‘การเดินทางตลอด 1 ปีของ Common School’

31 ธันวาคม 2564

Common School หน่วยงานทางความคิดของคณะก้าวหน้า เราเดินหน้าจัดทำโครงการต่างๆ ทำงานรณรงค์ทางความคิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่  

ตลอดการเดินทาง Common School ในหนึ่งปี เรารณรงค์ทางความคิดในประเด็นก้าวหน้าหลากหลายประเด็น ปักธงความคิดให้กับสังคมไทย มีจัดกิจกรรมหลักๆ อยู่ 9 กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการห้องสมุดสาธารณะ กิจกรรมกลุ่มอ่าน การบรรยายวิชาการ เสวนาออนไลน์ Common School x Pud  คลิป Explanatory Video จาก Common School กองทุนก้าวหน้าเปิดให้ผู้ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงมีทุนตั้งต้นในการทำกิจกรรม   ค่ายเยาวชน Talk with ปิยบุตร และบทความอีกมามายให้คุณได้อ่านกัน ทั้งหมดนี้มุ่งไปในทิศทางเดียวกันคือ ทำงานทางความคิด เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีกว่า ไปย้อนดูการเดินทางตลอด 1 ปีของ Common School 

Reading Revolution อ่านเปลี่ยนโลก 

หากใครที่ติดตาม Common School มาตั้งแต่ต้น หนึ่งในโครงการแรกๆ ของเราคือ โครงการอ่านเปลี่ยนโลก Reading Revolution เราตั้งใจทำห้องสมุดสาธารณะที่เป็นของทุกคน และสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เพื่อสนับสนุนการอ่าน ส่งต่อหนังสือ ขยายพรมแดนความรู้ที่นำไปสู่การสร้างจินตนาการใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และลงมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ 

ในปี 2564 ครบรอบ 1 ปี โครงการอ่านเปลี่ยนโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา Common School เดินหน้าสานต่อความสำเร็จก้าวเล็กๆ ในการสร้างชุมชนนักอ่านและบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมา เราได้คัดสรรหนังสือใหม่มากกว่า 40 ปกเข้าห้อสมุดทั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง มานุษยวิทยา วรรณกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ และมีหนังสือรวมมากกว่า 1000 เล่มให้เลือกอ่านกันอย่างจุใจ โครการอ่านเปลี่ยนโลกมีนักอ่านจากทั่วประเทศให้กับการตอบรับกับ ‘โครงการอ่านเปลี่ยนโลก’ กันอย่างล้นหลาม เรามีนักอ่านในโครงการอ่านเปลี่ยนโลกทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่ารวม 1,855 คน และมียอดยืมหนังสือรวมเกือบ 3000 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 200-300 รายการ เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักอ่านให้การตอบรับกับโครงการของเราเป็นอย่างดี 

นี่คือหนังสือยอดฮิตที่ครองใจนักอ่านของโครงการอ่านเปลี่ยนโลกตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

อันดับ 1 หนังสือ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ โดย ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

อันดับ 2 หนังสือ ‘1984’ โดย Greoge Orwell 

อันดับ 3 หนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500’ โดย ณัฐพล ใจจริง

อันดับ 4 หนังสือ ‘ความยุติธรรม’ โดย Micheal Sandal                

อันดับ 5 หนังสือ ‘เซเปียนส์’ โดย Yuval Noah Harari 

เราเชื่อว่า การอ่านเป็นกุญแจดอกแรกสู่ความรู้ และกุญแจดอกนี้จะช่วยเปิดการรับรู้ ความคิดของคนในการออกไปเปลี่ยนแปลงโลกได้                                                                                                                                        

หากคุณอยากอ่านหนังสือสักเล่ม กดยืมหนังสือจากโครงการได้ที่นี่ 

Reading Group อ่านเปลี่ยนโลก

นอกจากโครงการอ่านเปลี่ยนโลกแล้ว  Common School ยังจัดกิจกรรม Reading Group หรือกลุ่มอ่าน เปิดพื้นที่ให้นักอ่านได้มาสนทนา แลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันมุมมอง กับหนังสือ นักเขียน และเพื่อนนักอ่านที่จะทำให้เกิดบรรยากาศทางปัญญา เปิดจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการมองโลก

แม้ว่าเราจะเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 แต่เราก็ไม่หยุดยั้งที่จะทำงานทางความคิด สร้างบรรยากาศทางปัญญาให้กับสังคมไทยต่อไป สำหรับปีนี้เราได้จัดกิจกรรม Reading Group อ่านเปลี่ยนโลกทั้งหมด 7 ครั้ง มีทั้งอ่านหนังสือในโครงการอ่านเปลี่ยนโลกและถกเถียงประเด็นต่างๆ ในอนิเมะยอดฮิต

Reading Group ครั้งที่ 5 : อยู่กับบาดแผล [ออนไลน์]

Reading Group ครั้งที่ 6 : พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ  [ออนไลน์]

Reading Group ครั้งที่ 7 : มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ [ออนกราวน์]

Reading Group ครั้งที่ 8 : 1984  [ออนกราวน์]

Reading Group ครั้งที่ 9 : ความยุติธรรม   [ออนไลน์]

Reading Group ครั้งที่ 10 : เศรษฐกิจสามสี   [ออนไลน์]

Reading Group ครั้งที่ 11: อย่าตายนะ มีชีวิตรอดต่อไปให้ได้ Attack on Titan  [ออนไลน์]

กิจกรรม Reading Group ได้กระแสตอบรับที่ดีจากนักอ่านเป็นอย่างมากมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คนทั้งขาจร และขาประจำที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน แชร์ความคิด แบ่งปันมุมมอง และเปิดจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ เรายังคงมุ่งมั่นที่จะจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างชมุชนนักอ่าน เปิดพื้นที่แลกการเรียนรู้ ถกเถียงกันด้วยเหตุผลที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย

Awaken Land ครั้งที่ 2

Common School สานต่อภาระกิจอนาคตใหม่ในการปลดปล่อยศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ถูกกดทับเอาไว้ ในปี 2564 เราตั้งใจจัดค่ายเยาวชน Awaken Land ครั้งที่ 2 ม่ อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมสุดสนุก มากด้วยเนื้อหาสาระ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในออกแบบสังคมและรัฐธรรมนูญที่ใฝ่ฝัน พร้อมวิทยากรชั้นนำจากพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และวิทยากรรับเชิญพิเศษอีกมากมาย เพื่อเปิดพื้นที่ปลดปล่อยศักยภาพของผู้ไม่ยอมจำนน สร้างพื้นที่แห่งการติดอาวุธทางความคิด เสริมสร้างทักษะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ปลุกไฟแห่งความหวัง สร้างหนทางใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมให้ทุกคนออกไปเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม เพราะเราเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่คือพลังสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลง 

Awaken Lamd ครั้งที่ 2 เปิดรับสมัครในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเมษายนมีเยาวชนคนรุ่นใหม่มากหน้าหลายตาจากทั่วทุกภูมิภาคสมัครเข้ามามากกว่า 300 คน ผ่านการตอบคำถามสุดหิน เพื่อคัดเลือกเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวน 80 คน เข้าร่วมกิจกรรมกับทาง Common School ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เรามีความจำเป็นจะต้องเลื่อนการจัดค่าย  Awaken Land ครั้งที่ 2 ออกไป เราหวังว่าหากปีหน้าสถานการณ์การระบาดดีขึ้นเราจะกลับมาพบกันอีกครั้งอย่างแน่นอน ! 

ตลาดวิชาอนาคตใหม่ 

สมัยที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ เราตั้งใจทำการบรรยายสาธารณะในรูปแบบ ‘ตลาดวิชา’ ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกคนในการเข้าถึงความรู้ เราให้ชื่อมันว่า ‘ตลาดวิชาอนาคตใหม่’ แม้ว่าเราถูกคน 7 คนที่ใส่ชุดครุยบนบัลลังก์ในชื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ และได้ก่อตั้ง ‘คณะก้าวหน้า’ และมี Common School เป็นหน่วยงานรณรงค์ทางความคิดแบบก้าวหน้า เราจึงนำ ‘ตลาดวิชาอนาคตใหม่’ กลับมาทำอีกครั้ง โดยต้องการให้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ของทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญคือ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เราหวังว่าการบรรยายเนื้อหาที่ก้าวหน้า ไม่มีในแบบเรียนของทางการจะช่วยทำให้คุณเปิดโลกทัศน์สู่โลกกว้าง เท่าเทันโลก เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและนอกประเทศ

Common School ประเดิมจัดตลาดวิชาอนาคตใหม่ครั้งแรกในหลักสูตร ‘ประวัติศาสตร์นอกขนบ’ โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน มาบรรยายในรายวิชาย่อยหัวข้อ “สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม” โดยมีคนให้ความสนใจร่วมลงทะเบียนมากกว่า 200 คน และคัดเลือกเพียง 30 คนเข้าร่วมบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ อาจารย์ธงชัยพาเราไปสำรวจ พร้อมๆ กับรื้อความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเสียดินแดน รัชกาลที่ 5 สร้างรัฐสมัยใหม่ของไทยขึ้นมาอย่างไร ปฏิรูปเพื่อเอกราชหรือเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ไทยเสียเอกราชหรือล่าดินแดน  รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์หมายถึงอะไร ทิ้งมรดกอะไรไว้ให้เรา ? ตลอดการบรรยายเต็มไปด้วยการความสนุกสนาน อัดแน่นไปด้วยสาระที่ท้าทายคำอธิบายทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ครอบงำเราอยู่ นำมาสู่การถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างสรรค์ความคิด ความเห็นใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ในโมงยามแห่งการต่อสู้เรียกร้องเพื่อแสวงหาความรู้-ความจริงของสังคมไทย

รับฟังการบรรยายประวัติศาสตร์นอกขนบทั้งหมดได้ที่นี่

ต่อเนื่องกันจากหลักสูตร ‘ประวัติศาสตร์นอกขนบ’ เราข้ามพรมแดนความรู้ประวัติศาสตร์ มาสู่ความรู้ด้านปรัชญา แต่เราจะโฟกัสกรอบความรู้ลงมาสู่สายความรู้เดียว คือปรัชญาว่าด้วยกฎหมาย หรือนิติปรัชญา การบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ในหลักสูตร ‘กว่าจะเป็นกฎหมาย’  โดย ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะพาเราไปทำความตั้งคำถามที่เรียบง่าย แต่ยากที่จะตอบ เช่น ความยุติธรรมคืออะไร ? กฎหมายคืออะไร?, กฎหมายเกิดเพราะเรารู้ถูกผิด หรือเรารู้ถูกผิดได้เพราะมีกฎหมาย?, แล้วใครคือคนที่สมควรเขียนกฎหมายให้ทุกคนได้ใช้?, กฎหมายกับจริยธรรมคือสิ่งเดียวกันหรือเปล่า?, ถ้าเรามีจริยธรรมแล้ว ไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้ไหม?  คำถามเหล่านี้จะชวนให้เราไตร่ตรอง ท้าทายสมองท่องไปในโลกของนิติปรัชญา

รับฟังการบรรยายกว่าจะเป็นกฎหมายทั้งหมดได้ที่นี่

ในเดือนพฤศจิกายน Common School จัดการบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ในซีรีส์ The Crown Strikes Back เมื่อเหล่ากษัตริย์นิยมโต้กลับการปฏิวัติ 2475 ในโอกาสครบรอบ 74 ปีการรัฐประหาร 2490 การรัฐประหารเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยไปตลาดการโดยมีวิทยากรผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมบรรยาย นี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการจัดการบรรยายศึกษามรดกของการรัฐประหาร 2490 ได้ครอบคลุมทั้งพระราชทรัพย์ พระราชอำนาจ และกองทัพ

ฟังการบรรยายThe Crown Strikes Back ได้ที่นี่ 

นอกจากการบรรยายคลาสใหญ่แล้ว Common School ยังได้จัดการบรรยายตอนพิเศษในวาระต่างๆ  เพื่อสร้างองค์ความรู้แบบก้าวหน้า กระตุ้นจิตนาการใหม่ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income)  ความรู้ ประวัติศาสตร์ และความทรงจำของการปฏิวัติ 2475 บทบาทของสมาชิกสภาแห่งชาติในการกรุยทางปฏิวัติ 1789 และการเมืองดิจิทัล : เมื่อเทคโนโลยี Disrupt การเมืองไทย

ดูคลิปการบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ทั้งหมดได้ที่นี่  

Progressive Fund กองทุนก้าวหน้า เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า

