หนึ่งวันของทนายความศูนย์ทนายฯ: เมื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงาน

27 กุมภาพันธ์ 2565

ตั้งแต่กระแสขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่พุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่มีชื่อเรียกว่า #ม็อบสามนิ้ว กลายเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ประชาชนได้พาประเด็นแหลมคมต่างๆ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ไปได้ไกลมากที่สุดครั้งหนึ่ง กอปรกับการทำงานของรัฐบาลและการรับมือวิกฤตโรคระบาดที่ล้มเหลว ส่งผลให้ความไม่พอใจต่อรัฐบาลยิ่งพุ่งสูงขึ้น แต่ก็มีบางช่วงที่การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ เปราะบางและสั่นไหว โดยเฉพาะความพยายามปราบปรามและใช้ความรุนแรงจากรัฐ รัฐใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา คุกคาม ข่มขู่ และประพฤติปฏิบัติกับผู้ชุมนุมโดยไม่มีหลักการสากล 

แน่นอนเมื่อมีความพยายามกดปราบ การต่อต้านย่อมเกิดเป็นปฏิกริยาเสมอ และเมื่อรัฐใช้อำนาจอันอยุติธรรม ก็ต้องมีผู้คนที่เรียกร้องและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ว่า Common School ชวน ทนายอาร์ท ณรงค์รัตน์ ขำสุวรรณ หนึ่งในทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาบอกเล่า พูดคุย ถึงชีวิตในวันหนึ่งๆ ของการเป็นทนายบนเส้นทางสายสิทธิมนุษยชน 

ก่อนจะมาเป็นทนายของศูนย์ทนายฯ ทำอะไรอยู่?

“หลังจากที่ผมเรียนจบ สอบใบอนุญาตทนายความ ว่างอยู่ครึ่งปี แล้วถึงเริ่มทำงาน ไม่ได้ทำกับศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่แรก ตอนนั้นได้งานที่บริษัทเอกชนทั่วไป เรียกว่าเป็นเสมียนแล้วกัน แต่เส้นทางคนจบกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งเขาก็จะเตรียมสอบเนฯ เพื่อสอบอัยการสอบผู้พิพากษา ทั่วไปเลยครับ

เราสนใจการเมืองอยู่แล้ว ชีวิตก่อนหน้าอาจจะอยู่นอกวงขององค์กร NGO ไปหน่อย แต่มีวันที่ทนายอานนท์ ปราศรัย ช่วงนั้นเริ่มมีม็อบแล้วนะ ศูนย์ทนายฯ ก็มีการประกาศรับทนายอาสา ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าคนที่ประกาศคือศูนย์ทนายฯ เราก็ลงชื่อไว้ แต่เขาก็ไม่ได้เรียกเราไปเพราะเรามีงานประจำที่ทำอยู่ตอนนั้น”  

แล้วจุดเปลี่ยนคืออะไร?

“ผมเคยลงชื่ออาสา ตอนนั้นติดงานเขาก็ไม่ได้เรียกเรา แต่วันที่ถูกเรียกจริงๆ คือ เดือนมีนาคม 2564 วันที่โตโต้ โดนหน่วยอรินทราชรวบตัวที่ลานจอดรถของเมเจอร์ฯ ตอนนั้นคนที่ศูนย์ทนายฯ ไม่พอ รุ่นน้องที่รู้จักกันที่เขาก็ทำงานที่นี่ เขาก็ถามว่า “ว่างไหม มาช่วยหน่อย คนไม่พอ” เราก็ตกลงเลยมาช่วยเป็นทนายอาสา ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่เปิดโลกโลกมากครับ เพราะว่าสิ่งที่เห็นในข่าว กับสิ่งที่เห็นจริงๆ มันคนละอย่างเลย

ทนายอาร์ท ณรงค์รัตน์ ขำสุวรรณ 

จนปลายเดือนเมษายน รุ่นน้องเขาก็ลงประกาศรับสมัครทนายลงสตอรี่ไอจี ผมเลยลองยื่นสมัครงานดู วันสุดท้ายที่ประกาศรับคือ 30 เมษายน 2564  ซึ่งเมื่อช่วง 14 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ผมติดโควิด ผมก็คอยอยู่ประมาณ 20 กว่าวัน มีเจ้าหน้าที่โทรมาว่าถามว่า ‘สะดวกมาสัมภาษณ์ไหม?’ มาตรการสำหรับผู้ป่วยโควิดในช่วงนั้น คือต่อให้หายแล้วก็ต้องกลับไปกักตัวที่บ้านครึ่งเดือน แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายก็อนุโลมให้ สัมภาษณ์ผ่านซูม  จึงได้เริ่มงานเดือนกรกฎาคม”

หนึ่งวันของการเป็นทนายที่นี่ต่างจากวันของการเป็นทนายที่อื่นอย่างไร?

