ข้อเสนอ 5 ข้อต่อขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

2 สิงหาคม 2564

วันที่ 3 สิงหาคม ปีที่แล้ว อานนท์ นำภา ได้ปราศรัยประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน การปราศรัยครั้งนั้น คือ การนำประเด็นสถาบันกษัตริย์มาพูดในที่สาธารณะ ที่ไม่ใช่เวทีเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัย ที่ไม่ใช่ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ใช่ในพื้นที่ของสถาบันการเมือง แต่พูดกันบนเวทีการชุมนุม บนท้องถนน การปราศรัยอย่างกล้าหาญและทระนงองอาจของอานนท์ในครั้งนั้น นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย

7 วันหลังจากนั้น การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นำโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ปราศรัยข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ

นับแต่นั้น การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน อนาคตของชาติ ก็ก้าวรุดหน้ามากขึ้น จนทำให้เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นข้อเรียกร้องที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ปรากฏอยู่ในที่สาธารณะ

นี่คือคุณูปการของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน อนาคตของชาติ ที่ร่วมกันต่อสู้ เอาชีวิต ร่างกาย อนาคตของตนเองเข้าเสี่ยง เราต้องสดุดีและยกย่องวีรกรรมอันกล้าหาญของพวกเขา

หนึ่งปีผ่านไป แม้ประเด็นปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์จะถูกจุดติด “ช้างในห้อง” ตัวนี้ถูกทำให้เห็นโดยถ้วนทั่ว ไม่มีใครปฏิเสธหรือแกล้งมองไม่เห็นได้อีกแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่า ข้อเรียกร้องนี้อาจถูกพูดถึงในรายละเอียดน้อยลง และดูท่าจะห่างไกลจากความเป็นไปได้มากขึ้น

ในช่วงวิกฤต Covid-19 ส่งผลให้การชุมนุมทำได้ยากลำบาก ในขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากก็ถูกตั้งข้อหา ดำเนินคดี จับกุม คุมขัง จากกลยุทธ์ “นิติสงคราม” ที่ฝ่ายรัฐใช้อย่างเข้มข้น พร้อมกับที่ข้อเรียกร้อง “ขับไล่ประยุทธ์” ขึ้นมาเป็นกระแสนำ ในฐานะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นข้อเรียกร้องที่ดูท่าจะมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ค่อยๆเลือนหายไป

เพื่อมิให้ความเพียรพยายามของเยาวชนอนาคตของชาติและกลุ่ม “ราษฎร” เสียเปล่าไป และเพื่อให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นให้จงได้ ผมมีข้อวิเคราะห์-ข้อเสนอ 5 ข้อต่อขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ดังนี้  

ข้อ 1 มีข้อเสนอเป็นรูปธรรม จับต้องได้ พร้อมใช้งาน

การรณรงค์ในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดประเด็นใด จำเป็นต้องมีข้อเสนอที่เราต้องการมุ่งไปถึง หากไม่มีข้อเสนอ การรณรงค์นั้นก็จะแลดูเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ ห่างไกลในความเป็นไปได้ เมื่อเวลาผ่านไป ประเด็นของการรณรงค์นั้นก็จะกลายเป็นเพียง “คำขวัญ” ในการชุมนุม แต่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ได้ ดังนั้น  ภารกิจสำคัญของนักต่อสู้ทางการเมืองก็คือแปลงเอายุทธศาสตร์ใหญ่ให้กลายเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และคิดค้นแผนการและวิธีปฏิบัติการที่จะทำให้ข้อเสนอเหล่านั้นเกิดได้จริง

แน่นอนว่า คำปราศรัยของอานนท์ก็ดี ข้อเสนอ 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมก็ดี ทำหน้าที่เป็นข้อเสนอเบื้องต้นไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เรามีเพียงเท่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ และต้องแปลงข้อเสนอให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

