หลัก 5 ข้อในการทำลายทรัพย์สินเพื่อการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี

8 กันยายน 2564
คำนำเสนอบทแปล

การประท้วงเริ่มปะทุเปลี่ยนเป็นการทำลายทรัพย์สินและก่อจราจลมากขึ้นในประเทศไทย สันติวิธีกลับกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้งว่านิยามคืออะไร ขอบเขตอยู่ตรงไหน ควรสันติวิธีในการต่อสู้หรือไม่ ไม่รวมข้อถกเถียงอื่น ๆ อีกมาก ข้อถกเถียงเหล่านี้ไม่มีฝ่ายใดถูกหรือผิด สิ่งที่สำคัญคือการรักษาเอกภาพในขบวนการประชาธิปไตยเอาไว้เพื่อต่อสู้กับเผด็จการ 

อย่างไรก็ตาม หากเอกภาพหมายถึงการต้องเงียบและหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นย่อมเป็นเอกภาพที่เปราะบาง เนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยเป็นของทุกคน ทุกคนย่อมมีสิทธิมีเสียงในการถกเถียงเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธี การถกเถียงมีประโยชน์ช่วยในเฟ้นหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยให้เราเข้าใจข้อจำกัดของกันและกัน และเป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสมความรู้ในการสร้างสังคมที่เสรีและเป็นธรรมด้วย

ในวันนี้พวกเรา Common School ขอแนะนำบทความแปลเรื่อง “ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ความรุนแรง ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และยุทธศาสตร์” ของทอม ฮาสติงส์ให้ทุกท่านลองพิจารณา บทความนี้เขียนขึ้นในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วตีพิมพ์ในบล็อกของศูนย์นานาชาติเพื่อความขัดแย้งอย่างไร้ความรุนแรงขณะที่การจราจลในสหรัฐอเมริกากำลังร้อนระอุจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์

การจราจลที่ขยายเป็นวงกว้างในดังกล่าวทำให้ ทอม ฮาสติงส์อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยออรีกอน หวนรำลึกถึงช่วงที่เขาเคยเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งการรณรงค์ของเขาพัวพันอยู่กับการพ่นสีและทำลายสิ่งของในฐานทัพทหารของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วย

การถอดบทเรียนของทอม ฮาสติงส์ นับว่าน่าสนใจอย่างมาก เพราะปกติแล้วในองค์ความรู้ปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่แล้วการทำลายทรัพย์สินจะไม่ได้อยู่ในขอบเขตของการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรง แม้ใน Politics of Nonviolent Action ตำราของบิดาสันติวิธีสมัยใหม่อย่างยีน ชาร์ป ก็วาดแผนภาพโดยแยก “การทำลายทรัพย์สิน” ออกจาก “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” อย่างชัดเจน

สำหรับยีน ชาร์ป การทำลายทรัพย์สินจะเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงได้ ก็ต่อเมื่อทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตนเองเท่านั้น ดังปรากฎอยู่ในการวิธีการประท้วงที่ 23 ของตำรา เช่น ในปี 1775 ชาวอเมริกันเคยนำใบชาอังกฤษที่ตนเองซื้อไปเผาเพื่อประท้วงระบอบจักรวรรดิอังกฤษ ก่อนการปฏิวัติจะเกิดขึ้นในปีต่อมา ที่ผ่านมาการประท้วงของคณะราษฎรก็ใช้วิธีการนี้อยู่ตลอด เช่น การเผาตำราที่เขียนโดยนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และการทุบศาลพระภูมิเพื่อประท้วงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

หากให้พูดอย่างเคร่งครัดแล้ว ยีน ชาร์ป ไม่ได้บอกว่าการทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือของผู้อื่นเป็นสันติวิธีหรือไม่และสามารถเปิดช่องนำไปสู่การตีความได้ แต่ฮาสติงส์เห็นต่างออกไป จากภูมิหลังการเคลื่อนไหวในขบวนการคันไถ (Plowshare Movement) เพื่อต่อต้านสงคราม ฮาสติงส์ต้องเอาตนไปเกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพย์สินของรัฐบาล และเป็นวัตถุอันตรายต่อมนุษยชาติในฐานบัญชาการนิวเคลียร์ของกองทัพสหรัฐอเมริกาถึง 3 ครั้ง ประสบการณ์ที่เขาถอดบทเรียนออกมา ในความเห็นของเรา เราอาจถือได้ว่ามันเป็น “การทำลายข้าวของที่สันติวิธีที่สุด” อาจจะยิ่งกว่าการเคลื่อนไหวด้วยวิธีอื่นๆ ด้วยซ้ำ

