บทแนะนำเบื้องต้นว่าด้วยเหตุการณ์ปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์

8 มีนาคม 2565

A Guide to the February Revolution
By Eric Blanc
แปล จักรพล ผลละออ
อ่านบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่

วันนี้เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในรัสเซียที่ต้องผจญทุกข์จากสงครามอย่างยาวนาน ได้ลุกขึ้นต่อต้านระบอบการปกครองแบบเอกาธิปไตยอันน่าเกลียดชังของพระเจ้าซาร์ ในช่วงท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 (ราวๆ กลางเดือนมีนาคม ตามปฏิทินปัจจุบัน – ผู้แปล) ชนชั้นแรงงานออกมาเคลื่อนไหวโดยการนัดหยุดงาน เดินขบวนประท้วงและขยายตัวไปสู่การลุกฮือขึ้นต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของระบอบซาร์ จนกระทั่งชนชั้นแรงงานก็เป็นผู้กุมชัยชนะเอาไว้ได้ในที่สุด หากแต่เรื่องชวนหัวที่สุดในการต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ ทั้งที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานและนักสังคมนิยมจำนวนมหาศาลเป็นผู้ลุกขึ้นต่อสู้โค่นล้มระบอบซาร์ลง หากแต่เมื่อลงท้ายที่สุดแล้วอำนาจการปกครองกลับตกไปอยู่ในมือของบรรดาผู้นำหัวเสรีนิยมจำนวนหยิบมือ

เรื่องชวนหัวเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? บทบาทระหว่างพรรคการเมืองที่ต่างขั้วกันมีบทบาทอย่างไรในการต่อสู้ครั้งนี้? และเหตุใดจึงเกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน? เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองการครบรอบเหตุการณ์ปฏิวัติเดือนกุมภาเราจึงขอนำเสนอบทแนะนำเบื้องต้นว่าด้วยเหตุการณ์ปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1917 แก่ผู้อ่านทุกท่าน

อะไรคือต้นสายปลายเหตุของการปฏิวัติ?

ในช่วง ค.ศ. 1917 ระบอบซาร์ (หรือระบอบกษัตริย์ของรัสเซีย – ผู้แปล) แยกตัวเองออกมาจากการสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มพลังทางสังคมหลักกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ อย่างไรก็ตามนับเป็นความโชคดีที่ตัวระบอบนี้ยังคงรักษาตัวเองอยู่รอดมาได้ภายใต้การปกครองแบบเอกาธิปไตย

อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษของกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่โดยชนชั้นนายทุน ก็ได้ก่อให้เกิดกลุ่มพลังใหม่ทางสังคมที่ระบอบซาร์มองข้ามไป กลุ่มพลังแรกนั้นคือกลุ่มชนชั้นแรงงาน แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ หากแต่ชนชั้นแรงงานนั้นกระจุกตัวอยู่หนาแน่นตามเมืองใหญ่ และแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งนั่นทำให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองที่สูงกว่าจำนวนของสมาชิกในชนชั้นมาก และเนื่องจากระบอบการเมืองที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพไปจากชนชั้นแรงงาน รวมถึงการตกอยู่ภายใต้การถูกเอารัดเอาเปรียบกดขี่ขูดรีดอย่างเข้มข้นทำให้ชนชั้นแรงงานทั่วทั้งจักรวรรดิรัสเซียกลายเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดก้าวหน้ารุนแรงอย่างมาก

ในช่วงระหว่างเหตุการณ์ “การปฏิวัติ 1905” (รู้จักกันในชื่อ “การนองเลือดวันอาทิตย์” – ผู้แปล) ชนชั้นแรงงานถือว่าขยับเข้าใกล้การโค่นล้มระบอบซาร์เข้าไปอีกนิด แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะจบลงด้วยการถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลซาร์ แต่มันจะตามมาด้วยการโต้กลับของคลื่นนักปฏิวัติขนานใหญ่ในภายหลัง ในปี 1914 จักรวรรดิรัสเซียก็กำลังเผชิญหน้ากับการจราจลและการท้าทายต่ออำนาจของระบอบซาร์อีกครั้ง 

หากทว่าจักรวรรดิรัสเซียก็ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียก่อนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และการเข้าร่วมสงครามนี้ก็ช่วยยื้อลมหายใจของระบอบซาร์ต่อไปได้อีกไม่กี่ปีก่อนจะต้องพบกับการท้าทายครั้งใหญ่จากขบวนการปฏิวัติ

กลุ่มพลังทางสังคมถัดมาที่จะต้องพิจารณาคือมวลชนส่วนใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซีย นั่นคือกลุ่มชาวนา ผู้เรียกร้อง ที่ดินทำกินและเสรีภาพ กลุ่มชาวนาเองก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านระบอบซาร์ในช่วงปี 1905 – 1907 โดยการลุกฮือเข้ายึดที่ดินของบรรดาเจ้าที่ดินและชนชั้นขุนนาง ขับไล่คนเหล่านี้ออกไป และสถาปนาชุมชนที่ปกครองกันเองอย่างอิสระขึ้นในชนบท และนั่นทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในแถบชนบทดูจะสงบลงบ้าง ก่อนที่ขบวนการชาวนาจะเริ่มเคลื่อนไหวประท้วงอีกครั้งในช่วงปี 1916 บันทึกจากรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัสเซียในยุคนั้นมีรายงานว่า 

“ในทุกๆหมู่บ้าน เราจะพบนักปฏิวัติแฝงตัวอยู่ พวกเขาทำงานเหมือนในช่วงการลุกฮือปี 1906 – 1907 ข้อถกเถียงและประเด็นพูดคุยทางการเมืองกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันอยู่ในทุกหนทุกแห่ง พวกเขาลงมติกันว่าหนทางในการแก้ปัญหาคือการลุกขึ้นต่อต้านบรรดาเจ้าที่ดินและพวกพ่อค้า ตอนนี้หน่วยย่อยขององค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมหาศาลกำลังก่อตั้งขึ้นแล้ว”

