ที่ใดมีอินเทอร์เน็ต ที่นั่นมีอนาธิปไตย

20 มกราคม 2565

อนาธิปไตยคือแนวคิดทางการเมืองที่ผู้คนชิงชังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อพูดถึงอนาธิปไตยแล้ว พวกเขาจะมองเห็นความโกลาหล ไร้ระเบียบ ไร้กฎหมาย หรืออาจจะรวมไปถึงไร้ศีลธรรม ภาพของนักอนาธิปไตยจึงถูกฉายออกมาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง เพ้อฝัน จนบางคนขนานนามว่าเป็นกลุ่มซ้ายตกขอบ ไม่น่าให้ราคาอะไรกับคนพวกนี้

 สังคมเราถูกหล่อหลอมว่าอนาธิปไตยคือความชั่วร้ายที่จะทำให้โลกนี้ล่มสลาย ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง The Purge แต่แท้จริงแล้ว อุดมการณ์ของอนาธิปไตยไม่ได้เพ่งเล็งไปที่ความรุนแรงหรือไร้ระเบียบ เพียงแต่ว่าการปฏิเสธรัฐของเหล่านักอนาธิปไตยนั้นชวนให้คนส่วนใหญ่คิดถึงความไร้ระเบียบมากกว่า เพราะถ้าไม่มีรัฐ ก็เท่ากับไม่มีกฎเกณฑ์น่ะสิ และเมื่อไม่มีกฎเกณฑ์สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวายแน่ๆ

ดังนั้นเหล่านักอนาธิปไตยจึงพยายามมาตลอดที่จะสื่อสารว่าพวกเขาไม่ได้ต่อต้านระเบียบ เพียงแต่พวกเขาไม่ยอมรับระเบียบที่ไม่ได้เกิดจากข้อตกลงของคนในสังคมทั้งหมด พวกเขาพยายามวิพากษ์การดำรงอยู่ของรัฐที่คอยพรากเสรีภาพและปิดกั้นศักยภาพของมนุษย์ พวกเขาเชื่อว่าสังคมมนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีรัฐอยู่เลย

แนวคิดอนาธิปไตยมีความเข้มแข็งมากในศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษ 20 เพราะมีนักอนาธิปไตยคนสำคัญเกิดขึ้นมากมาย แต่หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นักอนาธิปไตยก็ถูกกวาดล้างมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสองยักษ์ใหญ่ทางอุดมการณ์ในช่วงสงครามเย็นต่างก็เห็นพ้องว่ารัฐคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง นักอนาธิปไตยจึงถูกชิงชังจากทุกฟากฝ่ายและไม่ค่อยจะมีบทบาทมากนัก จนกระทั่งต้นทศวรรษ 1990 ก็เริ่มมีการนำเอาแนวคิดอนาธิปไตยกับมาพูดถึงและปฏิบัติกันอีกครั้ง และจนถึงตอนนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอนาธิปไตยเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะโดนก่นด่ามากมายเท่าไหร่ก็ตาม

แต่รู้หรือไม่ว่าในปี 2022 นี้ อนาธิปไตยสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างไม่น่าเชื่อ

ในปี 1996 John Perry Barlow นักเขียนชาวอเมริกันได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อกฎหมายโทรคมนาคมฉบับใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งทำให้เสรีภาพในการแสดงออก (โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ต) ของประชาชนลดลงเป็นอย่างมาก Barlow กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้คือการประกาศสงครามกับพื้นที่ไซเบอร์ และเขาเขียน “คำประกาศอิสรภาพของไซเบอร์สเปซ” (Declaration of Independence of Cyberspace) ขึ้นมาเพื่อบอกให้โลกนี้รับรู้ว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่พื้นที่ที่รัฐบาลทั้งหลายจะเขามายุ่มย่ามวุ่นวายหรือใช้อำนาจบาตรใหญ่ได้

“[พวกรัฐบาล] ไม่มีสิทธิ์ชอบธรรมอันใดที่จะปกครองพวกเรา แล้วพวกมันก็ไม่มีวิธีใดๆ ที่จะทำให้พวกเราเกรงกลัว”

สำหรับ Barlow นั้น อินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซต้องเป็นอิสระจากการปกครองหรือรัฐบาลทั้งปวง เพราะมันเกิดขึ้นจากผู้คนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์และสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ความเฟื่องฟูของโลกอินเทอร์เน็ตเกิดจากคนธรรมดาสามัญที่ไม่ถูกแบ่งแยกทางชนชั้นหรือสีผิว หาใช่จากฝีมือของสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐบาลไม่ การอ้างสิทธิ์ในการเข้ามาควบคุมหรือจัดระเบียบอินเทอร์เน็ตจึงเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ หรือกล่าวอีกอย่างคือ ชาวไซเบอร์สเปซนั้นไม่เชื่อว่าการแทรกแซงของรัฐบาลจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

