
“ทุกวันนี้เรามีปัญหาในเรื่องการทำงาน เราถูกหน่วยตรวจสอบไล่บี้จนไม่กล้าที่จะทำอะไรเกินกว่าที่หนังสือสั่งการระบุ แม้จะมีกฎหมายจัดตั้งให้อำนาจในการทำหน้าที่ แต่พอทำแล้วถูกบี้ บางครั้งถูกเรียกเงินคืน ถูกชี้มูล มีความผิดทางอาญาวินัยร้ายแรง ก็ทำให้ข้าราชการท้องถิ่นไม่กล้าทำอะไร และก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้บริหารท้องถิ่น”
เป็นเสียงสะท้อนจาก พิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย หรือ “ป.พิพัฒน์” พูดถึงความรู้สึกอึดอัดของบรรดา “ข้าราชการและลูกจ้างท้องถิ่น” ที่ปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ติดล็อกเต็มไปหมด ทำให้ข้าราชการท้องถิ่นซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัตินั้นกระดิกตัวทำอะไรแทบไม่ได้
ผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายกเทศมนตรีเทศบาลต่างๆ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เหล่านี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องการการทำงานในลักษณะที่รวดเร็ว เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อที่จะทำโครงการตามนโยบายที่ตัวเองเคยหากเสียงไว้และประชาชนเลือกเข้ามา แต่พอจะมาร่วมขับเคลื่อนกับบรรดาข้าราชการท้องถิ่น ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ก็กลายเป็นว่าติดกรอบสารพัด และนี่เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน
พิพัฒน์ บอกว่า ข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น เรื่องการเอา อำนาจ งาน เงิน และคนมาให้กับ อปท. เป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ข้าราชการท้องถิ่นได้อย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของอำนาจหน้าที่ หากรัฐธรรมนูญระบุเพียงแค่ข้อยกเว้นที่ท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ ส่วนที่เหลือในเรื่องของการจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ การบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนต่างๆ ในพื้นที่สามารถทำได้หมด ก็จะทำให้ข้าราชการทำงานได้สบายใจขึ้น ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และดูแลพี่น้องประชาชนได้เต็มที่ร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น
“วันนี้จะทำอะไร ข้าราชการท้องถิ่นเราต้องไปเปิดดูว่ากฎหมายมีอำนาจให้ทำหรือไม่ ซึ่งบางครั้งก็เขียนกำกวม และความเข้าใจหรือการตีความของเรากับหน่วยตรวจสอบอย่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ก็คนละเรื่องกัน ตีความกันคนละแบบ ทำให้ข้าราชการท้องถิ่นค่อนข้างเหนื่อยหน่าย ขณะที่ผู้กำกับดูแลเองอย่างนายอำเภอรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อเห็นท้องถิ่นถูก สตง.ไล่บี้ ก็มักจะไปเข้าข้างทางหน่วยตรวจสอบนั่นอีกด้วย”
พิพัฒน์ กล่าว
นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย บอกด้วยว่า เรื่องขององค์กรที่มาบริหารงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ของทั้งข้าราชการและลูกจ้างท้องถิ่น ที่เรียกกันว่าองค์กร “ก.” ต่างๆ นั้นก็มีปัญหา องค์กรซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหา บรรจุแต่งตั้ง พัฒนาบุคคลากร การให้ออกจากข้าราชการ ฯลฯ ปัจจุบันนี้ผูกติดกับข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งๆ ที่บริบทของแต่ละท้องถิ่นนั้นต่างออกไป
“การเอาหลักเกณฑ์ของข้าราชการพลเรือนมาทาบข้าราชการท้องถิ่น ทำให้เรื่องการพัฒนาถูกควบคุมโดยส่วนกลาง ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ท้องถิ่นต้องการ หรือเอาไปแก้ปัญหาประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งการที่จะพัฒนาให้ข้าราชการท้องถิ่นให้ก้าวหน้าไปกว่าที่ข้าราชการพลเรือนก็ไปไม่ถึงไหน เพราะถูกข้าราชการพลเรือนครอบไว้ การเจริญเติบโตถูกกดทับไว้ ด้วยคำว่าต้องไม่ก้าวหน้าไปกว่าข้าราชการพลเรือน ทั้งๆ ที่โดยเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่รับรองหลักเรื่องการกระจายอำนาจไว้ ต้องการให้ข้าราชการท้องถิ่นนั้นมีทิศทางการเจริญเติบโตที่ก้าวหน้า ทั้งหน้าที่ และค่าตอบแทนที่เหนือกว่าข้าราชการพลเรือน เพื่อที่จะจูงใจให้คนเก่งๆ เข้ามาสู่ อปท.”
