ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานไม่ใช่เพราะ “ชิงสุกก่อนห่าม” แต่เพราะการกลับมาของฝ่ายนิยมเจ้าในการรัฐประหาร 2490

19 มกราคม 2565

บทความนี้ มาจากการสรุปเนื้อหาการบรรยาย “ตลาดวิชาอนาคตใหม่ – The Crown Strikes Back เมื่อเหล่ากษัตริย์นิยมโต้กลับการปฏิวัติ 2475” ในหัวข้อ “โฉมหน้าศักดินาไทยในรัฐประหาร 2490” โดยกษิดิศ อนันทนาธร เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งทาง Common School จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 74 ปี การรัฐประหาร 2490

การบรรยายครั้งนี้ กษิดิศจะนำทัวร์พาพวกเราไปพบกับที่ไปที่มาภูมิหลังของเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ตลอดจนตัวละครต่าง ๆ ที่มีบทบาทนำพาประเทศไทยไปสู่ “จุดตัด” ที่สำคัญในทางการเมือง รวมทั้งแนวคิดเบื้องหลังและมุมมองของกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ ที่มีต่อการรัฐประหารในวันนั้น

หากจะถามว่าวงจรอุบาทว์ในทางการเมืองไทย ที่มีการรัฐประหารแทบจะทุกทศวรรษ และมีระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้เสียที ตลอดจนระบบเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำสุดขั้วอย่างที่เป็นมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มต้นขึ้นที่ไหน

คำตอบหนึ่งย่อมหนีไม่พ้นการรัฐประหาร 2490 ความยายามโต้กลับของกลุ่มนิยมเจ้าครั้งแรก ที่ประสบความสำเร็จในการขุดรากถอนโคนสิ่งที่คณะราษฎรพยายามวางรากฐานเอาไว้ให้เรา

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เราขอชวนทุกคนร่วมกันอ่านไปกับเราได้ ในบทความสรุปการบรรยายชิ้นนี้

จาก 2475-2490 : การขับเคี่ยวระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายนิยมเจ้า

กษิดิศเริ่มต้นการบรรยาย โดยระบุว่าคงจะไม่เป็นการเกินเลยไป ถ้าเราจะบอกว่ารัฐประหาร 2490 เป็นจุดตัดทางการเมืองที่สำคัญ ระหว่างยุคคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ที่กินเวลาถึง 15 ปี กับยุคที่มีพัฒนาการอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากประชาธิปไตยของราษฎร

พูดให้ถึงที่สุดแล้ว พัฒนาการประชาธิปไตยที่ล้มลุกลุกคลุกคลาน ไม่ได้มาจากการชิงสุกก่อนห่ามของคณะราษฎร แต่มาจากการที่มีกลุ่มคนที่ไม่ยอมให้พัฒนาการนี้เดินต่อไปได้ ด้วยการก่อการรัฐประหาร  2490 เรียกได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นของระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

หากเราตั้งต้นว่าประชาธิปไตยไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เราจะเห็นได้ว่ามีการต่อสู้ทางการเมืองมาตลอดนับตั้งแต่นั้น ไม่ใช่เมื่อ 2475 เป็นการยึดอำนาจที่ไม่นองเลือด แล้วทุกอย่างจะจบลงตรงนั้น

ดังจะเห็นได้ว่าหลังการปฏิวัติเพียงแค่ปีเดียว ในเดือนเมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ยึดอำนาจโดยใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีปิดรัฐสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เป็นการกินรวบอำนาจในทางกฎหมายครั้งแรก หลังจากนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงทำการยึดอำนาจเพื่อให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญต่อ หลังจากนั้นก็ยังมีการต่อสู้ขับเคี่ยวเรื่อยมา เกิดกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476

ต่อมาในปี 2477 รัชกาลที่ 7 ได้สละราชสมบัติ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา มาเป็นรัฐบาลจอมพล ป. เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นก็มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายจอมพล ป.กับฝ่ายปรีดี มีขบวนการเสรีไทย จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 ขึ้น

ฉากที่เป็นภาพจำหนึ่งของการรัฐประหาร 2490 ก็คือการยิงเข้าไปในทำเนียบท่าช้าง ซึ่งเป็นบ้านพักของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในเวลานั้นแม้จะไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง ได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโส เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