ในแง่นี้อินเทอร์เน็ตจึงมีสภาวะอนาธิปัตย์ (anarchy) ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของอำนาจรัฐที่มีลักษณะรวมศูนย์ และเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เกิดความสัมพันธ์แนวระนาบ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสภาวะอนาธิปัตย์คือความยุ่งเหยิงหรือโกลาหล เพราะอันที่จริงแล้วอนาธิปไตยไม่ได้ปฏิเสธกฎเกณฑ์หรือองค์กร เพียงแต่ว่าในลักษณะความสัมพันธ์ที่ถูกจัดวางใหม่นั้น จะต้องมีการออกแบบกฎเกณฑ์หรือการจัดการที่แตกต่างจากความสัมพันธ์แบบลำดับชั้นอย่างที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไป

สำหรับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น สายใย (web) ที่ถูกถักทอขึ้นมาจากการเชื่อมต่อมหาศาลนั้นทำให้อินเทอร์เน็ตมีลักษณะของไรโซม (rhizome) ที่ไม่อาจเจาะจงได้ว่าศูนย์กลางอยู่ที่ไหน และพร้อมที่จะปฏิเสธการมีศูนย์กลางอยู่เสมอ

ถึงแม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะถูกออกแบบมาให้เป็นเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่เคยรอดพ้นจากอำนาจรัฐได้เลย กฎหมายจำนวนมากถูกบัญญัติขึ้นเพื่อไม่ให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ไร้ขื่อแป หรือถ้าพูดให้ตรงกว่านั้นคือไม่ให้เป็นภัยต่อการปกครองของรัฐบาล นับตั้งแต่ประกาศของ Barlow เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน จนถึงตอนนี้อำนาจรัฐแผ่ขยายเข้ามาในอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มข้น แต่ยิ่งถูกบีบบังคับหรือควบคุมขึ้นเท่าใด ไซเบอร์สเปซก็ยิ่งเคลื่อนหนีออกจากอำนาจเหล่านั้นอยู่เรื่อยๆ อย่างเช่น การรณรงค์เพื่อให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว การปกปิดตัวตน การสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเข้ารหัสในการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งความตื่นตัวเหล่านี้ไม่ได้ส่งสารถึงเหล่ารัฐบาลทั่วโลกเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการโต้ตอบกับพวกบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ทำตัวประหนึ่งพี่เบิ้มแห่งโลกอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

Timothy C. May เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 1992 แล้ว เขาออกแถลงการณ์อนาธิปไตยคริปโต (The Crypto Anarchist Manifesto) เพื่อเน้นย้ำถึงกระบวนการเข้ารหัสการสื่อสารที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นอิสระจากอำนาจรัฐมากขึ้น

“ปีศาจที่คอยหลอกหลอนโลกสมัยใหม่ ปีศาจของพวกอนาธิปัตย์คริปโต”

แถลงการณ์ฉบับนี้ทำให้เกิดขบวนการแฮ็กเกอร์ที่เคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซออกจากการแทรกแซงของรัฐ ทำให้เกิดเว็บมืด (dark web) ที่รัฐต้องใช้ความพยายามมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวในการสอดส่องตรวจตรา ทำให้เกิดวัฒนธรรมเสรีที่ต่อต้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ทำให้เกิดการเปิดโปงความลับของรัฐบาล (เช่น วิกิลีกส์, Wikileaks) การเกิดขึ้นของสกุลเงินคริปโต และการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อต่อสู้กับรัฐในพื้นที่ออฟไลน์ พวกเขาเห็นความทรงพลังของไซเบอร์สเปซ และจะไม่ยอมให้มันตกอยู่ภายใต้อำนาจรวมศูนย์ใดๆ เป็นอันขาด

อาจกล่าวได้ว่า การต่อสู้ของนักอนาธิปัตย์คริปโตที่มีต่ออำนาจรัฐนั้นเป็นตัวอย่างชั้นยอดของคำกล่าว “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน” นั่นเอง

