e-Revolution เปลี่ยนประเทศเอสโตเนียเป็นรัฐดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี

20 สิงหาคม 2564

เราเชื่อมั่นว่าโลกย่อมจะดีกว่านี้แน่ เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถดีได้กว่าที่เป็นอยู่ เราจึงอยากชวนคุณมาผจญภัยในประวัติศาสตร์ของประเทศเล็กๆ ในคาบสมุทรบอลติกที่เปลี่ยนอดีตประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเอสโตเนียให้กลายเป็น “รัฐดิจิทัล” จนถูกขนานนามว่าเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป” ว่าสามารถสร้างประเทศด้วยเทคโนโลยีได้อย่างไร ?

จาก The Singing Revolution สู่ e-Revolution การเดินทางของเอสโตเนียจากประเทศใต้ม่านเหล็กสู่รัฐดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก

เอสโตเนียประเทศสาธารณรัฐเล็กๆ ในแถบคาบสมุทรบอลติกที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก”  และถูกขนานนามว่าเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป” เราจะมาย้อนดูจุดเริ่มต้นในการก่อร่างสร้างประเทศของเอสโตเนียกันว่าสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ด้วยเทคโนโลยีได้อย่างไร

ภาพงานเทศกาลดนตรีที่เอโตเนีย ในปี 1987

เอสโตเนียเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต (Soviet Union) อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาโซเวียต-นาซี (Soviet-Nazi Pact) แต่เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดโพยมาประชาชนชาวเอสโตเนียลุกขึ้นมาทวงคืนอิสรภาพจากโซเวียต ในปี 1987 การปฏิวัติด้วยเสียงเพลง หรือ “The Singing Revolution” ได้เริ่มขึ้น ประชาชนลุกขึ้นประท้วง และจัดเทศกาลดนตรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวเอสโตเนีย และชาวคาบสมุทรบอลติกมีผู้คนนับแสนคนเข้าร่วมผู้คนต่างจับมือถือแขน และร้องเพลงชาติ เพลงปลุกใจซึ่งถูกห้ามตั้งแต่โซเวียตเข้ามาปกครองเป็นพื้นที่ในการต่อต้านสหภาพโซเวียต (ดูคลิปเหตุการณ์)

ในปี 1989 ประชาชนชาวเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียเกือบสองล้านคนออกมาตามท้องถนนแสดงพลังเรียกร้องเอกราชด้วยการจับมือประสานกันความยาว 670 กิโลเมตรผ่านทั้งสามประเทศที่เรารู้จักกันในเหตุการณ์ “Baltic Chain” เป็นการขับเคลื่อนเพื่ออิสรภาพร่วมกันของทั้งสามรัฐที่อยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต (ดูคลิปเหตุการณ์)

ภาพเหตุการณ์ Baltic Chain ประชาชนเอสโตเนียจับมือเรียกร้องการฟื้นฟูเอกราชจากโซเวียต

ในปี 1991 ห้วงเวลาการปฏิวัติด้วยเสียงเพลงดำเนินไปเป็นเวลา 4 ปีที่มอสโก สหภาพโซเวียตเกิดการรัฐประหารขึ้น ขณะที่รถถังของสหภาพโซเวียตพยายามหยุดยั้งความก้าวหน้าสู่อิสรภาพในเอสโตเนีย ศาลฎีกาโซเวียตแห่งเอสโตเนียร่วมกับสภาคองเกรสแห่งเอสโตเนียได้ประกาศการฟื้นฟูรัฐเอกราชของเอสโตเนีย และปฏิเสธกฎหมายของสหภาพโซเวียต ผู้คนออกมารวมตัวกันประท้วง และเป็นโล่มนุษย์เพื่อปกป้องสถานีวิทยุและโทรทัศน์สำคัญในเมืองทาลลินน์ เพื่อปกป้องการยึดครองจากกองกำลังทหารโซเวียต รัฐประหารในมอสโกล้มเหลว เอสโตเนีย และรัฐบอลติกอื่นๆ จึงได้รับเอกราชกลับคืนมาโดยไม่มีการนองเลือด (ดูคลิปเหตุการณ์)

ภาพทหารโซเวียตออกจากเมือง Tallinn ประเทศเอสโตเนียหลังเกิดรัฐประหารที่มอสโก

โจทย์สำคัญของประเทศเล็กๆ อย่างเอสโตเนียหลังได้รับเอกราชคือ การสร้างชาติ เพราะต้องเผชิญความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจในฐานะอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ (Post-Communist) และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ ในทศวรรษที่ 1990 เทคโนโลยีสมัยใหม่ และอินเตอร์เน็ตกำลังเติบโตอย่างสูงทำให้เอสโตเนียประเทศผู้มาทีหลังต้องการก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนด้านต่างๆ ถูกลง ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นเวลา บุคลากร ความซ้ำซ้อนของระบบราชการ