ฮาสติงส์ยังเชื่อมั่นในแนวทางแบบสันติวิธีและเห็นว่าการก่อจราจลเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะมันเป็นการผลักผู้คนที่อาจเป็นแนวร่วมออกไปมากกว่าเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกัน เขาก็เห็นว่าการทำลายทรัพย์สินสามารถเป็นประโยชน์ต่อการรณรงค์แบบสันติวิธีได้ และเพื่อไม่ให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องบานปลายไปสู่การก่อจราจล เขาเสนอว่ามีหลักที่ควรทำ 5 ข้อด้วยกัน

สำหรับหลัก 5 ข้อมีรายละเอียดอย่างไร ท่านสามารถอ่านได้ด้านล่างเลย ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยกับทอม ฮาสติงส์หรือไม่ เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการถกเถียงภายในขบวนการรณรงค์เคลื่อนไหว เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ประมุขที่สถาบันกษัตริย์ของไทยได้รับการปฏิรูปให้สอดคล้องกับยุคสมัยต่อไป 

ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ความรุนแรง ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และยุทธศาสตร์

ทอม ฮาสติงส์ เขียน

ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวที่มีพลังอย่างมาก และกำลังสร้างแรงกดดันต่อพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ปรารถนาความยุติธรรมและจุดจบของการเข่นฆ่าคนผิวสีที่ไร้อาวุธโดยตำรวจ กลุ่มที่ทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อันเลวร้ายอย่างยิ่ง กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่ถูกทำลายและปล้นสดมภ์ และกลุ่มที่เพียงแค่หวาดกลัวเกินกว่าจะเคลื่อนไหวอะไรว่าไม่ว่า ณ ที่แห่งใดในขณะนี้

หนึ่งในคำถามที่ติดมานานเป็นเรื่องความเสียหายต่อทรัพย์สิน ซึ่งเราได้เห็นแล้วในหลายๆ เมืองของสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ จากการรายงานภาคสนามที่น่าเชื่อถือต่างๆ กลุ่มที่กำลังประท้วงอยู่บนท้องถนนแต่ละเมือง ส่วนใหญ่จำนวนมากแล้วมีลักษณะไร้ความรุนแรง พวกเขาไม่จำเป็นต้องสันติเสมอไป พวกเขาส่งเสียงดังร้องเพลงหรือพูดตะโกนและหลายครั้งพวกเขาก็โกรธเกรี้ยวอย่างเห็นได้ชัดและแรงกล้า แต่การก่อกวนขัดขวางเป็นหัวใจของการต่อต้านขัดขืนของพลเมืองตราบที่มันไม่กลายเป็นความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การวางเพลิงและการใช้ระเบิดเป็นเรื่องที่ต่างออกไป แม้จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บในทันทีจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งยากจะรับประกันได้ แต่ผู้คนที่มีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าวไม่สามารถควบคุมมันได้แล้วหลังจากที่เริ่มมันขึ้น บางคนอาจเถียงว่าการกระทำดังกล่าว หากไม่ทำร้ายหรือมีเจตนาทำร้ายใคร ย่อมไม่ใช่ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม จากมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ และดังนั้นจึงมีแนวโน้มระดมการสนับสนุนจากสาธารณะให้หันมาเห็นด้วยกับเป้าหมายได้น้อยกว่า การกระทำเหล่านี้ยังทำให้สื่อเป็นทิศทางการรายงาน ผลักประชาชนทั่วไปออกไป และนำไปสู่การสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ผ่านวิธีการใด ๆ ก็ตามที่จำเป็น และเพิ่มเอกภาพและความเชื่อฟังในกลุ่มกองกำลังความมั่นคงด้วย

ในบางที่ โดยเฉพาะหลังมืดแล้ว การจราจลมักจะปะทุขึ้น ทรัพย์สินมักถูกทำให้เสียหาย ความเห็นต่อเรื่องนี้แพร่สะพัดไปทั่วทั้งแผนที่ โปรดลองฟังความเห็นสั้น ๆ ของผมดูก่อนเนื่องจากผมครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เมื่อเพื่อนของผมเผาบัตรเกณฑ์ทหารและทำลายแฟ้มเอกสารของหน่วยงานคัดเกณฑ์ทหาร (Selective Service) เพื่อแทรกแซงการเกณฑ์ทหารที่ส่งเยาวชนชายไปฆ่าคนและตายในสงครามอันโง่เขลาในเวียดนาม

ผมครุ่นคิดถึงการทำลายทรัพย์สินหนักยิ่งขึ้นอีก เมื่อครูของผมใช้ค้อนทุบฐานอาวุธนิวเคลียร์ต่าง ๆ เพื่อทำการปลดอาวุธสงครามในเชิงสัญลักษณ์ ผมเดินตามรอยพวกเขาและครุ่นคิดเกี่ยวกับมันขณะที่ถูกกุมขังเพราะการกระทำเหล่านี้

ผมถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทำลายทรัพย์สิน 3 ครั้ง และทั้ง 3 ครั้งผู้พิพากษาและคณะลูกขุนต่างเห็นด้วยกับผมว่าการกระทำของผมอาจจะผิดกฎหมาย แต่ก็ยังเป็นการไม่ใช้ความรุนแรงอยู่

มีองค์ประกอบพื้นฐาน 5 อย่างในแนวคิดของผมเมื่อการทําาลายอะไรบางอย่างอาจเป็นประโยชน์ในการรณรงค์แบบไม่ใช้ความรุนแรง

  1. เมื่อไม่มีทรัพย์สินส่วนเอกชนของปัจเจกบุคคลใดถูกทำลาย

  2. เมื่อทรัพย์สินที่ถูกทำลายเป็นภัยคุกคามต่อผู้อื่น

  3. เมื่อแกนนำผู้จัดกิจกรรมเห็นด้วยกับการกระทำเชิงกายภาพดังกล่าวล่วงหน้า

  4. เมื่อไม่มีการทำลายทรัพย์สินเกิดขึ้นในบริบทของกิจกรรมสาธารณะ หากการทำลายทรัพย์สินดังกล่าวไม่ถูกประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดขึ้นได้

  5. เมื่อการกระทำดังกล่าวมีคำอธิบายรองรับเป็นอย่างดีและถูกพูดถึงซ้ำๆ ในพื้นที่สาธารณะ โดยกลุ่มที่ไม่มีอะไรปิดบังเกี่ยวกับการกระทำของตัวเองอย่างแท้จริงและแสดงให้เห็นว่ายึดมั่นในยุทธศาสตร์ไร้ความรุนแรง

การถูกดําเนินคดี 2 ครั้งของผมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคันไถ (หรือ Plowshare Movement) ที่ซึ่งปัจเจกบุคคลและคนกลุ่มเล็ก ๆ ทําให้อุปกรณ์ทางทหารไม่สามารถใช้การได้ โดยมีเจตจํานงค์เพื่อ “ตีดาบเป็นคันไถ (hammer swords into plowshares)” เหมือนในรูปปั้นเลื่องชื่อที่ตั้งอยู่ด้านนอกองค์การสหประชาชาติ และเป็นการคํานับต่อพระคัมภีร์ไบเบิล

ในคดีแรก ผู้พิพากษาชื่นชอบผมและโดยสรุปแล้วได้ตัดสินผมโดยรอลงอาญาไว้ก่อน

ในคดีที่สอง ผู้พิพากษาค่อนข้างมีอุดมการณ์ขวา ทว่าเขาก็ยังกล่าวในช่วงญัตติรับฟังก่อนการไต่สวนว่า เขาเหนื่อยที่จะฟังผมอธิบายแล้วว่าทำไมการเลื่อยเสาขนาด 50 ฟุต และการทำให้เสาอากาศหนาล้มลงมาบนพื้นเป็นการไม่ใช้ความรุนแรง โดยยอมรับว่า “เราทุกคนรู้แล้วว่ามันเป็นการไม่ใช้ความรุนแรง”

วัตถุประสงค์ของเสาอากาศดังกล่าวมีไว้เพื่อสั่งการเปิดฉากสงครามนิวเคลียร์ เราสองคนตัดความเป็นไปได้นั้นทิ้งแบบจริงๆ แต่เนื่องจากเราทุกคนต่างรู้ว่าพวกเขาจะซ่อมมันอย่างรวดเร็ว การล้มเสาจึงเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ด้วย กรณีนี้ก่อให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้ในพื้นที่สาธารณะอย่างมาก และเท่าที่มองดูแล้วประชาชนทั้งหมดก็เห็นด้วยกับการกระทำของเรา

ผมเปิดเผยและโปร่งใสอย่างมากในทั้ง 3 กรณี ผมล้มเสา 2 ครั้ง (ในปี 1985 และ 1996) และอีกครั้งหนึ่งเป็นกรณีที่เบากว่ามากเกิดขึ้นที่ศูนย์บัญชาการเช่นกัน ที่ซึ่งผมพ่นสีใส่ป้าย ผมส่งใบแจ้งไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายล่วงหน้าด้วยว่าจะทำ โดยผมรวมพวกเขาอยู่ในรายชื่อคนที่ต้องใบแจ้งข่าวไปหาด้วยเสมอ เนื่องจากฐานทัพดังกล่าวมีอยู่เพียงเพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือการเปิดฉากสงครามนิวเคลียร์ ผมจึงพ่นสีข้อความเป็นคำเตือน อีกครั้งที่ความโปร่งใส การเน้นย้ำถึงการยังคงไม่ใช้ความรุนแรง และโดยเฉพาะการสื่อสารกับสาธารณะเพื่ออธิบายตัวเองมีความสำคัญอย่างมาก