Common School โดยคณะก้าวหน้าไม่ได้ทำงานรณรงค์ทางความคิดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรายังเปิด ‘กองทุนก้าวหน้า’ เพื่อเติมเต็มความมุ่งมั่งของคนมีไฟที่อยากริเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยงบประมาณโครงการละไม่เกิน 20,000 บาท เปิดให้บุคคลทั่วไปได้ขอทุนเพื่อทำโครงการกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นประชาธิปไตย ความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม เสรีภาพในการแสดงออก ปัญหาที่ดิน ทุนผูกขาด ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ปฏิรูปกองทัพ ศาลและกระบวนการยุติธรรม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ หลังจากที่เปิดรับสมัครไปตั้งแต่เดือนเมษายน-กลางเดือนพฤษภาคม 2564 มีผู้เสนอโครงการที่น่าสนใจเข้ามากว่า 120 โครงการ และมีโครงการที่ได้รับมอบทุนจำนวน 20 โครงการ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม 

โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้ามีความหลากหลายในเชิงประเด็นและรูปแบบ เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์ แรงงาน ความรุนแรงทางเพศ มาร์กซิสต์ศึกษา การรีไซเคิล ศิลปะ คนไร้บ้าน ขบวนการความเคลื่อนไหว เป็นต้น และได้นำไปจัดทำ Workshop และนิทรรศการงานศิลปะ หนังสั้น สารคดี กลุ่มศึกษาเชิงประเด็น ห้องเรียนออนไลน์ โรงเรียนพลเมือง การผลิตสื่อเชิงประเด็น แปลบทความว การสร้างเครือข่ายเยาวชน หนังสือภาพสำหรับเด็ก การรีไซเคิลพลาสติกเพื่อสร้างอาคารเรียน 

artn’t Project x NUSANTARA : ศิลปะ การเมือง พื้นที่ และผู้ฅน 2 ศิลปินจาก artn’t Project  ผลิตผลงานศิลปะเชิงพื้นที่ สังเกตการณ์วิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากการจัด workshop พัฒนาศักยภาพและผลิตงานศิลปะร่วมกับเยาวชนวัยประถม 

Last Shelter Stands โครงการสร้างอาคารเรียนจากพลาสติกรีไซเคิลผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน เริ่มแห่งแรกที่ โรงเรียนวัดหนองออน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาจากอาคารเรียนที่ยังสร้างไม่เสร็จ พร้อมสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องวิธีจัดการขยะพลาสติก, ปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนในท้องถิ่นผ่านการออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนที่สร้างสรรค์ เพิ่มกิจกรรมในชั้นเรียน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างโครงการจาก 20 โครงการของเราเท่านั้น หากคุณอยากรู้ว่าโครงการที่กองทุนก้าวหน้าให้การสนับสนุนทำอะไรกันบ้าง คุณสามารถติดตามผลงานของพวกเขาได้ในเพจ Common School 

หากใครที่พลาดทุนในปีนี้ไม่ต้องเสียใจไป เตรียมตัวให้พร้อม ใครมีไอเดีย มีโปรเจค มีความฝันที่อยากจะลงมือทำเปลี่ยนแปลงสังคม กองทุนก้าวหน้าจะกลับมาอีกครั้งในปีหน้า โปรดติดตามการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างใกล้ชิด

Common School x Pud 

ปีนี้ Common School มีโอกาสได้ร่วมงานกับเพจ ‘พูด-Pud’ สื่อรุ่นใหม่ที่มีเรื่องราวอยาก ‘พูด’ ให้ทุกคนฟังจากหลากหลายสาขาความรู้ ตั้งแต่เรื่องศิลปะ ภาษา วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรม ไปจนถึงเรื่องจริยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการเมือง ผ่านคลิปวิดีโอเล่าเรื่องและพอดแคสต์ Common School และ Pud มีความเชื่อร่วมกันคือ การเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ด้วยการเปลี่ยนความคิด

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา Common School x Pud ได้ทำคลิปวิดีโอในประเด็นที่ก้าวหน้า เปิดความเป็นไปได้ กระตุ้นจินตนาการใหม่ๆ เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับสังคม ทั้งหมด 11 คลิปตั้งแต่ประเด็น ความเหลื่อมล้ำ  UBI ระบบเลือกตั้งแบบ MMP รัฐธรรมนูญ กองทัพ เผด็จการ ส.ว. รัฐรวมศูนย์  ม.112 และความหลากหลายทางเพศ 

Common School x Pud ยังมีคลิปวิดีโออีกชิ้นในเดือนมกราคมจะเป็นเรื่องอะไร อย่าลืมกด Subscribe ใน Youtube จะได้ไม่ผ่านคลิปดีๆ จากเรา

