ประวัติศาสตร์ของทุกคน ตอนที่ 5: บันทึกทูตญี่ปุ่นผู้เห็นการปฏิวัติ 2475

24 มิถุนายน 2564
หากคุณเดินเข้าไปในร้านหนังสือทั่ว ๆ ไป และบังเอิญเดินผ่านส่วนหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ ถ้าโชคดี คุณอาจได้เห็น บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475: การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม ของสำนักพิมพ์ ศิลปวัฒนธรรม วางอยู่บนชั้น

หนังสือเล่มนี้ต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์เล่มอื่น ๆ ขณะที่หนังสือเล่มอื่นๆ อาจเขียนโดยนักประวัติศาสตร์ที่รวบรวมหลักฐานและเรียบเรียงเนื้อหาออกมาผ่านกรอบของวิชาการ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย เขียนโดยยาสุกิจิ ยาตาเบะ อัครราชทูตสัญชาติญี่ปุ่นประจำประเทศสยามที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2471 – 2479

ยาสุกิจิ ยาตาเบะ (Yasukichi Yatabe) อัครราชทูตสัญชาติญี่ปุ่นประจำประเทศสยาม
ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2471 – 2479

ขณะที่หลายๆ คนกำลังเฝ้ารอให้แต่ละปีผ่านไปเร็วๆ เพื่ออ่านบันทึกของปรีดี พนมยงค์เกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่จะถูกนำออกมาเผยแพร่อย่างเป็นทางการในอีก 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567) สถานะของบันทึกทูตญี่ปุ่นเล่มนี้ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือเป็นบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์โดยตรง

ความแตกต่างระหว่างหลักฐาน 2 ชิ้นนี้อยู่ตรงที่บันทึกของปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และยังไม่มีการเผยแพร่ออกมา ส่วนบันทึกของทูตญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 และได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ถึงอย่างนั้น บันทึกฉบับนี้ก็ยังคงความน่าสนใจไว้ได้เป็นอย่างดีและมีผู้ซื้อเก็บไว้อ่านเป็นระยะ ๆ เนื่องจากหลักฐานชั้นต้นชิ้นนี้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่จากมุมมองของตนเองได้เป็นอย่างดี

กล่าวอีกอย่างคือ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหลักฐานชั้นต้น สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร

ชิงสุกก่อนห่าม ?

หนึ่งในหัวข้อที่มีการพูดกันทุกปีเวลาครบรอบเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ในวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักบอกว่ารัชกาลที่ 7 ตั้งใจจะมอบประชาธิปไตยให้สยามอยู่ก่อนแล้ว แต่คณะราษฎรกลับชิงก่อการปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านไม่ราบรื่นและก่อให้เกิดปัญหามาจนถึงปัจจุบัน

แนวคิดแบบนี้ถูกนำมาพูดถึงซ้ำทุกปีเพื่อให้ความชอบธรรมว่ารัชกาลที่ 7 เป็น “กษัตริย์นักประชาธิปไตย” เอาเข้าจริงแล้ว นี่สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมศักดินายังไม่หายไปจากสังคมไทย กล่าวคืออะไรที่ประชาชนเป็นคนริเริ่มลงมือทำอย่างยากลำบาก เจ้าศักดินาก็มักจะขโมยไปแอบอ้างเป็นผลงานของตนเองได้เสมอ 

อาจกล่าวได้อีกอย่างว่านี่คือ “ซอมบี้ไอเดีย (zombie idea)” หมายถึงแนวคิดที่โต้แย้งหักล้างไปไม่รู้กี่ครั้ง แต่ก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดซ้ำๆ อย่างไรก็ตาม การมีหุ่นฟางไว้ให้ตีเป็นประจำทุกปีก็อาจถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้เรามีโอกาสฝึกซ้อมหยิบยกมุมมองใหม่ๆ ขึ้นมาหักล้างเพื่อเอาชนะทางความคิด บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 สามารถให้มุมมองกับเราเพื่อหักล้างแนวคิด “ชิงสุกก่อนห่าม” ได้เช่นกัน