ขณะที่กลุ่มชนชั้นสูงหัวเสรีนิยมนั้นกลับอยู่ในความสัมพันธ์แบบ “ทั้งรักทั้งชัง” กับระบอบซาร์ ในด้านหนึ่งพวกเขารังเกียจและต่อต้านด้านที่โหดร้ายป่าเถื่อนและล้าหลังของระบอบซาร์ และคาดหวังว่าตนเองจะสามารถนำพารัสเซียให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การสถาปนาระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ที่มั่นคงได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ระแวดระวังและหวาดกลัวต่อความเติบโตของขบวนการชนชั้นแรงงานที่อาจจะลุกขึ้นมาติดอาวุธท้าทายชนชั้นผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ร่ำรวยซึ่งหมายรวมถึงตัวพวกเขาเองด้วย

ในขณะที่พวกเสรีนิยมชนชั้นสูงพยายามป้องกันการปฏิวัติจากชนชั้นแรงงาน สิ่งที่พวกเขาทำอีกด้านหนึ่งก็คือการกราบกรานร้องขอให้ระบอบซาร์ทำการปฏิรูปตัวเองก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป อย่างไรก็ตามซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่ได้สนใจใยดีต่อคำร้องขอเหล่านั้นแม้แต่น้อย และเมื่อราชวงศ์โรมานอฟถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมและเรื่องอื้อฉาวของที่ปรึกษาราชวงศ์อย่าง รัสปูติน ลงท้ายที่สุดแล้วแม้แต่บรรดาเสรีนิยมที่เอาแต่อมพะนำมาเนิ่นนานก็เริ่มเปิดปากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาในปี 1917 

การประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของจักรวรรดิรัสเซียในเดือนสิงหาคม 1914 สามารถเพิ่มความนิยมและแรงสนับสนุนให้รัฐบาลของพระเจ้าซาร์ได้อย่างมหาศาล หากแต่มันก็จะระเหยหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน การเข้าร่วมสงครามนี้ทำให้ทหารนับล้านคนซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากกลุ่มชาวนาล้มตายลงในสมรภูมิ ก่อนจะตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจที่ขยายตัวไปทั่วทั้งจักรวรรดิ ในปี 1916 ผู้คนในแถบเอเชียกลางที่อยู่ใต้การปกครองของระบอบซาร์เริ่มลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของจักวรรดิรัสเซีย ก่อนจะตามมาด้วยการประท้วงและการจลาจลเรียกร้องขนมปังโดยชนชั้นแรงงานและกลุ่มผู้หญิงที่ปะทุขึ้นทั่วทั้งจักรวรรดิ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1917 หนึ่งวันก่อนที่การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์จะอุบัติขึ้น นายตำรวจในเมืองเปโตรกราดเขียนบันทึกรายงานสถานการณ์ในเมืองเอาไว้ว่า

มวลชนชนชั้นแรงงานกำลังเกรี้ยวกราดอย่างรุนแรงจากภาวะขาดแคลนอาหารตำรวจทุกนายล้วนได้ยินเสียงพร่ำบ่นของมวลชนบนท้องถนนว่าพวกเขาไม่ได้กินอาหารมาแล้วตั้งแต่ 2 วัน, 3 วันหรือมากกว่านั้นไม่ต้องแปลกใจเลยหากจะมีการก่อจราจลขึ้นบนท้องถนนสถานการณ์ในตอนนี้ย่ำแย่ถึงขนาดที่ว่าหากใครสักคนสามารถหาซื้อขนมปังได้สักสองก้อนเขาคนนั้นย่อมจะต้องร้องไห้ออกมาด้วยความปีติดีใจเป็นแน่” 

การลุกฮือเริ่มขึ้นได้อย่างไร?

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มต้นขึ้นในเมืองเปโตรกราด ในวันสตรีสากลเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1917 แรงงานสิ่งทอสตรีในเขตวีบอร์ก ได้เริ่มต้นการต่อสู้โดยการหยุดงานและลงถนน เดินขบวนเรียกร้องขนมปัง พวกเธอชักชวนให้แรงงานในโรงงานใหล้เคียงหยุดทำงานและเข้าร่วมการเดินขบวนด้วยกัน และเมื่อการเดินขบวนตะโกนโห่ร้องอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลพวกเธอจึงเริ่มเขวี้ยงปาก้อนหินและเศษเหล็ก ในเย็นวันนั้นเองขบวนประท้วงก็มีผู้เข้าร่วมนับหมื่นคน ภายใต้ข้อเรียกร้องสำคัญสามข้อ คือ ขนมปัง, สันติภาพ และการโค่นล้มระบอบเอกาธิปไตยของพระเจ้าซาร์

ในข้อเขียนขอองทรอตสกี เรื่อง History of 1917 เขาให้ข้อสังเกตว่าการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของมวลชนในการเคลื่อนไหวคือกลไกและเครื่องยนต์ผลักดันให้การปฏิวัติรุดหน้า

ในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเมื่อระบบระเบียบของระบอบเก่าไม่อาจจะควบคุมปกครองมวลชนได้อีกต่อไปในตอนนี้เองที่มวลชนผู้ทรงอำนาจได้กก้าวข้ามกำแพงอันเป็นอุปสรรคขัดขวางกีดกันพวกเขาออกจากเวทีทางกการเมืองในห้วงจังหวะนี้เองที่มวลชนบอกลาจากบรรดาผู้แทนตามขนบระเบียบอำนาจแบบเก่าและได้เริ่มต้นการสอดแทรกตัวเองเข้ามาในระเบียบทางการเมืองและลงมือวางรากฐานเพื่อการสถาปนาระบอบทางการเมืองใหม่ขึ้นแทนที่ดังนั้นเองประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติสำหรับเราแล้วมันจึงไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกเสียจากประวัติศาสตร์ของการลุกขึ้นสู้โดยมวลชนเพื่อเข้าสู้ปริมณฑลแห่งอำนาจที่จะควบคุมและกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้

การนัดหยุดงานและการเดินขบวนขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และในวันถัดมาทั่วทั้งเมืองเปโตรกราดก็ตกอยู่ในสภาวะเป็นอัมพาตเนื่องจากการนัดหยุดงานทั่วทั้งเมือง นักสังคมนิยมคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์บันทึกถึงบรรยากาศในวันนั้นว่า “บรรยากาศรอบตัวเราในขณะนั้น … มันคือบรรยากาศที่เปี่ยมด้วยจิตใจแห่งการต่อสู้ร่วมกันอย่างแรงกล้า เรารู้สึกว่าจะร่วมเป็นร่วมตายกันจนถึงที่สุดในการต่อสู้ครั้งนี้” และเมื่อขบวนของมวลชนมาบรรจบกันที่ถนนเนฟสกี้อันเป็นถนนเส้นหลักของเมือง พวกเขาทั้งหมดก็ต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังติดอาวุธของพระเจ้าซาร์ บันทึกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจลับของรัฐบาลซาร์อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ว่า

กองทหารไม่ได้พยายามขัดขวางการเดินขบวนของมวลชนและในบางกรณีบรรดากองทหารกลับขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะขัดขวางมวลชนด้วยนั่นทำให้มวลชนบนท้องถนนยิ่งมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่ถูกปราบปรามย่างแน่นอนตอนนี้หลังจากการเดินขบวนสองวันเต็มโดยปราศจากการขัดขวางมวลชนที่เปี่ยมด้วยพลังปฏิวัติได้เริ่มต้นชูคำขวัญสองประโยคยุติสงครามและโค่นล้มรัฐบาลผู้คนที่เข้าร่วมขบวนการถูกทำให้รู้สึกและเชื่อว่าการปฏิวัติได้เริ่มต้นขึ้นแล้วความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากขนาดของมวลชนและเนื่องจากการที่ผู้ครองอำนาจไม่มีอำนาจในการปราบปรามการเคลื่อนไหวนี้เนื่องจากบรรดากองทหารปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนและปฏิเสธที่จะปราบปรามประชาชน

ขณะที่สมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงยังคาดหวังว่าบรรดาผู้ประท้วงควรจะต้องตาย ดังที่จักพรรดินีอเล็กซานดรา เขียนจดหมายถึงพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2 พระสวามี ดังนี้

ตอนนี้พวกนัดหยุดงานและพวกก่อจราจลในเมืองกำลังกำเริบเสิบสานท้าทายพวกเราอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนความไม่สงบนี้เกิดขึ้นก็เพราะพวกนังเลงอันธพาลชั้นต่ำพวกคนหนุ่มสาวพากันวิ่งไปรอบเมืองและตะโกนโห่ร้อองว่าพวกเขาไม่มีขนมปังคนพวกนี้กระทำไปด้วยความคึกคะนองและต้องการความท้าทายตื่นเต้นบางทีหากอากาศหนาวเย็นกว่านี้คงดีไอ้คนพวกนี้จะได้กลับไปหลบหนาวกันอยู่ในบ้านเสียแต่จะอย่างไรหม่อมฉันเชื่อว่าทุกสิ่งจะจบลงและมันจะต้องสงบลงอย่างแน่นอน

บรรดาผู้มีอำนาจในระบอบต่างก็อยู่ภายใต้วิธีคิดเดียวกันนี้ ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มต้นปฏิบัติการในเชิงรุกมากขึ้น บรรดาชนชั้นปกครองนั้นต้องการจบการปฏิวัตินี้ด้วยการนองเลือด และดังนั้นเองผู้มีอำนาจจึงออกคำสั่งให้ทหารเริ่มต้นใช้อาวุธปืนปราบปรามผู้ประท้วงในวันถัดมา

ทหารและกองทัพมีบทบาทอย่างไร?

จุดแตกหักแรกของความแตกแยกในหมู่ทหารเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ สมาชิกพรรคบอลเชวิคที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญอันแสดงถึงการก่อตัวของภราดรภาพนี้ เขียนบันทึกเอาไว้อย่างจดจำดังนี้

เมื่อยอดแหลมของดาบปลายปืนในเงื้อมมือเจ้าหน้าที่ทหารประทับลงบนหน้าอกของมวลชนแถวหน้าสุดของคลื่นมหาชนขณะที่เสียงร่ำร้องบทเพลงแห่งการปฏิวัติดังกึกก้องจากปากของผู้ชุมนุมด้านหลังผู้คนที่อยู่หน้าแนวปะทะที่เผชิญหน้ากันก็ตกอยู่ในห้วงแห่งความสับสนมวลชนผู้หญิงก้าวออกมาด้านหน้าพร้อมน้ำตาอาบสองแก้มพวกเธอร้องไห้และร่ำร้องพูดกับบรรดาทหารสหายทิ้งอาวุธนั่นลงแล้วมากับพวกเราเถอะ!” สิ้นคำนั้นเองทหารบางนายเริ่มเคลื่อนไหวทหารบางคนเหลือบมองเพื่อนทหารร่วมหน่วยและในห้วงวินาทีถัดมาบรรดาทหารก็เริ่มขยับอาวุธในมือปืนยาวเคลื่อนขึ้นจากหน้าอกของมวลชนสูงขึ้นจนเหนือหัวไหล่ก่อนที่มันจะลดระดับลงในทิศทางที่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่าจะไม่ทำอันตรายต่อมวลชนและเมื่อนั้นเองมันก็ตามมาด้วยเสียงปรบมือโห่ร้องอย่างถล่มทลาย

คำถามที่สำคัญก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับบรรดาทหาร หลังจากที่พวกเขาได้รับคำสั่งให้ลงมือสังหารมวลชนบนท้องถนนได้? 

อันที่จริง หากว่ารัฐบาลต้องการจะปราบปรามการปฏิวัติ เป็นที่ชัดเจนว่าการปราบปรามนี้ย่อมสำเร็จอย่างง่ายดาย เมื่อมวลชนชนชั้นแรงงานกลับมาชุมนุมกันที่ใจกลางเมืองในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ บรรดาทหารส่วนใหญ่กลับไปเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้พวกเขาปราบปรามผู้ประท้วงด้วยกระสุนจริง การปราบปรามเริ่มต้นขึ้นด้วยการสังหารผู้ชุมนุมและเมื่อสิ้นวัน ผู้ชุนุมก็ถูกสังหารไปนับร้อยคน การสังหารหมู่ในวันนั้นก่อให้เกิดภาวะเสียขวัญไปอย่างกว้างขวาง ผู้นำนักสังคมนิยมคนหนึ่งสรุปเหตุการณ์ในค่ำคืนนั้นว่า “การปฏิวัติได้จบลงแล้ว … ไม่มีใครสามารถท้าทายต้านทานรัฐบาลได้อีกแล้ว เหตุการณ์วันนี้คือจุดตัดสินสุดท้าย”

หากทว่าเหตุการณ์ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ก็ได้แสดงให้เห็นว่าการมองโลกแง่ร้ายของผู้นำนักสังคมนิยมท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ ทหารระดับปฏิบัติการจำนวนมากซึ่งมีพื้นเพดั้งเดิมเป็นลูกหลานหรือชาวนาไม่อาจจะทนรับเหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พวกเขาไม่อาจจำยอมลงมือสังหารหมู่ประชาชนได้อีกต่อไป และนี่คือจุดแตกหักสำคัญที่ทำให้ทหารจำนวนมากลุกขึ้นต่อต้าน ในเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นี้เอง นายทหารจากกรมทหารโวลินสกีก็ก่อกบฏขึ้น ตอนนี้บรรดานายทหารที่ปฏิเสธจะลงมือสังหารประชาชนผู้ประท้วง ได้หันปากกระบอกปืนของพวกเขาไปหาบรรดาทหารระดับสั่งการ และเช่นเดียวกับการเริ่มเดินขบวนของมวลชนแรงงานหญิงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ บรรดานายทหารเริ่มออกเชิญชวนพี่น้องทหารทั่วเมืองให้ก่อกบฏและเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ ในบ่ายวันเดียวกันนั้นเองกองทัพรักษาการณ์ในเปโตรกราดก็ไม่เหลือกำลังพลแม้แต่นายเดียว มวลชนชนชั้นแรงงานและบรรดาทหารร่วมมือกันยึดครองเมืองทั้งเมืองเอาไว้ได้สำเร็จ 

ผู้นำหัวกลาง-เสรีนิยม อย่าง มิคาอิล ร็อดเซียนโก้ ส่งโทรเลขด่วนถึงพระเจ้าซาร์โดยบรรยายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้

“รัฐบาลปราศจากอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่อาจพึ่งพากองทหารประจำการในเมืองได้อีกต่อไป ทหารในหน่วยกองพันสำรองของกองกำลังรักษาการณ์ทั้งหมดก็เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ ผู้บังคับบัญชาของหน่วยถูกสังหาร พวกทหารเข้าร่วมกับผู้ชุมนุมและก่อกบฏ และตอนนี้พวกกบฏกำลังเคลื่อนขบวนมุ่งหน้ามายังที่ทำการกระทรวงมหาดไทยและสภาดูมา”

รายงานทางโทรเลขที่มีการตอบโต้กันระหว่าง นายพลคาบาลอฟ ถึง นายพลอิวานอฟ ก็มีเนื้อหาแสดงให้เห็นภาพในทิศทางเดียวกัน

อิวานอฟ : เรายังรักษาพื้นที่ส่วนไหนของเมืองไว้ได้บ้าง?
คาบาลอฟ : ทั้งเมืองตกอยู่ในการควบคุมของนักปฏิวัติแล้ว โทรศัพท์ใช้การไม่ได้ และตอนนี้เราไม่มีเครื่องมือสื่อสารกับส่วนอื่นๆของเมืองเลย
อิวานอฟ : ตอนนี้ใครเป็นคนมีอำนาจสูงสุดที่ควบคุมเขตต่างๆ ของเมือง?
คาบาลอฟ : ผมไม่ทราบ
อิวานอฟ : แล้วบรรดารัฐมนตรียังคงอยู่ดีหรือไม่?
คาบาลอฟ : บรรดารัฐมนตรีถูกฝ่ายปฏิวัติจับกุมตัวไว้หมดแล้ว
อิวานอฟ : ตอนนี้คุณมีกำลังตำรวจที่สามารถสั่งการได้อยู่ในมือเท่าไหร่?
คาบาลอฟ : ไม่มีเลย

เราจำเป็นต้องย้ำว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งอย่างยิ่งกับภาพทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นต่อการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ นี้ว่าเป็นเหตุการณ์การปฏิวัติที่สงบไร้การต่อต้านและระบอบซาร์ยินยอม “พังทลาย” เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากประชาชน เราต้องยืนยันว่าในการปฏิวัตินี้ระบอบของซาร์ไม่ได้ “ล่มสลาย” ลงเอง หากแต่มันถูก “โค่นล้ม” ลงด้วยพลังของมวลชน

การปฏิวัตินี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหรือไม่?

บรรดานักเขียนหัวเสรีนิยมจำนวนมากต่างก็พยายามวาดภาพให้การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เป็นการปฏิวัติที่ดีงาม อันเนื่องมาจากเป็นการปฏิวัติที่ “ปราศจากผู้นำ” และ “เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ” ข้อความคิดเหล่านี้ไปด้วยกันได้อย่างพอดิบพอดีในการวาดภาพให้การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เป็นการการปฏิวัติที่ชอบธรรมด้วยมติมหาชน ขณะที่วาดภาพให้การปฏิวัติเดือนตุลาปีเดียวกันนั้นเป็นการก่อปฏิวัติโดยพวกลัทธิบอลเชวิคหยาบช้าที่เป็นคนส่วนน้อย The New York Times เองเคยเขียนถึงการปฏิวัติทั้งสองครั้งเอาไว้ว่า “การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์คือการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่มีลักษณะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ ปราศจากการจัดตั้ง … และไม่มีผู้นำที่ชัดเจน” ขณะที่การปฏิวัติเดิอนตุลานั้นถูกมองในอีกแง่มุมหนึ่ง เพราะมันถูกพิจารณาในฐานะของ “การรัฐประหาร” 

ปัญหาของข้อความคิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันไม่เพียงแต่ละเลยพลวัตประชาธิปไตยที่เป็นพลังขับเคลื่อนภายในของการปฏิวัติเดือนตุลา หากแต่มันยังละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนครั้งไหนที่ปราศจากการนำหรือผู้นำอย่างแท้จริง แม้ว่าบางกรณีองค์กรนำทางการเมืองหรือองค์กรจัดตั้งอาจจะไม่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวโดยตรง หากแต่สมาชิกหรือผู้ปฏิบัติงานขององค์กรเหล่านั้นย่อมมีส่วนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวด้วยเสมอ เราควรพิจารณาข้อถกเถียงนี้ให้ละเอียดขึ้น เพราะการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์นั้นไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ “เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ” แต่กลับกันตรงข้าม องค์กรสังคมนิยมและผู้นำสังคมนิยมเป็นผู้ที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการก่อรูปของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์