พิพัฒน์ กล่าว
เพราะการทำงานในท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่นจะเจอแรงปะทะถึง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น 1.ฝ่ายการเมือง ซึ่งก็คือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 2.องค์กรผู้กำกับดูแล และ 3.ประชาชน ดังนั้น การออกแบบเรื่องสิทธิ เรื่องการเจริญเติบโตก้าวหน้า เรื่องค่าตอบแทนของข้าราชการท้องถิ่นจึงเหนือกว่าข้าราชการพลเรือน เพราะจะเป็นการจูงใจให้ให้คนเก่งๆ จากกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ได้ออกมาทำงานในท้องถิ่น มีความพยายามให้ข้างราชการได้กลับไปอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง หากแต่ปัจจุบัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ลดลงจนเกือบจะไม่มีแล้ว ทั้งยังถูกกดทับด้วยข้าราชการพลเรือนเสียอีก
เอาแค่เรื่องเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของข้าราชการท้องถิ่นก็ยังมีไม่เท่ากับข้าราชการพลเรือน ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการโยกย้ายข้าราชการในระดับ C เดียวกัน ข้าราชการท้องถิ่นย้ายไปเป็นข้าราชการพลเรือน จะไปอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่า แต่หากข้าราชการพลเรือนโยกย้ายมาเป็นข้าราชการท้องถิ่นจะอยู่ในลำดับที่สูงกว่า เป็นต้น
นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข คือสิ่งที่ต้องปลดล็อก ซึ่งทำให้ พิพิฒน์ ในฐานะนายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย มาร่วมกับคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล เป็น 1 ใน 22 ผู้เชิญชวนประชาชน เข้าชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น
พิพัฒน์ บอกว่า สิ่งที่เราอยากเห็น คือต้องการให้การบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของข้าราชการพลเรือน เพราะสภาพปัจจุบันคนที่มาทำหน้าที่นี้ในส่วนของ คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ที่มีรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก ในฐานะเลขาธิการนั้น มักถูกใช้เป็นเพียงตำแหน่งผ่านจากรองอธิบดีไปสู่การเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด บางคนมาไม่กี่ปีก็ไป บางคนไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ก็เลยทำให้ไม่ได้สนใจปัญหาของข้าราชการอย่างจริงๆ จังๆ
“เราจึงเสนอว่า คนที่จะมารับผิดชอบเป็นหลักในการดูแลข้าราชการท้องถิ่นรวมถึงลูกจ้างท้องถิ่นที่มี เกือบ 5 แสนคน ทั่วประเทศนั้น ต้องเป็นคนที่มีใจที่จะอยู่ตรงนี้จริงๆ และทำเพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจริงๆ และจะต้องไม่คิดว่ามาเพื่อจะไปสู่ตำแหน่งอื่น ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ เลขาธิการฯ ที่นี่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ การบริหารงานบุคลลากรข้าราขการและลูกจ้างท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาต่างๆ ก็จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และตรงจุด”
พิพัฒน์ กล่าว
และนอกจากนี้ ในส่วนของกรรมการที่เป็นตัวแทนของ 3 ฝ่าย ที่เรียกกันว่าไตรภาคี ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ, ตัวแทนส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง, ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องนั้น ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ พิพัฒน์บอกว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่ผ่านมาที่เอาข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่เกษียณแล้วมาทำหน้าที่ เพราะแทนที่จะก้าวหน้า เป็นแบบสมัยใหม่ กลายเป็นว่ากลับไปมีแนวคิดที่กดทับไม่ให้ข้าราชการท้องถิ่นเติบโต
เหล่านี้คือปัญหาบางส่วนที่ “ข้าราชการและลูกจ้างท้องถิ่น” เผชิญอยู่ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ปลดล็อกการทำงานของข้าราชการท้องถิ่น ที่มีศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกับข้าราชการพลเรือน
🔏ร่วมลงชื่อปลดล็อกท้องถิ่นที่จุดลงชื่อทั่วประเทศ 📲หรือทางออนไลน์ที่ : https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization