จาก “คณะปฏิวัติ” สู่ “กบฏเมษาฮาวาย” ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ รัฐบาลเปรมฯ

2 เมษายน 2565

กษิดิศ อนันทนาธร

โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป

“กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฏยังเติร์ก” เป็นความพยายามยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1-3 เมษายน 2524 โดย “คณะปฏิวัติ” ที่มี พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า พร้อมทั้งกลุ่มนายทหารรุ่น “ยังเติร์ก” (จปร. 7) หลายคน เช่น พ.อ. มนูญ รูปขจร  พ.อ. ชูพงศ์ มัทวพันธุ์  พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร  ฯลฯ  ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน จนมีหนังสือบางเล่มระบุว่า มากที่สุดในประวัติศาสตร์การยึดอำนาจเลยทีเดียว[1]

การยึดอำนาจในครั้งนี้ที่ดูดีเมื่อเริ่มต้นนั้น ต้องล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า เมื่อนายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.เปรม ได้รับพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมจนเหตุการณ์วิกฤตครั้งนี้คลี่คลายได้ในที่สุด


“วันปฏิวัติ 1 เมษายน 2524” ที่มา : หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับวันที่ 2 เมษายน 2524


คณะปฏิวัติลงมือก่อการ

            คณะปฏิวัติเริ่มยึดอำนาจตั้งแต่เวลา 2.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน 2524 โดยในระยะแรกได้ยึดสถานที่สำคัญๆ ไว้ได้ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ จนสามารถออกแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ข้าราชการไปรายงานตัวที่กองบัญชาการคณะปฏิวัติ ณ หอประชุมกองทัพบก และการประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ฯลฯ[2]

            คณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ. เปรม อ้างความจำเป็นว่ามาจากความไม่อุทิศตนรักษาผลประโยชน์ประชาชนของผู้บริหารประเทศชุดก่อ ความไร้อุดมการณ์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ความไม่เด็ดขาดในการตัดสินใจแก้ปัญหาของรัฐบาล ทำให้ประชาชนแร้นแค้นและเดือดร้อน สภาพสังคมเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง ยาเสพติดและแหล่งอบายมุขทำลายอนาคตของประเทศชาติและเยาวชน วัฒนธรรมก็เสื่อมสลาย ดังนั้น คณะปฏิวัติจึงจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และความไม่เป็นธรรมในสังคมที่ทวีทับถมจนถึงขั้นวิกฤต[3]


นายกฯ เปรม เข้าเฝ้าฯ ในหลวง

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2524 เวลา 21.00 น. นายทหารกลุ่มหนึ่งได้มาพบพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ และยื่นคำขาดให้เข้าร่วมการรัฐประหาร แต่ พล.อ. เปรม ได้ปฏิเสธไปว่าไม่มีเหตุผลที่จะทำรัฐประหาร นายทหารกลุ่มนั้นจึงกลับไปด้วยความผิดหวัง[4] 

ขณะเดียวกัน “ทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน” ก็ได้รับทราบข่าวเรื่องนี้ จึงติดต่อให้ พล.อ. เปรม เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบบังคมทูลข้อเท็จจริงให้ทรงทราบ  พล.อ. เปรม จึงเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในเวลา 24.00 น.[5]

โดย พล.ท. อาทิตย์ กำลังเอก เล่าถึงเบื้องหลังของเหตุการณ์นี้ว่า “พระราชินีทรงมีบทบาทสำคัญในการช่วยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ให้หลุดพ้นจากการกักตัวของพวกยังเติร์ก” โดยทรงโทรศัพท์ไปบอกพวกยังเติร์กว่า

“ถ้าภายในครึ่งชั่วโมงนี้ ผู้บัญชาการทหารบก (หมายถึง พล.อ. เปรม – ผู้อ้าง) ยังออกจากบ้านมาเข้าเฝ้าไม่ได้ ฉันจะออกไปรับด้วยตัวฉันเอง”  

