ผู้คนยังเดินทางต่อ! ยุบพรรค “อนาคตใหม่” ไม่สำเร็จ – เปิดภารกิจ “คณะก้าวหน้า” รณรงค์ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ – สร้างอคาเดมีนักการเมืองท้องถิ่น

21 กุมภาพันธ์ 2565

“นี่เป็นเวลาพิสูจน์ว่าพวกเขาทำลายเราไม่ได้ อย่าเปลี่ยนใจ อย่าหมดไฟ อย่าหมดฝัน ยานพาหนะที่ชื่อพรรคอนาคตใหม่สิ้นสุดลง แต่ผู้คนยังเดินทางต่อ” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันคือประธานคณะก้าวหน้า ประกาศลั่นในการแถลงข่าว หลังจากที่ทราบผลว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่

21 กุมภาพันธ์ 2563 หรือวันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว คือวันที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเสียใจมากที่สุดวันหนึ่ง เพราะพรรคการเมืองที่ชื่อ “อนาคตใหม่” ที่พวกเขาร่วมกันสร้างมากับมือ ผ่านสนามเลือกตั้งครั้งแรกมีผู้ให้การสนับสนุนมากกว่า 6.3 ล้านเสียง มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กว่า 80 คน แต่กลับถูกคน 7 คน ใส่ชุดครุยขึ้นไปนั่งอยู่บนบัลลังก์ กระทำการในนามของศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติเสียงข้างมากให้ยุบพรรค

2 ปีผ่านไป กลับไปทวนคำของธนาธรที่บอกว่า “ผู้คนยังเดินทางต่อ” เป็นที่ประจักษ์ชัด

เพราะวันนี้ แม้กรรมการบริหารของพรรคอนาคตใหม่จะถูกตัดสิทธิ์ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ ส.ส.ที่ยังอยู่ก็ได้ไปรวมกันในนาม “พรรคก้าวไกล” และมีผลงานในสภาฯ ตลอดช่วงที่ผ่านมาอย่างโดดเด่น จนอาจกล่าวได้ว่า แม้ขาดธนาธร, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิช ฯลฯ ก็ไม่ได้ทำให้ความเข้มข้นในการทำหน้าที่ลดลงแต่อย่างใด หากแต่กลับแหลมคมอย่างยิ่ง ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทยแบบนี้ และเรื่องนี้ ประชาชนตัดสินเองได้ว่าจริงหรือไม่

ขณะที่ “คณะก้าวหน้า” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เกิดขึ้นหลังการยุบพรรค ก็ประกาศชัดว่าจะมาทำงาน “การเมืองท้องถิ่น” และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลงานการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชนะเลือกตั้งในนามคณะก้าวหน้า ก็ได้รับคำชื่นชม แสดงให้เห็นฝีมือในการบริหาร ไม่ว่าจะเป็น น้ำประปาดื่มได้, จัดการขยะแบบก้าวหน้า, เทคโนโลยีรับเรื่องร้องเรียน, การท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน เป็นต้น

สานต่อภารกิจและอุดมการณ์ “อนาคตใหม่”
“ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น”

ไม่ใช่แต่เพียงการสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ สมาชิกสภา อปท. แต่ภารกิจอย่างการทำงานทางความคิด ให้คนเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แก้ไขกฎหมายให้ท้องถิ่นได้รับความเป็นธรรมและประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

นี่จึงเป็นที่มา ทำให้คณะก้าวหน้าเตรียมรณรงค์เข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ “หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” เล็งคิกออฟวันที่ 1 เมษายน 2565 ซึ่งครบรอบ 130 ปี ที่ รัชกาลที่ 5 ทำการปฏิรูปจัดระเบียบการปกครองครั้งใหญ่ รวบอำนาจสู่ส่วนกลาง สร้างรัฐสยามที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีมรดกตกทอดคือรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะอุ้ยอ้ายและไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างในปัจจุบันนี้

1 เมษายน 2565 ถึงเวลาที่ต้อง “ปลดล็อก” !

โดยรูปแบบจะเป็นการเสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ยกเลิก “หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น” มาตรา 249 ถึงมาตรา 254 จากนั้น บัญญัติ “หมวด14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 249 ถึงมาตรา 254/4 เข้าไปใหม่ โดยนำประเด็นสำคัญของการรณรงค์ครั้งนี้ ไปยกร่างเป็นรายมาตราต่อไป

