จากรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ถึงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 : ความพยายามในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง

8 พฤศจิกายน 2564

วันนี้ เมื่อ 74 ปีที่แล้ว ผิน ชุณหะวัณ, เผ่า ศรียานนท์, กาจ กาจสงคราม, ก้าน จำนงภูมิเวท และทหารทั้งนอกและในราชการอีกหลายคน ได้ชักชวนให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยและทันสมัยมากในยุคนั้น  

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากคณะหนึ่งไปเป็นอีกคณะหนึ่ง ไม่ใช่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากคนหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนรูปลักษณะของระบอบการปกครองด้วย รัฐประหารครั้งนี้ได้ปิดฉากคณะราษฎรสายพลเรือน ตัดตอนอำนาจของปรีดี พนมยงค์ และพวก ฟื้นฟูพระราชอำนาจกษัตริย์กลับมาใหม่ เริ่มต้น “วงจรอุบาทว์” ทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ต้องมี “รัฐประหาร” ก็คือ กรณีสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล   

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คือ รัฐประหารที่มีความริเริ่มหรือ original อยู่หลายอย่าง

คือ จุดเริ่มต้นของรัฐประหารแล้วต้อง “ฉีก” รัฐธรรมนูญ

คือ จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ 

คือ จุดเริ่มต้นของรัฐประหารแล้วต้องอาศัยบารมีความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ นำรัฐธรรมนูญใหม่ที่พวกตนทำขึ้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม

คือ จุดเริ่มต้นของการเขียนรัฐธรรมนูญฟื้นฟูพระราชอำนาจ  

ภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมายต่างๆ ในธรรมเนียมปฏิบัติ จนทำให้ลักษณะของระบอบการปกครองเปลี่ยนรูปไป ไม่ใช่ระบอบ constitutional monarchy ตามแบบที่คณะราษฎรสร้างไว้ตั้งแต่ 2475 ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 2475 ด้วย

ในทางลายลักษณ์อักษร รูปลักษณ์ภายนอก กษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดแบบก่อน 2475

ในทางลายลักษณ์อักษร รูปลักษณ์ภายนอก มีสภา มีรัฐบาล เป็นผู้ใช้อำนาจและรับผิดชอบ

แต่ในทางเนื้อหา ทางปฏิบัติ ทางความเป็นจริง กษัตริย์ยังคงสงวนอำนาจทางการเมืองอยู่หลายประการ

รัฐธรรมนูญ 2490/2492 นำอภิรัฐมนตรี/องคมนตรี กลับมา

ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์

ให้วุฒิสภามีอำนาจมากกว่าสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนั้น มีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2491 ซึ่งเพิ่มพระราชอำนาจกษัตริย์ในการจัดการทรัพย์สิน  

มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในปี 2499 ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากหมวดประทุษร้ายกษัตริย์ ให้มาอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และให้เลขมาตรา 112

แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม “เปลี่ยนใจ” เลิกเป็นพันธมิตรกับสถาบันกษัตริย์ ก่อรัฐประหาร 2494 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2492 และนำ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้ใหม่ก็ตาม แต่ในท้ายที่สุด จอมพล ป. ก็ “ชะตาขาด” ในทางการเมือง ถูกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร 2500 ต้องลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่นและเสียชีวิตที่นั่น

การปกครองระบอบเผด็จการแบบสฤษดิ์ในยุคต่อมา กลายเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูพระราชอำนาจทั้งในทางตัวบทกฎหมาย ในทางปฏิบัติ ในทางประเพณีวัฒนธรรม ในทางอุดมการณ์ความคิด

67 ปีต่อมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ในชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทิ้ง พวกเขาตั้งตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ออกรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศ คำสั่งต่างๆจำนวนมาก เพื่อประกันให้พวกเขาได้ครองอำนาจและสืบทอดอำนาจจนถึงปัจจุบัน

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ได้เป็นเพียงการใช้กำลังทหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นรัฐประหารที่เข้ามาประกันในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยด้วย

นับตั้งแต่ประยุทธ์ครองอำนาจ เขาและพวกได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมาย ตลอดจนแนวทางปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ระบอบการปกครองมีแนวโน้มหันเหออกจากระบอบ constitutional monarchy กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น  

แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยอ้างว่าดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560

ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 / พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561

ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 / พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561

ตราพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562

ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่พูดคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

