คืนอำนาจให้ท้องถิ่น ความหวังอยู่ที่ประชาชน ( คืนอำนาจท้องถิ่น ตอนที่ 3 )

25 พฤษภาคม 2565



จาก 2 ตอนที่ผ่านมา “ซีรีส์คืนอำนาจท้องถิ่น” กับ อาจารย์วีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการด้านการคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น น่าจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้นว่าตลอด 3 ทศวรรษ สถานการณ์การกระจายอำนาจของไทยเป็นอย่างไร รวมถึงตอบคำถามที่หลายคนอาจสงสัย ว่าทำไมงบประมาณของท้องถิ่นจึงมีไม่พอ

(อ่านตอนที่ 1 : https://progressivemovement.in.th/article/7362/)
(อ่านตอนที่ 2 : https://progressivemovement.in.th/article/7389/)


เดินทางมาถึงตอนสุดท้าย เพื่อตอบคำถามสำคัญว่า ในเมื่อสารพัดปัญหารุมเร้า หลายเรื่องยังแก้ไม่ได้ การกระจายอำนาจอยู่ในช่วง “ถอยหลังลงคลอง” หลังรัฐประหาร 2557 แล้วแบบนี้ เรายังมีหวังอยู่มั้ย แล้วความหวังนั้นจะมาจากไหน แล้วต้องลงมือทำผลักดันอย่างไร ?

วีระศักดิ์ พูดถึงความหวังของเขาต่อการกระจายอำนาจในประเทศไทย โดยแยกเป็น 3 ส่วน

  1. มองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังมีความหวัง
  2. มองถึงความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ยังมีความหวัง
  3. แต่หากมองที่กลไกของรัฐราชการ รวมถึงทัศนคติ วัฒนธรรม ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังไม่เปิดใจรับท้องถิ่นมากเท่าที่ควร อาจเพราะถูกสร้างมายาคติให้เกิดความเข้าใจผิดมาเนิ่นนาน


ต่อให้โครงสร้างรัฐอาจแก้ไขได้โดยการออกกฎหมาย และเมื่อแก้แล้ว ก็อาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม วิธีคิด หรือการทำงานของคนในกลไกรัฐ แต่เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนต้องใช้เวลา

จากประสบการณ์ที่เคยพูดคุยกับคนจาก 2 ประเทศที่มีบทบาทของท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง แม้รูปแบบรัฐจะแตกต่างกัน คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนไทย และ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสหพันธรัฐ จะเห็นทัศนคติต่อท้องถิ่นที่แตกต่างจากสังคมไทย

  • สำหรับคนญี่ปุ่น เขาให้คุณค่าแก่ทั้ง 2 ส่วน เพียงแต่คนละเวที หากพูดถึงชีวิตประจำวัน ท้องถิ่นต้องมาก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ยกให้รัฐบาล
  • สำหรับคนอเมริกัน ชีวิตของเขาท้องถิ่นมาก่อนเสมอ ส่วนรัฐบาลกลางถูกมองเป็นเรื่องของเกมการเมือง


ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด คือหลักสูตรรัฐศาสตร์ในสหรัฐฯ เทียบกับประเทศไทย หากเรียนด้านบริหารรัฐกิจ (Public Administration) ที่สหรัฐฯ จะพูดถึงบริบทท้องถิ่นมาก่อน ขณะที่ของไทย ถ้าพูดถึงการเมือง พูดถึงรัฐ ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบ เรามักหมายถึงส่วนกลางระดับชาติ สะท้อนถึงความรับรู้หรือทัศนคติของสังคมและระบบการศึกษาที่โน้มเอียงเข้าข้างรัฐบาลกลางและมีนัยยะว่าอคติต่อท้องถิ่น พอมีใครบอกว่าท้องถิ่นขี้โกง ก็ไม่อยากยุ่งแล้ว โดยลืมไปหรือเปล่ารัฐบาลก็ขี้โกงไม่น้อยไปกว่ากัน

ยิ่งข้อมูลข้อเท็จจริงที่ออกมาเรื่อย ๆ เช่น รายงานการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยืนยันตรงกัน สถิติการทุจริตเทียบส่วนกลางกับท้องถิ่น อยู่กันคนละระดับ ในระดับชาติแม้จำนวนกรณีอาจไม่เยอะ เพราะจำนวนหน่วยงานไม่มาก แต่ Volume หรือมูลค่านั้นมหาศาล