ซึ่งนับเป็นจุดสำคัญ เพราะการรอดพ้นจากกักตัวของ พล.อ. เปรม เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญซึ่งทำให้การยึดอำนาจของคณะปฏิวัติล้มเหลว[6]


หัวหน้าคณะปฏิวัติไม่ยอมเข้าเฝ้าฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้ว “ทรงเห็นชอบที่จะให้หลายฝ่ายร่วมกันพิจารณาถึงเงื่อนไข ความจำเป็น และความพร้อมหากจะทำการปฏิวัติ” จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สัณห์ เข้าเฝ้า แต่ พล.อ. สัณห์ ไม่ยอมเข้าเฝ้า และชิงลงมือยึดอำนาจเสียก่อน[7]

จึงเป็นข้อที่น่าสังเกตว่า เหตุใด พล.อ. สัณห์ และพวก ที่ลงมือยึดอำนาจในครั้งนี้ จึงไม่รีบติดต่อขอเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ลงพระปรมาภิไธยในประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ถ้ามี) ตามอย่างขนบของการรัฐประหาร


ในหลวงเสด็จฯ โคราช

เวลา 12.10 น. ของวันที่ 1 เมษายน 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถยนต์พระที่นั่งมายังค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา  (ส่วนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ มายังค่ายสุรนารี ในเวลา 19.30 น. และทรงรถจี๊ปออกตรวจกองกำลังรักษาการณ์ตามจุดต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองอีกด้วย)

โดยในขบวนเสด็จมีรถติดตามประมาณ 30 คัน และมี พล.อ. เปรม นายกรัฐมนตรีที่กำลังถูกยึดอำนาจอยู่ในขณะนั้น ตามเสด็จด้วย[8]

ทันทีที่ขบวนเสด็จมาถึงที่ประทับเรียบร้อย ก็มีการจัดตั้ง กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ ขึ้น โดยมี พล.ต. อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ทั้งในส่วนบัญชาการและส่วนปฏิบัติการ[9] 


ที่มา : เพจ Design for Life ออกแบบเพื่อชีวิต โพสต์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564


พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ

ในระหว่างห้วงเวลาแห่งวิกฤตนั้น โฆษกสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชินีนาถมาอ่านออกอากาศ ความว่า

ในการปฏิวัติแต่ละครั้ง ทุกฝ่ายมักจะอ้างถึงความไม่สงบของประเทศและพูดอย่างนี้มาเป็นเวลาสิบ ๆ ปีแล้ว ขอให้พี่น้องประชาชนพิจารณาดูว่า เรามิได้แก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไปหรือ เราจะพยายามจนสำเร็จ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติมิใช่เรื่องง่าย ทุกประเทศแม้แต่ประเทศใหญ่ ซึ่งเขามีนักวิชาการที่เก่ง ก็ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี จึงจะปรับปรุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้น มิใช่ภายในเวลาปีหรือสองปี (ขณะที่เกิดเรื่องนี้ พล.อ. เปรม เพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ปีเศษ – ผู้อ้าง)

ก่อนที่จะทำอะไร ผู้ที่หวังดีต่อประเทศชาติควรจะต้องใช้ปัญญาว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่คนเลือดเนื้อเดียวกันจะมาทะเลาะแก่งแย่งชิงกัน ขณะนี้เป็นเวลาของความสามัคคีร่วมกัน ทำให้ชาติบ้านเมืองพ้นจากการถูกรุกรานของศัตรูภายนอก และร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า”

“ชีวิตของประเทศไม่ควรจะสั้นเพียงแต่ชั่วชีวิตของคน ๆ หนึ่ง คนเรานี้อยู่ 100 ปีก็ถือว่านานแล้ว  ถ้าเราจะคิดถึงชีวิตของประเทศ ก็ต้องคิดให้รอบคอบด้วย จะต้องเป็นห่วงคนรุ่นหลังด้วย ให้ประเทศของเรายืนยงคงอยู่ได้ เป็นที่อยู่อาศัยทำมาหากินของลูกหลานเราต่อไป”  



“ภาพเหตุการณ์ก่อการไม่สงบ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 จ.นครราชสีมา (ภาพฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นที่ระลึก)
ในภาพ คือ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามคณะปฏิวัติ ที่มา : นายพลของแผ่นดิน (2559), น. 192.