แต่ก่อนหน้านั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ความน่าสนใจของเหตุการณ์ดังกล่าว คือเมื่อทหารบุกไปที่บ้านพักของปรีดีเพื่อจับตัว ท่านผู้หญิงพูลสุข พนมยงค์ ระหว่างนั้นอยู่ในบ้านกับลูกหลายคน ท่านผู้หญิงได้ตะโกนออกไปว่า “อย่ายิงนะ ที่นี่มีแต่ผู้หญิงและเด็ก”

จากนั้น ก็มีทหารเข้ามาในบ้าน ท่านก็ถามว่าทหารมาทำอะไร เขาก็บอกว่าจะเปลี่ยนรัฐบาล ท่านผู้หญิงก็ตอบไปว่า

“เปลี่ยนรัฐบาลมาเปลี่ยนอะไรที่ที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภา?”

นี่เป็นเป็นความคิดพื้นฐานที่ระบอบการปกครองของคณะราษฎรวางเอาไว้ นั่นคือคุณค่าของประชาธิปไตย คุณค่าของระบอบรัฐสภา การแก้ความขัดแย้ง เปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยสันติ โดยที่ไม่ต้องใช้กำลัง

การรัฐประหาร 2490 : จากประชาธิปไตยของคณะราษฎร สู่ “ประชาธิปไตย” ของฝ่ายนิยมเจ้า

กษิดิศเล่าต่อถึงสภาพบรรยากาศทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยระบุว่าเราอาจแบ่งกลุ่มอำนาจในประเทศไทยในช่วงเวลานั้นได้เป็นสามกลุ่มแบบคร่าว ๆ

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มปรีดี ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมแบบสังคมนิยม มีตัวละคร เช่น พรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนที่สนับสนุนปรีดี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงที่เป็นเสรีไทยด้วย

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายนิยมเจ้า ที่รู้สึกว่าคุณค่าของระบอบเก่ายังสำคัญอยู่ เป็นฝ่ายที่อยู่ตรงกลางของสมการนี้ เริ่มมีความสำคัญขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากถูกลดบทบาทลงไปภายหลังความพ่ายแพ้ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช แต่ในช่วงสงครามโลกที่สอง กลุ่มอนุรักษ์นิยมเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เช่น การเข้าไปมีบทบาทก่อตั้งและขับเคลื่อนขบวนการเสรีไทยในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง คือกลุ่มของจอมพล ป. หรือ “กลุ่มแปลก” เป็นตัวแทนของกลุ่มที่เราอาจเรียกได้ว่าอำนาจนิยมกองทัพ-สายทหาร ที่มีความเชื่อว่าชาติไทยจะยิ่งใหญ่ได้หากมีผู้นำแบบเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรสายพลเรือนกับสายทหารยังพอประนีประนอมเดินหน้าต่อกันไปได้ แม้ว่าจะมีความขัดแย้งกันอยู่เป็นระยะบ้างก็ตาม แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นบุกไทย ก็เริ่มมีความขัดแย้งกันในทางความคิด แนวทางที่เคยพอจะประนีประนอมอยู่ด้วยกันได้ก็กลายเป็นแตกกัน

หลังจากนั้น กลายเป็นว่าปรีดีมาจับมือกับฝ่ายกษัตริย์นิยม-อนุรักษ์นิยม เพื่อทำขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสงคราม แล้วหลังสงครามฝ่ายทหารก็กลายเป็นอาชญากรสงคราม ที่พ่ายแพ้ทางการเมืองด้วย จนลดบทบาทลงไป ฝ่ายปรีดีกับฝ่ายกษัตริย์นิยมเติบโตขึ้นมามีบทบาททางการเมืองแทนที่

ปรีดีพยายามจะประนีประนอมกับฝ่ายกษัตริย์นิยม เช่น การออกกฎหมายอภัยโทษให้ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ปล่อยตัวนักโทษออกจากเรือนจำ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ มีการคืนยศต่าง ๆ เพราะฉะนั้นโดยภาพลักษณ์ จะเห็นว่าฝ่ายปรีดีกับฝ่ายนิยมเจ้าจับมือกันแล้วก็จะเดินหน้าต่อไปด้วยกันได้

