ปลดตะขอ เปลือยเบื้องหลังชีวิตหลากมิติของคนงานบริลเลียนท์

23 ธันวาคม 2564

ขาเรียวยาวของนางฟ้าวิกตอเรีย ซีเคร็ต (Victoria’s Secret) สาวก้าวฉับๆ บนรันเวย์ เนินหน้าอกปรากฏชุดชั้นในลวดลายงดงาม ดีไซน์โก้หรูราคาแสนแพงล้อแสงไฟสปอตไลท์ที่ส่องใส่พวกเธอ เบื้องหลังแขนทั้งสองข้างคือปีกนางฟ้าที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของโชว์ บรรดานางแบบดังระดับโลกหลายคนต่างแจ้งเกิดบนเวทีแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น Sui He นางแบบสาวชาวเอเชีย พี่น้องตระกูล Hadid (Gigi และ Bella) Lily Aldridge ผู้มีร่างกายที่งดงาม หรือ Tyra Bank ตำนานประจำเวที เป็นต้น นี่คือภาพจดจำของแบรนด์ชุดชั้นใน วิกตอเรีย ซีเคร็ต แม้ว่าปัจจุบันการเดินแบบจะยุติลงช่วงคราว แต่นางฟ้าและชุดชั้นในของพวกเธอได้กลายเป็นความทรงจำของผู้คนค่อนโลก แต่เบื้องหลังภาพความสำเร็จของแบรนด์ชุดชั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่การแสดงโชว์ของเหล่านางฟ้าเท่านั้น แต่ยังมีคนทำงานเบื้องหลังอีกนับพันนับหมื่นชีวิต ที่ทำหน้าที่ตัดเย็บสินค้าของแบรนด์เพื่อตอบสนองความต้องการและความนิยมของคนทั่วโลก

อีกฟากโลกหนึ่งของทวีปอเมริกา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ประเทศไทย” เป็นอีกฐานการผลิตหนึ่งของชุดชั้นแบรนด์วิกตอเรีย ซีเคร็ต ผ่านรูปแบบการรับจ้างผลิตภายใต้บริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล โดยมีนายจ้างชาวฮ่องกงนำโดย Angie Lau และ Emily Lau เป็นเจ้าของ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทปิดกิจการกะทันหัน และเลิกจ้างพนักงานบริลเลียนท์กว่า 1,300 ราย โดยไม่จ่ายค่าชดเชยมูลค่ากว่า 200 ร้อยล้านบาท ทำให้คนงานทั้งหมดเผชิญการตกงาน การสูญเสียรายได้ โอกาส รวมถึง คำสัญญาที่ทางบริษัทได้มีไว้ให้กับพวกเขาทั้งหมด

แน่นอนว่าเรื่องราวของนายจ้างปิดโรงงานหนีพนักงาน ทิ้งความอยุติธรรมและความเจ็บแค้นใจไว้เบื้องหลัง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา แม้การปิดโรงงานเนื่องจากขาดทุนจะเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ในทางธุรกิจ แต่การปิดประตูโรงงานใส่หน้าพนักงานผู้สร้างความมั่งคั่งให้เจ้าของบริษัทมานานนับสิบปี โดยไม่จ่ายเงินชดเชย เป็นเรื่องที่ผิดทั้งกฎหมายและหลักมนุษยธรรม