ฝ่ายรัฐบาลปราบปรามได้สำเร็จ

หลังจากนั้นฝ่ายรัฐบาลเดิมตอบโต้ด้วยการใช้เครือข่ายการประชาสัมพันธ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งต่อไปออกอากาศในกรุงเทพฯ ทั้งยังมีการทำแผ่นปลิวชี้แจงข้อเท็จจริงจำนวน 100,000 แผ่น โปรยทางอากาศ 11 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย

และนับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน คณะปฏิวัติก็เพลี่ยงพล้ำ สูญเสียความได้เปรียบที่ครองอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ และการที่แกนนำบางคนถูกฝ่ายรัฐบาลควบคุมตัวได้

จนในที่สุด วันที่ 3 เมษายน 2524 เวลา 9.30 น. กองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ คืนได้จนสำเร็จ โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ[10]


พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พร้อมด้วย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ซ้าย) และ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก (ขวา) ณ บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2524 ที่มา : นายพลของแผ่นดิน (2559), น. 192.

พระบารมีปกเกล้าฯ

ความพยายามยึดอำนาจของ พล.อ. สัณห์ และพวก “สั่นสะเทือนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยตรงเลยทีเดียว เพราะทำให้ต้องมีการแปรพระราชฐานไปยังกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ. เปรม ใช้เป็นศูนย์บัญชาการต่อต้าน “คณะปฏิวัติ” ของ พล.อ. สัณห์ และกลุ่มยังเติร์กนั่นเอง  การที่ พล.อ. เปรม สามารถถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ณ กองบัญชาการกองทัพภาค 2 ได้นั้น “แค่นี้คนไทยก็รู้แล้วว่า ควรเข้าข้างใคร[11]

เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลเดิมของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ในการปราบปรามคณะปฏิวัติในครั้งนี้ ทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สถาบันกษัตริย์มีบทบาทในเชิงปฏิเสธหรือทำให้การรัฐประหารล้มเหลวได้[12]

จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้คณะปฏิวัติในครั้งนี้จะมีกองกำลังมากถึง 42 กองพัน และลงมือยึดสถานที่ต่างๆ ไว้ได้แล้วก็ตาม แต่การที่รัฐบาล พล.อ. เปรม ได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในครั้งนี้ ก็ทำให้สามารถยุติการยึดอำนาจลงได้ภายในเวลาไม่นานนัก  นี่อาจเป็นกรณีศึกษาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้เลยทีเดียวที่พระมหากษัตริย์มีบทบาทในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และป้องกันการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นได้สำเร็จ



เชิงอรรถ

[1] ประเทือง โพธิ์ชะออน, ริ้วรอย…กบฏแห่งสยามประเทศ (นนทบุรี : ดอกหญ้า 2000, 2555), น. 310-313.

[2] มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1134 วันที่ 5-11 เมษายน 2524, น. 5.

[3] เพิ่งอ้าง, น. 6, 32.

[4] เพิ่งอ้าง, น. 6.

[5] พรสรรค์ กำลังเอก, นายพลของแผ่นดิน, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก, 2559, น. 194.

[6] ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, คำบรรยายของพลโท อาทิตย์ กำลังเอก, สยามใหม่ วันที่ 23 พฤษภาคม 2524 อ้างถึงใน บุญชัย ใจเย็น, กบฏยังเติร์ก 89 (กรุงเทพฯ : ปราชญ์, 2557), น. 41-42.

[7] นายพลของแผ่นดิน, น. 194.

[8] มติชนสุดสัปดาห์, น. 6, 33.

[9] นายพลของแผ่นดิน9, น. 195.

[10] นายพลของแผ่นดิน, น. 196-197.

[11] บุญชัย ใจเย็น, กบฏยังเติร์ก 89 (กรุงเทพฯ : ปราชญ์, 2557), น. 137-141.

[12] เพิ่งอ้าง, น. 42.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า