จากเจ้าหนูปรมาณู ถึง โจ สิงห์สังเวียน มังงะ/อนิเมะในฐานะเครื่องมือการปฏิวัติของวัยรุ่นญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม

21 ธันวาคม 2564

ไม่มีอะไรบนโลกเกิดจากความว่างเปล่า ทุกอย่างต่างเกิดขึ้นใต้เงื่อนไขบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์อันโด่งดังของญี่ปุ่นอย่าง ‘มังงะ’ และ ‘อนิเมะ’ ก็เป็นภาชนะที่บอกเล่าอะไรได้มากมาย

ดังที่ คินโกะ อิโต้ (Kinko Ito) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่น ว่าไว้ “มังงะคือภาพสะท้อนความจริงของสังคมญี่ปุ่น ที่ไปด้วยกันกับปกรณัม ความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณี แฟนตาซี และวิถึชีวิตของคนญี่ปุ่น มังงะยังถ่ายทอดปรากฎการณ์ทางสังคมอื่นอย่าง ระเบียบและลำดับศักดิ์ทางสังคม (social order and hierarchy)  การแบ่งเพศ การแบ่งเชื้อชาติ การแบ่งวัยวุฒิ การแบ่งชนชั้น และอะไรอีกมากมาย”

แน่นอนว่า อนิเมะในฐานะผลิตภัณฑ์ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมังงะ การหยิบคำอธิบายข้างต้นมาใช้ร่วมด้วยก็คงไม่คลาดเคลื่อนไปมากนัก

หากใครเป็นแฟนอนิเมชั่นค่าย สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) คงคุ้นเคยกับเรื่องราวในลักษณะต่อต้านสงครามเป็นอย่างดี เพราะทั้งฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) และอิซาโอะ ทาคาฮาตะ (Isao Takahata) สองเสาหลักของค่าย ต่างเติบโตขึ้นมาในช่วงสงครามโลก (มิยาซากิ เกิดปี 1941 ส่วนทาคาฮาตะ เกิดปี 1935) โดยก่อนที่ทั้งคู่จะก่อตั้ง สตูดิโอจิบลิ ในปี 1985 พวกเขาต่างเป็นพนักงานประจำบริษัทอนิเมชันญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง Toei Doga บริษัทที่เป็นแหล่งบ่มเพาะนักวาด/นักเขียนการ์ตูนชั้นนำ นักวาดระดับตำนานหลายคนต่างมีประวัติพัวพันกับบริษัทแห่งนี้ ไม่เว้นแม้แต่ ‘โอซามุ เทะสึกะ (Osamu Tezuka)’ เจ้าของผลงานที่จะฉายภาพยุคสมัยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่าง ‘เจ้าหนูปรมาณู (Mighty Atom)’

เจ้าหนูปรมาณูของเทะสึกะ เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อออกอากาศบนจอโทรทัศน์ มันถูกฉายช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 1963 ปีที่ญี่ปุ่นกำลังเร่งพัฒนาและขยายความเป็นเมือง (urbanization) เพื่อรองรับการมาเยือนของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1964

การได้เป็นตัวแทนจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1964 ของญี่ปุ่นนี้ ด้านหนึ่ง เป็นความพยายามสร้างการยอมรับจากนานาประเทศเพื่อลบภาพลักษณ์ของผู้แพ้สงคราม อีกด้านหนึ่ง ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในการเจริญเติบโต โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ปรากฎการณ์นี้สอดคล้องกับความนิยมของเจ้าหนูปรมาณูที่ฉายภาพอนาคตอันสดใส เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีหัวใจ ดังที่ แมตต์ อัลต์ (Matt Alt) เจ้าของผลงานหนังสือ Pure Invention: How Japan Made the Modern World ว่าไว้ “เจ้าหนูปรมาณูมอบคำมั่นแก่เด็กเยาวชนว่า ไม่ว่าพวกเขาจะเผชิญกับสิ่งที่แปลกประหลาดเพียงใดก็ตาม หัวใจอันอ่อนโยนจะมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้ – แม้กระทั่งว่าหัวใจดวงนั้นเป็นเพียงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อันเล็กจ้อย แทนที่จะเป็นสิ่งที่มีเลือดเนื้อ”

