เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำลังพาสังคมไปสู่ทางตัน

23 พฤศจิกายน 2564

ตลอดช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกลายมาเป็นสิ่งหนึ่งที่ซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย เพราะหลายๆ ครั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง และหลายครั้งเหตุผลที่ศาลให้ก็กลายมาเป็นสิ่งที่ค้านสายตาผู้คนในสังคม ซึ่งความรุนแรงที่เกิดจากคำวินิจฉัยนั้นเกิดขึ้นจากการที่ศาลเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนโยบายสาธารณะหรือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งโดยสภาพไม่ใช่หน้าที่ของศาลในฐานะองค์กรตุลาการจะต้องทำ ผลที่เกิดขึ้นจากการที่ศาลเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองนั้นทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกตั้งคำถามและกระทบต่อความน่าเชื่อถือของศาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่วินิจฉัยว่า การปราศรัยของแกนนำเพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นตัวอย่างของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แปลกประหลาดจากการเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร? ภารกิจในวัตถุประสงค์แรกเริ่มคืออะไร และทำไมศาลดังกล่าวถึงกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองตลอดวิกฤติการเมืองไทยในรอบ 10 กว่าปีมานี้ได้? ลองมาทำความเข้าใจจากจุดกำเนิดของศาลดังกล่าวกันก่อน

กำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนจะพูดถึงปรากฏการณ์ของศาลรัฐธรรมนูญในการเมืองไทยนั้นจำเป็นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ศาลรัฐธรรมนูญคืออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรของรัฐอย่างหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย เพื่อไม่ให้รัฐสภาหรือรัฐบาลตรากฎหมายที่จะขัดต่อหลักการหรือคุณค่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ[1]

ศาลรัฐธรรมนูญถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ทางกฎหมายที่เพิ่งเกิดขึ้นมาช่วงต้นปีศตวรรษที่ 19 (ค.ศ 1920) ในประเทศออสเตรีย ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐออสเตรียโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย[2] ซึ่งเป็นการกำหนดกลไกขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญเพื่อคงคุณค่าความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญให้เป็นจริงและมั่นคง[3] โดยไม่ให้มีการตรากฎหมายใดขึ้นมาทำลายคุณค่าที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นบทบาทพื้นฐานของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปบางประเทศได้เพิ่มบทบาทให้กับศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นโดยขยายบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการกระทำที่อาจจะกระทบหรือทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากแนวคิดประชาธิปไตยแบบป้องกันตนเองได้ (militant democracy) ที่มองว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางความคิดเห็นทางการเมืองนั้นอาจจะมีผู้ใช้จุดอ่อนดังกล่าวเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ และยอมให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการที่จะทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตย[4]

กรณีของประเทศไทยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ซึ่งไอเดียนี้มาพร้อมกับแนวคิดเรื่องการตรวจสอบการทุจริตและการควบคุมตรวจสอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้งโดยองค์กรอิสระต่างๆ เช่น ป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในช่วงของการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นความคาดหวังต่อศาลรัฐธรรมนูญคือการให้ศาลดำรงบทบาทในฐานะองค์กรของผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถในทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในสาขากฎหมายมหาชน[5] เพื่อให้ศาลเป็นองค์กรมืออาชีพในการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในช่วงแรกของการก่อตั้งนั้น ความคาดหวังดังกล่าวดูเหมือนจะทอแสงประกายอย่างมีความหวัง

ศาลรัฐธรรมนูญกับการเป็นคู่ขัดแย้งในการเมืองไทย

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะคู่ขัดแย้งในการเมืองไทยนั้นเริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปร่างเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหารในปี 2549 และมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นแทน และในภายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 จะถูกฉีกและแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว บทบัญญัติที่ให้มีศาลรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ (แม้ในสภาวะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญก็ยังคงอยู่)  ทว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมาศาลรัฐธรรมนูญกลับมีวัตถุประสงค์กลายมาเป็นเครื่องมือใหม่ในการรักษาไว้ซึ่งอำนาจของระบอบเผด็จการอำนาจนิยม และขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเนื่องจากมาจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากากรแต่งตั้งบางส่วนโดย คสช. และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากสรรหาโดยวุฒิสภาที่แปลงกายมาจาก สนช. ซึ่งมาสานต่อภารกิจของตนเอง

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายกรณีที่นำไปสู่การโต้แย้งได้นั้นกลายเป็นปัญหาสำคัญทางการเมืองของประเทศไทย เพราะกลายเป็นการที่ศาลขยายบรรทัดฐานทางกฎหมายมาควบคุมมิให้เอื้อต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศ และวางกลไกอุปสรรคเพื่อทำลายหรือขัดขวางการเติบโตของประชาธิปไตย ซึ่งทำให้กระบวนการทางการเมืองติดขัดและไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ในหลายกรณี

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ศาลรัฐธรรมนูญได้กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายคู่ตรงข้ามทางการเมือง เช่น คำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 ที่ศาลวินิจฉัยว่า การเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นการเป็นลูกจ้างและทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือคำวินิจฉัย 5/2563 กรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ศาลวินิจฉัยว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ แต่ก็เป็นรายรับและเงินทางการเมือง ซึ่งจะได้มาและใช้จ่ายเงินเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง กระทำได้ตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นต้น หรือถูกนำมาใช้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยต่างๆ โดยการอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[6] เช่น คำวินิจฉัยที่ 15-18/2550 ที่ศาลวินิจฉัยว่า รัฐสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเลย[7] หรือคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่วินิจฉัยว่า การปราศรัยของแกนนำเพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง เป็นต้น

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายกรณีที่นำไปสู่การโต้แย้งได้นั้นกลายเป็นปัญหาสำคัญทางการเมืองของประเทศไทย เพราะกลายเป็นการที่ศาลขยายบรรทัดฐานทางกฎหมายมาควบคุมมิให้เอื้อต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศ และวางกลไกอุปสรรคเพื่อทำลายหรือขัดขวางการเติบโตของประชาธิปไตย[8] ซึ่งทำให้กระบวนการทางการเมืองติดขัดและไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ในหลายกรณี และหนึ่งในกรณีศึกษาสำคัญ เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ นั่นคือ กรณีคำวินิจฉัยวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

กรณีศึกษาคำวินิจฉัย (ประหลาด) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

คำวินิจฉัยวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นั้นเกิดมาจากการที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของกลุ่มแกนนำแนวร่วม “ม็อบราษฎร” ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา (ทนายอานนท์) นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรณีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง[9] แม้ว่าคำวินิจฉัยฉบับนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นทั้งในทางวิชาการและในสายตาของประชาชนถึงประเด็นต่างๆ ของคำวินิจฉัยฉบับนี้ เช่น การวินิจฉัยว่าคำปราศรัยเพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ หรือการที่ศาลยกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อมาวินิจฉัย หรือแม้แต่กระทั่งการอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่ไม่ใช่บทบัญญัติฉบับปัจจุบันมาเป็นมาตรในการตรวจสอบ เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นปัญหาที่สุดของคำวินิจฉัยนี้ก็คือ ผลของคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นไร?

หากพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วจะเห็นได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ (ทุกองค์กรของรัฐ)[10]  ผลของคำวินิจฉัยฉบับนี้ก็น่าจะต้องผูกพันหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน  ทว่า ในความเป็นจริงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องสภาพบังคับของคำวินิจฉัยเป็นอย่างยิ่ง โดยมีประเด็นดังนี้

ประการแรก แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ทว่า ในความเป็นจริงผลดังกล่าวนั้นไม่ได้มีผลโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของทนายอานนท์ ไมค์ และรุ้ง นั้น ไม่สามารถกล่าวอ้างว่าการกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญรับรองไว้เพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐตามมาตรการต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงผูกพันอยู่กับหลักการไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ และหลักความชอบด้วยกฎหมาย[11]  ดังนั้น โดยสภาพของคำวินิจฉัยจึงไม่เป็นเหตุที่จะนำมาลงโทษทางอาญาได้ แต่จะต้องพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดความผิดและโทษ หรือไม่[12]

