ประวัติศาสตร์ของทุกคน ตอนที่ 4 : ‘เล่าให้ลูกฟัง’ บันทึกข้าราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

4 มิถุนายน 2564
‘เล่าให้ลูกฟัง’ เป็นบันทึกเกี่ยวกับประวัติชีวิตของพระยาสัจจาภิรมย์ อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) โดยเหล่าลูกๆ ของท่านจากการซักถามผู้เป็นบิดา ใช้เวลารวม 7-8 เดือนในการบันทึกเรื่องราวจากคำพูดลงในสมุด เพื่อให้ “เป็นโอกาสให้ลูกหลานคนหลังๆ ได้รับความรอบรู้ในประวัติของปู่ ย่า ตา ยาย ของตนไว้ ดีกว่าจะเล่าต่อๆ กันไป”  แต่ก็คงไม่นึกว่าเรื่องเล่าประวัติตระกูลและการทำงานของพระยาสัจจาที่เชื่อมสายใยระหว่างผู้เป็นบิดาและบุตรนี้ จะกลายเป็นบันทึกที่ทรงคุณค่าสำหรับนักประวัติศาสตร์(ผู้ไม่ใช่บุตร)ในเวลาต่อมา

เกริ่นประวัติกันเล็กน้อย พระยาสัจจาภิรมย์ อุดมราชภักดี เป็นบุตรพระยาพิบูลสงคราม (จอน) พระยาสัจจาภิรมย์เข้ารับราชการในสมัย รัชกาลที่ 6 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 7 ในระหว่างนั้น พระยาสัจจาภิรมย์ได้ทำงานในหลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองอุทัยธานี ชลบุรี ชุมพร และพระนครศรีอยุธยา แล้วจึงเข้ามาเป็นข้าราชการในกรุงเทพฯ รวมอายุราชการมากกว่า 30 ปีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะซ้อมรบเสือป่าที่ค่ายหลวงจังหวัดราชบุรี

ตลอดระยะเวลาแห่งการรับราชการนั้น พระยาสัจจาภิรมย์ได้ออกว่าราชการ สืบสวนสำนวนคดีความ เข้าร่วมกองเสือป่า ตามเสด็จรับใช้พระมหากษัตริย์และเหล่าเจ้านาย ต้องพานพบทั้งความสุขและความทุกข์ รวมทั้งอุปสรรคมากมายในวงราชการของระบอบศักดินา ยามที่คนยังคงไม่เท่ากัน ดังจะเห็นได้จากความตอนหนึ่ง เมื่อพระยาสัจจาภิรมย์ดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ได้ประสบปัญหาขัดแข้งขากับหลวงวิชิตภักดี (ม.ร.ว. กล่ำ) สรรพากรมณฑลเป็น “ผู้ที่ประจบประแจงเก่ง” โดยแต่เดิมเมืองฉะเชิงเทราได้ขึ้นกับมณฑลปราจิณ(ปราจีนบุรี) โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์หรือ เสด็จในกรมฯ เป็นข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาล ครั้นเสด็จในกรมฯ ประชวรประทับที่วังมักกะสันในกรุงเทพฯ อำนาจเต็มในการบังคับบัญชาจึงตกอยู่กับพระยาสัจจาภิรมย์ผู้เป็นตำแหน่งเจ้าเมืองตามลำดับหน้าที่ แต่ความไว้ซึ่งอำนาจกลับทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องหมางใจกันเมื่อมีปัญหาเรื่องพระคัลงข้างที่ขึ้น โดยพระยาสัจจาภิรมย์ได้บันทึกเอาไว้ว่า

“ครั้นเมื่อสมัยพ่อเป็นเจ้าเมืองเวลานั้น  เสด็จในกรมฯ ประชวรประทับที่วังมักกะสัน รับสั่งไว้ว่า เรื่องที่เกี่ยวกับพระคลังข้างที่ ถ้าพ่อจะสั่งการอย่างใดให้ปรึกษากับพระยาจ่าแสนย์ (เวลานั้นเป็นพระสุนทรพิพิธ อัยการมณฑล) และให้เสนอในที่ประชุม ที่ท่านสั่งเช่นนี้ก็เพราะตามระเบียบการธรรมดา พ่อเป็นผู้แทนพระองค์ท่าน เมื่อมิได้อยู่บัญชาการจะโดยประชวรหรือเสด็จไปกิจการ ณ ที่อื่น พ่อย่อมมีอำนาจสั่งการงานในหน้าที่เทศาฯ ได้ทุกอย่าง ท่านจึงเกรงว่าพ่อจะสั่งการผิดๆ ถูกๆ จึงกำชับไว้เฉพาะเรื่องของพระคลังข้างที่ ในระหว่างนี้ก็มีเรื่องพระคลังข้างที่ดูเหมือนเรื่องเรียกแป๊ะเจี๊ยะตลาดแผงลอย พ่อก็ได้ปรึกษากับพระยาจ่าแสนย์ฯ … ก็ยอมทำตามความคิดเห็นของพ่อทุกอย่าง ส่วนหลวงวิชิตภักดีเข้าใจว่าพ่อสั่งไปโดยพลการ จึงทูลฟ้องเสด็จในกรมฯ ทราบ เสด็จในกรมฯ กริ้วพ่อเสียยกใหญ่โดยหาว่าอวดดี พ่อเห่อเหิมอยากจะเป็นเทศาเสียเอง … เลี้ยงมายังกำเริบฝ่าฝืนคำสั่งได้ และตรัสอะไรๆ อีกจำไม่ได้ พ่อก็นิ่งฟังอยู่ ตามธรรมดาในกรมฯ ทรงกริ้วใครแล้วเถียงไม่ได้ เพราะยิ่งเถียงยิ่งหนักขึ้น ตามขัตติยมานะ”