แต่นี่ไม่ใช่พันธมิตรทางการเมืองที่เหนียวแน่น ทั้งสองฝ่ายเคยเป็นศัตรูกันมาก่อน ฝ่ายนิยมเจ้ายังมีความคับแค้นใจต่อคณะราษฎร โดยเฉพาะปรีดีอยู่ จนมาถึงจุดที่สถานการณ์พอจะเป็นข้ออ้างให้ได้ มีปัญหาทางเศรษฐกิจ มีกรณีสวรรคต มีความไม่พอใจของฝ่ายทหาร ฝ่ายกษัตริ์นิยมกับฝ่ายจอมพล ป. หรือฝ่ายทหาร-กลุ่มแปลก จึงกลับมาจับมือกันเพื่อเล่นงานกลุ่มปรีดี และเป็นเหตุให้ฝ่ายปรีดีต้องพ่ายแพ้ไป

มีการตั้งข้อสังเกต ว่าฝ่ายปรีดีที่พ่ายแพ้ ก็เพราะไม่มีทหารมากพอที่จะเป็นแรงหนุน รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากสมการการเมืองในระดับสากล ฝ่ายปรีดีก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อสู้กับการรัฐประหารด้วย ทั้งที่มีความตั้งใจจะสู้กลับตั้งแต่ปีแรกด้วยซ้ำ

ตั้งแต่ปีแรก ปรีดีเคยเข้าไปขอความช่วยเหลือจากอเมริกา แต่ก็ถูกอเมริกาปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าปรีดีมีแนวคิดในทางสังคมนิยมมากเกินไป ในสถานการณ์ที่อเมริกาอยู่ในฝ่ายโลกเสรี กำลังต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ รวมถึงกรณีที่ปรีดีสนับสนุนให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สันนิบาตชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นองค์กรทางการเมืองที่สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเอกราช รวมถึงการมีส่วนช่วยให้เวียดนามได้รับเอกราช จากการส่งอาวุธไปให้เวียดมินห์ด้วย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เรียกได้ว่าเป็นปฐมรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยการประนีประนอมกัน รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

หลังจากนั้น ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ประเทศสยามจึงมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระราชทาน” อย่างเป็นทางการขึ้นมา เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อย่างยาวนานถึง 14 ปี จนถึงปี 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมัยที่ปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการตรารัฐธรรมนูญฉบับที่สามขึ้นมา แก้ไขทั้งฉบับแล้วประกาศใช้ และแม้จะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ แต่ก็สืบสายมาจากรัฐธรรมนูญ 2475 และข้อความคิดในทางหลักการประชาธิปไตย ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่สี่ที่มาจากการยึดอำนาจวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีความแตกต่างกันออกไป ในแง่วิธีการได้มา เป็นการใช้กำลังทหารไปเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งมีความไม่ชอบธรรมทางการเมืองอยู่แล้ว และยังถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในกระบวนการด้วย

เพราะในเวลาที่เกิดการรัฐประหาร 2490 พระมหากษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร กับพระยามานวราชเสวี ซึ่งตามข้อเท็จจริง คือพระยามานวราชเสวีไม่ได้ลงชื่อด้วย

มีข้อถกเถียงขึ้นมาว่าการที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทรลงชื่อคนเดียวนี้ ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ควรจะมีผลให้รัฐธรรมนูญ 2490 เป็นโมฆะ เปรียบเทียบได้กับตอนที่รัฐบาลจอมพล ป.ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ในปี 2485 ที่เรานำไปอ้างหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าการประกาศสงครามเป็นโมฆะ ซึ่งตอนนั้น ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการหนึ่งในสามคน ไม่ได้ลงนามรับรองด้วย

นี่คือหนึ่งในเหตุผล ที่ทำให้ปรีดีอธิบายต่อมา ว่าขบวนการประชาธิปไตยที่ล้มเหลวในการยึดอำนาจวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ไม่ได้เป็นการกบฏต่อระบบประชาธิปไตย เพราะท่านต้องการรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยที่ถูกการรัฐประหารที่เป็นโมฆะแย่งอำนาจไป เพื่อจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยกลับมา

ความสำคัญของการรัฐประหาร 2490 คือการเป็นจุดแบ่งระบอบการเมืองแบบ “ประชาธิปไตย” ที่ต่างจากประชาธิปไตยของคณะราษฎรอย่างสิ้นเชิง เริ่มมีลักษณะที่เป็นอนุรักษ์นิยม และมีรัฐมนตรีถวายพระราชอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์ใช้มากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ให้ฝ่ายศักดินา ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายอำนาจนิยมมีอำนาจเพิ่มขึ้น รวมทั้งในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย

บรรยากาศของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 2489 ฝ่ายคณะราษฎรของปรีดี เป็นฝ่ายพลเรือนที่ไปในทางเสรีนิยม-สังคมนิยม ได้ขึ้นมีอำนาจ มีความพยายามเปิดเสรีมากขึ้น หลังจากยุคของจอมพล ป. ที่มีลักษณะคล้ายเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ และพยายามจะคืนดีกับฝ่ายเจ้า จึงทำให้เราได้เห็นพรรคการเมืองที่มีเฉดทางความคิดที่หลากหลายมากขึ้น

แต่ว่าการรัฐประหาร 2490 เป็นการปิดโอกาสความคิดที่แตกต่างกันในทางการเมืองเหล่านั้นออกไป ทำให้การเมืองมีลักษณะเป็นอำนาจนิยม ฝ่ายทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีบทบาทสำคัญ แทบจะเรียกได้ว่ากินพื้นที่ทางการเมืองไปหมด ยังมิพักต้องพูดถึงว่าหลังจากนั้นในปี 2491-2495 ยังมีการไล่ฆ่านักการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วย

การรัฐประหาร 2490 ในมุมมองของฝ่ายนิยมเจ้า : วันใหม่ของชาติไทย

กษิดิศเล่าให้เราฟังต่อ ถึงการรัฐประหาร 2490 ในมุมมองของฝ่ายนิยมเจ้า ซึ่งมีคำอธิบายต่อการรัฐประหารครั้งนั้นด้วยหลายมุมมอง

ประเด็นแรก คำอธิบายว่ามาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก เนื่องจากหลังสงคราม โลกมีความผันผวนทั้งทางการเมืองและวิถีชีวิต ความปลอดภัยในชีวิต ค่าเงิน สภาพทางเศรษฐกิจ มีความเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าต่าง ๆ

นอกจากนั้น ยังมีความผันผวนทางการเมืองมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีถึง 7 ครั้ง เฉลี่ยแล้วอยู่กัน 3-4 เดือน ทำให้ขาดความต่อเนื่องทางการเมือง เพราะฉะนั้น จึงมีปัญหาทั้งทางสังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งมีข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งนำไปสู่ความคับข้องใจทางการเมืองต่อคณะราษฎร

อีกองค์ประกอบหนึ่ง ก็คือการอ้างถึงกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย  หาว่ารัฐบาลไม่จงรักภักดี ไม่ปกป้องกษัตริย์ และมีความไม่พอใจของกลุ่มทหารบก ที่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกที่สอง ที่ไทยมีเป้าหมายจะขยายดินแดน ส่งทหารไปรบที่เชียงตุง แต่แล้วพอเปลี่ยนรัฐบาล ก็มีการละทิ้งนโยบายดังกล่าว รวมทั้้งกองทัพด้วย จนทหารต้องนับไม้หมอนเดินทางกลับมาเอง สถานะของทหารตกต่ำขณะที่เสรีไทยได้รับการเชิดชู

สิ่งเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบที่ฝ่ายนิยมเจ้านำมาใช้อธิบาย ว่ารัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนได้ ทหารก็คับข้องใจ จนต้องมายึดอำนาจใหม่ แล้วเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

พระองค์เจ้าธานีนิวัต ซึ่งเป็นเจ้านายพระองค์สำคัญพระองค์หนึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน ท่านถึงกับเขียนไว้ตอนอายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา ว่า 2490 เป็น “วันใหม่ของชาติ” เลย