เป็นต้น

ความพยายามในการสร้าง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” รอบใหม่นี้อยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรอบก่อน

ข้อแรก การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ในช่วงปี 2490-2500 นั้น การเมืองผูกขาดไว้อยู่กับชนชั้นนำทางการเมืองไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม เป็นการต่อสู้ระหว่าง นักการเมืองฝ่ายพลเรือน กองทัพ สถาบันกษัตริย์และฝ่ายกษัตริย์นิยม โดยที่ไม่มี “ประชาชน” อยู่ในสมการ

แต่ในยุคปัจจุบันนี้ การเมืองได้พัฒนาไปไกลจนเป็น “การเมืองแบบมวลชน” มากกว่าเดิม แต่ละฝักฝ่ายมีมวลชนสนับสนุน และมวลชนก็เลือกที่จะสนับสนุนฝักฝ่ายต่างๆแบบมีพลวัต มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนอย่างสุดจิตสุดใจ มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนเฉพาะกาลเฉพาะกิจตามยุทธวิธีการต่อสู้ และพร้อมจะยุติการสนับสนุนหากมีกลุ่มการเมืองฝ่ายใหม่ๆขึ้นมา มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆเพื่อใช้เป็น “พาหนะ” ในการทำตามความคิดอุดมการณ์ของตน

ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ทำให้นักการเมืองที่เป็นชนชั้นนำทางการเมืองแบบเดิมๆ ไม่อาจเจรจาต่อรองหรือ “เกี๊ยะเซียะ” กันได้เองอีกต่อไป ประชาชนมิใช่ “ของตาย” ของใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พร้อมเป็นพลังกดดันให้ฝักฝ่ายทางการเมืองเดินหน้า

ข้อสอง ในช่วงรัฐประหาร 2490 และหลังจากนั้นมีปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยมที่สนับสนุนมากมาย พวกเขาช่วยกันผลิตคำอธิบาย สร้างงานทางปัญญาและวัฒนธรรม ช่วยออกแบบโครงการทางการเมือง นำเสนอและตอบโต้ได้อย่างเป็นระบบและดูมีปัญญาความรู้ เช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัต, กรมขุนชัยนาทนเรนทร, เสนีย์ ปราโมช, คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ เป็นต้น  

ในขณะที่ยุคสมัยปัจจุบัน เราไม่พบเห็นปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม/อนุรักษ์นิยม ที่ผลิตงานและอธิบายได้มีคุณภาพและมาตรฐานเหมือนก่อน  

ข้อสาม เยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันมีความคิดจิตสำนึกในทางประชาธิปไตย พวกเขาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยตามแบบระบอบ constitutional monarchy พลังและขบวนของพวกเขานี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยันและต่อต้านไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงแบบถาวร

ในขณะที่ยุค 2490-2500 ไม่มีพลังเหล่านี้  

ข้อสี่ ในยุคปัจจุบันนี้ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าแบบเต็มรูปหรือซ่อนรูป ไม่ว่าแบบเปิดเผยหรือจำแลง ล้วนแล้วแต่ล้าสมัย ไม่เหมาะสม ทั้งกาละ และเทศะ สังคมไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก ความรวดเร็วของเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง  

อำนาจไม่อาจปกครองและครอบงำบุคคลได้ด้วยการใช้กำลังบังคับแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจผสมผสานด้วย

ทุกวันนี้ มีแต่การใช้กลไกรัฐเข้าบังคับกดขี่ ผ่านกฎหมาย ศาล ทหาร คุก ตำรวจ ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีคนไม่ยินยอมและพร้อมต่อสู้อีกมาก

สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่มีทางที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงจะก่อตัวได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ถาวรได้  

ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรระหว่าง…

“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” ที่มีกองทัพ ระบบราชการ และทุนผูกขาด ค้ำจุน

หรือ

“ระบอบประชาธิปไตย” ที่ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด และมีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ประชาชนชาวสยามผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ผู้เป็น “เจ้าของ” ประเทศนี้ แผ่นดินนี้ร่วมกัน คือ ผู้ตัดสิน

ทำให้ความพยายามครั้งนี้มิใช่ความพยายามครั้งใหม่ มิใช่ความสำเร็จอีกครั้ง

แต่เป็นความพยายามครั้งสุดท้าย และเป็นความล้มเหลวไปตลอดกาล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า