ในช่วงต้นปี 1917 ทุกผู้ทุกคนในเปโตรกราดล้วนรับรู้ได้ว่าการลุกฮือของมวลชนกำลังขยับใหล้เข้ามาแล้ว ในช่วงนั้นเองนักสังคมนิยมคือผู้ริเริ่มการนัดหยุดงานและพยายามแทรกซึมขยายเครือข่ายและความคิดทางการเมืองเข้าไปในกองทัพ ในสถานศึกษา และในโรงงาน และด้วยการทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งการพูดคุย กล่าวปราศรัย และการแจกแผ่นพับรณรงค์นับครั้งไม่ถ้วน บรรดานักสังคมนิยมเหล่านี้ก็สามารถนำพาความคิดทางการเมืองของสังคมให้ขยับไปสู่การชูข้อเสนอล้มล้างระบอบซาร์ได้ในที่สุด ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลซาร์ ถึงกับกล่าวคร่ำครวญว่า 

“บรรยากาศอารมณ์ของมวลชนถูกปลุกเร้าให้รุนแรงมากขึ้นและมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การปลุกปั่นปลุกระดมอย่างเป็นระบบของพวกนักปฏิวัติ”

บรรดานักประวัติศาสตร์ต่างก็ทุ่มเถียงกันถึงขอบเขตอิทธิพลที่แท้จริงของการปลุกเร้ามวลชนจากฝ่ายสังคมนิยมว่าส่งผลต่อการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์มากน้อยเพียงใด แต่หากจะพิจารณาตัวอย่างหนึ่งเราควรพิจารณาการเคลื่อนไหวในวันสตรีสากลอันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการระเบิดของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ในวันนั้นกลุ่มนักเคลื่อนไหวลัทธิมาร์กซ์ได้แจกแผ่นพับที่มีข้อความบางส่วนดังนี้

“รัฐบาลคือต้นตอของปัญหา เพราะรัฐบาลนี้คือผู้ประกาศเข้าร่วมสงครามและไม่ยินยอมจะยุติการสู้รบ รัฐบาลกำลังฉีกกระชากประเทศของเราให้แหลกสลาย และก็เป็นความผิดของรัฐบาลนี้เช่นกันที่ปล่อยให้พวกเราตกอยู่ท่ามกลางความอดอยากหิวโหย ชนชั้นนายทุนคืออีกต้นตอของปัญหา เพราะชนชั้นนี้เอารัดเอาเปรียบกดขี่ขูดรีดเราเพื่อแสวงหากำไรส่วนตน … พอกันที! ถึงเวลาแล้วที่เราขอประกาศว่าความชั่วร้ายและอาชญากรรมที่รัฐบาลนี้ก่อจะต้องถูกกวาดล้าง บรรดาเหลือบไรและบริวารแวดล้อมของผู้กดขี่และไอ้ฆาตรกรจะต้องถูกโค่นล้ม … ระบอบกษัตริย์ของพระเจ้าซาร์จงพินาศ รัฐบาลปฏิวัติของประชาชนจงเจริญ!”

และหากว่าตัวอย่างของแผ่นพับใบปลิวในวันเดียวนี้อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่เพียงพอต่อการสรุปบทบาทของนักสังคมนิยมในการปฏิวัตินี้ เราก็ต้องขอยืนยันว่าการรณรงค์และการปลุกเร้าทางการเมืองของบรรดานักสังคมนิยมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเป็นการปลุกเร้าปูทางไปสู่การลุกขึ้นสู้ในระดับที่สูงขึ้นของมวลชน และในที่สุดแล้วองค์กรจัดตั้งของนักสังคมนิยมก็มีบทบาทสำคัญในการชี้ขาดผลลัพธ์ของการลุกขึ้นสู้ ในช่วงไม่กี่วันหลังการลุกฮือ บรรดานักสังคมนิยมต่างแยกย้ายกันดำเนินงานในหลายบทบาทหน้าที่ ทั้งปลุกเร้าให้มวลชนออกเดินขบวน, นัดหมายการหยุดงาน, ผลิตธงและอุปกรณ์สำหรับการเดินขบวน, ปราศรัยปลุกเร้ามวลชนที่ออกมาชุมนุม, ขยายความคิดและปลุกเร้าบรรดาทหารในกองทัพ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธด้วย Micheal Melancon นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“นักสังคมนิยมในช่วงนั้นไม่ได้มีแผนการที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการจุดประกายเริ่มต้นการปฏิวัติ รวมถึงความโกลาหลที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ อันจะนำไปสูชัยชนะที่เด็ดขาดชัดเจนในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เลยแม้แต่น้อย จากหลักฐานที่แสดงให้เราเห็นอย่างท่วมท้นนั้น สิ่งเดียวที่พวกเขามีคือความพยายามปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยการพยายามปลุกเร้ามวลชนให้นัดหยุดงานและเดินขบวนลงถนน นอกจากนี้นักสังคมนิยมยังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันให้การเคลื่อนไหวขยับไปสู่การก่อการปฏิวัติ ในแง่นี้เองเราจะเห็นได้ว่าองค์กรจัดตั้งของนักสังคมนิยมเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกระดับขั้นของการเคลื่อนไหวนี้”

การแทรกแซงและเข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวของนักสังคมนิยมไม่เพียงแต่เป็นการสร้างปัจจัยชี้ขาดของชัยชนะในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการก่อรูปร่างรากฐานของอำนาจการปกครองใหม่ที่จะมาแทนที่ระบอบเก่า หลังจากการลุกขึ้นสู้ที่เปโตรกราดนี้ เส้นทางต่อไปของการปฏิวัติจะถูกกำหนดจากความขัดแย้งสำคัญในหมู่นักสังคมนิยมเอง ที่จำต้องเลือกการกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองในปี 1917 ทางเลือกที่ว่านั้นคือ จะสนับสนุนการสถาปนา “การครองอำนาจนำของชนชั้นกรรมาชีพ” หรือ จะหันไปจับมือสร้างพันธมิตรกับบรรดาเสรีนิยมชนชั้นกระฎุมพี?

นักสังคมนิยมต้องการอะไร?

