คัดแยกขยะคือความก้าวหน้า ไม่ใช่ภาระ

5 ธันวาคม 2564

ปลาทูนอนขดตัวอยู่ในเข่งสานที่ทำจากไม้ไผ่ ก่อนจะถูกหยิบขึ้นมาห่อม้วนด้วยกระดาษและถูกจับลงถุงพลาสติกพร้อมกับส่งต่อให้กับลูกค้า 

นี่เป็นวิถีชีวิตของแม่ค้าในตลาดหลายแห่ง แม่ค้าพ่อค้าในตลาดรักษ์ขวาวก็เช่นกัน 

ตลาดรักษ์ขวาวเป็นตลาดสดเทศบาลที่ตั้งอยู่ใจกลางดาวน์ทาวน์ของตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อีสานของประเทศไทย พลาสติกเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนอย่างแนบแน่นและยากจะหลีกเลี่ยงได้

ลึกลงไปในตัวปลาทูอวบแน่น จากการวิจัยในปี 2561 ที่ผ่านมา พบสิ่งที่น่าตกใจ นั่นคือชิ้นส่วนแตกหักจากพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5.5 มิลลิเมตรซึ่งเรียกว่า  ‘ไมโครพลาสติก’ ในกระเพาะของปลาทู เฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย นั่นหมายความว่าทุกๆ ครั้งที่เรากินปลาทู (รวมทั้งสัตว์น้ำอื่นๆ) ไมโครพลาสติกก็จะเข้าสู่ร่างกายเราแน่ๆ   เศษชิ้นส่วนพลาสติกเล็กๆ ที่เกิดจากการแตกทำลายจากสารพัดผลิตภัณฑ์พลาสติกซึ่งถูกทิ้งเป็นขยะที่จัดการไม่ดีเหล่านี้  จึงได้กลายมาเป็นภัยคุกคามตัวใหม่ซึ่งต่างจากปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่แล้วๆ มา เพราะมันเกี่ยวข้องกับวงจรขยะในระดับโลกและการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ 

กลับไปที่ต้นทางปัญหา สิ่งที่สามารถจัดการและควบคุมได้ คือการสร้างมาตรฐานการควบคุมขยะ การวางระบบการจัดการเพื่อสร้างแรงจูงใจในหมู่ประชาชน เช่น ลดและงดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นตัวการของขยะพลาสติกล้นโลกและการทำให้เกิดไมโครพลาสติกอีกด้วย

ขยะที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ ภาพที่เราเห็นได้ทุกที่จากกรุงเทพ เมืองใหญ่ทั่วประเทศ ไปจนถึงตำบลที่เล็กที่สุดในแผนที่ประเทศไทย

เพราะทุกคนเห็นขยะเป็นภาระ

‘การจัดการขยะ’ แม้จะดูเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่กลับเป็นแนวทางที่ “ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย” ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

การจัดการในไทยเริ่มจากการแยกขยะด้วยถังขยะ 4 ชนิด ได้แก่ ขยะแห้ง ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย นี่คือภาพจำของพวกเราทุกคนต่อการแยกขยะ และแน่นอน มันล้มเหลว หลักๆ อาจเป็นเพราะคนทั่วไปไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนหรือมากพอ จนไม่สามารถแยกได้ว่าขยะแบบใดควรถูกหย่อนลงในถังใบไหนกันแน่ 