“ศูนย์ทนายฯ เป็นองค์กรที่เราสนับสนุนและความช่วยเหลือด้านสิทธิและคนที่ถูกดำเนินคดี เช่น เวลามีคนถูกจับตอนชุมนุม หลายครั้งเขาไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเลย ซึ่งก็คือ จะต้องมีทนายโทรหาญาติ การมีทนายมันควรมีตั้งแต่ชั้นที่ถูกจับเลย แต่ตำรวจมักจะให้มีทนายได้ หลังจากที่จับไปแล้ว และหลังสอบสวน ซึ่งความเป็นจริง ประชาชนควรจะได้สิทธินั้นตั้งแต่ต้น ทุกคดีควรจะได้สิทธินี้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือผู้ชุมนุม 

ขณะเดียวกันเราก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้ ทำเพื่ออุดมการณ์ในความคิดของเราด้วย ส่วนหนึ่งมันคือการสนับสนุนผู้ที่เรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องกับรัฐบาล เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ เปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คน สนับสนุนผู้คน เราก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นฟันเฟืองนั้น”

ภาระงานที่ศูนย์ทนายฯ กระทบกับชีวิตประจำวันของเราไหม?

“ก็ค่อนข้างกระทบ แต่ไม่มาก ทนายที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำของศูนย์ฯ จะมีราวๆ 8 คน เดือนหนึ่งมี 4 สัปดาห์ จะจับคู่กันเข้าเวรรับเคสคดีความ สัปดาห์ละ 2 คน คนที่เข้าใหม่กับพี่ที่อยู่ก่อน ผมกับพี่ซีเนียร์ สลับกันคนละวัน คนละวันก็คือ คนหนึ่งอยู่เวรกลางคืน คนหนึ่งอยู่เวรกลางวัน ส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า อีกคนที่ได้นอนในช่วงหกชั่วโมงก่อนหน้า ก็จะมารับช่วงต่อจากนั้น รับช่วงต่อกรณีอาจจะต้องยื่นประกันผู้ที่ถูกจับจากเมื่อคืนก่อนหน้า บางทีตำรวจจับแล้วจะเอาเข้าห้องขังของ สน. แต่ก็อยู่ที่ตำรวจว่าเขาจะสอบสวนเลยไหม ถ้าไม่สอบสวน ก็ต้องรออีกวัน ก็เคยมีกรณีที่ถูกขังทั้งคืนเช่นกัน”

ทนายอาร์ททำงานร่วมกับทนายรุ่นพี่

ที่บอกว่ากระทบไม่มาก เพราะมันก็แค่ 1 สัปดาห์ต่อเดือน ระหว่างที่ไม่ได้อยู่ในเวร เราก็จะต้องไปตามคนที่ถูกจับกุมให้ไปรายงานตัว สมมติ ถูกจับ 1 สิงหาคม อีก 30 วัน ก็ต้องมาตามรายงานตัว เพื่อยืนยันว่าเขาไม่ได้หลบหนี เราก็เป็นคนตามด้วย แล้วก็ทำงานอื่นๆ ที่ทางศูนย์ฯ รับช่วยเหลือไปจนถึงงานเอกสารทั่วไป

เมื่อขยับมาสู่การทำงานจากเอกชนมาเป็นงานมหาชน มีความแตกต่างอะไรกันบ้าง?

