ข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิวัติ 1789

23 กรกฎาคม 2564

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้บรรยาย ตลาดวิชาอนาคตใหม่ ตอนพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสมาชิกสภาแห่งชาติในการกรุยทางปฏิวัติ 1789” โดยผ่านทางเพจ Common School ในช่วงท้ายของการบรรยาย ผมได้สรุปข้อสังเกตของการปฏิวัติ 1789 และการเปรียบเทียบในมุมมองของผมเอาไว้ รวม 6 ประการ ดังนี้

ประการแรก พลังของในสภาและนอกสภาก่อให้เกิดการปฏิวัติ

การปฏิวัติ 1789 เกิดขึ้น สำเร็จ และก้าวรุดหน้า ต้องอาศัยพลังทั้งในสภาและนอกสภา

เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนระบอบไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่กษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดมาเป็น “ชาติ” คือผู้ทรงอำนาจสูงสุดและแสดงออกผ่านทางสภาแห่งชาติ นั่นก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ 17 มิถุนายน 1789 ที่สมาชิกสภาฐานันดรที่สามรวมตัวกันลงมติกันเองเพื่อแยกการประชุมและให้สภาฐานันดรกลายเป็นสภาแห่งชาติทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญของระบอบใหม่

หลังจากนั้น บรรดาสมาชิกสภาแห่งชาติก็ได้ตรากฎหมายจำนวนมากตามแนวทางของระบอบใหม่ เช่น การยกเลิกอภิสิทธิ์ทั้งปวงของพระและขุนนาง คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ธรรมนูญพลเมืองของพระ การโอนทรัพย์สินของโบสถ์มาเป็นของรัฐ เป็นต้น จนมาถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1791 การลงมติยกเลิกระบอบกษัตริย์ ประกาศตั้งสาธารณรัฐ จนไปถึงการดำเนินคดีหลุยส์ที่ 16 และจบด้วยการลงมติให้ประหารชีวิต

Timothy Tackett นักวิชาการชาวอเมริกันผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศส ได้สรุปไว้ในงานหลายชิ้นของเขาว่า เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้สมาชิกสภาแห่งชาติกลายเป็นสมาชิกสภานักปฏิวัติมากขึ้น ก็คือ ขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภานำโดย Sans-culottes ที่กดดันสภาแห่งชาติ และเหตุการณ์ต่อสู้ทางการเมืองและสังคมนอกสภา ปัจจัยเหล่านี้ทั้งกดดัน ทั้งกระตุ้นเตือน ทั้งหล่อหลอมความคิดแก่สมาชิกสภาแห่งชาติจำนวนมากว่าพวกเขาต้องรับภารกิจ “ปฏิวัติ”

การปฏิวัติ 1789 จึงเป็นผลพวงของการประสานพลังกันระหว่างสมาชิกสภาแห่งชาติและขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภา สมาชิกสภา คือ กลุ่มคนที่เป็นตัวแทนในการใช้อำนาจรัฐตัดสินใจชี้ขาดจนส่งผลต่อระบบได้ ส่วนขบวนการนอกสภา คือ กลุ่มคนที่โหมไฟปฏิวัติให้ลุกโชน

หากปราศจากสมาชิกสภาแบบปฏิวัติ หากสมาชิกสภายังคงเป็นสมาชิกแบบราชการแล้วล่ะก็ การล้มระบอบเก่า ก่อตั้งระบอบใหม่ย่อมไม่เกิด พวกเขาก็ยังคงเป็นเพียงสมาชิกสภาฐานันดรที่สามที่ลงมติกันกี่ครั้งก็แพ้ฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางด้วยเสียง 2 ต่อ 1 ทุกครั้ง ผลงานของสภาฐานันดรก็คงมีเพียงการสรุปรายงานความเห็นจากบรรดาฎีการ้องทุกข์ (Cahier de doléances) ของประชาชนเท่านั้น หรือไม่ก็ตกเป็นเครื่องมือให้กษัตริย์ใช้อ้างความชอบธรรมว่านโยบายต่างๆผ่านการปรึกษาหารือสภาฐานันดรแล้ว

เช่นเดียวกัน หากปราศจากขบวนการประชาชนที่เคลื่อนไหวอยู่นอกสภาที่นำโดยพวก sans-culottes แล้ว ก็จะไม่มีพลังเร่งเร้าการปฏิวัติให้ก้าวรุดหน้า ไม่มีแรงกดดันไปที่สมาชิกสภาให้กลายเป็นนักปฏิวัติมากขึ้น บรรดาสมาชิกสภาแห่งชาติก็จะกลายเป็น “อำมาตย์” กลุ่มใหม่ นอกจากนี้ พลังของประชาชนนอกสภาไม่เพียงแต่เป็นตัวเร่งปฏิกริยาชั้นยอดกดดันให้สมาชิกสภาเดินหน้าปฏิวัติเท่านั้น พวกเขายังพร้อมเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” คอยสนับสนุนและปกป้องสมาชิกสภาที่พร้อมเดินหน้าปฏิวัติด้วย

ประการที่สอง การปฏิวัติเกิดขึ้นได้ต้องมี “สถานการณ์ปฏิวัติ”

เลนิน ได้อธิบาย “สถานการณ์ปฏิวัติ” ไว้ใน “The Collapse of the Second International” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1915 ว่า

“สำหรับมาร์กซิสต์ เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการปฏิวัติหากปราศจากซึ่งสถานการณ์ปฏิวัติ ขณะเดียวกัน ทุกสถานการณ์ปฏิวัติก็ไม่ได้นำไปสู่การปฏิวัติเสมอไป หากกล่าวโดยทั่วไปแล้ว อะไรคืออาการของสถานการณ์ปฏิวัติ? คงไม่ผิดอย่างแน่แท้หากเราบ่งชี้ลักษณะอาการ 3 ประการ ดังต่อไปนี้


1
. เมื่อเป็นไปไม่ได้ที่ชนชั้นปกครองจะรักษาการปกครองของตนเอาไว้ได้โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงใดๆ เมื่อเกิดวิกฤตไม่ว่าในรูปแบบใดในกลุ่มชนชั้นบน วิกฤตจากนโยบายของพวกชนชั้นปกครองนำมาซึ่งรอยแตกแยก ความไม่พอใจและความคับแค้นของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ก็จะระเบิดออกมา เพื่อให้การปฏิวัติบังเกิดขึ้น เพียงแค่กรณีชนชั้นล่างไม่ต้องการมีชีวิตในวิถีแบบเดิมก็ยังไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องเกิดกรณีที่ชนชั้นบนเองก็ไม่สามารถมีชีวิตในวิถีแบบเดิมด้วย


2
. เมื่อความทุกข์ทรมานและข้อเรียกร้องของชนชั้นผู้ถูกกดขี่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ


3
. ผลลัพธ์จากอาการสองประการข้างต้น ทำให้เกิดกิจกรรมของมวลชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มวลชนผู้ซึ่งยินยอมให้ตนเองถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไม่ปริปากบ่นในยามสงบสุข แต่ในยามสับสนปั่นป่วน มวลชนที่นิ่งเฉยอยู่ก็ถูกขับดันทั้งจากสถานการณ์วิกฤติทั้งมวลและทั้งจากชนชั้นบน จนพุ่งไปสู่การกระทำทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นอิสระ”

หากพิจารณากรณีปฏิวัติ 1789 แล้ว คู่ขัดแย้งระหว่าง “สถาบันกษัตริย์” ในฐานะชนชั้นปกครอง กับ “ประชาชน” ในฐานะชนชั้นผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง ได้ก่อให้เกิด “สถานการณ์ปฏิวัติ” ขึ้น กล่าวคือ สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในแบบเดิม สมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิมไม่สามารถไปต่อได้ พร้อมกันนั้น สถาบันกษัตริย์เองก็ไม่ยินยอมปรับตัวหรือยอมแต่เพียงเล็กน้อย ในขณะที่ประชาชนก็ไม่พอใจและคับแค้นกับสภาพที่เป็นอยู่ ไม่ทนอีกต่อไป พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง แม้ประชาชนจะมีหลายกลุ่มก้อนแตกต่างกันไปตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม มีความต้องการที่แตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็พยายาม “แสวงหาจุดร่วม” ในการต่อสู้

