ถอดรื้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม : บาดแผล และความทรงจำ

18 กันยายน 2564

บทความนี้เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาจากบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ ตอนพิเศษในหัวข้อ “ถอดรื้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม : บาดแผล และความทรงจำ” โดยอาจารย์ ชัยพงษ์ สำเนียง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564  

หัวข้อการบรรยายในวันนี้ให้ความสำคัญกับคำถามที่ว่า เราจะเข้าใจประวัติศาสตร์จากอดีตได้อย่างไร ? เราเข้าใจโครงเรื่องประวัติศาสตร์ และเรารับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสังคม โลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบใด ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ในฐานะวิธีคิดกล่าวคือ เราจะเข้าใจ รับรู้ และสร้างประวัติศาสตร์ชุดนั้นขึ้นมาได้อย่างไร ? จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ภาคเหนือถูกเขียนขึ้นภายใต้บริบท และโครงเรื่องที่หลากหลาย และประวัติศาสตร์ภาคอื่น ๆ ก็มีโครงเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน

ชื่อหัวข้อในวันนี้คือ ถอดรื้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม โดยทั่วไปประวัติศาสตร์มีกระบวนการเขียนหลากหลายแบบเช่น ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม มันเกิดกระแสประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ ขึ้น เมื่อก่อนเรียกประวัติศาสตร์ที่ท้องถิ่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม” ในระยะหลังเห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่อง “ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม” จึงนำมาใช้อธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในลักษณะพันธุ์ทาง (Hybrid) เช่นนี้ว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม” ซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 2540 ที่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมมีพลังครอบงำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในวงกว้างมากขึ้น[1] 

บางคนบอกว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีต เราไม่มีทางเอาตัวตนของเราในปัจจุบันไปวิเคราะห์อดีตได้ หากมองแบบนั้นเราจะไม่สามารถอธิบาย และเข้าใจประวัติศาสตร์ได้เลย ทำให้นึกถึงคำของ E.H.Carr ที่ว่า “ประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาที่ไม่สิ้นสุดระหว่างอดีต กับปัจจุบัน”[2] งานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นพยายามตอบคำถามว่า ทำไมคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ถึงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ คำอธิบายในยุคสมัยหนึ่งสมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านพ้นไปวิธีคิดทางประวัติศาสตร์ บทสนทนาของผู้คนก็เปลี่ยนไปทำให้การอธิบายประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ประวัติศาสตร์แบบนี้จึงมีชีวิตชีวาที่โลดแล่นในกาลเวลาของมัน 

ประเด็นต่อมาเราอาจคิดว่าประวัติศาสตร์ต้องปราศจากอคติ หลักฐานสามารถเรียงต่อแล้วอธิบายแบบ Ranke ที่บอกว่า ข้อมูล หลักฐานสามารถบอกประวัติศาสตร์ตัวเองได้ แต่ทั้งหมดนักประวัติศาสตร์เป็นผู้ทำหน้าที่ในการร้อยเรียง และอธิบายประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์เป็นผู้ที่เลือก ตัดข้อมูลบางอย่างในการอธิบายประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่งซึ่งอาจมีอคติอยู่ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เถียงกันได้ในห้วงเวลาต่าง ๆ แม้ว่าโครงเรื่องหนึ่ง ๆ จะหมดพลังในการอธิบายไปแล้ว แต่ก็เปิดโอกาสให้เกิดการตีความ อธิบาย และสร้างโครงเรื่องใหม่ได้เสมอ วิชาประวัติศาสตร์จึงเป็นแนวพินิจในการมองความเปลี่ยนแปลง การบรรยายในครั้งนี้วางอยู่บนฐานคิดแบบนี้เช่นเดียวกัน 

ว่าด้วยรัฐสมัยใหม่ และอาณานิคมภายในของสยาม

อาณานิคมภายใน (Internal Colonialism) คือ การแย่งยึด  เมืองที่มีอิสระแต่เดิมเข้ามารวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของสยาม ส่วนกลางมีอำนาจทางการเมืองเหนือกว่า และมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากดินแดนรอบนอก หรือภูมิภาค ทั้งนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่สมัยใหม่ (Modernization) โดยไม่ทั่วถึงจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาครอบนอก เป็นเหตุให้ดินแดนบางแห่งเจริญ และบางแห่งไม่เจริญ[3]

แนวคิดอาณานิคมภายในอาจถูกตั้งคำถามจากนักรัฐศาสตร์ว่า มีจริงหรือไม่ แต่หากใครคุ้นเคยกับงานแนวสังคมวิทยา มานุษยวิทยาจะรู้ว่า วลาดิเมียร์ เลนิน[4] ผู้นำการปฏิวัติโซเวียตเป็นคนแรกที่เสนอความคิดอาณานิคมภายในที่พูดถึงพัฒนาการของรัฐตั้งแต่ปี 1956 ว่า รัฐศูนย์กลางที่ขยายอำนาจไปยังรัฐชายขอบภายนอกซึ่งทำให้เกิดการปะทะ ขัดแย้งกันนำมาสู่ความแตกต่างในการจัดการ และบริหารรัฐในส่วนต่างๆ 

นอกจากนี้ Michael Hechter (1975)[5] อธิบายถึงอาณานิคมภายในของอังกฤษที่พูดถึงสก็อต เวลส์ที่เกิดการปะทะกันประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ รัฐบาลส่วนกลางสร้างอำนาจเหนือพื้นที่ หรือดูดกลืนพื้นที่อื่น ๆ และแสวงหาผลประโยชน์เหล่านั้นดึงกลับเข้ามาที่ศูนย์กลาง และยังก่อให้เกิดเรื่องของชนชั้น และความไม่เท่าเทียมกันของชาติพันธุ์ซึ่งรัฐแบบนี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐสมัยใหม่ (Modernization) ไม่ได้เกิดจากรัฐจารีตเพราะรัฐจารีต หรือรัฐราชาธิราช รัฐบรรณาการยอมรับอิทธิพลของรัฐที่มีอำนาจสูงกว่าตนมากกว่าที่จะรับอำนาจในการปกครอง หรืออำนาจในการควบคุม

เราสามารถเอาแนวคิดอาณานิคมภายในมาอธิบายรัฐไทยในแง่ที่ว่า ก่อนที่รัฐสยามจะเข้าไปยึดครองรัฐน้อยใหญ่เจ้าท้องถิ่นทั้งหลายในหัวเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองลำพูน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองแพร่ล้วนมีอำนาจในปริมณฑลของรัฐตัวเองมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่เขตอิทธิพล ตัวอย่างเช่น การทำสนธิสัญญาระหว่างยางแดง กับเชียงใหม่ใช้วิธีการแบ่งเขตแดนแบบรัฐจารีตคือ การดื่มน้ำสาบาน และฆ่าควาย เพื่อแบ่งเขาเป็นสองซีกมีการกำหนดว่า หากมีสิ่งของไหลมาทางทิศตะวันออกของแม่น้ำสาละวินให้เป็นผลประโยชน์ของเชียงใหม่ และหากไหลไปทางทิศตะวันตกให้เป็นผลประโยชน์ของยางแดง หรือถ้าไหลมาตรงกลางให้แบ่งกันคนละครึ่ง เราจะเห็นได้ว่าความคิดแบบรัฐจารีตมีลักษณะเป็น “เขตอิทธิพล” มากกว่าเป็น “อำนาจการปกครองเหนือพื้นที่” ในแง่นี้อาณานิคมภายในจึงเกิดขึ้นในรัฐสมัยใหม่ที่ต้องการยึดครอง เข้าไปปกครอง และจัดการทรัพยากรเหนือพื้นที่ต่าง ๆ 

อาจารย์สุเทพ สุนทรเภสัช (2521)[6] นำเอาแนวคิดอาณานิคมภายในมาอธิบายการเกิดรัฐไทยสมัยใหม่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ในทศวรรษ 2520 โดยนำเอาตัวแบบของอีสานอย่างหัวเมืองอุบลฯ มาอธิบายที่ทำให้เห็นถึงความลักลั่น การเข้าไม่ถึงอำนาจ ทำให้รัฐที่อยู่ชายขอบเหล่านี้สูญเสียอำนาจ ตัวตน อัตลักษณ์ และมีพัฒนาการที่ไม่เท่ากัน แนวคิดอาณานิคมภายในถูกใช้ และไม่ใช้ในห้วงเวลาต่าง ๆ เพราะว่า วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ในสังคมไทยหลักฐานเป็นตัวบ่งชี้ในการอธิบายมากกว่าที่จะสนใจการเอาแนวคิด ทฤษฎีมาอธิบาย แต่ปัจจุบันมีการนำเอาแนวคิดทางสังคมศาสตร์ และรัฐศาสตร์มาใช้อธิบายประวัติศาสตร์มากขึ้น 

การเกิดขึ้นของรัฐไทยสมัยใหม่เป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้ว่า เกิดจากการได้ดินแดน หรือเสียดินแดน หากเรามองในฐานะที่มันเป็นอาณานิคมภายในสยามไม่ได้เสียดินแดน รัฐสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 มีการส่งข้าหลวง สร้างมณฑลเทศาภิบาลจึงทำให้ค่อยๆ ผนวกรัฐชายขอบ รวมถึงเข้าไปจัดการทรัพยากรในรัฐชายขอบด้วย

เราจะเห็นว่าการตั้งกรมป่าไม้ในภาคเหนือเพราะมีไม้สักเป็นทรัพยากรสำคัญในทางเศรษฐกิจของสยาม กรมป่าไม้จึงเป็นกรมแรก ๆ ที่เข้าไปตั้งในส่วนภูมิภาคซึ่งโดยปกติแล้วกรมต่าง ๆ จะตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อดึงทรัพยากรจากรัฐชายขอบเข้าสู่กรุงเทพฯ 

ในการถกเถียงเรื่องกำเนิดเรื่องชาติ และรัฐสมัยใหม่ของไทยนั้นมีการถกเถียงกันมากพอสมควรจะเห็นได้จากหนังสือชุมชนจินตกรรม Imagined Community ของ Ben Anderson[7] พูดถึงการเกิดรัฐสมัยใหม่ได้ทำให้เกิดสำนึกร่วมบางอย่างผ่านแท่นพิมพ์ จนก่อให้เกิดสำนึกประวัติศาสตร์ “ชาติ” ร่วมกัน ประเทศไทยที่กลายเป็นด้ามขวานไม่ได้เกิดจากการที่มีคนไปสำรวจตามชายแดนตั้งแต่เหนือยันใต้ แต่ชาติ หรือสำนึกร่วมกันนี้เกิดขึ้นในหัวของเรา แม้จะไม่ได้กล่าวถึงรัฐไทยโดยตรง แต่เป็นแนวคิดทฤษฎีในการทำความเข้าใจการเกิดรัฐสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี หรือหนังสือกำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติที่เขียนโดยอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล[8] ก็ได้ทำให้เราเห็นการสร้างชาติไทยผ่านแผนที่ หนังสืออาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล[9] ชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเกิดจากการเป็นทุนนิยมรอบนอกที่สยามกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกแบบอาณานิคม สยามการรีดเร้นทางเศรษฐกิจจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าสู่ศูนย์กลางจนเกิดกลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามขึ้นมาในที่สุด 

สิ่งสำคัญที่เราเห็นได้จากหนังสือเหล่านี้คือ  ทำให้เราเห็นว่าการเกิดรัฐสยามที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอย ๆ แล้วกลายมาเป็นประเทศไทย หรือมีมายาวนานตั้งแต่สมัยที่เราอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต เมื่อรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นมาพร้อมกับแนวคิดเรื่องการมีเขตแดนชัดเจน และพื้นที่ที่แน่นอนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เขตแดนในรัฐสมัยใหม่ไม่ได้เป็นเขตอิทธิพลแบบในรัฐจารีต แต่เป็นเขตอำนาจการปกครอง การเสด็จประภาสของรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จประภาสไปชวา สิงคโปร์ พม่า อินเดีย ในปี 2413-2414 ได้นำเอารูปแบบการบริหารจัดการแบบอาณานิคมมาใช้ในการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 มีการส่งข้าหลวงที่เป็นตัวแทนของรัฐสยามเข้าไปบริหารจัดการรัฐต่าง ๆ และตั้งมณฑลเทศาภิบาลเป็นการขยายอำนาจรัฐส่วนกลางแบบสมัยใหม่เข้าไปจัดการรูปแบบการปกครองของรัฐท้องถิ่นซึ่งทำให้เกิดการเก็บภาษีแบบใหม่เข้าสู่รัฐส่วนกลาง

คนอื่นในแดนตน-The other – คนอื่น-ลาว

รัฐจารีตในอดีตมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์กับเจ้าที่มีอิทธิพลมากกว่า ยิ่งมีชาติพันธุ์มากเท่าใดยิ่งแสดงถึงบุญญาบารมีที่ยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ในรัฐจารีตมากเท่านั้น รัฐจารีตไม่เคยต้องการหลอมรวมวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ให้เป็นเอกภาพ แต่ในรัฐสมัยใหม่ต้องการคนกลุ่มเดียวจึงผนวกรวมชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีอัตลักษณ์ที่ถูกกำหนดโดยรัฐส่วนกลาง ในกระบวนการการเข้าสู่รัฐสมัยใหม่มาพร้อมกับการสร้าง “คนอื่น” สร้างความเป็นเขาเป็นเราขึ้นมา

คนภาคเหนือเมื่อก่อนก็ถูกเรียกว่า “ลาว” ในสมัยอยุธยาตอนต้นก็มีการพูดถึงลาวในลิลิตยวนพ่ายหรือ รัตนโกสินทร์ตอนต้นในขุนช้าง ขุนแผนก็มีการพูดถึงคนลาวรับรู้ในสถานะอาณาจักรหนึ่งเท่านั้น ลาวไม่ได้ถูกรับรู้ในฐานะที่ต่ำต้อยทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมจนกระทั่งเข้าสู่การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เข้าสู่รัฐสมัยใหม่ที่ต้องการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมให้เป็นเอกภาพทั่วแผ่นดิน พร้อม ๆ กับการแสวงหาตัวตนของใครคือ “คนไทย” วิธีการที่ง่ายที่สุดในการประเมินว่าใครเป็นคนไทยคือ การจำแนกแยกแยะว่าอะไรที่ไม่ไทย

เราจะเห็นได้จากหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 4 ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท แม่ทัพใหญ่คราวสงครามเชียงตุงในสมัยรัชการที่ 4  ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นว่าลาวไม่ใช่กลุ่มคนเดียวกันกับคนไทยในที่ราบภาคกลางของสยามว่า “…พวกลาวนายหนึ่งคุมไพร่ร้อยหนึ่งสองร้อยก็จริง ก็แต่ว่าขี้ขลาดนัก ได้ยินเสียงปืนหนาไม่ได้   หลีกเลี่ยงหลบเหลี่ยมไป…”หรือ“…นิสัยลาวมากไปด้วยความเกียจคร้านโดยธรรมดาประเพณีบ้านเมือง  ถึงจะทำไร่นาสิ่งใด ถ้าแดดร้อนเข้าต้องหยุดก่อน ต่อเย็นจึงจะทำ เดินทางสายน่อยหนึ่งก็ต้องหยุด  เย็นๆจึงจะไป ไม่ได้รับความลำบากยากเลย …ครั้นพระยาราชสุภาวดี…ขึ้นไปอยู่เมืองน่านครั้งก่อน ลาวก็บ่นแทบทุกคน ว่าต้องเสียเงินเสียทองเป็นเบี้ยเลี้ยงแทบจะหมดบ้านหมดเมือง…ด้วยนิไสยสันดานลาวนั้นมีอยู่ ๓ อย่าง เปนแต่อยากได้ของเขา ไม่อยากเสียของให้แก่ใคร กับเกียจคร้านเท่านั้น เหมือนกันตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ตลอดไปทุกบ้านทุกเมือง…”[10]  

นอกจากคนลาวจะมีนิสัยสันดานที่ไม่ดีตามการรับรู้ของสยามแล้ว ชนชาติลาวยังเป็นชนชาติที่ต่ำช้า   ไม่มีการรักชาติรักสกุล เป็นกลุ่มชนที่เห็นแก่เงิน ไม่มีสติปัญญาในการคิดการต่างๆ ดังกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ว่า

“…(ลาว:ผู้เขียน)ไม่เหมือนชาติภาษาอื่นๆ ที่จะต่ำช้าเหมือนภาษาลาวไม่มี ไม่รักชาติรักสกุล ถ้าใครมีเงินสักสองชั่งสามชั่งขอบุตรเจ้าเมืองอุปราชราชวงษ์เปนภรรยาก็ได้ ไม่ว่าไพร่ว่าผู้ดี ไม่ถือว่าจีนว่าไทย เอาแต่มีเงิน ถ้าใครได้บุตรเจ้าเปนภรรยาก็ยกย่องคนนั้นขึ้นเปนเจ้าด้วย ลาวไม่มีสติปัญญาตรึกตรองระวังหลังหามิได้…”[11]

เราจะเห็นว่าชนชาติลาวในการรับรู้ของสยามว่าเป็น “คนอื่น” (The other) ในฐานะที่ต่ำต้อยกว่าเมื่อสยามเริ่มเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีความทันสมัยใหม่ (Civilize) และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทำให้สยามมีสถานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า รัชกาลที่ 5 และชนชั้นนำสยามต้องการที่จะสร้างชาติขึ้นมาจึงต้องหลอมรวมชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่กระจัดกระจายในสยามให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนไทยในกรุงเทพฯ จึงมีประกาศว่าต่อแต่นี้ไปมณฑลที่เคยเรียกว่า ยวน ลาว ละว้า ส่วย เขมร ผู้ไทให้เรียกว่าเป็น “ไทย” ทั้งหมด ทำให้ความเป็นชาติพันธุ์ที่หลากหลายหายไปหมดเป็นการผนวกกลืน และสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา

นอกจากนี้รัฐสยามสมัยใหม่ยังใช้กลไกการศึกษาทำให้กลายเป็นไทยด้วยการให้เรียนภาษาไทย เพื่อกลืนภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานทางภาษาเดียวกับกรุงเทพฯ จะเห็นได้จากรายงานการประชุม ลงวันที่ 12 กันยายน ร.ศ. 122 ว่า “ในมณฑลที่ใช้ภาษา 2 ภาษา เช่น มณฑลพายัพ อุดร อีสาน เป็นต้น ภาษาสำหรับพื้นเมืองจะสอนก็ให้สอนกันไป แต่ต้องถือเอาการเรียนภาษาไทยกลางเป็นการเรียนที่จะได้รับความอุดหนุนของรัฐบาล” ขณะที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้าวชิราวุธถวายความเห็นต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่งว่า “…ถ้าประสังค์จะให้พวกลาวเชื่อง จะฝึกหัดในทางอื่นไม่ดีเท่ากวาดเด็กเข้าโรงเรียน จะได้ดัดสันดานและความคิดเสียแต่ยังเยาว์…”[12] (หจช. ร. 5 ม. 5. 1/8 พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ถึงพระยาศรีสหเทพ, รศ. 119)

​​

รัชกาลที่ 6 ทรงให้ความสำคัญต่อเกณฑ์ทางภาษามากที่สุด ทั้งนี้โดยทรงเห็นว่า “ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันดีหรือแน่นอนยิ่งไปกว่าพูดภาษาเดียวกัน เพราะฉะนั้นรัฐบาลใดที่ต้องปกครองชนต่างภาษา จึงต้องพยายามตั้งโรงเรียนและออกพระราชบัญญัติบังคับให้ชนต่างภาษาเรียนภาษาของผู้ปกครอง … และถ้ายังจัดการแปลงภาษาไม่สำเร็จย่อมแปลว่าผู้พูดต่างภาษากับผู้ปกครองนั้นก็ยังไม่เชื่องและยังจะเรียกว่าเป็นชาตเดียวกันกับมหาชนพื้นเมือง ไม่ได้ …เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลใดยอมเปลี่ยนภาษาเดิมของตน ควรจัดได้ว่าแปลงชาติโดยแท้จริง[13] (อ้างใน เตือนใจ ไชศิลป์, 2536: 135)

