ศาลที่ดีคือศาลที่เอาเผด็จการเข้าคุกได้ : กรีซ 1974 – จับนายพลรัฐประหารเข้าคุกและโหวตยกเลิกระบอบกษัตริย์

21 กรกฎาคม 2564
ภาพจำที่คนไทยมีต่อประเทศกรีซคือแหล่งต้นกำเนิดของอารยธรรมประชาธิปไตยและสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงาม ทว่าประเทศกรีซก็เคยตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากนรกบนดินจากการกดขี่ของเผด็จการเช่นกัน ประชาชนกว่า 6,000 คนเคยถูกจำคุกและทารุณกรรมเพียงเพราะเห็นต่าง ทว่าความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1974 เมื่อกองทัพกรีซพ่ายแพ้สงครามอย่างน่าอับอายจนต้องลงจากอำนาจในที่สุด

ที่น่าสนใจคือ เหล่านายพลที่เดินลอยหน้าลอยตาคิดว่าจะลอยนวลอยู่ได้หลังยอมลงจากอำนาจ แต่แล้วประชาชนกลับออกมาประท้วงตามท้องถนนเรียกร้องให้นำเผด็จการเหล่านี้ไปขึ้นศาล ถึงที่สุดแล้วผู้นำเผด็จการและลูกสมุนถูกจำคุกตลอดชีวิต และต่อมามีการจัดประชามติยกเลิกสถาบันกษัตริย์กลายเป็นสาธารณะรัฐเฮเลนิกที่ 3 มาจนถึงปัจจุบัน กรีซทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ความระส่ำระสายทางการเมืองก่อนการรัฐประหาร

ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การทะเลาะกันระหว่าง 2 ฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์ในกรีซก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งที่ 1 ใน ค.ศ. 1943-1944 ครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม 1944 – มกราคม 1945 และครั้งที่ 3 ในปี 1946-1949 สงครามกลางเมืองของกรีซถือเป็นความขัดแย้งครั้งแรก ๆ ระหว่างอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายทุนนิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์ การแตกคอกันระหว่างสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียในเรื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนกรีซส่งผลให้กองทัพคอมมิวนิสต์ในกรีซหมดขวัญกำลังใจและพ่ายแพ้สงครามการเมืองในที่สุด

เมื่อสงครามกลางเมืองในกรีซสิ้นสุดลงในปี 1949 ผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์หลายพันถูกจำคุกและส่งไปอยู่ในเรือนจำหรือเกาะร้าง อีกหลายคนลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และที่อื่นๆ พรรคคอมมิวนิสต์ของกรีซถูกกฎหมายบัญญัติว่าเป็นของผิดกฎหมาย ความโกรธแค้นของคอมมิวนิสต์ที่ถูกกระทำเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสู่การรณรงค์เรียกร้องให้นายพลเข้าคุกหลังจากนี้

ไม่นานระกกรีซก็ได้เป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ใน ค.ศ. 1952 กรีซอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยพรรคเนชันแนล ราดิคัล ยูเนียน (National Radical Union) ของคอนสแตนติโนส คาราแมนลิส (Konstantinos Karamanlis) ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัยใน ค.ศ. 1955-1963 ในช่วงสงครามเย็น ประเทศกรีซตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายกษัตริย์นิยมและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แผนมาร์แชลและหลักการทรูแมน

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นหลังยรียอริส ลัมบราคิส (Grigoris Lambrakis) นักการเมืองผู้นำฝ่ายซ้ายถูกฆาตกรรมในปี 1963 โดยพวกขวาสุดโต่ง เหตุดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงใหญ่เพื่อเปิดโปง “รัฐซ้อนรัฐ” ของฝ่ายขวา ตามมาด้วยวิกฤติการณ์ทางการเมืองในเวลาต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คอนสแตนติโนส คาราแมนลิส ต้องลาออกจากตำแหน่งและย้ายไปลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศ คอนสแตนติโนส คาราแมนลิส ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายขวาจะกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งหลังทหารลงจากอำนาจในปี 1974

การลอบสังหารยรียอริส ลัมบราคิส เป็นเหตุสะเทือนขวัญที่นำไปสู่งานวรรณกรรมชื่อดังเรื่อง Z ของวาสสิลิส วาสสิลิกอส (Vassilis Vassilikos) ต่อมาถูกทำเป็นภาพยนตร์ในปี 1969 และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี

ระหว่างนี้ พรรคเซ็นเตอร์ยูเนียน (Centre Union) ที่มีอุดมการณ์สายกลางมีอำนาจขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเยออร์ยีโอส ปาปันเดรว (Georgios Papandreou) ผู้ก่อตั้งพรรคได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1964-1965 เนื่องจากไม่ใช่ฝ่ายขวาเหมือนพรรคเนชันแนล ราดิคัล ยูเนียน แม้สถาบันกษัตริย์และกองทัพจะยอมให้เยออร์ยีโอส ปาปันเดรว ครองอำนาจ แต่ก็ไม่ไว้วางใจเขามากนัก และมีข่าวลือว่ากองทัพจะก่อการรัฐประหารบ่อยครั้งในสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน สถาบันกษัตริย์ของกรีซก็พยายามเพิ่มอำนาจของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 1964 กษัตริย์ปอลประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้เยออร์ยีโอส ปาปันเดรวได้เสียงในสภามากขึ้น และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องพึ่งการสนับสนุนจากพรรคยูไนเต็ดเลฟท์ (United Left) ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นพรรคสำรองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ (ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น) เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนให้เยออร์ยีโอสแต่งตั้งทหารที่ทรงโปรดปรานขึ้นเป็นผู้บัญชาการเสนาธิการและขยายอำนาจของกษัตริย์ในกองทัพ

หลังกษัตริย์ปอลสวรรคต กษัตริย์คอนแสตนติโนสที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์ต่อในปี 1965 และใช้ประโยชน์จากความแตกแยกในพรรคเซ็นเตอร์ยูเนียนบีบให้เยออร์ยีโอส ปาปันเดรวลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเยออร์ยีโอสทะเลาะกับกษัตริย์คอนแสตนติโนสที่ 2 ที่พึ่งครองราชย์ใหม่ในประเด็นเรื่องต่างๆ รวมถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กษัตริย์คอนแสตนติโนสที่ 2 จึงพยายามหันไปยกหางนักการเมืองฝ่ายขวาในพรรคเซ็นเตอร์ยูเนียน ที่เป็นปรปักษ์กับเยออร์ยีโอส ให้ขึ้นมาครองอำนาจแทน

เหตุการณ์ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักกันภายใต้ชื่อเรียกว่าอะโพสเตเซีย (Apostasia) ส่งผลให้เยออร์ยีโอสลาออกจากตำแหน่ง และนำไปสู่การแต่งตั้งเยออร์ยีโอส อาธานาเซียดิส-โนวาส ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทันที โดยกษัตริย์คอนแสตนติโนสที่ 2 เป็นผู้วางแผนและสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง หลังเหตุการณ์ดังกล่าว พรรคเซ็นเตอร์ยูเนียนเสียงแตกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ได้แก่เป็นปีกซ้าย-กลางและปีกขวา-กลาง ความร้าวฉานในพรรครัฐบาลทำให้ไม่มีใครสามารถกุมเสียงข้างมากในสภาได้จึงต้องมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่

แต่แล้วกองทัพกรีซที่มีอุดมการณ์กษัตริย์นิยมขวาจัดก็ทำการรัฐประหารก่อนการเลือกตั้งขึ้นในปี 1967  

ยุคระบอบนายพันและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ระบอบทหารในกรีซระหว่างปี 1967-1974 มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ระบอบนายพัน (Regime of Colonels)” หลังออกคำสั่งปิดสภา ยุบพรรคการเมือง และควบคุมการนำเสนอของสื่ออย่างเข้มงวด รัฐบาลภายใต้การปกครองของเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลส (Georgios Papadopoulos) ได้ทำการสั่งจำคุกผู้เห็นต่างอย่างน้อยกว่า 6,000 คน ทั้งนักการเมือง นักข่าว และบุคคลกลุ่มอื่นๆ หลายคนถูกทารุณกรรมระหว่างสอบสวน ในจำนวนนี้หลายพันคนถูกส่งไปยังยารอส ซึ่งเป็นเกาะร้างตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเอเธนส์

ระหว่างที่กรีซตกใต้ระบอบเผด็จการ องค์กรสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคยุโรปขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับกระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเปิดเผยให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรีซอย่างร้ายแรงผ่านรายงานเรื่อง “Torture in Greece” (การทารุณกรรมในกรีซ) รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยทนายความอาสาสมัครไม่กี่คน ผ่านการลงพื้นที่พูดคุยกับเหยื่อหรือคนใกล้ตัวของเหยื่อ บางครั้งติดต่อผ่านทางโทรศัพท์อย่างลับๆ และยากลำบากเนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลมีความเสี่ยง

รัฐบาลกรีซปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในรายงานโดยบอกว่าเป็นข้อมูลที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์กุขึ้นมา เมื่อเผชิญกับคำถามกดดันว่า ถ้ากรีซถูกขับไล่ออกจากสภายุโรป (Council of Europe) จะทำอย่างไร พลเอกสตีเลียโนส ปัตตากอส (Stylianos Pattakos) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเผด็จการกรีซตอบว่า “ให้พวกมันไล่เราออกเลย รัฐบาลกรีซต้องปกป้องตัวเองจากศัตรูคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ชาวกรีก เราต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงก่อน”