กระนั้น ไม่ใช่คนทุกช่วงอายุจะมีความรู้สึกร่วมกับความหวังและอนาคตอันสดใสที่เจ้าหนูปรมาณูมอบให้ สิ่งที่อนิเมะเรื่องนี้นำเสนอดูจะจำกัดแค่ในเด็กเยาวชนเท่านั้น สำหรับวัยรุ่นตอนปลายไปจนถึงผู้ใหญ่วัยแรงงาน กลับมีอนิเมะ/มังงะอีกประเภทหนึ่งที่พวกเขาชอบบริโภค นั่นคือ ‘เกคิกะ (Gegika)’

รากเหง้าของ เกคิกะ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของศิลปิน 7 คน โดยมี โยชิฮิโระ ทัตสึมิ (Yoshihiro Tatsumi) เป็นตัวตั้งตัวตีที่ชักชวนศิลปินคนอื่นๆ มารวมตัวกันในนาม the Gekiga Workshop ทั้งนี้ หากเปรียบอนิเมะ/มังงะตามแนวทางของเทะสึกะ ว่ามีเนื้อหาสดใสและให้ความหวัง สิ่งที่เกคิกะมอบให้ผู้บริโภคกลับเป็นเนื้อหาที่จริงจังและสะท้อนสภาพสังคม (อันมืดมน) มากขึ้น

ซันเป ชิราโตะ (Sanpei Shirato) เจ้าของผลงาน Ninja Bugeicho (1959) และ Kamui-den (1964) เป็นนักวาดแนวเกคิกะคนหนึ่งที่ได้รับความเคารพนับถือ ผลงานของเขาสอดแทรกด้วยทัศนะที่ต่อต้านทุนนิยม (anticapitalism) ซึ่งไปด้วยกันได้กับหนุ่มสาวที่จำเป็นต้องระหกระเหินมาหางานทำในเมืองใหญ่ที่กำลังขยายตัว ในแง่นี้ งานแบบเกคิกะจึงกลายเป็นความบันเทิง (ราคาถูก) ที่เสนอพื้นที่ซึ่งปลีกหนีจากโลกความจริงแก่แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานคอปกฟ้า ผู้ถูกบีบให้มาเผชิญความยากลำบากและสภาวะแปลกแยก  (alienation) ในเมืองใหญ่ และเมื่อผู้อ่านเกคิกะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ จึงไม่แปลกที่มังงะประเภทนี้จะเต็มไปด้วยฉากแห่งการปลดปล่อยอารมณ์ ไล่ตั้งแต่ฉากแอคชันเลือดสาด ไปจนถึงฉากร่วมเพศ

อย่างไรก็ดี โลกแห่งเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ก็มีพลังมากพอที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงโลก และสำหรับบางคนบางกลุ่มก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโลกแบบธรรมดาทั่วไป แต่คือการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติคอมมิวนิสต์

ปี 1970 ทากายะ ชิโอมิ (Takaya Shiomi) ผู้ก่อตั้งและผู้นำขบวนการกองกำลังคอมมิวนิสต์ชื่อ Red Army Faction (Sekigun-ha) ถูกภาครัฐเข้าจับกุมหลังชิโอมิกับพวกอีก 7 คน มีแผนที่จะใช้ดาบคาตาคานะและไปป์บอมบ์ เข้ายึดเครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์เพื่อบินไปฝึกฝนเรียนรู้การทำการปฏิวัติที่ประเทศคิวบา

หลังถูกควบคุมตัว ชิโอมิส่งจดหมายไปยังหนังสือพิมพ์ว่าตนเป็นต้นคิดที่จะยึดเครื่องบิน และปิดท้ายจดหมายว่า

“อย่าลืมเป็นอันขาด ว่าเราต่างเป็น โจ สิงห์สังเวียน”

18 ปีให้หลัง ชิโอมิยังออกหนังสือบันทึกความทรงจำว่า Ninja Bugeicho ของชิราโตะก็มีอิทธิพลต่อขบวนการไม่น้อย