“ถ้าเรื่องดีลกับเจ้าหน้าที่ สำหรับผม ผมว่าต่างนะ ตอนเป็นเอกชน เราทำยังไงก็ได้ให้ลูกความเขาเสร็จสิ้นขั้นตอนทางกฎหมาย เราอาจจะไปขอร้อง ขอให้ทำโน่นนี่ ขอให้อะลุ่มอล่วย แต่เราไม่ได้ไปกำหนด หรือบังคับให้เขาปฏิบัติตามกฎเป๊ะๆ แต่กับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำงานด้วยยากมาก เพราะเขาไม่มีมาตรฐาน เราเองก็พยายามทำให้เขาทำตามหน้าที่ที่เขาต้องทำ เพราะเขาไม่ได้ทำเป็นประจำ 

แต่เราก็อยากทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐนะ ทำแบบนี้แหละ มากกว่าปล่อยไปให้เลยตามเลย เพราะสิ่งที่เราเรียนมา อุดมการณ์กฎหมายมันก็ต้องมี ไม่ใช่ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง แบบนั้นมันไม่ถูกต้อง”

การเป็นทนายความที่นี่ ให้ความรู้อะไรใหม่ๆ กับเราบ้าง? 

“จริงๆ เอาแค่เรื่องกฎหมายผมก็ได้อะไรใหม่ๆ เยอะครับ อย่างตัวบทกฎหมายที่เราเรียนมันก็จะต้องมีสิ่งที่ปฏิบัติ ตอนนี้ก็ต้องเอากฎหมายมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์จริง ซึ่งมันได้เรียนรู้อยู่เสมอ แล้วก็ประสบการณ์ในการขึ้นศาลก็สำคัญ เราก็เคยว่าความมาบ้างในคดีแพ่ง แต่ยังไม่เคยว่าความในคดีอาญา แล้วคดีแพ่งจากที่ทำงานเก่า มันเป็นการไกล่เกลี่ยมากกว่า ไม่ได้เป็นการต้องมาชนกันแบบที่โจทก์กับจำเลยต้องมาค้านกัน ค้านกันให้สุดแบบงานที่ทำตอนนี้ พอมาขึ้นคดีอาญา แค่นัดตรวจพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย ก็รู้สึกกดดันแล้ว กดดันจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ​ กดดันจากโจทก์ด้วย ก็ได้ประสบการณ์ใหม่เยอะ”

มีการกระทำไหนที่เรารู้สึกว่ารัฐทำผิดมากบ้างไหม?

“สิ่งที่เห็นชัดสุดเลยก็คือ ตำรวจ ปัญหาที่ผมคิดว่ามันค่อนข้างแย่ก็คือ เวลาที่เขาจับผู้ชุมนุม เขาไม่ได้พาไปที่ สน.เลย มันจะมีช่วงที่เขาขับรถไปไหนก็ไม่รู้ วนหายไปเป็นชั่วโมง ซึ่งขนาดเราเป็นทนายที่พยายามจะหาตัวเขา เรายังกังวลเลย แล้วถ้าเป็นญาติเขาล่ะ เขาจะรู้สึกยังไง? หายไปเป็นชั่วโมง แล้วถ้าถูกจับเขต สน. พญาไท ก็ควรไปโผล่พญาไท แต่บางทีจับที่พญาไท ก็พาไปที่อื่น เขาอาจจะให้เหตุผลว่าเลี่ยงผู้ชุมนุม แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสมอยู่ดี 

ถ้าไม่มองในมุมทนาย ถามว่ามองในมุมุคนทั่วไปผมก็คงมองว่า ระหว่างการเปลี่ยนที่ จับแล้วพาหายไป มันเป็นการกดดันข่มขู่ในตัว การข่มขู่มันไม่จำเป็นต้องพูดออกมาก็ได้ แค่พาไปอยู่ในที่ที่มีคน 10-20 คน ที่เขาไม่รู้จัก เป็นเจ้าหน้าที่หรือเปล่า หรือเป็นใครก็ไม่รู้ ยังไงเขาก็ต้องรู้สึกกลัวอยู่แล้ว

 ไม่ให้เขาโทรศัพท์ ไม่ให้เขาแจ้งใครเลย ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ควรมีเหตุการณ์อย่างนี้เลย” 

ทนายที่ต้องทำงานกับรัฐแบบนี้ หมดหวังในกระบวนการยุติธรรมบ้างไหม?