ในปี 1968 รัฐบาลนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดนได้ทำการฟ้องร้องรัฐบาลเผด็จการทหารของกรีซในข้อหาละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) และทำผิดในข้อหาทารุณกรรมตามรายละเอียดในรายงานเรื่อง Torture in Greece การฟ้องร้องเกิดขึ้นหลังเกิดการประท้วงกดดันของผู้ลี้ภัยทางการเมืองกรีกในประเทศต่างๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิมนุษชนโดยรัฐเผด็จการมากยิ่งขึ้น

แม้ขณะนั้นกรีซจะเป็นหนึ่งในสมาชิกประเทศแรกๆ ของสภายุโรป (Council of Europe) และเคยใช้ประโยชน์จากองค์กรระหว่างประเทศของภูมิภาคยุโรปในการฟ้องร้องรัฐบาลอังกฤษด้วยข้อละเมิดสิทธิมนุษชนในไซปรัส (ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างกรีซ ตุรกี และอังกฤษ ในขณะนั้น) รัฐบาลฝ่ายขวาของกรีซกลับชิงประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกเสียเองเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกขับไล่ เนื่องจากคณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินออกมาว่ารัฐบาลกรีซละเมิดอนุสัญญาหลายข้อจริงตามที่ฟ้องร้องกล่าวหา การปกครองอย่างไร้ประสิทธิภาพและโหดร้ายของทหารยังคงดำเนินต่อไป

ความชอบธรรมในการปกครองของทหารกรีซเหลือน้อยลงทุกที ผู้นำเผด็จการเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลสจึงยอมประกาศเปิดเสรีประเทศ ด้วยการปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกกฎอัยการศึก ลดมาตรการควบคุมสื่อลงบางส่วนและสัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่และจัดการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย การเปิดเสรีประเทศเป็นโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาจัดการประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลในปี 1973 ที่มหาวิทยาลัยเอเธนส์เพื่อต่อต้านการบังคับนักศึกษาไปเกณฑ์ทหาร และหลังจากนั้นก็มีการประท้วงใหญ่ที่มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคเพื่อต่อต้านขับไล่รัฐบาลและเรียกร้อง “ขนมปัง การศึกษา และเสรีภาพ”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจัดการกับการประท้วงดังกล่าวด้วยการปราบปรามนำไปสู่การนองเลือดอย่างรุนแรง มีการตั้งหน่วยซุ่มยิงสไนเปอร์ตามแนวอาคารต่างๆ เพื่อฆ่าประชาชน และมีการขับรถถังบุกทลายประตูเข้าไปในมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิค หลังเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 คนและบาดเจ็บหลายร้อยคน ในจำนวนนี้หลายคนเป็นผู้นำกลุ่มนักศึกษา และมีเด็กอายุ 5 ขวบโดนลูกหลงเสียชีวิตด้วย การปราบปรามอย่างรุนแรงครั้งนี้มีผู้อยู่เบื้องหลังสั่งการคือพลจัตวาดริมิเทรียส เอียนนิเดส (Dimitrios Ioannidis) หนึ่งในกลุ่มทหารอนุรักษ์นิยมสุดโต่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดเสรีประเทศของเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลส

เนื่องจากชอบอยู่เบื้องหลังและเคยเป็นผู้ร่วมก่อการรัฐประหารในปี 1967 พลจัตวาดริมิเทรียส เอียนนิเดสจึงได้รับฉายาว่าเป็น “เผด็จการที่มองไม่เห็น (Invisible Dictator)” ในปี 1974 เขาได้ทำการรัฐประหารซ้อนเพื่อยึดอำนาจจากเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลสและนำกฎอัยการศึกกลับมาใช้อีกครั้ง โดยอ้างเหตุผลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เช่นเดียวกับรัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวาอื่นๆ รัฐบาลกรีซมักชอบอ้างอุดมการณ์ความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้ความชอบธรรมกับการปกครองอันโหดร้ายทารุณของตนเอง อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ความมั่นคงแห่งชาติกลับมาทำร้ายเผด็จการกรีซเอง จนทำให้เอียนนิเดสต้องลงจากอำนาจในที่สุดประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาบทบาทของกรีซในไซปรัส

การล่มสลายของเผด็จการกรีซ

ไซปรัสเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐเกิดใหม่แห่งนี้มีดินแดนเป็นหมู่เกาะที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยตั้งอยู่ทางใต้ของตุรกี ตะวันตกของซีเรีย ตะวันตกเฉียงเหนือของเลบานอน อิสราเอล และฉนวนกาซา ทางเหนือของอียิปต์ และตะวันออกเฉียงใต้ของกรีซ ไซปรัสเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน ประกอบด้วยคนเชื้อสายกรีกกว่าเป็นส่วนใหญ่ และมีชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ที่สุดคือคนเชื้อสายเติร์ก

ไซปรัสได้รับเอกราชในปี 1960 ในระหว่างนี้มีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญๆ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มชาวกรีกในไซปรัสที่ต้องการกลับไปผนวกรวมกับประเทศกรีซที่เรียกตัวเองว่าอีโนซิส (enosis) กลุ่มชาวเติร์กทางตอนเหนือที่ต้องการแยกดินแดนออกจากไซปรัสเรียกว่าทักซิม (taksim) และกลุ่มที่ต้องการให้ไซปรัสเป็นสาธารณะรัฐเอกราชเพียงหนึ่งเดียวซึ่งนับเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซเห็นด้วยกับการให้ไซปรัสเป็นเอกราชมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้ข้อตกลงลอนดอน-ซูริกในปี 1959

อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารในกรีซในปี 1967 ความสัมพันธ์ระหว่างกรีซและไซปรัสเริ่มตึงเครียดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลกรีซให้การสนับสนุนกองกำลังชาวกรีกในไซปรัสที่ต้องการผนวกรวมไซปรัสเป็นส่วนหนึ่งของกรีซ หลังเผด็จการกรีซวางแผนยึดครองไซปรัสอยู่หลายครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารปี 1974 ขึ้นในกรีซ ผู้นำเผด็จการพลจัตวาดริมิเทรียส เอียนนิเดส ดำเนินนโยบายสุดโต่งต่อทันทีด้วยการก่อการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของบาทหลวงมาคาเรียสที่ 3 (Makarios III) ประธานาธิบดีไซปรัสที่มีจุดยืนสนับสนุนสาธารณรัฐของตนเป็นรัฐเอกราช

การรัฐประหารในวันที่ 15 กรกฎาคม 1974 ส่งผลให้บาทหลวงมาคาเรียสที่ 3 พ้นจากอำนาจ และนำไปสู่การแต่งตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดของนิคโคส แซมปอน (Nikos Sampon) ที่เป็นประธานาธิบดีอยู่ได้เพียงช่วงสั้น ๆ ถึงอย่างนั้น เผด็จการกรีซ-ไซปรัสก็เข่นฆ่าผู้สนับสนุนบาทหลวงมาคาเรียสที่ 3 ไปจำนวนมาก การรัฐประหารดังกล่าวถูกประนามโดยองค์การสหประชาชาติว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และเพื่อคุ้มครองชาวเติร์กในไซปรัสจากพวกกรีกขวาจัด รัฐบาลตุรกีจึงทำการส่งทหารบุกยึดไซปรัสโดยเข้าควบคุมพื้นที่ของไซปรัสได้ถึง 36% ภายในเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้น

การรัฐประหารครั้งดังกล่าวถือเป็นความพ่ายแพ้ทางทหารและการเมืองอย่างยับเยินของเผด็จการกรีซ เนื่องจากเผชิญกับการต่อต้านและไม่หลงเหลือความชอบธรรมในการปกครองอีก นิคโคส แซมป์สันจึงประกาศลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีของไซปรัสและคืนเก้าอี้ให้กับบาทหลวงมาคาเรียสที่ 3 ภายในเวลาเพียง 2 วัน ขณะเดียวกัน หลังเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นความน่าอับอายของกรีซเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนในกรีซเห็นว่ารัฐบาลเผด็จการทหารไม่สามารถทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศได้เลยแม้แต่เรื่องความมั่นคง ความล้มเหลวดังกล่าวบีบให้เอียนนิเดสลาออกจากตำแหน่งผู้นำกรีซ เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของเผด็จการทหารกว่า 8 ปี

จับเผด็จการเข้าคุก

เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น กลุ่มทหารที่ลงจากอำนาจเชิญให้คอนสแตนติโนส คาราแมนลิสกลับจากการลี้ภัยในฝรั่งเศสมาเป็นนายกรัฐมนตรีของกรีซอีกครั้ง ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้นำพรรคเนชันแนล ราดิคัล ยูเนียนจากฝ่ายขวาที่ชนะการเลือกตั้งหลายสมัยในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950-1960 แต่เนื่องจากผู้นำฝ่ายซ้ายเคยถูกสังหารในช่วงเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เขาในวัย 67 ปีจึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวกรีซในขณะนั้นเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเขาต้องการกำจัดด่างพร้อยทางการเมืองด้วยการดำเนินคดีกับอดีตเผด็จการทหาร

