“18 Brumaire/2 ธันวาคม 1851” และ “19 กันยา 49/22 พฤษภา 57”

29 กันยายน 2564

Karl Marx เขียนเปิดหัวหนังสือ The 18 Brumaire of Louis Napoleon (1852) ไว้ว่า “เฮเกลตั้งข้อสังเกตไว้ที่ไหนสักที่ว่า เหตุการณ์สำคัญและบุคคลสำคัญในทางประวัติศาสตร์โลกมักปรากฏขึ้นสองครั้ง แต่เฮเกลคงลืมที่จะเพิ่มเติมไปด้วยว่า ครั้งแรก คือ โศกนาฏกรรม ครั้งที่สอง คือ เรื่องชวนหัว” โดยเขาต้องการเปรียบเทียบอย่างย้อนแย้งว่า รัฐประหาร 18 Brumaire an VIII (9 พฤศจิกายน 1799) โดย Napoléon Bonaparte ผู้เป็นลุงกับรัฐประหาร 2 ธันวาคม 1851 โดย Louis Napoléon Bonaparte ผู้เป็นหลานนั้น มีความคล้ายคลึงกัน โดยรัฐประหาร 1851 เสมือนเป็น “การพิมพ์ครั้งที่ 2” ของรัฐประหาร 18 Brumaire

Marx ยังได้ยกบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งสองช่วงเวลามาเปรียบเทียบกัน ได้แก่ Caussidère กับ Danton, Louis Blanc กับ Robespierre, กลุ่มมงตาญญาร์ดในปี 1848-1851 กับกลุ่มมงตาญญาร์ดในปี 1793-1795, Louis Napoléon Bonaparte ผู้เป็นหลาน กับ Napoléon Bonaparte ผู้เป็นลุง

ในงานชิ้นนี้ Marx ต้องการค้นหามูลเหตุที่ฝรั่งเศสซึ่งพึ่งปฏิวัติล้มระบอบกษัตริย์และกลับมาก่อตั้งสาธารณรัฐที่ 2 ได้อีกครั้งในปี 1848 แต่เพียง 3 ปีเศษ กลับยอมให้ Louis Napoléon Bonaparte ยึดอำนาจ เป็นเผด็จการปกครองประเทศได้ แถมลักษณะ รูปแบบ ผู้สนับสนุนเบื้องหลัง และเป้าประสงค์ของการรัฐประหาร 2 ธันวาคม 1851 ก็ละม้ายคล้ายคลึงกับรัฐประหาร 18 Brumaire เมื่อ 52 ปีก่อน (ยังไม่นับรวมว่าทั้งระบอบจักรวรรดิที่ 1 ของผู้เป็นลุง และระบอบจักรวรรดิที่ 2 ของผู้เป็นหลาน ต่างก็ดำรงอยู่ยาวนานมากกว่า 10 ปี)

Marx ชี้ให้เราเห็นว่าการปฏิวัติกระฎุมพีที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสหลายครั้งได้ล้มสถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐและระบบรัฐสภานั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องมีการปฏิวัติกรรมาชีพต่อไป ประสบการณ์การปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส ทำได้แต่เพียงการเปลี่ยน “คนถืออำนาจ” แต่ไม่ได้เปลี่ยน “อำนาจ” ไม่ได้เปลี่ยน “รัฐ” ดังที่ เขาสรุปไว้ในบทที่ 7 ว่า