นอกจากการสร้างระบบการปกครองแบบอาณานิคม การตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ยังสร้างโรงเรียน และตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชาติที่พยายามผนวกรวมคน และรัฐชายขอบรอบนอกกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม จัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ มุ่งให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แบ่งแยกเป็นลาวเป็นไทย โดยการศึกษาระบบโรงเรียนแบบใหม่จะต้องอบรมให้เยาวชนในล้านนาสำนึกความเป็นพลเมืองไทย ซึ่งจะเห็นได้จากพระบรมราโชบายตอนหนึ่ง ความว่า “… ความปรารถนาใช่จะให้แต่ความรู้ แต่อักขระวิธีอย่างเดียว หวังจะสั่งสอนให้รู้จักทางราชการ และให้รู้ความดีของการที่กลมเกลียวกันกับไทยกลางซึ่งจะเข้ากันได้เช่นกันต้องมีความคิดและความรู้ถึงกัน ความมุ่งหมายต้องเป็นอย่างเดียวกัน คือ หวังต่อความเจริญของบ้านเมืองซึ่งรวมกัน เพราะฉะนั้นผู้ซึ่งจะไปจัดการเล่าเรียนจะต้องเป็นผู้ไม่มีสันดานเย่อหยิ่งหมิ่นประมาททางพวกลาวว่าเลวทรามว่าคนไทยด้วยกันประการทั้งปวง จะต้องมีสติปัญญาที่จะหาทางสั่งสอนชักโยงให้พวกลาวรู้สึกว่าเป็นข้าราชการ ฤาเป็นพลเมืองอย่างเดียวกันกับไทยโรงเรียนนั้นจะต้องถือว่าตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ราชการเหมือนกับมิชชั่นนารีเขาตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แพร่ศาสนา…[14] (หจช. ร.5 2/10 ร.ศ 124)

ในงานการรับรู้ของชนชั้นนำสยามต่อล้านนาของเตือนใจ ไชยศิปล์ได้ชี้ให้เห็นการวางเป็นรัฐประศาสโนบายอย่างชัดเจนต่อคนล้านนาว่า “…ส่วนรัฐประศาสโนบายของเราเวลานี้ ก็ต้องการให้ลาวเปนไทยตามมูลชาติ ซึ่งถ้าให้ถูกแท้แล้ว สกุลที่เรียกว่าสกุลเจ้าลาว ก็ควรถือเป็นสกุลไทยอันมีชื่อเสียงอันหนึ่ง…”[15]

ความพยายามในการกลืนความเป็นลาวให้กลายเป็นไทยไม่ได้เปลี่ยนแต่เพียงคำเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนความหมาย เปลี่ยนการรับรู้ที่มีต่อคนลาวใหม่ และขยายวัฒนธรรมของสยามที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางให้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของรัฐชายขอบ

การต่อต้านอำนาจรัฐสยาม

การขยายอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เรียกว่า อาณานิคมภายใน จากสยามไปยังรัฐชายขอบไม่ได้ราบรื่น แต่เกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่ต่าง ๆ มากมายทั่วประเทศ เมื่อรัฐสยามในภาคกลางขยายอำนาจไปยังภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ พื้นที่ตรงนั้นเต็มไปด้วยผู้คน กลุ่มต่างๆ และมีเจ้าเมืองท้องถิ่นที่มีอำนาจอยู่เดิมในท้องถิ่น ทำให้อำนาจของสยามกับอำนาจของท้องถิ่นเกิดการปะทะกันเราจึงเห็นการต่อต้านที่ถูกเรียกว่า “กบฏ” 

ในภาคเหนือจะเห็นได้ว่ามีการต่อต้านตั้งแต่ช่วงแรกที่สยามขยายอำนาจเข้าไปที่ลดอำนาจ และลดบทบาทของเจ้านายภาคเหนือลง และกระทบกับคนในท้องถิ่นจากการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเก็บภาษี ในปี 2424 มีการต่อต้านเจ้าเมืองเชียงใหม่ด้วยการทรงผีบรรพบุรุษ (เจ้าต้านรัฐ) ซึ่งผีบรรพบุรุษนั้นแสดงความไม่พอใจที่สยามเข้าไปตั้งตำแหน่งทางการเมืองแบบรัฐจารีตในเชียงใหม่ และการเก็บภาษี ทำให้สยามมีท่าทีในการประณีประนอมมากขึ้น ต่อมาในปี 2432 เกิดกบฏพระยาปราบสงคราม (พระญาผาบ) เป็นผลมาจากการปฏิรูปการเก็บภาษีแบบใหม่ของสยาม ทำให้อำนาจของสยามเข้าไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นจึงเกิดการต่อต้านขึ้นมา[16]

ในปี 2445 อำนาจของสยามที่เข้าไปจัดการ ทำลายอำนาจท้องถิ่นเริ่มลงหลักปักฐานในรัฐชายขอบที่ถูกผนวกรวมให้เป็นเอกภาพภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านของประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ในภาคเหนือเกิดการต่อต้านของเงี้ยวเมืองแพร่ ในอีสานเกิดขบวนการผีบุญมีการต่อต้านสยามถึง 13 เมืองทั่วอีสาน และ 7 หัวเมืองมลายูต่อต้านอำนาจสยาม กรณีเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่าอำนาจของสยามยังไม่ได้เป็นเอกภาพ เป็นปึกแผ่นแน่นหนา รัฐสยามแบบที่เราเห็นแบบที่เราคิดมันเกิดขึ้นมาภายใต้การไปผนวกกลืนอำนาจอื่น ๆ ของท้องถิ่น และทำให้เราเห็นว่าความคิดที่เชื่อว่า…

สยามที่เราเห็นเป็นด้ามขวานมีมาช้านานตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงไม่ได้มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ 

แม้ว่าจะมีการปราบปรามการต่อต้านจากสยาม แต่การต่อต้านยังคงดำเนินเรื่อยมาเช่น ขบวนการครูบาวัดฝายหิน ในทศวรรษ 2450 ที่ต่อต้านเรื่องการเกณฑ์ทหาร ความขัดแย้งระหว่างจารีตของสงฆ์แบบล้านนา กับสยาม หรือกรณีครูบาศรีวิชัย ในทศวรรษ 2460-2580 ก็มีกรณีพิพาทเรื่องพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ หรือครูบาขาวปี เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการต่อต้านอำนาจรัฐมีต่อเรื่องเป็นระยะ แม้แต่ในทศวรรษที่ 2500 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ยังมีการต่อต้านอยู่เสมอ ยังไม่รวมกรณีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

