เหล่ากษัตริย์นิยมรื้อฟื้นพระราชอำนาจของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ 2490-2492 อย่างไร ?

15 ธันวาคม 2564

บทความนี้เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาจากบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ The Crown Strikes Back เมื่อเหล่ากษัตริย์นิยมโต้กลับการปฏิวัติ 2475 ในโอกาสครบรอบ 74 ปี การรัฐประหาร 2490 ในหัวข้อ การรื้อฟื้นและขยายพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2490-2492 โดยรองศาสตราจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564  

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เวลา 23.30 น. ปฏิบัติการทางทหารได้เริ่มต้นขึ้นในการยึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กลุ่มทหารสายหนึ่งบุกไปบ้านปรีดี พนมยงค์ที่ทำเนียบท่าช้าง อีกสายหนึ่งไปบ้านถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  และอีกสายหนึ่งซึ่งนำโดยพันโทถนอม กิติขจรและนักเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกเดินทางไปยังบ้านกรมขุนชัยนาทนเรนทรผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น เพื่อให้ลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ของคณะรัฐประหารซึ่งเป็นการลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วยการลงนามจากผู้สำเร็จราชการฯ เพียงพระองค์เดียวในเวลาตีสองยี่สิบแปดนาที

ในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ได้ประกาศใช้ถือเป็นปฐมบทการโต้กลับการปฏิวัติ 2475 ในรัฐธรรมนูญของเหล่ากษัตริย์นิยมจึงได้เริ่มขึ้นออกแบบรัฐธรรมนูญที่สถาปนาระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถวายคืนพระราชอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์กษัตริย์ให้กลับมามีบทบาทในทางการเมืองอีกครั้งหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง พวกเขารื้อฟื้นพระราชอำนาจอย่างไรบ้าง รองศาสตราจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ได้บรรยายไว้อย่างเป็นระบบ ทาง Common School จึงเรียบเรียงการบรรยายเพื่อให้ทุกคนได้อ่านกัน

อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของ…? 

ประเด็นปัญหาว่าด้วยอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นที่ถกเถียงในวงการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ธำรงศักดิ์ชี้ให้ว่าในมาตรา 2 ของหมวดทั่วไปมีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจากรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับแรกบัญญัติไว้ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” บอกอย่างชัดเจนว่าอำนาจสูงสุด “เป็นของ” ประชาชน 

ในรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยมฉบับ 2490 กลับบัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น แต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ทำให้เกิดความคลุมเครือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหรือพระมหากษัตริย์กันแน่ ? 

เพื่อความกระจ่างว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใครธำรงศักดิ์ชวนไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษในมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า “Sovereign power belongs to the Thai people” ซึ่งแปลว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนชาวไทย แสดงให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัวจริง ในฉบับภาษาไทยทำให้เราเกิดความสับสน คลุมเครือ และไม่ชัดเจน

สถานะอันละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ กลับอำนาจของสภาผู้แทนฯ ในการวินิจฉัยฟ้องร้องกษัตริย์ที่หายไป

ในส่วนของหมวดพระมหากษัตริย์เป็นหมวดสำคัญที่ทำให้เราเห็นการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่เดิมเป็นมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก บัญญัติไว้ว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญาขึ้นโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” ทั้งนี้ธำรงศักดิ์ให้เหตุผลทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญว่า หลังจากที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ธันวาคม 2475 เพื่อเทิดพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใส่ไว้ และมาสร้างประเพณีการพิจารณาในรัฐสภาแทน ธำรงศักดิ์ย้ำว่า “เมื่อไม่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรจึงหลงลืมการสร้างประเพณีดังกล่าวในรัฐสภาไป บทบัญญัติในมาตรานี้จึงตกทอดอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ด้วย”

เพิ่มอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการประกาศแต่งตั้งวุฒิสภาและนายกรัฐมนตรี

ในส่วนของมาตรา 6 และ 7 นั้นในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 บัญญัติไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา” และ “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินทางคณะรัฐมนตรี” เพื่อสะท้อนหลักการกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 นั้น ในมาตรา 6 เพิ่มเติมในตอนท้ายว่า “ทรงประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา” และ มาตรา 7 “ทรงประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี” ธำรงศักดิ์ชี้ว่า “นี่เป็นสิ่งที่เหล่ากษัตริย์นิยมผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มแดงย้ำคิดย้ำทำอย่างมากในการถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งวุฒิสภาและนายกรัฐมนตรี ทำให้เราเห็นว่าพระมหากษัตริย์มีอำนาจในทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนหลัง 2475 ที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่หลุดลอยจากอำนาจของประชาชน

หากเราไปดูมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 จะพบว่า ในกรณีเดียวกันนี้การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ก็ต่อเมื่อได้รับ “ความเห็นชอบจากรัฐสภา” เท่านั้น หรือ หากสภายังไม่ได้แต่งตั้งก็ให้ “สมาชิกพฤฒสภา” ที่มีอายุสูงสุดสามคนดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน

ในมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 มีการเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้าเช่นกัน กล่าวคือ ได้บัญญัติเพิ่มเติมไปว่า “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที” 

เราจะเห็นได้ว่า มาตรา 10 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจของรัฐสภาแต่อย่างใด แต่กลับเป็นอำนาจของสถาบันการเมืองในระบอบเก่าที่เรียกว่า “อภิรัฐมนตรี” ซึ่งมีลักษณะที่หลุดลอยออกจากอำนาจของประชาชนอย่างชัดเจน 

เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ใครคือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ประเด็นว่าด้วยการสืบสันติวงษ์เป็นอีกประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงที่หลุดลอยไปจากอำนาจของรัฐสภาเช่นกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 บัญญัติในมาตรา 11 ไว้ว่า “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งไว้ตามความในมาตรา 10 ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว”

ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 กลับเพิ่มบทบาทให้กับ “อภิรัฐมนตรี” เข้ามาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวจนกว่าจะประกาศแต่งตั้งผู้สืบสันติวงษ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์ต่อไป

ธำรงศักดิ์ชี้ให้เห็นในประเด็นนี้ว่า “ในมาตราดังกล่าวของรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ได้หลุดจากปฏิสัมพันธ์ไปจากรัฐสภา แต่เดิมพฤฒสภาเป็นผู้มีบทบาทในการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว บทบาทของรัฐสภาก็เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เพียงแค่ผู้รับรองการแต่งตั้งเท่านั้น และกลายเป็นต้นทางของประเด็นดังกล่าวในรัฐธรรมนูญปัจจุบันด้วย”

อภิรัฐมนตรี” สถาบันการเมืองในระบอบเก่าที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม

ธำรงศักดิ์กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ครองราชย์ได้ทรงแต่งตั้งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทการทำงานในรัชสมัยก่อนหน้าเป็นที่ปรึกษาช่วยงานราชการแผ่นดิน เมื่อการปฏิวัติ 2475 ได้โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อภิรัฐมนตรีก็อันตรธานสูญสิ้นไปพร้อมกับระบอบเก่าด้วย แต่หลังรัฐประหาร 2490 รัฐธรรมนูญใหม่ที่ถูกออกแบบโดยเหล่ากษัตริย์นิยมได้รื้อฟื้นกลับมาใหม่อีกครั้ง

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 บัญญัติให้มีการแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี 5 คน/พระองค์ และให้มีหน่วยงานที่ใช้งบประมาณและทรัพยากรที่เป็นหน่วยราชการของอภิรัฐมนตรีเพิ่มเติมเข้ามาด้วย จากเดิมอภิรัฐมนตรีเป็นเพียง “บุคคล” ได้แปลงกายมาเป็น “หน่วยงาน” ที่มีการบังคับบัญชา

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ประกาศใช้ก็มีการเปลี่ยนแปลงคำว่า “อภิรัฐมนตรี” เป็น “องคมนตรี” และพระมหากษัตริย์แต่งตั้งหรือถอดถอนองคมนตรีให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงของบทบาทและหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ หมายความว่าเป็นเรื่องของพระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัยที่รัฐสภาไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ บทบาทของรัฐสภาจึงถูกโดดเดี่ยวจากหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประเด็นที่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 อีกประเด็นคือ ให้องคมนตรีปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์และมีบทปฏิญาณตนปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ด้วย การปฏิญาณกลายเป็นกิจกรรมและบทบาทหนึ่งในหมวดพระมหากษัตริย์ที่ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญนับแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากนี้ยังเพิ่มข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ที่ทรงแต่งตั้งและถอดถอนได้ตามพระราชอัธยาศัย ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีตำแหน่งสมุหราชองครักษ์และมีกระทรวงการวังที่ดูแลกิจการของวังโดยตรง แม้ว่าจะไม่ได้กลับมาในฐานะกระทรวงการวัง แต่แปลงกายเป็น “หน่วยงานในราชสำนัก” หรือ “หน่วยงานในพระองค์” นี่เป็นการขยายตัวของกิจการของราชสำนักที่เพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร 2490 อย่างชัดเจนได้รื้อฟื้นพระราชอำนาจในระบอบเก่ากลับคืนมา ธำรงศักดิ์ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า “งบประมาณในส่วนนี้อาจจะไม่ถูกอภิปรายเลยเพราะ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” 