 “ทว่าการปฏิวัติดำเนินต่อไปจนถึงเนื้อแท้ มันยังต้องข้ามผ่านแดนชำระบาป และดำเนินงานของมันตามวิธีการ จนกระทั่งถึงวันที่ 2 ธันวาคม 1851 การปฏิวัติได้บรรลุการตระเตรียมไปแล้วครึ่งหนึ่ง และบัดนี้การปฏิวัติบรรลุการตระเตรียมที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งได้แล้ว เริ่มต้น การปฏิวัติได้ทำให้ระบบรัฐสภาเสร็จสมบูรณ์ นั่นก็เพื่อให้การปฏิวัติสามารถล้มระบบรัฐสภานั้นได้ในเวลาต่อมา เมื่อเป้าประสงค์นี้ได้บรรลุเรียบร้อยแล้ว การปฏิวัติก็เข้ามาทำให้อำนาจบริหารเสร็จสมบูรณ์ ลดทอนมันให้เหลือเพียงการแสดงออกถึงอำนาจอย่างธรรมดา แยกมันออกมาให้โดดเดี่ยว ให้มันกลายเป็นเป้าเพื่อเราจะได้รวมสรรพกำลังต่อต้านและทำลายมันเสียและเมื่อการปฏิวัติดำเนินการจนบรรลุการตระเตรียมในครึ่งหลังที่เหลือเสร็จสิ้น ยุโรปก็จะได้กระโดดโลดเต้นและเฉลิมฉลองว่า “ไอ้ตุ่นเฒ่า แกขุดดินได้เยี่ยมจริง!

อำนาจบริหารนี้ กอปรด้วยการจัดองค์กรราชการและทหารอันแข็งแกร่ง กอปรด้วยเครื่องจักรรัฐอันสลับซับซ้อนและแยบยล กองกำลังข้าราชการครึ่งล้าน กองทัพทหารอีกห้าแสน ร่างกายปรสิตอันน่าสะพรึงกลัวซึ่งห่อหุ้มร่างกายของสังคมฝรั่งเศสดังร่างแหและอุดรูขุมขนทุกอณูไว้ ร่างกายนี้เริ่มก่อตัวตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ช่วงล่มสลายของระบบศักดินา ร่างปรสิตนี้ก็ช่วยเร่งให้มันพัง […] การปฏิวัติฝรั่งเศสรอบแรกได้พัฒนาการรวมศูนย์อำนาจ ขณะเดียวกันมันก็ขยายขอบอำนาจและกลไกของรัฐบาลออกไปอย่างกว้างขวาง นโปเลียนทำให้กลไกรัฐแบบนี้เสร็จสมบูรณ์ ระบอบกษัตริย์ที่ได้ฟื้นฟูกลับมาใหม่และระบอบกษัตริย์ในเดือนกรกฎาคมก็เข้ามาเพิ่มระบบการแบ่งงานกันทำให้มากขึ้น […]

ในท้ายที่สุด ในการต่อสู้กับการปฏิวัติ สาธารณรัฐแบบรัฐสภาได้ใช้มาตรการปราบปราม เพื่อเพิ่มพูนเครื่องไม้เครื่องมือและการรวมศูนย์อำนาจให้แก่รัฐบาล การปฏิวัติทางการเมืองทั้งปวงทำแต่เพียงสร้างให้กลไกรัฐนี้สมบูรณ์ แทนที่จะบดขยี้กลไกรัฐนี้ให้พังภินท์ บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายที่สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามามีอำนาจนั้นล้วนแล้วแต่มองว่าการเข้ายึดครองประดิษฐกรรมรัฐอันมหึมานี้คือผลลัพธ์สำคัญของชัยชนะ”  

Lenin เอง ได้นำข้อวิเคราะห์ของ Marx ชิ้นนี้มาอ้างในงาน “รัฐและการปฏิวัติ” (1917) ของเขา พร้อมกับยืนยันว่าการปฏิวัติจำเป็นต้องบดขยี้กลไกรัฐ ดังที่ปรากฏในบทที่ 2 หัวข้อที่ 2 ดังนี้

“อำนาจรัฐที่รวมศูนย์อย่างเหมาะเจาะในสังคมกระฎุมพี ได้ปรากฏขึ้นในยุคที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช์ล่มสลาย สองสถาบันหลักที่มีลักษณะพิเศษของกลไกรัฐนี้ คือ ระบบราชการและกองทัพถาวร ในงานของ Marx และ Engels ได้พูดไว้หลายครั้งถึงความสัมพันธ์ที่ยึดโยงระบบราชการและกองทัพไว้กับพวกกระฎุมพี […]

ระบบราชการและกองทัพถาวร คือ ปรสิตบนร่างของสังคมกระฎุมพี คือ ปรสิตที่เกิดจากความขัดแย้งภายในที่กัดกินสังคม แต่แน่ชัดอย่างมาก คือ ปรสิตที่อุดตันรูขุมขุนทุกอณูแห่งชีวิต […]

พัฒนาการ การสร้างความสมบูรณ์ การตกผลึกจนตั้งมั่นได้ของกลไกระบบราชการและทหารเหล่านี้ ได้ดำเนินการผ่านการปฏิวัติกระฎุมพี ซึ่งยุโรปได้เป็นโรงละครที่แสดงเรื่องดังกล่าวนับตั้งแต่การล่มสลายของระบบศักดินา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกกระฎุมพีน้อยซึ่งถูกดูดไปอยู่ฝ่ายกระฎุมพีใหญ่และสยบยอมต่อพวกเขา แทบทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ถูกดูดผ่านระบบราชการและทหาร โดยกลไกเหล่านี้มอบตำแหน่งงานอันแสนสบาย สงบราบรื่น มีเกียรติยศ มากกว่าชาวนา ช่างฝีมือรายเล็กรายน้อย หรือคนค้าขายรายเล็กรายน้อย มันได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้พวกเขาอยู่เหนือประชาชน ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียในช่วงหกเดือนหลังจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1917 ตำแหน่งข้าราชการที่แต่เดิมสงวนไว้ให้กับพวก Cent-Noirs กลายมาเป็นของพวกสมาชิกพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย พวกเมนเชวิค และพวกสังคมนิยมปฏิวัติไป โดยแท้จริงแล้ว คนพวกนี้ไม่ได้สนใจจะปฏิรูปอย่างจริงจัง รังแต่จะเลื่อนถ่วงหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ “จนกว่าจะได้สภาร่างรัฐธรรมนูญ” และก็จะเหนี่ยวรั้งต่อไปอีกทีละเล็กละน้อยจนกว่าหลังสงครามยุติ ! แต่พอเรื่องแบ่งของโจรที่ปล้นมาซึ่งตั้งบนตำแหน่งดีๆ มีราคา อย่างรัฐมนตรี ผู้ช่วยเลขานุการแห่งรัฐ ผู้ว่าการ และตำแหน่งอื่นๆ ทีแบบนี้แล้วล่ะก็ เราไม่มีเวลาแล้ว ไม่ต้องรอสภาร่างรัฐธรรมนูญ แบ่งได้เลย! การเล่นเกมแบ่งปันตำแหน่งรัฐมนตรี อันที่จริงแล้ว เป็นเพียงการแสดงออกถึงการแบ่งปัน และการแบ่งสันปันส่วน “ของโจรที่ปล้นมา” กันใหม่ ซึ่งเคยกระทำกันมาจากบนลงล่างในระบบบริหารราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมาแล้ว หลังจากหกเดือน ตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 27 สิงหาคม ผลลัพธ์ ผลลัพธ์อย่างภาววิสัยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ การปฏิรูปถูกเลื่อนออกไป ตำแหน่งบริหารต่างๆ ถูกแบ่งปันออกไป และ “ความผิดพลาด” ในการแบ่งปันที่เกิดขึ้น ก็ได้รับการแก้ไขด้วยการแบ่งสันปันส่วนกันใหม่

แต่ทว่า ยิ่งดำเนินกระบวน “การแบ่งสันปันส่วนกันใหม่” ของระบบราชการและทหารในหมู่พรรคการเมืองต่างๆ ของพวกกระฎุมพีและกระฎุมพีน้อย (ระหว่างพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย พรรคเมนเชวิค และพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ สำหรับตัวอย่างในรัสเซีย) มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ซึ่งมีกรรมาชีพเป็นหัวแถว เห็นถึงความเป็นปฎิปักษ์อย่างไม่อาจลดทอนประนีประนอมได้ของพวกตนต่อสังคมกระฎุมพีไปถ้วนทั่วมากเท่านั้น นี่เองทำให้พรรคกระฎุมพี แม้เป็นพรรคประชาธิปไตยมาก ตลอดจนรวมไปถึงพรรคประชาธิปไตยแบบปฏิวัติ จำเป็นต้องเพิ่มการปราบปรามต่อชนชั้นกรรมาชีพปฏิวัติ เสริมเพิ่มกลไกการปราบปราม กล่าวให้ชัด ก็คือ กลไกรัฐ สายธารของเหตุการณ์เช่นนี้บังคับให้การปฏิวัติต้องรวมสรรพกำลังแห่งการทำลายทั้งปวง เข้าต่อต้านอำนาจรัฐ มันบังคับให้การปฏิวัติต้องมีภารกิจในการทำลายและรื้อถอนกลไกรัฐ ไม่ใช่แค่ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น”