คนงานบางคนทำงานเพื่อรับใช้บริษัทแห่งนี้มายาวนานเกือบ 30 ปี ครึ่งหนึ่งของชีวิตทั้งหมดที่พวกเขามี เริ่มต้นหลังจักรเย็บผ้า เส้นด้าย และชุดชั้นใน ตื่นแต่เช้าตรู่ยามพระอาทิตย์ขึ้น 7 โมงเช้า รถมารับไปยังโรงงาน เริ่มงานจนถึง 4 โมงเย็น ก่อนจะตามด้วยการทำงานล่วงเวลา หรือที่ใครหลายคนเรียกติดปากว่า “ทำโอ” ชีวิตของพวกเขาดำเนินไปเรื่อยๆ หมุนวนราวกับจั่นหรือกงล้อที่หนูตัวเล็กๆ ใช้วิ่ง เนิ่นนานจนรู้สึกตัวก็มาถึงวันที่ต้องเกษียณตัวเองจากการเป็นพนักงานตัดเย็บของโรงงานชุดชั้นในเสียแล้ว แต่ปลายทางไม่ใช่ความสุขหรือสวัสดิภาพอันสมหวัง ปลายทางไม่ใช่การพักผ่อนหลังจากการทำงานหนักมาอย่างยาวนาน ผ่านกระแสธารของเวลาและรูปแบบการแข่งขันและสะสมทุนทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ปลายทางของพวกเขา คือ เรื่องอยุติธรรมการหักหลังจากนายทุน และการไร้ความสามารถของกระทรวงแรงงาน ที่ไม่สามารถพิทักษ์และปกป้องคนที่พวกเขาจะต้องดูแลให้ถึงที่สุดได้

เรื่องต่อไปนี้คือชีวิตหลากมิติของพนักงานบริษัทบริลเลียนท์ ผู้มีฝ่ามือเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ผู้อื่น และถูกบังคับให้โอบกอดความทุกข์จากความอยุติธรรม

เกือบ 30 ปีหลังจักรเย็บผ้า

“25 ปีค่ะ จำได้ดีเพราะถ้าครบ 25 ปี เราก็จะได้เหรียญรางวัลอายุงานครบ 25 ปี เป็นรางวัลที่บริษัทตั้งเอาไว้ เราได้ไปเมื่อปีที่แล้ว กรกฎา 2563 นั่นเป็นการทำงานครบ 25 ปีเต็ม ปัจจุบันเราก็อายุ 48 ย่าง 49 ปี” เตือนใจ แวงคำ หนึ่งในพนักงานบริลเลียนท์บอกกับเรา

“ทำมาตั้งแต่ 2535 ตอนนี้ก็ 27 ปี เกือบ 30 ปี เราเริ่มทำงานมาตั้งแต่อายุ 22 ปี ยาวนานมาก (เน้นเสียง) ถ้าพูดกันตามเรื่องจริง เราทำงาน เราไม่ได้มีเงินเก็บอะไรเลย ช่วงที่เรามีลูกเราส่งเสียเขาเรียน ตอนนี้พ่อแม่เราแก่ลงทุกวัน เราก็ต้องส่งเสียเขา ต้องดูแลเขาด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะมีเงินเก็บก็ยังยากอยู่ เรียกว่าเดือนชนเดือน ต้องเลี้ยงลูก ถ้าว่ากันตามจริงมันแทบไม่มีเงินเหลือเก็บ

ตอนแรกเราก็วางแผนไว้แค่ว่า ส่งลูกเรียนให้จบ แล้วมีเงินเก็บสักก้อน เพื่อใช้ตอนเกษียณ แล้วก็มีเงินที่เราสะสมไว้กับประกันสังคม ก็อาจจะมีบ้าง แล้วก็มีเงินประกันชีวิตที่เราทำไว้ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ณ ตอนนี้ อีก 5 ปีก็จะเกษียณแล้ว โรงงานก็ปิดไปก่อน เราก็อยากจะมีเงินชดเชยไว้ใช้จ่าย”