เราอาจสรุปได้ว่า ในการสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทยได้ผนวกกลืน และปะทะกับอำนาจท้องถิ่นมากมายจนกลายเป็นรัฐไทยที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน 

สร้างพื้นที่ใหม่ เขียนอดีตใหม่

นอกจากการต่อต้านในพื้นที่ต่าง ๆ การตั้งมณฑลเทศาภิบาล และการสร้างอำนาจเหนือพื้นที่ สิ่งหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ การสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ยกตัวอย่างในกรณีภาคเหนือที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นการจำลองความเป็นอาณานิคมภายในอย่างชัดเจน เชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่ทำให้เราเห็นถึงการรวมพื้นที่ต่าง ๆ แล้วสร้างเป็นจังหวัดใหม่ขึ้นมา เดิมทีเชียงรายเป็นเมืองในบังคับที่อยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ อำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการเคยเป็นพื้นที่ของเชียงราย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ในภายหลัง หรืออำเภอเทิง เชียงคำ จุน ปงที่เคยขึ้นกับเมืองน่าน เมื่อมีการตั้งเมืองขึ้นมาใหม่ก็ถูกดึงไปเป็นส่วนหนึ่งของเชียงราย หรืออำเภอพานเคยเป็นเมืองขึ้นของลำพูนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเชียงรายเช่นกัน เชียงรายจึงเป็นตัวแทนของการสร้างอาณานิคมที่รัฐสยามดึงเมืองต่าง ๆ ในรัฐจารีตแบบเดิมมาสร้างเป็นจังหวัดใหม่ขึ้นมา 

การรวมเมืองต่าง ๆ สร้างเป็นจังหวัดใหม่ขึ้นมาไม่เพียงแต่เป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ที่เป็นหน่วยการปกครองเท่านั้น แต่ยังเป็นหน่วยในการสร้างสำนึกที่มีต่อพื้นที่นั้น ๆ ด้วย เช่น ในอดีตคนที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่อาย ไชยปราการฝางนิยามตัวตนว่าเป็นคนเมืองฝาง แม่อาย ไชยปราการเป็นการนิยามตามพื้นที่ที่อาศัยอยู่ แต่เมื่อเกิดการสร้างหน่วยการปกครองที่เรียกว่า “จังหวัด” ทำให้สำนึก และการนิยามตัวตนของผู้คนในพื้นที่ถูกนิยามด้วยความเป็นจังหวัดกลายเป็นคนเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางแทน เป็นการทำลายสำนึกแบบเดิม และเป็นการจำลองความเป็นอาณานิคมอย่างชัดเจน

การเปลี่ยนชื่อ การย้ายเขต การสร้างหน่วยการปกครองแบบใหม่เช่นนี้สัมพันธ์กับการสร้างตัวตน สำนึก อัตลักษณ์ และความเป็นประวัติศาสตร์ของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของเราในชาติด้วย[17]

ในทศวรรษที่ 2440 สยามเขียนอดีตใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้ของเมืองต่าง ๆ ผ่านพงศาวดาร ตำนานพื้นเมืองเยอะแยะมากมาย เช่น พงศาวดารโยนก ประวัติศาสตร์อีสาน พงศาวดารพม่า

เราอาจคิดว่ารัชกาลที่ 5 ท่านตระหนักว่าท้องถิ่นมีประวัติศาสตร์ของตัวเองท่านจึงให้เขียนตำนาน พงศาวดารขึ้นมา แต่แท้จริงแล้วเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ เพื่อยืนยันอำนาจของสยามที่มีเหนือหัวเมืองต่าง ๆ เท่านั้น ดังนั้นการเขียนอดีต การเขียนประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงเป็นไปเพื่อสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง 

หากเราดูในเอกสารเหล่านี้จะพบว่า ไม่ได้เป็นการเขียนอดีตของบ้านเมืองนั้น ๆ เราลองไปดูตามพิพิธภัณฑ์ตามจังหวัดต่าง ๆ ก็ได้ว่า มีโครงเรื่องในลักษณะที่จังหวัดนั้นสวามิภักดิ์กับสยามอย่างไร หรือสยามทำคุณงามความดีอะไรให้กับเมืองนั้น ๆ บ้าง นี่คือ “ประวัติศาสตร์ของรัตนโกสินทร์ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในฐานะที่เป็นอิสระ หรือประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงตัวตนของคนในท้องถิ่นที่ต้องการให้คนเหล่านี้มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ 

รัฐสมัยใหม่ไม่ได้สร้างขึ้นมาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นปึกแผ่นมาแต่ไหนแต่ไร และไม่ได้เพียงแต่ยึดครองพื้นที่หัวเมือง แต่สร้างขึ้นจากการยึดกุมสำนึก ชีวิต จิตใจ และเปลี่ยนระบบภาษาของผู้คนผ่านระบบการศึกษา และตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในพื้นที่จากลาวให้เป็นไทยที่เรียกว่า อาณานิคมภายใน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ ก่อตัวมาต่อเนื่องยาวนาน และมีการต่อต้านในเชิงกายภาพอย่างร้ายแรงที่ถูกเรียกว่า “กบฏ” เป็นการตอบโต้ความเป็นอาณานิคมภายใน 