ทันทีหลังกองทัพลงจากอำนาจในวันที่ 24 กรกฎาคม 1974 ประชาชนชาวกรีกได้ออกมาตามท้องถนนเพื่อเฉลิมฉลองการจากไปของเผด็จการ ในการเดินขบวนดังกล่าวนอกจากจะมีการกล่าวคำขวัญสนับสนุนประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีการเรียกร้องให้นำตัวสมาชิกของรัฐบาลเผด็จการทหารมาสำเร็จโทษประหารด้วย แต่เนื่องด้วยในช่วงแรกประชาชนส่วนใหญ่กลัวว่ากองทัพอาจกลับมายึดอำนาจคืนได้ทุกเมื่อ ประชาชนจึงยังไม่ได้ขยายผลข้อเรียกร้องในการนำเผด็จการทหารมาดำเนินคดีต่อหลังการเดินขบวนดังกล่าว

ขณะนั้นมีข่าวลือด้วยว่านายกรัฐมนตรีคอนสแตนติโนส คาราแมนลิส ยังคงเปลี่ยนที่นอนทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกลอบฆาตกรรม ในคำสั่งนิรโทษกรรมทางการเมืองที่เขาตั้งใจออกมาเพื่อปล่อยนักโทษทางการเมืองก็ยังมีความหมายคลุมเครือว่าหมายถึงอดีตเผด็จการทหารด้วยหรือไม่ หากรวมด้วยก็อาจเผชิญเสียงต่อต้านจากประชาชน หากไม่รวมด้วยก็อาจเผชิญกับการรัฐประหาร เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่แน่นอนในช่วงแรกและความกลัวที่ยังปกคลุมสังคมอยู่ ความกระจ่างในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องถูกระงับเอาไว้ก่อน

หนึ่งเดือนหลังกรีซเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว ประชาชนจึงเริ่มออกมาเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับทหารอีกครั้ง ขณะนั้นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในกรีซรายงานว่า “มีการเรียกร้องจากประชาชนให้เอาผิดกับอดีตเผด็จการเพิ่มมากขึ้น” กลุ่มต่อต้านเผด็จการชื่อว่า Democratic Defense (กลุ่มปกป้องประชาธิปไตย) และอันเดรอัส ปาปันเดรว (Andreas Papandreou) ลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรีเยออร์ยีโอส ปาปันเดรว ได้ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับอดีตเผด็จการในเวลาไล่เลี่ยกัน ในกรณีของอันเดรอัส ปาปันเดรว พ่อของเขาถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านเป็นเวลา 1 ปีจนกระทั่งเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายนปี 1968

หลังกระแสเรียกร้องเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดอเล็กซานโดรส ไลคูรีโซส (Alexandros Lykourezos) ทายาทของตระกูลทนายความและนักการเมืองอุดมการณ์สายกลางก็ดำเนินการฟ้องร้องกับผู้นำเผด็จการทหาร 35 คนในข้อหาก่อกบฎ ก่อนหน้านี้เขาต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศระหว่างที่พ่อของเขาถูกสั่งจำคุก ขณะนั้นเขาไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ทันทีที่เขาฟ้องร้องอดีตเผด็จการ เขาก็ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งที่การฟ้องร้องทหารมรข้อหากบฎเป็นสิ่งที่ประชาชนธรรมดาทั่วไปก็ทำได้ตามระบบกฎหมายกรีก เขากล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับนักวิชาการว่า:

“เมื่อผมกลับมาประเทศกรีซหลังการกลับมาของคาราแมนลิส ผมตระหนักว่านายพันทุกคนและทุกคนทั้งหมดที่มีส่วนรับผิดชอบต่อระบอบทหารยังคงมีชีวิตอยู่รายรอบพวกเราอย่างเป็นอิสระ และผมคิดว่ามันเป็นการเหยียดหยามสำนึกตามระบอบประชาธิปไตย … ต้องมีสักคนออกมาริเริ่ม มาตรากฎหมายอาญาระบุว่าการกบฎต่อชาติรวมถึง “ผู้ใดที่พยายามใช้กำลังหรือข่มขู่ว่าจะใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนรูปแบบรัฐบาลของรัฐ” ด้วย ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้บังคับให้เกิดระบอบเผด็จการ ดังนั้นนั่นคือการกบฎต่อชาติตามนิยามนี้ ผมจึงยื่นคำร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย”