ด้วยวิธีคิดแบบวัตถุนิยมวิภาษวิธีทางประวัติศาสตร์ ทำให้ Marx วิเคราะห์ว่า เส้นเรื่องประวัติศาสตร์การปฏิวัติในฝรั่งเศสเช่นนี้แหละ จะทำให้คน “ตาสว่าง” และนำพาไปสู่สถานการณ์การปฏิวัติครั้งใหม่ที่ก้าวหน้ามากกว่าเดิม เขาสวมบทโหราพยากรณ์ ทำนายทายทักว่า การปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสครั้งต่อไป จะไม่เป็นแบบเช่นที่ผ่านมาอีกแล้ว

คำทำนายของเขาแม่นยำทีเดียว ภายหลังฝรั่งเศสแพ้สงครามกับปรัสเซีย ระบอบจักรวรรดิที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศฝรั่งเศสก่อตั้งสาธารณรัฐที่ 3 ในปี 1870 แต่คราวนี้ แรงงาน ช่างฝีมือ ประชาชนชาวปารีส ไม่ยอมให้การปฏิวัติเป็นเพียงการปฏิวัติกระฎุมพี ได้มาแค่สาธารณรัฐและรัฐสภา แล้วปล่อยให้พวกกระฎุมพีเก็บดอกผลการปฏิวัติอีกต่อไป พวกเขาปฏิวัติ สร้าง “คอมมูนปารีส” !!!

Marx ตื่นเต้นและสดุดีวีรกรรมของการปฏิวัติคอมมูนปารีสว่า นี่คือ ปรากฏการณ์ “โจนทะยาน สะท้านฟ้า” เป็นการปฏิวัติที่ไม่เหมือนเมื่อครั้งก่อนๆ ที่มุ่งยึดกลไกรัฐเดิม เมื่อยึดได้ก็ใช้กลไกรัฐเดิมต่อและขยายกลไกรัฐเดิมออกไป แต่การปฏิวัติคอมมูนปารีส คือ การทำลายกลไกรัฐทิ้งทั้งหมด ดังปรากฏให้เห็นในจดหมายที่เขาเขียนถึง Kugelmann ในวันที่ 12 เมษายน 1871 ช่วงที่คอมมูนปารีสยังไม่ถูกโค่นล้มว่า

“คุณจะเห็นถ้าคุณอ่านมันอีกครั้ง ในบทสุดท้ายของหนังสือ 18 Brumaire ของผม ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ความพยายามครั้งต่อไปของการปฏิวัติในฝรั่งเศส จะต้องไม่ใช่การเปลี่ยนเครื่องจักรระบบราชการและทหารจากมือของคนกลุ่มหนึ่งไปสู่มือของคนอีกกลุ่มหนึ่งดังเช่นการปฏิวัติคราวก่อนๆ อีก แต่การปฏิวัติครั้งใหม่จะต้องบดขยี้กลไกระบบราชการและทหารเหล่านั้นเสีย นี่แหละ คือ เงื่อนไขลำดับแรกของการปฏิวัติประชาชนอันแท้จริงทั้งหลายในยุโรป นี่แหละ คือ สิ่งที่สหายผู้กล้าของเราในปารีสได้พยายามทำ”

