บทบาทเปลี่ยนท้องถิ่นเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน โดย ตัวแทนนายก อปท. คณะก้าวหน้า

7 เมษายน 2565


ผ่านไปแล้วเรียบร้อยสำหรับงานเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ณ อาคารอนาคตใหม่ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้ทำงานการเมืองท้องถิ่น ไปจนถึงประชาชนคนทั่วไปที่ใคร่อยากรู้ว่า หากปลดล็อกการรวมศูนย์อำนาจได้แล้ว จะนำมาซึ่งความเจริญกับท้องถิ่นในทางใดบ้าง? แต่ถึงกระนั้น งานของคณะก้าวหน้า ไม่ได้มีเพียงแค่การเปิดตัวแคมเปญพร้อมเปิดประชาชนมาเข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่คณะก้าวหน้ายังริเริ่มแผนการทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จนถึงตอนนี้ คณะก้าวหน้าให้การสนับสนุนการทำงานกับเทศบาลเมือง/ตำบล 16 เทศบาล ใน 7 จังหวัดทั่วประเทศ องค์การบริหารส่วนตำบลกว่า 39 องค์การ ใน 18 จังหวัด ส่งผลให้มีสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกระดับในนามคณะก้าวหน้ามากกว่า 200 คน

ดังนั้น เวทีเปิดตัววันนั้น คณะก้าวหน้า จึงได้พูดคุยกับ 3 นายกจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในนามคณะก้าวหน้า ได้แก่ เทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลอาจสามารถ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด กฤษดา แจ้งเศรษฐ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนางบวช อำเภอบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี และพีระพงษ์ ไพรินทร์ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลด่านสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ถึงโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่กำลังดำเนินงานและสัมฤทธิ์ผลไปแล้ว ภายหลังได้รับการเลือกตั้งในนามคณะทำงานของคณะก้าวหน้า ไปจนถึงอุปสรรคที่พบเจอระหว่างทาง และขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับการถูกกดทับจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เพ่งเล็งทุกการกระทำในขณะนี้

ทุกคำถามที่ พีระพงษ์ ทิ้งทวนเอาไว้ และทุกความคาดหวังของ เทพพร และ กฤษดา จึงนำมาสู่คำตอบว่า การปลดล็อกอำนาจที่รวมศูนย์มาเป็นเวลานาน อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นที่จะนำพาความเจริญออกจากส่วนกลางเข้าสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งยังเป็นการปลดล็อกทางเศรษฐกิจปากท้องที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในเวลานี้ ทุกเสียงของประชาชนจึงมีความหมายอย่างมากต่อการปิดจบปัญหาความเจริญกระจุกตัวในเมืองเดี่ยว และร่วมสร้างความวัฒนาถาวรให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศได้อย่างแท้จริง


ลงชื่อปลดล็อกท้องถิ่นที่จุดลงชื่อทั่วประเทศ หรือทางออนไลน์ที่ https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization





เทศบาลตำบลอาจสามารถ: การเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาดและดื่มได้

เทพพร จำปานวน กล่าวเป็นคนต่อมาว่า นับตั้งแต่รับตำแหน่ง สิ่งที่ตนตั้งใจคือจะทำน้ำประปาให้ใสสะอาดและดื่มได้ เนื่องจากการไปสัมผัสคลุกคลีกับผู้นำชุมชนและพ่อแม่พี่น้อง พบว่า พวกเขาต้องการและอยากเห็นน้ำประปาที่สะอาด แต่เมื่อไปดูระบบน้ำประปาของเทศบาลก็ทำให้เข้าใจได้ว่า น้ำที่นี่จะใสสะอาดได้อย่างไร เมื่อระบบการกรองยังไม่สามารถกรองสิ่งสกปรกได้จริง และทีมงานของประปาก็ขาดความรู้ความเข้าใจ ตนจึงติดต่อกับทีมของคณะก้าวหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการกรองน้ำประปาให้สะอาดเข้ามาช่วย ภายใน 2-3 เดือน ฝันก็เป็นจริง เทศบาลอาจสามารถได้น้ำประปาที่สะอาดจริง พร้อมกับส่งไปตรวจที่กรมอนามัย 2-3 ครั้ง ก่อนจะได้ใบรับรองจากกรมอนามัยว่า เป็นน้ำประปาที่สะอาดและดื่มได้

จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า ระหว่างทางที่ผ่านมา เทพพร ได้มีแผนจัดทำโครงการต่างๆ ก่อนจะพบกับอุปสรรคในหลากหลายประเด็น ได้แก่ เรื่องเงิน เนื่องจากเทศบาลตำบลอาจสามารถไม่มีเงินมากพอจะมาทำโครงการพัฒนาโรงกรองน้ำเพียงที่เดียวของตนได้ เพราะมีงบที่ค่อนข้างจำกัด

สิ่งที่ เทพพร ทำคือ เข้าไปเช็คกับปลัดและเจ้าหน้าที่ว่า ที่นี่มีงบประมาณสำหรับทำน้ำประปาให้สะอาดและดื่มได้หรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ตอบว่า ไม่มี ตนจึงจำเป็นต้องโยกงบประมาณเกี่ยวกับงานบุญ งานประเพณีที่จัดไม่ได้เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 มาทำน้ำประปาในท้องที่ให้สะอาด โดยใช้เงินไม่เกิน 2 แสนบาท แต่ด้วยองค์ความรู้ที่มากพอ มีทีมงานที่เข้าใจ จนเกิดเป็นน้ำประปาที่สะอาดและดื่มได้


ต่อมาคือ จะต้องทำยังไงให้ เทศบาลตำบลอาจสามารถ เป็นเทศบาลที่มีระบบดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาได้ เทศบาลจึงเขียนของบประมาณไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และได้งบประมาณกลับมา 9 ล้านกว่าบาท เพื่อนำมาพัฒนาระบบดิจิทัล จึงนำเงินตรงนี้มาเปลี่ยนระบบทั้งหมด ทั้งเครื่องตรวจวัดค่าน้ำ เพื่อตรวจคุณภาพน้ำ ค่า pH ต่างๆ เปลี่ยนเป็นระบบเซ็นเซอร์ และเปลี่ยนมิเตอร์น้ำที่ติดตั้งในแต่ละบ้าน เป็นสมาร์ทมิเตอร์ ที่สามารถเช็คค่ากับคอมพิวเตอร์ได้ในทันที

สุดท้ายคือ เรื่องของระบบจ่ายเงิน ให้มาเป็นการจ่ายค่าน้ำประปาในระบบพร้อมเพย์ หรือโอนเงินผ่านระบบ Mobile Banking นี่คือการพัฒนาในระบบเว็บไซต์ของเทศบาลตำบลอาจสามารถให้รองรับกับประชาชนทที่ต้องการจ่ายค่าน้ำประปาแบบออนไลน์ได้

โดย เทพพร ได้ให้ข้อสังเกตว่า ในส่วนของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งยังมีปัญหาในเรื่องของงบประมาณ ไม่ใช่ไม่มีโรงประปา อีกทั้งโรงประปายังไม่สามารถกรองน้ำให้สะอาดได้ เนื่องจากวิธีการทำให้สะอาดยังเข้าไปไม่ถึง อบต.บางแห่ง จึงตัดสินใจมอบโรงประปาให้แต่ละหมู่บ้านจัดการเอาเอง โดยให้งบประมาณไปปีละ 20,000-30,000 บาท หรือหากมีเครื่องชำรุดก็มาเบิกกับ อบต. จึงเป็นการยากที่จะทำให้การปรับปรุงคุณภาพน้ำให้สะอาดเกิดขึ้นจริงได้ ประกอบกับ เจ้าหน้าที่ดูแลโรงประปาก็เป็นเจ้าหน้าที่ของหมู่บ้านที่ถูกแต่งตั้งมา เมื่อเขาอยากได้น้ำประปาที่สะอาด เขาจะต้องไปเขียนงบประมาณที่ไหน? จะมาขอ อบต. ก็ไม่มีงบให้ เพราะอบต. เองก็ต้องไปเขียนของบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง เพื่อแก้ปัญหาน้ำที่ยังขุ่นข้นอยู่

นอกจากนี้ แม้ว่าเทศบาลตำบลอาจสามารถจะเป็นเทศบาลเล็กๆ มีงบประมาณเพียง 50 ล้านบาทต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ที่นี่มีงบประมาณสำหรับทำถนนหนทางเพียง 1 ล้านกว่าบาท งบประมาณเพียงเท่านี้เอาไปเดินถนน 2 เส้น กับตั้งเสาไฟฟ้าก็หมดแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้ท้องถิ่นเจริญได้อย่างไร เพราะงบพัฒนาเทศบาลมีน้อยมาก บางทีให้อำนาจมา แต่ไม่ให้งบประมาณ และบางทีให้เงินมา แต่กลับไม่ให้อำนาจมาจัดการงบประมาณ

สิ่งที่สำคัญคือ ท้องถิ่นต้องจัดเก็บภาษีได้เอง แต่รัฐบาลส่วนกลางกลับจำกัดการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น เนื่องจากภาษีป้าย ภาษีป้ายดิจิทัล และโลโก้ดิจิทัล ยังจัดเก็บในราคาเท่ากัน ทั้งๆ ที่ป้ายดิจิทัลมันเพิ่มมูลค่าในการโฆษณาได้ แต่ก็ยังจัดเก็บเท่าเดิม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหา

อีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดเก็บภาษีค้างชำระต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้ เทศบาลและอบต.ส่วนใหญ่ยังหละหลวมเรื่องเก็บภาษี เลยไม่ได้ตามเป้าสักเท่าไหร่ โดยปีที่ผ่านมา เทศบาลตำบลอาจสามารถจัดเก็บภาษีค้างชำระได้มากขึ้น 3 ล้านบาท และได้นำภาษีเหล่านี้มาทำประโยชน์ให้กับประชาชนจำนวนมาก

และอีกเรื่องที่น่าขัดใจคือ ไฟฟ้า เนื่องจากแต่เดิมตนเข้าใจว่าเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นคนเดินเสาไฟฟ้ากับสายไฟ แต่จริงๆ แล้ว การไฟฟ้าให้เทศบาลเป็นคนทำ และต้องใช้เงินของเทศบาลในการเดินเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า 300,000-500,000 บาทต่อปี แต่สุดท้ายคนเก็บค่าใช้ไฟฟ้าคือ การไฟฟ้า นี่จึงเป็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเขาไม่มีงบมาให้ท้องถิ่นจัดทำ

ดังนั้น หากรัฐบาลโอนอำนาจบางอย่างมาให้ท้องถิ่น เช่น การจัดเก็บภาษีต่างๆ รัฐก็จะเสียงบประมาณในการนำมาอุดหนุนท้องถิ่นน้อยลง ท้องถิ่นก็สามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น จากภาษีที่จัดเก็บได้เอง



เทศบาลตำบลด่านสำโรง: โครงการหลักสูตรเพื่ออนาคตและเมือง smart city

พีระพงษ์ ไพรินทร์ เริ่มต้นบทสนทนากับเราว่า การได้เข้าพบคุณธนาธร ที่ตึกไทยซัมมิท ทำให้ตนได้เห็นหลายสิ่งในโรงงาน ได้จินตนาการมากมายจากหุ่นยนต์ที่อยู่ ณ ที่ตรงนั้น และเมื่อได้เข้าฟังเรื่องห้องเรียนในอนาคต ที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพ 3D Printing และการเขียนโปรแกรม ตนก็ฝันในทันทีว่า “เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กๆ อนุบาลและประถมแถวบ้านเรา ได้เข้าถึงห้องเรียนดีๆ เช่นนั้น?” คำตอบที่ได้จากคุณธนาธรคือ ลูกของเขาต้องใช้เงินเป็นแสนบาทกว่าจะเข้าถึง แต่ถ้าเด็กที่นี่ได้เรียนในสิ่งเหล่านี้ (3D Printing และการเขียนโปรแกรม) มันจะเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มหาศาลแก่ชุมชนอย่างมาก

เมื่อกลับมาถึงสำนักงาน พีระพงษ์ จึงได้ผลักดันบรรจุงบประมาณในส่วนของการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ประกอบช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดภาคการศึกษา ตนจึงเล็งเห็นว่า นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาบุคลากรภายในโรงเรียนให้เต็มที่ ตนจึงพาบุคลากรจากภายนอกมาอบรมครูในโรงเรียน ทีนี้ก็เป็นเรื่องทันที เพราะระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุม ซึ่งตนไม่ได้เบิกค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการพาบุคลากรจากภายนอกเข้ามาอบรม