ดูคลิปวิดีโอ Common School x Pud  ทั้งหมดได้ที่นี่ 

บทความ

ในปีนี้ Common School มีบทความทั้งหมด 25 ชิ้น ครอบคลุมทั้งประเด็นรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร กฎหมาย ประวัติศาสตร์ ขบวนการเคลื่อนไหว สถาบันกษัตริย์ รัฐสวัสดิการ สมรสเท่าเทียม ประเด็นแรงงาน แนวคิดสงคมนิยม และประวัติศาสตร์การปฏิวัติ นอกจากนี้เรายังมีบทความสัมภาษณ์ บทความแนะนำหนังสือ เนื้อหาหลากหลายให้ทุกคนได้เลือกอ่านกันได้อย่างเต็มที่

อ่านบทความทั้งหมดจาก Common Shool ได้ที่นี่ 

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ประวัติศาสตร์ปลดแอก ครบรอบ 20 ปีของหนังสือที่ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีหนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หนังสือที่ไม่ได้เป็นแค่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางเลือกว่าด้วยการเมืองไทยหลัง 2475 แต่ตัวมันก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์ร่วมสมัยไปด้วย ในเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยปลายรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโอกาสครบรอบ 20 ปี Common School ได้จัดงานเสวนาทบทวนคุณค่าของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างที่ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา แวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ รวมไปถึงทบทวนบทบาทของอาจารย์สมศักดิ์ในฐานะ ‘ปัญญาชนสาธารณะ’ ที่ผลักดันและรณรงค์ทางความคิดเรื่อง ‘สถาบันกษัตริย์’ มาอย่างยาวนาน 

แม้ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างไม่ได้มีพลังโดยตรงในการขับเคลื่อนรณรงค์เรื่อง ‘บทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย’ ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข้อเสนอต่างๆ ของอาจารย์สมศักดิ์ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในช่วงปีที่ผ่านมา 

เราได้ชวนคนสามรุ่นมาเสวนาถึงความทรงจำของพวกเขาที่มีต่อประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ชวนนักวิชาการประวัติศาสตร์มาประเมินฐานะทางประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง และชวนนักกิจกรรมทางการเมืองรุ่นใหม่ กับอีก 2 อาจารย์มาร่วมพูดคุยถึงกระแสประวัติศาสตร์ปลดแอก และวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้น

ดูคลิปเสวนาได้ที่นี่

Talk with ปิยบุตร 

หลังจากที่การระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายสามารถเดินทางไปต่างจังหวัดได้แล้ว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน Common School พร้อมอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ยกขบวนออนทัวร์ไปพบปะเยาวรุ่น พี่น้องชาวขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร อุบลราชธานี อุดรธานี เชียงราย และปทุมธานี ชวนขบคิด ชวนคุยได้ทุกประเด็น ตั้งแต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ศาล ระบบเลือกตั้งใหม่ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และรัฐสวัสดิการ ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง สบายๆ แต่อัดแน่นไปด้วยคำถาม และบทสนทนาที่แหลมคม

Explanatory Video จาก Common School 

ปิดท้ายกันด้วย Explanatory Video จาก Common School หลายคนคงเห็นผ่านหน้าฟีดกันบ้างแล้วอย่างคลิป ‘กษัตริย์มาจากไหน?’ ‘กษัตริย์เป็นกษัตริย์ได้อย่างไร?’ และ ‘กษัตริย์หายไปไหน’ ที่จะทำให้คุณเข้าใจประเด็นเรื่อง ‘กษัตริย์’ ได้อย่างรอบด้าน เราตั้งใจทำคลิป Explanatory Video ขนาดสั้น เพื่ออธิบายถอดรื้อความหมายคำต่างๆ ใหม่ เช่น กษัตริย์ รัฐ กองทัพ Universal Basic Income กรรมสิทธิ์ กระจายอำนาจ ฯลฯ ให้เข้าใจง่าย สนุก แต่อัดแน่นไปด้วยสาระ และความแหลมคมในการนำเสนอประเด็น เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจของผู้คน

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูสามารถกดดูได้เลย

Common School ขอบคุณทุกท่านที่สนับสนุนและให้การตอบรับกิจกรรมของพวกเราเป็นอย่างดี ปีหน้าพวกเรายังคงมุ่งมั่นทำงานรณรงค์ทางความคิดต่อไปจนกว่าสังคมไทยจะเป็นประชาธิปไตยและคนจะเสมอภาคเท่าเทียมกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า