ในเดือนกุมภาพันธ์ และอันที่จริงคือตลอดทั้งปี 1917 ขบวนการสังคมนิยมแยกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือฝ่ายนักสังคมนิยมสายปะนีประนอม และนักสังคมฝ่ายซ้ายจัด ในหมู่กลุ่มพลังฝ่ายสังคมนิยมนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มหลักๆ เช่น พรรคบอลเชวิค, นักปฏิวัติสังคมนิยมฝ่ายซ้าย, กลุ่มนักลัทธิมาร์กซ์อิสระ และกลุ่มปีกซ้ายของแมนเชวิค ในบรรดากลุ่มพลังเหล่านี้พรรคบอลเชวิคถือเป็นกลุ่มพลังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและกลุ่มนี้จะกลายมาเป็นองค์กรนำของกลุ่มนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายจัดของประเทศ ข้อเรียกร้องและยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพวกเขานั้นเรียบง่ายและชัดเจน คือ หนทางเดียวที่เราจะตอบสนองความต้องการของประชาชนและนำพาการปฏิวัติประชาธิปไตยไปสู่ “จุดสิ้นสุด” ได้ นั่นคือเราจะต้องสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างผู้ใช้แรงงานกับชาวนา และร่วมกันเข้ายึดครองอำนาจรัฐ

บอลเชวิคปฏิเสธที่จะจับมือกับบรรดาเสรีนิยม และประกาศว่าระบอบใหม่ของผู้ใช้แรงงานและทหารต้องการคือระบอบที่นำมาซึ่งสันติภาพ ขนมปัง การปฏิรูปการเกษตร กฎหมายชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง และสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย นอกจากนี้พวกเขายังเสนอว่าชนชั้นแรงงานรัสเซียคือผู้ที่จะปลดปล่อยและก่อกำเนิดการปฏิวัติสังคมนิยมระดับโลก คำประกาศของพรรคบอลเชวิคในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งแสดงออกถึงจุดยืนของพรรค

“ภารกิจเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนที่สุดของรัฐบาลชั่วคราวนี้คือการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับชนชั้นแรงงานของประเทศศัตรูด้วยมุมมองที่จะนำพาชนชั้นแรงงานในทุกประเทศให้ลุกขึ้นสู้กับผู้กดขี่และบรรดานายทาสในประเทศของตนเอง ชนชั้นแรงงานในทุกประเทศจะต้องลุกขึ้นสู้เพื่อโค่นล้มระบอบการปกครองของทรราชย์เฉกเช่นระบอบของพระเจ้าซาร์และเครือข่ายบริวารชนชั้นนายทุน เพื่อยุติการก่อสงครามและการสังหารหมู่อันนองเลือดระหว่างบรรดาผู้ถูกกดขี่นี้ลง” (หมายถึง สงครามโลกครั้งที่ 1 – ผู้แปล)

ในห้วงแรกของการปฏิวัติ บรรดานักสังคมนิยมซ้ายจัดสามารถยึดกุมความคิดของมวลชนได้ หากแต่พวกเขาล้มเหลวในการรณรงค์ให้ชนชั้นแรงงานก่อตั้งรัฐบาลปฏิวัติของตนเองขึ้นมา มวลชนในช่วงนั้นกลับเห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางของกลุ่มสังคมนิยมสายประนีประนอมที่เสนอให้เปิดการประชุมสมัชชาที่พระราชวังทอไรด์ (เหมือนเช่นที่เคยทำมาแล้วในปี 1905) และให้ทำการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนเข้าสู่องค์กรทางการเมืองใหม่ คือสภาของคนงานหรือที่รู้จักกันในชื่อ โซเวียต

ในกลุ่มนักสังคมนิยมสายประนีประนอมนี้ พรรคแมนเชวิคถือว่าเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด แน่นอนว่าแมนเชวิคมีมุมมองที่แตกต่างจากบอลเชวิคอย่างมาก พวกเขาเชื่อว่าชนชั้นกระฎุมพีคือพันธมิตรทางการเมืองของชนชั้นแรงงานที่จะขาดเสียไม่ได้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พวกเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าการจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเสรีนิยมคือเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการยับยั้งและเอาชนะภัยคุกคามจากขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติของฝ่ายขวาจัดได้ Noe Zhordania ผู้นำพรรคแมนเชวิคกล่าวว่า “เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงของการปฏิวัติในตอนนี้ก่อนว่ามันประกอบไปด้วยกลุ่มพลังทางการเมืองสามกลุ่ม 1) ชนชั้นกรรมาชีพ 2) กลุ่มกระฎุมพีหัวก้าวหน้า และ 3) กองทัพ … ในแง่นี้เองมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสถาปนาระบอบที่ให้กลุ่มพลังใดกลุ่มพลังหนึ่งขึ้นมาครองอำนาจเพียงกลุ่มเดียว” 

ภายใต้ชุดวิเคราะห์นี้เองนักสังคมนิยมสายประนีประนอมจึงปฏิเสธข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของปีกซ้ายจัดที่เสนอให้สถาปนาระบบโซเวียตขึ้นแทนที่และยึดกุมอำนาจทั้งหมดเอาไว้ ตามยุทธศาสตร์การเมืองของแมนเชวิค ชนชั้นแรงงานไม่ควรจะเข้ามามีส่วนในการบริหารของรัฐบาลจนกว่าจะเข้าสู่ห้วงเวลาของการปฏิวัติสังคมนิยม ซึ่งแมนเชวิคมองว่าเงื่อนไขของการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียนั้นยังไม่สุกงอมมากพอ และในช่วงท้ายของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์นี้เองพรรคแมนเชวิคก็ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้สภาโซเวียต ลงมติรับรองการสถาปนารัฐบาลที่ประกอบไปด้วยชนชั้นกระฎุมพีล้วนๆ ขึ้นมา

นักเสรีนิยมดำเนินการอย่างไร?