“มีบ้างครับ เคสที่หนักสุดคือช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่มีตำรวจถูกยิงที่ศีรษะ เขาไม่ได้เสียชิวิตนะเคสนั้น แต่มันเป็นคืนที่ผมรู้สึกว่า ตำรวจพยายามจะตามหาตัวผู้ร้ายมาให้ได้ พอมีเจ้าหน้าที่ถูกยิง เขาก็ปิดล้อมแฟลตดินแดงเพื่อหาคนยิง จับคนที่ไม่รู้เรื่องทั้งหมด 40 กว่าคน ไปไว้ที่ สน. แล้ววันนั้นเป็นเวรผมพอดี ผมก็ไป ตำรวจยศใหญ่ๆ มาหมด  ผมถามตำรวจว่า มีข่าวว่าคนถูกจับเยอะ พวกเขาอยู่ไหนกัน เขาก็บอก ไม่มีนะ ผมก็ – – โอเค ไม่ได้เชื่ออะไร เลยเดินๆ หาดู จนมาเจอห้องที่มีผู้หญิง 3-4 คนนั่งอยู่หน้าห้อง เลยเดินเข้าไปถาม แล้วก็เจอห้อง เปิดประตูเข้าไป เป็นห้องที่มีโซฟายาวแล้วก็มีห้องลึกเข้าไปอีก เหมือนเป็นห้องซ้อนห้อง แต่ในห้องนี้เปิดเข้าไปก็เจอคนที่ถูกคุมตัวมาไว้ 5-6 ชั่วโมง มีตำรวจล้อมหน้าล้อมหลัง เจอคนนั่งอยู่เยอะ แต่มีตำรวจล้อมเยอะกว่า เราก็เลยตะโกนไปว่าทำอะไร” 

“ในห้องนั้นมีคนใส่ชุดตำรวจแค่หน่วยพิสูจน์หลักฐาน แค่นั้นเลย ส่วนคนอื่นเป็นนอกเครื่องแบบหมด 

เราก็ยังยืนยื้ออยู่ที่ประตู ถามว่า จับมานี่แจ้งข้อกล่าวหาหรือยัง? เขาก็บอกว่ายังไม่แจ้ง อ้าว อย่างนั้นคนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ผู้ต้องหาสิ ทำไมถึงควบคุมตัวไว้ ก็เริ่มโต้เถียงกัน เขาก็เริ่มตอบไม่ได้ เขาก็บอกว่าคุณไม่เกี่ยว ผมก็บอกว่าผมเป็นทนาย เป็นให้ทุกคนทั้งหมดนี่แหละ” 

เหตุการณ์วันนั้นจบยังไง? 

“ผมก็ร้องตะโกนบอกคนข้างในว่า พวกคุณไม่ใช่ผู้ต้องหา แล้วเขาก็ไม่แจ้งข้อกล่าวหา เดินออกมาเลย แต่อย่างที่บอกพวกเขาถูกควบคุมตัวมา 5-6 ชั่วโมง แต่ไม่มีใครไปช่วยเขาเลย ตอนเปิดประตูเข้าไปทุกคนมองเหมือนเห็นแสง แต่พอเราพูดไปแล้วทุกคนก็ไม่กล้าออกมา สุดท้ายเราก็ต้องถูกด่าว่าทนายหัว*** มายุ่งอะไร เพราะเหมือนว่าเค้าก็ไม่อยากให้ใครมายุ่ง แต่อาจจะลืมล็อกประตู” 

เวลาปฏิบัติงาน เคยรู้สึกกลัวไหม? 

“สำหรับผม ผมก็เฉยๆ นะ อย่างตอนเปิดประตูไปเห็นคนเยอะๆ ก็ตกใจนิดหนึ่ง แต่เห็นคนที่เขาถูกควบคุมตัว ผมคิดว่า เราสมัครงานมาเพื่อทำสิ่งๆ นี้นะ เขายังถามเลยว่า เป็นทนายมายุ่งอะไร แล้วจะให้เรายุ่งเรื่องอะไรล่ะ? 

แน่นอนว่าผมถือเป็นมือใหม่ในองค์กร รวมถึงเรื่องทนายด้วย ผมเพิ่งได้ใบอนุญาตทนายปี 2563 ไม่ถึง 2 ปีด้วยซ้ำ ก่อนจะเข้าไปหน้างาน เราก็มีปรึกษารุ่นพี่บ้าง แล้วเวลาฉุกละหุก บางทีลืมเหมือนกัน กฎหมายที่เรียนมา รู้ ว่ามีสิทธินั่นนี่แต่ก็ลืมได้ ผมก็โทรปรึกษารุ่นพี่ที่ศูนย์ทนาย เห้ยพี่ มันมีเคสแบบนี้ เอาไงดี เขาก็บอกว่า ไปพาออกมาเลย” 

 เป็นอย่างไรบ้างหลังจากที่ทำงานมาครึ่งปีกับศูนย์ทนายฯ?

“ตอนแรกก็เข้าใจว่ามันอาจจะเครียดๆ บ้าง แต่โดยรวมก็ค่อนข้างดี ด้วยความที่ทุกคนมีอุดมการณ์ที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน พื้นฐานนิสัยก็จะใกล้ๆ กันอยู่แล้ว พี่ที่เขาทำมาก่อนเขาก็พร้อมสอนอยู่แล้ว ทุกคนที่นี่ก็เป็นทนายกันหมด ลักษณะการทำงานก็จะเป็นการจับคู่ มีทนายเวร ตอนกลางวันเราจะถามใครก็ได้ คุยกับใครก็ได้ 

วัฒนธรรมของที่นี่ที่ไม่เหมือนที่อื่น ช่วงโควิดไม่หนักก็จะมีการปิ้งย่างในที่ทำงาน มีครัวให้ ให้ความรู้สึกมีเวลาให้ได้คุย มันเหมือนโฮมออฟฟิศด้วย 

วัฒนธรรมแบบที่ว่าให้อะไรกับเราบ้างไหม?

“พอเรามีเวลาสังสรรค์ตอนค่ำ ได้เจอคนแวะเวียนมา เขาก็จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง เราชอบฟังสิ่งที่คนเจอมา ฟังแล้วได้เอาไปใช้เป็นแรงบันดาลใจ”

อะไรคือแรงบันดาลใจส่วนตัวในการทำงานนี้?

“แรงบันดาลใจของผมก็คือ ทนายอานนท์ แต่เสียใจที่เข้ามาในช่วงที่เขาถูกจับตัวไป ตอนที่สมัครเข้ามา ยังไม่รู้ว่าทนายอานนท์กับศูนย์ทนายฯ ทำงานอยู่ด้วยกัน” 

“แต่ที่ผมสนใจการเมืองและเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ใช้ชีวิตมีไฟมากขึ้น มาจากสปีชแฮรี่พอตเตอร์ของทนายอานนท์ รู้สึกว่านี่คือเป็นสปีชการเมืองที่ดีที่สุดของยุคเลย มันไม่ได้โจมตีใคร แต่มันคือการพูดที่อยู่บนพื้นฐานของกฏหมาย พื้นฐานของรัฐธรรมนูญ เรานับถือบทพูดนั้นมากๆ”   


อาร์ท ในออฟฟิศของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สุดท้าย ในฐานะทนาย มีอะไรอยากจะบอกกับคนที่ต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองไหม?  

“เราอยากให้เขามั่นใจในสิทธิที่มี สิทธิตามธรรมนูญเพื่อยืนยันว่าเขามีสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ถ้าเขาถูกจับเขาต้องรู้ว่าเขามีสิทธิได้โทรศัทพ์ ต้องได้แจ้งญาติ ต้องได้แจ้งทนาย ถ้าเขาอยากได้เขาต้องได้ ไม่มีการงดใช้ ถ้าเขายืนยันสิทธิในการไปชุมนุม ต้องยืนยันเรื่องเหล่านี้ด้วย ถ้าถูกจับเรามีสิทธิ หลักๆ สองอย่างคือ แจ้งญาติ ผู้ไว้วางใจ มีสิทธิที่จะเรียกทนาย เรื่องที่หลังๆ ตำรวจทำคือ ยึดโทรศัพท์ ซึ่งมันไม่เกี่ยว เพราะคนที่ไม่เข้าใจกฏหมายขั้นพื้นฐานจะไม่รู้เรื่องนี้ ต้องยืนยันสิทธิตนเองครับ” 

กรณีที่ประชาชนมีปัญหาต้องการคำแนะนำและคำปรึกษาเบื้องต้น ให้โทรศัพท์มาปรึกษากับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ที่ 092-2793172 หรือ 096-7893173 ตลอด 24 ชั่วโมง

—-

สนับสนุนการทำงานของ Common School ได้ทางบัญชีธนาคารกรุงศรี ชื่อบัญชีมูลนิธิคณะก้าวหน้า เลขที่บัญชี 493-1-08675-7

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า