แม้ในท้ายที่สุด การปฏิวัติคอมมูนปารีสจะถูกกองทัพและพวกกระฎุมพี “รวมหัว” กันปราบอย่างเหี้ยมโหด มีอายุได้เพียง 72 วันก็ตาม แต่ประสบการณ์ของคอมมูนปารีสก็ชี้ให้เห็นว่า นี่คือการปฏิวัติก้าวหน้าขั้นถัดไปที่ทุบเข้า “กล่องดวงใจ” ของพวกกระฎุมพี เศรษฐี นายทุน ราชการ ทหาร จนพวกเขาทนไม่ได้ต้องใช้ไม้แข็ง จนหน้ากาก “ผู้ดี” ในชื่อ “ประชาธิปไตย” ในชื่อ “รัฐสภา” ในชื่อ “ผู้แทน” ต้องหลุดลง และเปลือยโฉมให้เราเห็นถึงอำนาจเผด็จการที่ซ่อนตนอยู่ในรัฐ

และ… การปฏิวัติก้าวหน้าครั้งใหม่ ครั้งถัดไป ถัดถัดไป จะต้องมาถึง  

ภายหลังรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เชื่อกันว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญ 2540 เสมือนเป็นฉันทามติของสังคมไทยในเวลานั้น และประเทศไทยคงไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว แต่เมื่อการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 นี้ทำให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ สามารถส่งมอบนโยบายตามที่หาเสียงไว้ จนได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง เหล่าบรรดาชนชั้นนำจารีตประเพณีผู้ครองอำนาจในประเทศนี้ก็ไม่ยอมให้ฝ่ายของทักษิณ ชินวัตร ได้บริหารประเทศอีกต่อไป

พวกเขาก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ยุบพรรค นักการเมืองฝ่ายทักษิณ ถูกตัดสิทธิ ถูกดำเนินคดี ถูกติดคุก

เขียนรัฐธรรมนูญ 50 “ล้อมคอก” ไม่ให้ฝ่ายทักษิณกลับมาเป็นรัฐบาล

แต่พวกเขาคาดการณ์ผิด ฝ่ายของทักษิณยังชนะเลือกตั้ง กลับมาเป็นรัฐบาลอีก

“ตุลาการภิวัฒน์” และกลไกรัฐของพวกเขาเดินเรื่องต่อไป จนล้มรัฐบาลสมัคร/รัฐบาลสมชาย ได้

ผู้สนับสนุนฝ่ายทักษิณและประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้อง ถูกปราบปรามเข่นฆ่ากลางมหานคร

ฝ่ายทักษิณชนะเลือกตั้งอีกครั้ง กลับมาเป็นรัฐบาลอีก

แล้วก็เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีก

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้นำประโยคทองเปิดหนังสือ The 18 Brumaire of Louis Napoleon ของ Marx มาใช้กับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อชี้ให้เราเห็นว่าภายในแปดปี ประเทศไทยมีรัฐประหารสองครั้งที่คล้ายคลึงกัน ในขณะที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตั้งชื่อให้กับรัฐประหาร 49/57 อย่างไพเราะว่า “รัฐประหารแฝด”

ส่วนผมเอง เรียกรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ว่าเป็น “รัฐประหารซ่อม” หลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่สะเด็ดน้ำ ไม่สามารถจัดการพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชนได้

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือ “รัฐประหารแฝดนรก” ดำเนินการภายใต้เส้นเรื่องเดียวกัน มีกระบวนการปลุกเร้าสถานการณ์จนไปสู่การรัฐประหารเหมือนกัน และโค่นล้มรัฐบาลกลุ่มเดียว กลุ่มเดิม

เริ่มต้นจากค้นหาเหตุที่ใช้ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างยืดเยื้อ การชุมนุมเริ่มจุดติด มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก มีการปะทะกัน ศาลและองค์กรอิสระตัดสินไปในทางลบต่อรัฐบาล รัฐบาลเสียความชอบธรรม นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง ศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เกิดสุญญากาศทางการเมือง กองทัพรัฐประหาร คณะรัฐประหารปกครองประเทศ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หาหนทางสืบทอดอำนาจ

เราจะหยุด “รัฐประหารแฝดนรก” คู่นี้ได้อย่างไร?

เราจะหยุดวงจรรัฐประหารแบบนี้ได้อย่างไร?