“นี่คือการกลับมาของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในใส่คลุมของระบอบประชาธิปไตย” 

ธำรงศักดิ์กล่าว

การคืนพระราชอำนาจในระบอบเก่า การสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ในมิติทางวัฒนธรรมประเพณีด้วยกล่าวคือ ในมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 มีการรื้อฟื้นพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สิ้นสุดไปพร้อมกับการล่มสลายของระบอบเก่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 

ธำรงศักดิ์ชี้ให้เห็นถึงความลักลั่น ย้อนแย้งของพระราชอำนาจในมิติทางวัฒนธรรมประเพณีว่า ถึงแม้จะให้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่การถอดถอนฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์กลับอยู่ในหมวดอำนาจบริหาร

กำเนิด ‘วุฒิสภา’ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ให้กำเนิด “วุฒิสภา” ขึ้นมา ที่สำคัญคือมาจากการ “แต่งตั้ง” จากพระมหากษัตริย์โดยมี “องคมนตรี” เป็นผู้ลงนามซึ่งมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 100 คน และมีการกำหนดให้ “วุฒิสภา” เป็นประธานรัฐสภาของทั้งสองสภา เพื่อคุมทิศทางของรัฐสภาให้อยู่ภายใต้อำนาจของวุฒิสภา

ธำรงศักดิ์ยกข้อมูลสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ที่ทำให้เห็นถึงการกลับมามีบทบาทในการเมืองของเหล่ากษัตริย์นิยมอีกครั้ง มีการแต่งตั้ง “เจ้า” เป็นวุฒิสภา 12 เจ้าพระยา 1  พระยา 51 พระ 15  หลวง 8  นาย 13  

หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรได้มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์หมดแล้ว เมื่อมีการคืนดีกับฝ่ายกษัตริย์นิยมจึงคืนบรรดาศักดิ์เหล่านี้ให้กับกลุ่มกษัตริย์นิยมดังเดิม บุคคลเหล่านี้คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในระบบราชการก่อนการปฏิวัติ 2475 และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติโดยตรงกลับมาเข้ามาเป็นวุฒิสภาอีกครั้ง ทั้งนี้ยังมีกำหนดคุณสมบัติวุฒิสภาในลักษณะ “ชาตินิยม” คือต้องเป็นผู้ที่มีเชื้อชาติไทยและกำหนดให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ธำรงศักดิ์ขยายความต่อไปว่า “นี่เป็นการกีดกันคนรุ่นใหม่ออกจากระบบการเมืองเพราะ คนรุ่นใหม่มีไฟจิตใจที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ในขณะที่คนอายุมากมีแนวโน้มที่จะเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 จึงเป็นการวางเกณฑ์ว่าด้วยกระบวนการอำนาจทางการเมืองที่จะอยู่ภายใต้ภาวะชราภาพ”

“นี่คือการโต้กลับอีกครั้งของเหล่ากษัตริย์นิยมที่กลับมามีบทบาทในรัฐสภา”

ธำรงศักดิ์กล่าว

จุดเริ่มจุดของรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อภิรัฐมนตีกับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 

รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ประกาศใช้วันที่ 9 พฤศจิกายน และแต่งตั้ง “อภิรัฐมนตรี” ในวันเดียวกัน หลังจากนั้นวันที่ 10 พฤศจิกายน  “อภิรัฐมนตรี” ลงนามแต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี เดิมเป็นอำนาจของ “รัฐสภา” 

ที่น่าสนใจกว่านั้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อวุฒิสภาในย่อหน้าสุดท้ายว่า “รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีนโยบาย…” ธำรงศักดิ์ชี้ว่า “นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่พูดว่าเป็นรัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัวฯ “

หลังจากที่นายควง อภัยวงศ์โดนคณะรัฐประหารจี้ให้ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีแทนก็แถลงนโยบายต่อวุฒิสภาในวันที่ 21 เมษายน 2491 ว่าเป็น “คณะรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ” เช่นเดียวกัน “รัฐบาลนี้จะเทิดทูนเคารพสักการะองค์พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์และจะรักษาราชบัลลังก์ให้มั่นคงอยู่ชั่วนิรันดร ทั้งจะเทิดทูนเกียรติพระราชวงศ์ที่ดำเนินเจริญรอยราชจริยาวัตร์” เป็นประโยคแรกที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อวุฒิสภา

“การที่อภิรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมว่าด้วยรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” ธำรงศักดิ์กล่าว

ปฐมบทธรรมเนียมรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการกำหนดรัฐมนตรีต้องปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ก่อนหน้านี้ไม่มีธรรมเนียมดังกล่าวปรากฎในการเมืองไทย ธำรงศักดิ์ชี้ว่า “เป็นการเพิ่มขยายพื้นที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับประมุขแห่งรัฐที่แนบแน่นมากยิ่งขึ้น”

ในช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2518 พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและลงมติไว้วางใจ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชพาคณะรัฐมนตรีไปเข้าเฝ้าปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ทำให้ฝ่ายเสนีย์ถูกฝ่ายหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชถล่มว่า “ทำลายประเพณีทางการเมือง” เพราะไปเข้าเฝ้าอ้างอิงกับพระมหากษัตริย์ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 

แต่หลังจากนั้นมาประเพณีทางการเมืองใหม่ว่าด้วยถวายสัตย์ปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 กลายเป็นประเพณีทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีจะต้องนำรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาทุกครั้งจวบจนมาถึงปัจจุบัน

ระบอบขุนศึก ศักดินา ตุลาการ 

รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ได้เพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 92 การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การย้าย และถอดถอนผู้พิพากษาจะ “ต้องได้รับการความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ไม่มีบัญญัติไว้เพราะ เป็นเรื่องภายในนของคณะกรรมการตุลาการ

ธำรงศักดิ์ชี้ว่า “บทบาทของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้ง ถอดถอนตุลาการในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำให้องค์กรตุลาการกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายของพระมหากษัตริย์และขยายพระราชอำนาจไปยังองค์กรตุลาการ”  

มาตรา 92 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ดังกลายมาเป็นมาตรา 197 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ได้ตัดคำว่า “ต้องได้รับการความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์” ออกไปแล้วเพิ่ม “แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล” เข้ามาแทน แสดงให้เห็นถึงความใสใจของพระมหากษัตริย์ต่อองค์กรตุลาการอย่างใกล้ชิดและเป็นองค์กรที่สำคัญ  ในแง่นี้ธำรงศักดิ์กล่าวว่า “กระบวนตุลาการภิวัฒน์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 ตามนัยยะของตัวบทกฎหมาย”

มรดกรัฐธรรมนูญฉบับ 2492  ให้กำเนิดศาลรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 จะมี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” แต่มาจากการแต่งตั้งโดยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งสะท้อนที่มาที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ในมาตรา 87 ได้บัญญัติไว้ว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ และบัญญัติให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” จะคอยเหนี่ยวรั้งการตีความของศาลที่เกินเลยจนไปและมีหน้าที่พิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของประชาชน 

ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ไม่มีการบัญญัติให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่กลับมาปรากฎอีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ได้ทำลายหลักการนี้ลงโดยให้ประธานวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เป็น “ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ” และให้องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วย ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอีกสี่คนที่รัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย ธำรงศักดิ์อธิบายว่า “นี่เป็นการดึงศาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมือง และความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็หลุดออกจากอำนาจของประชาชน”

แนวนโยบายแห่งรัฐ ขุนศึกในรัฐธรรมนูญไทย 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพไทยตระหนักถึงสถานภาพที่ตกต่ำของตนเองเป็นอย่างดี ประเทศฝ่ายอักษะกองทัพก็สลายหายไป ความกลัวที่ว่ากองทัพจะหายไปด้วยหลังแพ้สงครามเป็นสาเหตุหนึ่งที่กองทัพบกเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร เพื่อฟื้นฟูเกียรติยศของกองทัพไทยอีกครั้ง ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เราจะพบว่ามีการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐที่รัฐบาลต้องดำเนินตาม ตั้งแต่มาตรา 58-61 ที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อ “กำลังทหาร” ว่ามีความจำเป็นสำหรับรักษาเอกราช กำลังทหารเป็นของชาติอยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์ กำลังทหารใช้เพื่อการรบหรือสงครามหรือปราบปรามการจลาจลจะใช้ได้ก็แต่โดยกระแสพระบรมราชโองการ และเอกชน คณะบุคคล พรรคการเมืองจะใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ได้

“นี่เป็นการเพิ่มบทบาทของกองทัพที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น” ธำรงศักดิ์กล่าว

กำเนิดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

ธำรงศักดิ์สรุปรวบยอดทิ้งท้ายว่า “หากเราดูความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่เหล่ากษัตริย์นิยมออกแบบทั้งสถาบันกษัตริย์ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เราอาจสรุปได้ประโยคเดียวว่านี่คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ดังที่ได้ปรากฎในหมวด 1 บททั่วไป มาตรา 2 ได้บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 จึงเป็นจุดกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในเวลาต่อมาที่ทำให้พรรคการเมืองและการเลือกตั้งถูกลดทอนความสำคัญ ไม่มีพลังในสังคมไทยอีกต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า