เพราะฉะนั้น ถ้าเราดูจากจุดยืนทางการเมือง จะเห็นว่าขณะที่คณะราษฎรสายพลเรือน เห็นว่า 2490 เป็นจุดตัดของพัฒนาการประชาธิปไตย ฝ่ายอนุรักษ์หรือฝ่ายนิยมเจ้าจะเห็นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เป็นวันใหม่ของชาติ เป็นแสงทองของชีวิตที่เริ่มต้นใหม่แล้ว

แต่แม้ข้อเขียนของฝ่ายรัฐประหาร จะมองว่าการทำรัฐประหารเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติ ธำรงเกียรติยศของกองทัพ ทำเพื่อนส่วนรวม ไม่ใช่ของกลุ่มใดโดยเฉพาะ แต่ถ้าไปดูข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่าสถานะของผู้นำการรัฐประหารต่างก็อู้ฟู่ร่ำรวยขึ้นมาโดยไม่มีคำอธิบายเช่นกัน

เราจะเห็นว่าการรัฐประหารจากนั้นมาทุกครั้ง ต้องมีข้ออ้างว่าด้วยความไม่จงรักภักดี แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้ คอมมิวนิสต์กำลังมาคุกคาม เป็นรูปแบบเดียวกัน

เราจึงพออนุมานได้ ว่า 2490 เป็นจุดตั้งต้นของสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าเป็น “วงจรอุบาทว์”

โฉมหน้าศักดินาไทยในการรัฐประหาร 2490 : มุมมองผ่านรัฐธรรมนูญ

กษิดิศเล่าให้เราฟังต่อไป ถึงโฉมหน้าและบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหาร 2490

ในการรัฐประหารครั้งนั้น บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ก่อการ ประกอบด้วยพลโทผิน ชุณหะวัน, พันโทก้าน จำนงภูมิเวท, พันเอกสวัสดิ์ สวัสดิ์เกียรติ และยังมี นาวาอากาศเอกกาจ กาจสงคราม ที่เป็นเสมือนผู้อำนวยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 หรือ “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” ด้วย

ที่น่าสนใจคือคำอธิบายของกาจ กาจสงคราม ที่บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ พวกทหารทำไปกันเอง รัฐธรรมนูญที่จะใช้ใหม่นี้จะให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์มากขึ้น” แล้วหลวงกาจก็ทำจริงเช่นนั้นด้วย ซึ่งเข้ากับหัวข้อที่มีการบรรยาย ว่านี่คือ “The Crown Strike Back”

โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนี้ ยังมีพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ซึ่งเป็นอธิบดีศาลฎีกา, พระยารักตประจิตตธรรมจำรัส ปลัดกระทรวงยุติธรรม, พันเอกสุวรรณ เพ็ญจันทร์ เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก ต่างก็เป็นผู้ที่ร่วมร่างด้วย

ทั้งหมดนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโฉมหน้าของศักดินาไทยในการต่อสู้กับฝ่ายปรีดี ซึ่งไม่ใช่มีเพียงนายทหารนอกราชการ แต่ยังมีอธิบดีศาลฎีกา อดีตกรรมการศาลฎีกา ฯลฯ ที่สะท้อนให้เห็นพลวัตรของความขัดแย้งทางการเมืองด้วย

โฉมหน้าของรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ต่างจากอุดมคติแบบประชาธิปไตยของคณะราษฎรโดยสิ้นเชิง ทั้งเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจ โดยการให้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการยับยั้งกฎหมาย ซึ่งต่างจากระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง

ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ จะถือว่าอำนาจของรัฐสภานั้นมาจากประชาชน เป็นอำนาจที่เข้มแข็งกว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์มีบทบาทเพียงช่วยในการตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น การยับยั้งกฎหมายโดยพระมหากษัตริย์จึงมีเงื่อนเวลา ว่าถ้าไม่ตอบภายในเวลาที่กำหนด สภาสามารถยืนยันกลับไปได้ด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่านั้น และถ้ายืนยันกลับไปแล้วพระมหากษัตริย์ยังไม่เห็นด้วยก็ประกาศใช้ได้เลย

แต่รัฐธรรมนูญ 2490 กลับให้สิทธิยังยั้งอย่างเด็ดขาด ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่เห็นด้วยก็ไม่อาจออกกฎหมายได้ จะเห็นได้ว่าเป็นการถวายอำนาจนี้ให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่เลยด้วยซ้ำ ยับยั้งกฎหมายได้โดยเด็ดขาดในระดับพระราชบัญญัติ

ในระดับพระราชกำหนด รัฐธรรมนูญ 2490 เขียนไว้ว่าถ้ามีสถานการณ์ฉุกเฉิน มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน พระมหากษัตริย์สามารถตราพระราชกำหนดได้ แล้วเมื่อเปิดประชุมสภาจึงให้แจ้งสภา “เพื่อทราบ” เหมือนการเซ็นเช็คเปล่า ออกพระราชกำหนดได้ทันที ตราเสร็จก็ไปบอกสภาเพื่อให้ทราบเฉย ๆ

ส่วนพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับการเงิน/ภาษีอากร ถ้าเป็นเรื่องลับหรือจำเป็น รัฐธรรมนูญ 2490 ให้พระมหากษัตริย์สามารถตราพระราชกำหนดได้เลย มีผลทันที

และที่มีปัญหามาก คือการเพิกถอนรัฐมนตรี ซึ่งมีการถวายเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในการลงนามรับสนองการรับสนองพระบรมราชโองการ ที่ปกติในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ การลงพระปรมาภิไธยใด ๆ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และเป็นคนรับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์เองด้วย พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำการใดโดยลำพังได้ จนเป็นที่มาของคำว่า

“The King can do no wrong” เพราะ “The King can do nothing”

แต่ในรัฐธรรมนูญ 2490 มีหลายมาตราที่ให้ประธานอภิรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ความตลกของมันก็คือในเวลานั้น ประธานอภิรัฐมนตรี เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย แปลว่ามันคือการใช้อำนาจอยู่ในองค์กรเดียวกันวนไปวนมา

ที่แปลกประหลาดไปกว่านั้น คือการเขียนให้ “นโยบายของคณะรัฐมนตรี… จะล้มเลิกหรือแก้ไขเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะเสนอขอรับพระบรมราชวินิจฉัย และได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว” แปลว่านโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ทำไว้ เมื่อพ้นไปแล้ว มีคนอื่นมาทำต่อ จะเลิกไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ เว้นแต่มีพระบรมราชวินิจฉัยและพระบรมราชานุญาตแล้ว

ในแง่นี้ ฝ่ายกษัตริย์นิยมอาจจะบอกว่าเป็นการถวายพระเกียรติยศเฉย ๆ แต่โดยตัวบทแล้วมันเป็นเกียรติยศที่น่ากลัวไปหน่อย เพราะว่าเรื่องทางการเมือง ยิ่งรักสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าไหร่ เราจำเป็นต้องไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำให้คนรัก/คนเกลียด เราสงวนให้พระองค์ไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้คนรักอย่างเดียว แต่การให้พระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันทางการเมืองมีบทบาทในการวินิจฉัยว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่อันตรายมาก

จะเห็นได้ว่าโฉมหน้าของตัวรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2490 มีความแตกต่างกันกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2475 มีการจำกัดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์มาก มาจนรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2475 ก็คลี่คลายมาประนีประนอมกันมากขึ้น แบ่งอำนาจกันมากขึ้น จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2489 ก็เป็นการคลี่คลายให้การปกครองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น มีการเลือกตั้งมากขึ้น เปิดโอกาสให้เจ้ามาเล่นการเมืองได้ ยกเลิกมาตราที่ห้ามเจ้านายตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปมาเล่นการเมือง มีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น

แต่รัฐธรรมนูญ 2490 เป็นอีกแบบหนึ่งเลย เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นให้กับฝ่ายกษัตริย์นิยมหรือพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการเมือง เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นฝ่ายเดียว

โฉมหน้าศักดินาไทยในการรัฐประหาร 2490 : มุมมองผ่านเศรษฐกิจ

กษิดิศยังชี้ให้เราเห็นอีกประเด็นหนึ่งสำคัญ นั่นคือประเด็นทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เห็นว่าการโต้กลับของฝ่ายศักดินาหรือฝ่ายกษัตริย์นิยม ไม่ได้มีแต่ในทางการเมืองและในทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังปรากฏให้เห็นในทางเศรษฐกิจด้วย