วิธีการหนึ่งก็คือ นำข้อเสนอต่างๆเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาแปลงเป็นร่างรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ท่ามกลางข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในหลากหลายประเด็น บางประเด็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางประเด็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ บางประเด็นต้องปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติ และบางประเด็นก็เป็นเรื่องพฤติกรรมของคนหรือองค์กร แต่หากเรานำข้อเสนอมายกร่างเป็นกฎหมายและรณรงค์ทั่วประเทศ อย่างน้อยข้อเสนอนั้นก็จะอยู่ในสถานะ “พร้อมใช้” และรอสถานการณ์ที่สุกงอมเพียงพอมาถึง

วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีของ “ข้อเสนอ 10 ข้อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต” ผมจึงขอใช้โอกาสนี้นำเสนอ “ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์” พร้อมคำอธิบาย ต่อสาธารณะ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการรณรงค์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป

ข้อ 2 ใช้กลไกในระบอบของพวกเขาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

การรณรงค์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ครั้งนี้เป็นการรณรงค์แบบ “ปฏิรูป” กล่าวคือ ยืนยันว่าประเทศไทยยังคงมีรูปของรัฐแบบราชอาณาจักร ไม่ใช่สาธารณรัฐ ประเทศไทยยังคงมีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ที่สืบทอดทางสายโลหิต แต่ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบรรดากฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติทั้งหลายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งหมดให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ บทบาท และสถานะของสถาบันกษัตริย์เสียใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัย 

เมื่อเป็นการปฏิรูป การรณรงค์เรียกร้องก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบเพดานของระบอบที่เป็นอยู่  

ระบอบที่เป็นอยู่ ระบอบที่พวกเขาออกแบบขึ้นมา ปรากฏให้เห็นในรูปของ “รัฐธรรมนูญ 2560” และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เราต้องควานหาช่องทางจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆเท่าที่มีอยู่เหล่านี้ แล้วใช้มันเพื่อผลักดันข้อเสนอที่ก้าวหน้าที่สุดของเราให้เข้าไปอยู่ใน “พื้นที่ทางการ” “พื้นที่อำนาจรัฐ” พร้อมสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับผู้รณรงค์และผู้สนับสนุน

หากปฏิบัติการเช่นนี้ได้ เราก็จะได้สองสิ่งไปพร้อมกัน

สิ่งแรก ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นประเด็นสาธารณะ พูดกันอย่างกว้างขวาง และเข้าไปอยู่ในแดนอำนาจรัฐ อยู่ในสถานะ “พร้อมใช้” รอให้องค์กรผู้มีอำนาจรัฐยินยอมใช้อำนาจรัฐเปลี่ยนข้อเสนอของเราให้กลายเป็นผลสำเร็จ

สิ่งที่สอง ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นเรื่องปกติ ทั่วไป สามารถรณรงค์ได้อย่างปลอดภัย เพราะอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย อยู่ภายใต้ระบอบ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ คนที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ยังกลัวหรือกังวล ก็จะคลายความกลัว ความกังวล พร้อมเข้าร่วมรณรงค์มากขึ้น

ผมประเมินจากระบอบที่เป็นอยู่ พบว่ามีช่องทางที่เราสามารถใช้ได้อย่างดี ช่วยทำให้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางการ พื้นที่ที่มีอำนาจรัฐอยู่ และยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนในการรณรงค์สนับสนุน นั่นคือ การใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและร่างพระราชบัญญัติ

ผมเสนอให้ฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตั้งองค์กร “คณะกรรมการรณรงค์การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เพื่อเดินสายรณรงค์ทั่วประเทศ ทุกช่องทาง ทั้งออนไลน์ ออนกราวนด์ เชิญชวนประชาชนมาร่วมเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์  

หากเราทำเช่นนี้ เราก็จะ..