ต้องลบล้างผลพวงรัฐประหาร นำคณะผู้ก่อการรัฐประหารมาดำเนินคดี เยียวยาเหยื่อของรัฐประหาร ปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เอากองทัพออกจากการเมือง เศรษฐกิจ ธุรกิจ แก้ไขกฎหมายความมั่นคง รื้อระบบราชการ ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

และ… ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ถ้าไม่ทำเรื่องเหล่านี้ รัฐประหารก็จะกลับมาได้อีกเสมอ

แน่นอน เมื่อไรก็ตามที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำเรื่องเหล่านี้ ก็เสี่ยงที่จะถูกกองทัพรัฐประหารอีก

ถ้าเป็นแบบนี้ เราใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป เข้าไปมีอำนาจก่อน ประนีประนอมก่อน แล้วค่อยๆ หาหนทาง ไม่ดีกว่าหรือ?

วิธีนี้ผิด

วิธีนี้เคยทำมาแล้ว และก็จบที่รัฐประหารเหมือนเดิม

นับตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบัน ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่เป็นการเมืองของชนชั้นนำทางการเมืองไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม กลายมาเป็นการเมืองของมวลชน ที่ต่างฝ่ายต่างก็มีมวลชนหนุนหลังจำนวนมาก โดยมวลชนที่หนุนหลังนั้น ก็มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนอย่างสุดจิตสุดใจ มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนเฉพาะกาลเฉพาะกิจตามยุทธวิธีการต่อสู้ และพร้อมจะยุติการสนับสนุนหากมีกลุ่มการเมืองฝ่ายใหม่ๆ ขึ้นมา

ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ทำให้นักการเมืองที่เป็นชนชั้นนำทางการเมืองแบบเดิมๆ ไม่อาจเจรจาต่อรองหรือ “เกี๊ยะเซียะ” กันได้เองอีกต่อไป

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้น ผู้นำรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารก็อาจต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

บางคนต้องลี้ภัยไปถาวรจนเสียชีวิตในต่างแดน เช่น ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

บางคนต้องลี้ภัยและยังคงใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน โดยไม่รู้ว่าจะได้กลับประเทศไทยหรือไม่ เช่น ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

บางคนต้องลี้ภัยและกลับมาเล่นการเมืองได้ใหม่ เช่น ชาติชาย ชุณหะวัณ

ในส่วนของนักการเมืองคนอื่นๆ นั้น ก็จะหลบไปพัก เพื่อรอวันกลับมาสู่สนามการเมืองใหม่ บ้างก็ยังอยู่พรรคการเมืองเดิม บ้างก็ย้ายไปทำหน้าที่ “นั่งร้าน” ให้กับพรรคทหารที่ตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แทบไม่ปรากฏกรณีนักการเมืองไทยเข้ามามีอำนาจแล้วจัดการตัดวงจรรัฐประหาร

การต่อสู้กับรัฐประหารอย่างจริงจัง เป็นระบบ มีเพียงสองครั้งเท่านั้น

ครั้งแรก คือ การรัฐประหารพระยาพหลพลหยุหเสนาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2476 เพื่อยึดอำนาจคืนจากพระยามโนปกรณ์ที่ “รัฐประหาร” งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดสภาผู้แทนราษฎร

ครั้งที่สอง คือ ความพยายามของ “ขบวนการประชาธิปไตย” ภายใต้การนำของปรีดี พนมยงค์ และพวกในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เพื่อยึดอำนาจกลับคืนจากรัฐประหาร 2490 แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้ และถูกขนานนามเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “กบฏวังหลวง”

นอกนั้น รัฐประหารเกิดขึ้นกี่ครั้ง นักการเมืองก็ “หมอบ” รอวันกลับมาแบ่งปันอำนาจกับพวกชนชั้นนำจารีตประเพณีใหม่

บ้างก็ “หน้าไม่อาย” ยอมลดตัวไปเป็น “นั่งร้าน” ให้นายพลคนทำรัฐประหารครองอำนาจต่อ

บ้างก็ “หวังน้ำบ่อหน้า” ยอมอดทนลงเลือกตั้ง ขอกลับมาเป็นรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้อง วันใด ชนชั้นนำจารีตประเพณีออก “ใบอนุญาต” ให้ ก็ได้เป็นรัฐบาล แต่วันใด ชนชั้นนำจารีตประเพณีหมั่นไส้ รำคาญ เหม็นขี้หน้า หรือกลัว ก็ยึด “ใบอนุญาต” คืนด้วยการก่อรัฐประหารอีก 

ประชาชนคนไทยจะยอมทนเห็น “ฉาก” แบบนี้วนเวียนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกหรือ?