เมื่อสถานการณ์ถึงพร้อมจนเป็นสถานการณ์ปฏิวัติเช่นนี้ การปฏิวัติย่อมบังเกิดขึ้นได้

ปัญหาที่ต้องพิจารณาเปรียบเทียบต่อไป คือ สถานการณ์ของประเทศไทย ณ เวลานี้ ถึงพร้อมจนเป็น “สถานการณ์ปฏิวัติ” แล้วหรือยัง? หากถึงพร้อมแล้ว มันจะนำมาสู่การปฏิวัติได้หรือไม่?

ประการที่สาม “สามเส้า” ของปฏิวัติ 1789

กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 เรียกประชุมสภาฐานันดรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1614 โดยมีปฐมเหตุจากความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับขุนนางอันสืบเนื่องจากนโยบายการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีของราชสำนักที่ทำให้บรรดาขุนนางไม่พอใจและกรณีที่ราชสำนักตอบโต้ศาลปาเลอมองต์ที่คอยขัดขวางนโยบายของราชสำนัก ในขณะเดียวกันฐานันดรที่สามก็ไม่พอใจกับความเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นขุนนาง และต้องการมีบทบาทในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ทั้งฝ่ายกษัตริย์และขุนนาง ต่างประเมินว่าการเรียกประชุมสภาฐานันดรครั้งนี้จะสร้างประโยชน์ให้แก่ฝ่ายตนเอง ฝ่ายกษัตริย์ต้องการ “ยืมมือ” ฐานันดรที่สามมาช่วยสนับสนุนนโยบายปฏิรูปภาษี ปฏิรูปศาล จัดการอิทธิพลของขุนนาง รวมอำนาจเข้าสู่ราชสำนักมากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายขุนนางเองก็คาดหวังว่า สมาชิกฐานันดรขุนนางจะรวมพลังกันคว่ำนโยบายปฏิรูปภาษีและศาลปาร์เลอมองต์

แต่ความต้องการของทั้งกษัตริย์และขุนนางก็ไม่เป็นไปตามคาด

สมาชิกสภาฐานันดรที่สามและประชาชนนอกสภารวมพลังกันกวาดทั้งกษัตริย์และขุนนางจนหมดกระดาน !!!

ประการที่สี่ การตกผลึกในความคิดของสมาชิกสภาในเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของกษัตริย์ในระบอบใหม่

ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติ สมาชิกสภาแห่งชาติไม่ได้มีความคิดเรื่องการล้มระบอบกษัตริย์และก่อตั้งสาธารณรัฐเท่าไรนัก ส่วนใหญ่แล้ว พวกเขายังคงยืนยันให้มีกษัตริย์แต่ต้องเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ระบอบใหม่นี้มีหัวใจสำคัญที่แตกต่างไปจากระบอบเก่า กล่าวคือ อำนาจสูงสุดไม่เป็นของกษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นของชาติซึ่งแสดงออกผ่านสภาแห่งชาติ

เมื่อระบอบใหม่ยังคงรักษาตำแหน่งกษัตริย์ไว้ ก็จำเป็นต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบใหม่ สมาชิกสภาแห่งชาติตกผลึกในความคิดนี้ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีการถกเถียงกันในหลายประเด็นซึ่งพวกเขาร่วมกันขีดเส้นขั้นต่ำที่ไม่มีวันถอย ไม่มีทางประนีประนอมกับพวกระบอบเก่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นใครคือผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ? รัฐธรรมนูญกำเนิดจากใคร?