เหล่านักอนาธิปัตย์คริปโตนั้นอาจแบ่งแยกย่อยออกเป็นหลายประเภท ที่รู้จักกันดีและเป็นกลุ่มใหญ่ก็คือกลุ่มอิสระนิยมทางเทคโนโลยี (Technolibertarianism) ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพขั้นสูงสุดของปัจเจกบนอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาควบคุมหรือบงการใดๆ ทั้งสิ้น และยังเน้นแนวคิดตลาดเสรีอีกด้วย นักอิสระนิยมมีความเกี่ยวพันกับแนวคิดอนาธิปไตยทุนนิยม (anarcho-capitalism) ที่ดูเหมือนว่าอุดมการณ์ของพวกเขาจะสามารถเกิดขึ้นจริงได้บนไซเบอร์สเปซ เช่น กรณีของ Silk Road เว็บไซต์แลกเปลี่ยนซื้อขายยาเสพติดขนาดใหญ่บนเว็บมืด เพราะผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อย่าง Ross Ulbricht ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาสนับสนุนอนาธิปไตยทุนนิยม และ Silk Road เป็นโครงการที่จะทำให้เขานำเอาอุดมการณ์มาปฏิบัติได้จริง แม้ว่าภายหลังมันจะล้มเหลวก็ตาม (กล่าวคือ Ulbritcht ดูจะมีอิทธิพลและอำนาจมากเกินไป และมีความขัดแย้งภายในกับผู้บริหารคนอื่นๆ จนท้ายสุดเขาถูกจับกุมโดยตำรวจของสหรัฐอเมริกา)

อีกกลุ่มที่น่าจะโด่งดังพอสมควรก็คือพวกไซเฟอร์พังก์ (Cypherpunk) ที่ใช้การเข้ารหัสการสื่อสาร (encryption) เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมือง คุณอาจจะเคยได้ยินชื่อกลุ่มแฮ็กเกอร์ Anonymous ผ่านหูกันมาบ้าง หรือจะเป็นวิกิลีกส์ที่ทำให้ทั่วโลกต้องสั่นสะเทือน จากการออกมาเปิดโปงความลับสุดยอดของรัฐบาลในประเทศต่างๆ พวกเขามองว่าเทคโนโลยีการเข้ารหัสจะช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐพยายามเข้ามาสอดส่องนักเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีกระแสรณรงค์การเข้ารหัสการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง (ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเปิดโปงโครงการสอดแนมมวลชนโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาของ Edward Snowden) แอปพลิเคชันอย่าง Telegram หรือ Signal จะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผู้คนจะนึกถึงเมื่อต้องการการสื่อสารที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว แม้แต่บริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่าง Facebook ก็ยังเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาเทคโนโลยีการเข้ารหัสมาใช้กับแอปพลิเคชันของพวกเขา นั่นหมายความว่าผู้คนตื่นตัวเรื่องความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก (เข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Privacytools )

ในแง่มุมของการต่อต้านระบบทุนนิยม ก็มีกลุ่มโจรสลัดดิจิทัลที่คอยขับเคลื่อนประเด็นเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะลิขสิทธิ์งานวิจัยและองค์ความรู้ ซึ่งราคาที่ต้องจ่ายเพื่อเข้าถึงนั้นแพงเกินไป ในปี 2008 มีแถลงการณ์ฉบับหนึ่งชื่อว่า “แถลงการณ์เพื่อการเข้าถึงอย่างเปิดกว้างแบบกองโจร” (The Guerilla Open Access Manifesto) เขียนโดย Aaron Swartz อัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์ผู้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตและทรัพย์สินทางปัญญา

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวมีข้อเรียกร้องที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา ก็คือการทวงมรดกทางความรู้และวัฒนธรรมคืนมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่นำเอาสิ่งเหล่านี้ไปทำกำไรมหาศาล อย่างเช่นสำนักพิมพ์วารสารวิชาการที่เรียกเก็บเงินแพงๆ สำหรับการเข้าถึงงานวิจัย Swartz “ร้องขอ” ให้พวกเรา ที่มีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงงานวิชาการเหล่านี้ (เช่น บุคลากร อาจารย์ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย) จงดาวน์โหลดงานวิชาการเหล่านั้นออกมาและเผยแพร่ออกไปให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งอีกสองปีต่อมา Swartz ใช้เครือข่ายของ MIT เพื่อดาวน์โหลดเปเปอร์วิชาการจำนวนมากจากเว็บไซต์ JSTOR โดยผู้ดูแลระบบของ MIT สังเกตเห็นความผิดปกตินี้ จึงทำให้ Swartz ถูกจับกุมจากข้อหาต้มตุ๋นทางระบบคอมพิวเตอร์และการขโมยข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ เขาโดนลงโทษจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี จนสุดท้ายก็เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อปี 2013 นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่โลกต้องเสียบุคคลที่มีความสามารถอย่างเขาไป แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากความตายของเขาก็คือ วงวิชาการหันมาให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่งานวิชาการในลักษณะ Open Access เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