ประการที่สอง แม้ว่ากระทำของทนายอานนท์ ไมค์ และรุ้ง จะมีลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดความผิดและโทษที่สอดคล้องกับการกระทำดังกล่าว
เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น  ทว่า ศาลเจ้าของคดีที่วินิจฉัยการกระทำความผิดอาญาก็ไม่สามารถที่จะยุติการพิจารณาและถือเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาตัดสินลงโทษได้ เนื่องมาจากลักษณะของคดีอาญานั้นศาลจะต้องพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิด[13] ซึ่งในกรณีนี้พนักงานอัยการโจทก์ก็จะต้องพิสูจน์จนว่า จำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ พนักงานอัยการและศาลไม่สามารถที่จะอาศัยประโยชน์จากคำวินิจฉัยมาเพื่อลงโทษจำเลย และจำเลยก็มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิดังกล่าวไว้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของคำบังคับที่ให้รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ก็มีประเด็นว่าเป็นการออกคำบังคับที่ไม่สามารถจะกระทำได้จริง เนื่องจากโดยสภาพของกลุ่มคณะราษฎรนั้นไม่ใช่องค์กรนิติบุคคลแบบสมาคมหรือพรรคการเมืองที่เมื่อศาลมีคำสั่งห้ามมิให้กระทำแล้วจะมีผลให้การดำเนินการของสมาคมจะต้องยุติลง

ประการที่สาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของคำบังคับที่ให้รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ก็มีประเด็นว่าเป็นการออกคำบังคับที่ไม่สามารถจะกระทำได้จริง เนื่องจากโดยสภาพของกลุ่มคณะราษฎรนั้นไม่ใช่องค์กรนิติบุคคลแบบสมาคมหรือพรรคการเมืองที่เมื่อศาลมีคำสั่งห้ามมิให้กระทำแล้วจะมีผลให้การดำเนินการของสมาคมจะต้องยุติลง เปรียบเทียบกันกับกรณีของประเทศสหพันธ์เยอรมนีที่มีบทบัญญัติในลักษณะเทียบเคียงกันได้นั้น[14] แต่กรณีของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรนั้นเป็นกลุ่มปัจเจกบุคคลหลายคนที่มาร่วมชุมนุมกัน ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ฉะนั้น ในการบังคับจึงเกิดปัญหาว่าการห้ามดังกล่าวจะห้ามในลักษณะใด ซึ่งเมื่อพิจารณาก็ต้องกลับไปที่หลักการว่า ในการความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากไม่มีกฎหมายห้ามการกระทำดังกล่าว คำวินิจฉัยดังกล่าวก็ไม่น่าจะใช้เป็นเหตุในการห้ามกระทำการได้ อีกทั้งการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นไปตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้[15] และหากปฏิบัติตามเงื่อนไขการชุมนุมตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะโดยถูกต้องเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่สามาถอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นเหตุในการห้ามได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุในการลงโทษทางอาญาไม่ได้

กล่าวโดยสรุป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุในการลงโทษทางอาญากับประชาชนที่เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ ในการจะพิจารณาลงโทษบุคคลนั้นจะต้องมีกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดนั้นเอาไว้อย่างชัดเจน และในการลงโทษศาลจะต้องพิจารณาการกระทำนั้นสอดคล้องกับฐานความผิดหรือไม่ ซึ่งหากไม่สอดคล้องกับฐานความผิดก็ไม่สามารถลงโทษได้ ในขณะเดียวกันการกำหนดสภาพบังคับให้ครอบคลุมไปถึงเครือข่ายนั้นก็มีปัญหาว่าจะบังคับเช่นไร เพราะโดยสภาพเครือข่ายผู้ชุมนุมคณะราษฎรไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ฉะนั้น หากการชุมนุมเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมนั้นก็สามารถที่จะทำได้เช่นเดิมตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในการชุมนุมเอาไว้

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะเกิดปัญหาว่า การที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้แล้วจะเป็นเหตุนำไปสู่การลงโทษบุคคลที่เข้าไปมีส่วนสนับสนุนการใช้เสรีภาพของทนายอานนท์ ไมค์ และรุ้ง ตัวอย่างเช่น กรณีของกลุ่ม ส.ส. พรรคก้าวไกลหรือกลุ่มบุคคลที่ไปร่วมประกันตัวทนายอานนท์ ไมค์ และรุ้ง จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ประเด็นหากพิจารณาในทางกฎหมายแล้วก็ต้องกลับไปหาหลักการของมาตรา 49 ก็คือ บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบัญญัติที่ให้สิทธิในการลงโทษบุคคลใด เพียงแต่ไม่ให้บุคคลนั้นยกสิทธิและเสรีภาพของตนที่ใช้อ้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ก็คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม แต่บรรดาสิทธิและเสรีภาพอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้นั้นบุคคลเหล่านั้นย่อมมีอยู่ เช่น สิทธิในการได้รับการประกันตัวและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ เป็นต้น  ฉะนั้น หากมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดให้ความช่วยเหลือตามสิทธิและเสรีภาพอื่นๆ นั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพราะบุคคลทั้งสามยังคงมีสิทธิดังกล่าวอยู่ และเนื่องจากยังไม่มีบุคคลใดถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาแล้ว แม้จะมีความพยายามที่จะตีความว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการล้มล้างการปกครอง นั้นเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำโดยใช้กฎหมายเพื่อเป้าหมายทางการเมืองมากกว่า

ในตอนนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั้นอาจถึงเวลาที่ศาลควรจะตระหนักที่สุดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำลังพาสังคมไปสู่ทางตัน ที่อาจจะนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตย และวิกฤตการณ์ต่างๆ ในทางการเมืองต่อไป


อ้างอิง

[1] ธีระ สุธีวรางกูร, ระบบศาลและการพิจารณาคดีของศาลในทางกฎหมายมหาชน (โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2563) 37; การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนั้น นอกเหนือจากการใช้ศาลรัฐธรรมนูญแล้วอาจจะมีองค์กรของรัฐรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การใช้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแบบฝรั่งเศสหรือประเทศไทยก่อนหน้าการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ หรือการใช้ศาลสูงสุด (supreme court) แบบสหรัฐอเมริกา.

[2] เพิ่งอ้าง 37.

[3] อานนท์ มาเม้า, ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ (โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2558) 27.

[4] ดู ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ‘หลักประชาธิปไตยเชิงรุก: ตุลาการภิวัฒน์กับการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย’ (2557) 3 วารสารนิติศาสตร์ 634, 634 – 635 และ 643 – 644.

[5] วจนา วรรลยางกูร, ‘ศาลรัฐธรรมนูญแบบไหนที่สังคมไทยต้องการ?’ (the 101.world, 8 เมษายน 2564) <https://www.
the101.world/constitution-dialogue-constitutional-court/?fbclid=IwAR0QLLt6w2pla69nDOZ1GPmu-ZqdVJ
KRns5Txb1G0jLSDYDeGUnktzvK4Zg> สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2564.

[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 49.

[7] กรณีเป็นคำวินิจฉัยที่แปลกประหลาดที่สุด และอาจจะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมากที่สุดกรณีหนึ่งก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามมิให้รัฐสภาที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ซึ่งไม่ใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพ) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ.

[8] ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, ตลก รัฐธรรมนูญ (ไชน์ พับลิชชิ่ง เฮาส์ 2559) 194 – 195.

[9] ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, ‘เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม! ศาลรธน.สั่ง“ม็อบราษฎร”เลิกล้มล้างการปกครองฯ’ (สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ, 10 พฤศจิกายน 2564) <https://www.thansettakij.com/politics/502821?fb&fbclid=IwAR3RrH2OOvMU55_0QYTg8sXPUEJ90FW4gSqYXdGQgUdmMx5DzAK4hjuTxOE> สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2564.

[10] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 211

[11] ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ (เชิงอรรถที่ 7) 286.

[12] เพิ่งอ้าง 277.

[13] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227.

[14] ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ (เชิงอรรถที่ 7) 277.

[15] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า