สมาชิกสภาแห่งชาติยืนยันเสมอว่า “ชาติ” เท่านั้น คือ ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กษัตริย์ แม้ประเทศฝรั่งเศสในเวลานั้นยังคงมีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐต่อไป ยังคงมีกษัตริย์ชื่อ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16” ต่อไป แต่สถานะของกษัตริย์ก็ไม่เหมือนเดิม กลายเป็นเพียงองค์กรที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่สภาแห่งชาติก่อตั้งขึ้น

พวกเขาร่วมกันยืนยันว่า การลงพระปรมาภิไธยของหลุยส์ที่ 16 ไม่ใช่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระปรมาภิไธยไม่ใช่จุดชี้ขาดว่ารัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับหรือไม่ แต่มันเป็นเพียงการยืนยันว่ากษัตริย์จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและเคารพรัฐธรรมนูญ

ความข้อนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการอภิวัตน์สยาม 2475 ที่คณะราษฎรไม่ได้สะสางปัญหาเหล่านี้ให้แน่ชัดตั้งแต่แรก กลับยอมให้พระปกเกล้าฯลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พร้อมเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป เปิดทางให้พระปกเกล้าฯเข้ามามีบทบาทชี้นำการทำรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475  

จาก 24 มิถุนายน 2475 จวบจนทุกวันนี้… เรายังไม่สะสางปมปัญหาที่ว่า “ประชาชน คือ ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” 

ประการที่ห้า ความขัดแย้งหลังการปฏิวัติเป็นเรื่องปกติ

เมื่อการปฏิวัติได้ล้มระบอบเดิม ล้มผู้ปกครองเดิม ศูนย์รวมอำนาจเดิมได้หายไปแล้ว ก็จะเกิดความแตกแยกทางความคิดตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ต้องไม่ลืมว่า การรวมตัวของคนหลายกลุ่มหลายชนชั้นในชื่อ “ประชาชน” เพื่อเข้ารบพุ่งล้มระบอบเดิมนั้น มีความหลากหลายทางความคิดเรื่องเศรษฐกิจและสังคม แต่พวกเขาก็รวมตัวกันเพื่อล้มระบอบเก่าให้ได้เสียก่อน ฝ่ายหนึ่ง เน้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล รัฐต้องรับรองกรรมสิทธิ์ อีกฝ่ายหนึ่ง เน้นความเสมอภาคเท่าเทียม หากจำเป็นต้องแทรกแซงเสรีภาพเพื่อทำให้คนเสมอภาคกัน รัฐก็ต้องทำ

ภายหลังเปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญได้แล้ว มวลชนฝ่ายที่ต้องการให้ปฏิวัติรุดหน้ามากขึ้น ไม่ยอมให้ปฏิวัติเป็นแต่เพียงเปลี่ยนอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งไปที่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น พวกเขาต้องการปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ มวลชน sans-culottes ซึ่งผนึกกำลังกับสมาชิกสภาปีกฌาโกแบ็ง เดินหน้าปฏิวัติต่อไป ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ ก่อตั้งสาธารณรัฐ และสร้างความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกัน ฝ่ายกระฎุมพีผู้มีบทบาทสำคัญในการเปิดปฏิวัติ แม้ล้มสถาบันกษัตริย์ลงได้ ก็อยากจะหยุดปฏิวัติไว้แค่เพียงการล้มอำนาจเก่า เปิดพื้นที่ให้ชนชั้นกระฎุมพีเข้าไปมีบทบาทางการเมือง การประกันเสรีภาพ และการรับรองกรรมสิทธิ์ พวกเขาไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเสมอภาค เพื่อสร้างโอกาสให้เท่าเทียมกัน  

ความขัดแย้งคู่นี้ ดำเนินการอย่างเข้มข้นต่ออีกหลายยก จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

สมดังสุนทรพจน์ของ Robespierre ที่แสดงต่อสมาคมเพื่อนรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 1792 ว่า

ลองไตร่ตรองถึงการเดินทางของการปฏิวัติ ในสภาพการณ์ที่ก่อตั้งขึ้นแล้วเสร็จ เกือบทุกประเทศในยุโรป มีสามพลังอำนาจ คือ กษัตริย์ อภิชน และประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประชาชนจะไม่มีค่าอะไรเลย ถ้าหากการปฏิวัติได้เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไป การปฏิวัติเริ่มขึ้นโดยขุนนาง นักบวช คนรวย และประชาชนก็สนับสนุนพวกเขาเหล่านี้หากว่าประโยชน์สอดคล้องต้องกันด้วยการต่อต้านอำนาจที่ครอบงำอยู่ นั่นคือ อำนาจของกษัตริย์ เช่นเดียวกันกับรอบๆตัวพวกท่านนี่แหละ คือ รัฐสภา ขุนนาง นักบวช คนรวย ที่ได้เริ่มขับเคลื่อนการปฏิวัติ จากนั้นประชาชนก็ปรากฏขึ้น บรรดาสมาชิกสภา ขุนนาง นักบวช คนรวย อาจรู้สึกสำนึกผิดเสียใจ หรืออยากยุติการปฏิวัติ เมื่อพวกเขาได้เห็นว่าประชาชนจะขึ้นมากอบกู้เอาอำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของตัว แต่ก็พวกเขาเองนั่นแหละที่ได้เริ่มต้นการปฏิวัติ…”

ความแตกแยกทางความคิดในเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นปกติหลังการปฏิวัติใหญ่ เมื่ออำนาจเก่าล่มสลายไป ก็ต้องมาต่อสู้ช่วงชิงต่อว่านโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นเช่นไร โลกใบใหม่ สังคมที่ประชาชนใฝ่ฝัน หน้าตาจะเป็นอย่างไร

นี่เป็นที่มาของการแบ่งแยกออกเป็น เสรีนิยม vs สังคมนิยม

นี่เป็นที่มาของการแบ่งแยกชีวทัศน์ของคนว่าเป็น ขวา vs ซ้าย

ประการที่หก ปฏิวัติ 1789 จะเกิดในศตวรรษที่ 21 ได้อีกหรือ?

การปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ในปลายศตวรรษที่ 18 ได้แก่ ปฏิวัติอเมริกา ปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 20 ได้แก่ ปฏิวัติรัสเซีย ปฏิวัติจีน คงเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากใฝ่ฝันถึง แต่การปฏิวัติเช่นว่านั้นจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่ เป็นคำถามใหญ่

การปฏิวัติอาหรับสปริงในช่วงปี 2011 อาจเป็นตัวแบบล่าสุดที่ใกล้เคียงกับการปฏิวัติประชาชน แต่ในหลายประเทศก็ยังไม่สำเร็จ อียิปต์ จบด้วยทหารฉวยโอกาสรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ ตูนีเซีย เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญใหม่ได้สำเร็จ แต่ก็กลับไปอยู่ในกำมือของรัฐสภา ซีเรีย จนถึงวันนี้ แผ่นดินลุกเป็นไฟ ยังคงสับสนอลหม่าน

สองสามปีที่ผ่านมา เกิดการลุกฮือของประชาชนในหลายที่ ตั้งแต่ฮ่องกง เลบานอน ฝรั่งเศส ชิลี สหรัฐอเมริกา โคลัมเบีย พม่า หรือไทย แต่ยังไม่มีที่ไหนที่ปฏิวัติประชาชนโค่นล้มระบอบได้สำเร็จ ไปได้ไกลและเป็นรูปธรรมมากที่สุดอาจเป็นชิลีที่กดดันจนประธานาธิบดียอมจัดให้มีการออกเสียงประชามติทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งประชาชนออกเสียงประชามติเห็นด้วย มาถึงเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำรัฐธรรมนูญใหม่

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนต้องเลิกฝันถึงปฏิวัติ

การศึกษาประวัติศาสตร์ปฏิวัติในอดีต คือ การรักษาความทรงจำการปฏิวัติเอาไว้ ไม่ให้ใครทำลาย ด้อยค่า ลดทอนความสำคัญให้เหลือเพียงเหตุการณ์ธรรมดา หรือทำลายความหวังของเรา

ไม่มีใครรู้หรอกว่า การต่อสู้ของประชาชนจะส่งผลให้เกิดการปฏิวัติหรือไม่

ไม่มีใครรู้หรอกว่า การปฏิวัติในศตวรรษนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ในรูปแบบใด

เรารู้แต่เพียงว่า ถ้าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ อย่างถึงราก ก็ต้องคิด ต้องลงมือปฏิบัติ ทุกวัน ทุกเวลา ตั้งแต่วันนี้

ส่วนในท้ายที่สุด มันจะกลายเป็นปฏิวัติหรือไม่ มันจะส่งผลสะเทือนประการใด เหตุการณ์หลังจากนั้นจะเป็นผู้ให้คำตอบ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า