ผู้นำกลุ่มเสรีนิยมในรัสเซียไม่ได้ต้องการการปฏิวัติ ในช่วงแรกของการปฏิวัติพวกเขาปฏิเสธที่จะเข้าไปมีส่วนรู้เห็นหรือให้การสนับสนุนในการต่อสู้ กลับกัน พวกเขาพยายามกราบกรานร้องขอให้พระเจ้าซาร์ปฏิรูปรัฐบาลและการปกครองเพื่อที่จะทำให้ผู้ประท้วงสงบลงและจัดระบบระเบียบทางการเมืองใหม่ หากแต่ซาร์นิโคลัสกลับปฏิเสธแผนการปฏิรูปทั้งหมด ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พระเจ้าซาร์มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “อีกแล้วหรือนี่ เจ้าอ้วนร็อดเซนโก้เขียนจดหมายไร้สาระมาถึงฉันไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ทั้งที่ฉันไม่เคยแม้แต่จะคิดเขียนตอบกลับมันเสียด้วยซ้ำ”

เมื่อไม่เหลือทางเลือกอื่น ท้ายที่สุดบรรดาเสรีนิยมจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติเพื่อนที่จะแทรกซึมตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย ผู้นำของกลุ่มเสรีนิยมได้ก่อตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้นมาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และประกาศอ้างว่าตนเองคือผู้ครองอำนาจการปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตามองค์กรนี้ถูกทิ้งไว้ให้เป็นเพียงสถาบันลอยๆ ทางการเมือง อันเนื่องมาจากการที่บรรดาเสรีนิยมไม่มีแรงสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นแรงงานและทหาร นี่เป็นกรณีปกติทั่วไปเพราะหากคุณต้องการมีอำนาจการปกครองที่มีผลบังคับชัดเจน คุณต้องมีกลไกที่ติดอาวุธ และในเปโตรกราดช่วงนั้นบรรดากองกำลังกลไกติดอาวุธทั้งหลายล้วนให้การสนับสนุนโซเวียตมากกว่าองค์กรนี้

อย่างไรก็ตามนับเป็นโชคดีของบรรดาเสรีนิยมเหล่านี้เพราะกลุ่มสังคมนิยมสายประนีประนอมที่นำความคิดมวลชนนั้นไม่มีความต้องการที่จะสถาปนารัฐบาลของชนชั้นแรงงานขึ้นมา ความต้องการยุติสภาวะสุญญากาศและความกังวลต่อสภาวะสุญญากาศทางการเมืองนั้นพาผู้นำของโซเวียตและผู้นำกลุ่มเสรีนิยมมาพบปะเจรจากันในค่ำคืนของวันที่ 1 มีนาคม ผู้นำเสรีนิยมถูกบีบบังคับให้ต้องตอบรับข้อเรียกร้องโซเวียต คือ รัฐบาลชั่วคราวที่ตั้งใหม่นี้จะต้องเปิดให้มีเสรีภาพทางการเมืองและรับรองความเสมอภาคทางกฎหมายให้แก่ประชาชนทุกผู้ทุกคน ยกเลิกระบบตำรวจดั้งเดิมและสร้างระบบตำรวจอาสาขึ้นแทน ปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด นิรโทษกรรมให้แก่ทหารทุกคนที่เข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติ และเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

ข้อเรียกร้องนี้นับว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญ หากทว่าปมปัญหาเรื่องสงครามและการปฏิรูปที่ดินนั้นดูเหมือนจะไม่ถูกยกมาพูดถึงในการเจรจา เช่นเดียวกันปมปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่บรรดาเสรีนิยมยังคงพยายามจะรักษาเอาไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทน ระเบียบและกฎหมาย ของสังคม ก็ไม่ถูกยกขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจาเช่นกัน ซาร์นิโคลัสที่ 2 ประกาศสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม และประกาศยกราชสมบัติและราชบัลลังก์ให้แก่พระเชษฐาคือ แกรนด์ดยุก มิคาอิล อเล็กซันโดรวิช อย่างไรก็ตามการเดินขบวนประท้วงของประชาชนอย่างรุนแรงทำให้ท่านแกรนด์ดยุกประกาศสละสิทธิอันชอบธรรมนี้ในวันถัดมา

ภายหลังการปกครองจักวรรดิอย่างยาวนานนับศตวรรษ ราชวงศ์โรมานอฟก็ถึงกัลปาวสาน บันทึกของทหารนายหนึ่งแสดงออกถึงบรรยากาศความปีติยินดีอิ่มเอมใจของสังคมในช่วงนั้นว่า 

“นั่นคือห้วงเวลาที่ ใครสักคนต้องการจะกอดโลกทั้งใบเอาไว้ด้วยความสุขสม มันคือความปีติออันเปี่ยมล้นที่ทำให้เขาอยากจะพรมจูบและโอบกอดมนุษย์ทุกคนอย่างไม่รู้สิ้นสุด” นักข่าวชาวอังกฤษของ Manchester Guardian ก็เขียนรายงานที่ยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า “ประเทศทั้งประเทศกำลังบ้าคลั่งด้วยความปีติยินดี พวกเขาโบกธงสีแดงไปทั่วทุกเมืองพร้อมกันตะโกนร้องเพลง ลามาซาแยสนี่มันเหลือเชื่อยิ่งกว่าภาพฝันของผมเสียอีก และผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง”

ระบอบ “อำนาจคู่ขนาน” ล้มเหลวได้อย่างไร?

ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 1917 โครงสร้างพื้นฐานของ “ระบบอำนาจคู่ขนาน” ได้ถูกก่อร่างขึ้นทั้งในเมืองหลวงและกระจายออกไปทั่วทั้งจักรวรรดิรัสเซีย รัฐบาลชั่วคราวนั้นมีอำนาจการปกครองเพียงในนามแต่โซเวียตคือผู้ถือครองอำนาจที่แท้จริง และเนื่องด้วยการที่รัฐบาลของกลุ่มเสรีนิยมไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมันจึงแปลกแยกตัวเองออกมาจากชนชั้นล่าง ความอยู่รอดของรัฐบาลนี้ฝากความหวังเอาไว้กับแรงสนับสนุนจากนักสังคมสายประนีประนอม ในสายตาของแรงงานและทหารที่กระตือรือล้นทางการเมือง พวกเขาเห็นว่าโซเวียตคือองค์กรทางการเมืองที่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริง และรัฐบาลของชนชั้นกระฎุมพีนั้นสมควรจะได้รับการสนับสนุนก็ต่อเมื่อมันยินยอมรับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของชนชั้นล่างเท่านั้น ดังนั้นเองชนชั้นแรงงานและผู้แทนของชนชั้นแรงงานในโซเวียตจึงควรเข้าควบคุมและใช้อำนาจนี้เหนือรัฐบาลเพื่อที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าขข้อเรียกร้องของพวกเขาจะได้รับการตอบสนอง