“ฉาก” แบบนี้จะต้องยุติลง

รัฐประหารซ้ำ รัฐประหารซ้อน รัฐประหารซ่อม รัฐประหารแฝด จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

การตัดขั้วหัวใจของวงจรรัฐประหารไทย ต้องอาศัยความร่วมมือกันในหมู่ประชาชน ส่วนนักการเมือง ถ้าไม่นำหน้า อย่างน้อยก็ต้องเคียงคู่ไปกับประชาชน

เวลานี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว มีประชาชนตื่นรู้ทราบถึงต้นตอของปัญหาการเมืองไทยมากขึ้น ทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ เยาวชนอนาคตของชาติได้ยกระดับข้อเรียกร้องสำคัญที่เข้าไปถึงใจกลางของปัญหาการเมืองไทย  

วันหนึ่ง ถ้าสถานการณ์การชุมนุมเร่งเร้ามากขึ้น จนทำให้พวกเขาตัดสินใจก่อรัฐประหารอีก เพื่อหยุดขบวนการที่ก้าวหน้า วันนั้น ประชาชนย่อมไม่ทนอีกต่อไป สถานการณ์จะสุกงอมเพียงพอจนทำให้รัฐประหารนี้ นำพาไปสู่ “ปฏิวัติ”

วันหนึ่ง ถ้าสถานการณ์การชุมนุมอยู่ในช่วง “ขาลง” จนทำให้เราได้มาเพียง “การเลือกตั้ง” ตามวาระ วันนั้น ประชาชนก็ต้องกดดันให้นักการเมืองกล้าเสนอนโยบายลบล้างผลพวงรัฐประหาร ไปช่วยกันเลือกนักการเมืองที่ประกาศชัดเจนว่าจะไปจัดการเรื่องนี้ และเมื่อนักการเมืองเหล่านั้นได้เป็นรัฐบาล ประชาชนก็ต้องกดดันให้รัฐบาลเดินหน้า “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” แบบครบวงจร โดยทันที ไม่มีรีรอ พอกันทีกับ “แก้ไขไม่แก้แค้น” มีแต่ต้อง “แก้แค้นจึงแก้ไขได้” ไม่มีข้ออ้างใดหลงเหลืออีกแล้ว

วันหนึ่ง ถ้าพวกเขาไม่พอใจ กลัว ไม่ยินยอม จนตัดสินใจก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลที่ดำเนินการลบล้างผลพวงรัฐประหารอีก วันนั้น นักการเมือง ประชาชน ต้องรวมพลังต่อสู้ และการรัฐประหารรอบใหม่นี้ก็จะ “ลื่นไถล” พาประเทศไปสู่ “ปฏิวัติ” 

ดังนั้น ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะเดินหน้าไปแบบใด จะออกหน้าไหน การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แบบ “โจนทะยาน สะท้านฟ้า” ย่อมมาถึง

ไม่มีอะไรต้องกลัว

ไม่มีอะไรต้องกังวล

ไม่มีช่วงเวลาใดที่เหมาะสมกว่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว

พอกันทีกับการขอแบ่งปันอำนาจจากพวกเขาราวกับขอ “เศษเนื้อข้างเขียง”

พอกันทีกับการเข้าไปมีอำนาจ แล้วใช้กลไกรัฐแบบเดิมของพวกเขา แต่แล้ว เมื่อถึงเวลา กลไกรัฐเหล่านี้ก็พร้อม “แว้งกัด” และ “เจ้าของตัวจริง” ก็เอาคืนกลับไป

มีแต่ต้อง “เขย่า/รื้อถอน/บดขยี้” อำนาจเดิม และ “สร้าง” อำนาจใหม่ของประชาชน เท่านั้น!!!

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า