นอกจากนี้ การที่คนไทยนึกถึงรัฐมาก่อนท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐซึ่งเป็นฝ่ายที่มีกำลังทรัพยากรสูงกว่า ออกแบบนโยบายให้คนต้องพึ่งพารัฐมากกว่าพึ่งพาท้องถิ่น เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่หลายประเทศ บทบาทรัฐเป็นเพียงผู้กำหนดกรอบนโยบาย ส่วนวิธีปฏิบัติ เงิน ทรัพยากร คน เขายกให้ท้องถิ่นเอาไปบริหารจัดการ ดังนั้น คงต้องตั้งคำถามว่า รัฐ “คิด” นั้นไม่เป็นไร แต่ทำไมรัฐต้อง “ทำเอง” ทุกเรื่อง

ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐและวิธีคิดของสังคม เป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ และก็ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ การจะผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องอาศัยรัฐบาลที่มีความเชื่อและมีความจริงจังที่จะขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่พูดว่าจะส่งเสริมท้องถิ่น แต่นโยบายยังเป็นแบบเดิม

สุดท้าย สิ่งที่น่ากังวลคือประเทศไทยติดกับดักเรื่องผลประโยชน์ซึ่งมีไปถึงในวงราชการ ขณะที่การเมืองทั่วโลก ระบบราชการของเขาค่อนข้างมีความเป็นมืออาชีพ แต่บ้านเราอาจมีผลประโยชน์อยู่กับคนในระบบราชการด้วยหรือไม่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด เกษียณแล้วมีเงินร้อยล้าน สังคมไม่สงสัยหรือว่าเขารวยจากอะไร เงินเดือนก็ไม่ได้มากมายขนาดจะมีได้ขนาดนั้นแม้ว่าจะเก็บแล้วไม่ใช้จนเกษียณ ผู้ว่าหรือหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด มีอำนาจอนุมัติอะไรบ้าง ทำไมเขาถึงไม่ยอมกระจายอำนาจ ทำไมกลไกตรวจสอบไม่ตรวจสอบคนกลุ่มนี้ กลับเล่นงานแต่ท้องถิ่น ทั้งที่อำนาจอนุมัตินำมาซึ่งการเจรจาต่อรองหรือการเรียกรับผลประโยชน์

ดังนั้น การขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจ จึงอาจหมายถึงการต่อสู้กับองคาพยพของรัฐทั้งหมดด้วยก็ได้

ส่วนคำถามว่ากระจายอำนาจแล้วยังมีโอกาสโกงไหม แน่นอนว่ามี แต่ที่เชื่อว่าท้องถิ่นดีกว่าเพราะท้องถิ่นเป็นองค์กรเล็ก ตรวจสอบง่ายกว่า และเชื่อว่าเวลาจะทำให้หลายอย่างดีขึ้น เพราะท้องถิ่นถูกตรวจสอบ ถูกคุ้ยง่ายกว่าข้าราชการ รวมถึงมีสายตาของฝ่ายค้านในพื้นที่คอยจับจ้อง และยังมีประชาชนด้วย

ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่ทำเรื่องนี้สำเร็จ คืออินโดนีเซีย จากเดิมเขามีโครงสร้างการบริหารราชการเหมือนเรา แต่ต่อมาเกิดการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ หรือ ที่เรียกว่า Big Bang Decentralization ผู้ว่าทุกจังหวัดหรือก็คือผู้บริหารเมืองมาจากการเลือกตั้ง ส่วนภูมิภาคมีบทบาทเป็นหน่วยประสานของส่วนกลางลงมาหาพื้นที่ ในช่วงแรกแม้ยังมีการจับกุมคดีทุจริต แต่ปัจจุบัน อันดับและคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ Corruption Perceptions Index หรือ CPI ของเขา แซงประเทศไทยเราแล้ว เป็นตัวอย่างที่ชัดเลยว่าการกระจายอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศดีขึ้น และยังไปต่อได้อีก

วันนี้เรายังไปไม่ถึง ต้องเดินตามเขา และฝากความหวังไว้ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ที่จะช่วยกันทำเรื่องนี้ให้เป็นจริง



ร่วมลงชื่อปลดล็อกท้องถิ่นที่จุดลงชื่อทั่วประเทศ หรือทางออนไลน์ที่ : https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า