ฝีจักรที่เย็บถี่

“ช่วงที่เขาต้องการยอดให้ตรงตามเป้า หรือลูกค้าสั่งมาช่วงใกล้ๆ เทศกาล แล้วก็อีกช่วง คือ ช่วงแฟชั่น ที่เขาจะต้องส่งสินค้าสำหรับแบรนด์เนม ช่วงแบบนี้ก็จะเร่งงานหน่อย เรื่องแบรนด์เนมเราทำมาตลอด ลูกค้าสั่งแล้ว ออเดอร์ก็ต้องออก อย่างในระบบเขาขายในท้องตลาดแล้ว พวกโปรโมชั่นในออนไลน์ก็ด้วย เพราะว่าสินค้าเราจะทำกองไว้ เพื่อที่ว่าเขาจะเอาไปส่งลูกค้าช่วงแฟชั่น จริงๆ การทำงานมันไม่ใช่แค่ช่วงแฟชั่นนะคะที่ทำงานหนัก แต่วันหนึ่งๆ บริษัทเขาจะตั้งเป้าหมายว่า พนักงานจะต้องทำงานให้ได้ 480 นาที ที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้เขาได้ผลกำไรตรงเป้า ชั่วโมงหนึ่งมี 60 นาที 8 ชั่วโมงก็คือ 480 นาที เพราะว่าในระบบการทำงาน ถ้าเราทำงานได้ไม่ถึง 480 นาที OEE (Overall Equipment Effectiveness) ของบริษัทจะได้ 70% ถ้าเราได้ 480 ปริมาณ OEE ของเขาก็เพิ่มขึ้น นั่นคือผลกำไรที่เขาได้จากตรงนั้นไป”

เรื่องเล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าฝ่ามือสองข้างของพนักงานบริลเลี่ยนท์ คือ เรี่ยวแรงสำคัญให้การสร้างดอกผลและกำไรมหาศาลให้กับนายทุน ไม่มี “บุญคุณ” หรือ “พระคุณ” ในความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง แต่เป็นความสัมพันธ์ต่างตอบแทนต่างหาก หากฝ่ายใดถูกเอาเปรียบ การเรียกร้องสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ได้ผิดแปลกอะไร

ชุดชั้นในของ “พวกเขา”

“เป้าหมายการทำงานคือ 480 ชั่วโมง คนงานบางคนเขาก็จะมีแรงจูงใจที่ทำให้ต้องเร่งเป้า เพื่อให้ได้เงินเพิ่ม บางทีรถรับส่งมาส่ง เข้างาน 7 โมง บางทีก็เข้างาน 6 โมงครึ่ง จะไปนั่งทานข้าวก็กลัว กลัวจะไม่ได้งานตามเป้า กลัวจะเสียโอกาสในการทำงานตามเป้า อาหารเช้าก็ไม่ได้ทาน การใช้ชีวิตมันต่างกัน บางคนก็ตั้งใจมาก ว่าจะเหมาให้ได้ 20,000

ถ้า OEE คุณได้ 480 ชั่วโมง คุณก็จะมีเงินรางวัลอะไรตามออกมา ทำให้คนสู้แบบไม่ต้องห่วงตัวเอง มันแล้วแต่โอกาสที่จะได้ทำของแต่ละคน

การเย็บชุดชั้นใน มันจะมีหลาย โอเปอร์เรชั่น (operation) อย่างต่ำก็จะมี 40 โอเปอร์เรชั่น มันจะมีสาย เต้า บราวาย ตะขอ แคนเนิ่น(ล็อคกลาง) มียัดไข่ด้วยอะไรสารพัด มันก็แล้วแต่สไตล์งานด้วย คนหนึ่งทำ 1 โอเปอร์เรชั่น เสื้อชั้นใน 1 ตัว มันก็จะมีโอเปอร์เรชั่นที่แตกต่างกัน พนักงาน 1 คน อาจจะได้ทำ 2-3 โอเปอร์เรชั่น ส่วนตัวเรา เรานั่งเข็มเดี่ยว เย็บล็อคกลางก็จะมีโอกาสที่จะได้ 480 ชั่วโมง หรือไม่มีโอกาสเลย แล้วแต่โอเปอร์เรชั่นที่ได้ อย่างร้อยสาย เย็บไข่(ฟองน้ำ) ที่เขาเย็บเพื่อเอาไว้พยุงหน้าอก บราวาย (bra Y) คือการสอดเหล็กเข้าไปพยุงชุดชั้นใน หรือเย็บปิดซ้ายขวา นั่นก็เป็นอีก 1 โอเปอร์เรชั่น ตรงนี้มันก็มี 3-4 โอเปอร์เรชั่นเข้าไปแล้ว หรือสายไหล่ก็เยอะเหมือนกันนะไม่ธรรมดา (ยิ้มและหัวเราะ)”

