นโยบายรัฐบาลไทยต่อผู้ลี้ภัยต้องเปลี่ยน! อย่าให้คำว่า “โอบอ้อมอารี” เป็นเพียงแค่ “คำขวัญ”

21 มิถุนายน 2565

“สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้คือพลังของสังคม อย่าเชื่อว่าเราคนเดียวทำอะไรไม่ได้ การช่วยกันรณรงค์สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลได้ เราอยากเห็นประเทศไทยที่ไม่สนใจโลก เอาแต่ตัวเราเองรอดก็เพียงพอ หรือเราอยากเห็นประเทศไทยที่คำว่าโอบอ้อมอารีไม่ใช่เป็นแค่คำขวัญ แต่เป็นการปฏิบัติจริงด้วย”

“เราอยากภูมิใจในความเป็นไทย ที่กระตือรือร้นและเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ข้ามพรมแดน หยิบยื่นมือให้ความช่วยเหลือเคียงข้างผู้ทุกข์ยากในวันที่เขามีปัญหา ยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างสง่างาม กระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาพร้อมประชาคมโลก เป็นผู้นำอาเซียนด้วยการยึดถือจุดยืนเหล่านี้ เป็นเสาหลักที่มั่นคงของประชาคมโลกในการปกป้องประชาธิปไตย”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวในงาน “วันผู้ลี้ภัยโลก” ที่ คณะก้าวหน้า ร่วมกับ องค์กรพันธมิตรด้านผู้ลี้ภัย ได้แก่ Fortify Rights, APHR (องค์กรสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน) และสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น

ในงานยังมีนิทรรศการภาพ และการเสวนาในหัวข้อ “วิกฤติที่มองไม่เห็น: สถานการณ์ผู้หนีภัยชายแดนไทย-เมียนมา หลังรัฐประหาร” ร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ล่าสุดของผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทย และการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายผู้ลี้ภัยของรัฐไทย



“ธนาธร” ปลุกร่วมรณรงค์ หวังรัฐบาลไทยเปลี่ยนนโยบายต่อผู้ลี้ภัย

ธนาธร กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้โลกของเราจะก้าวมาสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่สถานการณ์ผู้ลี้ภัย ที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเพียงเพราะความแตกต่างด้านความเชื่อ ศาสนา เชื้อชาติ และสีผิว ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก บ่อยครั้งผู้ลี้ภัยต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงถึงชีวิต ทั้งจากการเดินทางและจากการปฏิบัติของรัฐ เช่น ในกรณีของโรฮีนจา ที่ต้องกลายเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์โดยเจ้าหน้าที่กองทัพเอง และการสร้างความเกลียดชังอย่างเป็นระบบโดยรัฐไทย ที่ทำให้คนไทยจำนวนมากนิ่งเฉยต่อชะตากรรมของชาวโรฮีนจา ที่ต้องถูกฆ่านำไปฝัง หรือปล่อยทิ้งกลางทะเล หากไม่มีเงินจ่ายให้เจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ลี้ภัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เราเห็นว่าโลกนี้ยังมีความหวัง เมื่อบรรดารัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งพลเมืองของประเทศต่างๆ ในยุโรป ต่างกางแขนต้อนรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนและให้สถานะแก่พวกเขา ซึ่งขณะที่คนไทยหลายคนชื่นชมยินดีเรื่องราวนี้ แต่กลับไม่มีใครรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่พรมแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

ประธานคณะก้าวหน้า ให้ข้อมูลว่า หลังการรัฐประหารในเมียนมา และการปะทะสู้รบ การโจมตีทางอากาศ ทำให้เกิดคลื่นผู้หนีภัยที่พยายามข้ามพรมแดนหาที่พักพิงชั่วคราวจำนวนมาก และสิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาเหล่านั้นถูกผลักดันกลับไป การช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากนโยบายเกี่ยวกับผู้หนีภัยอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ขณะนี้มีคนที่อาศัยพักพิงอยู่ตามพรมแดน ในเขตป่าตามเขาริมแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินตามยถากรรม เข้าไม่ถึงอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค

ตัวเลขเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา องค์กรสหประชาชาติสำรวจพบว่า ผู้หนีภัยจากสถานการณ์ในเมียนมามีจำนวนถึง 1.038 ล้านคน อพยพไปต่างประเทศกว่า 980,000 คน โดยในจำนวนนั้นอยู่ในประเทศไทยถึง 96,000 คน

“ในฐานะคนธรรมดา เราสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ ตั้งแต่การบริจาคบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการรณรงค์ทางการเมือง ให้ประเทศไทยเปลี่ยนนโยบาย รวมทั้งการรณรงค์เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เพราะสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ รวมถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในขณะนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ดังที่ มินอ่องลาย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หากนายกรัฐมนตรีไทยไม่ใช่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาจะไม่ทำรัฐประหาร เพราะมินอ่องลายเชื่อว่าประยุทธ์จะให้การสนับสนุนและจะมีนโยบายในการผลักดันผู้ลี้ภัยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

และนี่คือเหตุผลที่ ธนาธร ออกมาเชิญชวนประชาชนช่วยกันรณรงค์ ส่งเสียงไปถึงรัฐบาลไทยว่าต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อผู้ลี้ภัย ต้องโอบแขนเข้าช่วยเหลือ ไม่ใช่ผลักดันกลับหรือปล่อยให้ต้องเผชิญกับยถากรรมอย่างที่เป็นอยู่


ผู้ลี้ภัยตกค้างนับพันที่ ตม.สวนพลู รันทดต้องกินข้าวโครงไก่ทุกวัน

ขณะที่ในวงเสวนา มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจ กรณีผู้ลี้ภัยจากวิกฤตในประเทศเมียนมาเข้ามาขอความช่วยเหลือประเทศไทย ขาดแคลนของของบริโภคที่จำเป็น บางส่วนถูกผลักดันกลับไปเผชิญชะตากรรมสุดรันทด นอกจากนี้ยังถูกทหารบล็อกไม่ให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าช่วยเหลือด้วย

กรกนก วัฒนภูมิ จากองค์กร Fortify Rights ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การรัฐประหารและการปะทะระหว่างกองทัพของรัฐบาลและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยระบุว่าที่ผ่านมาหลังเหตุปะทะ ผู้หนีภัยสงครามจำนวนมากได้มีความพยายามข้ามฝั่งมาขอที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทย โดยมีทั้งชาวบ้านที่หนีมาเป็นกลุ่ม และผู้ลี้ภัยที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในเมียนมา

โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้ลี้ภัยต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตัวเอง เนื่องจากมีการผลักดันกลับโดยกองทัพ ทำให้จำนวนมากต้องตั้งเพิงพักพิงอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน ทั้งหมดต่างอยู่ในสภาพขัดสนทั้งอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ความช่วยเหลือที่ส่งไปได้ต้องอาศัยช่องทางที่ไม่เป็นทางการ แม้จะมีความพยายามข่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ก็มีการสกัดขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ฝั่งไทย โดยเฉพาะกองทัพ

นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปทั่วทั้งแนวชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้ง จ.เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ไปจนถึง จ.ระนอง เช่น การจับตัวส่งเข้าค่ายกักกันของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก่อนการส่งตัวกลับไปเผชิญชะตากรรมที่ฝั่งเมียนมา เป็นต้น

“รัฐไม่มีกระบวนการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ แต่ละจังหวัดดำเนินการไม่เหมือนกัน ไม่มีระบบที่จะทำให้ผู้หนีภัยสามารถบอกเล่าสภาพความเป็นจริงของชีวิตเขาได้ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกซุกอยู่ใต้พรม และยังมีอุปสรรคอย่างมากในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยที่อยู่ในฝั่งไทยแล้ว หรือผู้พลัดถิ่นที่อยู่ในฝั่งพม่า ไม่มีการคัดกรองว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือเป็นแรงงานข้ามชาติ ทุกคนถูกเหมารวมว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย”