อินเทอร์เน็ตยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการจัดตั้งองค์กรเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเหล่านักอนาธิปัตย์ อย่างเช่นการประท้วงในงานประชุม WTO เมื่อปี 1999 ที่คนจำนวนมากมารวมตัวกันในนาม “ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์” ก็มีการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการสื่อสาร และเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มต่างๆ (ซึ่งมีจำนวนมาก) การเคลื่อนไหวประท้วงในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา ล้วนมีการผสมผสานกันระหว่างพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ เช่น อาหรับสปริง การจลาจลครั้งใหญ่ในอังกฤษปี 2011 ขบวนการ Occupy Wallstreet ขบวนการ Black Lives Matter หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยเองก็ตาม

เพราะเราหลายคนต่างรู้ดีว่า อินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซนั้นเป็นพื้นที่อำนาจรัฐจะแสดงออกมาได้น้อยที่สุด หรือถึงจะแสดงออกมาในระดับที่เข้มข้น เหล่าแฮ็กเกอร์และอัจฉริยะทางคอมพิวเตอร์ทั้งหลายก็จะสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อหลีกหนีอำนาจเหล่านั้นอยู่ดี อย่างน้อยพวกเขาก็สานต่อเจตนารมณ์ของ Barlow และ May เพื่อทำให้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นอิสระจากอำนาจรัฐจริงๆ

 แต่ก็อย่าลืมว่าอินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นเครื่องมือของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ว่าใครก็สามารถถหยิบฉวยมันไปใช้ได้ทั้งนั้น

บทความนี้ไม่ได้เป็นการพูดถึงแนวคิดอนาธิปไตยโดยตรง แต่เป็นการเสนอแง่มุมของอนาธิปไตยในฐานะหลักการของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวัน เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ว่า สภาวะอนาธิปัตย์ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอย่างที่คิด แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการจัดวางความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ต่างออกไปจากความสัมพันธ์แบบลำดับชั้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้มีอำนาจย่อมไม่ชอบใจ เพราะพวกเขาไม่คงยอมทิ้งอภิสิทธิ์และอำนาจของตนเพื่อที่จะอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ

สภาวะอนาธิปัตย์จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะหลายๆ ครั้งเราก็อาจจะปฏิเสธรัฐ โดยเฉพาะเมื่อรัฐพยายามเข้ามาบงการชีวิตหรือสอดส่องมากเกินไป หลายครั้งเราอาจรู้สึกว่าเสรีภาพโดนคุกคาม ความเป็นส่วนตัวถูกทำลาย หรือถูกปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาอะไรบางอย่าง แต่เราไม่ได้จะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้คุณกลายเป็นนักอนาธิปไตยไปโดยปริยาย

เพราะท้ายที่สุดแล้ว คุณบางคนอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับการทำให้รัฐหายไป คุณบางคนอาจจะรู้สึกว่ารัฐช่วยคุ้มครองคุณในบางเรื่องได้ คุณบางคนอาจมองว่าถ้าไม่มีรัฐก็จะมีแต่ความวุ่นวายไร้กฎเกณฑ์ แต่นักอนาธิปไตยไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะพวกเขามองว่ารัฐคือสาเหตุของความชั่วร้ายทั้งปวง การทำลายรัฐจึงเป็นเป้าหมายสูงสุด เป็นที่มาของคำว่า anarkhia-anarchy (an = ไม่มี + arkhos = ผู้ปกครองหรือรัฐบาล) นั่นเอง

อ้างอิง

John Perry Barlow, A declaration of the independence of Cyberspace. 1996, [Online] https://www.eff.org/cyberspace-independence สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2565

Timothy C. May, The Crypto Anarchist Manifesto. 1988, [Online] https://groups.csail.mit.edu/mac/classes/6.805/articles/crypto/cypherpunks/may-crypto-manifesto.html สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2565

Aaron Swartz, The Guerilla Open Access Manifesto. 2008, [Online] https://archive.org/stream/GuerillaOpenAccessManifesto/Goamjuly2008_djvu.txt  สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2565 

Elle Armageddon, การเข้ารหัสการสื่อสารสองทางช่วยเราสู้เผด็จการได้อย่างไร (End-to-end Encryption 101). แปลโดย sirisiri, 2021, [Online] https://www.dindeng.com/end-to-end-encryption-101/ สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2565

Peter Marshall, Demanding the Impossible. PM Press, 2010

Peter Ludlow, Crypto Anarchy, Cyberstates, and Pirate Utopias. Bradford Books, 2010

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า