รวมทั้งการคัดแยกที่ต้องแยกจริงๆ ทุกขั้นตอน เพราะถ้าแยกบ้างไม่แยกบ้างผลที่ได้มีอย่างเดียวคือเท่ากับไม่ได้แยกเลย สิ่งที่พบเจอได้ประจำในทุกที่ทั้งตามบ้านเรือนหรือถังขยะสาธารณะ ได้แก่การทิ้งขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ พวกเศษอาหารหรือขยะที่เน่าเสียได้ปะปนอยู่กับขยะมูลฝอย อย่างเช่น เมื่อจะทิ้งเศษอาหารลงในถังขยะเปียก คนทิ้งก็มักจะทิ้งมันลงไปพร้อมกล่อง ถุง ช้อนส้อมพลาสติกที่ใช้กิน แถมทิชชูเช็ดปากอีกต่างหาก กลายเป็นขยะปะปนที่กำจัดยาก   เมื่อมีการนำไปเผาก็จะเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ สิ่งที่ตามมาคือขยะจำนวนมากไม่สามารถกำจัดทิ้งได้ ถูกกองไว้ให้เป็นความรำคาญและที่เพาะเชื้อโรคชุมชน ส่วนขยะที่น่าจะถูกรีไซเคิลได้ อย่างพวกขวดน้ำดื่มทั้งชนิดใส ชนิดขุ่น กระดาษ แก้ว โลหะ ฯลฯ กลับต้องเสียเปล่าไปด้วยเพราะเปรอะเปื้อนขยะเศษอาหารไปแล้ว ไม่มีโรงงานรีไซเคิลที่ไหนรับซื้อ

เมื่อจะทิ้งเศษอาหารลงในถังขยะเปียก คนทิ้งก็มักจะทิ้งมันลงไปพร้อมกล่อง ถุง ช้อนส้อมพลาสติกที่ใช้กิน แถมทิชชูเช็ดปากอีกต่างหาก กลายเป็นขยะปะปนที่กำจัดยาก

จากปัญหาระดับโลกสู่ ‘ขวาวใหม่’  

นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะ แต่เป็นปัญหาร่วมที่เกิดขึ้นกับทุกที่ ขวาวก็เช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดรักษ์ขวาว ที่ผ่านมาแม้จะมีการวางถังขยะทั้งหมดครบ 4 ประเภท แต่การคัดแยกขยะก็เช่นเดียวกับที่อื่นๆ คือไม่ประสบผลสำเร็จ จะเผากำจัดยังทำไม่ได้ด้วยชนิดของขยะที่ปะปนกันไปหมดอย่างที่เล่ามา จึงได้แต่นำขยะไปกองรวมกันที่บ่อขยะ ให้ขยะส่งกลิ่นเน่าเหม็นลอยคลุ้งไปจนถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ

นี่คือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้งเทศบาลเมื่อกลางมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้สมัครนายกเทศมนตรีตำบลขวาวจากคณะก้าวหน้ามองประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และในที่สุดก็ได้ลงมือทำแล้วเมื่อได้รับเลือกตั้ง  

สถานที่จัดการขยะบริเวณใกล้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

สถาพร รอเสนา นายกเทศมนตรีตำบลขวาว ผู้เชื่อมั่นว่าเมืองเล็กๆ สามารถทำให้เกิดโมเดลการจัดการขยะที่เมืองใหญ่ต้องหันมามอง

สถิติที่น่ากังวลของตลาดสดเทศบาลตำบลขวาวก็คือ เฉพาะถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างเดียว  พ่อค้าแม่ค้าตลาดขวาวใช้มากถึงประมาณ 1 1 ล้านใบต่อปี (คำนวณจากจำนวนแผงค้าภายในตลาดรักษ์ขวาว x การใช้ถุงพลาสติก 3,000 ใบต่อวัน หรือ  90,000 ใบต่อเดือน) 

จากตลาดสดเทศบาลขวาวที่เป็นแหล่งผลิตขยะอินทรีย์มากที่สุดในตำบล สู่ภาพลักษณ์ใหม่ ‘ตลาดรักษ์ขวาว’ ด้วยความเชื่อมั่นว่า “คนขวาวทำได้!” 

เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้

ขยะอินทรีย์มหาศาลที่ตลาดขวาว

ตลาดสดเทศบาลยังเป็นแหล่งผลิตขยะอินทรีย์ส่วนใหญ่  ความน่ากังวลของขยะอินทรีย์ไม่ใช่แค่เรื่องกลิ่นเหม็น  แต่คือการรบกวนวงจรการจัดการขยะไม่ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เพราะเมื่อขยะเปียกปะปนอยู่ในขยะแห้ง เราจะไม่สามารถเผาขยะแห้งได้หมด และเหลือเป็นขยะตกค้างจำนวนมาก หากไม่รีบจัดการให้เรียบร้อย ก็จะสะสมกลายเป็นภูเขาขยะขนาดใหญ่ตามที่เราเห็นอยู่เป็นระยะในข่าวต่างๆ ตามมาด้วยการปนเปื้อนลงดินและแหล่งน้ำ   บวกกับปัจจุบันเทศบาลตำบลขวาวมีเตาเผาขยะที่พร้อมทำงานเพียงหนึ่งเตาเท่านั้น การจะจัดการขยะให้ยั่งยืนจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งจัดการให้เกิดขึ้น 

การแยกขยะที่ได้ผลจริงต้องมาจากความเข้าใจทั้งปัญหาที่มีอยู่ ทางออก และทุกขั้นตอนของการคัดแยกไปจนถึงการกำจัดที่เทศบาลตำบลวางแผน และที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งเขตเทศบาล
การพูดคุยแลกเปลี่ยน การ ทำความเข้าใจ และการให้ข้อมูล คือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของทุกชุมชน 

การจัดการขยะก้าวหน้า

ปัญหาดูใหญ่แต่ก็ไม่ใหญ่เกินความพยายามของ สถาพร รอเสนา นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลขวาว และคณะก้าวหน้า ซึ่งร่วมกันเดินหน้าออกแบบนโยบาย ‘จัดการขยะก้าวหน้า’ เพื่อนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรารู้แล้วว่าขยะอินทรีย์เป็นขยะที่ขัดขวางวงจรการจัดการขยะอย่างสมบูรณ์ ก็ต้องย้อนกลับไปหาต้นทางที่ปล่อยขยะอินทรีย์มากที่สุดของเมือง ซึ่งก็คือ ตลาดสด หรือ ตลาดรักษ์ขวาวที่เราบอกไปแล้ว

คณะก้าวหน้า นำโดย อัครพล ทองพูน หรือ ‘อาจารย์แนท’ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการขยะ และเป็นผู้ออกแบบคิดค้นนวัตกรรมการจัดการขยะให้เข้ากับพื้นที่ต่างๆ ที่ร่วมทำงานกับคณะก้าวหน้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ได้วางโครงการการจัดการขยะก้าวหน้าขึ้น มีการอบรมและทำเวิร์กช็อปคัดแยกขยะให้กับประชาชนในพื้นที่ 

ขยะถูกแบ่งย่อยออกไปถึง 10 ประเภท ได้แก่ เศษอาหาร / เศษผัก ผลไม้ / ขยะอินทรีย์ย่อยยาก (พวกกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ฯลฯ) / พลาสติกใส / พลาสติกขุ่น / แก้ว / กระดาษ / โลหะ / ขยะมูลฝอยที่รีไซเคิลไม่ได้ / ขยะอันตราย 

แม้จะดูเหมือนยุ่งยากกับการทิ้งคัดแยก เหมือนกับเพิ่มภาระ แต่ที่จริง ยิ่งแยกละเอียดตั้งแต่ต้นทาง ยิ่งลดความสับสนและลดปัญหาขยะปนเปื้อนในวงจรการจัดการ 

อัครพล ทองพูน ผู้ออกแบบการคัดแยกและจัดการขยะ จากคณะก้าวหน้า กำลังเปิดเวิร์กชอปในตลาดรักษ์ขวาว

การออกแบบแยกประเภทถังขึ้นอยู่กับสภาพและชนิดขยะในพื้นที่ 10 ถังที่ตลาดรักษ์ขวาวจึงถูกคิดมาแล้วอย่างรัดกุม 

เทศบาลตำบลขวาวและคณะก้าวหน้า ได้ตกผลึกร่วมกันและลงนามเซ็นสัญญาร่วมระหว่างเทศบาลตำบล พี่น้องประชาชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตั้งแต่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน สัญญาครั้งนี้มีขึ้นเพื่อร่วมกันคัดแยกขยะอย่างยั่งยืน ปลายทางการจัดการขยะจะได้ลดทุกปัญหาการกำจัด การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และยังสามารถหาประโยชน์จากขยะกลับคืนมาเป็นรายได้ชุมชนได้อีก อย่างเช่น การหมักขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ การขายขยะที่รีไซเคิลได้เข้าโรงงานรีไซเคิล แม้แต่มูลฝอยที่เหมือนจะหาประโยชน์ไม่ได้ก็ยังสามารถเข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF 

ถังแยกขยะ 10 ชนิด พร้อมป้าย info-graphic เพื่ออธิบายลักษณะของขยะแต่ละประเภท การทิ้งที่ถูกต้อง การกำจัดที่เทศบาลตำบลขวาวจะจัดการต่อไป รวมทั้งอธิบายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากทิ้งขยะประเภทนี้ผิดวิธีหรือกำจัดไม่ได้

ร่องรอยการจัดการขยะในอดีตตามถังแยก 4 ชนิดที่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะขาดการทำความเข้าใจถึงการแยก รวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่มีแม้กระทั่งแรงจูงใจ 

“คนขวาวทำได้” กับ 5 ภารกิจ ลด / แยก / ปลูก / หมัก / รณรงค์
หนึ่งในแผนจัดการขยะของตลาดรักษ์ขวาว คือการปลูก ทต.ขวาวใช้พื้นที่รอบหนองนางเต่า บริเวณหลังตลาดเทศบาลปลูกกล้วยเพื่อให้ผู้ค้าตัดใบไปใช้แทนการใช้พลาสติก 

นอกจากนี้ แผนของเทศบาลตำบลและคณะก้าวหน้า ยังได้สนับสนุนและรณรงค์ให้การจัดการขยะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนด้วยการชักชวนพี่น้องประชาชนเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว มีการแจกถุงผ้าก่อนในช่วงต้นเพื่อเร่งความร่วมมือ และจะขายราคาถูกต่อไปในอนาคต ใช้พื้นที่ว่างหลังตลาดให้เป็นประโยชน์ด้วยการปลูกต้นกล้วยเพื่อใช้ใบตองมาห่ออาหาร  และต้นเล็บครุฑลังกาที่มีลักษณะใบเหมือนถ้วย สำหรับใช้แทนภาชนะพลาสติกและโฟม ที่มีระยะการย่อยสลายตั้งแต่ 450-1,000 ปี เท่านั้นยังไม่พอ ยังทำนโยบายเชิงรุกด้วยการชักชวนพ่อค้าแม่ขายในตลาด หันมาสร้างแรงจูงใจให้ผู้ซื้อลดการใช้ขยะ ด้วยการแจกส่วนลด ซึ่งเป็นส่วนลดที่คำนวณจากต้นทุนการซื้อถุงพลาสติกอีกด้วย

พี่น้องประชาชนรับถุงผ้า เพื่อนำมาจับจ่ายในตลาด

ไม่ใช่แค่ปัญหาขยะในเทศบาลตำบลขวาวที่คณะก้าวหน้าตั้งใจแก้ไข เราได้ออกแบบนโยบายที่เข้ากับปัญหาท้องที่ไว้หลายรูปแบบ ในบางแห่งก็ได้เตรียมจัดตั้งกองทุนฌาปณกิจขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนนำเอาขยะรีไซเคิลมาขายเพื่อสมทบเป็นกองทุนของตัวเองและครอบครัว เป็นแนวทางที่เรียกว่า เปลี่ยนขยะเป็นสวัสดิการนั่นเอง  

คณะก้าวหน้ายังคงมุ่งมั่นที่จะรังสรรค์สังคมแบบใหม่ที่เติบโตและพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่างๆ โดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เป็นภัยคุกคามระดับโลกอย่างประเด็นสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการสนับสนุนให้การเมืองท้องถิ่น 

เป็นการเมืองที่เป็นของพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า