การยื่นคำร้องคดีคครั้งนี้ตามมาด้วยการยื่นฟ้องคดีอีกหลายครั้งในลักษณะเดียวกัน เช่น คดีทารุณกรรมผู้เห็นต่างและคดีฆาตกรรมนักศึกษาในเหตุการปราบปรามประท้วงที่มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคเมื่อปี 1973 เนื่องจากคดีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถริเริ่มเองได้ รัฐบาลจึงไม่ต้องริเริ่มเองซึ่งอาจก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจทางการเมืองในการดำเนินคดี ต่อมารัฐบาลของคาราแมนลิสได้ออกกฎหมายว่าผู้นำเผด็จการทหารไม่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมทางการเมือง การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้คาราแมนลิสชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปีต่อมา

เมื่อฝ่ายตุลาการรับฟ้องคดีเหล่านี้ กองทัพก็ยังไม่วายพยายามก่อการรัฐประหารอีกครั้งในปี 1975 เพื่อเรียกร้องการนิรโทษกรรม และปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกักขังระหว่างรอการไต่สวน ในครั้งนี้ รัฐบาลกรีซปราบกบฎได้สำเร็จและเดินหน้าการดำเนินคดีต่อในทันที การไต่สวนเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1975 ผลการไต่สวนออกมาพบว่าตัวแสดงสำคัญ 18 คนในการรัฐประหารปี 1967 มีความผิดและถูกพิพากษาประหารชีวิตในจำนวนนี้ผู้นำการรัฐประหาร 3 คน ได้แก่ พลเอกเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลส (นายกรัฐมนตรี) นิโคลอส มาคาเรโซส (รองนายกรัฐมนตรี) และพลเอกสตีเลียโนส ปัตตากอส (รัฐมนตรีมหาดไทย) ถูกตัดสินประหารชีวิต

พลจัตวาดริมิเทรียส เอียนนิเดสซึ่งทำการรัฐประหารซ้อนในปี 1974 ถูกตัดสินประหารชีวิตเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคาราแมนลิสได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการลดโทษให้กับผู้นำเผด็จการทั้งหมด เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้นายพลเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจของทหารรุ่นหลัง เขาเชื่อว่า “การประหารจะสร้างเลือด และเลือดจะสร้างวีรบุรุษ” ขณะเดียวกัน นักวิชาการและนักวิเคราะห์เชื่อด้วยว่าเหตุผลที่คาราแมนลิสไม่ต้องการประหารอดีตเผด็จการ เพราะเขาต้องการให้กรีซเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community) จึงไม่ต้องการให้กรีซมีภาพลักษณ์เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนในสายตาของประเทศตะวันตก

หลังดำเนินคดีอดีตผู้นำเผด็จการซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตัวใหญ่ที่สุดเรียบร้อยแล้ว การดำเนินคดีอื่นๆ กับเจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาที่มีส่วนในการทารุณกรรมผู้เห็นต่างก็ราบรื่นลุล่วงไปด้วยดี จากเจ้าหน้าที่ 55 รายที่ถูกดำเนินคดี ศาลตัดสินให้ 37 รายมีความผิด โทษจำคุกของคนเหล่านี้มีตั้งแต่ 3 เดือนครึ่งไปจนถึง 23 ปี แม้โทษจะฟังดูเบาและมีการวิพากษ์วิจารณ์จากแอมเนสตี้ว่ายังไม่มีการสอบสวนเกี่ยวกับผู้มีส่วนร่วมในระบบการทารุณกรรมของเผด็จการมากเพียงพอ แต่การดำเนินคดีก็ถือว่าเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของการไต่สวนคือตอนที่พันเอกสปีรอส มูสตาคลิส (Spyros Moustaklis) ให้การต่อศาลโดยสื่อสารผ่านการแสดงท่าทางและชี้นิ้วเนื่องจากแทบพูดอะไรไม่ได้ เขาเคยเป็นทหารที่ได้รับหนึ่งในเหรียญรางวัลสูงสุดของกองทัพกรีซ แต่เขากลับถูกเล่นงานโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนพิการเนื่องจากเคยมีส่วนร่วมในการต่อต้านคณะรัฐประหาร เขาบาดเจ็บอยู่บนพื้นในเรือนจำเป็นเวลากว่า 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์เลย นักโทษคนหนึ่งถูกนำตัวไปยังห้องที่สปีรอสนอนกองอยู่และถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ว่า “อยากลงเอยแบบนี้ใช่มั้ย ถ้าไม่อยากก็คุยกับเราเดี๋ยวนี้”