ได้รณรงค์ทำความคิดกับคนทั่วประเทศ

ได้พื้นที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงถูกจับ ถูกดำเนินคดี ให้คนกล้าแสดงออกโดยไม่ต้องกังวล

ได้จำนวนคนที่ร่วมเข้าชื่อปรากฏเป็น “ตัวเลข” เพื่อส่งสัญญาณได้

ได้กดดันสถาบันการเมืองว่าจะเดินหน้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่

ข้อ 3 ยกระดับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นการปฏิรูปแบบปฏิวัติ

แม้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ “ปฏิรูป” ไม่ใช่ “ปฏิวัติ” แต่เราต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในครั้งนี้ ไม่ใช่งานจำพวก “ปฏิรูปแบบปฏิรูปนิยม” แต่มันคือ “ปฏิรูปแบบปฏิวัติ”

ในทางรูปแบบ คือ การปฏิรูป ไม่ได้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ขีดเส้นยืนยันว่ายังรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ต่อไป

แต่ในทางเนื้อหา คือ การปฏิวัติ เพราะเป็นเนื้อหาการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้ระบอบนี้  

“ปฏิรูปแบบปฏิวัติ” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรายกระดับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้ให้เป็น “ข้อเสนอขั้นต่ำ” หมายความว่า ข้อเสนอทั้งหมดก็เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถถอยหรือลดไปกว่านี้ได้ และหากไม่รับข้อเสนอเช่นนี้ ด้วยสถานการณ์แบบที่เป็นอยู่ที่ประชาชนก้าวรุดหน้ามากขึ้น ก็จะโหมเร่งให้รุดหน้ามากขึ้น สุกงอมเพียงพอจนปฏิรูปกลายเป็นปฏิวัติ   

ทำข้อเสนอให้ราดิคัลที่สุด ก้าวหน้าที่สุด ไต่เพดานให้มากที่สุด เท่าที่เป็นไปได้ภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่

พร้อมกับยืนยัน ยกระดับให้ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอขั้นต่ำที่เราจะไม่ถอยไปมากกว่านี้

หากข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการสนองตอบ สถานการณ์จะสุกงอมจนลื่นไถลให้ปฏิรูปกลายเป็นปฏิวัติ

นี่คือ “ปฏิรูปแบบปฏิวัติ”

ข้อ 4 สร้างมิตร สร้างแนวร่วม

ข้อเรียกร้องของการชุมนุมของ “ราษฎร” ถูกมัดรวมเป็น 3 ข้อ ได้แก่ 1.ประยุทธ์ออกไป 2.ทำรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ตลอดปีที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันในฝ่ายที่ไม่เอาประยุทธ์ว่าจะเดินแบบไหน ซึ่งพอจำแนกความคิดได้ ดังนี้

แบบแรก เอาเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2 ถ้ามีข้อ 3 ขอไม่ร่วม เพราะกลัว กังวล อันตราย ไม่อยากเสี่ยง

แบบที่สอง เอาเฉพาะข้อ 1 และ ข้อ 2 ถ้ามีข้อ 3 ขอไม่ร่วม เพราะเป็นไปไม่ได้ ยากที่จะสำเร็จ และจะทำให้ไม่ได้ทั้ง 3 ข้อ

แบบที่สาม เอาทั้ง 3 ข้อ แต่ “กินข้าวทีละคำ” ไล่จากข้อ 1 ไปก่อน

แบบที่สี่ เอาทั้ง 3 ข้อ และรณรงค์พร้อมกันทั้ง 3 ข้อ เพราะ ทุกข้อสัมพันธ์กันหมด

ผมเห็นว่าความแตกต่างทั้งสี่แบบนี้เป็นเพียงความแตกต่างทางยุทธวิธี

ด้วยคุณูปการของ “ราษฎร” ทำให้ประเด็นสถาบันกษัตริย์ถูกเอามาวางไว้บนโต๊ะอย่างเปิดเผย ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่า ณ เวลานี้ คนที่เข้าร่วมการชุมนุมทั้งหมด คนที่สนับสนุนการชุมนุมของ “ราษฎร” ทั้งหมด ไม่ว่าจะมีความคิดเรื่องยุทธวิธีแบบแรก แบบสอง แบบสาม หรือแบบสี่ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เห็นประเด็นปัญหาเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเห็นด้วยกับข้อ 3 ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าจะพูดหรือไม่ จะรณรงค์อย่างเปิดเผยหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นกับชีวทรรศน์และข้อจำกัดของแต่ละบุคคล