ถอดรื้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม

ประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลักที่เป็นเส้นตรงต่อเนื่องตั้งแต่สุโขทัยถึงปัจจุบันถูกนำไปใช้ในแบบเรียนมาตลอด ประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลักไม่มีพื้นที่ให้กับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นล้านนา อีสาน มลายู ปัตตานีจะมีก็เป็นเพียงการพูดถึงการสวามิภักดิ์มาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิ์สมภารของสยาม เราแทบไม่เห็นการต่อต้านของคนในหัวเมืองต่าง ๆ ในการสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทย

ในยุคสมัยใหม่หลังทศวรรษ 2520 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มมีหน่ออ่อนของการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และสัมมนาประวัติศาสตร์เกิดกระแสของการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ ขึ้นมาซึ่งมีลักษณะเป็น “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม” เพื่ออธิบายตัวตนของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงเริ่มมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยมที่อธิบายตัวเองเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เพื่อให้ท้องถิ่นมีตำแหน่แห่งที่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำให้ตัวตนของคนท้องถิ่นถูกกลืนของประวัติศาสตร์ชาติไทยในที่สุด

การเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลังทศวรรษ 2540 มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ การครองราชย์ครบ 60 ปีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เกิดการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่มีแก่นแกนสำคัญอยู่ที่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม” เป็นการผสมระหว่างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยมกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม เพื่อทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีตัวตนที่ยึดโยงกับชาติที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง เราจะเห็นได้จากการที่เจ้านายฝ่ายเหนือ และผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคมีการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นความจงรักภักดีที่มีต่อราชวงศ์จักรี เพราะลำพังประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่มีพลังในการอธิบายให้เป็นที่รับรู้ได้อย่างกว้างขวาง[18]

กรณีประวัติศาสตร์เมืองแพร่ หากอธิบายในลักษณะที่ชี้ให้เห็นถึงการต่อต้านของงี้ยวที่เกิดจากการกดขี่ของสยามในทศวรรษ 2540-2550 คงไม่สามารถอธิบายได้ แต่ประวัติศาสตร์เมืองแพร่มักถูกอธิบายกรณีกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กับเจ้าหลวงว่า เจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการก่อกบฏ หรือถูกยุยงปลุกปั่นจากคนรอบข้าง หรือยิ่งกว่านั้นคือ อธิบายว่าเจ้าหลวงเมืองแพร่เป็นสายลับของรัชกาลที่ 5 เพื่อสืบข่าวจากฝรั่งเศสในการรักษาเอกราชของภาคเหนือไว้ การเขียนอดีตใหม่เช่นนี้ได้สร้างสำนึก และตำแหน่งแห่งที่ใหม่ให้กับประวัติศาสตร์เมืองแพร่ได้ทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของเจ้าหลวงถูกรับรู้ใหม่ที่เปลี่ยนจาก “เจ้าหลวงกบฏ” กลายเป็น “เจ้าหลวงผู้จงรักภักดี” 

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยมที่ขาหนึ่งก็พยายามอธิบายตัวตนของท้องถิ่น อีกขาก็พยายามยึดโยงกับชาตินิยมที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อแสดงความจงรักภักดีของมีต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยมกลายเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติที่ไม่มีคนในท้องถิ่นอยู่จริง ๆ และยังทำให้ไม่เห็นพลวัตของท้องถิ่นที่โลดแล่นในมิติเชิงเวลาของประวัติศาสตร์

สิ่งที่เราควรพินิจากการศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้คือ เราควรทำความเข้าใจกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ หรือโครงเรื่องประวัติศาสตร์แต่ละแบบว่าถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบทแบบไหน และมีความเปลี่ยนแปลงโครงเรื่องอย่างไรบ้างในเงื่อนไขต่าง ๆ และเกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนกลุ่มต่าง ๆ อย่างไร และดูว่าประวัติศาสตร์แต่ละแบบมีการปะทะ ขัดแย้ง ร่วมมือกัน หรือกระทั่งแตกหักอย่างไร การศึกษาประวัติศาสตร์เช่นนี้ทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตชีวา และเป็นการต่อสู้ ต่อรองในเชิงในพื้นที่การเมืองของความหมาย และสถาปนาตำแหน่งแห่งที่ของการอธิบายประวัติศาสตร์นั้น ๆ

พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เปิดกว้างจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราอยู่กันอย่างสันติ และสามารถให้พื้นที่กับคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไร้เสียง ไร้ตัวตน สามารถถกเถียง และแลกเปลี่ยนกันได้กันได้ฉันท์มิตร

ท้ายสุด เวลาอธิบายประวัติศาสตร์ล้านนา เมืองแพร่ เมืองอุบลฯ เราจะไม่มองแค่เป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม เป็นแค่ส่วนแยกส่วนย่อยของประวัติศาสตร์ชาติ ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่เราอธิบายในฐานะความสัมพันธ์ของผู้คน (ที่หลุดออกไปจากประวัติศาสตร์การเมือง) ความทรงจำจึงเป็นการเมืองของการแย่งชิงพื้นที่ และความหมายของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสถาปนาให้ผู้คนมีที่ยืนในประวัติศาสตร์ และมีตัวตนในเวลาหนึ่ง ๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นเรามีพื้นที่ให้กับกลุ่มทะลุแก๊สให้พวกเขาสามารถส่งเสียงได้ในประวัติศาสตร์ พวกเขาคงไม่ออกมาต่อต้าน และควบคุมฝูงชนก็คงไม่ต้องออกมาใช้ความรุนแรง ประวัติศาสตร์จึงมีหน้าที่ทำนองนี้เหมือนกัน