กรกนก กล่าว

ขณะที่ “โต้ง” ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดง ที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยโดยใช้ทรัพยากรส่วนตัวมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ตัวเองประสบมา โดยระบุว่า หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าที่กลางกรุงเทพมหานครนี้เอง มีผู้ลี้ภัยที่ตกค้างถูกกักขังอยู่ในค่ายกักกันของ ตม. ตรงซอยสวนพลูหลายพันคน

ศักดิ์ดา บอกว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มาจากหลากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก เช่น ชาวอุยกูร์ ชาวเวียดนาม โดยความเชื่อว่าสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยในประเทศไทยจะให้การช่วยเหลือพวกเขาได้ แต่กลับกลายเป็นว่าผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ที่หวังพึ่งความช่วยเหลือดังกล่าว กลับต้องถูกกักขังอยู่ภายในค่าย บางคนอยู่มานานถึง 17 ปี หลายคนต้องเสียชีวิตอยู่ในค่าย โดยเฉพาะคนที่ยื่นขอสถานะในการเดินทางไปประเทศที่สามไม่ผ่านเป็นครั้งที่สาม และจะไม่สามารถขอสถานะได้อีก มีทางเลือกเพียงแค่การถูกส่งกลับไปเผชิญความตาย หรือยอมโดนขังอยู่ในค่าย ตม. ตลอดชีวิต

“จากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัย พบว่าสภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายกักกันนั้นเปรียบได้ดั่งคอกสัตว์ อาหารการกินส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงข้าวกับแตงกวาและโครงไก่ซ้ำไปซ้ำมา จนหลายคนต้องเผชิญภาวะขาดสารอาหาร หลายคนต้องขอร้องให้ตัวเองส่งอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของแตงกวากับโครงไก่มาให้”

ศักดิ์ดา กล่าว

ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของศักดิ์ดาที่ผ่านมา การที่ได้ส่งผู้ลี้ภัยหลายคนไปยังประเทศที่สามได้สำเร็จ ส่วนใหญ่ก็อาศัยทรัพยากรและสัมพันธ์ส่วนตน ดังนั้น สิ่งที่เขาตั้งคำถามคือ เหตุใดองค์กรใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ที่เป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค และยังมีสำนักงานอยู่ภายในค่าย ตม. ซอยสวนพลูเองด้วย กลับไม่สามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ และตลอดเวลาที่ตัวเองเข้าไปช่วยเหลือ ยังถูกสกัดขัดขวางให้ทำงานไม่สะดวก

“หลายคนต้องยอมโดนขังอยู่ใน ตม. ตลอดชีวิต ออกมาไม่ได้ ถ้าหาประเทศที่สามไปไม่ได้ นี่คือปัญหาว่าถ้าองค์กรใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยไม่ช่วยเขาจะไปได้อย่างไร โดนปฏิเสธเกือบหมดเลย ผมจึงริเริ่มใช้วิธีติดต่อสถานทูตต่างๆ ที่เขาอยากจะไป แล้วหลายกรณีก็สำเร็จ มันจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าองค์กรใหญ่ที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยโดยตรงทำไมแทบจะส่งผู้ลี้ภัยไปไม่ได้เลย แต่ทำไมผมที่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในองค์กรใดๆ เลย ทำไมผมถึงส่งไปได้?”

เป็นเสียงสะท้อนที่เต็มไปด้วยความประหลาดใจของศักดิ์ดา


ทั้งกรณีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ทั้งกรณีผู้ลี้ภัยอีกหลายชาติที่ติดค้างอยู่ที่ค่ายของ ตม. คือสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ

นี่คือเรื่องของความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ คือสิ่งที่เหนือกว่าเรื่องความมั่นคงหรือพรมแดนใดๆ ไม่อาจเป็นเครื่องกีดขวางได้เลย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า