ในช่วงแรกพรรคแมนเชวิคพยายามประนีประนอมกับพลังฝ่ายค้านและพยายามใช้ทุกวิถีทางผลักดันให้รัฐบาลกระฎุมพีดำเนินการไปในทิศทางที่ก้าวหน้ามากขึ้น ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการปฏิวัติ พวกเขาปฏิเสธข้อเสนอของบรรดาเสรีนิยมที่เรียกร้องให้รักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ นอกจากนั้นพวกเขายังยืนยันว่าโซเวียตคือองค์กรที่มีอำนาจทางการเมืองในการควบคุมจัดการกองทัพ รวมทั้งพวกเขายังพยายามอย่างยิ่งยวดในการเริ่มการรณรงค์เพื่อกดดันรัสเซีย และรัฐบาลของชาติอื่นๆ ให้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 

ระบบอำนาจคู่ขนาน ของพรรคแมนเชวิคนี้ยังคงสามารถทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมันประกอบด้วยปัจจัยสองประการ คือ 1) รัฐบาลกระฎุมพีต้องมีความสามารถตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของประชาชนได้ และ 2) ชนชั้นกรรมาชีพต้องมีความอดทนมากพอที่จะไม่เร่งเร้าการปฏิวัติให้รุดหน้าเร็วเกินไป และไกลเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีชนชั้นไหนที่สามารถทำตามเงื่อนไขที่แมนเชวิคคาดหวังได้เลย ในขณะที่โซเวียตรณรงค์เพื่อยุติสงครามและเรียกหาสันติภาพ หากแต่รัฐบาลเสรีนิยมรัสเซียซึ่งได้รับการหนุนหลังจากจักรวรรดินิยมอังกฤษ และฝรั่งเศส ยังคงเดินหน้าทำสงครามต่อ พร้อมประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมจะเกิดขึ้นพร้อมกับชัยชนะทางการทหาร และเมื่อข่าวเรื่องแผนการดำเนินการในสงครามของรัฐบาลเสรีนิยมแพร่กระจายออกไปในเดือนเมษายน มันก็ตามมาด้วยการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลและการก่อจราจลในเมืองหลวง 

เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า “วิกฤติการณ์เดือนเมษายน” อันเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลชั่วคราวของกลุ่มกระฎุมพีเสรีนิยมไม่มีความชอบธรรมและแรงสนับสนุนใดๆในการปกครอง ถึงตอนนี้เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือการปรับโครงสร้างการบริหารราชการใหม่ รวมถึงการปรับยุทธศาสตร์ของแมนเชวิคด้วย ตอนนี้เองแมนเชวิคถูกบีบให้เลือกระหว่างการยืนยันหลักการที่จะเป็นฝ่ายค้านต่อรัฐบาลชนชั้นนายทุนในสภาต่อไป และการยืนยันคำมั่นสัญญาในการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเสรีนิยมโดยการเข้าร่วมกับรัฐบาล ผลที่ออกมาก็คือพรรคแมนเชวิคเลือกข้อหลัง

การตัดสินใจเข้าร่วมฝ่ายรัฐบาลชั่วคราวของกลุ่มสังคมนิยมสายประนีประนอมแบบแมนเชวิคในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อแมนเชวิคพยายามกระโดดเข้าช่วยรัฐบาลที่เป็นอัมพาตเพื่อรักษาความเป็นพันธมิตรกับนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยม เมื่อนั้นเองพวกเขาก็ตัดขาดตัวเองออกจากฐานมวลชนสนับสนุนของตนเองอย่างรวดเร็ว และนี่ถือเป็นการเร่งเร้าให้เกิดการขยับยกระดับสถานการณ์ไปสู่การแตกหักทางการเมืองที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังที่ Micheal Melancon บันทึกเอาไว้ว่า

“ความสงสัยและข้อกังขาที่มีต่อบทบาทฝ่ายค้านต่อรัฐบาลชนชั้นกระฎุมพีของแมนเชวิค หรือต่อพันธมิตรทางการเมืองในรัฐบาลผสมของชนชั้นกระฎุมพี-นักสังคมนิยมสายประนีประนอมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการปลุกระดมหรือการโฆษณาของฝ่ายบอลเชวิคเลยแม้แต่น้อย หากแต่ความสงสัยและข้อกังขานี่ดำรงอยู่มาเนิ่นนานแล้วในโลกทัศน์ของนักสังคมนิยมและชนชั้นแรงงานผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง บทบาทของบอลเชวิคนั้นมีแต่เพียงการเคลื่อนไหวเพื่อสะสมแรงสนับสนุนโดยการเก็บเกี่ยวผลพวงจากข้อความคิดที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนซึ่งมีต่อผลงานของรัฐบาลชั่วคราวที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องขั้นต่ำของมวลชน และเมื่อผู้นำรัฐบาลกับผู้นำแมนเชวิคประกาศร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน ผลพวงทั้งหลายก็ตกสู่บอลเชวิคอย่างเต็มที่”

และแม้ว่านโยบายรวมถึงกลยุทธ์ทางการเมืองของบอลเชวิคจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากในช่วงเริ่มต้นปี 1917 หากแต่ข้อความทางการเมืองพื้นฐานทั่วไปของพรรคยังคงยืนยันข้อเรียกร้องจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ นั่นคือการยุติสงคราม และตอบสนองความต้องการของประชาชน ชนชั้นแรงงานจะต้องเป็นผู้ถือครองอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง ข้อเรียกร้องอันเป็นวลีติดปากที่พูดกันทั่วไปคือ คืนอำนาจสูงสุดทั้งมวลสู่โซเวียต

ข้อความสื่อสารโดยตรงถึงความต้องการและความตึงเครียดที่พร้อมผลักดันให้ขบวนการเคลื่อนไหวเดินหน้าแตกหักกับชนชั้นกระฎุมพี ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกัน พรรคบอลเชวิคก็ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการยึดกุมเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ของประเทศ และถัดมาในเดือนตุลาคม 1917 พวกเขาก็เข้ายึดครองอำนาจรัฐในการปฏิวัติเดือนตุลา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า