ดูการเปลี่ยนย้ายเขตพื้นที่ใหม่ที่ส่งผลต่อการสร้างสำนึกใหม่ และจำลองความเป็นอาณานิคมได้ที่นี่

  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวามณฑลพายัพ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 หน้า 426 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/D/426_2.PDF
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเรียกว่าจังหวัด, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 51 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/A/51.PD
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง โอนอำเภอเมืองฝาง จังหวัดเชียงรายไปขึ้นจังหวัดเชียงใหม่, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 42 หน้า 203. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/D/203.PDF
  • พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 45 หน้า 40.http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2480/A/40.PDF
  • พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. ๒๔๙๕, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 หน้า 1440.http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2495/A/077/1440.PDF
  • พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ.2520, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 หน้า 1.http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/A/069/1.PDF

อ้างอิง

[1] ธงชัย วินิจจะกูล. ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม  จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน. ศิลปวัฒนธรรม 23 1 (2544).

[2] Carr,  E. H. What Is History?. London : University of Cambridge & Penguin Books, 1961.      

[3] สุเทพ สุนทรเภสัช. มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์: รวมความเรียงว่าด้วยการประยุกต์ใช้แนวความคิดและทฤษฎีทาง

มานุษยวิทยาในการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548.

[4] Lenin, V.I.  The Development of Capitalism in Russia. Moscow, 1956.

[5] Hechter Michael. Internal Colonialism: The Celtic Fringe in British National Development, 1536–1966. Berkeley and Los Angeles:  University of California Press.  1975.

[6] งานชิ้นนี้เสนอครั้งแรกในปี 2521 เพื่ออธิบายภาคอีสานที่ถูกผนึกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ดูใน, สุเทพ สุนทรเภสัช.  มานุษยวิทยากับ

ประวัติศาสตร์: รวมความเรียงว่าด้วยการประยุกต์ใช้แนวความคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์.

กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548.

[7] เบนเนดิกท์ แอนเดอร์สัน. ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม. แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ

คณะ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552.

[8] Thongchai Winichakul. Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation. Honolulu: University of Hawaii Press, 1994. ต่อมามีการแปลเป็นภาษาไทย ธงชัย วินิจจะกูล, (เขียน). พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์,  (แปล).  กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ. กรุงเทพฯ : อ่าน, 2556.

[9] Chaiyan Rajchagool. The Rise and fall of the Thai absolute monarchy: foundations of the modern Thaistate from

feudalism to peripheral capitalism. Bangkok: White Lotus, 1994. ต่อมามีการแปลเป็นภาษาไทย ไชยันต์ รัชชกูล.  อาณานิคม

สมบูรณาญาสิทธิราชย์: การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก. กรุงเทพฯ: อ่าน, 2560.

[10] จดหมายเหตุทัพเมืองเชียงตุง. ภาค 2 การเตรียมทัพไปตีเมืองเชียงตุง. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร โปรดให้พิมพ์เป็นครั้ง

แรก เป็นของแจกในงานศพ นายพลเรือตรี พระยานาวาพลพยุหรักษ์ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์ ณ กรุงเทพ) ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. 2559.

[11]  เรื่องเดียวกัน

[12] หจช. ร.5ม. 5. 1/8 พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ถึงพระยาศรีสหเทพ, รศ. 119

[13] เตือนใจ ไชยศิลป์. “ล้านนาในการรับรู้ของชนชั้นปกครองสยาม พ.ศ. 2437-2476.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.

[14] หจช. ร.5 2/10 ร.ศ 124

[15] เตือนใจ ไชยศิลป์. “ล้านนาในการรับรู้ของชนชั้นปกครองสยาม พ.ศ. 2437-2476.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.

[16] ดูเพิ่มเติมใน, ชัยพงษ์ สำเนียง. กบฏเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา”. กรุงเทพฯ: ศูนย์

มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2564ก.

[17] ดูเพิ่มเติมใน, ชัยพงษ์ สำเนียง. ประวัติศาสตร์เมืองแพร่: รัฐจารีตสู่การสร้างอาณานิคมภายในภายใต้วาทกรรม “รัฐชาติ.  พิษณุโลก:

ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2564ข. ในบทที่ 5 และ 6 ที่ได้อธิบายการสร้างพื้นที่และเปลี่ยนสำนึกใหม่

ผ่านการจัดหน่วยการปกครองในรูปจังหวัด

[18] ดูเพิ่มใน, ชัยพงษ์ สำเนียง…, 2564ก; ข. ได้อธิบายการเขียนประวัติสาสตร์ใหม่ของเมืองต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับการขึ้นมามีอำนาจนำของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างไม่มีมาก่อน การอธิบายการเขียนประวัติศาสตร์สามารถดูได้ในงานของ ธงชัย วินิจจะกูล. ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย : ว่าด้วยประวัคิศาสตร์นอกขนบและวิธีวิทยาทางเลือก. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2562. และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล.  ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับ. กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2544.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า