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันกลายเป็นการกดดันทางการเมือง การกดดันต่อการทำหน้าที่นายกเทศมนตรี และการกดดันจากประชาชนที่ต้องการทราบเรื่องจากทุกฝ่าย แต่เมื่อคิดจะทำให้โครงการนี้ (หลักสูตร Coding / 3D Printing) ตนต้องไปต่อ เพราะมุ่งหวังอยากให้เด็กเดินไปข้างหน้าและก้าวกระโดด เพื่อให้วันหนึ่งเด็กที่เทศบาลตำบลด่านสำโรงจะต้องได้ลงแข่งขันวิชาการ และเป็นที่ 1 ของประเทศให้ได้


ประกอบกับมีงานวิจัยประมาณ 12 งานวิจัย ที่จะพร้อมพัฒนาทำให้เมืองนี้ (เทศบาบตำบลด่านสำโรง) เป็นเมือง smart city แม้ พีระพงษ์ จะรู้ว่าดีว่าต้องฝ่าด่านมากมาย แต่ก็พร้อมที่จะเดินไปกับประชาชน พร้อมที่จะกระจายอำนาจ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอำนาจ โดยทำให้เด็กโรงเรียนด่านสำโรงได้เข้าถึงการเรียน Coding / 3D Printing ในเดือนพฤษภาคมนี้ให้ได้

พีระพงษ์ ยังได้กล่าวไว้ด้วยท่าทีที่จริงจังว่า อันที่จริงงบประมาณของเทศบาลตำบลด่านสำโรงมี 500 ล้านบาทต่อปี และมีเงินเก็บกว่า 1,700 ล้านบาท หากแต่ปัญหาที่ผ่านมาในเรื่องการได้งบประมาณที่ไม่เพียงพอจากส่วนกลาง และหนักขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากเรื่องของการวิ่งเต้น การรินเหล้า และกระบวนการที่ตนต้องต่อสู้กับส่วนกลางหากจะมีโครงการใหญ่ๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวหน้ามากขึ้น

ขณะที่ตนมีความฝันอยากมาพัฒนาท้องถิ่นให้เป็น smart city แต่ต้องมาเจอปัญหาจากบุคลากรบางส่วนจากส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง ที่ไม่มีวิสัยทัศน์อยากพัฒนาท้องถิ่น ตนจึงไม่คิดจะไปขอเงินอุดหนุนจากส่วนกลางอีก แม้ตนจะรู้ว่า เรารายได้ของเทศบาลตำบลด่านสำโรงตอนนี้ไม่พอแน่ หากต้องการจะสร้าง smart city ในอีก 8 ปีข้างหน้า แต่ถึงอย่างนั้น ตนก็ยังฝันที่จะทำให้เทศบาลตำบลด่านสำโรงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ



องค์การบริหารส่วนตำบลนางบวช: การจ้างงานในท้องถิ่นที่ควรเพิ่มขึ้น

กฤษดา แจ้งเศรษฐ กล่าวเป็นคนสุดท้าย ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจากจังหวัดสุพรรณบุรี โดยได้เล่าปูมหลังให้ฟังว่าเคยเป็นข้าราชการระดับท้องถิ่น โดยเริ่มแรกรับราชการเป็นช่างประปาให้สุขาภิบาล (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว) มาตั้งแต่อายุ 21 ปี โดยมีปลัดสุขาภิบาล (ข้าราชการระดับ C5) เป็นหัวหน้า การรับราชการครั้งนั้น ทำให้เห็นภาพความไม่เป็นอิสระของสุขาภิบาลในสมัยนั้น ที่ต้องทำตามกรมการปกครองตลอดเวลา และเป็นเหตุให้ชาวบ้านในเขตสุขาภิบาลไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกใดๆ จากส่วนกลาง การได้ถนนลูกรังสักเส้นจึงถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ประกอบกับงบประมาณงานช่างที่ได้มาในปีที่ตัวเองบรรจุก็มีเพียง 500,000 บาท การรับราชการเป็นช่างประปาของสุขาภิบาลในช่วง 2-3 ปีจึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เป็นเหตุให้ตนลาออก ก่อนจะกลับมาเป็นช่างในสังกัด อบต. ไต่เต้ามาเกือบ 20 ปี จนเป็นรองปลัด ก่อนจะลาออกมาลงการเมืองท้องถิ่น