ในหนังสือ “ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา” ของ อ.อภิชาต สถิตนิรามัย กับ อ.อิสร์กุล อุณหเกตุ ของสำนักพิมพ์มติชน อธิบายไว้ว่ากลุ่มทุนหรือกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกษัตริย์นิยมหรือฝ่ายศักดินา มีพัฒนาการมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เครือข่ายของพระมหากษัตริย์และขุนนางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มั่งคั่งขึ้นมา หลังจากที่มีการเปิดประเทศ มีการค้าข้าว มีการขยายพื้นที่การปลูกข้าว เครือข่ายของพระมหากษัตริย์และขุนนางต่างได้ประโยชน์จากการมีที่ดิน ร่ำรวยมหาศาลจากระบบเศรษฐกิจแบบนี้

เมื่อเกิด 2475 ขึ้น หลักที่ 3 ของหลัก 6 ประการพูดถึงการบำรุงความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจของราษฎร พยายามจะลดช่องว่างระหว่างคนให้น้อยลง ให้คนไม่ยากจนเกินไปหรือร่ำรวยเกินไป จึงมีการแก้ไขหลายอย่าง เช่น การยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรมหลายประการ เพื่อให้คนในระดับล่างลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้

ความพยายามที่จะโต้กลับทางการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยมหลายครั้ง หากนำเอามิติทางเศรษฐกิจเข้าไปมองด้วย จะเห็นได้ว่าเป็นความพยายามที่จะรักษาส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจให้กลับไปได้มากเท่ากับก่อน 2475 ด้วย เพื่อมิให้ส่วนแบ่งของการกระจายทรัพยากร มากเกินกว่าที่พวกเขาจะรับได้ จนเสียความได้เปรียบทางเศรษฐกิจไป

อ.อภิชาติ ยังอธิบายไว้ว่าการรัฐประหาร 2490 คือโอกาสทองที่จะทวงคืนพระราชอำนาจในการควบคุมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว มีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นมา

นั่นเพราะภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือนหลังการรัฐประหาร 2490 ได้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฉบับใหม่ขึ้นมา ที่มีสาระสำคัญแตกต่างจากฉบับเดิม จนกลายเป็นหนึ่งในความพยายามล้มล้างดอกผลของการปฏิวัติ 2475 ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

บทสรุป : 2490 ในฐานะเส้นแบ่งการเมืองไทย

ในตอนหนึ่ง กษิดิศบรรยายโดยอ้างอิงถึงจากบทสัมภาษณ์ของปรีดีเมื่อปี 2523 ซึ่ง อ.โคทม อารียา เป็นผู้สัมภาษณ์ คำถามทำนองว่าการที่ประชาธิปไตยของประเทศไทยล้มลุกคลุกคลาน คณะราษฎรต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพราะหลายคนมักจะพูดว่ารัชกาลที่ห้า-หก-เจ็ด เตรียมรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้ท่านทำต่อไปบ้านเมืองก็จะเรียบร้อย แต่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามเลยทำให้ประชาธิปไตยไม่พัฒนาไปไหน

ปรีดีตอบว่าคณะรัฐประหาร 2490 ได้สถาปนาระบอบการปกครองใหม่โดยพลการ มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2498 ที่มีพฤตสภามาจากการเลือกตั้ง เป็นการดึงประเทศให้ค่อย ๆ กลับไปสู่สิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เป็นจุดตั้งต้นของระบอบรัฐธรรมนูญหรือระบบการเมืองอีกแบบหนึ่ง ถ้าจะโทษว่าประชาธิปไตยไม่พัฒนา ก็ควรจะต้องโทษคณะรัฐประหารคณะนี้มากกว่าโทษคณะราษฎร

กษิดิศกล่าวต่อ ว่าจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างเป็นประจักษ์ไปจากรัฐธรรมนูญ 2490 สักเท่าไหร่ การรัฐประหาร 2490 จึงเป็นจุดตัดในทางความคิดในการทำร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นเป็นต้นมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า