เมื่อสภาวการณ์ทางภาววิสัยเป็นเช่นนี้ จิตสำนึกของประชาชนเปลี่ยนแปลงยกระดับขึ้นถึงขนาดนี้แล้ว เรายิ่งต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมเห็นว่าขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องใจกว้าง เปิดรับ อย่ากีดกันคนออกไปจากขบวนการเพียงเพราะว่าเขายังไม่พร้อมที่จะรณรงค์ข้อ 3 แต่เราต้องพูดคุย ทำความเข้าใจ โน้มน้าว คนเหล่านี้ รวมทั้งแสวงจุดร่วมที่พอไปกันได้ เพื่อประคองเดินหน้าต่อไปพร้อมกับรอการเปลี่ยนแปลงของเขา

เราต้องไม่เสียคนที่ “ตาสว่าง” แล้ว ให้กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามเราอีก เพียงเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีของเรา

เราต้องไม่เสียคนที่ “ตาสว่าง” แล้ว ให้กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามเราอีก เพียงเพราะเขายังสว่างไม่พอ ตามเราไม่ทัน หรือปฏิรูปน้อยกว่าที่เราต้องการ

รักษา “คนที่ตาสว่าง” ให้ร่วมขบวนต่อไป 

ยกระดับ “คนที่ตาสว่างไม่สุด” ให้เขาไปไกลมากขึ้น

เปลี่ยน “คนที่ยังไม่สว่าง” ให้ “ตาสว่าง” และเป็นพวกเดียวกับเรา    

ข้อ 5 แปลงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้กลายเป็นฉันทามติของสังคม

หากสรุปความคิดเรื่องการสถาปนาอำนาจนำ หรือ Hegemony ของ Antonio Gramsci อย่างรวบยอดที่สุด ก็คือ

1. ต้องเปลี่ยนเรื่องเฉพาะกลายเป็นเรื่องทั่วไป

2. ต้องโน้มน้าวให้คนทั่วไปเกิดการยอมรับนับถือ

3. ต้องทำให้คู่แข่ง-ฝ่ายตรงข้าม แม้จะอยู่คนละฝักฝ่าย แต่ก็ยังต้องยอมรับ

เราลองนำความคิดของ Gramsci มาปรับใช้ดู…

การทำให้ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นฉันทามติร่วมกันของสังคมไทยทุกฝักฝ่ายได้ ต้องทำให้ประเด็นสถาบันกษัตริย์พ้นไปจากประเด็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม แต่กลายเป็นปัญหาทั่วไปของคนทุกคน เป็นปัญหาร่วมกันของทั้งสังคมไทย ขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จึงมีภารกิจในการชี้ชวนให้คนไทยเห็นพ้องกันให้ได้ว่า ณ เวลานี้ ประเด็นสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่เรื่องของนักวิชาการ-นักศึกษาในการสนทนาอภิปรายในสถาบันการศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของคนที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน คนหาเช้ากินค่ำ คนทุกอาชีพ คนทุกวัย จะทำเช่นนี้ได้ ต้องอธิบายให้ประเด็นสถาบันกษัตริย์สัมพันธ์กับปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ บทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์แบบที่เป็นอยู่ส่งผลกระทบต่อคนทุกคน หากมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและทันยุคสมัยได้ ย่อมส่งผลดีต่อสังคมไทย ต่อคนทุกคน รวมทั้งต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็น “ประเทศแห่งการปฏิรูป” เอะอะก็ต้องปฏิรูป ต้องตั้งคณะกรรมการ ต้องศึกษาวิจัยปฏิรูปด้านต่างๆ เมื่อไรก็ตามที่มีวาระการปฏิรูปเกิดขึ้น ก็ต้องผลักดันให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าไปอยู่ในวาระการปฏิรูปของประเทศไทยด้วย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ ที่ผ่านมา ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถูกทำให้เป็นเรื่อง “ไกลตัว” “อันตราย เสี่ยง ไม่ควรพูด ไม่ควรยุ่ง” เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จึงไม่อยู่ในพื้นที่การเมือง ไม่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นเราต้องพยายาม generalize/normalize ประเด็นสถาบันกษัตริย์ให้ได้ ทำให้เป็นเรื่องปกติ เรื่องทั่วไป สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องกังวล และทำให้เป็นเรื่องที่ต้องนำเข้าไปอยู่ในพื้นที่หรือเวทีของสถาบันการเมืองต่างๆ ให้ได้   

