วันเด็กไทย…เพื่อใครกันแน่

8 มกราคม 2565

หากเราจำกันได้วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมคือ วันเด็กแห่งชาติ และที่พอจะจินตนาการต่อไปได้คือช่วงวันเด็กเรามักจะนึกถึงคำขวัญวันเด็ก โชว์อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินไอพ่น รถถัง และการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นี่อาจเป็นเรื่องปกติของวันเด็กไทย

แต่หากลองพินิจมันให้ดี เราจะเห็นว่า

“กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติไทยสะท้อนค่านิยมที่ผู้ใหญ่ต้องการยัดเยียดให้เด็กมากกว่าจะเป็นวันที่ผู้ใหญ่ออกมาแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการปกป้องดูแลสิทธิของเด็ก และทำให้เด็กได้เติบโตตามแนวทางที่พวกเขาต้องการ” เกิดอะไรขึ้นกับวันเด็กของไทย ทำไมสิทธิเด็กจึงไม่เคยอยู่ในสมการวันเด็ก และต่างประเทศมีแนวปฏิบัติในการฉลองวันเด็กเหมือนกับเราหรือไม่

วันเด็กของไทยไม่ใช่เสาร์ที่สองของเดือนมกราคมมาตั้งแต่แรกเริ่ม งานฉลองวันเด็กครั้งแรกของไทยจัดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม 2498 ในสมัยรัฐบาลแปลก พิบูลสงคราม โดยมีเจ้าภาพคือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการโดยใช้เงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อการจัดงาน ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดการจัดงานวันเด็กก็มาจากผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ สหประชาชาติ วี เอ็ม กุลกานี (V.M. Gulgani) ผู้ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่ขาดแคลนและด้อยโอกาส โดยเขาเล็งเห็นความสำคัญของสวัสดิการและสวัสดิภาพเด็กจากประสบการณ์ตรงที่พื้นฐานครอบครัวตนเองยากจนและเขาต้องทำงานตั้งแต่เด็กเพื่อจุนเจือทุกคน

นอกจากนี้แปลก พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มธรรมเนียมการมอบคำขวัญวันเด็กซึ่งเปรียบเสมือนโอวาทจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ดังเช่นคำขวัญวันเด็กในปีพ.ศ. 2499 ที่ว่า ‘จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม’

นอกเหนือจากสำนึกรัฐนิยมและชาตินิยมที่เพิ่งเริ่มก่อรูปขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตของผู้คน แปลก พิบูลสงคราม ยังริเริ่มการเปิดทำเนียบรัฐบาลให้แก่เด็ก ๆ ได้เข้าชม รวมถึงการเข้าเยี่ยมสภาผู้แทนราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม การเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ห้องส่งกระจายเสียงสถานีวิทยุประเทศไทย เขาดินวนา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ การจัดงานรื่นเริงที่โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ตำบลมักกะสัน เต็นท์บริการอาหารและเครื่องดื่ม ณ สวนลุมพินี โดยเทศบาลนครกรุงเทพฯ และสถานศึกษาหลายแห่งได้จัดงานวันเด็ก โดยเน้นการเฉลิมฉลอง การแจกอาหาร เครื่องดื่มและขนม เห็นได้ว่ามีความพยายามสร้างฐานความนิยมให้กับรัฐไทยสมัยใหม่ในยุคนั้นผ่านกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ ของเด็ก

วันเด็กแห่งชาติในยุคสมัยของแปลก พิบูลสงคราม ถือเป็นนโยบายรัฐนิยมอีกรูปแบบหนึ่งโดยเห็นได้ชัดเจนจากธรรมเนียมการใช้คำขวัญต่าง ๆ ในการสร้างค่านิยมใหม่ให้คนในสังคมเติบโตตามความต้องการของผู้นำมากกว่าส่งเสริมให้เด็กเติบโตตามความฝันของพวกเขาเอง แต่ในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้การยัดเยียดค่านิยมต่าง ๆ เหล่านี้ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้นในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ใช้โครงสร้างประโยค

‘ขอให้เด็กในสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่… ตลอดระยะเวลา 5 ปี และหากศึกษาดูการเขียนคำขวัญของนายกรัฐมนตรีไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ล้วนเป็นคำสั่งให้เด็ก ๆ ต้องทำตามทั้งสิ้น ตั้งแต่คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2502-พ.ศ.2505 สฤษดิ์ ธนะรัชต์มองว่าเด็กไทยต้อง รักความก้าวหน้า อยู่ในระเบียบวินัย ประหยัด และมีความขยันหมั่นเพียร ส่วนใหญ่นายกรัฐมนตรีไทยมักมอบคำขวัญที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมอันพึงมีพึงเป็น เช่น การพูดถึงการเป็นเด็กดี การทำความดี ประพฤติดีดังเช่นคำขวัญวันเด็กของถนอม กิตติขจร

การเมืองและวันเด็กเป็นเรื่องเดียวกัน ชาติไทยเริ่มมีการกล่าวถึงครั้งแรกในสมัยสัญญา ธรรมศักดิ์ พ.ศ.2517 โดยยังคงยึดโยงกับการทำความดี แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้มอบคำขวัญวันเด็กว่า “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นสมบัติของเยาวชนไทย สะท้อนถึงการก่อรูปของลัทธิชาตินิยมซึ่งพ้องกับคำขวัญของขบวนการนวพลที่ว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” โดยธานินทร์เป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสของคนกลุ่มนี้