Tomorrow’s Joe (1968-1973) หรือ ‘โจ สิงห์สังเวียน’ ของ อาซาโอะ ทาคาโมริ (Asao Takamori) เป็นการ์ตูนแนว Gegika รายสัปดาห์ เผยแพร่ผ่านนิตยสารโชเน็นรายสัปดาห์ (Weekly Shōnen Magazine) มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ Joe Yabuki เด็กจากสลัมผู้ใช้ความสามารถด้านการชกต่อยในการผลักตนเองจนกลายเป็นนักมวยระดับโลก การที่มีเนื้อเรื่องในลักษณะสู้ชีวิตนี้ จึงไม่แปลกที่โจ สิงห์สังเวียนจะได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักเรียนนักศึกษาและชนชั้นแรงงานในญี่ปุ่น เพราะแม้ฉากหน้าจะดูเป็นแค่การ์ตูนกีฬา แต่ผู้อ่านจำนวนมากกลับมองเห็นมันเป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนความยากลำบากของชีวิตช่วงหลังสงครามโลก และการดิ้นรนต่อสู้กับระบบที่บีบคั้นชีวิตของชนชั้นแรงงาน

อันที่จริง สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1968 ไม่ได้มีเพียงแค่โจ สิงห์สังเวียนเท่านั้น ในปีเดียวกันนี้ ยังเกิดขบวนการต่อต้านสงครามที่บานปลายจนกลายเป็นการจลาจลที่ใหญ่และโจษจันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เหตุการณ์นั้นคือ ‘การจราจลชินจูกุ’ (Shinjuku riot)

การจลาจลชินจูกุ เป็นการรวมตัวและเข้ายึดสถานีรถไฟชินจูกุของมวลชนฝ่ายซ้ายญี่ปุ่นจำนวนหลายแสนคน ในวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันต่อต้านสงครามสากล (International Anti-War Day) เพื่อประท้วงต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีท่าทีสนับสนุนการทำสงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกา โดยการประท้วงครั้งนี้ก็ไม่ต่างไปจากการประท้วงในครั้งอื่นๆ เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้กองกำลังตำรวจกว่า 25,000 นาย เข้าสลายการชุมนุม จนยึดพื้นที่บริเวณสถานีชินจูกุได้ในวันที่ 22 ตุลาคม

กระทั่งก่อนหน้าเหตุการณ์จลาจลชินจูกุ ในรั้วมหาลัยเองก็เกิดขบวนการนักศึกษาเช่นกัน อาทิ กลุ่ม เซนเคียวโต (Zenkyōtō, The All-Campus Joint Struggle Committees) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวกันระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวกับมหาวิทยาลัยนิฮง โดยมีเป้าหมายในการต่อต้านจักวรรดิอเมริกัน การผูกขาดในญี่ปุ่น และลัทธิสตาลิน

อัลต์กล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 60 ถึง 70 นี้ว่า เป็นการต่อต้านทางวัฒนธรรม (counter-culture) ที่ต่างไปจากโลกตะวันตก เพราะขณะที่การต่อต้านของวัยรุ่นตะวันตกสามารถประเมินได้ผ่านบทเพลง

“แต่สำหรับวัยรุ่นญี่ปุ่นทั่วๆ ไป จังหวะการเต้นของยุคสมัยไม่ได้ถูกประเมินจากท่วงทำนองแห่งบทเพลง หากต้องวัดจากสิ่งที่อยู่ในหนังสือการ์ตูนช่อง”

อัลต์สรุปถึงลักษณะของมังงะและอนิเมะในช่วงยุคนี้ว่า “เป็นอัตลักษณ์แบบใหม่สำหรับหนุ่มสาวผู้เป็นคนนอกและหัวขบถ” นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้ว่า อนิเมะ/มังงะในยุคสมัยนี้ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงแค่เครื่องมือสำหรับความบันเทิง แต่มันยังเป็นถึง ‘เครื่องมือ’ ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง (political movement) ของคนหนุ่มสาวได้อีกด้วย

อ้างอิง

Alt, Matt. 2021. Pure Invention: How Japan Made the Modern World. UK: Constable.

Ito, Kinko. 2005. “A History of Manga in the Context of Japanese Culture and Society.” The Journal of Popular Culture 38 (3). P. 456-475.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า