บันทึกทูตญี่ปุ่นขนาดสั้นแต่ทรงคุณค่าของยาสุกิจิ ยาตาเบะ เขียนขึ้นตอนที่เขาเป็นอัครราชทูตสัญชาติญี่ปุ่นประจำประเทศสยามที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2471 – 2479 ซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามพอดี ในฐานะผู้สังเกตการณ์เพื่อแจ้งข่าวสถานการณ์ทางการเมืองของสยามให้ทางการญี่ปุ่นทราบ ยาตาเบะบันทึกได้พรรณนาและวิพากษ์วิจารณ์การเป็นไปของสังคมการเมืองของประเทศสยามช่วงก่อนการปฏิวัติไว้อย่างละเอียด

ยาตาเบะเล่าว่า ในยามที่สยามประสบวิกฤติทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก หรือ ‘The great depression’ ในปี พ.ศ. 2473 ทำให้เกิดความต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประชาชน ความต้องการปฏิรูปประเทศแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในระบอบที่ปิดปากประชาชน ตามทัศนะของเขา ประเทศสยามไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ หากคณะราษฎรไม่มีการกระทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระดับรากฐาน ซึ่งเขาได้แสดงทัศนะในบันทึกว่า

“ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับการฝึกฝนทางการเมือง ไม่มีอิสรภาพในการพูด ฉะนั้นการอาศัยวิธีการปฏิรูป … รอไปอีกหนึ่งร้อยปีก็ไม่มีทางสำเร็จ … จึงไม่มีวิธีการใดนอกจากการลุกขึ้นกระทำการโดยตรงและขับไล่ขุนนางอนุรักษ์นิยมสุดขั้วให้ออกจากตำแหน่ง”

มุมมองของต่อ “ข่าวลือ”

ในช่วงที่ผ่านมา “ข่าวลือ” มักเป็นประเด็นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือเกี่ยวกับการรัฐประหาร ข่าวลือเกี่ยวกับการยุบสภา รวมไปถึงข่าวลือเกี่ยวกับอาการพระประชวรของกษัตริย์หรือสมาชิกราชวงศ์ ทุกครั้งที่มีข่าวลือ การพูดถึงเงื่อนไขที่ทำให้เกิดข่าวลือขึ้นจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่บ่อยครั้ง มุมมองที่มักถูกพูดถึงบ่อยคือมุมมองของธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่เขาพูดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เขากล่าวว่า

“…ในประเทศเผด็จการอาจมีข่าวลือว่าผู้นำประเทศตายเพราะไม่ปรากฏตัวให้เห็น มันแสดงว่าคุณไม่มีข้อมูล สังคมมันเป็นสังคมปิด คุณมีข้อมูลไม่ถึง เพราะฉะนั้นไอ้ข่าวลือนี่ ยิ่งสังคมคุณปิดมากเท่าไหร่ คุณไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีข่าวลือมากขึ้น”

นอกจากนี้สำหรับธเนศแล้ว การนินทายังเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนผู้ถูกกดขี่เอาไว้ใช้จัดการกับความรู้สึกไม่มั่นคงเวลาถูกกดขี่ไม่เชื่อใจชนชั้นนำ:

“มนุษย์นั้นอย่างที่ผมบอก มันอยากที่จะควบคุมอยากจัดการกับความไม่มั่นคง ไม่ว่าความไม่มั่นคงที่ว่าจะเกิดจากอะไร เช่น การกดขี่กดดันของชนชั้นสูง ก็นำไปสู่สภาวะแบบหนึ่งคือ conspiracy theory (ทฤษฎีสมคบคิด) เป็นรูปแบบหนึ่งของข่าวลือ เช่น คุณเชื่อว่ามีแผนปฏิบัติการลับบางอย่างอยู่เบื้องหลัง กรอบแบบนี้มีลักษณะของ populist หรือ ประชานิยมเต็มตัวในแง่ที่ว่า คุณไม่เชื่อมั่นและก็ไม่ไว้ใจชนชั้นอีลีท (elite) ทำนองว่า เฮ้ย มึงอย่ามาหลอกกูให้ยาก กูก็ไม่ได้โง่ ชาวบ้านก็มีภูมิปัญญาโว้ย”