หนึ่งในคนงานบริลเลียนท์เล่าถึงเรื่องเชิงเทคนิคให้กับเราฟังอย่างน่าสนใจ โดยตลอดการเล่าเรื่องของเธอเจือปนไปด้วยน้ำเสียงของความสนุกและภาคภูมิใจในตัวงาน แม้จะเป็นชุดชั้นในที่ซุกซ่อนอยู่ในสุดของเรือนร่างมนุษย์ ไม่มีผู้ใดพบเห็น แต่อย่างน้อยการทำงานอย่างตั้งใจและความรักในสิ่งที่ทำของเธอ แม้ในวันที่ไม่มีบริลเลียนท์ ก็จะถูกรับรู้ได้เป็นอย่างสาธารณะ

ชุดชั้นในของ “พวกเธอ”

“ชุดชั้นในตัวล่าสุดที่ซื้อ ก็เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เราเปลี่ยนชุดชั้นในไม่บ่อย ปกติเสื้อในมันจะไม่ขาด มันจะมีแต่ยืด ทั้งๆ ที่เราเป็นคนผลิตแต่ก็ไม่สามารถซื้อชุดชั้นในใส่ได้ เพราะว่าราคามันสูง ถ้าเป็นของ Victoria’s Secret มันจะหลักพันขึ้น เรารู้สึกว่ามันแพงเกินไป แต่ถ้าเป็นตอน triump สิ้นปีเขาจะเอามา clearance มาให้พนักงานมันก็จะเหลือราคาตัวละ 100 เราก็ถึงจะซื้อ ส่วนมากจะเป็นของจากเวียดนาม มาขายในไทย ไม่ใช่ของที่เราผลิต ซึ่งของที่เราผลิตจะส่งออก เหมือนกับเขาบอกว่า ไม่ใช่ของที่เราผลิต ฝีมือคนไทยจะละเอียด ต้องส่งออก สมัยเป็นไทรอัมจะลดราคาทุกปี เราจะไม่มีสิทธิซื้อ แพงกว่านี้ พนักงานที่อยู่ตามชอปเคยเล่าให้ฟังว่า นักท่องเที่ยวจะถามหาชุดชั้นใน made in thailand”

“ก็มีช่วงที่เอามาลดราคา ซื้อบ้างเล็กน้อย เราก็ซื้อชุดชั้นในไม่บ่อย เพราะชุดชั้นในของที่นี่ เขาก็ลดประมาณ 2 ครั้ง บริลเลียนท์นี่เพิ่งเปิดได้ 17 เดือน ก็ยังไม่มีมาลด ที่ใช้อยู่ก็เป็นชุดชั้นในสมัยไทรอัมพ์ บอดี้เลย พวกเสื้อผ้าก็ซื้อไม่ค่อยบ่อยค่ะ ซื้อเฉพาะชุดเทศกาลหรืองานสำคัญ โบนัสออก เราถึงจะได้ซื้อเสื้อผ้าใส่ เหมือนกับการให้รางวัลตัวเอง ส่วนหนึ่งก็คือมียูนิฟอร์ม มีเสื้อห้าตัว เราทำงาน 6 วัน ต่อสัปดาห์ เหนื่อยมาก มันเกินไป ทำวันละ 8 ชั่วโมงนี่คือปกติ แต่ถ้ามีโอทีคือ 10-11 ชั่วโมง ”

บางคนมีโอกาสได้สวมใส่ชุดชั้นในแสนสวย ขณะที่ผู้สรรสร้างพวกมันขึ้นมา กลับไม่สามารถแม้จะได้ใส่ของที่ตนเองผลิต และทั้งชีวิตแทบไม่มีโอกาสได้แต่งแต้มเนื้อตัวด้วยเสื้อผ้าที่ต้องการแม้แต่น้อย

ฝีเท้าที่เย็บจักรและปลายประสาทที่ด้านชา

มีปัญหาด้านสุขภาพกันบ้างไหม? เรายิงคำถามไปที่คนตรงหน้าทั้งสอง พร้อมกับได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป

“มีค่ะ (รีบตอบ) เพิ่งจะรักษาหาย เกี่ยวกับปวดหัวเข่า มันเกี่ยวกับนั่งนานๆ ถีบจักร แต่เวลาเราไปหาหมอ เขาก็บอกว่าถ้าจะพิสูจน์ว่าการบาดเจ็บนี้เกิดจากงาน มันต้องพิสูจน์หลายๆ อย่างว่ามันเกิดจากการที่เรานั่งทำงานหรือเปล่า นั่งแล้วเย็บจักรด้วยการใช้เท้าข้างเดียว แล้วมันก็จะปวดเข่าข้างขวา ข้างที่เหยียบ ไหล่ขวา ซีกเดียวกัน

ส่วนสุขภาพอื่นๆ ก็ไม่เคยตรวจ มีแต่ตรวจสุขภาพพื้นฐานของบริษัท เอ็กซเรย์ปอด วัดสายตา ไม่เคยตรวจมากถึงมะเร็งเต้านม พี่คิดแต่เรื่องปอด เพราะเราทำตรงนี้ก็น่าจะมีปัญหาเรื่องฝุ่นผ้า เวลาตรวจมันก็ปกตินะ แต่ก็มีบางคนที่มันไม่ปกติ บางคนเขาก็เจอจุดดำๆ ที่ปอด แต่ของเราไม่เจอ

เราก็พยายามจะไปหาหมอ เพราะเรากลัวจะเป็นโรคกระดูกเสื่อม หมอเขาก็ถามว่านั่งทำงานอะไร เราก็บอกว่านั่งเย็บผ้า หมอบอก เลิกเย็บ ก็เลิกปวด ซึ่งมันก็จริง เพราะพอเราถูกเลิกจ้างเลิกทำงานมันก็หาย ช่วงโดนเลิกจ้าง เราก็เริ่มไปหาหมอบ่อยเพราะกลัวจะใช้ประกันสังคมไม่ได้อีก ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาใช้ 30 บาท เราก็ไปนั่งรอนานๆ เขาก็บอกว่า ถ้าเลิกใช้งานหนักก็จะหายไปเอง ถ้ากลับไปมันก็จะเป็นอีก นั่นแปลว่าอาการเจ็บป่วยมันเกิดจากการทำงานถูกไหมคะ แต่หมอเขาก็ไม่ยอมวินิจฉัยว่ามันเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน ถ้าวินิจฉัยอย่างนี้ พี่ก็จะสามารถเรียกร้องได้อีก”

ช่องโหว่ระหว่างการวินิจฉัยของแพทย์และข้อกฎหมายก็ยังคงสร้างปัญหาให้กับคนงานหลายต่อหลายคน ไม่ใช่แค่คนงานบริลเลียนท์ แต่ด้วยข้อจำกัดของการตีความทางกฎหมายและระบบสาธารณสุขและงบประมาณของระบบ จนไม่สามารถใช้เวลาตรวจสอบ สืบหาต้นตอของโรคอย่างละเอียด ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยต้องเสียโอกาสไป