เอสโตเนียจึงเริ่มก่อร่างสร้างประเทศขึ้นมาใหม่จากเถ้าถ่านด้วยเทคโนโลยี เพื่อมุ่งไปสู่ “รัฐดิจิทัล” อย่างเต็มตัวด้วยการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution) เปลี่ยนให้กลายเป็น “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” (e-Government) ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานบริการภาครัฐและเอกชน

 ในปี 1996 รัฐบาลเริ่มโครงการ Tiger Leap โครงการริเริ่มการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีทั่วประเทศทั้งขยายเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต มีหลักสูตรการเรียนการสอนการเขียน และออกแบบโปรแกรมเบื้องต้น เพื่อสร้างพลเมืองใหม่ให้รองรับสังคมดิจิทัล

ในปี 1997 รัฐบาลริเริ่มโครงการ e-Governance ผ่านเว็บไซต์ e-Estonia เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ และเอกชน รวมถึงทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านออนไลน์ได้ตลอดเวลา

ในปี 2000 มีการทำโครงการ e-cabinet เพื่อลดขั้นตอนของระบบราชการ และลดการใช้เอกสาร ข้อมูลต่างๆ ตารางนัดหมายของคณะรัฐมนตรีกลายเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด ทำให้ระยะเวลาเฉลี่ยของการประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเอสโตเนียลดลงจาก 4-5 ชั่วโมงเหลือเพียง 30 นาที 

ในปี 2001 รัฐบาลทำโครงการ x-Road เป็นโครงข่ายเชื่อมข้อมูลแห่งชาติที่เชื่อมโยงการถ่ายโอนข้อมูลทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชน เพื่อให้กลายเป็นกระดูกสันหลังของการสร้างรัฐดิจิทัลอย่างแท้จริง ทำให้บริการสาธารณะ (e-Services) ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสะดวกรวดเร็ว เพราะเมื่อข้อมูลของทุกหน่วยงานเชื่อมโยง ถ่ายโอนกันตอดเวลาทำให้หน่วยงานราชการไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน ส่งเอกสารไปมาข้ามหน่วยงานให้เสียเวลา ไม่ต้องขอเอกสารซ้ำไปซ้ำมาในหลายขั้นตอนทั้งที่ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในบัตร Smarth ID หมดแล้ว

หลังจากนั้นเอสโตเนียก็พัฒนาประเทศจน e-Estonia ให้บริการสาธารณะ 99% อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ครอบคลุมทุกมิติในชีวิตตั้งแต่เกิดยันตายไม่ว่าจะเป็นการเสียภาษี (e-Tax)การทำธุรกรรมของธนาคารและบริษัทเอกชน e-Bank,e-Bussines) การจองที่จอดรถ (e-Parking) การจดทะเบียนที่ดิน (e-Land Register) การแพทย์ (e-Haelth) การศึกษา (e-School) ความปลอดภัยในชีวิต (e-Police) การขอสัญชาติเสมือน (e-Residency) การลงคะแนนเสียง (i-Voting) การประชุมของคณะรัฐมนตรี (e-Cabinet)  การติดตามสถานะของร่างกฎหมาย (e-Law) หรือแม้แต่ขอใบสั่งยา (e-Prescription) หรือช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน (e-ambulance) แต่ยกเว้นสมรสและหย่าร้าง ล่าสุดเอสโตเนียใช้ปัญญาอัจฉริยะ (Government AI strategy) เข้ามาช่วยในการวางแผน วางยุทธศาสตร์ในการตัดสินใจด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้เอสโตเนียเสริมสร้างความมั่นใจ และเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยสูง และแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ยากเข้ามาสร้างความเชื่อใจให้กับประชาชนว่า ข้อมูลของพวกเขาจะได้รับความปลอดภัยปราศจากการคุกคามทางไซเบอร์ หรือแม้กระทั่งถูกใช้ไปอย่างมิชอบโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม ประชาชนทุกคนสามารถตรวจสอบว่าใครเข้าถึงข้อมูลของเราได้บ้าง ใครหน่วยงานไหนใช้ไปทำอะไร หากไม่ยินก็สามารถแจ้งความประสงค์ได้ เมื่อบริการสาธารณะของรัฐอยู่บนออนไลน์ และถูกเชื่อมข้อมูลกันตลอดเวลาทำให้ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร งบประมาณ ทรัพยากรคน เวลาในการทำงาน ลดความซ้ำซ้อน เชื่องช้าของระบบราชการ และลดปัญหาคอรัปชัน 