ด้วยความที่ต้องทำงานในระบบราชการที่มีทั้งลูกเจ้าขุนมูลนายและเชื้อพระวงศ์ การ “ขัดใจเจ้า” ก็เป็นเรื่องราวปกติธรรมดาที่ข้าราชการ ‘เลือดสีแดง’ ต้องประสบ ในบันทึกเราจะเห็นการวิจารณ์อย่างออกรสออกชาติของพระยาสัจจาภิรมย์อยู่หลายตอน อย่างเมื่อ “ครั้งหนึ่งที่ได้เห็นพวกเจ้าพูดจาไว้อำนาจ ดูหมิ่นคนอื่นประหนึ่งเป็นพวกไพร่ โดยคิดว่าตัวของตัวนี่มันเขื่องเสียเต็มที” หรือแม้แต่การทำงานในระบบราชการเช่นนี้ การถูกเบียดบียนด้วย “ตั๋วเลือดน้ำเงิน” จนทำให้ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นในตำแหน่งหน้าที่การงานเพราะเส้นสายเชื้อพระวงศ์ก็มีให้เห็น  เพราะ “ถ้าพูดกันอย่างสั้นก็คือพวกเจ้าเห็นแก่พวกของตัว ทำอะไรมักทำเล่นตามใจตนไม่คิดถึงหลักการและวิทยาการใดๆ ทั้งนั้น”

พระยาสัจจาภิรมย์ อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ)

                                                     

ด้วยความเถรตรงและไม่ชอบการถูกเอารัดเอาเปรียบ พระยาสัจจาภิรมย์จึงต้องถูกโยกย้ายและพบอุปสรรคในงานราชการระหว่างเจ้านายและข้าราชการเสมอ กลายเป็นระบบที่มิได้เติบโตตามความสามารถแต่ตามสายเลือด ผลิดอกออกเป็นผลลัพธ์ให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาถึงยุคโรยรา ดังในบันทึกของพระยาสัจจิภิรมย์ได้เตือนไว้ว่า

“ถ้าบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ไม่ช้าก็ฉิบหาย เพราะพวกถือชั้น วรรณะ เหยียดหยามคนจนเล่นพวกเล่นพ้องเช่นนี้” จนกระทั่งตนได้มีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นจริง ๆ โดยคณะราษฎรใน พ.ศ. 2475  ขณะเดียวกัน พระยาสัจจาภิรมย์ก็ได้ทำงานในวงการการเมืองในระบอบใหม่ต่อมาจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกไปจากเรื่องราวการเมืองในระบบราชการแล้ว ในบันทึกของพระยาสัจจาภิรมย์ยังมีความน่าสนใจในด้านการอธิบายวิถีชีวิตสังคมในสมัยนั้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น เส้นทางเดินรถเมล์ ธรรมเนียม การทำงานของข้าราชการ การรักษาพยาบาล อาหารการกิน วิถีชีวิต ภูมิประเทศของแต่ละจังหวัด กิจการงานรื่นเริ่ง หรือแม้แต่การใช้สำนวนภาษาในสมัยนั้นก็น่าสนใจเช่นกัน เรื่องราวบันทึกของพระยาสัจจาภิรมย์นับว่าเป็น “ไดอารี่” โดยแท้ ซึ่งมีคุณูปการต่อวงการประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวทาง ‘ประวัติศาสตร์สังคม’ (Social history) กล่าวคือ แต่เดิมการศึกษาประวัติศาสตร์มักผูกขาดอยู่กับเอกสารราชการและชนชั้นนำ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ซึ่งความมีชีวิตชีวา ขาดมิติด้านความหลากหลาย และไม่สามารถฉายภาพที่แท้จริงของสังคมโดยรวมซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนต่างชนชั้นและความซับซ้อนได้

การศึกษาประวัติศาสตร์จากวิถีชีวิตและคำบอกเล่าผ่านบันทึกของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมทำให้เราเห็นสภาพสังคมผ่านความรู้สึกนึกคิดของคนปกติธรรมดาและเข้าถึงได้ง่ายกว่าเอกสารทางราชการ อีกทั้งยังทำให้เราเห็นภาพของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้จากอีกมุมของอดีต บันทึกของพระยาสัจจาภิรมย์จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่งในยุคระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทุกๆ คนสามารถสนุกกับชิ้นส่วนเล็กๆ ของประวัติศาสตร์ได้โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยให้นักประวัติศาสตร์สนุกอยู่ฝ่ายเดียว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า