วัตถุประสงค์ของการรณรงค์ครั้งนี้มีอยู่ 2 เรื่องสำคัญ นั่นคือ

1.ปักธงเรื่องกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นนโยบายหลักตั้งแต่ครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่ให้ชื่อนโยบายว่า “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” ซึ่งจริงอยู่ว่าแต่ละพรรคการเมืองอาจพูดเรื่องกระจายอำนาจ แต่ท้ายที่สุดพอมีอำนาจ พอได้ไปดูแลกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ แล้ว ก็ไม่มีใครอยากนำอำนาจนั้นไปให้กับท้องถิ่น เพราะตัวเองกำลังมีมีความสุข มีอำนาจ มีบุคคลากร มีงบประมาณ และใช้มันอยู่

ขณะที่ความคิดแบบอนาคตใหม่คือ เราจะขอไปมีอำนาจเพื่อเสียอำนาจตัวเองนี้ไปให้กับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไป ประเทศไทยเดินหน้าต่อไม่ได้ การกระจายอำนาจแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชอบอ้างนั้นผิด การไปสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำสิ่งต่างๆ แล้วบอกว่าเป็นกระจายอำนาจนั้น ไม่ใช่ นั่นคือระบบ “เจ้าเมืองกินเมือง” ที่ต้องฟังส่วนกลาง ไม่ใช่รูปแบบที่อนาคตใหม่อยากเห็น

2.หลอมรวมพลังจากท้องถิ่นกว่า 7,800 แห่งทั่งประเทศ เพราะทุกวันนี้ เมื่อไปดูในส่วนของผู้บริหารท้องถิ่น แม้มีความคิดสร้างสรรค์มีโครงการดีๆ อยากทำให้ชีวิตความอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่มีงบประมาณ ติดขัดเรื่องอำนาจที่ทับซ้อนกับราชการส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค รวมไปถึงไม่มีบุคลากร ดังนั้น เชื่อว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะเป็นการติดอาวุธให้กับท้องถิ่น ซึ่งแม้ผู้บริหารท้องถิ่นอาจจะไม่ได้เป็นคนของคณะก้าวหน้า แต่เรื่องนี้ย่อมต้องเห็นตรงกันอย่างแน่นอน

ยิ่งหากไปดูสภาพปัญหาของการกระจายอำนาจปัจจุบัน เราจะพบว่า อำนาจของส่วนกลาง/ภูมิภาคนั้น จะซ้ำซ้อนกับท้องถิ่น ภารกิจต่างๆ ทับกันไปหมด แต่ด้วยงบประมาณและบุคลากรที่มากกว่า ก็เลยทำให้ส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค “อยู่เหนือ” ท้องถิ่นไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ 2542 ไม่มีสภาพบังคับ การถ่ายโอนภารกิจต่างๆ ให้ท้องถิ่นเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด

ยังมีเรื่องของการแทรกแซงท้องถิ่น ผ่านการออกระเบียบ คำสั่ง จนทำให้ท้องถิ่นไม่มีอิสระ เรื่องการจัดแบ่งรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ภาษีที่เก็บได้ก็เป็นแต่เพียงภาษีตัวเล็กๆ ท้องถิ่นที่มีความคิดอ่านอยากทำอะไรดีๆ กลับไม่มีงบประมาณ นอกจากนี้ที่น่าเศร้าคือ ท้องถิ่นยังเป็นเพียง “ท่อผ่านงบประมาณ” ให้ส่วนกลางไปดำเนินโครงการตามที่กำหนดมาแล้ว

อีกหนึ่งสภาพปัญหา ซึ่งเป็นข้อพิพาทขึ้นโรงขึ้นศาล จนทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นเข็ดขยาดไม่กล้าทำอะไร นั่นก็คือการตีความกฎหมายของหลายองค์กรที่ไป”จำกัด / กำจัด” อำนาจท้องถิ่น อาทิ กรณีฉีดวัคซีนหมาแมว ที่สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บอกว่าท้องถิ่นไม่มีอำนาจ และที่ทำแล้วต้องนำเงินไปคืนเพราะใช้เงินผิดประเภท ซึ่งนี่คือวิธีตีความแบบนี้ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ

เหล่านี้คือสิ่งที่ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น จะเข้าไปจัดการ


“อคาเดมีนักการเมืองท้องถิ่น”
พาหนะสำหรับกลับไป “เปลี่ยนแปลง” บ้านตัวเอง

“การยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทวงคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” เป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หากอยากเห็นประเทศไทยเดินหน้า หากอยากเห็นประเทศไทยพัฒนาในทางที่ถูกที่ควร นี่คือสิ่งที่จะต้องช่วยกันรณรงค์และเข้าชื่อแก้ไขกฎหมายนี้ร่วมกัน

ทั้งนี้ หลังจากคิกออฟแคมเปญ ในวันที่ 1 เมษายน 2565 แล้ว จะมีการรณรงค์ทั่วประเทศต่อไปอีกราว 3 เดือน จากนั้นยื่นรายชื่อต่อประธานรัฐสภา โดยคาดว่าในเดือนพฤศจิกายน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเข้าสู่การประชุมของรัฐสภา โดยมีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มาร่วมพิจารณา

แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ “คณะก้าวหน้า” ก็ยังมีภารกิจเกี่ยวกับท้องถิ่นที่ยังต้องทำควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมบริหารท้องถิ่นที่ชนะการเลือกตั้งทั้งในระดับเทศบาล และระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึง การเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง “นายกเมืองพัทยา” และ “สมาชิกสภาเมืองพัทยา”

และอีกหนึ่งภารกิจที่ประกาศชัดแล้วว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ นั่นคือ “อคาเดมีนักการเมืองท้องถิ่น” ที่จะมี “หลักสูตร” สร้างนักการเมืองท้องถิ่นแบบอนาคตใหม่

สำหรับหลักคิดแรกของสิ่งที่เรียกว่า “อคาเดมี” มาจากความคาดหวังที่อยากจะเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นอยากพัฒนา อยากเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดของตัวเอง ได้มีพื้นที่ อคาเดมีจะทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นแพล็ตฟอร์ม หรือยานพาหนะ ให้เยาวชนคนหนุ่มสาวขึ้นมาแล้วเดินทางไปด้วยกัน ใช้ยานพาหนะนี้กลับไปทำงานการเมืองท้องถิ่นที่บ้านตัวเอง กลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง

และนอกจากนี้ยังเป็นการได้ทำงานทางความคิด อุดมการณ์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การันตีความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานต่อไปด้วยในอนาคต

เพราะลำพังจำนวนผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้ จำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มี ไม่ใช่สิ่งสำคัญ “จำนวน” อย่างเดียวไม่อาจเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่นให้ดีขึ้นได้ ถ้าไม่มีการทำงานทางความคิดร่วมกัน

และจากการที่ผ่านสนามเลือกตั้งท้องถิ่นระดับต่างๆ มาแล้ว 1 รอบ ทำให้ได้องค์ความรู้มาแล้วระดับหนึ่ง มีประสบการณ์ มีคลังข้อมูล มีชุดนโยบาย และองค์ความรู้ต่างๆ อยู่ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกสัก 2-3 รอบ ได้บริหารท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ ในสภาพพื้นที่ต่างๆ อีกสัก 2-3 รอบ คณะก้าวหน้ามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า น่าจะมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

และหลักสูตร “อคาเดมีนักการเมืองท้องถิ่น” ก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เติมเต็มนักการเมืองท้องถิ่นแบบอนาคตใหม่เข้าไปเรื่อยๆ เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่นให้เป็นแบบใหม่

ในเบื้องต้น คณะก้าวหน้าตั้งใจที่จะจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้ที่ตั้งใจจะเข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่น ได้พัฒนาตัวเอง ในทักษะต่างๆ เช่น อุดมการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด การยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทักษะผู้บริหารท้องถิ่นแบบก้าวหน้า หรือ การใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีในการบริหารท้องถิ่น

ทั้งนี้ หลักสูตรและหัวข้อการบรรยายต่างๆ ได้ร่างออกมาคร่าวๆ แล้ว มีนักวิชาการการชั้นนำ, ผู้บริหารท้องถิ่นชั้นแนวหน้า ร่วมเป็นวิทยากรคับคั่ง โดยจะเป็นหลักสูตรรูปแบบ การบรรยาย และ Workshop ดูงานในสถานที่จริง รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 97 ชั่วโมง

ยกตัวอย่างหัวข้อการบรรยาย อาทิ ประวัติศาสตร์การกำเนิดรัฐไทย, ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่, Dinner Talk ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย, ประวัติศาสตร์การกระจายอำนาจไทย, รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง, กฎหมายปกครอง, กฎหมายปกครองท้องถิ่น, คดีปกครองท้องถิ่น, การคลังท้องถิ่น, การกำกับดูแลและการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, การจัดทำนโยบาย ข้อบัญญัติท้องถิ่นและการประชุม แผนยุทธศาสตร์, การปกครองท้องถิ่นเปรียบเทียบ, การบริหารท้องถิ่นไทย : ข้อจำกัด อุปสรรค ความท้าทาย ฯลฯ

พร้อมเปิดรับผู้สนใจ ร่วม “อคาเดมีนักการเมืองท้องถิ่น” ของคณะก้าวหน้า อีกไม่นานเกินรอ…

….

และนี่คือการ “สืบสานภารกิจและอุดมการณ์พรรคอนาคตใหม่” นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ผู้คนยังคงเดินทางต่อ”

2 ปีผ่านไป ชัดเจนแล้วว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่ทำไม่สำเร็จ !

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า