เมื่อทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ ประชาชนทุกคนกสามารถตรวจสอบได้จึงมีความโปร่งใส และที่สำคัญเป็นการทำให้การตรวจสอบภาครัฐของประชาชนมีความหมาย เพราะงบประมาณ บริการต่างๆ ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และสามารถเข้าถึงบริการที่รวดเร็วสะดวกสบาย ความเชื่อใจกันระหว่างรัฐและประชาชน ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย และสร้างรัฐดิจิทัลของเอสโตเนีย 

ดอกผลจากการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Revolution)ในทศวรรษที่ 1990 ได้สร้าง “รัฐดิจิทัล” ของเอสโตเนียให้กลาย “สังคมดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก”  และเป็น“ซิลิคอนวัลเลย์แห่งยุโรป” ได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมๆ ไปกับการสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ทำให้เอสโตเนียเป็นประเทศอันดับ 1 ด้านความเป็นมิตรในการเริ่มธุรกิจ Start-up ที่จัดอันดับโดย Index Venture ในปี 2018  และเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกจากการจัดอันดับโดย Freedom House 2019 และเป็นประเทศมีดัชนีสุขภาวะด้านดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยเช่นเดียว 

คงจะดีไม่น้อยถ้าบริการสาธารณะทุกอย่างของไทยทั้งหมดอยู่ในรูปแบบออนไลน์ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างเสมอภาค มีความยุติธรรม สะดวกสบาย ลดความซับซ้อนของขั้นตอนต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบราชการ และมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมพัฒนาการประชาธิปไตยให้เข้มแข็งด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ นี่อาจจะเป็นประเทศไทยที่เราทุกคนใฝ่ฝัน และปรารถนาอยากจะไปให้ถึง

จัดการภาษีด้วย e-Tax ภายใน 3 นาที

การยื่น และขอคืนภาษีอาจเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับใครหลายๆ คน แต่สำหรับเอสโตเนียการจัดการภาษีเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วเท่านั้น ในปี 2000 เอสโตเนียทำโครงการ e-Tax เป็นระบบการจัดเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นศูนย์ในการจัดการภาษีทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีสุรา ภาษีสรรพสามิต จริงๆ สามารถจัดการภาษีทุกอย่างได้จบในที่เดียวใช้เวลาเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น 

การขอคืนเงินภาษีก็ทำได้ง่ายเพียงคลิกเดียวไม่ยุ่งยากไม่ถึง 1 นาที ไม่ว่าจะเป็นเงินประกันสังคม เงินประกันการว่างงาน เงินสมทบบำเหน็จบำนาญ และเรายังสามารถดูข้อมูลการจ่ายภาษีย้อนหลังได้ด้วย ข้อมูลทุกอย่างของเราจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย และไม่มีใครสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลง หรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษีได้

ยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย i-Voting

เราอาจจะเคยเห็นการใช้เครื่องลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งบ้าง แม้ว่าจะดูเป็นอะไรที่ล้ำสมัยสำหรับประเทศอย่างเรา แต่การใช้เครื่องลงคะแนนเสียงยังมีข้อจำกัดหลายอย่างคือ เราก็ยังกลับบ้านไปเลือกตั้ง ต้องไปหน่วยเลือกตั้ง หารายชื่อของตัวเอง เซ็นเอกราชลงกระดาษ เข้าไปลงคะแนนเสียงในคูหา อีกทั้งยังเกิดความไม่มั่นใจว่าที่เราลงคะแนนไปนั้นมีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน ปัญหาเรื่องความโปร่งใส่กับการเลือกตั้งไทยเป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอด

ความเจ๋งของเอสโตเนียคือ ในปี 2005 เอสโตเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่เลือกตั้งทั่วไปที่มีผลผูกพันธ์ทางกฎหมายผ่านระบบออนไลน์ทลายข้อจำกัดเดิมๆ ของระบบเลือกตั้งปกติที่ต้องไปที่คูหาเกือบ 100% ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในประเทศ หรืออยู่ส่วนไหนของโลกก็สามารถเลือกตั้งได้ผ่านระบบ i-Voting เพียงแค่ใช้ Smarth ID ,Mobile ID หรือ PIN Code เพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าสู่ระบบก็สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว และถูกใช้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือเลือกตั้งสภายุโรปด้วย

ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือ หากคุณเลือกผู้สมัครคนนี้แล้วเกิดเปลี่ยนใจก็สามารถเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงของคุณได้ระหว่างช่วงเลือกตั้งผ่าน i-Voting ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนล่วงหน้าวันเลือกตั้งแบบปกติ 4 วัน เราไม่ต้องกังวลเลยว่าคะแนนของเราจะกลายเป็นบัตรเขย่ง หรือถูกเปลี่ยนแปลงในภายหลัง เพราะเอสโตเนียนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้ในการบันทึก และเก็บรักษาข้อมูลให้มีความปลอดภัย และมีความแม่ยำมากเป็นที่รู้กันดีว่าการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบบล็อกเชนเป็นไปได้ยากมาก และมีความโปร่งใสสูง 

แค่นั้นยังไม่พอเอสโตเนียยังเปิดในผู้สังเกตุการณ์เลือกตั้งจาก 40 ประเทศมาตรวจสอบการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อระบบ และทำให้กระบวนการเลือกตั้งเกิดความโปร่งใสมากที่สุด ปัจจุบันมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านระบบ i-Voting มากกว่า 44% และประหยัดทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณ และวันทำงานไปได้มาก ทีนี้ก็หมดปัญหาบัตรเขย่ง พลร่ม ไพ่ไฟในการเลือกตั้งแล้ว นอกจากจะสะดวกสบาย ประหยัดทรัพยากรแล้ว ยังมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยใช้เทคโนโลยีก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเขาจะมีการอบรมการใช้งานให้กับทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ดูคลิปประชาสัมพันธ์ i-Vonting

เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขด้วย e-health

เรามาดูบริการดูแลสุขภาพของเอสโตเนียที่ก้าวหน้าไม่แพ้ใครกันบ้าง ในปี 2008 เอสโตเนียนำระบบ e-Health เข้ามาใช้ให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชนคือ เชื่อมต่อข้อมูลของผู้ใช้บริการด้านสุขภาพครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ว่าคุณจะไปโรงพยาบาลที่ไหนในเอสโตเนีย แพทย์ และพยาบาลก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าคุณเคยมีประวัติการรักษาพยาบาลอะไรมาบ้าง แพ้ยาตัวไหน มีโรคประจำตัวอะไร หมอคนไหนเคยวินิจฉัยว่าอะไร เภสัชให้ยาตัวไหนมากิน เรียกได้ว่าข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษาของประชาชนทุกอย่างจะถูกบันทึกอยู่ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด และถูกเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี KSI Blockchain 

ไม่เพียงแต่หมอ หรือพยาบาลเท่านั้นที่สามารถดูข้อมูลการรักษาของเราได้ ตัวเราเองก็สามารถดูได้ทุกอย่าง ในกรณีที่เรายังไม่บรรลุนิติภาวะพ่อแม้ของเราก็สามารถเข้าไปดูประวัติการรักษาของลูกได้ว่า หมอคนนี้วินิจฉัยว่าอย่างไร สามารถดูฟิล์ม x-ray รายการยาเรียกได้ว่าแทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับการรักษาของเราสามารถเรียกดูได้ทุกเมื่อ แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้รับความยินยอมจากลูกด้วยเช่นเดียวกันในการเข้าถึงข้อมูลในส่วนนี้ซึ่งทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เข้าเว็บ และยืนยันตัวตนผ่าน Smarth ID ที่เจ๋งกว่านั้นคือ หากเราไม่ยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษา เราสามารถเพิกถอนสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเมื่อ 

นอกจากนี้เมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยแล้ว หากคุณไปร้านขายยาเภสัชกรก็สามารถเข้าถึงข้อมูลในระบบ เพื่อดูไปสั่งยาตามที่แพทย์แจ้งมาได้เลย เอสโตเนียเรียกระบบนี้ว่า e-prescription เป็นส่วนหนึ่งของบริการดูแลสุขภาพ แม้กระทั่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่ เอสโตเนียก็มีบริการ e-ambulance ให้การดูแลเราในกรณีฉุกเฉิน หากเราแจ้งว่าเกิดอุบัติเหตุ ระบบสามารถตรวจ และระบุตำแหน่งการโทรของเรา เพื่อส่งรถพยาบาลภายในเวลา 30 วินาที พร้อมด้วยข้อมูลเวชทะเบียนที่สามารถเข้าถึงผ่านระบบ e-Health ได้ เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น สมมติว่าคุณเป็นหอบ เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็จะรู้ทันที และเตรียมอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อรักษาชีวิตคุณก่อนจะส่งตัวคุณไปถึงมือหมอซึ่งเตรียมความพร้อมในการรักษาคุณอยู่ที่โรงพยาบาล