“ถ้าพูดถึงอาชีพ จะไม่ได้รับผลกระทบเยอะเท่าคนอื่น แต่จะมีอาการปวดหลังมากกว่า เพราะเรานั่ง คือ ปัญหาคือ ถ้าเรานั่งไม่ตรงในการเย็บผ้า มันจะมีปัญหากระดูกสันหลังมากกว่า พี่เป็นกรรมการเซฟตี้ของบริษัทด้วย บางคนที่เคยเห็น เป็นโรคไฟดูด มันเกิดจากจักรเย็บผ้า เขาไม่รู้ตัวหรอกว่ามันเกิดจากอุบัติเหตุอะไรขึ้น แต่พอมันโดนทุกวันๆ เพราะเรานั่งท่าเดิม จนทำให้เป็นเส้นประสาทชาไปเลย คนงานโรงงานเย็บผ้านี่อันตรายมากคือเรื่องไฟฟ้าตรงนี้” คนงานบริลเลียนท์อีกคนเสริมความ

เมื่อบริลเลียนท์ปิดฉากลง

“เสียใจนะ ใจหายมาก เจ็บใจด้วย ก่อนหน้านั้นเราก็ได้ยินข่าวแว่วๆ มาว่าจะปิด แล้วเราก็เป็นบริษัทใหญ่ผ่านมากี่รุ่นต่อกี่รุ่นแล้ว เราก็ไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริง ไม่เชื่อว่าจะปิดอย่างนี้ ข่าวที่ได้ยิน ก็เป็นข่าวลือ เราก็ไม่เชื่อตอนแรก ก็คิดนะว่าถูกหักหลัง เพราะว่ามันไม่น่าทำอย่างนี้ เพราะตอนที่เขามา (บริลเลียนท์) เขาก็บอกว่า เขารับเราได้ทุกอย่าง เงินก็เยอะ งานก็เยอะ ตรงนี้แหละที่ทำให้โล่งใจว่า ยังไงก็มีงานมีเงิน”

ในอนาคตถ้ามีคนมาชวนเราไปเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน เราก็พร้อม เราจะไปช่วยเหลือเหมือนที่คนอื่นมาช่วยเรา” และเมื่อถูกถามว่า มีอะไรจะบอกถึงนายจ้างบริลเลียนท์หรือไม่ เธอตอบกลับมาว่า “รู้สึกโกรธค่ะ ขอให้คุณกลับมารับผิดชอบในสิ่งที่คุณเคยสัญญากับเราไว้ ว่าจะไม่ทิ้งเรา ขอให้คุณกลับมารับผิดชอบพวกเรา”

เสียงนิ่งสงบที่ตกผลึกความเกรี้ยวกราดแต่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่หนาแน่นทิ้งท้ายการสนทนาลง ยากที่ผู้อ่านจะจินตนาการถึงชีวิตเบื้องหลังของน้ำเสียงนี้ ปัจจุบันพี่น้องคนงานบริลเลียนท์ก็ยังคงไม่ได้รับการดูแล ช่วยเหลือและเยียวยา อย่างน้อยที่สุดการที่สาธารณะได้รับรู้ว่า โลกอีกหลายมิติทั้งชีวิตการเป็นอยู่ ความฝัน ความเชื่อ ของพี่น้องแรงงานกลุ่มนี้นั้นสามัญไม่แตกต่างจากชีวิตคนทั่วไปเลย ชีวิตที่ฝันอยากจะรับผิดชอบดูแลคนในครอบครัวต้องแลกมาด้วยการทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับคนไม่กี่คน และได้รับส่วนแบ่งเพียงน้อยนิดเป็นรางวัล และถ้าหากโชคร้ายส่วนแบ่งที่พึงได้ก็อันตธานหายไปอย่างอยุติธรรมอย่างกรณีของบริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล และพนักงานพันกว่าชีวิตนี้

เราอยากให้พวกคุณทุกคน ร่วมเจ็บปวด ร่วมรับรู้ และเรียกร้องเพื่อคนเหล่านี้และพี่น้องแรงงานทั่วโลก ให้หลุดพ้นจากการกดขี่ขูดรีดอันอยุติธรรมเสียที

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า