มันได้ผล เราปิดฐานทัพดังกล่าวได้สำเร็จ อำนาจที่แท้จริงจากความพยายามของเราคือแนวร่วมที่เราสร้างขึ้น ปฏิบัติการของขบวนการคันไถเป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบของความพยายามหลากหลายมิติของการรณรงค์ และผมให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับการเตรียมงานนี้กับแกนนำทั้งหมดล่วงหน้า เราเห็นแย้งกันอย่างมากตอนเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ 2 วันให้หลัง ทั้ง 18 คนก็ได้แผนที่ทุกคนชอบออกมา การกระทำของผมไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายเดียว กลุ่มที่สามารถพูดได้ว่าเป็นตัวแทนของการรณรงค์นี้ให้ความยินยอม ไม่มีใครเป็นหัวหน้าและทุกคนรู้สึกได้รับการรับฟังและให้ค่า

กลับมาสู่ปัจจุบันอย่างรวดเร็ว

การทำลายร้านค้ามากมายในปัจจุบัน รวมไปถึงร้านที่คนชาติพันธุ์ส่วนน้อยเป็นเจ้าของ เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายได้ เว้นเสียแต่ว่าบางส่วนของคำอธิบายนี้จะเกี่ยวข้องกับสายลับที่พยายามเข้ามายั่วยุเพื่อทำให้ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์เพิ่มสูงขึ้น ภารกิจของพวกเขาคือการทำให้ผู้ประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงดูแย่และแปลกแยกจากประชาชน พร้อมที่ทำให้ประชาชนรู้สึกขอบคุณ “แนวเส้นน้ำเงิน” ที่คอยปกป้องพวกเขาจากเหล่า “อันพาล” อันตรายในกลุ่มฝูงชนที่บ้าคลั่ง

เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

การกระทำเช่นนี้เรียกร้องให้เราทำงานซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อยืนยันวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำลายทรัพย์สินอันมาจากคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง และการส่งทีมดูแลความเรียบร้อยลงพื้นที่อย่างทั่วถึงเพื่อลดระดับความรุนแรงและอธิบายสิ่งที่ผู้จัดการรณรงค์ร้องขอ ขณะที่ทุกเวลาเป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการพยายามเพื่อรักษาวินัยของการไม่ใช้ความรุนแรง การรณรงค์แบบไม่ใช้ความรุนแรงจะได้เปรียบมากที่สุดจากการเตรียมการล่วงหน้า โดยรู้ว่าการยึดมั่นในวิธีการแบบไม่ใช้ความรุนแรงที่แสดงออกต่อประชาชนอย่างเปิดเผย และการฝึกฝนและการประกาศแถลงให้เห็นถึงการยึดมั่นดังกล่าว สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้พวกเขาได้เมื่อต้องเจอกับสายลับที่เข้ามายั่วยุ กลุ่มคนฉวยโอกาส หรือนักกิจกรรมที่มีส่วนร่วมในความรุนแรง

นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องทำงานกับสื่อเพื่อวางบริบทให้กับเรื่องนี้ และฝึกฝนพวกเขาให้รายงานอย่างเที่ยงตรงด้วยว่าการกระทำแปลกแยกของคนไม่กี่คนนั้นไม่สอดคล้องกับเจตนาของคนจำนวนมากที่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง ตัวอย่างเช่น ถ้าแกนนำประกาศว่าการประท้วงจะจัดขึ้นเพียงสามชั่วโมงเท่านั้นในวันดังกล่าว และหวังว่าทุกคนจะแยกย้ายตอนยุติกิจกรรม ผู้สื่อข่าวอาจกำหนดขอบเขตว่าช่วงใดเป็นกิจกรรมของการรณรงค์ เพื่อให้พฤติกรรมอันธพาลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นสามารถถูกประนามได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหว 

เป็นธรรมหรือไม่ที่ขบวนการรณรงค์ต้องทำทั้งหมดนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์เชิงลบจากประชาชน ไม่อยู่แล้ว หากมันเป็นธรรมพวกเราคงไม่ต้องไปปิดล้อมสถานีตำรวจตั้งแต่แรก เราทำที่สิ่งที่ต้องทำเพื่อดึงเพื่อนบ้านของเราออกมามากขึ้น ไม่ใช่ผลักพวกเขาออกไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า