาศเอกราชเพียงเดือนเดียวระหว่างกลุ่มฟินแลนด์ขาว ที่ต้องการกลับไปปกครองในระบอบ Eduskunta เหมือนแต่เดิม กับฟินแลนด์แดงที่ยึดถือแนวทางสังคมนิยม สุดท้ายฝ่ายขาวชนะ แต่ชาวฟินแลนด์ก็ล้มตายไปจำนวนมาก เป็นบาดแผลขนาดใหญ่ของคนในประเทศ ภาพฟินแลนด์ที่เรารู้จักปัจจุบันมันใหม่มาก มันมีประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นซ่อนอยู่” กลุ่มฟินน์เก่าที่เคยเชื่อว่าหากผูกฟินแลนด์ไว้กับรัสเซียได้ ก็จะรักษาภูมิภาคคาเรเลียเอาไว้ได้ด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องเสียพื้นที่ส่วนหนึ่งของคาเรเลียให้แก่รัสเซียหลังจบสงครามฤดูหนาว ความคิดเรื่อง Greater Finland ที่ควบรวมผืนดินคาเรเลียไว้ด้วยจึงล้มเลิกไปในต้นศตวรรษที่ 20 


สภาพเมืองทัมเปร์ (Tampere) ที่พังพินาศในสงครามกลางเมืองฟินแลนด์ ปี 1918

สงครามกลางเมืองฟินแลนด์เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จึงมีกระแสฟินแลนด์บางส่วนไปเล่นไพ่เยอรมนี เพื่อจะมาคานกับสหภาพโซเวียต เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1919 แต่ในช่วง 20 ปีหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นโยบายของฟินแลนด์ของข้างจะหันเหไปทางตะวันตกอยู่มาก ทั้งฝั่งสแกนดิเนเวีย อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะกลับมาหาสหภาพโซเวียตในสมัยของเคคโคเนน ช่วงเวลานี้มีความผันผวนค่อนข้างมาก พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมเริ่มปรับตัวเป็นนักปฏิรูปมากขึ้นจากที่เป็นนักปฏิวัติในศตวรรษก่อน แต่ก็ยังมีฐานเสียงจากชนชั้นแรงงานเหนียวแน่นและใหญ่ ช่วงนี้พรรคเริ่มดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ เช่น แบนสิ่งพิมพ์ฝ่ายซ้าย ประกาศให้องค์กรคอมมิวนิสต์ในประเทศผิดกฎหมาย ซึ่งมีกลุ่มปีกขวาต่อต้านคอมมิวนิสต์เข้ามาสนับสนุนด้วย “พวกกลุ่มที่เชียร์เยอรมนีและต่อต้านคอมมิวนิสต์ คนกลุ่มนี้เป็นฟาสซิสต์ และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้สหภาพโซเวียตตัดสินใจบุกรุกฟินแลนด์ ซึ่งข้ออ้างคือการบอกว่า ฟินแลนด์จะเข้ามาบุกโซเวียต เกิดเป็นสงครามฤดูหนาวขึ้นมา”

อาจารย์ปรีดีอธิบายต่อว่า ผลลัพธ์ของสงครามก็ตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้า คือเสียดินแดนบางส่วน พร้อมกับความตายและการอพยพของผู้คนเป็นแสน บรรยากาศหลังสงครามฤดูหนาวจึงเป็นการต่อต้านรัสเซีย และหันไปหานาซีเยอรมนี นั่นทำให้ช่วงหนึ่ง ฟินแลนด์มีสถานะเป็น De Facto Ally หรือพันธมิตรทางพฤตินัยของนาซีเยอรมนีไปโดยปริยาย เมื่อนาซีบุกโซเวียตในปี 1941 แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมว่า ในช่วงเวลานี้มีประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้ากับนาซีเยอรมนีเต็มไปหมด สวีเดนก็ค้าขายกับนาซี นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์คก็ยอมให้กองทัพเยอรมนีเดินทางผ่าน เมื่อสงครามจบจึงทำให้ฟินแลนด์ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับสหภาพโซเวียต 

“ฟินแลนด์ในฐานะประเทศเล็กอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ตลอดเวลา เกิดความสูญเสียมหาศาลแบบที่ไม่เกิดกับประเทศนอร์ดิกอื่นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์กับรัสเซียมีลักษณะขึ้นและลงแบบนี้อยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และมีบริบทที่มากกว่าแค่เป็นเรื่องของประเทศเล็กยอมศิโรราบต่อประเทศใหญ่”