การยกเลิกระบอบกษัตริย์

หลังดำเนินคดีกับอดีตเผด็จการและเจ้าหน้าที่ลูกสมุนที่ทารุณกรรมประชาชนแล้ว ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 1974 เมื่อประชาชนต้องลงคะแนนประชามติว่ากรีซควรมีสถาบันกษัตริย์ต่อไปหรือไม่ ในการจัดทำประชามติดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกว่า 4.7 ล้านคน นับเป็น 75% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด ผลปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วยให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ถึง 3.2 ล้านคน และเห็นว่าควรคงไว้เพียง 1.4 ล้านคน นำไปสู่การยกเลิกสถาบันกษัตริย์และก่อตั้งสาธารณรัฐเฮเลนิกที่ 3 อย่างเป็นทางการ

น่าสนใจว่าก่อนหน้านี้กรีซภายใต้ระบอบเผด็จการทหารก็เคยยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปแล้ว หลังการรัฐประหารปี 1967 กษัตริย์คอนสแตนติโนสที่ 2 เซ็นรับรองการรัฐประหารดังกล่าวด้วยความลังเล ต่อมาพระองค์ทรงแอบเตรียมการก่อรัฐประหารซ้อนอย่างเงียบๆ กับนายทหารที่ไว้ใจเพื่อยึดอำนาจจากเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลส แต่เนื่องจากพลาดท่าล้มเหลว พระองค์จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอิตาลีในปลายปี 1967 ผู้นำเผด็จการเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลสไม่ได้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ทิ้งในทันที แต่แต่งตั้งให้พลเอกเยออร์ยีโอส โซอิตาคิสเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจนถึงปี 1972

ในที่สุดเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลสก็ปลดเขาออกและประกาศตนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนในปี 1973 ในช่วงท้ายการปกครองของระบอบเผด็จการที่อำนาจเสื่อมลงทุกที พลเอกเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลส แต่งตั้งให้ตนเองเป็นประธานาธิบดีเสียเองแล้วจัดประชามติให้ประชาชนรับรองในปี 1973 พร้อมสัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเปิดเสรีประเทศและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ขณะนั้นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนสืบทอดอำนาจเผด็จการ และไม่ใช่การประชามติที่เสรีเป็นธรรมอย่างแท้จริง

ตลอดประวัติศาสตร์ของกรีซมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐสลับกันไปมาระหว่างระบอบกษัตริย์กับสาธารณะรัฐมาโดยตลอด ก่อนที่กรีซจะมีสถาบันกษัตริย์ใน ค.ศ. 1832 กรีซเคยเป็นสาธารณะรัฐมาก่อน นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงดังกล่าวว่าสาธารณะรัฐเฮเลนิกที่ 1 อันเป็นช่วงที่ชาวกรีกทำสงครามเพื่อประกาศเอกราชออกจากการปกครองของจักรวรรดิอ็อตโตมาน เนื่องจากประสบความล้มเหลวในการสร้างรัฐ ประเทศมหาอำนาจจึงเข้ามาแทรกแซงและก่อตั้งกรีซพร้อมแต่งตั้งกษัตริย์ให้เป็นประมุข

เนื่องจากไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นเป็นต้นมาประชาชนกรีซก็ได้มีโอกาสในการลงประชามติเกี่ยวกับการคงไว้หรือยกเลิกสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด เช่น ในปี 1935 (นำสถาบันกษัตริย์กลับคืนมา) ปี 1946 (คงสถาบันกษัตริย์ไว้) ปี 1973 (ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เพื่อแต่งตั้งเผด็จการทหารเป็นประธานาธิบดี) และปี 1974 (ยกเลิกสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง เนื่องจากคำสั่งเผด็จการไม่ชอบด้วยกฎหมาย) เป็นต้น หลังการประชามติในปี 1974 คอนสแตนติโนส คาราแมนลิสนั่นเองที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี หลังจากนั้นเขายังได้รับตำแหน่งรัฐบุรุษด้วยในเวลาต่อมา

ถอดบทเรียนจากกรีซ

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาลจากกษัตริย์ปอลไปยังกษัตริย์คอนสแตนติโนสที่ 2 เกิดความโกหาหลทางการเมืองในรัฐบาลพลเรือนขึ้นจนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 1967 เนื่องจากสถาบันกษัตริย์พยายามเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองจนเกิดการแตกกันเองระหว่างนักการเมืองฝ่ายพลเรือน การรัฐประหารจึงเกิดขึ้นและนำไปสู่ระบอบเผด็จการเป็นเวลากว่า 8 ปี มีผู้เสียชีวิตและทารุณกรรมเพียงเพราะเห็นต่างจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของประชาชนอย่างต่อเนื่องและความล้มเหลวทางการเมืองของเผด็จการทหารในไซปรัสส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในที่สุด การเปลี่ยนผ่านเช่นนี้เป็นแบบแตกหัก (ruptured transition) ไม่ใช่แบบที่มีการวางแผนแบบค่อยเป็นค่อยไป (pacted transition) แต่การเปลี่ยนผ่านลักษณะนี้ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำไปสู่การดำเนินคดีทางสิทธิมนุษยชนกับเผด็จการด้วยตัวมันเอง

แม้องค์กรระหว่างที่ประเทศทางด้านสิทธิมนุษย์ที่เฟื่องฟูขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีบทบาทสำคัญต่อการกดดันรัฐบาลกรีซให้กรีซออกจากสภายุโรปและเรียกร้องให้รัฐบาลกรีซเยียวยาต่อผู้เสียหาย แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การฟ้องร้องคดีทางสิทธิมนุษยชนกับอดีตเผด็จการและลูกสมุนในระดับปัจเจกบุคคล เนื่องจากการไต่สวนที่นูเร็มเบิร์กหลังสงครามโลกที่ 2 ยังคงอยู่ในภาพจำของประชาคมระหว่างประเทศ ความคิดในขณะนั้นจึงยังคงแพร่หลายอยู่ว่าการเอาผิดทางสิทธิมนุษยชนโดยใช้กลไกระหว่างประเทศจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อชนะสงครามอย่างเด็ดขาดแล้วเท่านั้น

คำถามที่น่าสนใจจึงมีอยู่ว่าแล้วกรีซสามารถจับเผด็จการมาเข้าคุกและยกเลิกระบอบสถาบันกษัตริย์ได้อย่างไร หากจะหาคำตอบเรื่องนี้ต้องเข้าใจ “สามัญสำนึก” ของชาวกรีกและประวัติศาสตร์การเมืองที่มีอิทธิพลทางความคิดกระแสหลักของชาวกรีก

ตลอดประวัติศาสตร์ของกรีซมีขนบของการจับผู้ทรยศต่อชาติมาไต่สวนอย่างยาวนาน ภาพจำที่คนทั่วไปน่าจะรู้จักกันดีคือการไต่สวนให้โสเครติสกินยาพิษฆ่าตัวตาย (ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นกบฎต่อชาติแต่อย่างใด) ในปี 1922 กรีซยังเคยไต่สวนผู้นำทหาร 6 คนที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ในสงครามระหว่างกรีซกับจักรวรรดิอ็อตโตมาน นำไปสู่การประหารด้วยการยิงเป้า ความพ่ายแพ้ของเผด็จการกรีซในไซปรัสในปี 1974 ถูกมองว่าเป็นการทรยศต่อชาติไม่ต่างกัน และเป็นสามัญสำนึกของประชาชนกรีซว่าความผิดเช่นนี้จะต้องมีการไต่สวน แต่การจำนายพลเข้าคุกก็ถือว่าแตกต่างจากขนบก่อนหน้านี้ เนื่องจากลงโทษเพียงจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และพิจารณาความผิดอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น

ประเด็นเกี่ยวกับการยกเลิกสถาบันกษัตริย์นั้นก็เกี่ยวข้องกับสามัญสำนึกของชาวกรีซเช่นกัน เนื่องจากกษัตริย์กรีซถูกแต่งตั้งโดยประเทศมหาอำนาจเมื่อปี 1832 ประชาชนกรีซจึงมองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นของนอกและไม่ได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่แรก การจัดประชามติเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์หลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์กรีซสะท้อนความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์กรีซในสำนึกทั่วไปของประชาชนได้เป็นอย่างดี

ซ้ำร้าย สถาบันกษัตริย์กรีซยังพยายามแทรกแซงการเมืองหลายต่อหลายครั้งจนนำไปสู่การล่มสลายของตนเอง แม้แต่ในช่วงท้ายของระบอบเผด็จการพลเอกเยออร์ยีโอส ปาปาโดปูโลส ก็ยังต้องการยกเลิกสถาบันกษัตริย์เพื่อแต่งตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีและสืบทอดอำนาจ ดังนั้นถึงที่สุดแล้วการคงอยู่ของสถาบันกษัคริย์ไม่ว่าที่ใดก็ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของประชาชนที่ได้รับอิทธิพลจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองของตน และอีกส่วนหนึ่งคือการตัดสินใจทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์เอง

ข้อมูลอ้างอิง

  • Sikkink, Kathryn, The Justice Cascade : How Human Rights Prosecutions Are Changing World Politics. New York :W. W. Norton & Co., 2011.
  • ปิยบุตร แสงกนกกุล, การกำจัดเผด็จการในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในกรีซ, ฟ้าเดียวกัน 14 (2), หน้า. 163-190
  • Greek junta, Wikipedia, เข้าถึงเมื่อ 10 ก.ค. 2564

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า