ระบบ e-Health ของเอสโตเนียไม่เพียงทำให้ทุกอย่างโปร่งใส สะดวกสบาย ลดขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยากซ้ำซ้อน และประหยัดทรัยากรแล้ว แต่ยังทำให้ระบบสาธารณสุขเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกตัว ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างเสมอภาค และไม่ถูกเลือกปฏิบัติหนำซ้ำยังปกป้องข้อมูลส่วนตัวในการรักษาอย่างปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ดูคลิปประชาสัมพันธ์ e-Health

e-Residency ใครๆ ก็เป็นพลเมืองดิจิทัลของเอสโตเนียได้

ในปี 2014 เอสโตเนียต้องการสร้างชุมชนดิจิทัลไร้พรหมแดนได้ดำเนินโครงการ e-Residency คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วทุกมุมโลกผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเอสโตเนียสมัครเป็นพลเมืองดิจิทัลของเอสโตเนียได้โดยได้รับสิทธิบางประการจากรัฐบาลเอสโตเนียผ่านระบบออนไลน์ที่มีความโปร่งใส ปลอดภัยและได้รับการรับรองจากรัฐบาลเอสโตเนียให้อิสระในการดำเนินธุรกิจในเอสโตเนีย และทั่วสหภาพยุโรปทางออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ในโลก เพื่อปลดปล่อยศักยภาพ และดึงดูดนักลงทุนเข้ามาประกอบกิจกรรมโดยเฉพาะบริษัท Start up ด้านเทคโนโลยี เพราะรัฐบาลเอสโตเนียมองว่า ธุรกิจไม่ควรถูกพันธนาการด้วยพื้นที่ทางกายภาพ ปัจจุบันเอสโตเนียมีพลเมืองดิจิทัลมากกว่า 70,000 คน จาก 165 ประเทศ  

เราลองมาดูกันว่า การเป็นพลเมืองดิจิทัลของเอสโตเนียนั้นมีสิทธิอะไรบ้าง พลเมืองดิจิทัลมีสิทธิในการจดทะเบียน และจัดการบริหารบริษัทได้จากที่ไหนในโลกก็ได้ สามารถทำธุรกรรมทางธนาคารทั้งฝากและโอนเงินระหว่างประเทศได้ผ่าน e-Banking ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเอสโตเนีย และสหภาพยุโรป สามารถใช้ลงลายมือชื่อและทำสัญญาแบบอิเล็กทรอนิสก์ได้ สามารถยื่นจ่ายและชี้แจงภาษีเงินได้ของบริษัทครบจบในที่เดียว บริการสาธารณะทั้งหมดของรัฐสามารถใช้งานได้ด้วย Smarth ID หรือ Digital ID ผ่านเว็บไซต e-Estonia

เอสโตเนียสามารถให้บริการ e-Residency ได้ เพราะนอกจากฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานจากเชื่อมต่อกันอย่างไร้ที่ติแล้ว ยังสามารถระบุตัวตน และอัตลักษณ์ของพลเมืองเอสโตเนียได้อย่างแม่นยำ และมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว และมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบการใช้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ได้ว่าถูกใช้ไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร หากเราไม่ยินยอมสามารถร้องเรียนได้เช่นกัน 

นี่คือการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยลดขั้นตอนราชการที่ยุ่งยาก อำนวยความสะดวกสบายให้กับพลเมืองดิจิทัลในการปลดปล่อยศักยภาพทางธุรกิจของตัวเองออกมาอย่างไร้ขีดจำกัด

นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างจากบริการสาธารณะทั้งหมดของ e-Estonia เท่านั้น

หากคุณสนใจเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่

ดูคลิปประชาสัมพันธ์ e-Residency

สมัครพลเมืองดิจิทัลของเอสโตเนีย

เอสโตเนียทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาของระบบราชการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้อย่างไรบ้าง  ยังมีตัวอย่างเทคโนโลยีที่เข้าไปมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนอีกมากมาย เราจะมาเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ในโอกาสต่อไป

ชมการบบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ ตอนพิเศษ
หัวข้อ ‘เมื่อเทคโนโลยี Disrupt การเมืองไทย’ โดย ส.ส. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า