ภูมิภาคนอร์ดิก กับท่าทีต่อสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

หลังจากได้ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ยาวนานทั้งหมดจากอาจารย์ปรีดีแล้ว เราจึงชวนคุยต่อว่า แล้วผู้คนในสวีเดนปัจจุบัน มวลชนส่วนใหญ่ในสังคม หรือเพื่อนร่วมงานรอบตัวอาจารย์ปรีดี ตอนนี้มีท่าทีอย่างไรกับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนบ้าง อาจารย์ปรีดีตอบกลับเราว่า อย่างแรก ความเห็นเบื้องต้นของทุกคนคือการต่อต้านสงครามอยู่แล้ว ยิ่งเป็นพื้นที่อย่างเช่นมหาวิทยาลัย ก็ไม่มีความเห็นเป็นอื่น ทั้งในแง่มุมอย่างกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน ปัญหาคลื่นผู้อพยพ และความสูญเสีย แต่ต้องเสริมเน้นเป็นพิเศษว่า การทำสงครามในโลกที่เป็นประชาธิปไตยเสรีทุนนิยมนั้นไปขัดขวางระเบียบดังกล่าวให้สะดุดลง การผลิตหยุดชะงักเพราะสงคราม ผู้คนจึงพร้อมใจกันต่อต้าน “แต่ก็มีประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงเฉพาะในสวีเดนคือ ข้อถกเถียงว่า เราควรส่งอาวุธเข้าไปร่วมรบในยูเครนหรือไม่ เราจะวางตัวเป็นกลางไม่เกี่ยวข้องเหมือนเดิมตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และทำหน้าที่รับผู้ลี้ภัยอย่างเดียว หรือจริงๆ เราควรเข้าร่วมในสงคราม สนับสนุนด้วยอาวุธ เพราะสวีเดนเป็นประเทศที่ส่งออกอาวุธ มีเทคโนโลยีอาวุธล้ำสมัย ซึ่งในกลุ่มสนับสนุนการเข้าร่วมสงครามก็แตกออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ ส่งอาวุธเฉยๆ กับทั้งส่งไปช่วย และพิจารณาการเข้าร่วมนาโต้ไปด้วย ตอนนี้มีสองทางแยกก็คือ เราจะวางตัวเป็นกลางเหมือนเดิม หรือจะเข้าร่วมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพโลกมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่นึกไม่ออกเลยหากย้อนกลับไป 30-40 ปีก่อน ภาพของการเป็นกลางในทางการเมืองในกลุ่มประเทศอย่างสวีเดน และฟินแลนด์ ได้เปลี่ยนไปแล้ว ในศตวรรษที่ 21 นี้”

อย่างไรก็ดี อาจารย์ปรีดีเสริมว่า ยังมีเสียงคัดค้านว่าเราไม่รู้เลยว่าอาวุธที่ส่งมอบให้ยูเครน จะถูกนำไปใช้อย่างไร เสียงของฝ่ายกลางซ้าย ซึ่งอาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ในสวีเดนจึงคิดถึงการรักษาความเป็นกลางไว้ ไม่ต้องส่งอาวุธเข้าไป และไม่ต้องเข้าร่วมนาโต้ แต่การต้องรับผู้อพยพเพิ่มมากขึ้นก็สร้างแรงตึงเครียดทางเศรษฐกิจ อาจจะพูดได้ว่า สวีเดนคงไม่สามารถรับผู้อพยพได้เท่ากับเมื่อปี 2015 แล้ว แม้ว่าจุดยืนของอาจารย์ปรีดีคือ ต้องรับผู้อพยพเพิ่มอีก แต่การเมืองในประเทศเวลานี้ เสียงของผู้ต่อต้านผู้อพยพเริ่มเด่นชัดขึ้นมา จากแต่ก่อนที่ 7-8% เพิ่มขึ้นไปเกือบ 20% โดยการนำของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ทำให้การกำหนดนโยบายผู้อพยพยากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ในเดนมาร์คใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าไปแล้ว คือมีมาตรการอย่างเข้มงวดในการจัดการกับผู้อพยพ

อาจารย์ปรีดีสรุปก่อนจบการสัมภาษณ์ให้เราฟังอีกครั้งว่า นักวิชาการต่างประเทศมักจะถามคนฟินแลนด์ว่า คุณนั่งอยู่ข้างๆ กรงหมีอย่างนี้ ไม่รู้สึกกลัวบ้างหรือ? แล้วก็จะประหลาดใจกับคำตอบว่า ไม่รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่า คนฟินแลนด์หรือคนนอร์ดิก ไม่ได้มองเห็นรัสเซียเป็นภัย แต่ในเมื่อย้ายกรงหมีไปที่อื่นไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน 

“แล้วก็ต้องนับถือฟินแลนด์ว่าผ่านเรื่องราวพวกนี้มา พัฒนาอุตสาหกรรม และก้าวไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกได้ จากประสบการณ์และประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยเอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านั้นเลย โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในฟินแลนด์นั้นใหญ่มาก แม้คนข้างนอกไม่ค่อยรู้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผมจะได้มาแบ่งปันความรู้ เพื่อจะได้เห็นแง่มุมเกี่ยวกับฟินแลนด์ที่มากออกไป”

ก่อนจบการพูดคุย อาจารย์ปรีดีแนะนำหนังสือของตนเอง ประวัติศาสตร์สแกนดิเนเวีย : History of Scandinavia เป็นหนังสือที่ตั้งใจเขียนขึ้นให้เป็นประวัติศาสตร์สำหรับนักศึกษาและเยาวชน ไม่ใช่หนังสือสำหรับนักวิชาการ แต่ก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์สแกนดิเนเวียที่ซับซ้อนขึ้นสักหน่อย และนำเสนอภาพที่รอบด้านมากขึ้นของสแกนดิเนเวีย และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของภูมิภาคดังกล่าวกับที่อื่น ซึ่งบางบทในหนังสือก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของรัสเซียและประเทศสแกนดิเนเวียด้วย อาจจะพอเป็นประโยชน์ให้กับผู้สนใจได้บ้าง

หนังสือประวัติศาสตร์สแกนดิเนเวีย โดย ปรีดี หงษ์สต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า