ในส่วนของการสร้างความยอมรับนับถือจากคนทั่วไป รวมไปถึงฝ่ายตรงข้ามด้วย นอกจากเนื้อหาเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ต้องยึดเข็มมุ่งชัดเจนแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงรูปแบบวิธีการในการสื่อสารด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ควรสื่อสารอย่างไรให้คนทั่วไปยอมรับ แม้กระทั่งฝ่ายตรงข้ามก็ยังยอมรับ

ถ้าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เป็นคนต่างวัย ต่างรุ่น หรือเป็นคนที่เคารพศรัทธาบูชาสถาบันกษัตริย์มาชั่วชีวิต เขาย่อมไม่ถนัดกับการรับสารแบบตรงไปตรงมา ผ่านถ้อยคำหรือท่าทีแบบที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน ดังนั้น ขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็จำเป็นต้องหาวิธีสื่อสารแบบใหม่ เพื่อให้สารเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปถึงพวกเขาให้ได้

นี่ไม่ใช่การตามง้อ ไม่ใช่การเสียเวลาเปล่า แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีจำนวนคนเห็นด้วยมากกว่านี้ มากทั้งในทางปริมาณ มากทั้งในทางคุณภาพ เราจำเป็นต้องหลอมรวมคนทุกฝ่ายในฐานะ “ประชาชน” ให้เห็นถึงปัญหาและความจำเป็นของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ถ้าคนทั่วไปเห็นว่า ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องไกลตัว อย่าไปยุ่ง แก้ปัญหาปากท้องก่อน การนำเสนอประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยเน้นไปที่ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างเดียว ก็อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเติมประเด็นเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การออกแบบนโยบาย การบริหารราชการแผ่นดินที่ซ้ำซ้อน ระบบราชการ การตรวจสอบ ความโปร่งใส การใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นว่า สถานะของสถาบันกษัตริย์แบบที่เป็นอยู่ส่งผลถึงชีวิตประจำวันของเขา

สถานการณ์ตอนนี้ คือ “วิกฤตอำนาจนำ”

อำนาจนำที่ครอบงำสังคมไทยมาโดยตลอดได้สูญเสียฐานที่มั่นไป ในขณะที่อำนาจนำใหม่ก็ยังไม่ถูกสถาปนาแทนที่ ด้านหนึ่งแม้เป็นวิกฤติ แม้เป็นความเสี่ยง แต่ก็เป็นโอกาสที่จะช่วงชิงในการครองความคิดจิตใจคน การทำงานทางความคิดเปลี่ยนใจผู้คน 

ผมนำเสนอข้อเสนอทั้งห้าข้อนี้ด้วยความหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยความหวังว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้

เราไม่สามารถหลีกหนีประเด็นนี้ได้อีกแล้ว การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องเกิดขึ้น

เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์

เพื่อรักษาประชาธิปไตย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า