เมื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นนายก อบต. กฤษดา ก็ค้นพบกับปัญหาใหญ่ที่ว่า อบต. มีงบประมาณน้อยและไม่เพียงพอต่อการจัดทำโครงการใดๆ เลย การวิ่งเต้นเต้นจึงเป็นทางออกของการหางบประมาณ การวิ่งเต้นเก่งจึงเท่ากับกับหางบประมาณเก่งขึ้นด้วย เพราะงบประมาณไปอยู่กับส่วนกลาง กับส่วนภูมิภาคเสียหมด

กฤษดา เล่าว่า หาก อบต.จะของบประมาณ ก็ต้องไปวิ่งเต้นขอกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ผ่านงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และอีกงบที่จะสามารถขอได้คือ งบพัฒนาจังหวัด จังหวัดละ 300-700 ล้านบาท สำหรับงบพัฒนาจังหวัดนี้ กฤษดา ได้นิยามว่า นี่คือ “งบรินเหล้า” เนื่องจากว่า นายก อบต.ต้องไปกินเหล้า สร้างความสนิทสนมคุ้นเคย กับผู้ว่าฯ ถึงจะได้งบประมาณมา


ยิ่งไปกว่านั้น กฤษดา ยังเล่าว่า เด็กส่วนใหญ่ในท้องที่ที่มาทำงานกับตน หลายคนถ้าเขาอยู่กรุงเทพ เขาอาจได้เงินเดือน 20,000 บาท แต่มาอยู่กับ อบต. ได้ 9,000 – 10,000 บาท แต่เขาเลือกแล้วว่าจะไม่กลับกรุงเทพ เพราะหากไปอยู่กรุงเทพ เงินเดือน 20,000 บาท แต่ค่ากินค่าอยู่ค่าเดินทางบนรถไฟฟ้าอีกเท่าไร แต่ถ้าอยู่บ้านได้เงินเดือน 9,000 –10,000 บาท เดินทางไปกลับบ้าน 3 กิโลเมตร ข้าวมีให้กินที่บ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ถ้างบประมาณลงมาที่ท้องถิ่นได้ ตนจ้างงานเพิ่มได้ ลูกหลานในท้องที่มีงานทำ ไม่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพ

นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันว่า งบประมาณที่รัฐบาลส่วนกลางให้มากับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ยังเป็นงบประมาณที่ฝากฝังและแอบแฝงให้ท้องถิ่นไปทำหน้าที่อื่น อาทิเช่น คำสั่งมาจากกระทรวงมหาดไทยว่า ขอความร่วมมือให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนำงบประมาณมาร่วมจัดทำโครงการที่มอบหมายมาด้วย

ในส่วนนี้ กฤษดา ได้กล่าวว่า โครงการในลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่า “งานกฐิน” เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี มีโครงการต่อต้านยาเสพติดประจำปี 2566 ขอความร่วมมือให้เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี อุดหนุน 150,000 บาท เทศบาลตำบลต่างๆ 100,000 บาท และ อบต. เล็กๆ หน่อย 50,000 บาท เป็นโครงการที่มีมาถึงทุกที่ ไม่อุดหนุนก็จะมีปัญหาในการไปขอทุนหลังจากนี้ เป็นเหตุให้ทุกเทศบาลและ อบต. ต้องอุดหนุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ สิ่งนี้เป็นการเบียดเบียนงบประมาณท้องถิ่นส่วนหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลังมานี้มักมีการขอความร่วมมาจากกรมอื่น กระทรวงอื่นมายังเทศบาลและ อบต. โดยเขียนหนังสือมาถึงนายกท้องถิ่น เพื่อมาขอใช้คนของเราให้ไปทำเรื่องที่เขาต้องการให้ โดยไม่มีงบประมาณมาให้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า