ทัศนะเหล่านี้สะท้อนอยู่ในเหตุการณ์ช่วงก่อนการปฏิวัติ 2475 เช่นกัน แม้ก่อนหน้านี้จะมีการทุจริตฉ้อฉลในรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์อยู่แล้ว แต่เนื่องจากเศรษฐกิจและประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ กรณีการทุจริตเหล่านี้จึงไม่ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านมากนัก แต่เนื่องจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในสยาม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงเริ่มซุบซิบนินทาข่าวลือเกี่ยวกับการทุจริตของชนชั้นนำมากขึ้น ซึ่งบันทึกของเขายาตาเบะบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมตั้งข้อสังเกตเอาไว้ได้อย่างแหลมคม

“เสนาบดีที่เป็นเจ้านายบางพระองค์ ได้ปรากฏข่าวลือว่ามีการใช้ตำแหน่งเสนาบดีแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และผู้เขียนเคยได้ยินว่า มีคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่เหมาะสมกับประเทศสยาม ซึ่งเจ้านายบางพระองค์ได้พยายามผลักดันนโยบายที่แปลกใหม่นั้นเพื่อความพึงพอใจของตนเองเป็นสำคัญ และไม่สนใจการสูญเสียผลประโยชน์ของประชาชน ข่าวลือประเภทนี้เราไม่สามารถหาหลักฐานได้ในทุกกรณี แต่เรื่องทำนองนี้ก็มีความสำคัญอยู่ที่ว่า การปรากฏข่าวลือนั้น แสดงถึงความไม่พอใจของประชาชนต่อการปกครองของเจ้านาย มากกว่าจะเป็นประเด็นว่า ข่าวลือนั้นมีความเป็นจริงหรือไม่”

หลังปฏิวัติ 2475

ความพิเศษของบันทึกของยาสุกิจิ มิได้อยู่ที่การบันทึกเหตุการณ์ก่อนปฏิวัติ 2475 เพียงอย่างเดียว เขาได้อธิบายความเป็นไปหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบใหม่เอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกษัตริย์อย่างถึงรากจนอาจทำให้เกิด “ช่องว่างที่ประสานได้ยากในโอกาสต่อระหว่างผู้นำคณะราษฎร กับฝ่ายพระมหากษัตริย์และเจ้านายส่วนหนึ่ง”

นอกจากนี้ ยาสุกิจิยังวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะราษฎรว่า “ไม่ค่อยเป็นรูปธรรมมากนัก” และกลายเป็นระบอบ “คณาธิปไตย” เอาไว้อีกด้วย บันทึกของยาสุกิจิสิ้นสุดลงหลังพระยาพหลพลพยุหเสนาประกาศยึดอำนาจรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ที่พยายามฟื้นฟูอำนาจระบอบกษัตริย์ด้วยการสั่งปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และขับไล่คณะราษฎรฝ่ายหัวรุนแรงออกไปก่อนหน้านี้

 เอกสารชั้นต้นชิ้นนี้นับเป็นบันทึกที่มีความน่าสนใจ ซึ่งช่วยให้เราเห็นรุ่งอรุณแห่งยุคประชาธิปไตยในวัยแรกแย้มของสยามมากยิ่งขึ้น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทั้งฝ่ายกษัตริย์และคณะราษฎรทำให้ผู้อ่านได้เห็นความจำเป็นของการปฏิวัติและความผิดพลาดทางการเมืองของคณะราษฎรไปพร้อมกัน โดยผ่านสายตาของทูตผู้สังเกตการณ์ที่สามารถวิเคราะห์การเมืองได้อย่างแหลมคม

แม้จะเป็นการมองสยามในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านสายตาของทูตญี่ปุ่น แต่บันทึกของทูตญี่ปุ่นฉบับนี้ถูกนำเอาอ้างอิงในงานชิ้นสำคัญหลายชิ้น เช่น การปฏิวัติสยาม 2475 ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ A cultural explanation of the 1932 political change in Siam : power of narration and national identity in Thai politics ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นต้น

หากคุณเชื่อในการเติบโตทางปัญญา และมองว่าการปฏิวัติ 2475 มีแง่มุมที่น่าสนใจอื่นๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วิธีการเดียวที่ทำได้คือการตีความเหตุการณ์ใหม่ เรื่องราวในอดีตเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมตีความมันใหม่ได้เสมอ และจุดเริ่มต้นของการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ ก็อาจเริ่มจากการมองหาและอ่านหลักฐานชั้นต้นดีๆ สักชิ้น โดยหวังว่าหลักฐานชั้นต้นเหล่านี้อาจเปิดโอกาสให้คุณเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า