น่าสนใจว่าการจัดแสดงยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพไม่ปรากฎแน่ชัดว่าริเริ่มในสมัยใด และได้กลายเป็นไฮไลต์หนึ่งของงานวันเด็กไปแล้ว งานวันเด็กไทยจึงสะท้อนถึงลัทธิทหารนิยมที่จัดกิจกรรมแสดงแสนยานุภาพ มอบของขวัญ งานรื่นเริงให้กับเด็ก ๆ เพื่อสร้างฐานความนิยมให้กับแนวคิดของตนมากกว่าที่จะคำนึงถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดของเด็กอันเป็นที่มาแต่ดั้งเดิมของวันเด็ก นั่นคือสิทธิเด็ก ซึ่งหลายประเทศได้ฉลองวันเด็กในวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปีเนื่องจากเป็นวันที่มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (Declaration of the Rights of the Child) ในพ.ศ.2502 ขอยกตัวอย่างบางตอนของอนุสัญญาฉบับนี้ซึ่งไทยลงนามเป็นรัฐภาคีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 และตามกฎหมายระหว่างประเทศมีความผูกมัดที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงต่าง ๆ ที่ได้ลงนามไว้ทั้ง 54 ข้อ โดยแบ่งสิทธิเด็กออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิในการอยู่รอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาและสิทธิในการมีส่วนร่วม

ในการฉลองวันเด็กของรัฐไทยที่ผ่านมาไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นด้านสิทธิเด็กเหล่านี้เลย และดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมาผู้นำของไทยก็มิได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิของเด็กในคำขวัญที่มอบให้เด็กเลย

การมอบคำขวัญโอวาทยังคงรูปแบบธรรมเนียมที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากมายนัก ยังคงเป็นคำสั่งให้เด็กทำและคิดตามที่ผู้ใหญ่เห็นว่าควรเป็น และเฉลิมฉลองวันเด็กในฐานะงานรื่นเริงประจำปีอีกงานหนึ่งที่แฝงไปด้วยแนวคิดรัฐนิยมและลัทธิทหารนิยม

ประเด็นการพัฒนาเด็กก็ไม่ได้อยู่ในบทสนทนาของวันเด็กในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก และการพัฒนาเด็กมักใช้วันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี เพื่อฉลองการประกันสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ฟินแลนด์มีการชักธงขึ้นเสาเพื่อแสดงออกถึงความสำคัญของสิทธิเด็ก และในแง่การออกแบบนโยบายก็มีการเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้ริเริ่มทำกิจกรรม มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ การริเริ่มให้เด็ก ๆ เข้าถึงแหล่งทรัพยากรเพื่อทำกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ เช่น การขอทุนจากรัฐที่ในเมืองอย่างเฮลซิงกิ เด็ก ๆ อายุ 7 ปีขึ้นไปสามารถขอทุนเพื่อทำกิจกรรมพัฒนาตนเองได้แล้ว  ประเทศญี่ปุ่นเฉลิมฉลองวันเด็กด้วยการแข่งขันโอลิมปิกส์สำหรับเด็ก การแสดงสัญลักษณ์ถึงพลังและความกล้าหาญในวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปี

ประเทศอย่างเกาหลีใต้ฉลองวันเด็กทุกวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีในฐานะวันหยุดประจำปีแม้ว่ากิจกรรมการพาเด็ก ๆ ไปเที่ยว หรือซื้อของให้จะไม่แตกต่างจากกิจกรรมวันเด็กในประเทศอื่น ๆ มากนักแต่ที่มาของวันเด็กในเกาหลีใต้นั้นก่อรูปขึ้นจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อให้เกาหลีได้เป็นอิสระจากการปกครองของญี่ปุ่น ในยุคนั้นมีการจัดกิจกรรมการส่งเสริมแนวคิดต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นและฉลองกันในวันที่ 1 พฤษภาคม หรือวันแรงงาน เมื่อเกาหลีใต้ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการและสวัสดิภาพเด็กในรัฐธรรมนูญการฉลองวันเด็กจึงระบุให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี

และที่น่าเสียดายอย่างยิ่งยวดคือวันเด็กของไทยไม่เคยพูดถึง สวัสดิภาพ สวัสดิการ คุณภาพชีวิต หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมพัฒนาตนเองที่ทันยุคทันต่ออนาคตของเด็ก ๆ เลยสักนิด เขียนบทความมาจนถึงตอนนี้จึงไม่ค่อยแน่ใจแล้วว่าวันเด็กของไทยมีไว้เพื่อใครกันแน่

อ้างอิง

บุญญาภา อักษรกาญจน์, คำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีไทย, สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการพัฒนาอาชีพ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556
กรุณพร เชษฐ์พยัศฆ์, ผู้ใหญ่อยากปลูกฝังอะไรเด็กไทย? วิเคราะห์คำขวัญวันเด็กผ่านการเมืองไทยแต่ละยุคสมัย, The Matter, ค้นวันที่ 6 มกราคม 2565 จาก https://thematter.co/social/childrens-day-motto/43637


สุจิตต์ วงษ์เทศ, กว่าจะเป็นเมืองไทย-คนไทย-ภาษาไทย อพยพจากไหนไปไหนกันมาบ้าง, ศิลปวัฒนธรรม, ค้นวันที่ 6 มกราคม 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_69276


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า